Month: เมษายน 2023

พระเจ้ากำลังตรัสกับเรา

ผมรับสายโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่รู้จัก บ่อยครั้งที่ผมจะปล่อยให้สายเหล่านั้นเข้าไปที่กล่องรับข้อความ แต่ครั้งนี้ผมรับสาย ผู้ที่สุ่มโทรมาขอเวลาผมเพียงหนึ่งนาทีด้วยความสุภาพเพื่อแบ่งปันข้อพระคำสั้นๆ เขายกพระธรรมวิวรณ์ 21:3-5 ที่กล่าวถึงการที่พระเจ้า “จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของเขา” เขาพูดถึงพระเยซูว่าทรงเป็นหลักประกันและความหวังของเรา ผมบอกเขาว่าผมรู้จักพระเยซูในฐานะองค์พระผู้ช่วยให้รอดเป็นการส่วนตัวแล้ว แต่ผู้ที่โทรมาไม่ได้มีเป้าหมายเพียงการ “เป็นพยาน” กับผมเท่านั้น เขาขออธิษฐานกับผมด้วย และเขาอธิษฐานขอพระเจ้าประทานกำลังใจและเรี่ยวแรงแก่ผม

การรับสายครั้งนั้นเตือนผมถึง “การทรงเรียก” ครั้งหนึ่งในพระคัมภีร์ ที่พระเจ้าทรงเรียกเด็กชายซามูเอลในเวลากลางคืน (1ซมอ.3:4-10) ซามูเอลได้ยินเสียงเรียกสามครั้งและคิดว่าเป็นเสียงของเอลีปุโรหิตชรา ในครั้งสุดท้ายตามคำแนะนำของเอลี ซามูเอลตระหนักว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ที่เรียก “ขอตรัสเถิด เพราะผู้รับใช้ของพระองค์คอยฟังอยู่” (ข้อ 10) เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน พระเจ้าอาจกำลังตรัสกับเรา เราจำเป็นต้อง “รับสาย”ซึ่งอาจหมายถึงการใช้เวลาเข้าเฝ้าและฟังเสียงของพระองค์มากขึ้น

ผมคิดถึง “การทรงเรียก” ในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยว่า บางครั้งเราก็อาจได้เป็นผู้สื่อสารที่ส่งพระคำของพระเจ้าให้แก่ใครบางคน เราอาจรู้สึกว่าเราไม่มีวิธีที่จะช่วยผู้อื่นได้ แต่เมื่อพระเจ้าทรงนำ เราสามารถที่จะโทรศัพท์ไปหาเพื่อนสักคนและถามว่า “จะเป็นอะไรไหม ถ้าวันนี้ผมจะขออธิษฐานกับคุณ”

จงฉวยโอกาส

ระหว่างรอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย ชินยี่วัยยี่สิบปีตัดสินใจที่จะอุทิศช่วงเวลาก่อนเปิดภาคเรียนสามเดือนเพื่อร่วมรับใช้กับองค์กรที่ทำงานกับเยาวชนดูเหมือนเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะการระบาดของโควิด 19 ทำให้ไม่สามารถพบปะพูดคุยกันหน้าต่อหน้า แต่ไม่นานชินยี่ก็หาวิธีได้ “เราไม่สามารถเจอกับนักเรียนที่ถนน ในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์อาหารที่เราเคยพบกันได้ในภาวะปกติ” เธอแบ่งปัน “แต่เรายังคงติดต่อกับนักเรียนที่เป็นคริสเตียนผ่านระบบซูมเพื่ออธิษฐานเผื่อซึ่งกันและกัน และพูดคุยกับนักเรียนที่ไม่เป็นคริสเตียนทางโทรศัพท์”

ชินยี่ได้ทำสิ่งที่อัครทูตเปาโลหนุนใจให้ทิโมธีทำ “จงทำหน้าที่ของผู้ประกาศข่าวประเสริฐ” (2ทธ.4:5) เปาโลเตือนว่าผู้คนจะมองหาครูที่สอนในสิ่งที่พวกเขา ชอบฟัง แต่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องได้ยิน (ข้อ 3-4) เปาโลกำชับทิโมธีให้มีความกล้าและเตรียมพร้อมทั้ง “ขณะที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส” เขาจะต้อง “ชักชวนด้วยเหตุผล เตือนสติ และตักเตือนให้อดทนอยู่เสมอในการสั่งสอน” (ข้อ 2)

แม้ว่าเราไม่ได้รับการทรงเรียกให้เป็นผู้ประกาศหรือผู้เทศนากันทุกคน แต่เราทุกคนสามารถมีส่วนในการแบ่งปันความเชื่อของเราแก่ผู้คนที่อยู่รอบข้างได้ ผู้ที่ไม่เชื่อกำลังพินาศหากปราศจากพระคริสต์ ผู้เชื่อต้องการการเสริมกำลังและการหนุนใจ โดยการทรงช่วยเหลือของพระเจ้า ขอให้เราประกาศข่าวดีของพระองค์ในทุกที่และทุกเวลาที่เรามีโอกาส

กำลังในยามอ่อนแอ

เมื่อลูกชายของฉันย่างเข้าขวบปีที่สาม ฉันต้องเข้ารับการผ่าตัดซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนหรือมากกว่านั้นเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ก่อนเข้าสู่กระบวนการ ฉันมองเห็นภาพตัวเองนอนอยู่บนเตียงขณะที่มีจานสกปรกมากมายวางอยู่ในอ่างล้างจาน ฉันไม่มั่นใจว่าจะดูแลเด็กวัยกำลังซนอย่างไร และวาดภาพตัวเองกำลังยืนทำอาหารอยู่หน้าเตาให้กับครอบครัวไม่ออก ฉันหวาดกลัวว่าความอ่อนแอของฉันจะส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเรา

พระเจ้าทรงจงใจทำให้กองทหารของกิเดโอนอ่อนแอลงก่อนที่กองทัพของท่านจะเผชิญหน้ากับชาวมีเดียน ประการแรก คนที่หวาดกลัวได้รับอนุญาตให้จากไป ชายสองหมื่นสองพันคนได้กลับบ้าน (วนฉ.7:3) ต่อมาจากหนึ่งหมื่นคนที่เหลืออยู่ มีเพียงผู้ที่ใช้มือวักน้ำขึ้นดื่มที่อยู่ต่อได้ เหลือผู้ชายเพียงสามร้อยคน แต่ความเสียเปรียบนี้ป้องกันชนชาติอิสราเอลจากการพึ่งพากำลังของพวกเขาเอง (ข้อ 5-6) พวกเขาจึงไม่อาจพูดได้ว่า “มือของเราเองได้กู้เราไว้” (ข้อ 2)

เราหลายคนเคยประสบกับเวลาที่เรารู้สึกหมดพลังและอ่อนล้า เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นกับฉัน ฉันจึงได้ตระหนักว่าฉันต้องการพระเจ้ามากเพียงใด พระองค์ทรงเสริมกำลังภายในใจฉันโดยพระวิญญาณของพระองค์ และภายนอกผ่านการช่วยเหลือของเพื่อนๆและครอบครัว ฉันต้องปล่อยวางการพึ่งพาตัวเองลงชั่วคราว แต่สิ่งนี้สอนฉันให้พึ่งพาในพระเจ้ามากกว่าเดิม เพราะ “ความอ่อนแอมีที่ไหน เดชของเรา [พระเจ้า]ก็มีฤทธิ์ขึ้นเต็มขนาดที่นั่น” (2คร.12:9) เรามีความหวังได้แม้ในยามที่เราไม่สามารถพึ่งพาตัวเราเอง

การรักษาที่ลึกกว่าเดิม

ในวันอาทิตย์อีสเตอร์ปี 2020 รูปปั้นพระคริสต์พระผู้ไถ่ ที่มีชื่อเสียงซึ่งมองไปยังเมืองริโอ เดอ จาเนโรในประเทศบราซิลได้รับการประดับไฟให้ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงสวมชุดแพทย์ การนำเสนอภาพของพระคริสต์ในฐานะแพทย์นั้นก็เพื่อเป็นการยกย่องบุคลากรด้านสาธารณสุขในแนวหน้าที่กำลังต่อสู้กับการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนา ภาพนั้นทำให้คำบรรยายที่พูดถึงพระเยซูว่าทรงเป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่นั้นดูมีชีวิตขึ้นมา (มก.2:17)

พระเยซูทรงรักษาคนมากมายจากความเจ็บป่วยทางกายในขณะทรงทำพระราชกิจบนโลก ไม่ว่าจะเป็นชายตาบอดบารทิเมอัส (มก.10:46-52) คนโรคเรื้อน (ลก.5:12-16) คนง่อย (มธ.9:1-8) นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นพระองค์แสดงความห่วงใยในสุขภาพของผู้ที่ติดตามพระองค์โดยทรงทวีคูณอาหารธรรมดาๆเพื่อเลี้ยงดูฝูงชนที่หิวโหย (ยน.6:1-13) การอัศจรรย์แต่ละครั้งเปิดเผยถึงฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่และความอันรักแท้จริงของพระองค์ที่ทรงมีต่อมนุษย์

อย่างไรก็ตามการเยียวยารักษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ คือการยอมสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ ที่ได้พยากรณ์ไว้โดยผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ว่า “ที่ท่าน [พระเยซู]ต้องฟกช้ำนั้นก็ให้เราหายดี” จากความทุกข์ที่เลวร้ายที่สุดของเรา นั่นคือการแยกขาดจากพระเจ้าจากผลของความบาป (อสย.53:5) แม้พระเยซูไม่ได้รักษาความเจ็บป่วยทั้งหมดของเรา แต่เราวางใจได้ว่าพระองค์จะทรงรักษาความต้องการในส่วนที่ลึกที่สุดของเรา นั่นคือการเยียวยารักษาที่นำเรากลับมาสู่ความสัมพันธ์กับพระเจ้าอีกครั้ง

วิ่งไปหาพระเยซู

ขณะท่องเที่ยวในปารีส เบ็นและพวกเพื่อนๆได้แวะที่พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของเมือง แม้ว่าเบ็นจะไม่ได้เรียนด้านศิลปะ แต่เขารู้สึกอัศจรรย์ใจขณะเพ่งดูภาพวาดชื่อ อัครสาวกเปโตรและยอห์นกำลังวิ่งไปที่อุโมงค์ในเช้าของวันฟื้นคืนพระชนม์ ซึ่งวาดโดยยูจีน เบอร์นันด์ โดยไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ สีหน้าของเปโตรและยอห์น และตำแหน่งของมืออธิบายถึงความรู้สึกอย่างชัดเจน เชิญชวนผู้ชมให้เข้าอกเข้าใจและร่วมแบ่งปันอารมณ์ที่คุกรุ่นบนภาพนั้น

จากพระธรรมยอห์น 20:1-10 ภาพวาดได้แสดงให้เห็นว่าคนทั้งสองกำลังวิ่งไปยังอุโมงค์ที่ว่างเปล่าของพระเยซู (ข้อ 4) ผลงานชิ้นเอกนี้แสดงถึงความขัดแย้งทางอารมณ์ของสาวกทั้งสอง แม้ว่าในเวลานั้นความเชื่อของพวกเขายังไม่สมบูรณ์ แต่เขากำลังวิ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง และในที่สุดพระเยซูผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์ได้ทรงปรากฏพระองค์เองต่อพวกเขา (ข้อ 19-29) การแสวงหาของพวกเขาไม่ได้แตกต่างไปจากผู้แสวงหาพระเยซูคนอื่นๆในตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าเราอาจไม่ได้มีประสบการณ์ของอุโมงค์ที่ว่างเปล่าหรือได้เห็นผลงานศิลปะที่น่าอัศจรรย์ใจ แต่เรายังคงมองเห็นข่าวดีนั้นได้อย่างชัดเจน พระคัมภีร์บอกเราให้มีความหวัง แสวงหา และวิ่งไปในทิศทางของพระเยซูและความรักของพระองค์ แม้ในยามที่เรามีความสงสัย มีคำถาม และความไม่แน่นอน ในวันพรุ่งนี้ขณะที่เราเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ ขอให้เราระลึกถึงความสัตย์ซื่อของพระเจ้า “เจ้าจะแสวงหาเราและพบเรา เมื่อเจ้าแสวงหาเราด้วยสิ้นสุดใจของเจ้า” (ยรม.29:13)

รอยแต้มสีแดง

ขณะเดินชมงานศิลปะที่หอศิลป์แห่งชาติสก็อตแลนด์ ฉันถูกดึงดูดด้วยภาพวาดสีสันสดใสของต้นมะกอกเทศภาพหนึ่งในหลายๆภาพของศิลปินชาวดัทช์ วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าผลงานนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของพระเยซูในสวนเกทเสมนีบนภูเขามะกอกเทศ สิ่งที่จับสายตาของฉันเป็นพิเศษจากภาพวาดบนผืนผ้าใบก็คือรอยแต้มเล็กๆสีแดงท่ามกลางต้นมะกอกเทศโบราณ

ที่ได้ชื่อว่าภูเขามะกอกเทศนั้นก็เพราะมีต้นมะกอกเทศมากมายบนภูเขาพระเยซูเสด็จไปที่นั่นเพื่ออธิษฐานในคืนที่พระองค์ทรงทำนายว่า ยูดาสหนึ่งในพวกสาวกจะทรยศพระองค์ พระเยซูทรงท่วมท้นด้วยความทุกข์ เพราะทรงรู้ว่าการทรยศนั้นจะนำไปสู่การถูกตรึงที่กางเขน ขณะที่พระองค์ทรงอธิษฐาน “พระเสโทของพระองค์เป็นเหมือนโลหิตไหลหยดลงถึงดินเป็นเม็ดใหญ่” (ลก.22:44) ความทุกข์ใจของพระเยซูปรากฏให้เห็นชัดเจนในสวน ขณะที่ทรงเตรียมรับความเจ็บปวดและความอับอายของการถูกประหารในที่สาธารณะ ซึ่งพระองค์จะต้องทรงหลั่งพระโลหิตในวันศุกร์ประเสริฐเมื่อนานมาแล้ว

รอยแต้มสีแดงบนภาพวาดของแวนโก๊ะห์เตือนเราว่า พระเยซูทรงต้อง “ทนทุกข์ทรมานหลายประการ...และไม่ได้รับการยอมรับ” (มก.8:31) แม้ว่าการทนทุกข์ทรมานนั้นเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวของพระองค์ แต่มันก็ไม่ได้มีอิทธิพลเหนือภาพนั้นอีกต่อไป ชัยชนะเหนือความตายของพระเยซูได้เปลี่ยนความทุกข์ของเรา และให้มันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของภาพอันงดงามของชีวิตเราที่พระองค์ทรงรังสรรค์ขึ้น

ท้าทายให้รับใช้

แม้จะอายุเพียงสิบสามปี แต่ดิเอเวียนยอมรับการท้าทายที่จะรับใช้ผู้อื่น เขาและแม่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เรียกร้องให้เด็กๆออกมาตัดหญ้าห้าสิบสนามโดยไม่คิดค่าจ้างในช่วงปิดภาคฤดูร้อน เป้าหมายของพวกเขาคือการช่วยเหลือเหล่าทหารผ่านศึก คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว คนพิการ หรือใครก็ตามที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ริเริ่ม (คือผู้ที่เคยตัดหญ้าห้าสิบสนามในห้าสิบรัฐ) ได้สร้างความท้าทายนี้ขึ้นเพื่อสอนให้เห็นถึงความสำคัญของจรรยาบรรณในการทำงานและการตอบแทนสังคม ในท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุและกิจกรรมหลากหลายที่วัยรุ่นสามารถเลือกทำได้ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน ดิเอเวียนเลือกที่จะรับใช้ผู้อื่นและทำสิ่งท้าทายให้สำเร็จ

การท้าทายให้รับใช้มีมาถึงผู้เชื่อในพระเยซูด้วยเช่นกัน ในตอนค่ำก่อนที่พระองค์จะทรงสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทุกคน พระเยซูทรงรับประทานอาหารเย็นกับเพื่อนๆของพระองค์ (ยน.13:1-2) โดยทรงทราบดีถึงการทนทุกข์และการสิ้นพระชนม์ที่พระองค์ต้องเผชิญในเวลาอันใกล้นี้ แต่พระองค์ลุกจากโต๊ะอาหาร ทรงเอาผ้าเช็ดตัวคาดเอวและเริ่มล้างเท้าเหล่าสาวก (ข้อ 3-5) พระองค์ตรัสว่า “ฉะนั้นถ้าเราผู้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระอาจารย์ของท่านได้ล้างเท้าของพวกท่าน พวกท่านก็ควรจะล้างเท้าของกันและกันด้วย” (ข้อ 14)

พระเยซูผู้เป็นแบบอย่างของการเป็นผู้รับใช้ที่ถ่อมใจของเรานั้นทรงห่วงใยผู้คน โดยทรงรักษาคนตาบอดและเจ็บป่วย ทรงสอนข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระองค์ และประทานชีวิตเพื่อเพื่อนๆของพระองค์ เพราะพระคริสต์ทรงรักคุณ ขอให้คุณถามพระองค์ว่าทรงต้องการให้คุณรับใช้ใครในสัปดาห์นี้

มากกว่าชิ้นส่วนเล็กๆ

เราทุกคนต่างทิ้งเสี้ยวหนึ่งของตัวเราไว้เบื้องหลังเมื่อเราต้องย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ แต่การจะเป็นผู้อาศัยถาวรที่วิลล่า ลาส เอสเทรลลัส ในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นดินแดนที่หนาวเย็นและเปล่าเปลี่ยว การทิ้งชิ้นส่วนเล็กๆของตัวคุณไว้เบื้องหลังเป็นสิ่งที่คุณต้องทำจริงๆ เพราะโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปถึง 1,000 กิโลเมตร หากใครไส้ติ่งแตกเขาจะตกอยู่ในภาวะวิกฤต ดังนั้นผู้ที่ต้องการอาศัยอยู่ที่นั่นจะต้องผ่าตัดไส้ติ่งออกก่อนจะย้ายเข้าไป

ฟังดูเข้มงวดมากใช่ไหม แต่นั่นไม่เข้มงวดเท่ากับการจะเป็นผู้อาศัยในแผ่นดินของพระเจ้า เพราะผู้คนต้องการจะติดตามพระเยซูตามเงื่อนไขของตัวเองไม่ใช่ของพระองค์ (มธ.16:25-27) พระองค์จึงทรงให้คำจำกัดความใหม่ในการเป็นสาวก พระองค์ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเองและรับกางเขนของตนแบกและตามเรามา” (ข้อ 24) ซึ่งรวมถึงการเตรียมพร้อมที่จะสละทุกสิ่งที่มาแข่งขันกับพระองค์และแผ่นดินของพระองค์ และเมื่อเราแบกกางเขนของเรา เรากำลังประกาศว่าเรายอมรับการกดขี่ทางสังคม ทางการเมือง และแม้กระทั่งยอมตายเพื่อสำแดงความสัตย์ซื่อต่อองค์พระคริสต์และพร้อมไปกับการยอมสละและยอมแบกกางเขนนั้น เรายินดีที่จะร่วมติดตามพระองค์อย่างแท้จริง นี่คือท่าทีในการติดตามการทรงนำของพระเจ้าเมื่อพระองค์ทรงนำเราในการรับใช้และเสียสละทุกชั่วขณะในชีวิตของเรา

การติดตามพระเยซูมีความหมายมากยิ่งกว่าการทิ้งชิ้นส่วนเล็กๆในชีวิตเราไว้เบื้องหลัง ด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ การติดตามพระเยซูนั้นคือการยอมรับและยอมมอบหมดทั้งชีวิตของเรา รวมถึงร่างกายของเรา แด่พระองค์เพียงผู้เดียว

ที่บ้านในพระเยซู

หลายปีก่อน เรารับเลี้ยงแมวดำโตเต็มวัยชื่อจูโน่จากศูนย์พักพิงสัตว์ท้องถิ่น ความจริงแล้วผมต้องการเพียงตัวช่วยกำจัดหนู แต่คนอื่นๆในครอบครัวต้องการสัตว์เลี้ยง ศูนย์พักพิงสัตว์ได้ให้คำแนะนำที่เข้มงวดในการสร้างกิจวัตรการให้อาหารในสัปดาห์แรก เพื่อให้จูโน่เรียนรู้ว่าบ้านของเราเป็นบ้านของมัน บ้านที่มันเป็นเจ้าของ ที่ซึ่งมันจะมีอาหารและความปลอดภัยเสมอ ด้วยวิธีนี้แม้จูโน่จะออกไปตะลอนข้างนอก มันก็จะกลับบ้านเสมอ

หากเราไม่รู้จักบ้านที่แท้จริงของเรา เราจะถูกล่อลวงให้ตระเวนไปทั่วโดยไร้ประโยชน์ เพื่อแสวงหาความดีงาม ความรัก และความหมายอยู่เสมออย่างไรก็ตามหากเราต้องการค้นพบชีวิตที่แท้จริงนั้น พระเยซูตรัสว่า “จงเข้าสนิทอยู่ในเรา” (ยน.15:4) นักวิชาการพระคัมภีร์เฟรเดอริก เดล บรูเนอร์เน้นว่า การเข้าสนิท (มีความหมายเดียวกับคำว่า บ้าน) ปลุกเร้าความรู้สึกถึงความเป็นครอบครัวและบ้าน ดังนั้นบรูเนอร์จึงแปลความคำตรัสของพระเยซูว่า “จงอยู่ที่บ้านในเรา”

เพื่อขยายความเรื่องบ้าน พระเยซูทรงอธิบายด้วยภาพของแขนงที่ติดอยู่กับเถาองุ่น หากกิ่งหรือแขนงต้องการมีชีวิตรอด มันต้องอยู่ที่บ้าน ยึดติดอย่างเหนียวแน่น (เข้าสนิท) ในที่ที่เป็นของมัน

มีเสียงมากมายที่เชื้อเชิญเราพร้อมด้วยสัญญาที่ว่างเปล่าว่าจะแก้ปัญหาของเรา หรือให้ “สติปัญญา” ใหม่ๆหรืออนาคตที่สดใส แต่หากเราต้องการมีชีวิตที่แท้จริงแล้ว เราต้องยึดมั่นในพระเยซู เราต้องอยู่ที่บ้านของเราในพระองค์

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา