ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Alyson Kieda

ประชุมกันในพระเยซู

ในเวลาที่ฉันเผชิญกับความเจ็บปวดทางอารมณ์และจิตวิญญาณ และต้องต่อสู้กับสถานการณ์ยุ่งยากในชีวิตเป็นเวลานานนั้น ฉันอาจถอนตัวจากคริสตจักรไปได้ง่ายๆ (และบางครั้งฉันคิดคำนึงว่า “จะลำบากไปทำไม”) แต่ฉันก็รู้สึกถึงหน้าที่ที่จะต้องไปทุกสัปดาห์

แม้ว่าสถานการณ์ของฉันจะยังคงเป็นเหมือนเดิมอยู่ตลอดหลายปี แต่การได้สรรเสริญพระเจ้าและรวมกลุ่มกับผู้เชื่ออื่นในการนมัสการ ในกลุ่มอธิษฐาน และกลุ่มเรียนพระคัมภีร์ ได้มอบกำลังใจที่จำเป็นแก่ฉันเพื่อจะยืนหยัดและยังคงมีความหวัง และหลายครั้งที่ฉันไม่เพียงได้ฟังข้อความหรือคำสอนที่หนุนใจ แต่ฉันยังได้รับการปลอบประโลมใจ มีคนที่รับฟัง และได้รับอ้อมกอดที่ฉันต้องการจากคนอื่น

ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูเขียนไว้ว่า “อย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น แต่จงพูดหนุนใจกันให้มากยิ่งขึ้น” (ฮบ.10:25) ผู้เขียนฮีบรูทราบว่าเมื่อเราเผชิญกับความทุกข์และความยากลำบาก เราจะต้องการการหนุนใจจากคนอื่น และคนอื่นก็ต้องการจากเราเช่นเดียวกัน ผู้เขียนจึงเตือนผู้อ่านให้ “ยึดมั่นในความหวังที่เราทั้งหลายเชื่อและรับไว้นั้น” และพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไร จึงจะ “ปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี” (ข้อ 23-24) นี่คือหัวใจหลักของการหนุนใจ นี่คือเหตุผลที่พระเจ้าทรงนำให้เราประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ มีบางคนที่อาจต้องการคำหนุนใจด้วยความรักจากคุณ และคุณจะประหลาดใจกับสิ่งที่ได้รับคืนมา

ความทุกข์ทรมานของพระคริสต์

ก่อนที่จิม คาวีเซล จะรับบทพระเยซูในภาพยนตร์เรื่อง เดอะแพสชั่นออฟ เดอะไครสต์ ผู้กำกับเมล กิ๊บสันเตือนว่าบทนี้ยากมากและอาจส่งผลทางลบต่ออาชีพในฮอลลีวู้ดของเขา ถึงอย่างนั้นคาวีเซลก็ยังรับเล่นบทนี้โดยพูดว่า “ผมคิดว่าเราต้องลงมือทำ แม้ว่าจะยาก”

ระหว่างการถ่ายทำ คาวีเซลถูกฟ้าผ่า น้ำหนักลดไปยี่สิบกิโลกรัม และถูกเฆี่ยนจริงโดยไม่ได้ตั้งใจในฉากเฆี่ยนตี ภายหลังเขากล่าวว่า “ผมไม่ต้องการให้คนเห็นว่านั่นคือผม ผมแค่อยากให้พวกเขาเห็นว่านั่นคือพระเยซู การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นผ่านสิ่งนั้น” ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคาวีเซลและคนอื่นๆในกองถ่ายอย่างมาก และมีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่ามีผู้คนกี่ล้านคนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วพบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเดอะแพสชั่นออฟเดอะไครสต์ ถ่ายทอดช่วงเวลาการทนทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเยซู ตั้งแต่การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตในวันอาทิตย์ทางตาล รวมถึงการถูกทรยศ เยาะเย้ย เฆี่ยนตี และตรึงกางเขน เหตุการณ์เหล่านี้ปรากฏอยู่ในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม

อิสยาห์ 53 ได้บอกถึงการทนทุกข์ของพระองค์และผลที่ตามมาไว้ล่วงหน้า “แต่ท่านถูกบาดเจ็บเพราะความทรยศของเราทั้งหลาย ท่านฟกช้ำเพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนอันทำให้เราทั้งหลายสมบูรณ์นั้นตกแก่ท่าน ที่ท่านต้องฟกช้ำนั้นก็ให้เราหายดี” (ข้อ 5) เราทุกคน “ได้เจิ่นไปเหมือนแกะ” (ข้อ 6) แต่เพราะการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู เราจึงมีสันติสุขในพระเจ้า การทนทุกข์ของพระองค์เปิดหนทางให้เราได้อยู่กับพระองค์

เสียงเรียกให้อธิษฐาน

อับราฮัม ลินคอล์นเปิดเผยกับเพื่อนคนหนึ่งว่า “หลายต่อหลายครั้งที่ผมถูกผลักดันให้คุกเข่าลงอธิษฐาน เพราะผมเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าผมไม่มีที่พึ่งอื่นอีกแล้ว” ในช่วงเวลาอันเลวร้ายของสงครามกลางเมืองในอเมริกา ประธานาธิบดีลินคอล์นไม่ได้เพียงแค่ใช้เวลาในการอธิษฐานอย่างร้อนรนเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้ทั้งประเทศมาร่วมกับท่านด้วย ในปีค.ศ. 1861 ท่านประกาศให้มี “วันแห่งความถ่อมใจ อธิษฐาน และอดอาหาร” และท่านก็ประกาศเช่นเดียวกันอีกในปีค.ศ. 1863 โดยกล่าวว่า “ทั้งประเทศชาติและประชาชนต่างก็มีหน้าที่เช่นเดียวกันที่จะต้องพึ่งพาฤทธิ์อำนาจสูงสุดของพระเจ้าในการลบล้างความผิด ด้วยการสารภาพความผิดบาปด้วยความเสียใจและถ่อมใจ โดยยังคงมั่นใจในความหวังว่าการกลับใจอย่างแท้จริงจะนำไปสู่พระเมตตาและการอภัย”

หลังจากที่คนอิสราเอลถูกจับไปเป็นเชลยในบาบิโลนเป็นเวลาเจ็ดสิบปีกษัตริย์ไซรัสทรงมีประกาศว่าชนอิสราเอลคนใดก็ตามที่ต้องการกลับไปยังเยรูซาเล็มก็ให้กลับไปได้ เมื่อเนหะมีย์ซึ่งเป็นคนอิสราเอล (นหม.1:6) และเป็นพนักงานเชิญถ้วยเสวยของกษัตริย์แห่งบาบิโลน (ข้อ 11) ได้ยินว่าคนเหล่านั้นที่กลับไป “มีความลำบากและความอับอายมาก” (ข้อ 3) ท่าน “นั่งลงร้องไห้” และโศกเศร้า อดอาหารและอธิษฐานอยู่หลายวัน (ข้อ 4) ท่านปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อชนชาติของท่านเอง (ข้อ 5-11) และต่อมา ท่านก็ขอให้คนของท่านอดอาหารและอธิษฐานด้วยเช่นกัน (9:1-37)

หลายศตวรรษต่อมาในยุคของจักรวรรดิโรมัน เปาโลร้องขอให้ผู้อ่านจดหมายของท่านอธิษฐานเพื่อผู้ที่มีตำแหน่งสูงเช่นกัน (1ทธ.2:1-2) พระเจ้าของเรานั้นยังทรงสดับฟังคำอธิษฐานที่เราทูลในเรื่องต่างๆที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้อื่นอยู่เสมอ

เอาชนะการทดลอง

แอนน์เติบโตขึ้นมากับความยากจนและความเจ็บปวด พี่น้องสองคนของเธอเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก เมื่ออายุห้าขวบโรคทางตาทำให้เธอตาบอดบางส่วนและไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ เมื่อแอนน์อายุแปดขวบแม่ก็เสียชีวิตจากวัณโรค จากนั้นไม่นานพ่อที่ข่มเหงทารุณก็ทิ้งลูกที่ยังเหลือรอดทั้งสามคนไป น้องคนสุดท้องถูกส่งไปอยู่กับญาติ แต่แอนน์กับจิมมี่น้องชายถูกส่งไปสถานสงเคราะห์คนยากไร้ทิวส์เบอรี่ที่แออัดทรุดโทรม ไม่กี่เดือนต่อมาจิมมี่ก็เสียชีวิต

เมื่ออายุสิบสี่ปีสถานการณ์ของแอนน์ดีขึ้น เธอถูกส่งไปโรงเรียนสำหรับคนตาบอด ที่ซึ่งเธอได้รับการผ่าตัดเพื่อช่วยเรื่องการมองเห็นและได้เรียนรู้การอ่านและเขียน แม้จะมีปัญหาในการปรับตัวแต่เธอก็เรียนได้อย่างดีเลิศและได้เป็นตัวแทนกล่าวสุนทรพจน์ในวันจบการศึกษา ในวันนี้เรารู้จักแอนน์ ซัลลิแวนอย่างดีในฐานะครูและเพื่อนของเฮเลน เคลเลอร์ ด้วยความพยายาม ความอดทน และความรัก แอนน์สอนเฮเลนซึ่งตาบอดและหูหนวกให้พูดและอ่านอักษรเบรลล์จนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

โยเซฟก็ต้องเอาชนะการทดลองอันโหดร้ายเช่นกัน เมื่ออายุสิบเจ็ดปีท่านถูกพวกพี่ชายขี้อิจฉาขายไปเป็นทาส ต่อมายังถูกจำคุกโดยไม่มีความผิด (ปฐก.37; 39-41) กระนั้นพระเจ้ายังทรงใช้ท่านให้ช่วยอียิปต์และครอบครัวของท่านจากการกันดารอาหาร (50:20)

เราทุกคนต่างต้องเจอกับการทดลองและปัญหา แต่เช่นที่พระเจ้าทรงช่วยโยเซฟและแอนน์ให้เอาชนะและให้สร้างผลกระทบในชีวิตของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง พระองค์ก็ทรงสามารถช่วยและใช้เราได้เช่นกัน จงแสวงหาความช่วยเหลือและการทรงนำจากพระองค์ พระองค์ทรงเห็นและทรงได้ยิน

ผลตอบแทนล้ำค่า

ตลอดเวลาสามปีในช่วงเปิดเทอม ทุกวันคอลลีนจะสวมใส่เครื่องแต่งกายหรือหน้ากากแบบต่างๆเพื่อรอรับเด็กๆที่ลงมาจากรถโรงเรียนในตอนบ่าย ทุกคนบนรถโรงเรียนรู้สึกมีความสุข แม้กระทั่งคนขับรถที่บอกว่า “เธอทำให้เด็กๆบนรถของผมมีความสุข มันดีมาก ผมชอบนะ” ลูกของคอลลีนก็เห็นด้วย

ทุกอย่างเกิดขึ้นเมื่อคอลลีนเริ่มรับอุปการะเด็ก เธอรู้ว่ามันยากแค่ไหนที่จะต้องแยกจากพ่อแม่และต้องไปโรงเรียนใหม่ เธอจึงเริ่มสวมเครื่องแต่งกายพิเศษเพื่อรอรับพวกเขากลับบ้าน หลังจากสามวันผ่านไปเด็กๆไม่ยอมให้เธอหยุด คอลลีนจึงทำเช่นนั้นต่อไป เธอต้องลงทุนเวลาและเงินที่ร้านขายของมือสอง แต่นักข่าวเมเรดิธ เทอร์ฮาร์ได้บรรยายว่า มันนำมาซึ่ง “ผลลัพธ์ที่ล้ำค่า ซึ่งก็คือความสุข”

ข้อพระธรรมสั้นๆข้อหนึ่งในหนังสือแห่งปัญญาและคำสอนที่ชาญฉลาดซึ่งส่วนมากเขียนโดยกษัตริย์ซาโลมอนถึงพระโอรสของพระองค์ ได้สรุปผลลัพธ์ของการเล่นมุขตลกของแม่คนนี้ว่า “ใจร่าเริงเป็นยาอย่างดี แต่จิตใจที่หมดมานะทำให้กระดูกแห้ง” (สภษ.17:22) เธอทำให้เด็กๆทุกคน (ไม่ว่าจะเป็นลูก ลูกบุญธรรม และเด็กในอุปการะ) มีความสุข เพราะเธอหวังที่จะป้องกันไม่ให้เกิดจิตใจที่ชอกช้ำหมดมานะ

แหล่งแห่งความสุขที่แท้จริงและยั่งยืนคือพระเจ้าโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ลก.10:21; กท.5:22) พระวิญญาณจะทำให้เราสามารถส่องแสงของพระเจ้าในเวลาที่เราพยายามทำให้ผู้อื่นมีความสุข อันเป็นความสุขที่นำมาซึ่งความหวังและกำลังสำหรับเผชิญการทดลอง

ในสวน

พ่อของฉันรักการใช้ชีวิตกลางแจ้งในท่ามกลางสิ่งทรงสร้างของพระเจ้า ทั้งการตั้งแคมป์ ตกปลาและสะสมหินมีค่า ท่านยังชอบทำงานในสนามและสวนของท่าน แต่มันเป็นงานที่หนักมาก! ท่านใช้เวลาหลายชั่วโมงในการตัดแต่งกิ่ง พรวนดิน เพาะเมล็ดพันธุ์พืชและดอกไม้ ถอนวัชพืช ตัดหญ้า รดน้ำสนามและสวน ผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่า คือสนามที่มีภูมิทัศน์สวยงาม มะเขือเทศรสอร่อยและพุ่มกุหลาบพีซโรสที่สวยงาม ทุกๆปีท่านตัดกิ่งกุหลาบจนสั้นติดดิน และทุกๆปีพวกมันก็งอกขึ้นใหม่ เติมเต็มประสาทสัมผัสด้วยกลิ่นหอมและความงามของพวกมัน

ในพระธรรมปฐมกาล เราได้อ่านเรื่องสวนเอเดนที่อาดัมและเอวาอาศัย เจริญรุ่งเรืองและดำเนินกับพระเจ้า ที่นั่นพระเจ้า “ทรงให้ต้นไม้ทุกชนิดที่งามน่าดูและที่น่ากิน เป็นอาหารงอกขึ้นจากดิน” (ปฐก.2:9) ฉันจินตนาการว่าสวนที่สมบูรณ์แบบนั้นคงมีทั้งดอกไม้ที่สวยงามและมีกลิ่นหอม บางทีแม้แต่กุหลาบก็คงจะไม่มีหนาม!

หลังจากอาดัมและเอวากบฏต่อพระเจ้า พวกเขาถูกขับไล่ออกจากสวนและจำเป็นต้องเพาะปลูกและดูแลสวนของตนเอง ซึ่งหมายถึงการทุบทำลายดินแข็ง ต่อสู้กับหนามและอุปสรรคอื่นๆ(3:17-19,23-24) กระนั้นพระเจ้ายังทรงจัดเตรียมให้พวกเขาอย่างต่อเนื่อง (ข้อ 21) และพระองค์ไม่ได้ละมนุษย์ไว้โดยปราศจากความงดงามแห่งการทรงสร้างที่จะดึงเราให้มาหาพระองค์ (รม.1:20) ดอกไม้ในสวนเตือนเราถึงความรักอย่างไม่ยั้งหยุดของพระเจ้าและพระสัญญาเรื่องการทรงสร้างใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งความหวังและการปลอบโยน!

แสดงความเมตตากรุณา

หลายเดือนหลังการแท้งบุตร วาเลอรี่ตัดสินใจนำสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วออกขาย เจอรัลด์นายช่างฝีมือเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตรกระตือรือร้นมาซื้อเปลเด็กที่เธอกำลังขาย ในขณะที่ภรรยาของเขาได้พูดคุยกับวาเลอรี่และรู้เรื่องความสูญเสียของเธอ เมื่อเจอรัลด์ได้ยินถึงเรื่องราวนั้นในระหว่างทางกลับบ้าน เขาจึงตัดสินใจนำเปลมาทำเป็นของที่ระลึกให้วาเลอรีไว้ดูต่างหน้า หนึ่งสัปดาห์ต่อมาเขามอบม้านั่งที่งดงามให้เธอทั้งน้ำตา “ยังมีคนดีๆหลงเหลืออยู่ และนี่คือข้อพิสูจน์” วาเลอรี่กล่าว

นางรูธและนางนาโอมีได้พบกับความสูญเสียครั้งใหญ่เช่นเดียวกับวาเลอรี่ สามีและลูกชายสองคนของนาโอมีเสียชีวิต และเวลานี้เธอกับรูธลูกสะใภ้ผู้สูญเสียไม่มีทายาทและไม่มีใครเลี้ยงดูพวกนาง (นรธ.1:1-5) นั่นคือจุดที่โบอาสก้าวเข้ามา เมื่อรูธไปเก็บรวงข้าวตกที่เหลือในทุ่งนา โบอาสซึ่งเป็นเจ้าของนาได้สอบถามถึงเธอ เมื่อรู้ว่าเธอเป็นใคร เขาก็ดีต่อเธอ (2:5-9) รูธรู้สึกแปลกใจจึงถามว่า “ทำไมท่านจึงมองดิฉันด้วยความเอาใจใส่” (ข้อ 10) เขาตอบว่า “ทุกอย่างที่เจ้าได้ปฏิบัติต่อแม่ผัวของเจ้า ตั้งแต่สามีของเจ้าเสียชีวิตแล้ว มีคนมาเล่าให้ฉันฟังหมดแล้ว” (ข้อ 11)

ต่อมาโบอาสแต่งงานกับนางรูธและเลี้ยงดูนาโอมี (บทที่ 4) บรรพบุรุษของดาวิดและของพระเยซูได้ถือกำเนิดขึ้นผ่านการแต่งงานของพวกเขา ขณะที่พระเจ้าทรงใช้เจอรัลด์และโบอาสเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงความทุกข์โศกของผู้อื่น พระองค์ก็ทรงทำงานผ่านเราเพื่อแสดงความกรุณาและเห็นอกเห็นใจในความเจ็บปวดของผู้อื่นได้

การจัดการกับความผิดหวัง

หลังจากระดมทุนตลอดทั้งปีเพื่อ “การเดินทางครั้งหนึ่งในชีวิต” รุ่นพี่ปีสุดท้ายของโรงเรียนมัธยมในรัฐโอคลาโฮมาได้มาถึงสนามบินและพบว่าพวกเขาหลายคนซื้อตั๋วจากบริษัทปลอมที่แอบอ้างเป็นสายการบิน “มันน่าเสียใจอย่างที่สุด” เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนคนหนึ่งกล่าว แต่ถึงแม้พวกเขาจะต้องเปลี่ยนแผน พวกนักเรียนตัดสินใจที่จะ “ใช้เวลาให้มีค่ามากที่สุด” พวกเขาใช้เวลาสองวันเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆที่ให้ตั๋วเข้าฟรีแก่พวกเขา

การรับมือกับแผนการที่ล้มเหลวหรือมีการเปลี่ยนแปลงอาจน่าผิดหวังหรือถึงกับทำให้ใจสลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราลงทุนเวลา เงิน หรือความรู้สึกไปกับการวางแผน กษัตริย์ดาวิด “มีใจประสงค์ที่จะสร้าง” พระนิเวศของพระเจ้า (1 พศด.28:2) แต่พระเจ้าตรัสกับพระองค์ว่า “เจ้าอย่าสร้างนิเวศเพื่อนามของเราเลย...ซาโลมอนบุตรของเจ้าจะสร้างนิเวศของเรา” (ข้อ 3, 6) ดาวิดไม่ได้สิ้นหวัง พระองค์สรรเสริญพระเจ้าที่ทรงเลือกพระองค์ให้เป็นกษัตริย์เหนืออิสราเอล และดาวิดมอบแผนผังของพระวิหารให้แก่ซาโลมอนเพื่อสร้างให้สำเร็จ (ข้อ 11-13) ขณะเมื่อทรงมอบแผนผังนั้น ดาวิดได้หนุนใจซาโลมอนว่า “จงเข้มแข็งและกล้าหาญและทำให้สำเร็จเถิด...เพราะว่าพระเยโฮวาห์พระเจ้า...ทรงสถิตกับเจ้า” (ข้อ 20)

เมื่อแผนการของเราล้มเหลว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราสามารถนำความผิดหวังมาหาพระเจ้าผู้ทรง “ห่วงใยท่านทั้งหลาย” (1 ปต.5:7) พระองค์จะทรงช่วยเรารับมือกับความผิดหวังด้วยพระคุณ

สิ่งที่เราเลือกนั้นสำคัญ

ครูสอนว่ายน้ำในนิวเจอร์ซีย์เห็นรถกำลังจมลงในอ่าวนิวอาร์ค และได้ยินคนขับข้างในร้องตะโกนว่า “ผมว่ายน้ำไม่เป็น” ขณะที่รถเอสยูวีของเขาจมลงไปในน่านน้ำที่ขุ่นดำอย่างรวดเร็ว เมื่อฝูงชนมุงดูอยู่ริ่มฝั่ง แอนโธนี่วิ่งไปบนโขดหินตามแนวผา ถอดขาเทียมของเขาออก และกระโดดลงไปช่วยชีวิตชายอาวุโสวัย 68 ปีขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย ต้องขอบคุณการกระทำที่เด็ดเดี่ยวของแอนโธนี ชายอีกคนหนึ่งจึงรอดชีวิต

สิ่งที่เราเลือกนั้นสำคัญ ให้เราพิจารณายาโคบผู้เป็นบิดาของบุตรชายหลายคน ท่านแสดงความโปรดปรานอย่างเปิดเผยต่อโยเซฟบุตรชายวัยสิบเจ็ดปี ท่านทำ “เสื้อคลุมที่ตกแต่งอย่างงดงาม” ให้กับโยเซฟโดยไม่มีเหตุผล (ปฐก.37:3 TNCV) ผลลัพธ์คือพวกพี่ชายชังโยเซฟ (ข้อ 4) และเมื่อมีโอกาสก็ขายเขาไปเป็นทาส (ข้อ 28) แต่เพราะเหตุว่าโยเซฟไปลงเอยที่อียิปต์ พระเจ้าได้ทรงใช้เขาเพื่อสงวนครอบครัวของยาโคบและคนอื่นๆอีกหลายคนในช่วงเจ็ดปีแห่งการกันดารอาหาร ทั้งๆที่พี่ชายคิดร้ายต่อโยเซฟ (ดู 50:20) แต่การเลือกที่ทำให้ทุกอย่างเคลื่อนไปสู่ผลดี คือการตัดสินใจของโยเซฟที่จะรักษาเกียรติไว้และวิ่งหนีจากภรรยาของโปทิฟาร์ (39:1-12) ผลที่ได้คือเขาถูกจำคุก (39:20) และในที่สุดก็ได้พบกับฟาโรห์ (บทที่ 41)

แอนโธนี่อาจมีข้อได้เปรียบเพราะผ่านการฝึกฝนมา แต่เขาก็ยังต้องตัดสินใจเลือก เมื่อเรารักพระเจ้าและแสวงหาที่จะรับใช้พระองค์นั้น พระองค์ทรงช่วยเราที่จะเลือกหนทางที่นำไปสู่ชีวิตและถวายเกียรติแด่พระเจ้า ถ้าหากเรายังไม่ได้ตัดสินใจเลือก เราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการเชื่อวางใจในพระเยซู

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา