ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Dave Branon

ของประทานแห่งพระคุณของพระเจ้า

ขณะที่กำลังให้คะแนนรายงานอีกกองหนึ่งจากชั้นเรียนวิชาการเขียนของมหาวิทยาลัยที่ผมสอนนั้น ผมเกิดความประทับใจกับรายงานฉบับหนึ่งซึ่งเขียนได้ดีมาก แต่ไม่นานนักผมก็รู้ว่าเป็นงานเขียนที่ดีเกินไป และแน่นอนจากการสืบค้นดูเพียงเล็กน้อยก็พบว่า รายงานฉบับนั้นถูกคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลออนไลน์

ผมส่งอีเมลไปหานักศึกษาคนนั้นเพื่อให้เธอรู้ว่าผมรู้กลโกงของเธอแล้ว เธอได้คะแนนเป็นศูนย์ในรายงานฉบับนั้น แต่เธออาจเขียนรายงานฉบับใหม่เพื่อ จะได้คะแนนบางส่วน นักศึกษาคนนั้นตอบว่า “หนูรู้สึกละอายและเสียใจมากค่ะ หนูขอบคุณที่อาจารย์แสดงความกรุณาต่อหนู ที่หนูไม่สมควรได้รับ” ผมตอบเธอไปว่าเราทุกคนได้รับพระกรุณาคุณจากพระเจ้าทุกวัน ดังนั้นผมจะปฏิเสธการแสดงความกรุณากับเธอได้อย่างไร

มีหลายวิธีที่พระคุณของพระเจ้าแก้ไขชีวิตของเราให้ดีขึ้นและปลดปล่อยเราออกจากความผิดพลาดที่เราทำ เปโตรบอกว่าพระคุณนั้นให้ความรอดแก่เรา “แต่เราเชื่อว่า เราเองก็รอดโดยพระคุณของพระเยซูคริสตเจ้าเหมือนอย่างเขา” (กจ.15:11) เปาโลกล่าวว่าพระคุณช่วยให้เราไม่อยู่ภายใต้อำนาจของบาป “เพราะว่าบาปจะครอบงำท่านทั้งหลายต่อไปก็หามิได้ เพราะว่าท่านทั้งหลายมิได้อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ แต่อยู่ใต้พระคุณ” (รม.6:14) และยังมีที่เปโตรกล่าวว่าพระคุณทำให้เรารับใช้ผู้อื่น “ตามซึ่งทุกคนได้รับของประทานที่ทรงประทานให้แล้ว...เป็นผู้รับมอบฉันทะที่ดี ที่แจกและสำแดงพระคุณนานาประการของพระเจ้า” (1 ปต. 4:10)

พระคุณนั้นพระเจ้าโปรดประทานให้เราเปล่าๆ(อฟ.4:7) ขอให้เราใช้ของประทานนี้เพื่อที่จะรักและหนุนใจผู้อื่น

สามัคคีธรรมในพระเยซู

ผมไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนรับผิดชอบในการปิดไฟและล็อกประตูคริสตจักรหลังการนมัสการเช้าวันอาทิตย์ แต่ผมรู้อย่างหนึ่งคือ อาหารเย็นวันอาทิตย์ของเขาจะล่าช้าออกไป นั่นเป็นเพราะคนจำนวนมากชอบที่จะใช้เวลาหลังเลิก
คริสตจักรพูดคุยเรื่องราวในชีวิตกัน ทั้งปัญหาทางใจกับเรื่องที่ต้องฟันฝ่า ตลอดจนเรื่องอื่นๆ นี่เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้มองไปรอบๆสัก 20 นาทีหลังเลิกนมัสการและได้เห็นผู้คนมากมายยังคงเพลิดเพลินกับการใช้เวลาด้วยกัน

การสามัคคีธรรมเป็นกุญแจสำคัญของชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์ หากไม่มีการเชื่อมสัมพันธ์กันผ่านการใช้เวลากับเพื่อนร่วมความเชื่อ เราจะพลาดโอกาสในการได้รับประโยชน์มากมายจากการเป็นผู้เชื่อ

ตัวอย่างเช่น เปาโลกล่าวว่าเราสามารถ “หนุนใจกันและต่างคนต่างจงก่อกันขึ้น” (1 ธส.5:11) ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูเห็นพ้องด้วย โดยบอกเราว่าอย่าละเลยการพบปะกัน เพราะเราต้อง “หนุนใจกันให้มากยิ่งขึ้น” (10:25) และยังกล่าวอีกด้วยว่าเมื่ออยู่ด้วยกันเรา “จะปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี” (ข้อ 24)

ในฐานะผู้ที่ถวายตัวเพื่อพระเยซู เมื่อเรา “หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ ชูกำลังคนที่อ่อนกำลัง” และ “มีใจอดเอาเบาสู้ต่อคนทั้งปวง” (1ธส.5:14) เราก็ได้เตรียมพร้อมในความสัตย์ซื่อและการรับใช้ เมื่อเราดำเนินชีวิตในทางนั้นโดยมีพระองค์ทรงช่วยเรา เราก็จะได้มีความสุขกับการมีสามัคคีธรรมที่แท้จริงและได้ “ทำดีเสมอต่อพวกท่านเอง และต่อคนทั้งปวงด้วย” (ข้อ 15)

เท่าเทียมกันในสายพระเนตรพระเจ้า

ในช่วงวันหยุดพักร้อน ผมกับภรรยาเพลิดเพลินกับการขี่จักรยานในตอนเช้าตรู่ เส้นทางหนึ่งพาเราผ่านย่านที่มีบ้านราคาหลายล้านดอลล่าร์ เราได้เห็นผู้คนมากหน้าหลายตา มีทั้งผู้อาศัยที่พาสุนัขไปเดินเล่น เพื่อนนักขี่จักรยาน และคนงานจำนวนมากที่กำลังสร้างบ้านหลังใหม่หรือบำรุงรักษาภูมิทัศน์ให้ดูดี นี่เป็นการผสมผสานผู้คนที่มีเส้นทางชีวิตอันหลากหลายและทำให้ผมได้ตระหนักถึงความจริงอันล้ำค่า คือไม่มีการแบ่งแยกอย่างแท้จริงในพวกเรา คนรวยหรือคนจน เศรษฐีหรือชนชั้นแรงงาน เป็นที่รู้จักหรือไม่มีใครรู้จัก เราทุกคนที่อยู่บนถนนในเช้าวันนั้นล้วนเหมือนกัน “คนมั่งคั่งและยากจนประชุมพร้อมกัน พระเจ้าทรงสร้างเขาทั้งสิ้น” (สภษ.22:2) แม้จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่เราทุกคนต่างถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระเจ้า (ปฐก.1:27)

แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ การเท่าเทียมกันในสายพระเนตรพระเจ้ายังหมายความว่า ไม่ว่าเราจะมีสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเชื้อชาติแบบใด เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับความบาป “เพราะว่าทุกคนทำบาป และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า” (รม.3:23) เราทุกคนไม่เชื่อฟังและมีความผิดอย่างเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระองค์ และเราต้องการพระเยซู

เรามักจะแบ่งผู้คนออกเป็นกลุ่มๆด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ และแม้ว่าเราจะอยู่ในสถานภาพเดียวกันคือเป็นคนบาปที่ต้องการพระผู้ช่วยให้รอด เราก็สามารถเป็น “ผู้ชอบธรรม โดยไม่คิดมูลค่า” (ถูกทำให้ชอบธรรมโดยพระเจ้า) โดยพระคุณของพระองค์ (ข้อ 24)

นามบัตรและคำอธิษฐาน

หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งเป็นหม้ายเมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีความกังวลใจ เธอต้องใช้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่พรากชีวิตของสามีเธอไปเพื่อจะรับเงินจากบริษัทประกัน เธอได้คุยกับตำรวจคนหนึ่งที่ตกลงว่าจะช่วยเธอ แต่เธอทำนามบัตรของเขาหาย เธอจึงอธิษฐานวิงวอนขอพระเจ้าช่วย และไม่นานจากนั้นขณะเธออยู่ที่โบสถ์และกำลังเดินผ่านหน้าต่าง เธอก็เห็นนามบัตรของตำรวจคนนั้นอยู่ตรงขอบหน้าต่าง เธอไม่รู้ว่ามันไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร แต่เธอรู้ว่า เพราะอะไร

เธอจริงจังในการอธิษฐาน ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น พระคัมภีร์บอกว่าพระเจ้าทรงฟังคำทูลขอของเรา เปโตรกล่าวว่า “พระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้าเฝ้าดูคนชอบธรรม และพระกรรณของพระองค์ทรงสดับคำอ้อนวอนของเขา” (1 ปต.3:12)

พระคัมภีร์ยกตัวอย่างถึงการที่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐาน หนึ่งในนั้นคือเฮเซคียาห์กษัตริย์แห่งยูดาห์ผู้ทรงประชวร พระองค์ได้รับคำทำนายจากอิสยาห์ผู้เผยพระวจนะว่าจะทรงสิ้นพระชนม์ กษัตริย์ทรงรู้ว่าควรทำอย่างไร พระองค์ทรง “อธิษฐานต่อพระเจ้า” (2 พกษ.20:2) ทันใดนั้นพระเจ้าตรัสกับอิสยาห์ให้ไปบอกกับกษัตริย์ว่า “เราได้ยินคำอธิษฐานของเจ้าแล้ว” (ข้อ 5) และเฮเซคียาห์ได้มีชีวิตอยู่ต่อมาอีกสิบห้าปี

พระเจ้าไม่ได้ตอบคำอธิษฐานเหมือนเรื่องนามบัตรบนขอบหน้าต่างเสมอไป แต่พระองค์ทรงยืนยันกับเราว่าในยามยากลำบากนั้น เราไม่ได้เผชิญมันเพียงลำพัง พระเจ้าทรงมองเห็นเราและทรงอยู่กับเรา และทรงฟังคำอธิษฐานของเรา

พบชีวิต

สำหรับเบร็ทแล้วการก้าวเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยคริสเตียนและศึกษาด้านพระคัมภีร์เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะตลอดทั้งชีวิตเขาได้คลุกคลีอยู่กับคนที่รู้จักพระเยซู ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่คริสตจักร และเขาเองได้เตรียมตัวกระทั่งว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งประกอบอาชีพที่เป็น “งานคริสเตียน”

แต่เมื่ออายุได้ยี่สิบเอ็ดปี ขณะที่เขานั่งอยู่ในที่ประชุมเล็กๆในคริสตจักรชนบทเก่าแก่แห่งหนึ่งและฟังศิษยาภิบาลเทศนาจากพระธรรม 1 ยอห์น เขาได้พบสิ่งหนึ่งที่น่าตกใจว่า ที่ผ่านมาเขาพึ่งพาความรู้และองค์ประกอบภายนอกของศาสนาแต่เขาไม่เคยได้รับความรอดในพระเยซูอย่างแท้จริง เขารู้สึกว่าวันนั้นพระคริสต์ทรงเร้าใจเขาด้วยข้อความที่จริงจังว่า “เจ้าไม่รู้จักเรา!”

ข้อความของยอห์นนั้นชัดเจนว่า “ผู้ใดเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ ผู้นั้นก็เกิดจากพระเจ้า” (1ยน.5:1) เรา “มีชัยเหนือโลกนี้” ได้ (ข้อ 4) ด้วยความเชื่อในพระเยซูเท่านั้น ไม่ใช่เพราะความรู้เกี่ยวกับพระองค์ แต่เป็นความเชื่อวางใจอันลึกซึ้งด้วยใจจริงซึ่งแสดงออกเป็นความเชื่อในสิ่งที่พระองค์กระทำเพื่อเราบนไม้กางเขน วันนั้นเบร็ทได้มอบความเชื่อวางใจไว้ในพระคริสต์ผู้เดียว

วันนี้ ความรักอันลึกซึ้งของเบร็ทที่มีต่อพระเยซูและความรอดในพระองค์ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความลับ แต่ส่งเสียงดังและชัดเจนทุกครั้งที่เขาก้าวไปที่ธรรมมาสน์และเทศนาในฐานะศิษยาภิบาลคนหนึ่ง เขาคือศิษยาภิบาลของผม

“พระเจ้าประทานชีวิตนิรันดร์แก่เรา และชีวิตนี้มีอยู่ในพระบุตรของพระองค์ ผู้ที่มีพระบุตรก็มีชีวิต” (ข้อ 11-12) สำหรับทุกคนที่พบชีวิตในพระเยซู นี่เป็นคำย้ำเตือนที่ทำให้อบอุ่นใจเหลือเกิน!

มีคำถามไหม

แอนกำลังพบกับศัลยแพทย์ทางช่องปากซึ่งเธอรู้จักมานานหลายปีเพื่อตรวจอาการในเบื้องต้น แพทย์ถามเธอว่า “คุณมีคำถามอะไรไหม” เธอตอบว่า “มีค่ะ อาทิตย์ที่แล้วคุณไปคริสตจักรหรือเปล่า” คำถามของเธอไม่ได้มีเจตนาจะตัดสิน แต่เพียงเพื่อจะเริ่มต้นบทสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ

ศัลยแพทย์ผู้นี้เติบโตมากับประสบการณ์ในคริสตจักรที่ไม่ค่อยดีนัก และเขาก็ไม่เคยกลับไปอีก เพราะคำถามของแอนและการพูดคุยกัน เขาจึงคิดทบทวนถึงบทบาทของพระเยซูและคริสตจักรในชีวิตของเขาอีกครั้ง ต่อมาเมื่อแอนมอบพระคัมภีร์ที่มีชื่อของเขาพิมพ์ไว้บนปก เขารับไว้ทั้งน้ำตา

บางครั้งเรากลัวการเผชิญหน้าหรือไม่ต้องการจะดูก้าวร้าวเกินไปในการแบ่งปันความเชื่อของเรา แต่มีวิธีที่ไม่ทำให้อึดอัดใจในการเป็นพยานเรื่องพระเยซู คือการถามคำถาม

เพราะบุรุษผู้หนึ่งซึ่งเป็นพระเจ้าและรอบรู้ทุกสิ่ง ซึ่งก็คือพระเยซูอย่างไม่ต้องสงสัยพระองค์ทรงถามคำถามมากมาย แม้ในขณะที่เราไม่รู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ แต่เห็นได้ชัดว่าคำถามของพระองค์กระตุ้นให้ผู้คนตอบสนอง พระองค์ตรัสถามอันดรูว์สาวกว่า “ท่านหาอะไร” (ยน.1:38) พระองค์ตรัสถามบารทิเมอัสชายตาบอดว่า “เจ้าปรารถนาจะให้เราทำอะไรให้เจ้า” (มก.10:51; ลก.18:41) พระองค์ตรัสถามชายที่เป็นอัมพาตว่า “เจ้าปรารถนาจะหายโรคหรือ” (ยน.5:6) การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับบุคคลเหล่านี้แต่ละคนเป็นการส่วนตัวหลังจากคำถามที่พระเยซูทรงเริ่มต้น

มีใครที่คุณอยากจะเข้าไปเริ่มพูดคุยเรื่องความเชื่อไหม ขอให้คุณทูลขอที่พระเจ้าจะประทานคำถามที่เหมาะสมให้กับคุณ

วิธีที่แตกต่าง

เมื่อแมรี่ สเลสเซอร์ล่องเรือไปยังประเทศคาลาบาร์ในแอฟริกา (ปัจจุบันคือไนจีเรีย) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 เธอกระตือรือร้นที่จะสานต่องานเผยแพร่ศาสนาของเดวิด ลิฟวิ่งสโตน งานที่ได้รับมอบหมายชิ้นแรกของเธอคือการสอนในโรงเรียนขณะที่อยู่ร่วมกับเพื่อนมิชชันนารีด้วยกัน สิ่งนี้ทำให้เธอมีภาระใจในการรับใช้ที่แตกต่างออกไป ดังนั้นแมรี่จึงทำในสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในพื้นที่นั้น คือเธอได้ย้ายเข้าไปอยู่กับคนที่เธอทำงานด้วย เธอเรียนภาษาของพวกเขา ใช้ชีวิตแบบพวกเขา และกินอาหารของพวกเขา และเธอยังรับดูแลเด็กหลายสิบคนที่ถูกทอดทิ้ง เป็นเวลาเกือบสี่สิบปีที่เธอได้นำทั้งความหวังและพระกิตติคุณไปยังผู้ที่ต้องการ

อัครทูตเปาโลทราบถึงความสำคัญในการตอบสนองความขัดสนของผู้ที่อยู่รอบข้างเรา ท่านกล่าวในพระธรรม 1 โครินธ์ 12:4-5 ว่า “ของประทานนั้นมีต่างๆกัน แต่มีพระวิญญาณองค์เดียวกัน” และ “งานรับใช้มีต่างๆกัน แต่มีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน” ดังนั้นท่านจึงได้รับใช้ผู้คนในด้านที่คนเหล่านั้นต้องการ ตัวอย่างเช่น “ต่อคนอ่อนแอข้าพเจ้าก็เป็นคนอ่อนแอ” (9:22)

คริสตจักรแห่งหนึ่งที่ผมรู้จักเมื่อเร็วๆนี้ได้ประกาศเปิดตัวการทำพันธกิจชื่อว่า “ทุกความสามารถ” โดยจัดให้สถานที่นั้นไม่มีอุปสรรคขัดขวางใดๆ ทำให้คนไร้ความสามารถหรือผู้พิการก็สามารถเข้าถึงการนมัสการได้ นี่เป็นความคิดแบบเปาโลที่เอาชนะใจผู้คนและทำให้พระกิตติคุณเบ่งบานในชุมชน

ขณะที่เราดำเนินชีวิตโดยความเชื่อต่อหน้าคนรอบข้าง ขอพระเจ้าทรงนำ ให้เราใช้วิธีที่ใหม่และแตกต่างเพื่อแนะนำพระเยซูให้พวกเขาได้รู้จัก

จากความมืดสู่ความสว่าง

ไม่มีอะไรฉุดอาคัชออกจากภาวะซึมเศร้าอันมืดมิดของเขาได้ เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุรถบรรทุก เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลมิชชันนารีแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ การผ่าตัดแปดครั้งได้รักษากระดูกที่หักของเขา แต่เขากินไม่ได้ ภาวะซึมเศร้าเริ่มขึ้น ครอบครัวต้องพึ่งพาเขาในการหาเลี้ยงชีพ ซึ่งเขาไม่สามารถทำได้ โลกของเขาจึงมืดมนยิ่งขึ้น

วันหนึ่งมีคนมาเยี่ยมอาคัช และอ่านพระกิตติคุณยอห์นในภาษาของเขาและอธิษฐานเผื่อเขา ความหวังในเรื่องการยกโทษบาปและความรอดที่พระเจ้าทรงประทานให้โดยไม่คิดมูลค่าผ่านทางพระเยซูได้สัมผัสใจของเขา เขาจึงเชื่อวางใจในพระองค์ และไม่นานนักเขาก็หายจากภาวะซึมเศร้า เมื่อเขากลับบ้าน ตอนแรกเขากลัวที่จะพูดถึงความเชื่อใหม่ของตน แต่ในที่สุดเขาบอกกับครอบครัวเรื่องพระเยซู และหกคนในครอบครัวได้เชื่อวางใจในพระองค์เช่นกัน!

พระกิตติคุณยอห์นเป็นดวงประทีปแห่งความสว่างในโลกที่มืดมิด ในพระธรรมนั้นกล่าวว่า “เพื่อทุกคนที่วางใจใน [พระเยซู]นั้น จะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” (3:16) เราพบว่า “ถ้าผู้ใดฟังคำของ [พระเยซู] และวางใจใน [พระเจ้า] ....ผู้นั้นก็มีชีวิตนิรันดร์” (5:24) และเราได้ยินพระดำรัสของพระเยซูว่า “เราเป็นอาหารแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิวเลย” (6:35) แท้จริงแล้ว “ผู้ที่ประพฤติชอบก็มาสู่ความสว่าง” (3:21)

ปัญหาที่เราเผชิญอาจใหญ่หลวงนัก แต่พระเยซูทรงยิ่งใหญ่กว่า พระองค์เสด็จมาเพื่อประทาน “ชีวิต...อย่างครบบริบูรณ์” (10:10) และเช่นเดียวกับอาคัช ขอให้คุณเชื่อวางใจในพระเยซู ผู้ทรงเป็นความหวังของโลกและความสว่างแก่มนุษยชาติทั้งปวง

คำสั่งเสีย

ในวาระสุดท้ายของชีวิต จอห์น เอ็ม เพอร์กิ้นส์ได้ฝากข้อความไว้สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพอร์กิ้นส์ซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องการส่งเสริมความปรองดองด้านเชื้อชาติ ได้กล่าวไว้ว่า “การกลับใจเป็นหนทางเดียวที่จะกลับสู่พระเจ้า ถ้าคุณไม่กลับใจ คุณจะพินาศ”
ถ้อยคำนี้เหมือนกับที่พระเยซูและหลายคนในพระคัมภีร์กล่าวไว้ พระเยซูตรัสว่า “ถ้าท่านทั้งหลายมิได้กลับใจใหม่จะต้องพินาศเหมือนกัน” (ลก.13:3) อัครทูตเปโตรบอกว่า “ท่านทั้งหลายจงหันกลับและตั้งใจใหม่ เพื่อพระเจ้าจะทรงลบล้างความผิดบาปของท่านเสีย” (กจ.3:19)

ในพระวจนะที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเป็นเวลานาน เราได้อ่านถึงคำพูดของอีกผู้หนึ่งที่ปรารถนาให้ประชากรของท่านกลับมาหาพระเจ้า ในคำสั่งเสีย “แก่คนอิสราเอลทั้งปวง” (1ซมอ.12:1) ผู้เผยพระวจนะ ปุโรหิต และผู้วินิจฉัยซามูเอลได้กล่าวไว้ว่า “อย่ากลัวเลย ท่านทั้งหลายได้กระทำความชั่ว...แต่ท่านทั้งหลายอย่าหันไปเสียจากการติดตามพระเจ้า แต่จงปรนนิบัติพระเจ้าด้วยสิ้นสุดใจของท่าน” (ข้อ 20) นี่คือคำกล่าวถึงเรื่องการกลับใจของท่าน คือให้หันจากความชั่วและติดตามพระเจ้าอย่างสุดใจ

พวกเราต่างทำบาปและตกจากมาตรฐานของพระเจ้า เราจึงจำเป็นต้องกลับใจ คือหันหลังให้ความบาปและหันมาหาพระเยซูผู้ทรงยกโทษและเสริมกำลังเราในการติดตามพระองค์ ให้เราเชื่อคำพูดของชายสองคนนี้ คือจอห์น เพอร์กิ้นส์และซามูเอล ผู้ตระหนักว่าพระเจ้าทรงสามารถใช้ฤทธิ์เดชแห่งการกลับใจเพื่อเปลี่ยนแปลงเราให้เป็นคนที่พระองค์ทรงใช้ได้เพื่อพระเกียรติของพระองค์

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา