Month: มกราคม 2020

ชะลอเวลา

หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปหลังมีการประดิษฐ์นาฬิกาไฟฟ้าขึ้นในช่วงทศวรรษ 1840 ทุกวันนี้เราดูเวลาจากนาฬิกาอัจฉริยะ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์พกพา ทุกย่างก้าวชีวิตดูเหมือนจะเร็วขึ้น แม้แต่การเดิน “เล่น” ก็เร่งรีบขึ้น โดยเฉพาะชีวิตในเมืองซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ นักวิชาการกล่าวว่า “เราก็แค่เคลื่อนไหวเร็วขึ้นและเร็วขึ้น และตอบสนองต่อผู้คนให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้” ศาสตราจารย์ริชาร์ด ไวส์แมน ให้ข้อสังเกตว่า “นั่นทำให้เราคิดว่าทุกสิ่งต้องเกิดขึ้นทันที”

โมเสส ผู้เขียนสดุดีที่เก่าแก่ที่สุดบทหนึ่ง ใคร่ครวญถึงเวลา ท่านเตือนเราว่าพระเจ้าทรงควบคุมย่างก้าวของชีวิต “พันปีในสายพระเนตรของพระองค์ เป็นเหมือนวานนี้ซึ่งผ่านไปแล้ว หรือเหมือนยามเดียวในกลางคืน” (สดด.90:4)

ดังนั้น เคล็ดลับในการบริหารเวลาคือต้องไม่เร็วหรือช้าเกินไป คือการใกล้ชิดพระเจ้าและใช้เวลากับพระองค์มากขึ้น จากนั้นพวกเราจึงก้าวไปพร้อมกัน แต่ก่อนอื่นเราต้องก้าวไปพร้อมกับพระองค์ ผู้ทรงสร้างเรา (139:13) และทรงทราบวัตถุประสงค์และแผนการในชีวิตของเรา (ข้อ 16)

เวลาของเราในโลกไม่ยืนยาวตลอดไป แต่เราสามารถจัดการเวลาอย่างฉลาด ไม่ใช่โดยการมองนาฬิกา แต่โดยการมอบแต่ละวันไว้กับพระเจ้า เช่นที่โมเสสกล่าว “ขอพระองค์ทรงสอนให้นับวันของข้าพระองค์ เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจะมีจิตใจที่มีปัญญา” (90:12) โดยพระเจ้า เราจะทันเวลาเสมอตั้งแต่บัดนี้และตลอดไป

ทุกคนต้องการความเห็นใจ

ตอนที่เจฟเริ่มเชื่อพระเยซูและเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ได้ทำงานในบริษัทน้ำมันรายใหญ่ เขาเป็นพนักงานขายจึงต้องเดินทาง ทำให้เขาได้ฟังเรื่องราวของผู้คน มีหลายเรื่องราวที่น่าปวดใจ เขาตระหนักว่าสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับลูกค้าไม่ใช่น้ำมัน แต่เป็นความเห็นใจ พวกเขาต้องการพระเจ้า เจฟจึงเข้าเรียนในโรงเรียนพระคริสตธรรมเพื่อเรียนรู้จักพระทัยของพระเจ้ามากขึ้นและเป็นศิษยาภิบาลในที่สุด

ความเห็นใจของเจฟมาจากพระเยซู ใน มัทธิว 9:27-33 เราเห็นความสงสารของพระคริสต์เมื่อทรงรักษาชายตาบอดสองคนและคนที่มีผีสิงอย่างอัศจรรย์ ตลอดการทำพระราชกิจในโลก พระองค์ทรงประกาศข่าวประเสริฐและรักษาโรค “ตามนครและหมู่บ้านโดยรอบ” (ข้อ 35) เพราะ“เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชนก็ทรงสงสารเขา ด้วยเขาถูกรังควานและไร้ที่พึ่งดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง” (ข้อ 36)

โลกทุกวันนี้ยังเต็มไปด้วยปัญหาและผู้คนที่เจ็บปวดซึ่งต้องการการดูแลอย่างอ่อนโยนจากพระผู้ช่วยให้รอด เหมือนผู้เลี้ยงแกะที่นำหน้า ปกป้อง และดูแลแกะ พระเยซูทรงสำแดงพระเมตตาแก่ทุกคนที่มาหาพระองค์ (11:28) ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ใดหรือเผชิญกับสิ่งใดในชีวิต เราพบพระทัยที่เปี่ยมด้วยความอ่อนสุภาพและห่วงใยได้ในพระองค์ และเมื่อเรารับประโยชน์จากความรักเมตตาของพระเจ้าแล้ว เราจึงอยากเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่นด้วย

วิถีชีวิตที่สรรเสริญ

แม่ของวอลเลซ สเต็กเนอร์เสียชีวิตตอนอายุ 50 ปี เมื่อวอลเลซอายุ 80 ปีเขาจึงได้เขียน “จดหมายที่สายเกินไป” ถึงท่าน ซึ่งยกย่องคุณความดีของสตรีคนหนึ่งที่เติบโต แต่งงาน และเลี้ยงลูกชายสองคนในยุคเริ่มต้นของอเมริกาตะวันตกอันยากลำบาก ท่านเป็นภรรยาและแม่ผู้ให้กำลังใจ แม้กระทั่งกับคนที่ไม่มีใครต้องการ วอลเลซยังจดจำความเข้มแข็งของแม่ที่รับรู้ได้จากน้ำเสียงของท่าน เขาเขียนว่า “แม่ไม่เคยพลาดโอกาสร้องเพลง” แม่ของสเต็กเนอร์ร้องเพลงด้วยใจขอบพระคุณสำหรับพระพรทั้งน้อยใหญ่ตลอดชีวิตของท่าน

ผู้เขียนสดุดีฉวยโอกาสร้องเพลงเช่นกัน ท่านร้องเพลงทั้งในวันที่ดีและไม่ค่อยดี ไม่ใช่เพลงที่ถูกบังคับหรือข่มขู่ให้ร้อง แต่เป็นการตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติต่อ “ผู้ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” (146:6) และการที่พระองค์ “ประทานอาหารแก่คนที่หิว” (ข้อ 7) และ “ทรงเบิกตาของคนตาบอด” (ข้อ 8) และ “ทรงชูลูกกำพร้าพ่อและหญิงม่าย” (ข้อ 9) นี่เป็นวิถีชีวิตการขับร้องที่แท้จริง ซึ่งสร้างความแข็งแกร่งเหนือกาลเวลา ความวางใจในแต่ละวันอยู่ใน “พระเจ้าของยาโคบ” ผู้ “รักษาความสัตย์สุจริตไว้เป็นนิตย์” (ข้อ 5-6)

สิ่งสำคัญไม่ใช่คุณภาพเสียงของเรา แต่คือการตอบสนองของเราต่อความดีอันยั่งยืนของพระเจ้าด้วยการมีวิถีชีวิตที่สรรเสริญ เช่นที่บทเพลงนมัสการเก่าแก่บอกไว้ว่า “มีทำนองเพลงบรรเลงอยู่ภายใน”

ราชาเพียงผู้เดียว

ขณะที่เอลดอนวัยห้าขวบฟังศิษยาภิบาลพูดถึงการที่พระเยซูเสด็จจากสวรรค์มาในโลก เขาตกใจเมื่ออาจารย์อธิษฐานขอบคุณพระองค์ที่ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา “แย่จัง พระองค์ตายด้วยเหรอ” เขาร้องด้วยความแปลกใจ

มีคนอยากให้พระคริสต์ตายตั้งแต่ทรงเริ่มต้นชีวิตของพระองค์ในโลก โหราจารย์มาเยรูซา-เล็มในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรด สอบถามว่า “กุมารผู้ที่บังเกิดมาเป็นกษัตริย์ของชนชาติยิวนั้นอยู่ที่ไหน เราได้เห็นดาวของท่านปรากฏขึ้น เราจึงมาหวังจะนมัสการท่าน” (มธ.2:2) เมื่อเฮโรดได้ยินก็กลัวว่าวันหนึ่งจะต้องเสียบัลลังก์ให้แก่พระเยซู จึงส่งทหารไปฆ่าเด็กชายทุกคนที่อายุต่ำกว่าสองขวบทั่วเบธเลเฮม แต่พระเจ้าทรงปกป้องพระบุตรของพระองค์ และส่งทูตสวรรค์มาเตือนบิดามารดาของพระองค์ให้ออกจากบริเวณนั้น พวกเขาหนีไปและพระองค์ปลอดภัย (ข้อ 13-18)

เมื่อพระเยซูทำพระราชกิจเสร็จสิ้น ทรงถูกตรึงกางเขนเพราะความบาปของโลกนี้ ป้ายที่ติดบนกางเขนเขียนเพื่อเยาะเย้ยว่า “ผู้นี้คือเยซู กษัตริย์ของชนชาติยิว” (27:37) แต่สามวันต่อมาทรงฟื้นคืนพระชนม์มีชัยเหนือความตาย หลังจากเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์ประทับบนบัลลังก์ในฐานะกษัตริย์เหนือกษัตริย์และองค์พระผู้เป็นเจ้าเหนือพระทั้งปวง (ฟป.2:8-11)

องค์กษัตริย์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา ของคุณและฉัน และเอลดอน จงยอมให้พระองค์ครอบครองหัวใจของเรา

ที่นี่มีมังกรไหม

ตำนานเล่าว่า สุดขอบแผนที่ของยุคกลาง ซึ่งบอกขอบเขตของโลกเท่าที่ผู้วาดแผนที่รู้จักในเวลานั้น มีข้อความเขียนว่า “ที่นี่มีมังกร” ทั้งยังมีภาพวาดชัดเจนของสัตว์ร้ายน่ากลัวซึ่งคาดว่าคอยดักซุ่มอยู่ที่นั่น

มีหลักฐานไม่มากที่ยืนยันว่านักวาดแผนที่ยุคกลางเป็นผู้เขียนคำเหล่านี้ แต่ฉันคิดว่าพวกเขาอาจเขียนจริง เพราะฉันก็คงเขียนว่า “ที่นี่มีมังกร” เหมือนกันถ้าฉันอยู่ในยุคนั้น เพื่อเตือนให้ระวังถ้าเสี่ยงเข้าไปในที่ที่ไม่รู้จักแม้ฉันยังไม่รู้ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม แต่น่าจะไม่ค่อยดีเท่าไร

แต่มีปัญหาชัดเจนข้อหนึ่งคือฉันมักปกป้องตัวเองและหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ซึ่งตรงข้ามกับความกล้าหาญที่ฉันควรมีเมื่อได้รับการขนานนามว่าผู้เชื่อในพระเยซู (2 ทธ.1:7)

อาจมีคนบอกว่าฉันไม่รู้ว่าอะไรที่เป็นอันตรายจริงๆ เช่นที่เปาโลอธิบายว่า ในโลกที่แตกสลายนี้ บางครั้งการติดตามพระคริสต์อย่างกล้าหาญก็ต้องเจ็บปวด (ข้อ 8) แต่ในฐานะที่เราได้รับการช่วยให้พ้นจากความตายมาสู่ชีวิต และได้รับพระวิญญาณแห่งชีวิตผู้ทรงเคลื่อนไหวในเราและผ่านเรา (ข้อ 9-10,14) เราจะไม่ยอมรับความเจ็บปวดหรือ

เมื่อพระเจ้ามอบของประทานแก่เรา การถอยหนีด้วยความกลัวถือเป็นเรื่องเศร้าอย่างยิ่ง เลวร้ายกว่าการที่ต้องเผชิญสิ่งต่างๆ เมื่อเราติดตามการทรงนำของพระคริสต์ไปยังดินแดนที่ยังไม่มีในแผนที่เสียอีก (ข้อ 6-8,12) เราสามารถวางใจมอบหัวใจและอนาคตของเราให้พระองค์(ข้อ 12)

หอเอน

คุณคงเคยได้ยินเรื่องหอเอนอันโด่งดังที่เมืองปิซาในอิตาลี แต่คุณเคยได้ยินเรื่องหอเอนในซานฟรานซิสโกหรือไม่ คืออาคารมิลเลเนียมทาวเวอร์ สร้างขึ้นในปี 2008 เป็นตึกระฟ้าสูง 58 ชั้นตั้งตระหง่านแต่เอียงเล็กน้อยอยู่ใจกลางเมืองซานฟรานซิสโก

ปัญหาคือวิศวกรไม่ได้ขุดดินให้ลึกลงไปมากพอเพื่อวางฐานราก ตอนนี้พวกเขาจึงถูกบังคับให้เสริมฐานรากด้วยการซ่อมแซมที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าตอนที่เริ่มสร้างตึก เป็นการซ่อมที่หลายคนเชื่อว่าจำเป็นเพื่อป้องกันตึกถล่มจากแผ่นดินไหว

บทเรียนที่เจ็บปวดก็คือ รากฐานเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อรากฐานของคุณไม่มั่นคง หายนะก็เกิดขึ้นได้ พระเยซูทรงสอนบางสิ่งที่คล้ายกันนี้ในตอนท้ายคำเทศนาบนภูเขา ในมัทธิว 7:24-27 พระองค์เปรียบเทียบช่างก่อสร้างสองคน คนหนึ่งสร้างบนศิลา อีกคนหนึ่งสร้างบนทราย เมื่อพายุพัดมา มีเพียงบ้านที่มีรากฐานมั่นคงที่ยังตั้งอยู่ได้

สิ่งนี้มีความหมายอย่างไรต่อเรา พระเยซูตรัสอย่างชัดเจนว่าชีวิตของเราต้องสร้างขึ้นผ่านการเชื่อฟังและวางใจในพระองค์ (ข้อ 24) เมื่อเราพักพิงในพระองค์ ชีวิตของเราจะพบรากฐานอันมั่นคงผ่านฤทธานุภาพและพระคุณอันไม่สิ้นสุดของพระเจ้า

พระคริสต์ไม่ได้สัญญาว่าเราจะไม่เผชิญกับพายุ แต่ตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นศิลาของเรา พายุจะไม่สามารถพัดให้รากฐานปราการแห่งความเชื่อของเราในพระองค์ทะลายลงได้

หนึ่งร้อยปีจากนี้

ผมอยากเป็นที่จดจำไปอีกหนึ่งร้อยปีจากนี้” ร็อด เซอร์ลิง นักเขียนบทละครกล่าวในปี 1975 เขาเป็นผู้ผลิตละครชุดทางโทรทัศน์เรื่องแดนสนธยา เขาต้องการให้ผู้คนพูดถึงว่า “เขาเป็นนักเขียน” เราคงเข้าใจความปรารถนาของเซอร์ลิง ที่ต้องการทิ้งมรดกไว้ซึ่งทำให้ชีวิตของเรามีความหมายและยั่งยืน

โยบเป็นชายคนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อค้นหาความหมายจากเวลาแสนสั้นของชีวิต ในชั่วพริบตา ไม่เพียงทรัพย์สมบัติแต่สิ่งต่างๆที่มีค่าต่อท่านที่สุดคือลูกๆ ถูกเอาไปจากท่าน สหายของท่านยังกล่าวโทษว่าท่านสมควรได้รับชะตาเช่นนี้ โยบคร่ำครวญว่า “โอ ข้าอยากให้ถ้อยคำของข้าได้ถูกบันทึกไว้ โอ ข้าอยากให้จารึกไว้ในหนังสือ โอ ข้าอยากให้สลักไว้ในศิลาเป็นนิตย์ ด้วยปากกาเหล็กและตะกั่ว” (โยบ 19:23-24)

ถ้อยคำของโยบถูก “สลักไว้ในศิลาเป็นนิตย์” คือในพระคัมภีร์ แต่โยบต้องการให้ชีวิตมีความหมายมากกว่าการทิ้งมรดกไว้ ท่านได้พบความหมายในพระลักษณะของพระเจ้า “ข้าทราบว่า พระผู้ไถ่ของข้าทรงพระชนม์อยู่” โยบประกาศ “และในที่สุดพระองค์จะทรงปรากฏบนแผ่นดินโลก” (19:25) ความรู้นี้ทำให้ท่านมีความปรารถนาที่ถูกต้อง “ผู้ซึ่งข้าจะได้เห็นเอง” โยบกล่าว “จิตใจในตัวข้าก็อ่อนโหย” (ข้อ 27)

ในตอนท้าย โยบไม่ได้พบกับสิ่งที่คาดหวังแต่พบสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า คือแหล่งของความหมายและความยั่งยืนทั้งปวง (42:1-6)

จัดส่งแบบลับๆ

ดอกลิลลี่ทรงระฆังจากหุบเขา ทิวลิปสีชมพู และแดฟโฟดิลสีเหลืองในแจกันแก้วใสรอคิมอยู่ที่ประตูบ้านของเธอ นานเจ็ดเดือนที่ผู้เชื่อพระเยซูซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ส่งดอกไม้แสนสวยจากร้านในชุมชนมาให้ ทุกเดือนของขวัญมาพร้อมข้อความหนุนใจจากพระคัมภีร์ ลงท้ายว่า “รัก จาก พระเยซู”

คิมบอกเล่าเรื่องการส่งของขวัญแบบนี้บนเฟซบุ๊ก ดอกไม้ที่ได้รับทำให้เธอมีโอกาสฉลองความใจดีของผู้คน และได้รู้วิธีที่พระเจ้าสำแดงความรักแก่เธอผ่านคนของพระองค์ เมื่อเธอวางใจในพระองค์ตลอดเวลาที่ต่อสู้กับโรคเรื้อรัง ดอกไม้สีสันสดใสทุกดอกและทุกข้อความที่เขียนด้วยลายมือ ล้วนยืนยันถึงความรักเมตตาที่พระเจ้ามีต่อเธอ

การที่ผู้ส่งไม่เปิดเผยตัวเป็นแรงจูงใจของการให้แบบที่พระเยซูทรงสอนประชากรของพระองค์ พระเจ้าทรงเตือนให้ระวังการกระทำศาสนกิจ “เพื่ออวด” คนอื่น (มธ.6:1) การทำดีต้องเป็นการนมัสการที่สำแดงออกจากหัวใจที่ขอบพระคุณสำหรับทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเรา การมุ่งทำดีโดยหวังหรือคาดหวังการยกย่อง อาจทำให้เราไม่ให้ความสำคัญกับพระเยซู ผู้ประทานสิ่งดีทั้งปวง

พระเจ้าทรงทราบเมื่อเราให้ด้วยความปรารถนาดี (ข้อ 4) ทรงประสงค์ให้การให้ของเรามีแรงจูงใจจากความรัก เพื่อถวายพระสิริ พระเกียรติ และคำสรรเสริญแด่พระองค์

ผู้ช่วยลึกลับ

หลุยส์ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อเสื่อม วันหนึ่งขณะที่เธอกำลังหาทางออกจากสถานีรถไฟ เธอพบว่าต้องขึ้นบันไดสูงหลายขั้น และไม่มีลิฟต์หรือบันไดเลื่อน หลุยส์เกือบจะร้องไห้แล้ว แต่จู่ๆก็เห็นชายคนหนึ่งยกกระเป๋าของเธอ และช่วยเธอขึ้นบันไดอย่างช้าๆ เมื่อเธอจะหันไปขอบคุณ เขาก็จากไปแล้ว

ไมเคิลไปประชุมสายแล้ว เขากำลังเครียดเพราะความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว ขณะกำลังฝ่าฟันกับการจราจรในลอนดอนก็พบว่ายางรถแบน เมื่อยืนอยู่กลางสายฝนและไม่มีใครช่วย ชายคนหนึ่งเดินออกมาจากฝูงชน เปิดท้ายรถใช้แม่แรงยกรถ แล้วเปลี่ยนล้อให้ เมื่อไมเคิลจะหันไปขอบคุณ เขาก็จากไปแล้ว

ผู้ช่วยลึกลับเหล่านี้เป็นใคร คนแปลกหน้าใจดีหรือมากกว่านั้น

ภาพทูตสวรรค์ที่เราคุ้นเคยมักเป็นภาพสิ่งมีชีวิตที่มีรัศมีหรือมีปีก แต่เป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว มีบ้างที่ปรากฏในลักษณะนี้ (อสย.6:2; มธ.28:3) บ้างก็มาด้วยเท้าเปื้อนฝุ่นและพร้อมจะรับประทานอาหาร (ปฐก.18:1-5) และมักถูกผู้คนเข้าใจผิดง่ายๆ (วนฉ.13:16) ผู้เขียนฮีบรูบอกว่า การต้อนรับแขกแปลกหน้าอาจทำให้เราต้อนรับทูตสวรรค์โดยไม่รู้ตัว (13:2)

เราไม่รู้ว่าคนที่มาช่วยหลุยส์และไมเคิลเป็นทูตสวรรค์หรือไม่ แต่จากพระคัมภีร์อาจจะใช่ก็ได้ ทูตสวรรค์กำลังปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชากรของพระเจ้าอยู่ขณะนี้ (ฮบ.1:14) และพวกเขาอาจปรากฏตัวอย่างคนธรรมดาบนท้องถนน

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา