Category  |  ODB

องค์เจ้านายในสวรรค์

ในปี 2022 กระทรวงแรงงานของประเทศสิงคโปร์ประกาศว่าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้านทุกคนต้องได้รับวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวันต่อเดือน ซึ่งนายจ้างไม่สามารถจ่ายเป็นเงินชดเชยแทนได้ อย่างไรก็ตาม เหล่านายจ้างมีความกังวลว่าจะไม่มีใครดูแลผู้คนที่พวกเขารักในวันนั้น แม้ระบบการจัดการในงานที่เกี่ยวกับการเป็นผู้ดูแลจะสามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดหาคนมาแทน แต่การแก้ไขทัศนคติที่ไม่เห็นความจำเป็นของการหยุดพักนั้นไม่ง่ายเลย

การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่เรื่องใหม่ อัครทูตเปาโลมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ทาสถูกมองว่าเป็นสมบัติของเจ้านาย กระนั้นในบรรทัดสุดท้ายของคำกำชับถึงคริสตจักร เกี่ยวกับวิธีการจัดการในครัวเรือนแบบพระคริสต์ ท่านบอกว่าเจ้านายจะต้องปฏิบัติต่อทาสของตนอย่าง “ยุติธรรม” (คส.4:1) ยังมีคำแปลอื่นที่บอกว่า “จงปฏิบัติต่อทาสของท่านอย่างถูกต้อง” (TNCV)

เช่นเดียวกับที่เปาโลบอกให้พวกทาสทำงาน “ถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เหมือนกระทำแก่มนุษย์” (3:23) ท่านยังเตือนพวกเจ้านายว่าพระเยซูทรงมีสิทธิอำนาจเหนือพวกเขา “ท่านก็มีนายองค์หนึ่งในสวรรค์ด้วย” (4:1) วัตถุประสงค์ของท่านคือหนุนใจผู้เชื่อชาวโคโลสีให้ดำเนินชีวิตโดยคำนึงว่าพระคริสต์ทรงเป็นผู้ที่มีสิทธิอำนาจสูงสุด ในเวลาที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง คนในบ้าน หรือคนในชุมชน เราสามารถทูลขอพระเจ้าให้ทรงช่วยเราปฏิบัติอย่าง “ยุติธรรมและสม่ำเสมอกัน” (ข้อ 1)

“เราเป็น”

แจ็คเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและวรรณคดีที่ฉลาดปราดเปรื่อง เขาประกาศตัวว่าเป็นผู้ไม่เชื่อในพระเจ้าตอนอายุสิบห้าปี และในวัยผู้ใหญ่ก็ยังยืนกรานที่จะปกป้อง “ความเชื่อว่าไม่มีพระเจ้า” ของเขา เพื่อนคริสเตียนหลายคนพยายามโน้มน้าวเขา แต่แจ็คบอกว่า “ทุกคนและทุกสิ่งล้วนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” แต่เขาต้องยอมรับว่าพระคัมภีร์แตกต่างจากวรรณกรรมและเทพนิยายอื่นๆ เขาเขียนถึงพระกิตติคุณว่า “หากว่าเทพนิยายกลายเป็นความจริง เกิดขึ้นจริงๆก็คงจะเป็นเช่นนี้”

อพยพ 3 ได้กลายเป็นพระคัมภีร์บทที่มีอิทธิพลต่อแจ็คมากที่สุด พระเจ้าเรียกโมเสสให้นำชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์ โมเสสถามพระเจ้าว่า “ข้าพระองค์เป็นผู้ใดเล่า จึงจะไปเฝ้าฟาโรห์” (ข้อ 11) พระเจ้าตรัสว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” (ข้อ 14) พระธรรมตอนนี้เป็นการเล่นคำและชื่อที่ซับซ้อน แต่สะท้อนถึงการทรงสถิตอยู่นิรันดร์ของพระเจ้าตั้งแต่ปฐมกาล น่าสนใจที่ต่อมาพระเยซูก็ทรงสะท้อนสิ่งเดียวกัน เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เรา [เป็น]อยู่ก่อนอับราฮัมเกิด”(ยน.8:58)

พระธรรมตอนนี้ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อแจ็ค หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม ซี.เอส.- ลูอิส นี่คือทั้งหมดที่พระเจ้าเที่ยงแท้แต่องค์เดียวทรงจำเป็นต้องบอก คือบอกว่าพระองค์เป็น “ผู้ซึ่งเราเป็น” ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตนั้น ลูอิส “ยอมจำนนและยอมรับว่าพระเจ้าทรงเป็นพระเจ้า” นี่คือจุดเริ่มต้นการเดินทางของลูอิสไปสู่การต้อนรับพระเยซู

บางทีเราอาจสงสัยในความเชื่อเหมือนลูอิส หรืออาจมีความเชื่อแบบอุ่นๆ ไม่เย็นไม่ร้อน เราคงต้องถามตัวเองว่าพระเจ้าทรงเป็น “ผู้ซึ่งเราเป็น” จริงๆในชีวิตของเราหรือไม่

ผู้นำที่มีหัวใจเพื่อแผ่นดินของพระเจ้า

เมื่อฉันเข้าร่วมกลุ่มผู้เขียนหนังสือคริสเตียนสำหรับเด็ก ซึ่งอธิษฐานเผื่อและช่วยประชาสัมพันธ์หนังสือของกันและกัน มีบางคนบอกว่าพวกเรา “โง่เขลาที่ทำงานกับคู่แข่ง” แต่กลุ่มของเรายึดในหลักการภาวะผู้นำที่มีหัวใจเพื่อแผ่นดินของพระเจ้า และส่งเสริมชุมชน ไม่ใช่แข่งขันกัน เรามีเป้าหมายเดียวกันคือเผยแพร่พระกิตติคุณ เรารับใช้กษัตริย์องค์เดียวกันคือพระเยซู เมื่อร่วมมือกันเราจะเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าในการเป็นพยานเพื่อพระคริสต์

เมื่อพระเจ้าบอกให้โมเสสเลือกผู้อาวุโสในอิสราเอลซึ่งมีประสบการณ์ในการเป็นผู้นำมาเจ็ดสิบคน พระองค์ตรัสว่า “เราจะเอาจิตวิญญาณที่มีอยู่บนเจ้ามาใส่บนคนเหล่านั้นเสียบ้าง ให้เขาทั้งหลายแบกภาระของชนชาตินี้ด้วยกันกับเจ้า เพื่อเจ้าจะมิได้ทนแบกอยู่แต่ลำพัง” (กดว.11:16-17) ต่อมาโยชูวาเห็นผู้อาวุโสสองคนกำลังเผยพระวจนะ จึงมาแจ้งโมเสสให้ห้ามพวกเขา โมเสสกล่าวว่า “ท่านเจ็บร้อนแทนเราหรือ เราใคร่ให้ประชาชนของพระเจ้าเป็นผู้เผยพระวจนะทุกคน และใคร่ให้พระเจ้าทรงใส่วิญญาณของพระองค์ไว้บนเขาเหล่านั้น” (ข้อ 29)

เมื่อใดก็ตามที่เราจดจ่อกับการแข่งขันหรือการเปรียบเทียบซึ่งขัดขวางเราในการทำงานร่วมกับผู้อื่น พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถประทานกำลังให้เราหลีกเลี่ยงการทดลองนั้น เมื่อเราทูลขอพระเจ้าให้ทรงบ่มเพาะเราที่จะมีภาวะผู้นำที่ให้ความสำคัญกับแผ่นดินของพระเจ้า พระองค์ก็จะทรงเผยแพร่พระกิตติคุณออกไปได้ทั่วโลก และยังสามารถแบ่งเบาภาระของเราเมื่อเรารับใช้พระองค์ร่วมกัน

แบ่งปันความเชื่อของคุณ

ในปีค.ศ. 1701 ศาสนจักรแห่งอังกฤษได้ก่อตั้งสมาคมเผยแพร่พระกิตติคุณเพื่อส่งมิชชันนารีไปทั่วโลก คำขวัญที่พวกเขาเลือกใช้คือ ทรานเซียนา ดิอู-วานอส (transiens adiuva nos) ซึ่งมาจากภาษาละติน แปลว่า “ขอโปรดมาช่วยเราด้วยเถิด!” นี่คือคำร้องขอที่มีต่อทูตแห่งข่าวประเสริฐมาตั้งแต่ศตวรรษแรก เมื่อผู้ติดตามพระเยซูนำคำสอนแห่งความรักและการให้อภัยของพระองค์ไปยังโลกที่ต้องการสิ่งเหล่านี้อย่างยิ่ง

“ขอโปรดมาช่วยเราด้วยเถิด!” เป็นวลีที่มาจาก “คำร้องขอของชาวมาซิโด-เนีย” ซึ่งปรากฏในกิจการ 16 เปาโลกับเพื่อนร่วมงานของท่านได้มาถึงเมืองโตรอัส ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ (ปัจจุบันคือประเทศตุรกี, ข้อ 8) ที่นั่น “เปาโลได้นิมิตเห็นชาวมาซิโดเนียคนหนึ่งยืนอ้อนวอนว่า ‘ขอโปรดมาช่วยพวกข้าพเจ้าในแคว้นมาซิโดเนียเถิด’” (ข้อ 9) เมื่อได้นิมิตแล้ว เปาโลกับเพื่อนร่วมงาน “จึงหาโอกาสทันทีที่จะไปยังแคว้นมาซิโดเนีย” (ข้อ 10) พวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของคำร้องขอนี้

ไม่ใช่ทุกคนที่จะถูกเรียกให้ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปประกาศ แต่เราสามารถสนับสนุนพวกเขาทางด้านการเงินและด้วยคำอธิษฐานของเรา และเราทุกคนสามารถบอกใครสักคนถึงข่าวดีเรื่องพระเยซู ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่อีกฟากของห้อง ข้างถนน หรือในชุมชน ให้เราทูลขอพระเจ้าผู้ประเสริฐของเรา ที่จะทรงช่วยให้เราสามารถก้าวออกไปและมอบความช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแก่ผู้คน นั่นคือโอกาสที่จะได้รับการอภัยในพระนามของพระเยซู

มรดกนิรันดร์

ขณะที่พายุทรายดัสท์ โบว์พัดถล่มสหรัฐอเมริกาในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ จอห์น มิลเบิร์น เดวิสซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองไฮวาธา รัฐแคนซัสได้ตัดสินใจสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง เดวิสเป็นเศรษฐีที่สร้างฐานะมาด้วยตนเองและไม่มีลูก เขาอาจใช้เงินเพื่อทำการกุศลหรือการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เขากลับจ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างรูปปั้นขนาดเท่าตัวจริงของเขาเองและภรรยาผู้ล่วงลับไปแล้วจำนวนสิบเอ็ดรูปไว้ในสุสานท้องถิ่น

“คนในแคนซัสเกลียดผม” เดวิสบอกกับนักข่าวที่ชื่อเออร์นี่ ไพล์ ชาวเมืองต้องการให้เขาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงพยาบาล สระว่ายน้ำ หรือสวนสาธารณะ แต่เขาพูดเพียงว่า “มันเป็นเงินของผม ผมจะใช้จ่ายมันตามที่ผมพอใจ”

กษัตริย์ซาโลมอนผู้มั่งคั่งที่สุดในยุคสมัยของพระองค์ได้เขียนไว้ว่า “คนรักเงินย่อมไม่อิ่มเงิน” และ “เมื่อของดีเพิ่มพูนขึ้น คนกินก็มีคับคั่งขึ้น” (ปญจ.5:10-11) ซาโลมอนตระหนักดีถึงแนวโน้มที่เสื่อมทรามของความมั่งคั่ง

อัครทูตเปาโลเองก็เข้าใจถึงการล่อลวงของความมั่งคั่งและเลือกที่จะลงทุนชีวิตของท่านเพื่อเชื่อฟังพระเยซู ขณะรอการประหารชีวิตในคุกโรมัน ท่านเขียนอย่างผู้มีชัยชนะว่า “เพราะว่าข้าพเจ้ากำลังจะตกเป็นเครื่องบูชาอยู่แล้ว...ข้าพเจ้าได้แข่งขันจนถึงที่สุด ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว” (2 ทธ.4:6-7)

สิ่งที่คงอยู่ไม่ใช่สิ่งที่เราสกัดด้วยหินหรือสะสมไว้เพื่อตัวเราเอง แต่เป็นสิ่งที่เรามอบให้แก่กันด้วยความรักและมอบให้กับพระองค์ ผู้ทรงสำแดงให้เราเห็นถึงวิธีที่จะรัก

พระเจ้าผู้เดียวที่สามารถเติมเต็ม

อาหารราคาหนึ่งพันดอลล่าร์ ซึ่งได้แก่ กุ้งขนาดใหญ่, ชาวาร์ม่า(คล้ายเคบับ), สลัด และอื่นๆอีกมากมาย ถูกจัดส่งไปที่บ้านหลังหนึ่ง แต่ชายที่เป็นเจ้าของบ้านไม่ได้มีงานเลี้ยง ที่จริงเขาไม่ได้เป็นคนสั่งชุดบุฟเฟ่ต์นี้มา แต่เป็นลูกชายวัยหกขวบของเขา เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้เป็นพ่อปล่อยให้ลูกชายเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน และเด็กชายได้ใช้โทรศัพท์เพื่อสั่งซื้ออาหารสุดหรูจากร้านอาหารหลายแห่ง “ลูกทำแบบนี้ทำไม” พ่อถามลูกชายซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ผ้าห่มของเขา ลูกชายวัยหกขวบตอบว่า “ผมหิวครับ” ความอยากอาหารและความเป็นเด็กนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีราคาแพง

ความอยากอาหารของเอซาวทำให้เขาเสียเงินมากกว่าหนึ่งพันดอลล่าร์ ในปฐมกาลบทที่ 25 บอกว่าเอซาวเหน็ดเหนื่อยและหิวจัด เขาพูดกับน้องชายว่า “ขอให้ข้ากินของแดงนั้น ของแดงนั้นน่ะ เพราะเราหิวจัด” (ข้อ 30) ยาโคบตอบสนองโดยขอสิทธิบุตรหัวปีของเอซาว (ข้อ 31) สิทธิบุตรหัวปีนี้รวมถึงสถานะที่พิเศษของเอซาวในฐานะบุตรชายคนโต พระพรตามพระสัญญาของพระเจ้า มรดกที่มากถึงสองเท่า และสิทธิพิเศษของการเป็นผู้นำฝ่ายวิญญาณของครอบครัว แต่เอซาวเลือกที่จะ “กินและดื่ม” และ “ดูหมิ่นสิทธิบุตรหัวปีของตน” (ข้อ 34)

เมื่อเราถูกล่อลวงและปรารถนาบางสิ่ง แทนที่จะปล่อยให้ความอยากนำเราไปสู่ความผิดพลาดและความบาปที่มีราคาแพง ให้เรายื่นมือออกไปหาพระบิดาในสวรรค์ พระองค์ผู้เดียวคือผู้ที่เติมเต็มจิตวิญญาณที่หิวกระหาย “ด้วยของดี” (สดด.107:9) แก่เราได้

เสียงร้องทุกข์

จีนานเด็กหญิงชาวซีเรียวัยห้าขวบติดอยู่ใต้กองเศษหินความสูงสองชั้นของตึกที่ถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เธอร้องเรียกหน่วยกู้ภัยขณะที่คอยปกป้องน้องชายตัวน้อยของเธอจากเศษหินที่อยู่รอบข้าง “ช่วยหนูออกไปที จะให้หนูทำอะไรก็ได้” เธอร้องด้วยใจที่แตกสลาย “หนูจะยอมเป็นคนรับใช้คุณ”

เราจะพบเสียงร้องทุกข์ในตลอดพระธรรมสดุดี “ข้าพเจ้าได้ร้องทูลพระเจ้า จากที่คับแค้นใจของข้าพเจ้า” (118:5) แม้ว่าเราอาจจะไม่เคยรับรู้ถึงน้ำหนักของตึกที่ถล่มลงมาจากแผ่นดินไหว แต่เราทุกคนต่างก็รับรู้ได้ถึงความกลัวจนแทบหายใจไม่ออกจากคำวินิจฉัยทางการแพทย์ ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต หรือการสูญเสียความสัมพันธ์

ในช่วงเวลาเหล่านั้น เราอาจจะต่อรองกับพระเจ้าเพื่อขอการช่วยกู้จากพระองค์ แต่พระเจ้าไม่จำเป็นต้องให้ใครมาโน้มน้าว เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่าจะตอบเรา และในขณะที่สถานการณ์ของเราอาจจะยังไม่ดีขึ้น พระองค์จะทรงสถิตกับเราและอยู่ฝ่ายเรา เราไม่ต้องกลัวอันตรายใดๆแม้กระทั่งความตาย เราสามารถพูดเหมือนผู้เขียนสดุดีว่า “พระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายข้าพเจ้า เป็นผู้ทรงช่วยข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามองเห็นคนที่เกลียดข้าพเจ้าแพ้” (ข้อ 7)

เราไม่ได้รับคำสัญญาถึงการช่วยกู้ที่น่าทึ่งเช่นเดียวกับจีนานและน้องชาย แต่เราสามารถวางใจในพระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อ ผู้ทรง “ประทานความโล่งใจ” (ข้อ 5) แก่ผู้เขียนสดุดี พระองค์ทรงทราบสถานการณ์ของเราและพระองค์จะไม่มีวันทอดทิ้งเราแม้แต่ในความตาย

ความกล้าหาญในพระคริสต์

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แมรี่ แมคดาวล์อาศัยอยู่ในโลกที่ห่างไกลจากคอกม้าอันแสนโหดร้ายของชิคาโก แม้ว่าบ้านของเธอจะอยู่ห่างออกไปแค่ราวสามสิบสองกิโลเมตรแต่เธอก็รู้น้อยมากเกี่ยวกับสภาพแรงงานอันน่าสยดสยองที่ทำให้คนงานที่นั่นต้องนัดหยุดงาน เมื่อเธอทราบถึงความยากลำบากที่พวกเขาและครอบครัวต้องเผชิญ แมคดาวล์ก็ย้ายมาอาศัยอยู่กับพวกเขาและเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เธอให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ รวมถึงสอนเด็กๆในโรงเรียนที่ตั้งอยู่หลังร้านเล็กๆ

การยืนหยัดเพื่อให้ผู้อื่นมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแม้จะไม่ได้สร้างผลกระทบโดยตรง ก็เป็นสิ่งที่พระนางเอสเธอร์ทำเช่นกัน เอสเธอร์เป็นราชินีแห่งเปอร์เซีย (อสธ.2:17) และมีสิทธิพิเศษแตกต่างจากชนอิสราเอลซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติที่ถูกเนรเทศไปอยู่ทั่วเปอร์เซีย แต่เอสเธอร์ให้ความสำคัญกับคนอิสราเอลในเปอร์เซียและยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อพวกเขาโดยกล่าวว่า “ฉันจะเข้าเฝ้าพระราชาแม้ว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ถ้าฉันพินาศ ฉันก็พินาศ” (4:16) เธอสามารถอยู่เงียบๆก็ได้ เพราะพระราชาผู้เป็นพระสวามีนั้นไม่รู้ว่าเธอเป็นชาวยิว (2:10) แต่เธอเลือกที่จะไม่เพิกเฉยต่อคำร้องขอความช่วยเหลือจากญาติของเธอ เธอทำการด้วยความกล้าหาญเพื่อเปิดเผยแผนการอันชั่วร้ายที่จะทำลายล้างชาวยิว

เราอาจจะไม่สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับแมรี่ แมคดาวล์หรือพระนางเอสเธอร์ได้ แต่ขอให้เราเลือกที่จะมองเห็นความเดือดร้อนของผู้อื่น และใช้สิ่งที่พระเจ้าประทานให้เพื่อช่วยเหลือพวกเขา

ระลึกถึงพระผู้สร้าง

ผมเพิ่งอ่านนิยายเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งไม่ยอมรับความจริงว่าเธอเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เมื่อเพื่อนที่โกรธจัดบังคับให้นิโคลาเผชิญหน้ากับความจริง เธอจึงยอมเผยถึงสาเหตุ โดยบอกว่า “ฉันใช้ชีวิตอย่างสูญเปล่า” ทั้งๆที่เธอเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์และความมั่งคั่ง “ฉันไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ชีวิตฉันมันยุ่งเหยิง ฉันไม่เคยทำอะไรได้นานเลย” ภาพของการจากโลกนี้ไปโดยรู้สึกว่าเธอยังไม่ได้ทำอะไรสำเร็จมากนักเป็นเรื่องที่เจ็บปวดเกินกว่าที่นิโคลาจะคิดได้

ในช่วงเวลาเดียวกันผมก็อ่านพระธรรมปัญญาจารย์และพบสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ปัญญาจารย์ไม่ยอมให้เราหนีจากความจริงในเรื่องความตาย ซึ่งเป็น “แดนคนตายที่เจ้าจะไปนั้น” (9:10) แม้การเผชิญหน้ากับความตายจะเป็นเรื่องยาก (ข้อ 2) แต่มันสามารถทำให้เราเห็นคุณค่าของทุกช่วงเวลาที่เรามีในขณะนี้ (ข้อ 4) โดยเลือกที่จะมีความสุขกับการรับประทานอาหารกับครอบครัว (ข้อ 7-9) ทำงานอย่างมีจุดมุ่งหมาย (ข้อ 10) ออกไปผจญภัยและเผชิญความเสี่ยง (11:1, 6) และทำทุกอย่างจำเพาะพระพักตร์พระเจ้า ผู้ซึ่งวันหนึ่งเราจะต้องถวายรายงาน (ข้อ 9; 12:13-14)

เพื่อนของนิโคลาชี้ให้เห็นว่าความสัตย์ซื่อและความเอื้ออาทรที่เธอมีให้กับพวกเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าชีวิตของเธอไม่ได้สูญเปล่า แต่คำแนะนำของปัญญาจารย์อาจช่วยเราทุกคนให้รอดพ้นจากวิกฤตนี้ในบั้นปลายของชีวิต ด้วยการระลึกถึงพระผู้สร้างของเรา (12:1) ดำเนินตามทางของพระองค์ และน้อมรับทุกโอกาสที่พระองค์ประทานให้ เพื่อจะมีชีวิตและรักในทุกสิ่งที่พระองค์จัดเตรียมไว้ให้ในวันนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา