ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Bill Crowder

เครื่องมือแห่งความดี

เมื่ออาชญากรถูกจับกุมตัว พนักงานสอบสวนได้ถามผู้กระทำผิดว่าเหตุใดเขาจึงทำร้ายผู้อื่นอย่างโจ่งแจ้งท่ามกลางพยานมากมาย คำตอบนั้นน่าตกใจ “ผมรู้ว่าคนเหล่านั้นจะไม่ทำอะไรหรอก เพราะพวกเขาไม่เคยทำเลย” คำให้การนั้นแสดงถึงภาพของสิ่งที่เรียกว่า “การรู้เห็นต่อการกระทำผิด” หรือการเลือกที่จะเพิกเฉยต่ออาชญากรรมแม้คุณจะรู้ว่าสิ่งนั้นกำลังจะเกิดขึ้น

อัครทูตยากอบกล่าวถึงการรู้เห็นต่อการกระทำผิดอีกแบบที่คล้ายกัน โดยบอกว่า “เหตุฉะนั้นผู้ใดรู้ว่าอะไรเป็นความดีและไม่ได้กระทำ คนนั้นจึงมีบาป” (ยก.4:17)

โดยความรอดอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ประทานแก่เรานั้น พระเจ้าได้ทรงสร้างเราให้เป็นตัวแทนของความดีในโลก เอเฟซัส 2:10 ยืนยันว่า “เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ประกอบการดี ซึ่งพระเจ้าได้ทรงดำริไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เรากระทำ” การดีนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เราได้รับความรอด แต่เป็นผลจากการที่หัวใจของเราได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตในชีวิตของเรา พระวิญญาณยังประทานของประทานฝ่ายวิญญาณแก่เรา เพื่อเตรียมเราให้ทำสิ่งเหล่านั้นที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นใหม่ในเราให้สำเร็จ (ดู 1 คร.12:1-11)

ในฐานะฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า ให้เรายอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระองค์และรับการเสริมกำลังจากองค์พระวิญญาณ เพื่อเราจะสามารถเป็นเครื่องมือแห่งความดีของพระองค์ได้ ในโลกที่ต้องการพระองค์อย่างยิ่งนี้

หัวใจแห่งการรับใช้

เมื่อ “คุณลุง” เอโมรีของผมเสียชีวิต มีคำกล่าวไว้อาลัยมากมายในหลากหลายรูปแบบ แต่คำกล่าวเพื่อเป็นเกียรติเหล่านั้นมีใจความหลักที่เหมือนกันคือ ลุงเอโมรีแสดงความรักที่มีต่อพระเจ้าด้วยการรับใช้ผู้อื่น ไม่มีตอนไหนที่ชัดเจนไปกว่าในช่วงการรับราชการทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ท่านทำหน้าที่เป็นเสนารักษ์ หรือแพทย์สนามที่ออกไปยังสนามรบโดยไม่มีอาวุธ ท่านได้รับเหรียญกล้าหาญระดับสูง แต่ลุงเอโมรีเป็นที่จดจำมากที่สุดในการรับใช้ด้วยใจกรุณาของท่าน ทั้งในระหว่างสงครามและหลังสงคราม

ความเสียสละของเอโมรีคือภาพของการใช้ชีวิตเช่นที่เปาโลท้าทายชาวกาลาเทีย ท่านเขียนว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ที่ทรงเรียกท่านก็เพื่อให้มีเสรีภาพ อย่าเอาเสรีภาพของท่านเป็นช่องทางที่จะปล่อยตัวไปตามเนื้อหนัง แต่จงรับใช้กันและกันด้วยความรักเถิด” (กท.5:13) แต่จะทำได้อย่างไร ในสภาพที่แตกสลายของเรานั้น เรามักจะให้ความสำคัญกับตัวเองมาก่อนความสำคัญของผู้อื่น แล้วความไม่เห็นแก่ตัวที่ฝืนธรรมชาติเช่นนี้มาจากที่ใดกัน

ในฟีลิปปี 2:5 เปาโลได้ให้คำหนุนใจนี้ว่า “ท่านจงมีน้ำใจต่อกันเหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์” เปาโลอธิบายถึงความเต็มใจของพระคริสต์ที่ต้องพบกับความตายบนไม้กางเขนเพราะความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อเรา เมื่อพระวิญญาณของพระองค์ทำให้เรามีจิตใจเหมือนอย่างพระคริสต์เท่านั้น จึงจะทำให้เราแตกต่างและสามารถเสียสละเพื่อผู้อื่น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเสียสละอันสูงสุดของพระเยซูเมื่อทรงมอบพระองค์เองให้กับเรา ขอให้เรายอมต่อการทำงานของพระวิญญาณในชีวิตของเรา

บ้านในพระเยซู

“ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน” โดโรธีพูดและเคาะส้นรองเท้าสีทับทิมของเธอ ในเรื่องพ่อมดแห่งออซ เพียงทำแค่นั้นก็สามารถพาโดโรธีและโตโต้ออกจากออซกลับสู่บ้านของพวกเขาที่แคนซัสได้อย่างมหัศจรรย์

แต่โชคร้ายที่ไม่มีรองเท้าสีทับทิมมากพอสำหรับทุกคน แม้ว่าหลายคนจะรู้สึกคิดถึงบ้านเหมือนโดโรธี แต่การที่จะเจอบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เรารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งนั้นบางครั้งก็ยากจะเป็นไปได้

หนึ่งในผลของการใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วคือความรู้สึกแปลกแยก ความรู้สึกสงสัยว่าเราจะเจอที่ที่เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่ ความรู้สึกนี้อาจจะสะท้อนความจริงที่ลึกลงไปที่กล่าวไว้โดย ซี. เอส. ลูอิสว่า “ถ้าผมมีความปรารถนาที่ประสบการณ์ในโลกนี้ไม่สามารถเติมเต็มให้ได้แล้ว คำอธิบายที่ดีที่สุดน่าจะเป็นเพราะผมถูกสร้างมาเพื่ออีกโลกหนึ่ง”

ในคืนก่อนจะไปที่ไม้กางเขน พระเยซูทรงย้ำกับสหายของพระองค์ถึงบ้านหลังนั้นว่า “ในพระนิเวศของพระบิดาเรามีที่อยู่เป็นอันมาก ถ้าไม่มีเราคงได้บอกท่านแล้ว เพราะเราไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับท่านทั้งหลาย” (ยน.14:2) คือบ้านที่เราจะได้รับการต้อนรับและเป็นที่รัก

แต่เราจะพบบ้านนั้นในเวลานี้ได้เช่นกัน เราเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวคริสตจักรของพระเจ้า และเรามีชีวิตในชุมชนร่วมกับพี่ชายและน้องสาวในพระคริสต์ เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสันติสุขและความเปรมปรีดิ์ของพระองค์ได้ จนกว่าจะถึงวันนั้นที่พระเยซูพาเราไปยังบ้านที่หัวใจของเราโหยหา เราอยู่ในบ้านกับพระองค์เสมอ

แบ่งปันความเชื่อของคุณ

ในปีค.ศ. 1701 ศาสนจักรแห่งอังกฤษได้ก่อตั้งสมาคมเผยแพร่พระกิตติคุณเพื่อส่งมิชชันนารีไปทั่วโลก คำขวัญที่พวกเขาเลือกใช้คือ ทรานเซียนา ดิอู-วานอส (transiens adiuva nos) ซึ่งมาจากภาษาละติน แปลว่า “ขอโปรดมาช่วยเราด้วยเถิด!” นี่คือคำร้องขอที่มีต่อทูตแห่งข่าวประเสริฐมาตั้งแต่ศตวรรษแรก เมื่อผู้ติดตามพระเยซูนำคำสอนแห่งความรักและการให้อภัยของพระองค์ไปยังโลกที่ต้องการสิ่งเหล่านี้อย่างยิ่ง

“ขอโปรดมาช่วยเราด้วยเถิด!” เป็นวลีที่มาจาก “คำร้องขอของชาวมาซิโด-เนีย” ซึ่งปรากฏในกิจการ 16 เปาโลกับเพื่อนร่วมงานของท่านได้มาถึงเมืองโตรอัส ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ (ปัจจุบันคือประเทศตุรกี, ข้อ 8) ที่นั่น “เปาโลได้นิมิตเห็นชาวมาซิโดเนียคนหนึ่งยืนอ้อนวอนว่า ‘ขอโปรดมาช่วยพวกข้าพเจ้าในแคว้นมาซิโดเนียเถิด’” (ข้อ 9) เมื่อได้นิมิตแล้ว เปาโลกับเพื่อนร่วมงาน “จึงหาโอกาสทันทีที่จะไปยังแคว้นมาซิโดเนีย” (ข้อ 10) พวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของคำร้องขอนี้

ไม่ใช่ทุกคนที่จะถูกเรียกให้ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปประกาศ แต่เราสามารถสนับสนุนพวกเขาทางด้านการเงินและด้วยคำอธิษฐานของเรา และเราทุกคนสามารถบอกใครสักคนถึงข่าวดีเรื่องพระเยซู ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่อีกฟากของห้อง ข้างถนน หรือในชุมชน ให้เราทูลขอพระเจ้าผู้ประเสริฐของเรา ที่จะทรงช่วยให้เราสามารถก้าวออกไปและมอบความช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแก่ผู้คน นั่นคือโอกาสที่จะได้รับการอภัยในพระนามของพระเยซู

พระประสงค์ที่กอปรด้วยปัญญา

สหราชอาณาจักรนั้นเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ ในทุกที่ที่ไปคุณจะเห็นแผ่นจารึกแสดงความเคารพบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์หรืออนุสรณ์สถานที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น แต่มีป้ายหนึ่งที่แสดงให้เห็นอารมณ์ขันแบบอังกฤษ บนแผ่นโลหะผุกร่อนด้านนอกสถานที่พักแรมแห่งหนึ่งในเมืองแซนวิช ประเทศอังกฤษ มีข้อความว่า “ณ ที่แห่งนี้ วันที่ 5 กันยายน 1782 ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

บางครั้งดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับคำอธิษฐานของเรา เราอธิษฐานแล้วอธิษฐานอีก นำคำวิงวอนทูลต่อพระบิดาโดยหวังว่าจะทรงตอบเดี๋ยวนี้ ดาวิดผู้เขียนเพลงสดุดีแสดงความผิดหวังเมื่อทูลอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า อีกนานเท่าใด พระองค์จะทรงลืมข้าพระองค์เสียเป็นนิตย์หรือ พระองค์จะเบือนพระพักตร์จากข้าพระองค์นานเท่าใด” (สดด.13:1) เราสะท้อนความรู้สึกเดียวกันนี้อย่างไม่ต้องสงสัย พระองค์เจ้าข้า นานแค่ไหนพระองค์จึงจะทรงตอบ

อย่างไรก็ตามพระเจ้าของเรานั้นทรงสมบูรณ์แบบไม่เพียงในพระปัญญาของพระองค์เท่านั้น แต่ในเวลาของพระองค์ด้วย ดาวิดจึงกล่าวได้ว่า “แต่ข้าพระองค์วางใจในความรักมั่นคงของพระองค์ จิตใจของข้าพระองค์จะเปรมปรีดิ์ในความรอดของพระองค์” (ข้อ 5) ปัญญาจารย์ 3:11 เตือนให้เราระลึกว่า “[พระเจ้า] ทรงกระทำให้สรรพสิ่งงดงามตามฤดูกาลของมัน” คำว่า งดงาม หมายถึง “เหมาะสม” หรือ “แหล่งแห่งความสุขใจ” พระเจ้าอาจไม่ทรงตอบคำอธิษฐานของเราทุกครั้งอย่างที่เราอยากให้พระองค์ตอบ แต่พระองค์ทรงทำตามพระประสงค์อันกอปรด้วยปัญญาของพระองค์เสมอ ขอให้เรามีกำลังใจเพราะเมื่อพระองค์ทรงตอบ สิ่งนั้นจะถูกต้อง เหมาะสมและงดงาม

เลือกติดตามพระเจ้า

เดลิมิเร่อร์อ้างว่า “ในชั่วชีวิตหนึ่ง คนทั่วไปจะต้องทำการตัดสินใจ 773,618 ครั้ง” หนังสือพิมพ์สัญชาติอังกฤษฉบับนี้ยังยืนยันต่อไปอีกว่าคนเรา “จะรู้สึกเสียใจ 143,262 ครั้ง” จากการตัดสินใจเหล่านั้น ผมไม่รู้เลยว่าหนังสือพิมพ์ได้ตัวเลขเหล่านี้มาอย่างไร แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ คนเราต้องเผชิญกับการตัดสินใจจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนตลอดช่วงชีวิตของเรา ตัวเลขจำนวนมากนี้อาจทำให้เราไม่กล้ากระดิกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราตระหนักว่าการตัดสินใจทุกอย่างของเราจะเกิดผลตามมาที่อาจร้ายแรงแตกต่างกันไป

หลังจากเดินวนอยู่ในถิ่นทุรกันดารสี่สิบปี ลูกหลานของชนชาติอิสราเอลได้มายืนอยู่ที่หน้าทางเข้าไปสู่ดินแดนใหม่ของพวกเขา ในเวลาต่อมาหลังจากเข้าสู่ดินแดนนั้นแล้ว โยชูวาผู้นำของพวกเขาได้เสนอทางเลือกที่ท้าทายให้แก่พวกเขา คือ “จงยำเกรงพระเจ้าและปรนนิบัติพระองค์...ด้วยความซื่อสัตย์” ท่านกล่าว “จงทิ้งพระเหล่านั้นซึ่งบรรพบุรุษของท่านได้เคยปรนนิบัติ” (ยชว.24:14) โยชูวาบอกพวกเขาว่า “ถ้าท่านไม่เต็มใจที่จะปรนนิบัติพระเจ้า ท่านทั้งหลายจงเลือกเสียในวันนี้ว่าท่านจะปรนนิบัติผู้ใด...แต่ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัวของข้าพเจ้า เราจะปรนนิบัติพระเจ้า” (ข้อ 15)

เมื่อเราเริ่มต้นวันใหม่ในแต่ละวัน มีความเป็นไปได้ต่างๆมากมายที่ทำให้เราต้องตัดสินใจ การใช้เวลาเพื่อขอให้พระเจ้าทรงนำทางเราจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกของเรา โดยเดชของพระวิญญาณ เราสามารถเลือกที่จะติดตามพระองค์ในทุกวัน

พระสัญญาเรื่องการบังเกิดของพระคริสต์

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1962 จอห์น ดับเบิลยู. มอชลี่นักฟิสิกส์กล่าวไว้ว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะสรุปว่า เด็กชายหญิงทั่วๆไปไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างเชี่ยวชาญได้” คำทำนายของมอชลี่ดูน่าทึ่งในเวลานั้น แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าแม่นยำอย่างน่าประหลาดใจ ทุกวันนี้การใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มือถือเป็นหนึ่งในทักษะแรกเริ่มที่เด็กเรียนรู้

ในขณะที่คำทำนายของมอชลี่เป็นจริง แต่ก็ยังมีคำทำนายที่สำคัญกว่านั้นมาก คือคำทำนายในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระคริสต์ ตัวอย่างเช่น มีคาห์ 5:2 ประกาศว่า “โอ เบธเลเฮม เอฟราธาห์ แต่เจ้าผู้เป็นหน่วยเล็กในบรรดาตระกูลของยูดาห์ จากเจ้าจะมีผู้หนึ่งออกมาเพื่อเรา เป็นผู้ที่จะปกครองในอิสราเอลดั้งเดิมของท่านมาจากสมัยเก่า จากสมัยโบราณกาล” พระเจ้าทรงส่งพระเยซูมาบังเกิดที่เบธเลเฮมหน่วยเล็กน้อย ทรงประทานเครื่องหมายว่าพระองค์สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ดาวิด (ดู ลก.2:4-7)

พระคัมภีร์เล่มเดียวกันที่ทำนายอย่างแม่นยำถึงการเสด็จมาครั้งแรกของพระเยซู ก็ยังได้สัญญาถึงการเสด็จกลับมาอีกครั้งของพระองค์เช่นกัน (กจ.1:11) พระเยซูทรงสัญญากับสาวกกลุ่มแรกว่าจะทรงเสด็จกลับมาหาพวกเขา (ยน.14:1-4)

คริสต์มาสนี้ เมื่อเราใคร่ครวญข้อเท็จจริงที่ทำนายไว้อย่างแม่นยำเกี่ยวกับการมาบังเกิดของพระเยซู ขอให้เราตระหนักถึงพระสัญญาที่จะทรงเสด็จกลับมาด้วย และยอมให้พระองค์ทรงเตรียมเราให้พร้อมสำหรับช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่เมื่อเราได้พบพระองค์หน้าต่อหน้า!

สมควรแก่การสรรเสริญทั้งสิ้น

หลายคนยกย่องให้เฟอร์แรนต์และไทเชอร์เป็นนักบรรเลงเปียโนคู่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล การแสดงดนตรีร่วมกันของพวกเขานั้นมีความแม่นยำสูงมากจนลักษณะการบรรเลงของพวกเขาถูกเรียกว่าสี่มือแต่ใจเดียว ใครที่ได้ฟังดนตรีของพวกเขาจะเริ่มเข้าใจถึงความทุ่มเทอย่างมากมายเพื่อให้ได้งานที่สมบูรณ์แบบ แต่ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขารักในสิ่งที่ตนทำ ความจริงแล้วเมื่อพวกเขาเกษียณอายุในปี 1989 มีบางโอกาสที่เฟอร์แรนต์และไทเชอร์จะปรากฏตัวที่ร้านเปียโนในเมืองเพื่อบรรเลงเพลงที่แต่งแบบสดๆ พวกเขาก็แค่รักในการเล่นดนตรี

ดาวิดก็รักการเล่นดนตรี แต่ท่านร่วมทีมกับพระเจ้าเพื่อให้บทเพลงของท่านมีความหมายมากยิ่งขึ้น บทเพลงสดุดีของดาวิดยืนยันถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรนและความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่พึ่งพาในพระองค์อย่างสุดใจ แต่ในท่ามกลางความล้มเหลวและความไม่สมบูรณ์แบบของตนเองนั้น คำสรรเสริญของท่านสำแดงถึงการมีสิ่งที่เรียกว่า “ความสามารถในการแยกแยะเสียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ” ในฝ่ายวิญญาณ คือการรับรู้ในความยิ่งใหญ่และความประเสริฐของพระเจ้าแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด หัวใจซึ่งอยู่เบื้องหลังคำสรรเสริญของดาวิดได้ถูกกล่าวไว้อย่างเรียบง่ายในสดุดี 18:1 ที่ว่า “ข้าแต่พระเจ้า พระกำลังของข้าพระองค์ ข้าพระองค์รักพระองค์”

ดาวิดยังกล่าวต่อไปอีกว่า “ข้าพระองค์ร้องทูลต่อพระเจ้าผู้ทรงสมควรแก่การสรรเสริญ” (ข้อ 3) และหันไปหาพระองค์ “ในยามทุกข์ระทมใจ” (ข้อ 6) ไม่ว่าสถานการณ์ของเราจะเป็นเช่นไร ให้เราทำเช่นเดียวกันคือยกหัวใจขึ้นสรรเสริญและนมัสการพระเจ้าของเรา พระองค์ทรงสมควรแก่การสรรเสริญทั้งสิ้น

พร้อมที่จะไป

ในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัส หลายคนต้องทนทุกข์กับการสูญเสียผู้เป็นที่รักไป ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2020 ครอบครัวผมก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งเมื่อบี คราวเดอร์คุณแม่วัยเก้าสิบห้าปีของผมได้เสียชีวิตลงแม้ไม่ใช่จากโรคโควิด 19 ก็ตาม และเช่นเดียวกับหลายๆครอบครัวที่เราไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อแสดงความเสียใจ เพื่อยกย่องชีวิตของท่าน หรือเพื่อหนุนใจกันและกัน เราใช้รูปแบบอื่นแทนในการยกย่องอิทธิพลแห่งความรักของท่าน และเราได้รับการปลอบประโลมอย่างมากมายจากการที่ท่านยืนยันว่า ถ้าพระเจ้าเรียกท่านกลับบ้าน ท่านก็พร้อมและไม่รอช้าที่จะไป ความหวังอันมุ่งมั่นนี้ปรากฏให้เห็นอย่างมากเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ และในขณะที่ท่านกำลังเผชิญหน้ากับความตาย

ขณะเผชิญหน้ากับความตายที่กำลังจะมาถึง เปาโลเขียนไว้ว่า “เพราะว่าสำหรับข้าพเจ้านั้น การมีชีวิตอยู่ก็เพื่อพระคริสต์ และการตายก็ได้กำไร...ข้าพเจ้าลังเลใจอยู่ในระหว่างสองฝ่ายนี้ คือว่า ข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะจากไปเพื่ออยู่กับพระคริสต์ ซึ่งประเสริฐกว่ามากนัก แต่การที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ในร่างกายนี้ก็จำเป็นมากสำหรับพวกท่าน” (ฟป.1:21, 23-24) แม้มีความปรารถนาที่ถูกต้องที่จะอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่เปาโลก็พร้อมสำหรับบ้านในสวรรค์ของท่านกับพระคริสต์

ความมั่นใจเช่นนี้เปลี่ยนมุมมองของเราในการก้าวจากชีวิตนี้ไปสู่ชีวิตหน้า ความหวังที่เรามีช่วยปลอบประโลมใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดีในช่วงเวลาแห่งการสูญเสียของพวกเขา แม้เราจะเศร้าเสียใจเมื่อสูญเสียผู้เป็นที่รัก แต่ผู้เชื่อในพระเยซูไม่เสียใจเหมือนอย่างคนอื่นๆ “ที่ไม่มีความหวัง” (1ธส.4:13) ความหวังอันแท้จริงเป็นของคนเหล่านั้นที่รู้จักพระองค์

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา