ฉันเป็นคนไม่สำคัญ! แล้วเธอเป็นใคร
ในบทกลอนที่ขึ้นต้นว่า “ฉันเป็นคนไม่สำคัญ! แล้วเธอล่ะเป็นใคร” เอมิลี่ ดิ๊กคินสันท้าทายความพยายามในทุกทางของผู้คนที่อยากจะเป็น “คนสำคัญ” และส่งเสริมการเป็นคนธรรมดาที่เต็มไปด้วยความสุขและชื่นบานในเสรีภาพที่มีแทน เพราะ “การเป็นคนสำคัญนั้นช่างน่าเศร้า! เหมือนเช่นกบซึ่งเราเห็นกันทั่วไป / ร้องบอกชื่อตัวเองในวันคืนยาวนานของชีวิต / ให้หนองบึงที่ชื่นชมฟัง!”
การมีอิสระที่จะปล่อยวางความต้องการที่จะเป็น “คนสำคัญ” ลงได้นั้นสะท้อนถึงคำพยานของเปาโล ก่อนจะพบพระคริสต์ เปาโลมีตำแหน่งทางศาสนาอันน่าประทับใจยาวเหยียด ซึ่งเห็นได้ชัดว่า “มีเหตุที่จะไว้ใจในเนื้อหนัง” (ฟป.3:4)
แต่การเผชิญหน้ากับพระเยซูเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง เมื่อเห็นว่าความสำเร็จทางศาสนาของท่านช่างว่างเปล่าเมื่อคำนึงถึงความรักที่เสียสละของพระคริสต์ เปาโลสารภาพว่า “ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัดไร้ประโยชน์ เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า...และถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหยากเยื่อเพื่อข้าพเจ้าจะได้พระคริสต์” (ข้อ 8) ความปรารถนาอย่างมากที่เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวของท่านคือ “การจะรู้จักพระคริสต์...ในการที่พระองค์ทรงคืนพระชนม์นั้นและร่วมทุกข์กับพระองค์ คือยอมตั้งอารมณ์ตายเหมือนพระองค์” (ข้อ 10)
เป็นเรื่องน่าเศร้าจริงๆที่พยายามจะเป็น “คนสำคัญ” ด้วยตัวเราเอง แต่การรู้จักพระเยซู การยอมสูญเสียตัวตนของเราไปภายใต้ความรักและชีวิตที่พระองค์ทรงมอบให้นั้น คือการค้นพบตัวตนของเราอีกครั้ง (ข้อ 9) ซึ่งมีทั้งเสรีภาพและความครบบริบูรณ์
ความเอื้ออาทรจากใจจริง
ไม่เคยมีใครต้องตายจากการพูดว่า “ฉันดีใจมากที่ได้ใช้ชีวิตที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง รับใช้ตนเอง และปกป้องตนเอง” นักเขียนปาร์คเกอร์กล่าวในการปราศรัยในพิธีรับปริญญา โดยกระตุ้นให้ผู้สำเร็จการศึกษา “มอบ(ตนเอง)ให้แก่โลก...ด้วยความเอื้ออาทรจากใจจริง”
ปาร์คเกอร์กล่าวต่อไปว่า การใช้ชีวิตเช่นนั้นยังอาจหมายถึงการเรียนรู้ว่า “คุณช่างรู้น้อย และคุณล้มเหลวได้ง่ายมาก” การจะมอบตนเองเพื่อรับใช้โลกได้นั้นจำเป็นต้องมีการปลูกฝังเรื่อง “ความคิดของผู้เริ่มต้น” เพื่อจะ “เดินตรงเข้าไปหาสิ่งที่คุณไม่รู้จัก และรับความเสี่ยงที่จะล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วลุกขึ้นมาเพื่อเรียนรู้ครั้งแล้วครั้งเล่า”
เมื่อชีวิตของเราถูกสร้างขึ้นบนรากฐานแห่งพระคุณเท่านั้น เราจึงจะมีความกล้าหาญในการเลือกเส้นทางชีวิตที่ “เอื้ออาทรจากใจจริง” โดยปราศจากความกลัวดังที่เปาโลอธิบายให้ทิโมธีบุตรบุญธรรมของท่านฟังว่า เราสามารถ “กระทำให้รุ่งเรืองขึ้น” (2ทธ.1:6) และใช้ชีวิตโดยของประทานจากพระเจ้าได้อย่างมั่นใจ เมื่อเราระลึกได้ว่าพระคุณของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ช่วยเราให้รอดและเรียกเราเข้าสู่ชีวิตแห่งพระประสงค์ (ข้อ 9) และเป็นฤทธิ์อำนาจของพระองค์ที่ทำให้เรากล้าที่จะต่อต้านการล่อลวงที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างขลาดกลัว เพื่อจะได้มาซึ่ง “จิตที่กอปรด้วยฤทธิ์ ความรัก และการบังคับตนเอง” (ข้อ 7) และพระคุณของพระองค์นี่เองที่ช่วยดึงเราขึ้นเมื่อเราล้มลง เพื่อที่เราจะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้บนรากฐานแห่งความรักของพระองค์ (ข้อ 13-14)
ทุกความโศกเศร้า
เอมิลี่ ดิ๊กคินสันกวีแห่งศตวรรษที่ 19 เขียนว่า “ฉันวัดทุกความเศร้าโศกที่ฉันพบด้วยสายตาที่คับแคบและสำรวจ ฉันสงสัยว่ามันจะหนักเหมือนกับของฉันไหม หรือมีขนาดที่เล็กกว่าของฉัน” บทกวีนี้เป็นภาพสะท้อนที่สะเทือนใจ ถึงการที่ผู้คนแบกความบาดเจ็บที่พวกเขาถูกทำร้ายในรูปแบบต่างๆมาตลอดชีวิต ดิ๊กคินสันจบบทกวีอย่างลังเลด้วยคำปลอบโยนเพียงว่า “ความชูใจที่ทิ่มแทง” โดยเห็นภาพบาดแผลของตัวเองปรากฏอยู่ในรอยแผลของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขน “ฉันยังคงรู้สึกเชื่ออย่างเหลือเกินว่า บาดแผลบางส่วนนั้น ก็เหมือนกับบาดแผลของฉัน”
วิวรณ์บรรยายภาพพระเยซูพระผู้ช่วยให้รอดของเราว่าเป็นดัง “พระเมษโปดกผู้ทรงถูกปลงพระชนม์” (5:6; ดูข้อ 12) บาดแผลของพระองค์ยังปรากฏให้เห็น เป็นบาดแผลที่เกิดจากการแบกรับความบาปและความสิ้นหวังของประชากรของพระองค์ (1ปต.2:24-25) เพื่อพวกเขาจะมีชีวิตและความหวังใหม่
และวิวรณ์กล่าวถึงวันข้างหน้าที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรง “เช็ดน้ำตาทุกๆ หยด” จากดวงตาของลูกๆของพระองค์ (21:4) พระเยซูจะไม่ช่วยให้พวกเขาเจ็บปวดน้อยลง แต่จะทรงทอดพระเนตรและใส่พระทัยในความเศร้าโศกของแต่ละคนอย่างแท้จริง ขณะที่ทรงเชื้อเชิญพวกเขาเข้าสู่ความจริงของชีวิตใหม่แห่งการเยียวยาในอาณาจักรของพระองค์ ที่ซึ่ง “ความตายจะไม่มีอีกต่อไป การคร่ำครวญ การร้องไห้ และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป” (ข้อ 4) ที่ซึ่งน้ำแห่งการเยียวยาจะไหลออกมา “จากบ่อน้ำพุแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย” (ข้อ 6; ดู 22:2)
เพราะองค์พระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงแบกทุกความเศร้าโศกของเราไว้ เราจึงสามารถพบกับการพักสงบและการเยียวยาในอาณาจักรของพระองค์ได้
ที่ปลอดภัยของเรา
ครูวัยเกษียณ เด็บบี้ สตีเฟนส์ บราวเดอร์กำลังทำภารกิจในการโน้มน้าวผู้คนให้ปลูกต้นไม้ให้ได้มากที่สุด สาเหตุก็คือความร้อน อากาศที่ร้อนจัดในสหรัฐอเมริกาเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาการเสียชีวิตที่เกิดจากสภาพอากาศ ด้วยเหตุนี้เธอจึงบอกว่า “ฉันจะเริ่มจากต้นไม้” หลังคาป้องกันความร้อนที่ต้นไม้มอบให้คือหนึ่งในวิธีการสำคัญในการปกป้องชุมชน “นี่เป็นเรื่องของความเป็นความตาย ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามของชุมชน”
ข้อเท็จจริงที่ร่มเงาไม่เพียงให้ความร่มรื่นแต่ยังสามารถช่วยชีวิตได้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนสดุดี 121 ทราบดี เพราะในตะวันออกกลางนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นลมแดด ความจริงนี้ยิ่งสนับสนุนคำบรรยายอันชัดเจนของผู้เขียนสดุดีว่าพระเจ้าทรงเป็นที่กำบังอันปลอดภัยของเรา พระองค์ผู้ทรงห่วงใยว่า “ดวงอาทิตย์จะไม่โจมตี [เรา] ในเวลากลางวัน หรือดวงจันทร์ในเวลากลางคืน” (ข้อ 6)
พระธรรมข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้เชื่อในพระเยซูมีภูมิคุ้มกันต่อความเจ็บปวดหรือการสูญเสียในชีวิตนี้ (หรือความร้อนนั้นไม่มีอันตราย!) แต่พระคริสต์ทรงบอกเราว่า “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก” (ยน.16:33) แต่การเปรียบเปรยว่าพระเจ้าทรงเป็นที่กำบังของเราทำให้เรามั่นใจอย่างยิ่งว่า ไม่ว่าเราจะพบเจอสิ่งใด ชีวิตของเราจะอยู่ในการเฝ้าดูด้วยความห่วงใยของพระองค์ (สดด.121:7-8) เราจึงสามารถพักสงบโดยการไว้วางใจในพระองค์ และรู้ว่าไม่มีสิ่งใดสามารถแยกเราจากความรักของพระองค์ได้ (ยน.10:28; รม.8:39)
ไม่ใช่ความฝัน
มันเหมือนอยู่ในความฝันที่คุณไม่อาจตื่นขึ้นมาได้ คนที่ต้องต่อสู้กับสิ่งที่บางครั้งเรียกว่า “ภาวะขาดความเชื่อมต่อกับความเป็นจริง” หรือ “ภาวะที่รู้สึกตัดขาดจากตัวตนของตนเอง” นั้นมักจะรู้สึกเหมือนสิ่งที่อยู่รอบตัวไม่มีอยู่จริง แม้ว่าผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้แบบเรื้อรังอาจวินิจฉัยได้ว่ามีความผิดปกติ แต่เชื่อกันว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เครียด แต่บางครั้งแม้เวลาที่ชีวิตดูเหมือนดี ความรู้สึกนี้ก็ยังคงอยู่ ราวกับว่าจิตใจของเราไม่อาจวางใจได้ว่าสิ่งดีๆกำลังเกิดขึ้นจริงๆ
พระคัมภีร์อธิบายถึงการต่อสู้ทำนองนี้ในคนของพระเจ้า ที่ได้สัมผัสอำนาจและการปลดปล่อยของพระองค์ที่เป็นจริงไม่ใช่แค่ความฝัน ในกิจการบทที่ 12 เมื่อทูตสวรรค์นำเปโตรออกจากคุก และท่านอาจถูกประหารชีวิต (ข้อ 2, 4) มีการบรรยายถึงอัครทูตว่าท่านตกอยู่ในความงุนงง ไม่แน่ใจว่านี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ (ข้อ 9-10) เมื่อทูตองค์นั้นละท่านไว้นอกคุกเปโตรก็ “รู้สึกตัว” ในที่สุดและตระหนักว่าทุกอย่างนั้นเป็นความจริง (ข้อ 11)
ทั้งในยามดีและยามร้าย บางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อหรือมีประสบการณ์ว่าพระเจ้ากำลังทำงานในชีวิตของเราจริงๆ แต่เราวางใจได้ว่าเมื่อเรารอคอยพระองค์ วันหนึ่งฤทธิ์เดชแห่งการเป็นขึ้นจากความตายของพระองค์จะกลายเป็นความจริงอันอัศจรรย์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ความสว่างของพระเจ้าจะปลุกเราจากการหลับไหล ให้ตื่นขึ้นสู่ความเป็นจริงแห่งชีวิตกับพระองค์ (อฟ.5:14)
วิ่งเพื่อสิ่งที่มีค่า
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ร้องไห้กับข่าวคราวสถานการณ์ของไอร่าเพื่อนของฉัน ซึ่งเธอโพสต์ไว้ในปี 2022 ไม่กี่วันหลังเธอหนีออกจากกรุงเคียฟ เมืองหลวงที่ถูกปิดล้อมของประเทศยูเครน เธอลงรูปภาพเก่าที่เธอชูธงชาติประเทศของเธอภายหลังเสร็จสิ้นการวิ่งแข่งขัน เธอเขียนว่า “เราทุกคนต่างวิ่งอย่างสุดกำลังในการแข่งมาราธอนที่เรียกว่าชีวิต ในเวลานี้ขอให้เราวิ่งให้ดีกว่าเดิม พร้อมกับสิ่งที่ไม่มีวันตายในหัวใจของเรา” หลายวันต่อมา ฉันเห็นเพื่อนคนนี้ยังคงวิ่งแข่งในหลากหลายรูปแบบ ด้วยการส่งข่าวความคืบหน้าให้เราอธิษฐานและช่วยเหลือผู้ที่กำลังทนทุกข์ในประเทศของเธอ
คำพูดของไอร่าทำให้เกิดการทรงเรียกรูปแบบใหม่ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพระธรรมฮีบรูบทที่ 12 ที่ให้ผู้เชื่อ “วิ่งแข่งด้วยความเพียรพยายาม” (ข้อ 1) การทรงเรียกนั้นสืบเนื่องจากเรื่องราวของวีรบุรุษแห่งความเชื่อในบทที่ 11 ซึ่งเป็น “พยานที่พรั่งพร้อมอยู่รอบข้าง” (12:1) เป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยความกล้าหาญ และยึดมั่นในความเชื่อแม้ต้องเสี่ยงด้วยชีวิต (11:33-38) แม้ว่าพวกเขาเพียงแค่ “ได้เห็น...และเตรียมรับ [พระสัญญา] ไว้ตั้งแต่ไกล” (ข้อ 13) คนเหล่านั้นมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งที่เป็นนิรันดร์ เพื่อสิ่งที่ไม่มีวันตาย
ผู้เชื่อในพระเยซูทุกคนถูกเรียกให้ดำเนินชีวิตในแบบเดียวกัน เพราะสันติภาพ ซึ่งก็คือความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแห่งแผ่นดินของพระเจ้านั้นควรค่าแก่การที่เราจะยอมถวายทั้งหมดของชีวิตเรา เพราะนั่นคือแบบอย่างและฤทธานุภาพของพระคริสต์ที่ค้ำจุนเราอยู่ (12:2-3)
การเริ่มต้นใหม่
“จิตสำนึกของคริสเตียนเริ่มต้นขึ้นในความตระหนักรู้อันเจ็บปวดว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความจริงที่แท้เป็นคำโกหก” ยูจีน ปีเตอร์สันเขียนไว้ในบทสะท้อนการใคร่ครวญพระธรรมสดุดี 120 ซึ่งเป็นเพลงแรกใน “บทเพลงแห่ขึ้น” (สดด.120-134) ที่ขับร้องโดยธรรมิกชนที่กำลังเดินทางไปเยรูซาเล็ม ขณะที่ปีเตอร์สันใคร่ครวญเรื่องนี้ในหนังสือ การเชื่อฟังอันยาวนานในทิศทางเดียวกันนั้น บทเพลงสดุดีเหล่านี้ยังทำให้เราเห็นภาพของการเดินทางฝ่ายวิญญาณไปสู่พระเจ้าอีกด้วย
การเดินทางนั้นจะเริ่มต้นขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้แจ้งว่าเราต้องการบางสิ่งที่ต่างออกไป ดังเช่นที่ปีเตอร์สันเขียนไว้ว่า “คนจะต้องเอือมระอาอย่างถึงที่สุดกับสิ่งเดิมๆเพื่อจะมีแรงจูงใจให้ออกเดินในทางของคริสเตียน...(คน)ต้องเบื่อหน่ายกับวิถีของโลกก่อนที่เขาจะมีความหิวกระหายโลกแห่งพระคุณ”
เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกสิ้นหวังกับความแตกสลายและความสิ้นหวังที่เราเห็นในโลกรอบตัว ด้วยวัฒนธรรมที่กำลังแพร่หลายที่ไม่ยินดียินร้ายกับอันตรายที่เกิดกับผู้อื่น สดุดี 120 คร่ำครวญในเรื่องนี้อย่างเปิดเผยว่า “ข้าพเจ้าชอบศานติแต่เมื่อข้าพเจ้าพูด เขาหนุนสงคราม” (ข้อ 7)
แต่ยังมีการเยียวยารักษาและเสรีภาพเมื่อเราตระหนักรู้ว่า ความเจ็บปวดของเราสามารถปลุกเราขึ้นสู่การเริ่มต้นใหม่โดยความช่วยเหลือเดียวของเราคือองค์พระผู้ช่วยให้รอด ผู้ทรงสามารถนำเราออกจากคำโกหกที่บ่อนทำลายไปสู่เส้นทางแห่งสันติสุขและความบริบูรณ์ (121:2) ในขณะที่เราก้าวเข้าสู่ปีใหม่นี้ขอให้เราแสวงหาพระองค์และหนทางของพระองค์
มุ่งทำต่อไป! ด้วยใจแน่วแน่
ในบทกวีที่มีชื่อว่า “พักผ่อน” ผู้ประพันธ์เสนอคำท้าทายอย่างสุภาพต่อการที่เรามีแนวโน้มที่จะแยกเวลา “พัก” ออกจากเวลา “งาน” โดยถามว่า “มิใช่ว่าคนที่ทำงานหนัก จึงได้พักอย่างแท้จริงหรือ” หากคุณต้องการพักผ่อนอย่างแท้จริง แทนที่จะพยายามหลีกเลี่ยงการทำในสิ่งที่เป็นบทบาทหน้าที่ของชีวิต ผู้เขียนแนะนำว่า “จงทำอย่างดีที่สุด อย่าให้เวลาสูญเปล่า นอกเหนือจากนี้ไม่ใช่การพัก หากจะยลความงาม จำต้องเข้าใกล้พระเจ้า หรือทำแต่ความดีหรือมีเพียงต้องทำหน้าที่ จึงจะพบความงามนั้น”
ผู้ประพันธ์สรุปว่าความสุขและการพักผ่อนอย่างแท้จริงนั้นพบได้ผ่านความรักและการรับใช้ แนวคิดนี้ทำให้คิดถึงคำหนุนใจของเปาโลต่อชาวเธสะโลนิกา หลังจากอธิบายถึงการทรงเรียกของท่านเพื่อหนุนใจพวกผู้เชื่อให้ “ประพฤติอย่างสมควรต่อพระเจ้า” (1 ธส.2:12) อัครทูตได้ให้รายละเอียดที่เจาะจงมากขึ้น
ภาพที่ท่านบรรยายคือชีวิตที่สัตย์ซื่อ รัก และรับใช้อย่างสงบ เปาโลทูลขอให้พระเจ้า “ทรงให้ [พวกเขา] จำเริญและบริบูรณ์ไปด้วยความรักซึ่งกันและกัน และรักคนทั้งปวง” (3:12) และท่านยังวิงวอนผู้เชื่อในพระเยซูว่า “จงตั้งเป้าว่าจะอยู่อย่างสงบ” “ทำกิจธุระส่วนของตน และทำการงานด้วยมือของตนเอง” (4:11) นี่คือชีวิตที่รักและรับใช้อย่างสงบในทุกโอกาสที่พระเจ้าประทานแก่เรา ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นมองเห็นความงามของชีวิตแห่งความเชื่อ (ข้อ 12)
ดังที่ผู้เขียนบอกไว้ ความสุขที่แท้จริงคือ “การรักและปรนนิบัติ อย่างเต็มที่และดีที่สุด มุ่งทำต่อไป! ด้วยใจแน่วแน่ นั่นจึงเป็นการพักที่แท้จริง”
พระคุณอันอ่อนโยนของพระเจ้า
“พูดความจริงทั้งหมดแต่ค่อยๆพูดทีละนิด” บทกวีที่เอมิลี่ ดิคคินสันเขียนขึ้นบอกเราว่า เพราะความจริงและพระสิริของพระเจ้า “สว่างจ้า” เกินกว่ามนุษย์ที่อ่อนแอจะเข้าใจหรือรับได้หมดในครั้งเดียว เราจึงควรรับและแบ่งปันพระคุณและความจริงของพระเจ้า “ทีละนิด” คืออย่างอ่อนโยน โดยทางอ้อม เพราะ “ความจริงต้องค่อยๆเปล่งประกาย มิเช่นนั้นมนุษย์ทุกคนจะตาบอดไปเสียได้”
อัครสาวกเปาโลพูดอย่างเดียวกันในเอเฟซัส 4 เมื่อท่านหนุนใจให้ผู้เชื่อ “มีใจถ่อมลงทุกอย่าง และใจอ่อนสุภาพอดทนนาน และอดกลั้นต่อกันและกันด้วยความรัก” (ข้อ 2) ท่านอธิบายว่า พื้นฐานของใจที่สุภาพและมีเมตตาต่อกันของผู้เชื่อมาจากความเมตตาของพระคริสต์ที่มีต่อเรา ในการเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซู (ข้อ 9-10) พระองค์ทรงสำแดงพระองค์อย่างเงียบๆ และอ่อนโยนอย่างที่ผู้คนต้องการเพื่อจะเชื่อและยอมรับพระองค์
และพระองค์ยังทรงสำแดงพระองค์อย่างอ่อนสุภาพและเต็มด้วยความรัก โดยประทานและเสริมกำลังคนของพระองค์อย่างที่พวกเขาต้องการเพื่อจะเติบโตและเป็นผู้ใหญ่ “เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้จำเริญขึ้น จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า จนกว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่” (ข้อ 12-13) เมื่อเราเติบโตขึ้น เรายิ่งแสวงหาความหวังจากที่อื่นน้อยลง (ข้อ 14) และมั่นใจในการทำตามแบบอย่างความรักที่อ่อนสุภาพของพระเยซูมากยิ่งขึ้น (ข้อ 15-16)