Month: มีนาคม 2021

หนังสือนิทานของพระเจ้า

ฉันออกไปเดินเล่นเพราะอยากชื่นชมวันที่สวยงามและไม่นานฉันก็เจอเพื่อนบ้านใหม่ เขาหยุดทักฉันและแนะนำตัว “ผมชื่อปฐมกาล อายุหกขวบครึ่ง”

“ปฐมกาลเป็นชื่อที่ยอดเยี่ยม! เป็นพระธรรมเล่มหนึ่งในพระคัมภีร์” ฉันตอบ
“พระคัมภีร์คืออะไรครับ” เขาถาม
“เป็นหนังสือนิทานของพระเจ้า เล่าถึงการสร้างโลกและมนุษย์ และความรักของพระองค์ที่มีต่อเรา”

การตอบสนองด้วยความอยากรู้อยากเห็นของเขาทำให้ฉันยิ้ม “ทำไมพระองค์สร้างโลกและมนุษย์และรถกับบ้านล่ะครับ แล้วรูปภาพของผมอยู่ในหนังสือของพระองค์หรือเปล่า”

แม้จะไม่มีรูปภาพจริงๆของเพื่อนใหม่ของฉันหรือพวกเราในพระคัมภีร์ แต่เราทุกคนเป็นส่วนสำคัญในหนังสือนิทานของพระเจ้า เราเห็นในปฐมกาล 1 ว่า “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ ตามพระฉายาของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น” (ข้อ 27) พระองค์ทรงดำเนินกับมนุษย์ในสวนและเตือนไม่ให้พวกเขาถูกล่อลวงให้เป็นพระเจ้าของตนเอง (บทที่ 3) ในตอนท้ายของหนังสือ พระเจ้าทรงบอกถึงการที่พระบุตรของพระองค์ได้เสด็จลงมาดำเนินกับเราด้วยความรักอีกครั้ง และนำมาซึ่งแผนงานแห่งการยกโทษและฟื้นฟูสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง

เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ เราเรียนรู้ว่าพระผู้สร้างของเราอยากให้เรารู้จักพระองค์ พูดกับพระองค์และแม้แต่ถามคำถามกับพระองค์ พระองค์ทรงห่วงใยเรามากกว่าที่เราจะจินตนาการได้

ทุกลมหายใจ

เมื่อที อัน ป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองซึ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเกือบทำให้เขาเสียชีวิต เขาจึงตระหนักว่าการที่เราสามารถหายใจได้นั้นคือของขวัญ เป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ที่เครื่องช่วยหายใจต้องส่งอากาศเข้าไปในปอดของเขาทุกวินาที ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เจ็บปวดในการรักษาของเขา

ที อันหายจากโรคอย่างอัศจรรย์ ในวันนี้เขาเตือนตัวเองไม่ให้พร่ำบ่นเรื่องความท้าทายในชีวิต “ผมจะแค่หายใจเข้าลึกๆ” เขากล่าว “และขอบคุณพระเจ้าที่ผมหายใจได้”

เป็นเรื่องง่ายที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราต้องการหรืออยากมี และลืมไปว่าบางครั้งสิ่งที่เล็กน้อยที่สุดในชีวิตกลับเป็นเรื่องวิเศษที่สุด ในนิมิตของเอเสเคียล (อสค.37:1-14) พระเจ้าเปิดเผยกับผู้เผยพระวจนะว่าพระองค์เท่านั้นที่สามารถให้ชีวิตกับกระดูกได้ แม้จะมีเส้นเอ็น เนื้อและผิวหนังมาหุ้มแต่ “ไม่มีลมหายใจในนั้น” (ข้อ 8) กระดูกนั้นมีชีวิตอีกครั้งเมื่อพระเจ้าประทานลมหายใจเท่านั้น (ข้อ 10)

นิมิตนี้แสดงให้เห็นภาพพระสัญญาของพระเจ้าที่จะฟื้นฟูอิสราเอลจากความพินาศ และย้ำเตือนผมด้วยว่าทุกสิ่งที่ผมมี ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ล้วนแล้วแต่เปล่าประโยชน์หากพระเจ้าไม่ได้ทรงมอบลมหายใจให้ผม

ในวันนี้ให้เราขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระพรที่ธรรมดาที่สุดในชีวิต ในท่ามกลางความทุกข์ลำบากระหว่างวัน ให้เราหาโอกาสหยุดเพื่อที่จะสูดหายใจเข้าลึกๆและ “ให้ทุกสิ่งที่หายใจสรรเสริญพระเจ้า (สดด.150:6)

หัวใจสำคัญของวันอีสเตอร์

อ่านทั้งหมด

พบความหวังที่แท้จริง และการเริ่มต้นใหม่วันนี้

จากความขัดสน

วอร์เรน บัฟเฟตต์กับบิลและเมลินดา เกตส์สร้างประวัติศาสตร์เมื่อพวกเขาเริ่มโครงการพันธสัญญาแห่งการให้ โดยสัญญาว่าจะบริจาคเงินครึ่งหนึ่งของพวกเขาให้การกุศล หมายความว่าจนถึงปี 2018 พวกเขาบริจาคไปแล้วราว 3 ล้านล้านบาท โครงการนี้ทำให้นักจิตวิทยาพอล พิฟ อยากศึกษารูปแบบของการให้นี้ จากการศึกษาเขาพบว่าคนจนมีแนวโน้มจะให้มากกว่า 44 เปอร์เซ็นต์จากที่พวกเขามีซึ่งมากกว่าคนรวย คนที่ประสบความยากจนมักกลายเป็นคนใจกว้างมากกว่า

พระเยซูทรงรู้ในเรื่องนี้ เมื่อเสด็จไปยังพระวิหารพระองค์ทอดพระเนตรดูฝูงชนเอาเงินมาใส่ในตู้ถวาย (มก.12:41) คนมั่งมีเอาเงินมากมาใส่ แต่หญิงม่ายยากจนเอาเหรียญทองแดงสองอันมีค่าประมาณสลึงหนึ่งมาใส่ไว้ ผมนึกภาพพระเยซูทรงยืนขึ้นอย่างประหลาดใจและยินดี และพระองค์ทรงเรียกสาวกในทันใดเพื่อพวกเขาจะไม่พลาดการกระทำอันน่าประทับใจนี้ “หญิงม่ายจนคนนี้ได้ใส่ไว้ในตู้เก็บเงินถวายมากกว่าคนทั้งปวงที่ใส่ไว้นั้น” พระเยซูกล่าว (ข้อ 43) สาวกมองหน้ากันอย่างสงสัย หวังให้ใครอธิบายสิ่งที่พระองค์ตรัส พระองค์จึงทรงอธิบายอย่างเรียบง่ายว่า “คนทั้งปวงนั้นได้เอาเงินเหลือใช้ของเขามาใส่ไว้ แต่ผู้หญิงนี้ขัดสนที่สุดยังได้เอาเงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตนมาใส่จนหมด” (ข้อ 44)

เราอาจมีไม่มากที่จะถวาย แต่พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้เราให้ทั้งที่ขัดสน แม้อาจจะดูน้อยในสายตาคนอื่น แต่เราให้ในสิ่งที่เรามี และพระเจ้าทรงชื่นชมยินดีในของขวัญอันยิ่งใหญ่ของเรา

ฝึกฝนสิ่งเหล่านี้

ขณะที่ผมช่วยลูกชายทำการบ้านคณิตศาสตร์ เห็นได้ชัดว่าเขาไม่กระตือรือร้นเลยที่จะแก้โจทย์รูปแบบเดียวกันหลายๆครั้ง “ผมทำได้แล้วพ่อ!” เขายืนยัน โดยหวังว่าผมจะยอมให้เขาหยุดทำ ผมอธิบายอย่างอ่อนโยนว่าแนวคิดเป็นแค่ความคิดจนกว่าเราจะเรียนรู้ในการลงมือปฏิบัติ

เปาโลเขียนไปถึงเพื่อนของท่านในฟีลิปปีเกี่ยวกับการลงมือปฏิบัติ “จงกระทำทุกสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และได้รับไว้ ได้ยินและได้เห็นในข้าพเจ้าแล้ว” (ฟป.4:9) ท่านพูดถึงห้าสิ่งคือ ความปรองดอง - เมื่อเตือนนางยูโอเดียและนางสินทิเค (ข้อ 2-3) ความชื่นชมยินดี - เมื่อเตือนให้ผู้อ่านของท่านพัฒนา (ข้อ 4) ความอ่อนสุภาพ - เมื่อหนุนใจให้พวกเขาทำหน้าที่ต่อโลก (ข้อ 5) การอธิษฐาน ดังที่ท่านได้ทำเป็นแบบอย่าง และเขียนถึงในจดหมาย (ข้อ 6-7) และ การใคร่ครวญ - ดังที่ท่านได้สำแดงแม้อยู่ในคุก (ข้อ 8) ความปรองดอง ความชื่นชมยินดี ความอ่อนสุภาพ การอธิษฐานและการใคร่ครวญ เป็นสิ่งที่เราถูกเรียกให้สำแดงออกในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู สิ่งเหล่านี้ต้องมีการฝึกฝนเพื่อจะพัฒนา เหมือนนิสัยด้านอื่นๆ

แต่ข่าวดีของพระกิตติคุณตามที่เปาโลได้บอกชาวฟิลิปปีแล้ว คือ “พระเจ้าเป็นผู้ทรงกระทำกิจอยู่ภายในท่าน ให้ท่านมีใจปรารถนา ทั้งให้ประพฤติตามชอบพระทัยพระองค์” (2:13) เราไม่ต้องฝึกฝนด้วยกำลังของเราเอง แต่พระเจ้าจะทรงจัดเตรียมให้ในสิ่งที่เรายังขาดอยู่ (4:19)

รำพึงถึงหิมะ

กลุ่มนักร้องชาวบ้าน “เหนือแม่น้ำไรน์” ในย่านผู้ใช้แรงงานที่เมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ ร้องเพลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเมืองทุกปี “ทุกครั้งที่หิมะตกครั้งแรกของปี มันรู้สึกเหมือนกับมีเรื่องที่ศักดิ์สิทธ์กำลังเกิดขึ้น” ลินฟอร์ด เด็ทวีลเลอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งวงกล่าว “เหมือนการเริ่มต้นใหม่ ทั้งเมืองจะค่อยๆช้าลงและเงียบขึ้น”

ถ้าคุณเคยเจอกับหิมะที่ตกหนักคุณจะเข้าใจว่ามันสร้างแรงบันดาลใจให้กับบทเพลงได้อย่างไร ความเงียบอันอัศจรรย์ปกคลุมโลกเมื่อหิมะมาแทนที่คราบฝุ่นและความทึบทึม จากนั้นไม่นานความเยือกเย็นแห่งฤดูหนาวก็ปรากฏขึ้น เชื้อเชิญให้เรารำลึกและชื่นชมยินดี

เอลีฮูเพื่อนของโยบซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจต่อพระเจ้า ได้บันทึกถึงการทรงสร้างที่เรียกหาความสนใจจากเราโดยบอกว่า “พระเจ้าทรงสำแดงกัมปนาทอย่างประหลาดด้วยพระสุรเสียงของพระองค์” (โยบ 37:5) “พระองค์ตรัสกับหิมะว่า ‘ตกลงบนแผ่นดินซี’ และในทำนองเดียวกันก็ตรัสกับฝนและกับห่าฝนอันหนักของพระองค์” ความงดงามตระการนั้นขัดจังหวะชีวิตของเรา เพื่อเรียกให้เรา
หยุดใคร่ครวญ “พระองค์ทรงมัดมือของ มนุษย์ทุกคน เพื่อทุกคนซึ่งพระองค์ทรงสร้างจะรู้ได้” เอลีฮูกล่าว (ข้อ 6-7)

บางครั้งธรรมชาติเรียกความสนใจจากเราในแบบที่เราไม่ชอบ ไม่ว่าจะเกิดอะไรกับเราหรือเราสังเกตเห็นอะไรรอบตัว ในแต่ละช่วงเวลาซึ่งไม่ว่าจะงดงาม เป็นภัยคุกคาม หรือธรรมดาสามัญ ล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจในการนมัสการของเราได้ หัวใจแห่งนักกวีภายในเรานั้นต้องการความเงียบอันศักดิ์สิทธิ์

เหตุผลที่บันทึกไว้

“องค์กษัตริย์ทรงเป็นหอคอยสูงของข้า...เราออกจากค่ายด้วยการร้องเพลง” วันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1943 เอ็ตตี้ ฮิลเลซัมเขียนคำเหล่านี้บนไปรษณียบัตรและโยนออกจากรถไฟ นั่นเป็นบันทึกคำพูดสุดท้ายที่เราจะได้ยินจากเธอ เธอถูกฆ่าที่ค่ายเอาช์วิทซ์ ภายหลังสมุดบันทึกของฮิลเลซัมเกี่ยวกับประสบการณ์ในค่ายกักกันถูกแปลและตีพิมพ์ บันทึกเหล่านั้นเป็นมุมมองของเธอในเรื่องการยึดครองของนาซีอันน่าสะพรึงกลัว และความงดงามในโลกที่พระเจ้าทรงสร้าง บันทึกของเธอถูกแปลออกไปหกสิบเจ็ดภาษา เป็นของขวัญให้กับทุกคนที่อ่านและเชื่อทั้งในสิ่งดีและร้าย

อัครสาวกยอห์นไม่ได้หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงชีวิตในด้านที่ยากลำบากของพระเยซูบนโลก ท่านเขียนถึงทั้งสิ่งดีที่พระเยซูทำและความท้าทายที่พระองค์เผชิญ ข้อความสุดท้ายจากพระกิตติคุณยอนห์ชี้ถึงจุดประสงค์ของพระธรรมนี้ที่ตั้งชื่อตามท่าน พระเยซูทรงกระทำ “หมายสำคัญอื่นๆ... ซึ่งไม่ได้บันทึกไว้” (20:30) โดยยอห์น แต่เหตุการณ์เหล่านี้ “ได้ถูกบันทึกไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อ” (ข้อ 31) “บันทึก” ของยอห์นจบลงด้วยข้อความแห่งชัยชนะว่า “พระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์ พระบุตรของพระเจ้า” ของขวัญจากถ้อยคำในพระกิตติคุณนั้นทำให้เรามีโอกาสที่จะเชื่อและ “มีชีวิตในพระนามของพระองค์”

พระกิตติคุณคือสมุดบันทึกถึงความรักของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเรา เป็นถ้อยคำให้เราได้อ่าน เชื่อ และแบ่งปัน เพราะถ้อยคำเหล่านี้นำเราสู่ชีวิต และนำเราสู่พระคริสต์

ทูลขอต่อพระเจ้า

ในเช้าวันหนึ่ง ช่วงเวลาอธิษฐานของครอบครัวจบลงด้วยคำแถลงที่น่าประหลาดใจ ทันทีที่พ่อพูดว่า “อาเมน” เคทลินวัยห้าขวบก็ประกาศว่า “และหนูอธิษฐานเผื่อโลแกนเพราะเขาลืมตาตอนอธิษฐาน”

ฉันค่อนข้างแน่ใจว่า การอธิษฐานเผื่อวิธีอธิษฐานของพี่ชายวัยสิบขวบไม่ใช่สิ่งที่พระคัมภีร์หมายถึงเมื่อมีการเรียกให้เราทูลวิงวอนเพื่อผู้อื่น แต่อย่างน้อยเคทลินก็รู้ว่าเราอธิษฐานเผื่อคนอื่นได้

อาจารย์สอนพระคัมภีร์ออสวอลด์ แชมเบอร์สเน้นถึงความสำคัญในการอธิษฐานเผื่อผู้อื่น เขากล่าวว่า “การทูลวิงวอนเพื่อผู้อื่นคือการเอาพระทัยพระเจ้ามาใส่ใจเรา คือการมีความคิดและมุมมองของพระองค์” เป็นการอธิษฐานเผื่อผู้อื่นจากมุมมองที่เรารู้จักพระเจ้าและความรักของพระองค์ที่มีต่อเรา

เราพบตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการทูลวิงวอนในดาเนียล 9 ผู้เผยพระวจนะเข้าใจถึงพระสัญญาของพระเจ้าที่ชาวยิวจะต้องตกเป็นเชลยในบาบิโลนเจ็ดสิบปี (ยรม.25:11-12) เมื่อเห็นว่าช่วงเวลานั้นกำลังจะสิ้นสุด ดาเนียลจึงอธิษฐาน ท่านอ้างถึงพระดำรัสของพระเจ้า (ดนล 9:4-6) ถ่อมตัวเองลง (ข้อ 8) สรรเสริญพระลักษณะของพระเจ้า (ข้อ 9) สารภาพบาป (ข้อ 15) และพึ่งพาในพระเมตตาพระเจ้าขณะเมื่อท่านอธิษฐานเผื่อประชากรของพระองค์ (ข้อ 18) และท่านได้รับคำตอบจากพระเจ้าในทันที (ข้อ 21)

ไม่ใช่ทุกการอธิษฐานที่ลงเอยด้วยการตอบสนองอย่างยิ่งใหญ่ แต่จงมั่นใจว่าเราเป็นตัวแทนของผู้อื่นในการเข้าหาพระเจ้าได้ ด้วยท่าทีของความไว้วางใจและพึ่งพาในพระองค์

ใส่ใจเรื่องของตัวเอง

หลายปีก่อนขณะที่ฉันและจอร์ชลูกชายเดินขึ้นเขา เราเห็นฝุ่นลอยคลุ้งในอากาศ พวกเราจึงเดินย่องเข้าไปใกล้และเห็นตัวแบดเจอร์กำลังวุ่นอยู่กับการขุดดินให้เป็นโพรงหัวและไหล่ของมันอยู่ในรู กำลังขุดดินอย่างแข็งขันด้วยเท้าหน้าและเตะดินออกจากรูด้วยขาหลัง มันหมกมุ่นในงานมากจนไม่ได้ยิน
เรา

ฉันอดไม่ได้ที่จะใช้กิ่งไม้ยาวที่วางอยู่ใกล้ๆแหย่มัน ฉันไม่ได้ทำให้มันเจ็บเลย แต่มันกระโดดตัวลอยและหันมาทางเรา ฉันและจอร์ชจึงได้สร้างสถิติโลกของการวิ่งร้อยเมตรขึ้นใหม่

ฉันได้เรียนรู้จากความหุนหันของตัวเองว่า บางครั้งเราไม่ควรเที่ยวไปยุ่งเรื่องของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์กับผู้เชื่อในพระคริสต์อัครสาวกเปาโลหนุนใจให้ชาวเธสะโลนิกา “ตั้งเป้าว่าจะอยู่อย่างสงบ และทำกิจธุระส่วนของตน และทำการงานด้วยมือของตนเอง” (1 ธส.4:11) เรามีหน้าที่อธิษฐานเผื่อผู้อื่นและแสวงหาเพื่อจะแบ่งปันพระวจนะโดยพระคุณของพระเจ้า และบางครั้งเราอาจได้รับการทรงเรียกให้เตือนสติกันอย่างอ่อนโยน แต่การเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างสงบและไม่ยุ่งเรื่องของคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะกลายเป็นตัวอย่างต่อคนเหล่านั้นที่ยังอยู่นอกครอบครัวของพระเจ้า (ข้อ 12) การทรงเรียกของเราคือ ”ให้รักกันและกัน” (ข้อ 9)

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา