บทเพลง “ฉันได้ยินเสียงระฆังในวันคริสต์มาส” มีที่มาจากบทกวีในปีค.ศ. 1863 โดยเฮนรี่ วอดสเวิร์ท ลองเฟลโลว์เป็นบทเพลงคริสต์มาสที่ไม่ธรรมดาเลย แทนที่จะเป็นความสุขยินดีทั่วไปในเทศกาลคริสต์มาส แต่เนื้อเพลงกลับแต่งขึ้นเป็นเสียงคร่ำครวญ ร้องว่า “และฉันคอตกด้วยความสิ้นหวัง ฉันพูดว่าไม่มีสันติใดเลยบนโลกนี้ เพราะความเกลียดชังนั้นรุนแรงและเย้ยหยันบทเพลงอื่น ที่บอกว่าสันติสุขจงมีแก่มวลมนุษย์บนโลกผู้ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปราน” แต่การคร่ำครวญนี้กลับกลายเป็นความหวังที่ทำให้เรามั่นใจว่า “พระเจ้ามิได้ตายหรือหลับไป ความชั่วร้ายจะสิ้นไป ความชอบธรรมจะดำรงอยู่ ด้วยสันติสุขท่ามกลางมนุษย์ผู้ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปราน”

รูปแบบของความหวังที่เกิดขึ้นมาจากการคร่ำครวญยังพบได้ในบทสดุดีแห่งการคร่ำครวญในพระคัมภีร์ เช่น สดุดี 43 เริ่มต้นด้วยผู้เขียนร้องทูลถึงการที่ถูกศัตรูโจมตี (ข้อ 1) และพระเจ้าผู้ทรงดูเหมือนว่าได้ลืมท่านไปแล้ว (ข้อ 2) แต่ผู้เขียนไม่จมอยู่กับการคร่ำครวญ ท่านมองหาพระเจ้าผู้ที่ท่านไม่สามารถเข้าใจพระองค์ได้ทั้งหมดแต่ยังไว้วางใจพระองค์ โดยร้องว่า “จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเอ๋ย ไฉนเจ้าจึงฝ่ออยู่ ไฉนเจ้าจึงกระสับกระส่ายภายในข้าพเจ้า จงหวังใจในพระเจ้า เพราะข้าพเจ้าจะถวายสดุดีแด่พระองค์อีก ผู้ทรงเป็นความอุปถัมภ์ และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ข้อ 5)

ชีวิตเต็มไปด้วยเหตุผลที่จะคร่ำครวญ และเราทุกคนล้วนมีประสบการณ์นั้นอยู่ในทุกๆวัน แต่ถ้าเรายอมให้การคร่ำครวญนำเราไปสู่พระเจ้าแห่งความหวัง เราจะสามารถร้องเพลงได้ด้วยความยินดี แม้เราจะร้องทั้งน้ำตา