ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Tim Gustafson

เมื่อชีวิตปรากฏ

ในปีค.ศ.1986 ภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนได้รับความสนใจจากทั่วโลก เมื่อความรุนแรงของภัยพิบัติปรากฏชัดเจน เจ้าหน้าที่ก็รีบเร่งทำภารกิจที่สำคัญยิ่งยวดในการจำกัดวงของรังสี รังสีแกมม่าที่เป็นอันตรายจากเศษซากที่มีกัมมันตภาพรังสีสูงยังคงทำลายหุ่นยนต์ที่นำไปใช้ในการเก็บกวาดสิ่งที่เป็นพิษเหล่านี้

ดังนั้นพวกเขาจึงต้องใช้ “หุ่นยนต์ที่มีชีวิต” ซึ่งก็คือมนุษย์นั่นเอง! วีรบุรุษหลายพันคนกลายเป็น “ผู้ชำระล้างเชอร์โนบิล” พวกเขากำจัดวัตถุอันตรายด้วยการ “ผลัดเวร” ครั้งละเก้าสิบวินาทีหรือน้อยกว่านั้น คนเหล่านั้นทำในสิ่งที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ โดยที่แต่ละคนตกอยู่ในความเสี่ยงสูงยิ่ง

นานมาแล้ว การกบฏของเราต่อพระเจ้าทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงที่นำไปสู่หายนะทั้งหลายที่ตามมา (ดูปฐก.3) โดยทางอาดัมและเอวา เราได้เลือกที่จะแยกทางกับพระผู้สร้างของเรา และเราได้ทำให้โลกนี้อยู่ในภาวะเป็นพิษที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราไม่มีทางเก็บกวาดได้ด้วยตัวเราเอง

นั่นคือความหมายทั้งหมดของวันคริสต์มาส อัครทูตยอห์นเขียนถึงพระเยซูว่า “และชีวิตนั้นได้ปรากฏ และเราได้เห็น และเป็นพยาน และประกาศชีวิตนิรันดร์นั้นแก่ท่านทั้งหลาย ชีวิตนั้นได้ดำรงอยู่กับพระบิดาและได้ปรากฏแก่เราทั้งหลาย” (1ยน.1:2) แล้วยอห์นประกาศว่า “พระโลหิตของพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ก็ชำระเราทั้งหลายให้ปราศจากบาปทั้งสิ้น” (ข้อ 7)

สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างไม่สามารถให้ในสิ่งที่พระเยซูประทานนี้ได้ เมื่อเราเชื่อในพระองค์ พระองค์จะทรงฟื้นฟูเราให้มีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระบิดาของพระองค์ พระเยซูเป็นผู้ชำระล้างความตาย ชีวิตนั้นได้ปรากฏแล้ว

รักศัตรูของเรา

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ลินน์ เวสตันซึ่งเป็นพยาบาลทหารของกองทัพเรือ สหรัฐฯ ได้ขึ้นฝั่งไปกับนาวิกโยธินเมื่อพวกเขาเข้าค้นเกาะที่ศัตรูได้ยึดไว้ มีการบาดเจ็บเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ลินน์ทำแผลให้ทหารอย่างดีที่สุดเพื่อการถอนกำลังพล ในช่วงจังหวะหนึ่งหน่วยของเขาพบกับทหารฝ่ายศัตรูที่มีแผลฉกรรจ์บริเวณท้อง เนื่องจากลักษณะของบาดแผลชายคนนั้นจึงไม่สามารถดื่มน้ำได้ จ่าตรีเวสตันจึงฉีดพลาสม่าเข้าในเส้นเลือดเพื่อช่วยชีวิตเขา

“เก็บพลาสม่าไว้ช่วยพวกเราเอง ทหารเรือ!” นาวิกโยธินตะโกน จ่าตรีเวสตันไม่สนใจ เขารู้ว่าพระเยซูจะทำแบบนี้คือ “รักศัตรูของท่าน” (มธ.5:44)

พระเยซูทรงทำมากยิ่งกว่าเพียงแค่ตรัสคำพูดท้าทายเหล่านี้ เพราะพระองค์ทรงดำเนินชีวิตตามนั้นจริงๆ เมื่อมีกลุ่มคนมาจับพระองค์ไปหามหาปุโรหิต “ฝ่ายคนที่คุมพระเยซูก็เยาะเย้ยโบยตีพระองค์” (ลก.22:63) การข่มเหงดำเนินไปตลอดการไต่สวนและสั่งประหารชีวิตพระองค์ พระเยซูไม่เพียงแต่อดทนต่อสิ่งนั้น เมื่อพวกทหารโรมันตรึงพระองค์ พระองค์ทรงอธิษฐานขอการยกโทษให้พวกเขาด้วย (23:34)

เราอาจไม่ได้เผชิญหน้ากับศัตรูที่พยายามจะฆ่าเราจริงๆ แต่ทุกคนรู้ถึงความรู้สึกเมื่อต้องอดทนกับการเยาะเย้ยและการดูถูก การตอบสนองตามธรรมชาติของเราคือความโกรธ แต่พระเยซูได้กำหนดมาตรฐานไว้สูงกว่านั้น “จงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน” (มธ.5:44)

ในวันนี้ขอให้เราดำเนินในความรักเช่นนั้น โดยสำแดงความเมตตาอย่างที่พระเยซูทำ แม้แต่กับศัตรูของเรา

การแตกแยกครั้งใหญ่

ในการ์ตูนคลาสสิกเรื่องพีนัทส์ เพื่อนของไลนัสตำหนิเขาที่เชื่อเรื่องเจ้าแห่งฟักทอง ไลนัสเดินคอตกจากไปแล้วพูดว่า “ฉันได้เรียนรู้สามสิ่งที่ไม่ควรพูดกับคนอื่น ...ศาสนา การเมือง และเจ้าแห่งฟักทอง!”

เจ้าแห่งฟักทองมีตัวตนอยู่แค่ในความคิดของไลนัส แต่เป็นความจริงที่อีกสองหัวข้อนั้นทำให้เกิดการแตกแยกในประเทศชาติ ครอบครัว และเพื่อนฝูง ปัญหานี้เกิดขึ้นในสมัยของพระเยซูเช่นกัน พวกฟาริสีเคร่งครัดในเรื่องศาสนาและพยายามปฏิบัติตามกฎในพันธสัญญาเดิมทุกตัวอักษร พวกเฮโรเดียนฝักใฝ่ทางการเมืองมากกว่า แต่ทั้งสองกลุ่มต้องการเห็นชาวยิวหลุดพ้นจากการกดขี่ของโรม ดูเหมือนว่าพระเยซูจะไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกับพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงมาทูลถามพระองค์ด้วยคำถามที่จะจับผิดเรื่องการเมืองว่า ประชาชนควรเสียภาษีให้ซีซาร์หรือไม่ (มก.12:14-15) ถ้าพระเยซูตอบว่าควร ประชาชนก็จะไม่พอใจพระองค์ ถ้าพระองค์ตอบว่าไม่ควร พวกโรมจะสามารถจับกุมพระองค์ในข้อหากบฏได้

พระเยซูขอให้นำเหรียญมาและตรัสถามว่า “รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร” (ข้อ 16) ทุกคนรู้ว่าเป็นของซีซาร์ คำตรัสของพระเยซูยังดังก้องอยู่ในทุกวันนี้ “ของของซีซาร์จงถวายแก่ซีซาร์ และของของพระเจ้าจงถวายแด่พระเจ้า” (ข้อ 17) พระเยซูทรงจัดความสำคัญตามลำดับเพื่อหลีกเลี่ยงกับดักของพวกเขา

พระเยซูเสด็จมาเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดา เมื่อเราติดตามการทรงนำของพระองค์ เราเองก็จะแสวงหาพระเจ้าและอาณาจักรของพระองค์เหนือสิ่งอื่นใด โดยการหันความสนใจไปจากความขัดแย้งทั้งหมดและจดจ่อที่พระองค์ผู้ทรงเป็นความจริง

ผลตอบแทน

ในปีค.ศ. 1921 ศิลปินแซม โรเดียเริ่มก่อสร้างงานประติมากรรมทรงสูงชื่อวัตต์ทาวเวอร์ สามสิบสามปีต่อมา ประติมากรรมสิบเจ็ดชิ้นก็ตั้งสูงขึ้นไปถึงสามสิบเมตรเหนือนครลอสแองเจลิส นักดนตรีเจอร์รี่ การ์เซียด้อยค่าผลงานชิ้นสำคัญในช่วงชีวิตของโรเดียนี้ว่า “นี่คือผลตอบแทนที่คงอยู่หลังจากที่คุณตายไป” แล้วเขาก็บอกว่า “ว้าว นั่นไม่ใช่สำหรับผมหรอก”

ถ้าเช่นนั้นแล้วผลตอบแทนของเขาคืออะไร บ๊อบ เวียร์เพื่อนร่วมวงของเขา สรุปปรัชญาของพวกเขาไว้ว่า “ในนิรันดร์กาล ไม่มีใครจดจำคุณได้หรอก แล้วทำไมไม่เพียงสนุกไปกับมันก็พอ”

ครั้งหนึ่งชายผู้มั่งคั่งและเฉลียวฉลาดเคยพยายามค้นหา “ผลตอบแทน” โดยการทำทุกอย่างที่ท่านทำได้ ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้ารำพึงว่า ‘มาเถอะ มาลองสนุกสนานกันดู เอ้า จงสนุกสบายใจไป’” (ปญจ.2:1) แต่ท่านเขียนด้วยว่า “ไม่มีใครระลึกถึงคนมีสติปัญญาเช่นเดียวกับคนเขลา” (ข้อ 16) ท่านสรุปว่า “การงานที่เขาทำกันภายใต้ดวงอาทิตย์ก่อความสลดใจให้แก่ข้าพเจ้า” (ข้อ 17)

ชีวิตและคำสอนของพระเยซูนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการดำเนินชีวิตแบบคนสายตาสั้นเช่นนั้น พระเยซูเสด็จมาเพื่อประทาน “ชีวิต...อย่างครบบริบูรณ์” (ยน.10:10) แก่เรา และสอนเราให้ดำเนินชีวิตนี้โดยคำนึงถึงชีวิตบนสวรรค์ด้วย “อย่าส่ำสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัวในโลก” พระองค์ตรัส “แต่จงส่ำสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์” (มธ.6:19-20) แล้วพระองค์ทรงสรุปไว้ว่า “จงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้” (ข้อ 33)

นี่คือผลตอบแทนที่เราจะได้รับทั้งภายใต้ดวงอาทิตย์นี้และในชีวิตนิรันดร์

รวมกันในบั้นปลาย

ในปีค.ศ.1960 อ็อตโต พรีมิงเกอร์ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นด้วยภาพยนตร์เรื่อง ชนวนไฟสงคราม (Exodus) ของเขา ภาพยนตร์อ้างอิงมาจากนิยายของลีออน ยูริสซึ่งเป็นเรื่องราวของผู้อพยพชาวยิวที่ย้ายไปประเทศปาเลสไตน์หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาพยนตร์มีภาพของร่างเด็กสาวลูกครึ่งยุโรปและยิวกับชายชาวอาหรับ ทั้งคู่เป็นเหยื่อที่ถูกสังหารและถูกฝังไว้ในหลุมเดียวกันในที่ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นประเทศอิสราเอล

พรีมิงเกอร์ทิ้งตอนสุดท้ายไว้ให้เราสรุป ว่านี่คือสัญลักษณ์แห่งความสิ้นหวังและความฝันที่ถูกฝังไว้ตลอดกาล หรือเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง ที่ทั้งสองคนซึ่งมีอดีตเป็นศัตรูและเกลียดชังกันได้มาอยู่ร่วมกัน ทั้งในชีวิตและความตาย

บรรดาบุตรชายของโคราห์ผู้เขียนพระธรรมสดุดี 87 อาจมองดูสถานการณ์นี้จากมุมมองที่สอง พวกเขารอคอยสันติที่พวกเรายังรอคอยอยู่ พวกเขาเขียนถึงเยรูซาเล็มว่า “โอ นครแห่งพระเจ้าเอ๋ย เขากล่าวสรรเสริญเธอ” (ข้อ 3) พวกเขาร้องเพลงถึงวันที่ชนชาติทั้งหลายที่เคยทำสงครามกับคนยิว จะมาร่วมกันสรรเสริญพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว ทั้งราหับ(อียิปต์) บาบิโลน ฟีลิสเตีย ไทระ และเอธิโอเปีย (ข้อ 4) ทุกชนชาติจะถูกนำมาสู่เยรูซาเล็มและพระเจ้า

บทสรุปของพระธรรมสดุดีนี้คือการเฉลิมฉลอง คนในเยรูซาเล็มจะร้องว่า “น้ำพุทั้งสิ้นของเราอยู่ในเธอ” (ข้อ 7) พวกเขาร้องถึงพระองค์ผู้ทรงเป็นน้ำแห่งชีวิต และเป็นแหล่งแห่งชีวิตทั้งมวล (ยน.4:14) พระเยซูเป็นผู้เดียวที่จะนำมาซึ่งสันติสุขและเอกภาพนิรันดร์

ห้องมืดในป่า

กองทัพไม่ได้ให้โอกาสโทนี่ แวคคาโรในการเป็นช่างภาพ แต่นั่นหยุดเขาไม่ได้ เขายังคงถ่ายภาพ แม้ในระหว่างช่วงเวลาอันน่ากลัวที่ต้องหลบกระสุนปืนใหญ่และลูกกระสุนที่กระจายกลางอากาศจนดูเหมือนตกลงมาจากต้นไม้ จากนั้น ตอนที่เพื่อนๆนอนหลับ เขาใช้หมวกทหารของเพื่อนเป็นที่ผสมน้ำยาสำหรับล้างรูปถ่ายของเขา ป่ายามค่ำคืนกลายเป็นห้องมืดที่โทนี่ใช้สร้างสรรค์สมุดบันทึกเหนือกาลเวลาแห่งสมรภูมิรบในป่าเฮิร์ตเกน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

กษัตริย์ดาวิดใช้ชีวิตผ่านสมรภูมิรบและช่วงเวลาแห่งความมืดมนมากมาย 2 ซามูเอล 22 กล่าวว่า “พระ​เจ้า​ทรง​ช่วย​กู้​ดาวิด​ให้​พ้น​จาก​มือ​ของ​ศัตรู​ทั้งสิ้น​ของ​พระ​องค์​ท่าน และ​ให้​พ้น​จาก​พระ​หัตถ์​ของ​ซาอูล” (ข้อ 1) ดาวิดใช้ประสบการณ์เหล่านั้นจัดทำเป็นบันทึกเรื่องราวความสัตย์ซื่อของพระเจ้า ท่านกล่าวว่า “เพราะ​คลื่น​มัจจุราช​ล้อม​ข้าพเจ้า กระแส​แห่ง​ความ​หายนะ​ท่วม​ทับ​ข้าพเจ้า กระทำ​ให้​กลัว” (ข้อ 5)

ในเวลาไม่นาน ดาวิดเปลี่ยนจากความทดท้อไปสู่ความหวัง ท่านหวนคิดว่า “ใน​ยาม​ทุกข์​ใจ​ข้าพเจ้า​ร้อง​ทูล​ต่อ​พระ​เจ้า...จาก​พระ​วิหาร​ของ​พระ​องค์ ​พระ​องค์​ทรง​สดับ​เสียง​ของ​ข้าพเจ้า” (ข้อ 7) ดาวิดตั้งใจมั่นที่จะสรรเสริญพระเจ้าสำหรับการทรงช่วยเหลืออันไม่สิ้นสุดของพระองค์ ท่านกล่าวว่า “​พระ​เจ้า​ทรง​กระทำ​ให้​ความ​มืด​ของ​ข้าพเจ้า​สว่าง...ข้า​พระ​องค์​ตะลุย​กองทัพ​ได้​โดย​พระ​องค์ โดย พระ​เจ้า​ของ​ข้าพเจ้า ข้าพเจ้า​กระโดด​ข้าม​กำแพง​ได้” (ข้อ 29-30)

ดาวิดเปลี่ยนความทุกข์ยากของท่านเป็นโอกาสที่จะบอกให้โลกรู้ถึงพระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อ เราเองก็ทำเช่นนี้ได้ เพราะที่สุดแล้ว เราต่างพึ่งพาในพระองค์ผู้ทรงเปลี่ยนความมืดให้กลายเป็นความสว่าง

การตั้งค่ายของทั้งชนชาติ

เราตั้งค่ายพักแรมใต้แสงดาว โดยไม่มีอะไรกั้นกลางระหว่างเรากับท้องฟ้าอันกว้างไกลในแอฟริกาตะวันตก ในฤดูแล้งนี้เราไม่จำเป็นต้องกางเต็นท์ แต่เราต้องมีไฟ “อย่าปล่อยให้ไฟดับ” พ่อพูดพร้อมกับเอาไม้เขี่ยท่อนฟืน ไฟทำให้สัตว์ป่าไม่เข้ามาใกล้เรา สิ่งทรงสร้างของพระเจ้านั้นมหัศจรรย์ก็จริง แต่คุณคงไม่อยากให้เสือดาวหรืองูเลื้อยเข้ามาในบริเวณที่คุณตั้งค่ายพักแรม

พ่อผมเคยเป็นมิชชันนารีในประเทศกาน่าตอนบน และท่านมีความสามารถพิเศษในการเปลี่ยนทุกสิ่งให้เป็นคำสอน ไม่เว้นแม้กระทั่งการตั้งค่ายพักแรม

พระเจ้าทรงใช้การตั้งค่ายเพื่อสอนประชากรของพระองค์เช่นกัน คนอิสราเอลต้องอาศัยอยู่ในเพิงที่ทำจาก “ต้นมะงั่ว ใบอินทผลัม กิ่งไม้ที่มีใบมาก กิ่งต้นไค้” เป็นเวลาเจ็ดวัน ปีละหนึ่งครั้ง (ลนต.23:40) มีจุดประสงค์สองประการสำหรับเรื่องนี้ พระเจ้าตรัสกับพวกเขาว่า “ทุกคนที่เป็นชาวพื้นเมืองอิสราเอลให้เข้าอยู่ในเพิง เพื่อชาติพันธุ์ของเจ้าจะได้ทราบว่า เมื่อเราพาคนอิสราเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์นั้น เราได้ให้เขาอยู่ในเพิง” (ข้อ 42-43) แต่ขณะเดียวกันก็เป็นงานรื่นเริงด้วย “เจ้าจงปีติยินดีอยู่เจ็ดวันต่อพระเยโฮวาห์ พระเจ้าของเจ้า” (ข้อ 40)

การตั้งค่ายอาจไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับคุณ แต่พระเจ้าทรงกำหนดให้ชาวอิสราเอลตั้งค่ายเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อรำลึกถึงคุณความดีของพระองค์ด้วยความปีติยินดี เรามักจะลืมความหมายที่เป็นหัวใจสำคัญของวันหยุดเทศกาลของเรา เทศกาลต่างๆอาจเป็นเครื่องเตือนใจให้เราระลึกถึงพระลักษณะที่เปี่ยมไปด้วยความรักของพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงสรรสร้างความสนุกสนานขึ้นด้วยเช่นกัน

หลุมฝังศพของเชบนา

ดับเบิ้ลยู. บี. เยตส์ นักกวีชาวไอริชต้องการให้ฝังร่างของเขาไว้ “ภายใต้เบน บัลเบน” ภูเขายอดราบอันโดดเด่นที่เขาใช้ตั้งชื่อหนึ่งในกวีบทสุดท้ายของเขา ท่อนสุดท้ายของกลอนบทนี้ถูกสลักไว้บนป้ายหลุมฝังศพของเขา “ทอดสายตาอันเย็นชา ไปยังชีวิต ไปยังความตาย คนขี่ม้าเดินทางผ่านไป”

มีการคาดเดากันมากมายถึงความหมายของประโยคนี้ บางทีอาจเป็นการที่ผู้เขียนยอมรับความเป็นจริงของทั้งชีวิตและความตาย ไม่ว่าจะอย่างไรเยตส์ก็ได้ตามที่ปรารถนาทั้งสถานที่ในการฝังร่างของตนและข้อความที่สลักบนป้ายหลุมฝังศพ แต่ความจริงที่เย็นชาคือชีวิตของผู้คนดำเนินต่อไปโดยไม่มีเรา ผู้คนไม่สนใจในการจากไปของเรา

ในช่วงเวลาอันเลวร้ายในประวัติศาสตร์ของยูดาห์ เชบนา “ผู้ดูแลราชสำนัก” ได้ทำอุโมงค์ฝังศพของตนเพื่อจะรักษามรดกของเขาไว้หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่พระเจ้าตรัสกับเขาผ่านทางผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ว่า “เจ้ามีสิทธิ์อะไรที่นี่ และเจ้ามีใครอยู่ที่นี่ เจ้าจึงสกัดอุโมงค์ที่นี่เพื่อตัวเจ้าเอง สกัดอุโมงค์ในที่สูง และสลักที่อยู่สำหรับตนเองในศิลา” (อสย.22:16) ผู้เผยพระวจนะบอกเขาว่า “[พระเจ้าจะทรง]ม้วนเจ้า และขว้างเจ้าไปอย่างลูกบอลล์ยังแผ่นดินกว้าง เจ้าจะตายที่นั่น” (ข้อ 18)

เชบนาเข้าใจผิดไป สิ่งสำคัญไม่ใช่ที่ซึ่งเราถูกฝังแต่คือผู้ที่เรารับใช้ คนเหล่านั้นที่รับใช้พระเยซูมีความมั่นใจอย่างเหลือล้นว่า “คนทั้งหลายที่ตายเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเป็นสุข” (วว.14:13) เรารับใช้พระเจ้าผู้ห่วงใยเสมอต่อ “การจากไป” ของเรา พระองค์ทรงรอคอยการมาของเราและยินดีต้อนรับเรากลับบ้าน!

บทนำ – พระคุณสำหรับวันนี้ | ต่อสู้ได้อย่างดี

ต่อสู้ได้อย่างดี

ผมรักเรื่องราวดีๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเฉลิมฉลองหรือโศกเศร้า บาดแผลหรือชัยชนะ วิตกกังวลหรือซึมเศร้า สำเร็จหรือล้มเหลว แต่ละเรื่องร้อยเรียงด้วยเส้นด้ายหลักถักทอเป็นผืนผ้า ในฐานะที่มีวิชาชีพด้านที่ปรึกษามากว่า 35 ปี ผมได้รับฟังเรื่องราวนับพัน ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่ผมได้มีส่วนร่วมรับรู้ในชีวิตของแต่ละคนหรือในแต่ละครอบครัว และในการช่วยค้นหาทางออกเมื่อชีวิตต้องพบความท้าทาย หลายเรื่องราวมีส่วนคล้ายกัน รวมถึงชีวิตของผมเอง ซึ่งรายละเอียดอาจแตกต่างกันบ้าง แต่เส้นด้ายหลักยังคงเป็นเส้นเดียวกัน

ทุกชีวิตล้วนต้องต่อสู้ ไม่มีข้อยกเว้น เพียงแต่เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในสภาวะที่ต้องต่อสู้ตลอดเวลาโดยไม่เห็นจุดจบได้ เราทุกคนมีแรงผลักดันที่ทำให้เราพยายามหาทางออกเสมอ แต่พลังงานส่วนใหญ่ของทั้งตัวเราและคนรอบข้างถูกใช้ไปเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ การทำให้ความทุกข์น้อยลงเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนพยายามทำ และเราหวังว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง สุขภาพใจของเราจะแข็งแรง คือเป็นสภาวะที่มีสันติสุข มีความรื่นรมย์ในชีวิต และรู้สึกเติมเต็ม ปราศจากความเครียดและการดิ้นรนต่อสู้

อย่าเพิ่งเข้าใจผมผิด โลกนี้ยังคงเต็มไปด้วยความสวยงามมากมาย แต่ก็เหมือนที่ความงามไม่สามารถบดบังความแตกสลายทั้งหมดที่เราเห็นทั้งรอบตัวและในตัวเรา ความแตกสลายก็ไม่สามารถทำลายความงามทั้งหมดได้เช่นกัน สภาวะตึงเครียดระหว่างสองสิ่งนี้เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้ความท้าทายนี้เกิดขึ้นเสมอในชีวิต พระเยซูคริสต์ทรงสอนให้สาวกเตรียมพร้อมสำหรับ “การทดลองและความโศกเศร้า” ในโลกนี้ (ยอห์น 16:33) เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าพวกเขาจะพบความทุกข์ยากในชีวิต

ทำไมเราต้องต่อสู้ดิ้นรน? มีสองเหตุผลคือ ชีวิตเป็นเรื่องยาก และชีวิตมีความเจ็บปวด

ชีวิตเป็นเรื่องยาก ประโยคนี้อาจฟังดูเย็นชา แต่มันคือความจริง หากพูดกันตามตรง เราทุกคนไม่สมบูรณ์ อาศัยอยู่ในโลกที่ไม่สมบูรณ์ เต็มไปด้วยผู้คนที่ไม่สมบูรณ์ และความจริงคือ ชีวิตเป็นเรื่องยาก ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ การดิ้นรนในชีวิตเป็นเรื่องปกติ แต่ในที่สุดทุกสิ่งจะสูญสลายไป รวมถึงการแก้ปัญหาแบบเร็วๆ หาคำตอบแบบเอาที่ง่าย เหมือนใช้เทปกาวซ่อมเท่าที่ทำได้ ที่พอแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ใช่ทางแก้ที่ยั่งยืนสำหรับความแตกสลายที่ร้าวลึกในตัวเราและรอบตัวเรา…

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา