Month: ธันวาคม 2022

ความหมายแห่งชีวิต

เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งเขียนโดยนักเขียนชาวอาร์เจนตินาชื่อ ฆอร์เฆ่ ลุยส์ บอร์เฆส เล่าเรื่องราวของทหารชาวโรมันคือ มาร์คัส รูฟัสที่ดื่มน้ำจาก “แม่น้ำลึกลับที่ทำให้มนุษย์ไร้ซึ่งความตาย” เมื่อเวลาผ่านไปมาร์คัสตระหนักว่าความเป็นอมตะไม่ได้ดีอย่างที่คิด ชีวิตที่ไร้ข้อจำกัดคือชีวิตที่ไร้ความหมาย แท้จริงแล้ว ความตายนั่นเองที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย มาร์คัสได้พบยาแก้พิษที่เป็นน้ำใสผุดขึ้นมาจากใต้ดิน หลังจากที่ดื่มแล้ว เขาเอามือถูกับหนามและมีเลือดออกหยดหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่าสภาพมตะของเขากลับคืนมาแล้ว

เราเองก็เช่นเดียวกับมาร์คัส ที่บางครั้งท้อแท้ต่อการเสื่อมถอยของชีวิตและความตายที่ใกล้เข้ามา (สดด.88:3) เราเห็นด้วยว่าความตายทำให้ชีวิตมีความหมาย แต่นี่คือจุดที่ทำให้เรื่องของเราแตกต่างจากเรื่องของมาร์คัส เรารู้ว่าในการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์นั้นคือที่ซึ่งเราพบความหมายที่แท้จริงของชีวิต ด้วยพระโลหิตของพระคริสต์ที่หลั่งบนไม้กางเขน พระองค์ได้ทรงชนะความตาย และความตายก็ถูกกลืนถึงปราชัยแล้ว (1 คร.15:54) สำหรับเราแล้ว ยาแก้พิษอยู่ใน “น้ำธำรงชีวิต” ของพระเยซูคริสต์ (ยน.4:10) เพราะเมื่อเราดื่มน้ำนั้น กฎทั้งหมดของชีวิต ความตาย และกฎของชีวิตที่เป็นอมตะจะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ (1 คร.15:52)

เป็นความจริงที่ว่าเราไม่สามารถหลีกหนีความตายทางร่างกายได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ พระเยซูทำให้ความสิ้นหวังในชีวิตและความตายของเราพลิกผัน (ฮบ.2:11-15) ในพระคริสต์ เรามั่นใจได้กับความหวังในสวรรค์และความยินดีที่มีความหมายในชีวิตนิรันดร์กับพระองค์

ฉันได้ยินเสียงระฆัง

บทเพลง “ฉันได้ยินเสียงระฆังในวันคริสต์มาส” มีที่มาจากบทกวีในปีค.ศ. 1863 โดยเฮนรี่ วอดสเวิร์ท ลองเฟลโลว์เป็นบทเพลงคริสต์มาสที่ไม่ธรรมดาเลย แทนที่จะเป็นความสุขยินดีทั่วไปในเทศกาลคริสต์มาส แต่เนื้อเพลงกลับแต่งขึ้นเป็นเสียงคร่ำครวญ ร้องว่า “และฉันคอตกด้วยความสิ้นหวัง ฉันพูดว่าไม่มีสันติใดเลยบนโลกนี้ เพราะความเกลียดชังนั้นรุนแรงและเย้ยหยันบทเพลงอื่น ที่บอกว่าสันติสุขจงมีแก่มวลมนุษย์บนโลกผู้ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปราน” แต่การคร่ำครวญนี้กลับกลายเป็นความหวังที่ทำให้เรามั่นใจว่า “พระเจ้ามิได้ตายหรือหลับไป ความชั่วร้ายจะสิ้นไป ความชอบธรรมจะดำรงอยู่ ด้วยสันติสุขท่ามกลางมนุษย์ผู้ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปราน”

รูปแบบของความหวังที่เกิดขึ้นมาจากการคร่ำครวญยังพบได้ในบทสดุดีแห่งการคร่ำครวญในพระคัมภีร์ เช่น สดุดี 43 เริ่มต้นด้วยผู้เขียนร้องทูลถึงการที่ถูกศัตรูโจมตี (ข้อ 1) และพระเจ้าผู้ทรงดูเหมือนว่าได้ลืมท่านไปแล้ว (ข้อ 2) แต่ผู้เขียนไม่จมอยู่กับการคร่ำครวญ ท่านมองหาพระเจ้าผู้ที่ท่านไม่สามารถเข้าใจพระองค์ได้ทั้งหมดแต่ยังไว้วางใจพระองค์ โดยร้องว่า “จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเอ๋ย ไฉนเจ้าจึงฝ่ออยู่ ไฉนเจ้าจึงกระสับกระส่ายภายในข้าพเจ้า จงหวังใจในพระเจ้า เพราะข้าพเจ้าจะถวายสดุดีแด่พระองค์อีก ผู้ทรงเป็นความอุปถัมภ์ และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ข้อ 5)

ชีวิตเต็มไปด้วยเหตุผลที่จะคร่ำครวญ และเราทุกคนล้วนมีประสบการณ์นั้นอยู่ในทุกๆวัน แต่ถ้าเรายอมให้การคร่ำครวญนำเราไปสู่พระเจ้าแห่งความหวัง เราจะสามารถร้องเพลงได้ด้วยความยินดี แม้เราจะร้องทั้งน้ำตา

ยึดมั่นในสิ่งที่ดี

เมื่อเราจอดรถใกล้กับทุ่งโล่งและเดินตัดผ่านทุ่งนั้นไปยังบ้านของเรา เรามักจะมีดอกหญ้าเหนียวๆเกาะติดมาตามเสื้อผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูใบไม้ร่วง เจ้า “นักโบกรถเดินทาง” ตัวน้อยๆนี้จะติดตามเสื้อผ้า รองเท้า หรืออะไรก็ตามที่ผ่านไปมาและมันจะโดยสารไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป ซึ่งเป็นวิถีตามธรรมชาติในการแพร่กระจายเมล็ดของมันไปยังทุ่งหญ้าแถวนี้และทั่วทั้งโลก

ขณะที่ฉันพยายามค่อยๆแกะดอกหญ้าออก ฉันมักจะคิดถึงข้อความที่ตักเตือนผู้เชื่อในพระเยซูให้ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดี” (รม.12:9) อาจเป็นเรื่องยากเมื่อเรากำลังพยายามที่จะรักผู้อื่น แต่เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราให้ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้อย่างเหนียวแน่น เราจะสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปและรักด้วย “ใจจริง” ในขณะที่พระองค์ทรงนำเรา (ข้อ 9)

เมล็ดของดอกหญ้านี้จะไม่ร่วงหล่นไปเพียงแค่ใช้มือปัดออก แต่มันจะติดแน่น และเมื่อเราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ดี ระลึกถึงพระเมตตา พระกรุณา และคำสั่งของพระเจ้า โดยกำลังของพระองค์เราเองก็จะสามารถยึดมั่นอยู่กับสิ่งที่เรารักได้อย่างเหนียวแน่น พระองค์ทรงช่วยให้เรา “รักกันฉันพี่น้อง” โดยไม่ลืมที่จะให้ความต้องการของผู้อื่นมาก่อนความต้องการของตัวเราเอง (ข้อ 10)

แม้ดอกหญ้าเหล่านั้นจะเป็นปัญหา แต่มันก็เตือนฉันให้ยึดโยงอยู่กับผู้อื่นด้วยความรัก และยึด “สิ่งที่ดี” ไว้ให้มั่นโดยกำลังของพระเจ้า (ข้อ 9; ดู ฟป.4:8-9)

วิ่งไปยังที่กำบัง

การแข่งขันบาสเก็ตบอลของนักเรียนชั้นป.6 ผ่านไปด้วยดี พ่อแม่และปู่ย่าตายายพากันส่งเสียงเชียร์ผู้เล่น ขณะที่น้องๆของเด็กที่อยู่ในทีมพากันมาเล่นสนุกสนานอยู่ที่ห้องโถงด้านหน้าของโรงเรียน ทันใดนั้นสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นและมีไฟส่องสว่างในโรงยิม มีคนไปสะดุดโดนสัญญาณเตือนอัคคีภัย จากนั้นไม่นานพวกเด็กๆก็พากันวิ่งกรูกลับเข้ามาในโรงยิมด้วยอาการตื่นตระหนกเพื่อตามหาผู้ปกครอง

ไม่มีไฟไหม้ใดๆ สัญญาณเตือนเพียงถูกสั่งให้ทำงานโดยไม่ตั้งใจ แต่ขณะที่ผมดูอยู่ ผมรู้สึกประทับใจกับการที่เด็กๆเมื่อรู้สึกถึงภาวะวิกฤตแล้ววิ่งเข้ามากอดผู้ปกครองโดยไม่รู้สึกอาย ช่างเป็นภาพของความมั่นใจในผู้ที่สามารถมอบความรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจให้ในเวลาที่พวกเด็กๆเกิดความกลัว!

พระคัมภีร์แสดงภาพในเวลาที่ดาวิดประสบกับความกลัวอย่างใหญ่หลวง จากการถูกไล่ล่าโดยซาอูลและศัตรูอีกมากมาย (2 ซมอ.22:1) หลังจากที่พระเจ้าทรงช่วยดาวิดให้ปลอดภัยแล้ว ดาวิดที่เต็มไปด้วยใจขอบพระคุณได้ร้องบทเพลงสรรเสริญอันน่าประทับใจถึงการช่วยเหลือของพระเจ้า ท่านกล่าวถึงพระเจ้าว่า “พระศิลา ป้อมปราการ และผู้ช่วยกู้ของข้าพเจ้า” (ข้อ 2) เมื่อ “สายใยของแดนคนตาย” และ “บ่วงมัจจุราช” (ข้อ 6) ไล่ล่าท่าน ดาวิด “ร้องทูล” ต่อพระเจ้า และ “เสียงร้องของท่านมาถึงพระกรรณของพระองค์” (ข้อ 7) ในตอนสุดท้าย ดาวิดประกาศว่าพระองค์ทรง “ช่วยกู้ข้าพเจ้า” (ข้อ 18, 20, 49)

ในเวลาแห่งความกลัวและความรู้สึกไม่มั่นคง เราสามารถวิ่งไปยัง “พระศิลา” (ข้อ 32) เมื่อเราร้องเรียกพระนามพระเจ้า พระองค์ผู้เดียวทรงเป็นที่ลี้ภัยและที่กำบังที่เราต้องการ (ข้อ 2-3)

แบ่งเบาภาระ

เมื่อผู้หญิงในกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ที่เราเพิ่งรวมตัวกันขึ้นมาต้องเผชิญกับเหตุการณ์หนักๆติดต่อกัน จู่ๆเราก็พบว่าพวกเรากำลังแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวอย่างลึกซึ้งร่วมกัน ทั้งการเผชิญหน้ากับการสูญเสียผู้เป็นพ่อ ความเจ็บปวดในวันครบรอบแต่งงานหลังจากการหย่าร้าง การให้กำเนิดลูกที่หูหนวกสนิท ประสบการณ์ในการขับรถเพื่อรีบนำตัวลูกไปส่งยังห้องฉุกเฉิน เรื่องราวเหล่านี้ล้วนหนักเกินไปที่ใครจะแบกรับไว้เพียงคนเดียว ความอ่อนแอของแต่ละคนนำให้เราเปิดเผยต่อกันมากยิ่งขึ้น เราร้องไห้และอธิษฐานร่วมกัน จากกลุ่มที่เริ่มต้นในฐานะคนแปลกหน้าได้กลายมาเป็นกลุ่มของเพื่อนสนิทภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ในฐานะกายเดียวกันของคริสตจักร ผู้เชื่อในพระเยซูจึงสามารถอยู่เคียงข้างกันในความทุกข์ยากอย่างลึกซึ้งและใกล้ชิด สายสัมพันธ์ที่ผูกพันพี่น้องในพระคริสต์ไว้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เรารู้จักกันหรือสิ่งที่เรามีเหมือนกัน แต่เราทำในสิ่งที่เปาโลเรียกว่า “รับภาระของกันและกัน” (กท.6:2) เราพึ่งพาในพระกำลังของพระเจ้า เราฟัง เราเห็นใจ เราช่วยเหลือในส่วนที่ช่วยได้ และเราอธิษฐาน เรามองหาหนทางที่จะ “ทำดีต่อคนทั้งปวง และเฉพาะอย่างยิ่งต่อครอบครัวที่มีความเชื่อ” (ข้อ 10) เปาโลบอกว่าเมื่อเราทำเช่นนั้น เราจึงจะได้ปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระคริสต์ (ข้อ 2) คือการรักพระเจ้าและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ภาระแห่งชีวิตอาจหนักอึ้ง แต่พระองค์ประทานครอบครัวคริสตจักรแก่เราเพื่อแบ่งเบาภาระนั้น

หนุนใจแบบอาหารจานด่วน

มาเรียถืออาหารเที่ยงซึ่งเป็นอาหารจานด่วนมายังโต๊ะที่ว่างอยู่ ขณะที่กัดเบอร์เกอร์นั้น ตาของเธอจับจ้องอยู่ที่ชายหนุ่มคนหนึ่งที่นั่งห่างออกไปอีกหลายโต๊ะ เสื้อผ้าเขาสกปรก ผมเผ้ากระเซอะกระเซิง และมือของเขาจับแก้วกระดาษเปล่าไว้แน่น เห็นได้ชัดว่าเขากำลังหิว เธอจะช่วยเขาอย่างไรดี จะให้เงินก็คงไม่เหมาะ ถ้าเธอซื้ออาหารแล้วเอาไปให้เขา เขาจะรู้สึกอายไหมนะ

แล้วมาเรียก็นึกถึงเรื่องราวของนางรูธและโบอาสได้ เจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่งที่เชิญหญิงม่ายต่างด้าวผู้ยากจนมาเก็บข้าวที่ตกอยู่ในนาของเขา เขาสั่งคนของเขาว่า “จงยอมให้นางเก็บข้าวตกระหว่างฟ่อนข้าวเถอะ อย่าได้ตำหนินางเลย จงดึงข้าวออกจากฟ่อนทิ้งไว้ให้นางเก็บบ้าง อย่าว่านางเลย” (นรธ.2:15-16) ในวัฒนธรรมที่ผู้หญิงต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายเพื่อการอยู่รอดนั้น โบอาสได้สำแดงการเลี้ยงดูด้วยความรักของพระเจ้า ในที่สุดโบอาสก็ได้แต่งงานกับนางรูธ ซึ่งเป็นการช่วยเธอให้พ้นจากความลำบากยากแค้น (4:9-10)

เมื่อมาเรียลุกออกมานั้น เธอวางห่อมันฝรั่งทอดที่ยังไม่ได้เปิดกินไว้ที่โต๊ะใกล้ๆ ขณะที่สบตากับชายคนนั้น ถ้าเขาหิว เขาจะมาเก็บ “จากทุ่งนาอาหารจานด่วน” ของเธอ พระทัยของพระเจ้าได้ถูกเปิดเผยให้เราเห็นผ่านเรื่องราวต่างๆจากพระคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นถึงทางออกอันสร้างสรรค์ในการหนุนใจผู้อื่น

การติดตามอันแน่แท้ของพระเจ้า

หลายปีก่อน มีชายคนหนึ่งเดินอยู่ข้างหน้าผมอยู่หนึ่งช่วงตึก ผมมองเห็นชัดเจนว่าอ้อมแขนของเขาเต็มไปด้วยหีบห่อมากมาย ทันใดนั้นเขาสะดุดและของทุกอย่างหล่นลงพื้น มีสองคนเข้ามาช่วยพยุงเขาให้ลุกขึ้นและช่วยเก็บของ แต่พวกเขาลืมสิ่งหนึ่ง นั่นคือกระเป๋าเงินของชายคนนั้น ผมจึงเก็บขึ้นมาและรีบวิ่งไล่ตามชายแปลกหน้าคนนั้นไป โดยหวังว่าจะเอาของสำคัญคืนให้ ผมตะโกนว่า “คุณครับ คุณครับ!” และในที่สุดเขาก็ได้ยินและหันมาเมื่อผมไปถึงตัวเขา ขณะที่ผมยื่นกระเป๋าเงินให้เขา ผมไม่เคยลืมสีหน้าที่แสดงถึงความโล่งใจและรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการติดตามชายคนนั้น กลายเป็นการไล่ตามซึ่งแตกต่างกันมากทีเดียว พระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ใช้คำว่า ติดตาม ในพระธรรมข้อสุดท้ายของสดุดี 23 ที่เราคุ้นเคย “แน่ทีเดียวที่ความดีและความรักมั่นคงจะติดตามข้าพเจ้าไป” (ข้อ 6) แม้คำว่า “ติดตาม” จะเข้ากับบริบท แต่คำภาษาฮีบรูจริงๆ ใช้คำที่มุ่งมั่นและห้าวหาญมากกว่านั้น ความหมายตรงตัวของคำนั้นคือ “ไล่ตามหรือไล่ล่า” เหมือนนักล่าที่ไล่ล่าเหยื่อ (หมาป่าไล่ล่าแกะ)

ความดีและความรักของพระเจ้าไม่เพียงแค่คอยติดตามเรามาด้วยฝีเท้าแบบสบายๆ ไม่เร่งรีบ เหมือนสัตว์เลี้ยงที่ค่อยๆเดินตามเรากลับบ้าน แต่ “แน่ทีเดียว” เรากำลังถูกไล่ตาม จนถึงกับไล่ล่าอย่างตั้งใจ เช่นเดียวกับที่ผมไล่ตามชายคนนั้นเพื่อเอากระเป๋าเงินไปคืน เราถูกไล่ตามโดยพระผู้เลี้ยงผู้ประเสริฐ ผู้ทรงรักเราด้วยความรักอันเป็นนิรันดร์ (ข้อ 1,6)

ความหวังอันเปี่ยมล้น

ในวันที่วุ่นวายก่อนถึงคริสต์มาส หญิงชราคนหนึ่งเดินเข้ามาที่เคาน์เตอร์ในที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้านซึ่งมีผู้มาใช้บริการหนาแน่น เจ้าหน้าที่ผู้อดทนมองเธอเดินเข้ามาอย่างช้าๆ และทักทายว่า “สวัสดีครับ สาวน้อย!” คำทักทายนี้ดูเป็นมิตรดี แต่พวกเขาบางคนอาจคิดว่าถ้า “อายุน้อยกว่านี้” ก็คงจะดีกว่า

พระคัมภีร์หนุนใจให้เรามองว่าอายุที่มากขึ้นทำให้เรากระตือรือร้นในความหวัง เมื่อโยเซฟและมารีย์นำพระกุมารเยซูเข้ามาในพระวิหารเพื่อถวายแด่พระเจ้า (ลก.2:23, ดู อพย.13:2,12) ผู้เชื่อสูงวัยทั้งสองกลายเป็นบุคคลสำคัญทันที

คนแรกคือสิเมโอน ผู้รอคอยที่จะได้เห็นพระเมสสิยาห์มาหลายปี ท่าน “อุ้มพระกุมาร และสรรเสริญพระเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า บัดนี้พระองค์ทรงให้ทาสของพระองค์ไปเป็นสุข ตามพระดำรัสของพระองค์ เพราะว่าตาของข้าพระองค์ได้เห็นความรอดของพระองค์แล้ว ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดเตรียมไว้ต่อหน้าบรรดาชนชาติทั้งหลาย’” (ลก.2:28-31)

ถัดมาคือนางอันนา ผู้เผยพระวจนะหญิงที่ “ชรามากแล้ว” (ข้อ 36) ก็เข้ามาขณะที่สิเมโอนกำลังคุยกับมารีย์และโยเซฟ นางเป็นม่ายหลังจากแต่งงานได้เพียง 7 ปี นางอยู่ในพระวิหารมาจนอายุ 84 ปี และไม่เคยจากบริเวณพระวิหารเลย โดย “นมัสการถืออดอาหารและอธิษฐานทั้งกลางวันกลางคืน” เมื่อนางเห็นพระเยซูก็เริ่มสรรเสริญพระเจ้า และบรรยายถึง “พระกุมารให้คนทั้งปวงที่คอยการทรงไถ่กรุงเยรูซาเล็มฟัง” (ข้อ 37-38)

ผู้รับใช้ที่เปี่ยมด้วยความหวังทั้งสองเตือนเราว่า อย่าหยุดที่จะรอคอยพระเจ้าด้วยความหวังอันเต็มเปี่ยม ไม่ว่าเราจะอายุเท่าใดก็ตาม

การพึ่งพาประจำวัน

เช้าวันหนึ่งลูกๆที่ยังเล็กของเราตัดสินใจที่จะตื่นเช้าและเตรียมอาหารเช้ากันเอง ตลอดสัปดาห์อันแสนเหน็ดเหนื่อย ทำให้ผมและภรรยาพยายามจะนอนจนถึงตอน 7 โมงเช้าของวันเสาร์นั้น ทันใดนั้นผมก็ได้ยินอะไรตกแตกเสียงดัง! ผมกระโดดขึ้นจากเตียงและรีบวิ่งลงไปชั้นล่าง ผมเห็นชามแตกกระจาย ข้าวโอ๊ตเกลื่อนอยู่เต็มพื้น และโจนัสลูกชายวัย 5 ขวบของเราพยายามอย่างหนักที่จะกวาด (ดูเหมือนละเลง) อาหารเหนียวๆนั้นขึ้นจากพื้น ลูกๆของเราหิวแต่เลือกที่จะไม่ขอให้เราช่วย พวกเขาเลือกที่จะพึ่งพาตัวเอง และแน่นอนผลที่ได้ก็ไม่ใช่อาหารที่น่ากินเลย

ตามสถานภาพของมนุษย์แล้ว เด็กๆควรต้องเติบโตจากการพึ่งพาคนอื่นไปสู่การพึ่งพาตัวเอง แต่ในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า ความเป็นผู้ใหญ่หมายถึงการเปลี่ยนจากการพึ่งพาตนเองไปสู่การพึ่งพาในพระองค์ การอธิษฐานคือที่ที่เราฝึกเรียนรู้ในการพึ่งพาพระเจ้า เมื่อพระเยซูทรงสอนเหล่าสาวก รวมถึงเราทุกคนที่มาเชื่อในพระองค์ให้อธิษฐานว่า “ขอทรงโปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในกาลวันนี้” (มธ.6:11) พระองค์กำลังสอนคำอธิษฐานแห่งการพึ่งพา อาหารเป็นสัญลักษณ์ของการบำรุงเลี้ยง การอภัยโทษ และการทรงนำ (ข้อ 11-13) เรากำลังพึ่งพาพระเจ้าสำหรับสิ่งนี้และสิ่งอื่นอีกมากมาย

ไม่มีผู้เชื่อในพระเยซูคนใดที่ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และเราจะไม่มีวันจบจากการเรียนรู้ในพระคุณของพระองค์ ในตลอดชีวิตของเรา ขอให้เราเริ่มต้นวันใหม่ด้วยท่าทีแห่งการพึ่งพาเสมอในขณะที่เราอธิษฐานต่อ “พระบิดาในสวรรค์” ของเราทั้งหลาย (ข้อ 9)

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา