Month: มิถุนายน 2022

การเคลื่อนของพระเจ้า

ฉันชอบเกมต่อคำศัพท์ซึ่งเป็นเกมที่ดี ครั้งหนึ่งหลังจบเกมเพื่อนได้ตั้งชื่อการเล่นตามชื่อของฉันว่า “คาทาร่า” ฉันมีคะแนนตามมาตลอด แต่ในช่วงท้ายของเกม ฉันลงคำศัพท์ด้วยอักษรเจ็ดตัวโดยไม่มีตัวอักษรเหลือในถุงเลย นี่หมายความว่าเกมจบลงและฉันได้โบนัสห้าสิบคะแนนรวมทั้งคะแนนทั้งหมดจากตัวอักษรที่เหลือของคู่ต่อสู้ทุกคน ซึ่งทำให้ฉันขยับขึ้นเป็นที่หนึ่งจากที่โหล่ เวลานี้เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเล่นเกมและบางคนมีคะแนนตามอยู่ พวกเขาจะนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและหวังว่าจะได้ “คาทาร่า”

การระลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมีพลังที่จะยกระดับจิตวิญญาณและให้ความหวังแก่เรา และนั่นคือสิ่งที่คนอิสราเอลทำเมื่อฉลองปัสกา เทศกาลปัสกาเป็นการระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทำเพื่อคนอิสราเอลครั้งอยู่ในอียิปต์ พวกเขาถูกฟาโรห์และคนของพระองค์ร่วมกันกดขี่ (อพย.1:6-14) เมื่อพวกเขาร้องทูล พระเจ้าทรงช่วยกู้ด้วยวิธีที่ยิ่งใหญ่ คือทรงให้พวกเขาทาเลือดบนวงกบประตูเพื่อที่ทูตแห่งความตายจะ “ผ่านเว้น” บุตรหัวปีและสัตว์หัวปีของพวกเขา (12:12-13) แล้วพวกเขาจะรอดจากความตาย

หลายศตวรรษต่อมาผู้เชื่อในพระเยซูรับพิธีมหาสนิทเป็นการระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์บนกางเขน โดยทรงจัดเตรียมสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อรับการช่วยกู้จากบาปและความตาย (1 คร.11:23-26) การระลึกถึงราชกิจแห่งความรักของพระเจ้าในอดีตทำให้เรามีความหวังในวันนี้

สนทนาเรื่องความเชื่อที่บ้าน

“ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน” คำพูดที่น่าจดจำซึ่งโดโรธีพูดไว้ในเรื่องพ่อมดแห่งออซนี้เปิดเผยให้เห็นกลไกการเล่าเรื่องที่จะพบในเรื่องอมตะส่วนใหญ่ที่ให้ความรู้สึกอันท่วมท้น นับจากสตาร์วอร์ไปจนถึงเดอะไลอ้อนคิง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “การเดินทางของฮีโร่” อธิบายสั้นๆคือ เป็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างธรรมดาเมื่อเกิดมีการผจญภัยที่ไม่ธรรมดาขึ้น ตัวละครออกจากบ้านและเดินทางไปยังโลกอื่นซึ่งมีการทดสอบและการทดลองรออยู่ อีกทั้งมีที่ปรึกษาคอยชี้แนะและเหล่าวายร้าย หากเขาหรือเธอผ่านการทดสอบและพิสูจน์ให้เห็นถึงความกล้าหาญ ฉากสุดท้ายก็จะเป็นการกลับบ้านพร้อมเรื่องราวที่จะบอกเล่าและสติปัญญาที่ได้รับ ฉากสุดท้ายนี้สำคัญมาก

เรื่องราวของชายที่ถูกผีสิงนั้นเทียบได้กับการเดินทางของฮีโร่ น่าสนใจที่ในฉากสุดท้ายชายคนนั้นอ้อนวอนพระเยซูให้เขา “ติดตามพระองค์ไป” (มก.5:18) แต่พระเยซูตรัสกับเขาว่า “จงไปหาพวกพ้องของเจ้าที่บ้าน” (ข้อ 19) นี่คือสิ่งสำคัญในการเดินทางของชายคนนี้ ที่จะกลับบ้านไปหาคนที่รู้จักเขาดีที่สุดและเล่าเรื่องราวอันอัศจรรย์ของตนให้พวกเขาฟัง

พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนด้วยวิธีที่แตกต่างและในสถานการณ์ที่ต่างกัน แต่สำหรับเราบางคน นี่อาจเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดสำหรับเส้นทางแห่งความเชื่อของเราที่จะต้องกลับบ้านและบอกเล่าเรื่องราวของเราให้กับคนที่รู้จักเราดีที่สุด และสำหรับเราบางคน การทรงเรียกนี้คือ “ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน”

เวลาพอ

เมื่อฉันเห็นหนังสือสงครามและสันติภาพเล่มโตของลีโอ ตอลสตอยบนชั้นหนังสือของเพื่อน ฉันสารภาพว่า “ฉันไม่เคยอ่านมันจบเลยจริงๆ” มาร์ตี้หัวเราะเบาๆ “อืม...ตอนที่เกษียณจากงานสอน ผมได้รับเป็นของขวัญจากเพื่อนที่บอกว่า ‘ตอนนี้คุณก็จะมีเวลาอ่านมันแล้ว’ ”

ในแปดข้อแรกของปัญญาจารย์บทที่ 3 กล่าวถึงวาระตามธรรมชาติของกิจกรรมชีวิตกับทางเลือกที่ไร้กฎเกณฑ์ ไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงชีวิตใด มักเป็นเรื่องยากที่จะหาเวลาทำทุกอย่างที่อยากทำ และที่จะตัดสินใจอย่างฉลาดในเรื่องการบริหารเวลาของเรา การวางแผนจะช่วยได้มาก (สดด.90:12)

เวลาที่ใช้กับพระเจ้าในแต่ละวันเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับสุขภาพฝ่ายวิญญาณ การทำงานให้เกิดผลนั้นเป็นที่น่าพอใจต่อวิญญาณของเรา (ปญจ.3:13) การรับใช้พระเจ้าและช่วยเหลือผู้อื่นนั่นเป็นสิ่งสำคัญเพื่อจะบรรลุพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเรา (อฟ.2:10) และเวลาของการพักผ่อนหรือยามที่ว่างจากงานนั้นไม่สูญเปล่าแต่ทำให้ร่างกายและจิตวิญญาณสดชื่น

แน่นอนว่าเป็นเรื่องง่ายที่เราจะจดจ่ออยู่กับปัจจุบันมากเกินไป โดยการหาเวลาเพื่อทำสิ่งที่มีความหมายที่สุดสำหรับเรา แต่ปัญญาจารย์ 3:11 กล่าวว่าพระเจ้าทรง “บรรจุนิรันดร์กาล” ไว้ในใจเรา เพื่อเตือนเราที่จะให้ความสำคัญลำดับแรกกับสิ่งที่เป็นนิรันดร์ การทำเช่นนั้นจะทำให้เราได้พบกับสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด นั่นคือมุมมองแห่งนิรันดร์กาลของพระเจ้าที่มีมา “ตั้งแต่เดิมจนกาลสุดปลาย”

ปฏิเสธการแก้ตัว

ตำรวจในเมืองแอตแลนต้าถามคนขับว่าเธอรู้สาเหตุที่เขาเรียกให้หยุดรถไหม เธอตอบอย่าง งงๆว่า “ไม่รู้เลย!” เจ้าหน้าที่บอกเธออย่างสุภาพ “คุณผู้หญิง คุณส่งข้อความขณะขับรถ” “ไม่นะ!” เธอท้วงโดยชูโทรศัพท์มือถือเป็นหลักฐาน “มันคืออีเมล”

การใช้มือถือเพื่อส่งอีเมลไม่ได้ทำให้เราใช้ช่องโหว่จากกฎหมายห้ามส่งข้อความขณะขับรถได้! ประเด็นของกฎหมายไม่ใช่เพื่อป้องกันการส่งข้อความ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เสียสมาธิในการขับรถ

พระเยซูกล่าวโทษผู้นำศาสนาในสมัยของพระองค์ว่าได้สร้างช่องโหว่ที่เลวร้ายยิ่งกว่า “เหมาะจริงนะ ที่เจ้าทั้งหลายได้ละทิ้งธรรมบัญญัติของพระเจ้า” ทรงยกธรรมบัญญัติว่า “จงให้เกียรติบิดามารดาของเจ้า” เป็นข้อพิสูจน์ (มก.7:9-10) ภายใต้เสื้อคลุมแห่งความหน้าซื่อใจคดของการอุทิศตนทางศาสนา ผู้นำที่ร่ำรวยเหล่านี้ละเลยครอบครัวของตน โดยประกาศง่ายๆว่าเงินของพวกเขาเป็น “ของถวายแด่พระเจ้า” และนั่นจึงไม่จำเป็นต้องช่วยบิดามารดาในวัยชรา พระเยซูเข้าใจต้นเหตุของปัญหาในทันที ทรงตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายทำให้พระวจนะของพระเจ้าเป็นหมันไป ด้วยคำสอนที่พวกเจ้ารับมาจากบรรพบุรุษ” (ข้อ 13) พวกเขาไม่ได้ให้เกียรติพระเจ้าด้วยการที่ไม่ให้เกียรติบิดามารดาของตน

การแก้ตัวอาจเป็นเรื่องที่ดูออกได้ยาก เราใช้คำแก้ตัวนี้เพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบ อธิบายให้ตัวเราพ้นจากพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวและปฏิเสธพระบัญชาโดยตรง หากนั่นอธิบายพฤติกรรมของเรา แสดงว่าเรากำลังหลอกตัวเอง พระเยซูให้โอกาสเราเปลี่ยนแนวโน้มที่เห็นแก่ตัวเพื่อรับการทรงนำจากพระวิญญาณผู้อยู่เบื้องหลังคำสอนที่ดีของพระบิดา

ความเอื้อเฟื้อและความยินดี

นักวิจัยบอกว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างความเอื้อเฟื้อกับความยินดี ผู้ที่ให้เงินและเวลากับผู้อื่นจะมีความสุขมากกว่าผู้ที่ไม่ให้ ซึ่งทำให้นักจิตวิทยาคนหนึ่งสรุปว่า “ให้เราเลิกคิดว่าการให้เป็นหน้าที่ทางศีลธรรม แล้วเริ่มคิดว่ามันเป็นบ่อเกิดของความสุข”

ในขณะที่การให้ทำให้เรามีความสุข ผมมีคำถามว่าความสุขควรเป็นเป้าหมายในการให้ของเราไหม ถ้าเราเอื้อเฟื้อแค่กับคนหรือเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกดี แล้วความต้องการในฝ่ายโลกหรือที่ยากกว่านั้นที่ต้องให้เราช่วยเหลือล่ะ

พระคัมภีร์เชื่อมโยงความเอื้อเฟื้อกับความยินดีไว้เช่นกัน แต่บนพื้นฐานที่ต่างออกไป เมื่อกษัตริย์ดาวิดมอบทรัพย์สินของพระองค์เพื่อสร้างพระนิเวศแล้ว ก็ได้เชิญชวนคนอิสราเอลให้ถวายด้วย (1 พศด.29:1-5) ผู้คนตอบรับด้วยใจเอื้อเฟื้อโดยให้ทองคำ เงินและเพชรพลอยด้วยความยินดี (ข้อ 6-8) แต่ให้สังเกตเรื่องที่ทำให้พวกเขายินดี “แล้วประชาชนก็เปรมปรีดิ์ เพราะเขาถวายสิ่งเหล่านี้ตามความสมัครใจของเขา เพราะเขาถวายด้วยความจริงใจแด่พระเจ้า” (ข้อ 9) พระคัมภีร์ไม่เคยบอกให้เราให้เพื่อเราจะมีความสุข แต่ที่เราจะให้ด้วยความสมัครใจและด้วยสุดใจเพื่อตอบสนองตามความต้องการที่มี แล้วความยินดีจึงมักจะตามมา

บรรดามิชชันนารีรู้ดีว่าการหาทุนเพื่อการประกาศนั้นทำได้ง่ายกว่าเพื่องานบริหารจัดการ เพราะผู้เชื่อในพระเยซูชอบความรู้สึกของการให้ทุนกับงานภาคสนาม ให้เราเอื้อเฟื้อต่อความต้องการในด้านอื่นๆด้วย เพราะในที่สุดแล้วพระเยซูทรงสละพระองค์อย่างเต็มใจเพื่อตอบสนองความต้องการของเรา (2 คร.8:9)

พระเยซูอยู่ที่นี่

ป้าทวดของฉันนอนบนเตียงคนป่วยด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ผมสีดอกเลาของท่านถูกปัดออกจากใบหน้าและแก้มเต็มไปด้วยรอยเหี่ยวย่น ท่านพูดไม่มากนัก แต่ฉันยังจำคำที่ท่านพูดเมื่อพ่อ แม่และฉันไปเยี่ยมได้ ท่านกระซิบว่า “ฉันไม่เหงา พระเยซูอยู่ที่นี่กับฉัน”

ในฐานะผู้หญิงโสดในตอนนั้น ฉันรู้สึกพิศวงกับคำประกาศของป้า สามีท่านเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน และลูกๆก็อาศัยอยู่ห่างไกล ท่านอายุเกือบจะ 90 ปีแล้ว อยู่คนเดียวบนเตียง แทบขยับตัวไม่ได้ แต่ท่านยังพูดได้ว่าท่านไม่เหงา

ป้าของฉันรับเอาถ้อยคำของพระเยซูที่กล่าวกับเหล่าสาวกไว้อย่างแท้จริง อย่างที่เราทุกคนควรจะเป็น “นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป” (มธ. 28:20) ท่านรู้ว่าพระวิญญาณของพระคริสต์สถิตกับท่าน ตามที่พระองค์ทรงสัญญาเมื่อพระองค์บัญชาเหล่าสาวกให้ออกไปในโลกและแบ่งปันข่าวสารของพระองค์กับผู้อื่น (ข้อ 19) พระเยซูตรัสว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะ “สถิตอยู่กับ” เหล่าสาวกและเรา (ยน.14:16-17)

ฉันแน่ใจว่าป้ามีประสบการณ์กับความจริงในพระสัญญานั้น พระวิญญาณทรงสถิตอยู่ภายในขณะที่ท่านนอนอยู่บนเตียง และพระวิญญาณทรงใช้ท่านเพื่อแบ่งปันความจริงของพระองค์กับฉัน ผู้เป็นหลานสาวซึ่งจำเป็นต้องฟังถ้อยคำเหล่านั้นและจดจำไว้ในจิตใจ

ความเมตตาในความตรงไปตรงมา

“เพื่อนเอ๋ย บางครั้งคุณก็ดูเป็นคนดีเกินกว่าที่คุณเป็นจริงๆ”

คำพูดเหล่านั้นเปล่งออกมาพร้อมกับการมองจ้องตรงมาและรอยยิ้มที่อ่อนโยน หากนั่นมาจากคนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อนสนิทและพี่เลี้ยงผู้ซึ่งผมให้คุณค่าอย่างมากในจิตวินิจฉัยของเขา ความรู้สึกของผมคงถูกทำร้าย แต่ผมกลับสะดุ้งและหัวเราะไปพร้อมๆกันโดยรู้ว่าขณะที่คำพูดนั้น “เจ็บปวด” แต่เขาก็พูดถูก บางครั้งเมื่อผมพูดถึงความเชื่อของผม ผมก็ใช้ศัพท์เข้าใจยากที่ฟังดูไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าผมไม่จริงใจ เพื่อนของผมรักและพยายามช่วยให้ผมแบ่งปันสิ่งที่ผมเชื่ออย่างแท้จริงได้อย่างมีประสิทธิผลกับผู้อื่น เมื่อมองย้อนกลับไป ผมเห็นว่านี่เป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดที่ผมเคยได้รับ

“บาดแผลที่มิตรทำก็สุจริต” ซาโลมอนเขียนอย่างรอบรู้ “แต่การจุบของศัตรูนั้นมากเกินความจริง” (สภษ.27:6) ความเข้าใจลึกซึ้งของเพื่อนผมแสดงให้เห็นถึงความจริงของคำเตือนสตินั้น ผมรู้สึกขอบคุณที่เขาห่วงใยมากพอที่จะบอกสิ่งที่ผมจำเป็นต้องได้ยิน แม้เขารู้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะยอมรับ บางครั้งเมื่อมีคนบอกแต่ในสิ่งที่เขาคิดว่าคุณอยากได้ยิน นั่นไม่มีประโยชน์ เพราะมันอาจขัดขวางคุณไม่ให้เติบโตและพัฒนาไปในทางที่จำเป็นต่อชีวิต

ความตรงไปตรงมาอาจเป็นความเมตตาได้ เมื่อวัดจากความรักที่จริงใจและอ่อนน้อม ขอพระเจ้าประทานปัญญาแก่เราที่จะรับและถ่ายทอดได้อย่างเหมาะสม และสะท้อนถึงพระทัยที่ห่วงใยของพระองค์

มั่นใจในพระเจ้า

ผลการวิจัยผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรในปี 2018 พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว “พวกเขาดูมือถือทุกสิบสองนาทีขณะที่ตื่นอยู่” แต่พูดตามตรงแล้ว สถิตินี้ค่อนข้างจะเป็นจำนวนที่ต่ำเมื่อพิจารณาจากความถี่ที่ฉันค้นหาคำตอบในกูเกิ้ลหรือตอบกลับการแจ้งเตือนอย่างไม่รู้จบในโทรศัพท์ของฉันตลอดทั้งวัน พวกเราส่วนใหญ่ดูมือถือของเราไม่ว่างเว้น โดยมั่นใจว่ามันจะให้สิ่งที่เราต้องการเพื่อจัดระเบียบ รับทราบข้อมูล และเชื่อมต่อถึงกัน

ในฐานะผู้เชื่อพระเยซู เรามีทรัพยากรที่ดีกว่ามือถือแบบไม่มีขีดจำกัด พระเจ้าทรงรักและห่วงใยเราอย่างลึกซึ้งและปรารถนาให้เรามาหาพระองค์พร้อมความต้องการนั้น พระคัมภีร์กล่าวว่าเมื่อเราอธิษฐาน เรามั่นใจได้ว่า “ถ้าเราทูลขอสิ่งใดที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์ก็ทรงโปรดฟังเรา” (1 ยน.5:14) โดยการอ่านพระคัมภีร์และสะสมพระวจนะของพระเจ้าในใจ เราจะอธิษฐานได้อย่างมั่นใจในสิ่งที่เรารู้ว่าพระองค์ทรงปรารถนาที่จะให้เราอยู่แล้ว รวมถึงสันติสุข สติปัญญาและความเชื่อว่าพระองค์จะทรงประทานสิ่งที่เราต้องการ (ข้อ 15)

บางครั้งอาจดูเหมือนพระเจ้าไม่ทรงได้ยินเมื่อสถานการณ์ของเราไม่เปลี่ยน แต่เราสร้างความมั่นใจในพระเจ้าได้โดยหันไปหาพระองค์อย่างสม่ำเสมอเพื่อขอความช่วยเหลือในทุกกรณี (สดด.116:2) นี่จะทำให้เราเติบโตในความเชื่อ โดยไว้วางใจว่าถึงแม้เราอาจไม่ได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา แต่พระองค์สัญญาที่จะประทานสิ่งที่เราต้องการในเวลาอันดีเลิศของพระองค์

จดจ่อที่พระเจ้า

ตอนที่เลือกซื้อแหวนหมั้น ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงในการค้นหาเพชรที่ใช่ ผมถูกรบกวนด้วยความคิดที่ว่า ถ้าผมพลาดสิ่งดีที่สุดไปล่ะตามที่นักจิตวิทยาเศรษฐศาสตร์แบรี่ ชวาตซ์กล่าวไว้ ความลังเลเป็นประจำบ่งบอกว่าผมเป็นคนที่เขาเรียกว่า “สรรหาแต่สิ่งดีที่สุด” ซึ่งตรงกันข้ามกับ “คนที่เลือกความพอใจ” คนที่เลือกความพอใจจะตัดสินใจโดยพิจารณาเลือกสิ่งที่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนคนที่สรรหาแต่สิ่งดีที่สุดล่ะ คนเรามีความต้องการที่จะเลือกสิ่งดีที่สุดเสมอ (ผมก็ด้วย!) ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่ใจในการเผชิญกับทางเลือกมากมายคืออะไร คือความวิตกกังวล ซึมเศร้าและไม่พอใจ อันที่จริงนักสังคมวิทยาได้สร้างอีกวลีหนึ่งสำหรับปรากฏการณ์นี้ นั่นคือ กลัวที่จะพลาด

แน่นอนที่ในพระคัมภีร์เราจะไม่พบคำว่า คนที่สรรหาแต่สิ่งดีที่สุด หรือ คนที่เลือกความพอใจ แต่พบแนวคิดที่คล้ายกันใน 1 ทิโมธี เปาโลท้าทายทิโมธีให้ค้นหาคุณค่าในพระเจ้าแทนที่จะเป็นสิ่งของในโลกนี้ คำสัญญาของโลกในเรื่องการเติมเต็มจะไม่มีวันเกิดขึ้น เปาโลต้องการให้ทิโมธีหยั่งรากอัตลักษณ์ตัวตนของเขาในพระเจ้า “เราได้รับประโยชน์มากมายจากทางของพระเจ้า พร้อมทั้งความสุขใจ” (6:6) เปาโลดูเหมือนเป็นคนที่เลือกความพอใจเมื่อท่านเสริมว่า “แต่ถ้าเรามีอาหารและเสื้อผ้า ก็ให้เราพอใจด้วยของเหล่านั้นเถิด” (ข้อ 8)

เมื่อผมยึดติดอยู่กับหนทางมากมายที่โลกนี้สัญญาว่าจะเติมเต็มชีวิตเรา ผมมักจะจบลงด้วยความหงุดหงิดและไม่พึงใจ แต่เมื่อผมจดจ่อที่พระเจ้าและละทิ้งแรงกระตุ้นที่บังคับให้สรรหาแต่สิ่งที่ดีที่สุด จิตวิญญาณของผมก็เคลื่อนไปสู่ความพึงพอใจและการหยุดพักอย่างแท้จริง

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา