ยอมที่จะไว้วางใจ
เมื่อเปิดม่านออกในเช้าวันหนึ่งของฤดูหนาว ฉันพบกับภาพอันน่าตกตะลึงของกำแพงหมอก หรือ “หมอกน้ำแข็ง” ตามที่ผู้พยากรณ์อากาศเรียก และหมอกนี้ยังมาพร้อมกับความประหลาดใจยิ่งกว่าซึ่งพบไม่บ่อยนักในพื้นที่ที่เราอยู่ คือการคาดการณ์ว่าจะมีท้องฟ้าสดใสและแสงแดด “ภายในอีกหนึ่งชั่วโมง” ฉันบอกกับสามีว่า “เป็นไปไม่ได้หรอก เราแทบจะมองไม่เห็นอะไรในระยะหนึ่งฟุตข้างหน้าเลย” แต่แน่นอนภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง หมอกนั้นจางหายไปและเกิดเป็นท้องฟ้าสีฟ้าที่สดใสด้วยแสงแดด
ขณะยืนอยู่ข้างหน้าต่าง ฉันคิดถึงระดับของความไว้วางใจที่มีในยามที่ฉันเห็นแต่หมอกในชีวิต ฉันถามสามีว่า “ฉันไว้วางใจพระเจ้าเฉพาะในสิ่งที่ฉันมองเห็นเท่านั้นหรือ”
เมื่อกษัตริย์อุสซียาห์สิ้นพระชนม์และมีผู้นำที่ชั่วร้ายบางคนขึ้นมามีอำนาจในแผ่นดินยูดาห์ อิสยาห์ได้ถามคำถามที่คล้ายกันนี้คือ เราจะไว้วางใจใครได้ แล้วพระเจ้าทรงตอบด้วยการให้นิมิตพิเศษที่ทำให้ผู้เผยพระวจนะท่านนี้มั่นใจว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ในวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าที่รออยู่ข้างหน้า ขณะที่อิสยาห์สรรเสริญพระเจ้าว่า “ใจแน่วแน่นั้นพระองค์ทรงรักษาไว้ในศานติภาพอันสมบูรณ์ เพราะเขาวางใจในพระองค์” (อสย.26:3) ท่านได้กล่าวอีกว่า “จงวางใจในพระเจ้าเป็นนิตย์เพราะพระเจ้าทรงเป็นศิลานิรันดร์” (ข้อ 4)
เมื่อความคิดของเราจดจ่ออยู่ที่พระเจ้า เราจะสามารถไว้วางใจพระองค์ได้แม้ในเวลาที่มืดมัวและสับสน เราอาจเห็นได้ไม่ชัดเจนในตอนนี้ แต่ถ้าเราวางใจในพระเจ้า เราก็แน่ใจได้ว่าความช่วยเหลือของพระองค์กำลังจะมาถึงเรา
ได้รู้จักและได้รัก
ในบทความอันทรงพลังที่ชื่อว่า “ลูกของผมรู้จักคุณไหม” ของนักเขียนข่าวกีฬาโจนาธาน จาร์คส์ที่ได้เขียนถึงการต่อสู้กับมะเร็งระยะสุดท้ายและความปรารถนาของเขาที่จะมีคนมาดูแลภรรยาและลูกชายที่ยังเล็ก ตัวเขาในวัยสามสิบสี่ปีได้เขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นเพียงหกเดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต จาร์คส์เป็นผู้เชื่อในพระเยซูและพ่อของเขาก็เสียชีวิตเมื่อเขายังเป็นหนุ่ม เขาได้แบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่พูดถึงการดูแลหญิงม่ายและลูกกำพร้า (อพย.22:22; อสย.1:17; ยก.1:27) และเขาเขียนคำพูดไปถึงเพื่อนๆว่า “เมื่อฉันเจอพวกนายบนสวรรค์ มีเพียงอย่างเดียวที่ฉันจะถามคือ นายดีต่อลูกชายและภรรยาของฉันไหม ลูกชายของฉันรู้จักพวกนายไหม
กษัตริย์ดาวิดถามว่า “พงศ์พันธุ์ของซาอูลนั้นมีเหลืออยู่บ้างหรือ เพื่อเราจะสำแดงสัจกรุณาแก่ผู้นั้นโดยเห็นแก่โยนาธาน” (2 ซมอ.9:1) บุตรชายคนหนึ่งของโยนาธานคือเมฟีโบเชทผู้ที่ “เท้าของเขาเป็นง่อย” (ข้อ 3) จากอุบัติเหตุ (ดู 4:4) ได้ถูกพามาหากษัตริย์ ดาวิดบอกกับเขาว่า “เราจะสำแดงสัจกรุณาต่อท่าน เพื่อเห็นแก่โยนาธานบิดาของท่าน และเราจะมอบที่ดินทั้งหมดของซาอูลราชบิดาของท่านคืนแก่ท่าน และท่านจงรับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะของเราเสมอไป” (9:7) ดาวิดแสดงความรักห่วงใยต่อเมฟีโบเชท และดูเหมือนว่าในที่สุดเขาก็ได้รู้จักดาวิดอย่างแท้จริง (ดู 19:24-30)
พระเยซูทรงเรียกร้องให้เรารักผู้อื่นเหมือนที่พระองค์ทรงรักเรา (ยน.13:34) ขณะที่พระองค์ทำงานภายในเราและผ่านเรา ขอให้เราได้รู้จักพวกเขาเป็นอย่างดีและรักพวกเขาอย่างแท้จริง
โปรดเปิดดวงตาในหัวใจ
ในปี 2001 มีเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดชื่อคริสโตเฟอร์ ดัฟลีย์ ได้ทำให้ทีมแพทย์ประหลาดใจเพราะเขารอดชีวิต เมื่ออายุได้ห้าเดือน เขาได้เข้าสู่ระบบครอบครัวอุปถัมภ์ จนกระทั่งครอบครัวของป้ารับเลี้ยงเขา ครูคนหนึ่งพบว่าคริสโตเฟอร์วัยสี่ขวบ ที่แม้จะตาบอดและมีภาวะของออทิสติก แต่กลับสามารถระบุเสียงโน้ตดนตรีได้อย่างสมบูรณ์แบบ หกปีต่อมาที่คริสตจักร คริสโตเฟอร์อยู่บนเวทีและร้องเพลง “โปรดเปิดดวงตาในหัวใจ” วิดีโอนี้เข้าถึงคนนับล้านทางออนไลน์ ในปี 2020 คริสโตเฟอร์ได้แบ่งปันถึงเป้าหมายของเขาในการทำงานเป็นผู้พิทักษ์สิทธิ์ผู้พิการ เขายังคงพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัดเมื่อดวงตาในหัวใจเขาเปิดออกต่อแผนการของพระเจ้า
เปาโลชมเชยคริสตจักรที่เมืองเอเฟซัสในความเชื่ออันกล้าหาญของพวกเขา (อฟ.1:15-16) ท่านขอพระเจ้าให้ประทาน “จิตใจอันประกอบด้วยสติปัญญา และความประจักษ์แจ้ง” เพื่อให้พวกเขา “รู้ถึงพระองค์” (ข้อ 17) ท่านอธิษฐานให้ตาใจของพวกเขา “สว่างขึ้น” หรือเปิดออก เพื่อพวกเขาจะเข้าใจถึงความหวังและมรดกที่พระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้กับคนของพระองค์ (ข้อ 18)
เมื่อเราขอให้พระเจ้าเปิดเผยพระองค์เองกับเรา เราจะรู้จักพระองค์มากยิ่งขึ้นและสามารถประกาศพระนาม ฤทธานุภาพและอำนาจของพระองค์ด้วยความมั่นใจ (ข้อ 19-23) ด้วยความเชื่อในพระเยซูและความรักต่อคนของพระเจ้า เราสามารถดำเนินชีวิตในแบบที่พิสูจน์ถึงความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดของพระองค์เมื่อเราขอให้พระองค์ทำให้ดวงตาในหัวใจของเราเปิดอยู่เสมอ
ความหวังสำหรับผู้ที่เจ็บปวด
“คนส่วนใหญ่มีรอยแผลเป็นที่ผู้อื่นไม่สามารถมองเห็นหรือเข้าใจ” คำพูดที่ออกมาจากใจส่วนลึกนี้มาจากผู้เล่นเบสบอลเมเจอร์ลีกชื่อแอนเดรลตัน ซิมมอนส์ ผู้เลือกที่จะไม่ลงแข่งในฤดูกาลปกติเมื่อปลายปี 2020 เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เมื่อซิมมอนส์ทบทวนถึงการตัดสินใจนั้น เขารู้สึกว่าจะต้องแบ่งปันเรื่องราวของเขาเพื่อหนุนใจผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาที่คล้ายกันนี้และเพื่อเตือนคนอื่นๆให้แสดงความเห็นใจ
แผลเป็นที่ซ่อนอยู่นั้นคือความเจ็บปวดและบาดแผลในส่วนลึก ที่แม้มองไม่เห็นแต่ก็ยังเป็นสาเหตุของความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน ในสดุดี 6 ดาวิดเขียนถึงความทุกข์ลำบากยิ่งของตน ด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและตรงไปตรงมา ท่านอยู่ใน “ความปวดร้าวแสนสาหัส” (ข้อ 2 TNCV) และ “ทุกข์ยากลำบากอย่างยิ่ง” (ข้อ 3) ท่าน “อ่อนเปลี้ย” จากการคร่ำครวญและที่เอนกายก็ชุ่มไปด้วยน้ำตา (ข้อ 6) แม้ดาวิดไม่ได้พูดถึงสาเหตุของความทุกข์ทนนี้ แต่เราหลายคนก็เข้าใจได้ถึงความเจ็บปวดของท่าน
เราเองก็อาจได้รับการหนุนใจจากท่าทีที่ดาวิดตอบสนองต่อความเจ็บปวดท่ามกลางความทุกข์ทรมานอย่างเหลือล้นนี้ ดาวิดได้ร้องทูลต่อพระเจ้า ท่านเทใจอธิษฐานขอการรักษา (ข้อ 2) การช่วยให้รอด (ข้อ 4) และความเมตตา (ข้อ 9 TNCV) แม้ยังมีคำถามที่ว่า “อีกนานสักเท่าใด” (ข้อ 3) กับเวลาที่ต้องอยู่ในสถานการณ์นั้น แต่ดาวิดยังคงมั่นใจว่าพระเจ้า “ทรงได้ยินเสียงร้องทูลขอความเมตตาของข้าพเจ้า” (ข้อ 9 TNCV) และพระองค์จะตอบในเวลาของพระองค์ (ข้อ 10) เพราะพระเจ้าของเราทรงเป็นเช่นนี้ เราจึงมีความหวังอยู่เสมอ
พระคุณแบบค่อยเป็นค่อยไป
คุณเคยได้ยินคำว่า #แฟชั่นแบบค่อยเป็นค่อยไปบ้างไหม คำนี้เป็นแฮชแท็กที่จับกระแสการเคลื่อนไหวของแนวคิดที่ตรงข้ามกับ “แฟชั่นแบบรวดเร็ว” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการตีตลาดด้วยเสื้อผ้าที่ผลิตด้วยต้นทุนต่ำและมาเร็วไปเร็ว โดยแฟชั่นที่รวดเร็วนี้ เสื้อผ้าจะล้าสมัยไปทั้งที่ยังวางขายอยู่ในร้านเสื้อผ้าบางแบรนด์ต้องทิ้งผลิตภัณฑ์ของตนไปเป็นจำนวนมากในทุกๆปี
ส่วนกลุ่มการเคลื่อนไหวของแฟชั่นแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นส่งเสริมให้ผู้คนลดความรวดเร็วลงและใช้อีกแนวทางหนึ่ง แทนที่จะขับเคลื่อนด้วยความต้องการที่อยากจะดูทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แต่แฟชั่นแบบค่อยเป็นค่อยไปส่งเสริมให้เราเลือกซื้อเสื้อผ้าน้อยลงและเลือกเสื้อผ้าที่มีแหล่งผลิตแบบพิถีพิถันและมีจริยธรรม ซึ่งจะอยู่ได้นาน
ขณะที่ฉันใคร่ครวญคำเชื้อเชิญของ#แฟชั่นแบบค่อยเป็นค่อยไป นี้ ฉันสงสัยว่าตัวเองตกอยู่ในวิธีคิดแบบ “แฟชั่นที่รวดเร็ว” ในแบบอื่นหรือไม่คือ คอยมองหาความพึงพอใจในความนิยมแบบใหม่ล่าสุดอยู่เสมอ แต่ในโคโลสีบทที่ 3 เปาโลบอกว่าการมองหาความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในพระเยซูนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้แบบรวดเร็วหรือชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในพระคริสต์ที่สุขสงบ และค่อยเป็นค่อยไปตลอดทั้งชีวิต
แทนที่จะต้องการสวมใส่ตัวเราด้วยสัญลักษณ์ทางสถานะที่ใหม่ล่าสุดของโลกนี้ เราสามารถเปลี่ยนความต้องการนั้นเป็นการสวมใส่เสื้อผ้าฝ่ายวิญญาณแห่ง “ใจเมตตา ใจปรานี ใจถ่อม ใจอ่อนสุภาพ ใจอดทนไว้นาน” (ข้อ 12) เราเรียนรู้ที่จะอดทนต่อกันและกันได้ในการเดินทางแบบค่อยเป็นค่อยไปที่พระคริสต์จะเปลี่ยนแปลงจิตใจเรา เป็นการเดินทางที่นำไปสู่สันติสุขอันยั่งยืน (ข้อ 15)
สติปัญญาที่เราต้องมี
ในหนังสืออันน่าจดจำชื่อว่า มหาภัยไวรัสล้างโลก จอห์น เอ็ม. แบร์รี่ผู้เขียนเล่าเรื่องการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในค.ศ. 1918 แบร์รี่เปิดเผยว่าแทนที่จะตั้งตัวไม่ทัน แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้คาดการณ์และเตรียมป้องกันล่วงหน้ากับการระบาดครั้งใหญ่ได้อย่างไร พวกเขากลัวว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีกองทหารหลายแสนนายอัดแน่นอยู่ในสนามเพลาะและกำลังเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนจะแพร่กระจายเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้ออกไป แต่ความรู้นี้ก็ไม่ได้ช่วยหยุดหายนะครั้งนั้นได้ ผู้นำที่มีอำนาจต่างลั่นกลองรบมุ่งเข้าหาความรุนแรง นักระบาดวิทยาได้ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตในการระบาดนั้นห้าสิบล้านคน เพิ่มเข้าไปกับอีกประมาณยี่สิบล้านคนที่ถูกสังหารอย่างโหดร้ายในสงคราม
เราได้เห็นกันแล้วหลายต่อหลายครั้งว่าความรู้ของมนุษย์นั้นไม่มีทางเพียงพอที่จะช่วยเราให้รอดพ้นจากความชั่วร้าย (สภษ.4:14-16) แม้เราจะสะสมความรู้ไว้มากมายและนำเสนอความคิดเห็นที่ยอดเยี่ยม เรายังคงไม่สามารถหยุดความเจ็บปวดที่เราทำร้ายกันและกัน เราไม่สามารถหยุด “ทางของคนชั่วร้าย” วิถีทางอันโง่เขลาที่เกิดขึ้นซ้ำซากนี้นำไปสู่ “ความมืดทึบ” แม้เราจะมีความรู้ที่ดีที่สุด แต่เราก็ยังไม่รู้ว่า “[เรา]สะดุดอะไร” (ข้อ 19)
นี่เป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดเราจึงต้อง “เอาปัญญา และเอาความรอบรู้” (ข้อ 5) ปัญญาสอนเราว่าต้องทำอย่างไรกับความรู้ และปัญญาที่แท้จริงซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีนี้มาจากพระเจ้า ความรู้ของเราไม่เคยเพียงพอ แต่พระปัญญาของพระเจ้าให้สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีเสมอ
ทางเลือก
ไม่กี่สัปดาห์หลังจากการเสียชีวิตของเพื่อนรักคนหนึ่ง ฉันได้พูดคุยกับแม่ของเธอ ฉันลังเลที่จะถามว่าท่านเป็นอย่างไรบ้างเพราะฉันคิดว่าอาจเป็นคำถามที่ไม่ค่อยเหมาะ เนื่องจากท่านกำลังเศร้าเสียใจ แต่ฉันขจัดความลังเลนั้นออกไปและถามคำถามง่ายๆว่าท่านไหวไหม ท่านตอบฉันว่า “แม่อยากจะบอกว่า แม่เลือกความชื่นชมยินดี”
คำพูดของท่านช่วยฉันไว้ในวันนั้นขณะที่ฉันพยายามต่อสู้ให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่น่าพึงใจนักในชีวิตของตัวเอง และถ้อยคำนั้นก็ยังทำให้ฉันนึกถึงคำสั่งของโมเสสต่อคนอิสราเอลในช่วงท้ายของเฉลยธรรมบัญญัติ ก่อนที่โมเสสจะเสียชีวิตและก่อนที่คนอิสราเอลจะเข้าไปยังดินแดนแห่งพันธสัญญา พระเจ้าต้องการให้พวกเขารู้ว่าพวกเขามีทางเลือก โมเสสบอกว่า “ข้าพเจ้าตั้งชีวิตและความตาย...ไว้ต่อหน้าท่าน เพราะฉะนั้นท่านจงเลือกเอาข้างชีวิต” (ฉธบ.30:19) พวกเขาสามารถเลือกที่จะทำตามพระบัญญัติของพระเจ้าและมีชีวิตที่ดี หรือเลือกที่จะหันเหไปจากพระองค์และมีชีวิตอยู่กับผลแห่ง “ความตายและสิ่งร้าย” (ข้อ 15)
เราเองต้องเลือกว่าจะมีชีวิตอย่างไรด้วยเช่นกัน เราอาจเลือกความชื่นชมยินดีโดยการเชื่อและวางใจในพระสัญญาของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเรา หรืออาจเลือกที่จะจดจ่อกับส่วนที่เป็นด้านลบและยากลำบากของเส้นทางที่เราเดินอยู่ แล้วปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นขโมยเอาความชื่นชมยินดีไปจากเรา เราจะต้องฝึกฝนและพึ่งพาให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเรา แต่เราสามารถเลือกความยินดี โดยรู้ว่า “พระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่ง” (รม.8:28)
จะมีอะไรที่ดีไปกว่านี้
เอริคได้ยินเรื่องความรักของพระเยซูที่มีต่อเขาเมื่อตอนอายุยี่สิบต้นๆ เขาเริ่มไปคริสตจักรซึ่งที่นั่นเขาได้พบคนที่ช่วยให้เขารู้จักพระคริสต์ดียิ่งขึ้น ไม่นานหลังจากนั้นพี่เลี้ยงของเอริคจึงมอบหมายให้เขาสอนเด็กชายกลุ่มเล็กๆที่คริสตจักร ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาพระเจ้าทรงนำให้เอริคมีใจที่จะช่วยคนหนุ่มสาวที่มีความเสี่ยงในเมืองของเขา ไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ และมีน้ำใจไมตรีต่อเพื่อนบ้าน โดยทุกอย่างนี้เพื่อพระเกียรติแด่พระเจ้า ตอนนี้เอริคในวัยห้าสิบปลายๆ ได้เล่าว่าเขารู้สึกขอบพระคุณที่ได้เรียนรู้ถึงการรับใช้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ “ใจของผมท่วมท้นไปด้วยความต้องการที่จะแบ่งปันความหวังที่ผมพบในพระเยซู จะมีอะไรดีไปกว่าการได้รับใช้พระองค์เล่า”
ทิโมธียังเป็นเด็กตอนที่แม่และยายมีอิทธิพลต่อความเชื่อของเขา (2 ทธ.1:5) และเขาน่าจะเพิ่งเริ่มเป็นหนุ่มตอนที่พบกับอัครทูตเปาโล ผู้เห็นศักยภาพในการรับใช้พระเจ้าของทิโมธีและได้เชิญให้เขามาร่วมการเดินทางเพื่อทำพันธกิจ (กจ.16:1-3) เปาโลกลายเป็นพี่เลี้ยงของเขาในงานรับใช้และในการดำเนินชีวิต ท่านหนุนใจทิโมธีให้ศึกษา ให้มีความกล้าเมื่อเผชิญกับคำสอนเท็จ และให้ใช้ความสามารถของเขาเพื่อรับใช้พระเจ้า (1ทธ.4:6-16)
เพราะอะไรเปาโลจึงต้องการให้ทิโมธีสัตย์ซื่อในการรับใช้พระเจ้า ท่านเขียนไว้ว่า “เพราะว่าเรามีความหวังใจในพระเจ้าผู้ดำรงพระชนม์ พระผู้ช่วยให้รอดของคนทั้งปวง” (ข้อ 10) พระเยซูทรงเป็นความหวังของเราและเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลกนี้ แล้วจะมีอะไรดีไปกว่าการรับใช้พระองค์
พร้อมที่จะไป
ในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัส หลายคนต้องทนทุกข์กับการสูญเสียผู้เป็นที่รักไป ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2020 ครอบครัวผมก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งเมื่อบี คราวเดอร์คุณแม่วัยเก้าสิบห้าปีของผมได้เสียชีวิตลงแม้ไม่ใช่จากโรคโควิด 19 ก็ตาม และเช่นเดียวกับหลายๆครอบครัวที่เราไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อแสดงความเสียใจ เพื่อยกย่องชีวิตของท่าน หรือเพื่อหนุนใจกันและกัน เราใช้รูปแบบอื่นแทนในการยกย่องอิทธิพลแห่งความรักของท่าน และเราได้รับการปลอบประโลมอย่างมากมายจากการที่ท่านยืนยันว่า ถ้าพระเจ้าเรียกท่านกลับบ้าน ท่านก็พร้อมและไม่รอช้าที่จะไป ความหวังอันมุ่งมั่นนี้ปรากฏให้เห็นอย่างมากเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ และในขณะที่ท่านกำลังเผชิญหน้ากับความตาย
ขณะเผชิญหน้ากับความตายที่กำลังจะมาถึง เปาโลเขียนไว้ว่า “เพราะว่าสำหรับข้าพเจ้านั้น การมีชีวิตอยู่ก็เพื่อพระคริสต์ และการตายก็ได้กำไร...ข้าพเจ้าลังเลใจอยู่ในระหว่างสองฝ่ายนี้ คือว่า ข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะจากไปเพื่ออยู่กับพระคริสต์ ซึ่งประเสริฐกว่ามากนัก แต่การที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ในร่างกายนี้ก็จำเป็นมากสำหรับพวกท่าน” (ฟป.1:21, 23-24) แม้มีความปรารถนาที่ถูกต้องที่จะอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่เปาโลก็พร้อมสำหรับบ้านในสวรรค์ของท่านกับพระคริสต์
ความมั่นใจเช่นนี้เปลี่ยนมุมมองของเราในการก้าวจากชีวิตนี้ไปสู่ชีวิตหน้า ความหวังที่เรามีช่วยปลอบประโลมใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดีในช่วงเวลาแห่งการสูญเสียของพวกเขา แม้เราจะเศร้าเสียใจเมื่อสูญเสียผู้เป็นที่รัก แต่ผู้เชื่อในพระเยซูไม่เสียใจเหมือนอย่างคนอื่นๆ “ที่ไม่มีความหวัง” (1ธส.4:13) ความหวังอันแท้จริงเป็นของคนเหล่านั้นที่รู้จักพระองค์