Month: สิงหาคม 2021

เชื่อพระคัมภีร์

บิลลี่ เกรแฮมนักประกาศชื่อดังชาวอเมริกันเล่าให้ฟังว่า เขาเคยมีปัญหากับการยอมรับว่าพระคัมภีร์เป็นจริงทั้งหมด คืนหนึ่งขณะที่เขาเดินอยู่ลำพังใต้แสงจันทร์ที่ค่ายรีทรีตในเทือกเขาซานเบอร์นาดิโน เขาทรุดตัวลงคุกเข่าและวางพระคัมภีร์บนตอไม้ ทำได้เพียงอธิษฐานอย่าง “ตะกุกตะกัก” ว่า “โอ พระเจ้า มีหลายเรื่องในพระคัมภีร์ที่ข้าพระองค์ไม่เข้าใจ”

เมื่อสารภาพความสับสนของตัวเอง เกรแฮมกล่าวว่าในที่สุดพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรง “ปลดปล่อยผมให้พูดได้ว่า ‘พระบิดา ข้าพระองค์จะยอมรับพระคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระองค์ด้วยความเชื่อ!’” เมื่อเขายืนขึ้น เขายังมีคำถามอยู่ แต่เขากล่าวว่า “ผมรู้ว่าการต่อสู้ฝ่ายวิญญาณที่เกิดขึ้นในจิตวิญญาณของผมได้ถูกจัดการและได้รับชัยชนะแล้ว”

เยเรมีย์ผู้เผยพระวจนะหนุ่มต้องต่อสู้ในฝ่ายวิญญาณเช่นกัน แต่ท่านแสวงหาคำตอบในพระคัมภีร์อยู่เสมอ “เมื่อ​พบ​พระ​วจนะ​ของ​พระ​องค์​แล้ว​ข้า​พระ​องค์​ก็​กิน​เสีย ​พระ​วจนะ​ของ​พระ​องค์​เป็น​ความ​ชื่น​บาน​แก่​ข้า​พระ​องค์ และ​เป็น​ความ​ปีติ​ยินดี​แห่ง​จิตใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์” (ยรม.15:16) ท่านประกาศว่า “​พระ​วจนะ​ของ​พระ​เจ้า​...​ก็​มี​สิ่ง​ใน​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​เหมือน​ไฟ​ไหม้ อัด​อยู่​ใน​กระดูก​ของ​ข้า​พระ​องค์” (20:8-9) ชาร์ลส์ สเปอร์เจียน นักประกาศในสมัยศตวรรษที่ 19 เขียนว่า “[เยเรมีย์]บอกความลับแก่เรา ชีวิตภายนอกโดยเฉพาะพันธกิจอันสัตย์ซื่อของท่านนั้นมาจากความรักภายในที่มีต่อพระวจนะที่ท่านเทศนา”

เราเองก็สามารถปรับเปลี่ยนชีวิตของเราผ่านสติปัญญาจากพระคัมภีร์ได้แม้เราจะมีข้อสงสัย เรายังคงศึกษาต่อไปได้ด้วยความเชื่อเช่นที่เราเคยทำเสมอมา

ทำตามความเชื่อ

พ่อของแซมต้องหนีเอาชีวิตรอดระหว่างการรัฐประหาร ​เมื่อสูญเสียรายได้กะทันหัน ครอบครัวจึงไม่สามารถจ่ายค่ายาที่ต้องใช้เพื่อรักษาชีวิตพี่ชายของแซมได้ แซมคิดด้วยความโกรธพระเจ้าว่า เราทำอะไรถึงต้องมาเจอเรื่องแบบนี้

ผู้เชื่อคนหนึ่งได้ข่าวเรื่องปัญหาของครอบครัวนี้ เมื่อพบว่าเขามีเงินพอซื้อยาได้ เขาจึงซื้อและเอาไปให้ ของขวัญซึ่งช่วยชีวิตจากคนแปลกหน้านี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง “อาทิตย์นี้เราจะไปคริสตจักรของชายคนนั้น” แม่ของเขาประกาศ ความโกรธของแซมเริ่มบรรเทาลง และในที่สุดสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนก็ได้รับเชื่อในพระเยซูทุกคน

เมื่อยากอบเขียนว่าการประกาศตัวเป็นผู้เชื่อในพระคริสต์จำเป็นต้องควบคู่ไปกับชีวิตที่ประพฤติตามพระวจนะ ท่านเจาะจงถึงเรื่องการดูแลผู้อื่น “ถ้า​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​คน​ใด​ขัด​สน​เครื่อง​นุ่งห่ม​และ​อาหาร​ประจำวัน​ และ​มี​คน​ใด​ใน​พวก​ท่าน​กล่าว​แก่​เขา​ว่า ‘เชิญ​ไป​เป็น​สุข​เถิด ขอ​ให้​อบอุ่น​และ​อิ่ม​เถิด’ และ​ไม่ได้​ให้​สิ่ง​ที่​เขา​ขัด​สน​นั้น จะ​เป็น​ประโยชน์​อะไร​” (2:15-16)

ความประพฤติของเราแสดงให้เห็นว่าความเชื่อของเราจริงแท้เพียงใด ที่สำคัญคือความประพฤติเหล่านั้นส่งผลต่อทางเลือกในเรื่องความเชื่อของผู้อื่นด้วย ในกรณีของแซม เขากลายเป็นศิษยาภิบาลและผู้ก่อตั้งคริสตจักร ในที่สุดเขาเรียกชายที่ช่วยเหลือครอบครัวเขาว่า “ปาปา มาเปส” ตอนนี้เขาถือว่าชายคนนั้นคือพ่อฝ่ายวิญญาณ ผู้ที่สำแดงให้เขาเห็นความรักของพระเยซู

เผื่อแผ่พระคุณสู่ผู้อื่น

ลูกชายของเราอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กในช่วงปีแรกๆของชีวิตก่อนที่เราจะรับเขาเป็นลูกบุญธรรม ก่อนออกมาจากอาคารอิฐนั้น เพื่อกลับบ้านพร้อมกัน เราขอไปช่วยเขาเก็บของส่วนตัว แต่น่าเศร้าที่เขาไม่มีอะไรเลย เราเอาเสื้อผ้าชุดใหม่มาให้เขาเปลี่ยน และฝากเสื้อผ้าอีกหลายชุดเพื่อมอบให้กับเด็กคนอื่นๆ แม้ว่าฉันจะเศร้าใจในความขาดแคลนของเขา แต่ฉันก็ยินดีที่จากนี้ไปเราสามารถให้สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตเขาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ไม่กี่ปีต่อมามีผู้มาขอให้ร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ยากไร้ ลูกชายของฉันกระตือรือร้นที่จะบริจาคตุ๊กตาและเงินเล็กน้อยเพื่อช่วยเหลือพวกเขา จากภูมิหลังของเขา คงพอเข้าใจได้หากเขาจะหวงและยึดสิ่งที่เขามีไว้แน่น

ฉันอยากจะคิดว่าเหตุผลของการตอบสนองอย่างใจกว้างของเขาเป็นแบบเดียวกับคริสเตียนในยุคแรก “พระคุณอันใหญ่ยิ่งได้อยู่กับเขาทุกคน เพราะว่าในพวกศิษย์ไม่มีผู้ใดขัดสน” (กจ.4:33-34) พวกเขายินดีขายทรัพย์สมบัติของตนเพื่อแบ่งปันกับพี่น้องที่ขาดแคลน

เมื่อเรารับรู้ถึงความขาดแคลนของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ขอพระคุณของพระเจ้าทรงทำงานในเราอย่างทรงพลัง เพื่อให้เราตอบสนองเช่นเดียวกับคริสเตียนในยุคแรก คือการให้จากใจของเราเพื่อผู้ที่ขาดแคลน ซึ่งจะทำให้พวกเราเป็นท่อพระพรแห่งพระคุณของพระเจ้าในฐานะพี่น้องผู้เชื่อในพระเยซูที่ “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (ข้อ 32)

เมื่อเราไม่เข้าใจ

“ผมไม่เข้าใจแผนการของพระองค์ ผมมอบทั้งชีวิตให้กับพระองค์ แล้วสิ่งนี้กลับเกิดกับผม!” นี่เป็นข้อความที่ลูกชายส่งให้กับแม่ของเขาเมื่อความฝันที่จะประสบความสำเร็จในการเป็นนักกีฬาอาชีพต้องเปลี่ยนทิศทางชั่วคราว มีใครในพวกเราบ้างที่ไม่เคยประสบกับสิ่งที่ไม่คาดคิด หรือความผิดหวังที่ทำให้ความคิดของเราเตลิดไปกับความตื่นตระหนกและคำถาม ไม่ว่าจะคนในครอบครัวตัดการสื่อสารโดยไม่มีคำอธิบาย สุขภาพที่ดีกลับแย่ลง บริษัทย้ายสถานที่ประกอบการโดยไม่คาดคิด มีอุบัติเหตุที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเกิดขึ้น

พระธรรมโยบ 1-2 ได้บันทึกโศกนาฏกรรมและความสูญเสียของโยบ พูดแบบคนทั่วไป คือหากจะมีใครสักคนที่สมควรจะมีชีวิตที่ปราศจากปัญหาแล้ว คนนั้นก็คือโยบ “ชายคนนั้นเป็นคนดีรอบคอบและเที่ยงธรรม เป็นผู้เกรงกลัวพระเจ้าและหันเสียจากความชั่วร้าย” (โยบ 1:1) แต่ชีวิตไม่เป็นไปตามที่เราต้องการเสมอไป ชีวิตของโยบและของเราก็เช่นกัน เมื่อภรรยาของท่านแนะนำท่านให้ “แช่งพระเจ้าและตายเสียเถอะ” (2:9) สิ่งที่โยบพูดกับภรรยาเต็มไปด้วยสติปัญญา ให้ความรู้และเหมาะกับเราด้วยเมื่อมีเรื่องต่างๆเกิดขึ้นไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ซึ่งเราไม่อยากเผชิญ “‘เราจะรับสิ่งดีจากพระหัตถ์ของพระเจ้า และจะไม่รับของไม่ดีบ้างหรือ’ ในเหตุการณ์นี้ทั้งสิ้น โยบมิได้กระทำผิดด้วยริมฝีปากของตน” (ข้อ 10)

โดยพระกำลังของพระเจ้า ขอให้เรายังคงไว้วางใจและยำเกรงในพระองค์ แม้เราจะไม่เข้าใจว่าพระองค์ทรงกำลังทำงานในท่ามกลางความยากลำบากของชีวิตเราอย่างไร

ธรรมชาติที่แท้จริงของความรัก

ในระหว่างการระบาดใหญ่ที่ต้องปิดเมือง เจอรี่ถูกบังคับให้ปิดศูนย์ออกกำลังกายซึ่งทำให้เขาขาดรายได้หลายเดือน วันหนึ่งเขาได้รับข้อความจากเพื่อนคนหนึ่งที่ขอให้เขามาพบที่ศูนย์ตอน 6 โมงเย็น เจอรี่ไม่แน่ใจว่าเพื่ออะไรแต่เขาก็ไปตามนัด ไม่นานก็มีรถหลายคันเคลื่อนเข้ามาในลานจอดรถ คนขับรถคันแรกเอาตะกร้ามาวางไว้ที่ทางเท้าใกล้ๆตัวอาคาร จากนั้นรถทีละคันค่อยๆขับเข้ามา (ประมาณ 50 คัน) คนในรถต่างโบกมือหรือตะโกนทักทาย ทุกคันหยุดที่ตะกร้าและหย่อนการ์ดหรือเงินลงไป บางคนเสียสละเงินของพวกเขา แต่ทุกคนสละเวลาเพื่อจะให้กำลังใจเจอรี่

ธรรมชาติที่แท้จริงของความรักคือการเสียสละตามที่อัครทูตเปาโลได้กล่าวว่า ท่านได้เล่าให้ชาวโครินธ์ฟังว่าชาวมาซิโดเนียได้ถวาย “เกินความสามารถของเขา” เพื่อช่วยเหลือเหล่าอัครทูตและคนอื่นๆ (2 คร.8:3) พวกเขายังได้ “วิงวอน” ต่อเปาโลเพื่อจะมีโอกาสถวายให้กับชาวโครินธ์และคนของพระเจ้าอีกด้วย รากฐานแห่งการถวายของพวกเขามาจากหัวใจที่เสียสละของพระเยซู พระองค์ทรงยอมละทิ้งความมั่งคั่งบนสวรรค์ลงมาบนโลกเพื่อเป็นผู้รับใช้และยอมสละพระชนม์ของพระองค์ “แม้พระองค์มั่งคั่งก็ยังทรงยอมเป็นคนยากจน เพราะเห็นแก่ [เรา]ทั้งหลาย” (ข้อ 9)

เช่นเดียวกับชาวมาซิโดเนีย ให้เรา “วิงวอน” ต่อพระเจ้า เพื่อที่เราจะสามารถ “ประกอบการกุศลนี้อย่างบริบูรณ์” (ข้อ 7) เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความรัก

การฟังเป็นสิ่งสำคัญ

“มาทันที เราชนภูเขาน้ำแข็งแล้ว” นี่คือข้อความแรกที่ฮาโรลด์ คอตแทมผู้ควบคุมระบบสื่อสารบนเรือคาร์ปาเทียได้รับจากเรือไททานิคที่กำลังจมเมื่อเวลา 00:25 น.ในวันที่ 15 เมษายน 1912 คาร์ปาเทียเป็นเรือลำแรกที่ไปถึงจุดเกิดเหตุ และช่วยชีวิตไว้ได้ 706 คน

ในการวินิจฉัยของวุฒิสภาสหรัฐหลายวันต่อมา กัปตันเรือคาร์ปาเทีย อาเธอร์ รอสตรอนให้การว่า “ทั้งหมดนี้เป็นการจัดเตรียมของพระเจ้าทั้งสิ้น... ผู้ควบคุมระบบสื่อสารอยู่ในห้องพักของเขาในขณะนั้นเพราะเป็นช่วงเลิกงาน
เขาเพียงแค่เปิดหูฟังขณะเปลี่ยนเสื้อผ้า... ภายในสิบนาทีเขาคงจะหลับไปแล้ว และพวกเราคงจะไม่ได้ยินข้อความนี้”

การฟังเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการฟังเสียงของพระเจ้า เหล่าบุตรของโคราห์ผู้เขียนพระธรรมสดุดี 85 กำชับถึงเรื่องการตั้งใจเชื่อฟัง เมื่อเขียนว่า “ขอให้ข้าพระองค์ได้ฟังความที่พระเจ้าจะตรัส เพราะพระองค์จะตรัสความสันติแก่ประชากรของพระองค์ แก่ธรรมิกชนของพระองค์ แต่อย่าให้เขาทั้งหลายหันกลับไปสู่ความโง่อีก แน่ทีเดียวที่ความรอดของพระองค์อยู่ใกล้คนที่เกรงกลัวพระองค์” (ข้อ 8-9) คำเตือนของพวกเขาเต็มไปด้วยความสะเทือนใจ เพราะบรรพบุรุษของพวกเขากบฏต่อพระเจ้าและได้ถูกทำลายในถิ่นทุรกันดาร (กดว.16:1-35)

ในคืนที่เรือไททานิคจมมีเรืออีกลำหนึ่งที่อยู่ใกล้กว่ามาก แต่ผู้ควบคุมระบบสื่อสารได้หลับไปแล้ว หากเขาได้ยินสัญญาณขอความช่วยเหลือคงจะมีผู้รอดชีวิตมากกว่านี้ เมื่อเราฟังเสียงพระเจ้าและเชื่อฟังคำสอนของพระองค์ พระองค์จะทรงช่วยนำเราให้ข้ามผ่านอุปสรรคที่ยากที่สุดในชีวิตของเรา

เข้าถึงได้ทุกคน

จากสะพานที่มนุษย์สร้างขึ้นบนเกาะเล็กๆในทะเลแคริบเบียนที่ชื่อ อิลิวเทรานักท่องเที่ยวสามารถชื่นชมความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างกระแสน้ำเชี่ยวสีน้ำเงินเข้มของมหาสมุทรแอตแลนติก และท้องน้ำเงียบสงบสีเขียวอมฟ้าของทะเลแคริบเบียน เมื่อกาลเวลาผ่านไป พายุได้พัดทำลายแผ่นดินเดิมที่เคยโดดเด่นด้วยซุ้มหินธรรมชาติ สะพานกระจกที่ปัจจุบันทำหน้าที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวบนอิลิวเทราเป็นที่รู้จักว่าเป็น “แผ่นดินที่แคบที่สุดในโลก”

พระคัมภีร์ได้บรรยายถึงถนนที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ว่าเป็นทางแคบและ “ผู้ที่หาพบก็มีน้อย” (มธ.7:14) ประตูก็เล็กเพราะองค์พระบุตรเป็นเพียงสะพานเดียวที่สามารถทำให้มนุษย์ที่ตกอยู่ในความบาปคืนดีกับพระเจ้าพระบิดาโดยฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ข้อ 13-14; ดู ยน.10:7-9; 16:13) อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ยังบอกอีกว่าผู้เชื่อทุกคนจากทุกชาติและทุกชนชั้นสามารถเข้าสู่สวรรค์ และจะก้มกราบกษัตริย์เหนือกษัตริย์และนมัสการพระองค์ร่วมกันรอบพระบัลลังก์ของพระองค์ (วว.5:9) เป็นภาพอันมหัศจรรย์ของความแตกต่างและการรวมเป็นหนึ่งของประชากรของพระเจ้าที่มีความหลากหลายอันงดงาม

แม้ว่าเราต้องถูกแยกจากพระเจ้าเพราะความบาปของเรา แต่มนุษย์ทุกคนที่พระเจ้าทรงสร้างได้รับเชิญให้เข้าสู่ชีวิตนิรันดร์บนสวรรค์ โดยการเดินบนทางแคบแห่งการคืนดีผ่านทางความสัมพันธ์ส่วนตัวกับองค์พระคริสต์ การสละพระชนม์บนไม้กางเขน การฟื้นขึ้นจากความตาย และการเสด็จสู่สวรรค์เป็นข่าวดีที่ทุกคนเข้าถึงได้ และมีค่าควรที่เราจะแบ่งปันกับผู้อื่นในวันนี้และทุกๆวัน

การตีสอนด้วยความรัก

เธอกระแทกประตูห้อง แล้วก็กระแทกซ้ำอีก ผมไปหยิบค้อนกับไขควงที่โรงรถแล้วมาที่ห้องนอนของลูกสาว ผมกระซิบอย่างใจเย็นว่า “ลูกรัก หนูต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมความโกรธของตัวเอง” จากนั้นผมถอดบานประตูไปเก็บที่โรงรถ ผมหวังว่าการถอดประตูออกชั่วคราวจะช่วยให้เธอจดจำความสำคัญของการควบคุมตัวเอง

ในสุภาษิต 3:11-12 ครูผู้ชาญฉลาดเชิญชวนผู้อ่านให้ยอมรับการตีสอนของพระเจ้า คำว่า การตีสอน แปลได้อีกว่า “การแก้ไขให้ถูกต้อง” ในฐานะพ่อที่ดีและเปี่ยมด้วยความรัก พระเจ้าตรัสผ่านพระวิญญาณและพระคัมภีร์เพื่อแก้ไขนิสัยที่ทำลายตัวเองของเรา การตีสอนของพระเจ้านั้นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่มาจากความรักและความปรารถนาเพื่อให้เราได้สิ่งที่ดีที่สุด บางครั้งดูเหมือนว่าเป็นผลที่เกิดจากสิ่งที่เราทำ บางครั้งพระเจ้าทรงนำบางคนมาชี้จุดบอดของเรา แม้บ่อยครั้งจะทำให้เราไม่สบายใจแต่การตีสอนของพระเจ้านั้นเป็นของขวัญสำหรับเรา

แต่เรามักไม่คิดเช่นนั้น ผู้มีปัญญาเตือนเราว่า “อย่าดูหมิ่นพระดำรัสสอนของพระเจ้า” (ข้อ 11) บางครั้งเรากลัวการตีสอนของพระเจ้า หลายครั้งเราเข้าใจผิดว่าสิ่งเลวร้ายในชีวิตเราคือการตีสอนจากพระเจ้า สิ่งนี้ห่างไกลจากพระทัยของพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก ผู้ทรงตีสอนเพราะพระองค์ทรงโปรดปรานเรา และทรงแก้ไขเพราะพระองค์ทรงรักเรา

แทนที่จะกลัวให้เราเรียนรู้ที่จะยอมรับการตีสอนของพระเจ้า เมื่อเราได้ยินเสียงพระเจ้าเตือนในใจให้เราแก้ไข หรือรู้สึกสำนึกผิดขณะอ่านพระคัมภีร์ ให้เราขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงโปรดปรานเรามากพอที่จะนำเราไปสู่สิ่งที่ดีที่สุด

รักที่ปราศจากความกลัว

ภาพบางภาพนั้นทรงพลังมากจนเราไม่สามารถลืมได้ นั่นเป็นประสบการณ์ของฉันเมื่อได้ชมภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงของเจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ผู้ล่วงลับ ในแวบแรกภาพดูธรรมดา เจ้าหญิงจับมือกับชายที่ไม่ทราบชื่อ พร้อมกับรอยยิ้มอันอบอุ่น แต่เรื่องราวของภาพนั้นทำให้มันโดดเด่น

ในวันที่ 19 เมษายน 1987 เจ้าหญิงไดอาน่าเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลลอนดอนมิดเดิ้ลเซ็กส์ เป็นช่วงที่อังกฤษถูกปกคลุมด้วยความกลัวจากการระบาดของโรคเอดส์ การไม่รู้ว่าโรคซึ่งคร่าชีวิตคนในเวลาอันรวดเร็วนี้แพร่ระบาดอย่างไร ทำให้ผู้คนในขณะนั้นปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอดส์เหมือนเป็นพวกน่ารังเกียจในสังคม

จึงเป็นเรื่องน่าตกตะลึงเมื่อวันนั้นไดอาน่าจับมือกับผู้ป่วยโรคเอดส์โดยไม่สวมถุงมือพร้อมกับรอยยิ้มที่อ่อนโยน ภาพแห่งความอาทรและเมตตานี้ ได้เปลี่ยนให้โลกปฏิบัติต่อเหยื่อของโรคนี้ด้วยความเมตตาและเห็นอกเห็นใจเช่นเดียวกัน

ภาพนี้เตือนถึงบางสิ่งที่ฉันมักจะหลงลืม นั่นคือการเต็มใจแบ่งปันความรักของพระเยซูกับผู้อื่นด้วยใจกว้างขวางนั้นเป็นสิ่งคุ้มค่า ยอห์นเตือนผู้เชื่อในยุคแรกว่า การปล่อยให้ความรักเหี่ยวเฉาหรือเก็บซ่อนไว้ ภายใต้ความกลัวนั้นคือการมีชีวิตอยู่ “ในความตาย” (1 ยน.3:14) และการรักด้วยความเต็มใจและปราศ-จากความกลัว โดยรับการเติมเต็มและเสริมกำลังจากพระวิญญาณผู้ประทานความรัก นั่นก็คือการได้มีชีวิตที่เป็นขึ้นใหม่อย่างครบบริบูรณ์ (ข้อ 14, 16)

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา