Month: กรกฎาคม 2022

พระเยซูคือผู้ใด

ผู้คนเชื่อกันว่าพระเยซูคือใคร บางคนบอกว่าพระองค์เป็นครูที่ดีคนหนึ่งแต่ก็เป็นแค่มนุษย์ นักเขียน ซี.เอส.ลูอิสเขียนไว้ว่า “ชายผู้นี้ถ้าไม่ใช่เป็นหรือเคยเป็นพระบุตรของพระเจ้า ก็เป็นคนเสียสติหรืออะไรที่แย่กว่านั้น คุณอาจปิดปากพระองค์บอกว่าเป็นคนเขลา คุณอาจถ่มน้ำลายรดพระองค์และประหารพระองค์ราวกับเป็นมารร้าย หรือคุณอาจหมอบลงแทบเท้าพระองค์และเรียกพระองค์ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้า แต่อย่าให้เรานำเรื่องไร้สาระมาอ้างว่าพระองค์เป็นครูที่เป็นมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่เลย” ประโยคที่ยังคงโด่งดังจากหนังสือ แก่นแท้แห่งคริสต์ศาสนา นำเสนอว่า พระเยซูจะไม่ได้เป็นผู้เผยพระวจนะที่ยิ่งใหญ่เลยหากพระองค์หลอกลวงว่าเป็นพระเจ้า และนั่นคงจะเป็นคำสอนเท็จขั้นสูงสุด

ขณะสนทนากับเหล่าสาวกระหว่างเดินทางไปหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พระเยซูตรัสถามพวกเขาว่า “คนทั้งหลายพูดกันว่าเราเป็นผู้ใด” (มก.8:27) คำตอบของพวกเขามีทั้งยอห์นผู้ให้บัพติศมา เอลียาห์ และคนหนึ่งในพวกผู้เผยพระวจนะ (ข้อ 28) แต่พระเยซูทรงต้องการทราบสิ่งที่พวกเขาเชื่อ “ฝ่ายพวกท่านเล่าว่าเราเป็นใคร” เปโตรตอบถูกว่า “พระองค์ทรงเป็นพระคริสต์” (ข้อ 29) พระผู้ช่วยให้รอด

แต่เราล่ะจะบอกว่าพระเยซูคือใคร พระเยซูไม่สามารถเป็นครูหรือผู้เผยพระวจนะที่ดีได้ถ้าสิ่งที่พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองว่าพระองค์กับพระบิดา (พระเจ้า) เป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” (ยน.10:30) ไม่เป็นความจริง ผู้ติดตามพระองค์หรือแม้แต่ผีร้ายยังประกาศความเป็นพระเจ้าของพระองค์ว่าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า (มธ.8:29; 16:16; 1 ยน.5:20) ในวันนี้ ให้เราประกาศถ้อยคำที่บอกว่าพระคริสต์คือใครขณะที่พระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นแก่เรา

วิญญาณที่ยอมรับการสอน

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่การโจมตีความคิดเห็นของผู้อื่นรวมไปถึงตัวบุคคลที่แสดงความคิดเห็นได้กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ไปแล้ว สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นในแวดวงวิชาการด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงตกใจเมื่อนักวิชาการและนักศาสนศาสตร์ ริชาร์ด บี.เฮส์ เขียนบทความโต้แย้งอย่างรุนแรงต่องานเขียนของตัวเองเมื่อหลายปีก่อน! ในหนังสือ อ่านด้วยความเข้าใจพระวจนะอันน้อยนิด เฮส์แสดงออกถึงความถ่อมใจอย่างยิ่งเมื่อเขาแก้ไขความคิดของตนในอดีต ซึ่งตอนนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนโดยความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในบทนำของพระธรรมสุภาษิต กษัตริย์ซาโลมอนได้เขียนเจตจำนงต่างๆ ของถ้อยคำแห่งปัญญาที่รวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ แต่ท่ามกลางวัตถุประสงค์เหล่านั้น พระองค์ได้แทรกคำท้าทายว่า “ทั้งปราชญ์จะได้ยินและเพิ่มพูนการเรียนรู้ และคนที่มีความเข้าใจจะได้ความช่ำชอง” (สภษ.1:5) เช่นเดียวกับที่อัครทูตเปาโลได้กล่าวอ้างว่า แม้ท่านจะติดตามพระคริสต์มาหลายสิบปีแล้ว แต่ท่านก็ยังคงต้องการจะรู้จักพระเยซู (ฟป.3:10) ซาโลมอนกระตุ้นปราชญ์ให้รับฟัง เรียนรู้ และเติบโตต่อไป

ไม่มีใครเคยบาดเจ็บจากการมีวิญญาณที่ยอมรับการสอน ขณะเราแสวงหาที่จะเติบโตและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของความเชื่อ (และเรื่องต่างๆในชีวิต) ต่อไป จงยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์นำเราไปสู่ความจริง (ยน.16:13) เพื่อเราจะเข้าใจถึงความมหัศจรรย์ของพระเจ้าผู้ประเสริฐและยิ่งใหญ่ของเราได้ดีขึ้น

เสรีภาพที่แท้จริง

ขณะอ่านหนังสือบนรถไฟ เหม่ยหลิงยุ่งอยู่กับการขีดเน้นข้อความและจดบันทึกบนขอบหนังสือของเธอ แต่บทสนทนาของแม่ลูกที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ทำให้เธอต้องหยุดชะงักผู้เป็นแม่กำลังสั่งสอนลูกที่ไปขีดเขียนหนังสือจากห้องสมุด เหม่ยหลิงรีบเก็บปากกาเพราะไม่อยากให้เด็กน้อยเมินคำพูดของแม่เพราะเลียนแบบเธอ เธอรู้ว่าเด็กไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างการทำความเสียหายให้กับหนังสือที่ยืมมากับการจดบันทึกในหนังสือของตัวเอง

การกระทำของเหม่ยหลิงทำให้ฉันนึกถึงข้อความหนุนใจของอัครทูตเปาโลใน 1 โครินธ์ 10:23-24 “เราทำสิ่งสารพัดได้ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะทำได้นั้นเป็นประโยชน์ เราทำสิ่งสารพัดได้ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะทำให้เจริญขึ้น อย่าให้ผู้ใดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น”

ผู้เชื่อพระเยซูในคริสตจักรเกิดใหม่ที่เมืองโครินธ์มองเสรีภาพของพวกเขาในพระคริสต์ว่าเป็นโอกาสในการทำตามความต้องการส่วนตัว แต่เปาโลเขียนว่า พวกเขาควรจะมองว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้ทำประโยชน์และเสริมสร้างผู้อื่น ท่านสอนพวกเขาว่าเสรีภาพที่แท้จริงไม่ใช่สิทธิ์ในการทำตามความปรารถนาของตน แต่เป็นเสรีภาพที่จะทำในสิ่งที่พวกเขาควรทำเพื่อพระเจ้า

เราเดินตามรอยพระบาทพระเยซู เมื่อเราเลือกใช้เสรีภาพของเราในการสร้างผู้อื่นขึ้นแทนที่จะรับใช้ตัวเอง

ดูแลซึ่งกันและกัน

โฮเซ่เป็นครูสอนแทนวัย 77 ปีที่อาศัยอยู่ในรถเป็นเวลากว่าแปดปี ทุกคืนชายชราจะซุกตัวนอนในรถฟอร์ดทันเดอร์เบิร์ดแอลเอ็กซ์ปี 1997 ของเขา คอยตรวจสอบแบตเตอรี่รถยนต์อย่างระมัดระวังขณะที่ใช้จ่ายไฟให้กับคอมพิวเตอร์เมื่อทำงานในช่วงค่ำ แทนที่จะแบ่งเงินเป็นค่าเช่าบ้าน โฮเซ่กลับส่งไปให้สมาชิกครอบครัวหลายคนในประเทศเม็กซิโกที่มีความจำเป็นมากกว่า ทุกเช้าศิษย์เก่าคนหนึ่งของเขาจะเห็นโฮเซ่คุ้ยหาของในกระโปรงหลังรถ “ผมแค่รู้สึกว่าต้องทำบางอย่างในเรื่องนี้” ชายคนนี้กล่าว เขาจึงเปิดระดมทุนและหลายอาทิตย์ต่อมาก็ได้มอบเช็คแก่โฮเซ่เพื่อช่วยเขาจ่ายค่าที่พัก

แม้พระคัมภีร์จะบอกอยู่บ่อยครั้งให้เราดูแลซึ่งกันและกัน แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะมองข้ามความกังวลของเราเอง ผู้เผยพระวจนะเศคาริยาห์ตำหนิชาวอิสราเอลที่แทนที่จะนมัสการพระเจ้าและรับใช้ผู้อื่น พวกเขากลับ “รับประทานเพื่อตัว[เขา]เอง” (ศคย.7:6) พวกเขาไม่สนใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและเพิกเฉยต่อความต้องการของเพื่อนบ้าน เศคาริยาห์อธิบายพระบัญชาของพระเจ้าอย่างชัดเจนว่า พวกเขาต้อง “พิพากษาตามความจริง จงแสดงความกรุณาและความปรานีต่อพี่น้องของตน [และ] อย่าบีบบังคับหญิงม่าย ลูกกำพร้าพ่อ คนต่างด้าวหรือคนยากจน” (ข้อ 9-10)

แม้เป็นเรื่องง่ายที่เราจะหมกมุ่นอยู่กับความต้องการของตัวเอง แต่ความสัตย์ซื่อเรียกร้องให้เราใส่ใจต่อความต้องการของผู้อื่นด้วย ในคลังทรัพย์ของพระเจ้ามีมากเพียงพอสำหรับทุกคน และด้วยพระกรุณาของพระเจ้า พระองค์ทรงเลือกใช้เราเป็นผู้มอบบางส่วนจากคลังทรัพย์อันรุ่งเรืองนี้แก่ผู้อื่น

ทีมในฝัน

เมลานีและเทรเวอร์ เป็นเพื่อนร่วมเดินเท้าตะลุยเส้นทางบนภูเขาหลายกิโลเมตร ซึ่งคนใดคนหนึ่งจะทำเช่นนั้นไม่ได้เลยถ้าขาดอีกคน เมลานีต้องนั่งรถเข็นเพราะมีความผิดปกติที่กระดูกสันหลังตั้งแต่เกิด เทรเวอร์ตาบอดเนื่องจากต้อหิน ทั้งคู่ตระหนักว่าพวกเขาเป็นส่วนที่เติมเต็มกันและกันอย่างสมบูรณ์ในการเพลิดเพลินกับผืนป่าโคโลราโด ขณะที่เดินไปตามเส้นทาง เทรเวอร์แบกเมลานีไว้บนหลังโดยเธอเป็นคนบอกทางให้เขา พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ทีมในฝัน”

เปาโลบรรยายถึงผู้เชื่อในพระเยซูว่าเป็นพระกายของพระคริสต์ ซึ่งคล้ายกับลักษณะของ “ทีมในฝัน” ท่านเตือนชาวโรมให้ตระหนักว่าของประทานส่วนตัวของพวกเขาเป็นประโยชน์แก่กลุ่มคนที่ใหญ่กว่า เช่นเดียวกับที่ร่างกายคนเราแบ่งเป็นหลายส่วนและทำหน้าที่แตกต่างกัน เมื่อรวมกันเราก็ “เป็นกาย[ฝ่ายวิญญาณ]อันเดียว” และของประทานของเรามีไว้รับใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่คริสตจักร (รม.12:5) ไม่ว่าจะเป็นการถวาย การหนุนใจ การสอน หรือของประทานฝ่ายวิญญาณอื่นใดอีกก็ตาม เปาโลกำชับให้เรามองตัวเองและของประทานของเราว่าเป็นของส่วนรวม (ข้อ 5-8)

เมลานีและเทรเวอร์ไม่ได้จดจ่อในสิ่งที่พวกเขาขาด และไม่ได้ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนมีเมื่อเทียบกับอีกคน แต่พวกเขาใช้ “ของประทาน” ของตนเพื่อช่วยเหลืออีกฝ่ายด้วยความยินดี โดยตระหนักว่าพวกเขาทั้งคู่ทำได้ดีขึ้นมากเพียงใดเมื่อร่วมมือกัน ขอให้เราเต็มใจนำของประทานจากพระเจ้ามารับใช้ร่วมกับของประทานของเพื่อนผู้เชื่อ เพื่อถวายเกียรติแด่พระคริสต์

อาหารที่บอกว่าฉันรักคุณ

ฉันไปร่วมงานรวมญาติฉลองวันเกิดของครอบครัวหนึ่งซึ่งเจ้าภาพใช้หัวข้อ “ของโปรด” ในการตกแต่งสถานที่ เตรียมของขวัญ และที่ยอดเยี่ยมที่สุดคืออาหาร เพราะเด็กหญิงเจ้าของวันเกิดชอบทานสเต๊ก สลัด และบันด์เค้กไวท์ช็อคโกแลตกับราสเบอร์รี่ เจ้าภาพจึงย่างสเต๊ก ทำผักโขมปั่น และสั่งเค้กของโปรด ซึ่งอาหารโปรดเหล่านี้เป็นการบอกว่า “ฉันรักเธอ”

พระคัมภีร์บันทึกถึงงานเลี้ยง งานฉลอง และงานเทศกาลหลายครั้ง มีการเชื่อมโยงการรับประทานอาหารเข้ากับการเฉลิมฉลองความสัตย์ซื่อของพระเจ้า เทศกาลเลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการด้วยเครื่องบูชาที่ชาวอิสราเอลถือปฏิบัติ (ดู กดว.28:11-31) ทั้งในเทศกาลปัสกา เทศกาลสัปดาห์ และเทศกาลขึ้นหนึ่งค่ำซึ่งจัดขึ้นทุกเดือน และในสดุดี 23:5 พระเจ้าทรงเตรียมสำรับอาหารอันอุดมและถ้วยซึ่งเต็มล้นด้วยพระเมตตาและความรัก บางทีการจับคู่อาหารและเหล้าองุ่นที่หรูหราที่สุดที่เคยมี คือตอนที่พระเยซูทรงหักขนมปังและชูถ้วยน้ำองุ่น ซึ่งเล็งถึงของประทานแห่งความรอดจากการสิ้นพระชนม์บนกางเขนของพระองค์ จากนั้นพระองค์ทรงท้าทายเราว่า “จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา” (ลก.22:19)

ในวันนี้เมื่อคุณรับประทานอาหาร ให้ใช้เวลาสักครู่เพื่อคิดถึงพระเจ้าผู้ทรงสร้างทั้งปากและท้องและจัดเตรียมอาหารแก่คุณ ซึ่งเป็นดั่งภาษาแห่งความรักของพระองค์ เพื่อเฉลิมฉลองถึงความสัตย์ซื่อของพระองค์ พระเจ้าของเราทรงเลี้ยงดูเราอย่างสัตย์ซื่อ ทรงตอบสนองความต้องการอันยิ่งใหญ่ของเราด้วยการจัดเตรียมอันสมบูรณ์แบบของพระองค์ เพื่อบอกว่า “เรารักเจ้า”

เร่งรีบและรอคอย

“เราจะใช้เวลาว่างทั้งหมดของเราทำอะไร” ความคิดนี้คือใจความหลักของบทความที่ตีพิมพ์ในปี 1930 โดยนักเศรษฐศาสตร์ จอห์นเมย์นาร์ด เคนส์ เขาเขียนในบทความว่า ภายในเวลาหนึ่งร้อยปี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจจะทำให้มนุษย์มาถึงจุดที่เราจะทำงานเพียงสามชั่วโมงต่อวันและ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ผ่านไปกว่า 90 ปีแล้วนับจากที่เคนส์เผยแพร่บทความอันโด่งดังของเขา แต่แทนที่เทคโนโลยีจะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้นกลับทำให้เรายุ่งกว่าเดิม มีสิ่งที่ต้องทำทั้งวัน แม้สิ่งที่ต้องทำทุกวันอย่างการเดินทางและการเตรียมอาหารจะใช้เวลาน้อยลง แต่เราก็ยังคงเร่งรีบ

หนึ่งในเหตุการณ์ประทับใจจากชีวิตของดาวิดแสดงให้เราเห็นถึงวิธีการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคงท่ามกลางความเร่งรีบของชีวิต เมื่อดาวิดหลบหนีกษัตริย์ซาอูล [ที่พยายามจะประหารท่าน]ท่านทูลถามพระราชาเมืองโมอับว่า “ขอโปรดให้บิดามารดาของข้าพเจ้ามาอยู่กับพระองค์เถิด จนกว่าข้าพเจ้าจะทราบว่าพระเจ้าจะทรงกระทำประการใดเพื่อข้าพเจ้า” (1 ซมอ.22:3) ดาวิดมีสิ่งที่ต้องทำมากมาย ท่านพยายามหลีกหนีการไล่ล่าเอาชีวิตของซาอูลทั้งยังต้องดูแลครอบครัวด้วย แต่กระนั้นในความเร่งรีบ ท่านยังใช้เวลาเพื่อรอคอยพระเจ้า

เมื่อย่างก้าวอันเร่งรีบของชีวิตท่วมท้นอยู่เหนือเรา เราสามารถวางใจในพระองค์ผู้ทรงรักษาเราไว้ในศานติภาพอันสมบูรณ์ (อสย.26:3) ถ้อยคำของดาวิดสรุปเรื่องนี้ได้อย่างดีว่า “จงเข้มแข็ง และให้จิตใจของท่านกล้าหาญเถิด เออ จงรอคอยพระเจ้า” (สดด.27:14)

คุณทำได้!

การให้กำลังใจก็เหมือนกับออกซิเจน ที่หากขาดไปชีวิตเราก็อยู่ไม่ได้ นี่เป็นความจริงสำหรับเจมส์ ซาเวจวัยเก้าขวบ เด็กชายว่ายน้ำเป็นระยะทางมากกว่าสามกิโลเมตรไปและกลับจากชายฝั่งซานฟรานซิสโกกับเกาะอัลคาทราซ โดยทำลายสถิติบุคคลอายุน้อยที่สุดที่ทำสำเร็จ ขณะว่ายไปได้ 30 นาที กระแสคลื่นเย็นยะเยือกทำให้เจมส์อยากจะเลิก แต่เพราะเสียงตะโกนจากกลุ่มนักพายเรือที่ร้องว่า “เธอทำได้!” มอบกำลังใจให้เขาทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ 

เมื่อกระแสคลื่นเย็นยะเยือกแห่งความทุกข์ลำบากทำให้ผู้เชื่อในพระเยซูอยากจะยอมแพ้ เปาโลและบารนาบัสหนุนใจให้พวกเขาเดินทางต่อไป หลังจากอัครทูตทั้งสองเทศนาข่าวประเสริฐในเมืองเดอร์บี พวกท่าน “กลับไปยังเมืองลิสตรา เมืองอิโคนียูม และเมืองอันทิโอก กระทำให้ใจของสาวกทั้งหลายถือมั่นขึ้น เตือนเขาให้ดำรงอยู่ในพระศาสนา” (กจ.14:21-22) พวกท่านช่วยให้ผู้เชื่อยึดมั่นความเชื่อในพระเยซู ปัญหาต่างๆทำให้พวกเขาอ่อนกำลัง แต่ถ้อยคำหนุนใจเสริมกำลังแก่ความตั้งใจของพวกเขาที่จะมีชีวิตเพื่อพระคริสต์ โดยกำลังจากพระเจ้า พวกเขาตระหนักว่าตนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ท้ายที่สุดเปาโลและบารนาบัสช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขา “จำต้องทนความยากลำบากมาก จึงจะได้เข้าในแผ่นดินของพระเจ้า” (ข้อ 22)

การดำเนินชีวิตเพื่อพระเยซูอาจยากลำบากและบางครั้งเราอาจถูกทดลองให้ยอมแพ้ กระนั้นพระเยซูและเพื่อนผู้เชื่อในพระองค์สามารถมอบคำหนุนใจที่เราต้องการเพื่อจะก้าวต่อไป ในพระองค์เราทำได้!

ปัญญาและความเข้าใจ

ในปี 1373 ตอนที่จูเลียนแห่งนอริชอายุสามสิบปี เธอล้มป่วยและเกือบเสียชีวิต เมื่อผู้รับใช้พระเจ้าอธิษฐานเผื่อเธอ เธอได้เห็นนิมิตหลายอย่างซึ่งเธอคิดว่าเกี่ยวกับการถูกตรึงกางเขนของพระเยซู หลังจากที่สุขภาพของเธอฟื้นฟูขึ้นอย่างอัศจรรย์ เธอใช้ชีวิตอีกยี่สิบปีต่อมาอย่างสันโดษภายในห้องข้างอาคารโบสถ์ เฝ้าอธิษฐานและครุ่นคิดถึงประสบการณ์ที่ได้รับ เธอสรุปว่า “ความรักคือสิ่งที่พระองค์ต้องการบอก” นั่นก็คือการวายพระชนม์ของพระคริสต์คือการสำแดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเจ้า

นิมิตของจูเลียนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย แต่สิ่งที่ผู้คนมักมองข้ามคือเวลาและความพยายามที่เธอใช้อธิษฐานเพื่อแสวงหาสิ่งที่พระเจ้าต้องการเปิดเผยแก่เธอ เธอใช้เวลาสองทศวรรษค้นหาความหมายของประสบการณ์ที่พระเจ้าทรงปรากฏแก่เธอ โดยทูลขอปัญญาและความช่วยเหลือจากพระองค์

เช่นเดียวกับที่ทรงกระทำแก่จูเลียน พระเจ้าก็ได้ทรงสำแดงพระองค์ด้วยพระกรุณาแก่ประชากรของพระองค์ เช่นผ่านถ้อยคำในพระคัมภีร์ ผ่านพระสุรเสียงสงบแผ่วเบาของพระองค์ ผ่านท่วงทำนองเพลงนมัสการ หรือแม้กระทั่งการรับรู้ถึงการทรงสถิตของพระองค์ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น เราสามารถแสวงหาปัญญาและความช่วยเหลือจากพระองค์ ปัญญานี้คือสิ่งที่กษัตริย์ซาโลมอนกำชับให้บุตรชายของพระองค์แสวงหา โดยบอกว่าเขาควรกระทำหูให้ผึ่งเพื่อรับปัญญาและเอียงใจเข้าหาความเข้าใจ (สภษ.2:2) แล้วเขาจะ “พบความรู้ของพระเจ้า” (ข้อ 5)

พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะประทานความรอบรู้และความเข้าใจแก่เรา เมื่อเราเติบโตขึ้นในความรู้อันลึกซึ้งถึงพระลักษณะและวิถีทางของพระองค์ เราก็จะถวายเกียรติและเข้าใจพระองค์มากยิ่งขึ้น

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา