Month: ตุลาคม 2022

ใจที่โกรธเคือง

เกอร์นิกา เป็นภาพเขียนทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของปาโบล ปิกัสโซ่ที่ใช้เทคนิคการวาดแบบสมัยใหม่ซึ่งบอกเล่าถึงการทำลายเมืองเล็กๆในสเปนในปี ค.ศ. 1937 โดยตั้งชื่อผลงานตามชื่อเมืองนี้ ในช่วงปฏิวัติสเปนและการก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินนาซีเยอรมนีได้รับอนุญาตจากกองกำลังชาตินิยมสเปนให้ใช้เมืองนี้เพื่อฝึกซ้อมการทิ้งระเบิด การทิ้งระเบิดหลายครั้งได้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก และดึงความสนใจของประชาคมโลกที่กังวลในเรื่องการทิ้งระเบิดโจมตีพลเรือนอย่างผิดศีลธรรม ภาพเขียนของปิกัสโซ่สื่อให้เห็นถึงสิ่งที่โลกกำลังจับตาดูอยู่ และกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการถกประเด็นถึงศักยภาพของมนุษยชาติในการทำลายล้างกันและกัน

สำหรับพวกเราที่มั่นใจว่าจะไม่มีทางเจตนาทำให้โลหิตตก เราควรจดจำคำตรัสของพระเยซูว่า “‘ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ถ้าผู้ใดฆ่าคน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดโกรธพี่น้องของตน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ” (มธ.5:21-22) จิตใจนั้นสามารถฆ่าคนได้แม้ไม่เคยลงมือทำจริงๆ

เมื่อความโกรธที่เรามีต่อผู้อื่นพลุ่งขึ้นและพยายามครอบงำเรานั้น เราจำเป็นต้องให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาเติมเต็มและควบคุมจิตใจเรา เพื่อว่านิสัยต่างๆของมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยผลของพระวิญญาณ (กท.5:19-23) แล้วความรัก ความปลาบปลื้มใจ และสันติสุขจะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความสัมพันธ์ของเรา

เลือกที่จะเห็นอกเห็นใจ

ภาพตัดต่อความยาวห้านาทีเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากหิมะเป็นจุดขายของรายการทีวีตอนหนึ่ง ภาพวิดีโอจากทางบ้านที่มีผู้คนเล่นสกีบนหลังคา ชนข้าวของขณะนั่งบนห่วงยางลื่นไถลไปบนน้ำแข็ง ก่อให้เกิดเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือจากผู้ชมในห้องส่งและผู้ชมทางบ้าน ดูเหมือนเสียงหัวเราะจะดังที่สุดเมื่อปรากฏว่าคนที่ประสบเหตุนั้นสมควรได้รับมันเพราะพฤติกรรมโง่เขลาของตนเอง

วิดีโอตลกจากทางบ้านไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่อาจเปิดเผยบางอย่างเกี่ยวกับตัวเรา เช่น เราอาจมีแนวโน้มที่จะหัวเราะเยาะหรือหาประโยชน์จากความทุกข์ของผู้อื่น เรื่องคล้ายกันนี้บันทึกไว้ในพระธรรมโอบาดีห์ เกี่ยวกับสองประเทศที่เป็นคู่แข่งกัน คือ อิสราเอลและเอโดม เมื่อพระเจ้าทรงเห็นสมควรที่จะลงโทษอิสราเอลในเรื่องบาปของเขา เอโดมก็เปรมปรีดิ์ พวกเขาหาประโยชน์จากคนอิสราเอล ปล้นสะดมเมือง ขัดขวางการหลบหนีและช่วยเหลือศัตรูของพวกเขา (อบด.1:13-14) คำเตือนจากผู้เผยพระวจนะโอบาดีห์มาถึงเอโดมว่า “เจ้าไม่ควรยืนยิ้มอยู่ด้วยความพอใจ ในเมื่อน้องชายของเจ้ารับเคราะห์ในครั้งนั้น” เพราะ “วันแห่งพระเจ้าใกล้ประชาชาติทั้งสิ้นเข้ามาแล้ว” (ข้อ 12, 15)

เมื่อเราเห็นปัญหาหรือความทุกข์ทรมานของผู้อื่น ถึงแม้ดูเหมือนว่าเขานำมันมาสู่ตัวเอง เราต้องเลือกการเห็นอกเห็นใจแทนที่จะหยิ่งผยอง เพราะเราไม่อยู่ในฐานะที่จะตัดสินผู้อื่น พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงทำได้ อาณาจักรของโลกนี้เป็นของพระองค์ (ข้อ 21) พระองค์ผู้เดียวที่ทรงครอบครองอำนาจแห่งความยุติธรรมและความเมตตา

พระเจ้าทรงใส่ใจในรายละเอียด

เป็นสัปดาห์ที่เลวร้ายมากสำหรับเควินและคิมเบอร์ลีย์ อาการชักของเควินเกิดแย่ลงอย่างกะทันหันและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ท่ามกลางภาวะการแพร่ระบาด ลูกเล็กๆทั้งสี่พี่น้องที่พวกเขารับอุปการะจากบ้านสงเคราะห์ตกอยู่ในภาวะอึดอัดอย่างมากเพราะติดอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน และที่แย่ไปกว่านั้นคิมเบอร์ลีย์ไม่อาจทำอาหารดีๆได้สักมื้อจากของในตู้เย็น เป็นเรื่องแปลกมากที่ในเวลานั้นเธอรู้สึกอยากกินแครอทเหลือเกิน

หนึ่งชั่วโมงต่อมามีเสียงเคาะประตู อแมนด้าและแอนดี้เพื่อนของพวกเขายืนอยู่ตรงนั้น กับมื้ออาหารที่เธอเตรียมให้กับครอบครัวนี้ ซึ่งรวมถึงแครอท

ผู้คนพูดกันว่ามารสนใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆไม่ใช่เลย เรื่องราวอันน่าทึ่งในประวัติศาสตร์ของชาวยิวแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงใส่ใจในรายละเอียด ฟาโรห์รับสั่งว่า “บุตรชายฮีบรูทุกคนที่เกิดมา ให้เอาไปทิ้งเสียในแม่น้ำไนล์” (อพย.1:22) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้มีพัฒนาการที่มีรายละเอียดอันน่าทึ่งที่น่าสนใจ มารดาของโมเสสเอาลูกของนาง “ไปทิ้งเสีย” ในแม่น้ำไนล์จริงๆแม้จะแฝงอุบายก็ตาม และจากแม่น้ำไนล์ พระราชธิดาของฟาโรห์เองจะช่วยทารกผู้ที่พระเจ้าจะทรงใช้ให้ช่วยชีวิตประชากรของพระองค์ อีกทั้งพระนางยังจ่ายค่าจ้างแก่มารดาของโมเสสเพื่อให้เลี้ยงดูท่านด้วย! (2:9)

จากชนชาติยิวที่เกิดใหม่นี้ในวันหนึ่งจะมีทารกตามพระสัญญาถือกำเนิดขึ้น เรื่องราวของพระองค์จะเต็มไปด้วยรายละเอียดอันน่าทึ่งและความพลิกผัน และที่สำคัญที่สุดคือ พระเยซูจะทรงจัดเตรียมการอพยพของเราออกจากการเป็นทาสของบาป

ยิ่งในช่วงเวลาที่มืดมิดนี้ พระเจ้ายังทรงใส่ใจในรายละเอียด ดังที่คิมเบอร์ลีย์จะบอกคุณว่า “พระเจ้าทรงนำแครอทมาให้ฉัน!”

เหตุผลมากมายที่จะชื่นชมยินดี

เมื่อเกล็นด้าเดินเข้าไปในพื้นที่ส่วนกลางของคริสตจักร ความชื่นชมยินดีของเธอที่สัมผัสได้ก็เต็มห้องนั้น เธอเพิ่งฟื้นตัวจากขั้นตอนการรักษาที่ยากลำบาก เมื่อเธอเข้ามาหาฉันเพื่อทักทายตามปกติหลังเลิกคริสตจักร ฉันรู้สึกขอบคุณพระเจ้าสำหรับช่วงเวลาหลายปีที่เธอร้องไห้ไปกับฉัน เตือนฉันอย่างอ่อนโยนและให้กำลังใจ แม้กระทั่งการขอให้ฉันยกโทษเมื่อเธอคิดว่าได้ทำร้ายความรู้สึกของฉัน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เธอมักชวนฉันให้เล่าถึงปัญหาที่มีอย่างตรงไปตรงมา และเตือนฉันว่าเรามีเหตุผลมากมายที่จะสรรเสริญพระเจ้า

มาม่าเกล็นด้า (ตามที่เธอให้ฉันเรียก) กอดฉันอย่างอ่อนโยน “สวัสดีลูก” เธอกล่าว เราสนุกกับการสนทนาสั้นๆและอธิษฐานด้วยกัน จากนั้นเธอก็แยกไปโดยฮัมเพลงเบาๆ เช่นทุกครั้ง และมองหาที่จะเป็นพรแก่คนอื่นๆ

ในสดุดี 64 ดาวิดเข้าหาพระเจ้าอย่างกล้าหาญด้วยการร้องทุกข์และความกังวล (ข้อ 1) ท่านแสดงความไม่พอใจเนื่องด้วยความชั่วร้ายที่เห็นอยู่รอบตัว (ข้อ 2-6) ท่านไม่ได้สูญเสียความเชื่อมั่นในฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าหรือในพระสัญญาที่ไว้วางใจได้ของพระองค์ (ข้อ 7-9) ท่านรู้ว่าวันหนึ่ง “คนชอบธรรม[จะ]เปรมปรีดิ์ในพระเจ้า และลี้ภัยอยู่ในพระองค์ ...คนที่เที่ยงธรรมในจิตใจ[จะ]อวดอ้างพระองค์” (ข้อ 10)

ขณะที่รอคอยการเสด็จกลับมาของพระเยซูนั้น เราจะได้เผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่เราจะมีเหตุผลเสมอในการชื่นชมยินดีกับทุกๆวันที่พระเจ้าทรงสร้าง

เกินกว่าถ้อยคำ

โทมัส อไควนัส (ค.ศ.1225-1274) เป็นผู้ปกป้องความเชื่อที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของศาสนจักร ทว่าเพียงสามเดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต บางอย่างทำให้เขาละทิ้งงานเขียน สรุปแห่งธรรม (Summa Theologica) ที่ยังเขียนไม่เสร็จซึ่งเป็นมรดกยิ่งใหญ่แห่งผลงานในชีวิตของเขา ขณะใคร่ครวญถึงพระวรกายที่แตกหักและพระโลหิตที่หลั่งออกขององค์พระผู้ช่วยให้รอด อไควนัสยืนยันว่าเห็นนิมิตที่ทำให้กล่าวเป็นถ้อยคำไม่ได้ “ข้าพเจ้าไม่อาจเขียนได้อีก ข้าพเจ้าได้เห็นสิ่งที่ทำให้งานเขียนของข้าพเจ้าเป็นเสมือนฟางหญ้า”

ก่อนหน้าอไควนัส เปาโลก็เห็นนิมิตเช่นกัน ใน 2 โครินธ์ท่านบรรยายประสบการณ์ว่า “ข้าพเจ้า...[...จะไปทั้งกายหรือไม่มีกายข้าพเจ้าไม่รู้ พระเจ้าทรงทราบ]...ถูกรับขึ้นไปยังเมืองบรมสุขเกษม และได้ยินวาจาซึ่งจะพูดเป็นคำไม่ได้” (12:3-4)

เปาโลและอไควนัสทิ้งให้เราใคร่ครวญถึงมหาสมุทรแห่งความดีงามที่ทั้งคำพูดและเหตุผลไม่อาจแสดงออกได้ นัยยะของสิ่งที่อไควนัสเห็น ทำให้เขาไม่เห็นหนทางว่าจะเขียนงานชิ้นนี้ให้สำเร็จในลักษณะที่จะให้ความยุติธรรมต่อพระเจ้าผู้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาถูกตรึงบนกางเขนเพื่อเราได้อย่างไร แม้เปาโลจะทำตรงกันข้ามโดยยังคงเขียนต่อไป แต่ท่านทำเช่นนั้นโดยตระหนักถึงสิ่งที่ท่านไม่อาจบรรยายหรือทำให้สำเร็จด้วยกำลังของตนเอง

ท่ามกลางปัญหาทั้งสิ้นที่เปาโลประสบในการรับใช้พระคริสต์ (2 คร.11:16-33; 12:8-9) ท่านมองย้อนกลับไปในความอ่อนแอของท่าน และเห็นถึงพระคุณและความดีงามที่เกินคำบรรยาย และท่านรู้สึกอัศจรรย์ใจ

พระเจ้าตรัส

ในปี 1876 นักประดิษฐ์อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ได้กล่าวคำพูดแรกทางโทรศัพท์ โดยโทรหาโธมัส วัตสันผู้ช่วยของเขาว่า “วัตสัน มาหาผมหน่อย ผมอยากเจอคุณ” เสียงนั้นแตกพร่าไม่ชัดเจนแต่เข้าใจได้ วัตสันได้ยินสิ่งที่เบลล์พูด คำพูดแรกที่เบลล์พูดผ่านสายโทรศัพท์แสดงให้เห็นว่า ยุคใหม่สำหรับการสื่อสารของมนุษย์ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ในการทรงสถาปนารุ่งอรุณของวันแรกในแผ่นดินโลกที่ “ว่างเปล่า” (ปฐก.1:2) พระเจ้าได้ตรัสถ้อยคำแรกที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ว่า “จงเกิดความสว่าง” (ข้อ 3) ถ้อยคำนี้เต็มไปด้วยพลังแห่งการทรงสร้าง พระองค์ตรัสและสิ่งที่ทรงประกาศออกมาก็เกิดขึ้น (สดด.33:6, 9) พระเจ้าตรัสว่า “จงเกิดความสว่าง” แล้วก็เป็นดังนั้น คำตรัสของพระองค์ก่อให้เกิดชัยชนะในทันทีเมื่อความมืดและความไร้ระเบียบเปิดทางให้แก่ความสว่างอันสุกใสและความมีระบบระเบียบ ความสว่างเป็นวิธีแก้ปัญหาของพระเจ้าในเรื่องความมืดที่ครอบงำ และเมื่อทรงสร้างความสว่างแล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าความสว่างนั้น “ดี” (ปฐก.1:4)

คำตรัสแรกของพระเจ้ายังคงทรงพลังในชีวิตของผู้เชื่อในพระเยซู ในยามรุ่งอรุณของทุกวันใหม่ ก็เป็นเหมือนการที่พระเจ้าทรงตรัสถ้อยคำของพระองค์ในชีวิตเราอีกครั้ง เมื่อความมืดทั้งในความหมายตามตัวอักษรและในเชิงเปรียบเทียบ ได้เปิดทางให้แก่ความสว่างอันสุกใสของพระองค์ ขอให้เราสรรเสริญและระลึกว่าพระองค์ได้ทรงเรียกหาเราและทรงเห็นเราอย่างแท้จริง

พระคริสต์ผู้สถิตภายใน

นักเทศน์ชาวอังกฤษ เอฟ.บี.เมเยอร์ (ค.ศ.1847-1929) ใช้ตัวอย่างของไข่เพื่อแสดงสิ่งที่เขาเรียกว่า “ปรัชญาอันลึกซึ้งของพระคริสต์ผู้สถิตภายใน” เขาสังเกตว่าการที่ไข่แดงปฏิสนธิเป็น “เซลล์เริ่มต้นชีวิต” ขนาดเล็กที่เติบโตขึ้นวันแล้ววันเล่าจนกระทั่งก่อตัวเป็นลูกเจี๊ยบในเปลือก ก็เป็นเหมือนการที่พระเยซูจะเสด็จมาอยู่กับเราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ เพื่อเปลี่ยนแปลงเรา เมเยอร์กล่าวว่า “จากนี้ไปพระคริสต์จะทรงเติบโตและเพิ่มพูน และรวบรวมทุกสิ่งเข้าสู่พระองค์และก่อร่างขึ้นในตัวคุณ”

เขาขอโทษที่บอกความจริงเรื่องพระเยซูได้ไม่สมบูรณ์ โดยรู้ว่าคำพูดของตนไม่อาจถ่ายทอดความเป็นจริงอันอัศจรรย์ของพระคริสต์ผู้สถิตในผู้เชื่อโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างครบถ้วน แม้จะทำได้ไม่สมบูรณ์แต่เขาก็กระตุ้นผู้ฟังให้แบ่งปันกับผู้อื่น ถึงสิ่งที่พระเยซูทรงหมายถึงเมื่อตรัสว่า “ในวันนั้นท่านทั้งหลายจะรู้ว่าเราอยู่ในพระบิดา และท่านอยู่ในเราและเราอยู่ในท่าน” (ยน.14:20) พระเยซูตรัสถ้อยคำเหล่านี้ในคืนที่รับประทานอาหารมื้อสุดท้ายกับสหายของพระองค์ ทรงต้องการให้พวกเขารู้ว่าพระองค์และพระบิดาจะเสด็จมาและสถิตอยู่กับบรรดาผู้ที่เชื่อฟังพระองค์ (ข้อ 23) สิ่งนี้เป็นไปได้เพราะโดยทางพระวิญญาณนั้น พระเยซูทรงสถิตอยู่ในเหล่าผู้ที่เชื่อในพระองค์ ทรงเปลี่ยนแปลงพวกเขาจากภายในสู่ภายนอก

ไม่ว่าคุณจะนึกภาพไว้อย่างไร เราก็มีพระคริสต์สถิตอยู่ภายในเรา ทรงนำทางและช่วยให้เราเติบโตเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น

สัญญาณของชีวิต

เมื่อลูกสาวของฉันได้ปูเลี้ยงสองตัวเป็นของขวัญ เธอใส่ทรายในตู้กระจกเพื่อมันจะได้ขุดและปีนป่าย เธอเตรียมน้ำ โปรตีน และเศษผักสำหรับเป็นอาหารเย็นของพวกมัน พวกมันดูมีความสุขดี จึงเป็นเรื่องน่าตกใจเมื่อวันหนึ่งพวกมันหายไป เราค้นหาไปทุกที่ ในที่สุดเราก็รู้ว่าพวกมันอยู่ใต้ทราย และจะอยู่อย่างนั้นประมาณสองเดือนเพื่อลอกคราบ

สองเดือนผ่านไป และอีกเดือนก็ผ่านไป ฉันเริ่มกังวลว่าพวกมันจะตาย ยิ่งเรารอนานฉันก็ยิ่งหมดความอดทน และในที่สุดเราก็มองเห็นสัญญาณของการมีชีวิต และเจ้าปูก็ออกมาจากทราย

ฉันสงสัยว่าชนชาติอิสราเอลคงสงสัยในคำเผยพระวจนะที่พระเจ้าตรัสกับพวกเขาว่าจะสำเร็จเป็นจริงได้อย่างไรในตอนที่พวกเขาเป็นทาสอยู่บาบิโลน พวกเขารู้สึกสิ้นหวังหรือเปล่า พวกเขากังวลว่าจะอยู่ที่นั่นไปตลอดหรือไม่ พระเจ้าตรัสผ่านเยเรมีย์ว่า “เราจะเยี่ยมเยียนเจ้าและจะให้คำสัญญาของเรา สำเร็จเพื่อเจ้าและจะนำเจ้ากลับมาสู่ (เยรูซาเล็ม)” (ยรม.29:10) แน่นอนว่าในอีก 70 ปีให้หลังพระเจ้าทรงให้กษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียอนุญาตให้ชาวยิวกลับสู่เยรูซาเล็มและสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ (อสร.1:1-4)

ในฤดูกาลแห่งการรอคอยที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั้น พระเจ้าไม่ได้ทรงลืมเรา ขณะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้เราพัฒนาความอดทน เรารู้ได้ว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ประทานความหวัง ผู้รักษาสัญญา และผู้เดียวที่ทรงควบคุมอนาคต

ทารกเพศชาย

เป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีที่ชื่อทางกฎหมายของเขาคือ “ทารกเพศชาย” เขาถูกพบโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้ยินเสียงเขาร้อง ทารกตัวน้อยถูกทิ้งไว้ขณะอายุเพียงไม่กี่ชั่วโมง ถูกห่อไว้ในกระเป๋าอยู่ในลานจอดรถของโรงพยาบาล

ไม่นานหลังจากที่พบเขา นักสังคมสงเคราะห์โทรหาคนที่วันหนึ่งจะกลายมาเป็นครอบครัวถาวรของเขา สามีภรรยาคู่นี้รับเลี้ยงและเรียกเขาว่าเกรย์สัน (นามสมมติ) ในที่สุดกระบวนการรับอุปการะก็เสร็จสมบูรณ์และเขาได้ใช้ชื่อเกรย์สันอย่างเป็นทางการ วันนี้คุณจะได้เห็นเด็กร่าเริงที่ออกเสียงตัว ร ผิดเพราะเขากระตือรือร้นที่จะพูดกับคุณ คุณจะไม่คิดเลยว่าครั้งหนึ่งเขาเคยถูกทิ้งไว้ในกระเป๋า

ในช่วงท้ายของชีวิตโมเสส ท่านทบทวนถึงพระลักษณะของพระเจ้าและสิ่งที่พระองค์ทำเพื่อชนชาติอิสราเอล และกล่าวกับพวกเขาว่า “พระเยโฮวาห์ทรงฝังพระทัยในบรรพบุรุษของท่าน และทรงรักเขา” (ฉธบ.10:15) ความรักนี้กว้างใหญ่ไพศาล “พระองค์ประทานความยุติธรรมแก่ลูกกำพร้าและแม่ม่าย และทรงรักคนต่างด้าว ประทานอาหารและเครื่องนุ่งห่มแก่เขา” ท่านกล่าว (ข้อ 18) “พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญของท่านทั้งหลาย พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของท่าน” (ข้อ 21)

เราทุกคนถูกเรียกให้สะท้อนถึงความรักของพระเจ้า ไม่ว่าจะผ่านการรับอุปการะหรือผ่านการรักและรับใช้ สามีภรรยาที่น่ารักคู่นั้นกลายเป็นมือและเท้าที่พระเจ้าใช้เพื่อขยายความรักของพระองค์ไปสู่คนที่อาจถูกมองข้ามและทอดทิ้ง เราก็สามารถรับใช้โดยการเป็นมือและเท้าของพระองค์ด้วยเช่นกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา