หูดและตำหนิทั้งหมด
โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ หรือที่รู้จักกันในนาม “ผู้พิทักษ์แห่งอังกฤษ” เป็นผู้บัญชาการทหารในศตวรรษที่ 17 เป็นเรื่องปกติที่บุคคลสำคัญในสมัยนั้นจะมีภาพเหมือนของตัวเอง และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ศิลปินจะพยายามหลีกเลี่ยงการวาดภาพใบหน้าของบุคคลในมุมที่ดูไม่ดี แต่ครอมเวลล์ไม่ต้องการภาพที่วาดเพื่อเอาใจเขา เขาเตือนศิลปินว่า “คุณต้องวาดผมอย่างที่ผมเป็น คือทั้งหูดและตำหนิทั้งหมด มิฉะนั้นผมจะไม่จ่ายเงินให้คุณ”
เห็นได้ชัดว่าศิลปินปฏิบัติตาม ภาพที่ออกมาแสดงให้เห็นหูดที่เด่นชัดสองสามเม็ดบนใบหน้าของครอมเวลล์ ซึ่งถ้าเป็นในยุคนี้จะถูกลบหรือทำให้เรียบเนียนก่อนจะนำไปโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์
คำพูดที่ว่า “หูดและตำหนิทั้งหมด” มีความหมายว่าผู้คนควรได้รับการยอมรับอย่างที่พวกเขาเป็น พร้อมด้วยความผิดพลาด ทัศนคติ และปัญหาที่น่ารำคาญทั้งหมดของพวกเขา สำหรับบางคนเรารู้สึกว่านั่นเป็นเรื่องยากเกินไป แต่เมื่อเราพินิจพิจารณาตัวเองอย่างถี่ถ้วน เราอาจพบนิสัยที่ไม่น่ารักบางอย่างในตัวของเราเองก็เป็นได้
เรารู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่ทรงให้อภัย “หูด” หรือข้อเสียของเรา และในโคโลสีบทที่ 3 สอนเราให้ส่งต่อพระคุณไปยังผู้อื่น อัครทูตเปาโลหนุนใจให้เราอดทน มีใจเมตตา และมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น แม้กับคนที่ไม่น่ารัก ท่านเรียกร้องให้เรามีวิญญาณแห่งการให้อภัยเหมือนกับที่พระเจ้าทรงให้อภัยเรา (ข้อ 12-13) จากแบบอย่างของพระองค์ เราได้รับการสอนให้รักผู้อื่นอย่างที่พระเจ้าทรงรักเรา ซึ่งรวมถึงหูดและตำหนิทั้งหมดด้วย
บทเพลงรัก
ที่สวนสาธารณะริมแม่น้ำอันเงียบสงบในบ่ายวันเสาร์ นักวิ่งวิ่งผ่านไป คันเบ็ดตกปลาหมุนไปมาขณะที่นกนางนวลกำลังแย่งชิงปลาและถุงมันฝรั่งทอด ผมกับภรรยานั่งมองคู่รักคู่หนึ่ง พวกเขามีผิวคล้ำ อายุน่าจะราวสี่สิบตอนปลาย เธอนั่งจ้องมองดวงตาของเขาขณะที่เขาร้องเพลงรักในภาษาของตนเองให้เธอฟังโดยไม่มีทีท่าเขินอาย และเสียงเพลงนั้นก็ลอยมาตามลมจนทุกคนได้ยิน
การแสดงออกที่น่าชื่นชมยินดีนี้ทำให้ผมนึกถึงพระธรรมเศฟันยาห์ ในตอนแรกคุณอาจสงสัยว่าทำไม ในยุคสมัยของเศฟันยาห์ ประชากรของพระเจ้ากระทำชั่วโดยการกราบไหว้พระเทียมเท็จ (1:4-5) ขณะที่ผู้เผยพระวจนะและปุโรหิตของอิสราเอลก็เย่อหยิ่งและไม่นับถือพระเจ้า (3:4) และใจความส่วนใหญ่ของพระธรรมเล่มนี้เป็นคำประกาศของเศฟันยาห์ว่า การพิพากษาของพระเจ้าจะมาถึงไม่เพียงกับคนอิสราเอลเท่านั้น แต่กับชนทุกชาติในโลกด้วย (ข้อ 8)
กระนั้นเศฟันยาห์ยังพยากรณ์ถึงเรื่องอื่นด้วย ในวันอันมืดมิดนั้นจะมีผู้คนที่รักพระเจ้าด้วยสุดใจเกิดขึ้น (ข้อ 9-13) และสำหรับพวกเขา พระเจ้าจะเป็นเหมือนเจ้าบ่าวผู้ปีติยินดีในผู้ที่พระองค์ทรงรัก “ด้วยความรักของพระองค์ พระองค์จะทรงเริงโลดเพราะเจ้าด้วยร้องเพลงเสียงดัง” (ข้อ 17)
องค์พระผู้สร้าง พระบิดา นักรบ ผู้พิพากษา พระคัมภีร์มีชื่อเรียกมากมายสำหรับพระเจ้า แต่จะมีสักกี่คนที่เห็นว่าพระเจ้าทรงเป็นนักร้อง ผู้ขับร้องบทเพลงรักให้เราฟังด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์เอง
การจัดการกับความลังเล
เราอาศัยอยู่ในโลกที่มีตัวเลือกมากมาย ตั้งแต่กระดาษเช็ดมือไปจนถึงประกันชีวิต ในปี 2004 นักจิตวิทยา แบร์รี่ ชวาร์ตซ์เขียนหนังสือชื่อความขัดแย้งของการมีตัวเลือก ซึ่งเขาโต้แย้งว่าแม้เสรีภาพในการเลือกจะมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเรา แต่การมีตัวเลือกมากเกินไปอาจกลายเป็นภาระและทำให้เกิดความลังเล การเลือกซื้อกระดาษเช็ดมือนั้นอาจส่งผลกระทบต่อเราน้อย แต่ความลังเลอาจทำให้เราอ่อนล้าได้เมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่ส่งผลอย่างมากต่อวิถีชีวิตของเรา แล้วเราจะเอาชนะความลังเลใจและก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจในการดำเนินชีวิตเพื่อพระเยซูได้อย่างไร
ในฐานะผู้เชื่อในพระคริสต์ การแสวงหาสติปัญญาจากพระเจ้าจะช่วยเราเมื่อต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยาก เมื่อเรากำลังตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องใดในชีวิต ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ พระคัมภีร์สอนเราว่า “จงวางใจในพระเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง” (สภษ.3:5) เมื่อเราพึ่งพาวิจารณญาณของตัวเอง เราอาจสับสนและกังวลว่าจะพลาดรายละเอียดสำคัญไปหรือตัดสินใจผิดพลาด แต่เมื่อเราแสวงหาคำตอบจากพระเจ้า พระองค์จะ “ทรงกระทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น” (ข้อ 6) พระองค์จะประทานความกระจ่างและสันติสุขแก่เราขณะที่เราตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวัน
พระเจ้าไม่ต้องการให้เราล้มเลิกหรือหนักใจเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เราสามารถพบสันติสุขได้ในสติปัญญาและทิศทางที่พระเจ้าทรงประทานให้ เมื่อเราทูลสิ่งที่เรากังวลต่อพระองค์ในการอธิษฐาน
การเปิดเผยสำแดงและความมั่นใจ
การเปิดเผยเพศของทารกในปี 2019 นั้นเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก ในเดือนกรกฎาคม มีวิดีโอแสดงภาพรถยนต์ที่ปล่อยควันสีฟ้าเพื่อบอกว่า “นี่คือทารกเพศชาย!” ในเดือนกันยายน เครื่องบินหว่านเมล็ดพืชในเท็กซัสได้โปรยน้ำสีชมพูจำนวนหลายร้อยแกลลอนเพื่อประกาศว่า “นี่คือทารกเพศหญิง!” แต่ยังมี “การเปิดเผย” อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อโลกที่เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นมา แอปพระคัมภีร์ YouVersion เปิดเผยว่า ในรอบปี 2019 ข้อพระคำที่ถูกแบ่งปัน ไฮไลท์ข้อความและคั่นหน้าไว้มากที่สุดบนพระคัมภีร์ออนไลน์และบนมือถือคือ ฟีลิปปี 4:6 “อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆเลย แต่จงทูลเรื่องความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้า ด้วยการอธิษฐาน การวิงวอน กับการขอบพระคุณ”
นั่นเป็นการเปิดเผยสำแดงที่แท้จริง ผู้คนทุกวันนี้มีเรื่องวิตกกังวลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของลูกๆ ความแตกแยกในรูปแบบต่างๆภายในครอบครัวหรือระหว่างเพื่อน ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติและสงคราม แต่มีข่าวดีท่ามกลางความวิตกเหล่านี้คือ ผู้คนจำนวนมากยังคงยึดข้อพระคำที่ว่า “อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆเลย” ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังหนุนใจทั้งตนเองและผู้อื่นให้ทูลเรื่องความปรารถนา “ทุกอย่าง” ต่อพระเจ้า ความเชื่อที่ส่งผลให้เราไม่เพิกเฉย แต่เผชิญหน้ากับความวิตกกังวลในชีวิตได้นั้น คือ “การขอบพระคุณ”
ข้อพระคำที่ไม่ได้เป็น “ข้อพระคำแห่งปี” แต่อยู่ในอันดับรองลงมา คือ “แล้วสันติสุขแห่งพระเจ้าซึ่งเกินความเข้าใจ จะคุ้มครองจิตใจและความคิดของท่านไว้ในพระเยซูคริสต์” (ข้อ 7) นั่นทำให้เรามั่นใจได้อย่างแท้จริง!
สิ่งทรงสร้างทั้งน้อยใหญ่
มิเชล แกรนท์ ฝึกลูกบีเวอร์ที่ชื่อทิมเบอร์ให้กลับสู่ป่า เมื่อเธอพามันไปว่ายน้ำในสระ มันจะกลับมาหาเธอที่เรือคายัคพร้อมกับซุกตัวและถูจมูก เช้าวันหนึ่งทิมเบอร์ไม่กลับมา มิเชลค้นหามันทั่วสระเป็นเวลาหกชั่วโมงก่อนที่จะยอมแพ้ สัปดาห์ต่อมาเธอพบหัวกะโหลกของบีเวอร์ เธอคิดว่าเป็นทิมเบอร์จึงเริ่มร้องไห้
ผมรู้สึกเจ็บปวดใจไปกับมิเชลและทิมเบอร์ ผมบอกตัวเองว่า “อย่าไปคิดอะไรมาก มันเป็นเพียงแค่หนูน้ำตัวหนึ่งเท่านั้น” แต่ความจริงคือผมรู้สึกห่วงใย และพระเจ้าก็เช่นกัน ความรักของพระองค์สูงถึงฟ้าสวรรค์และลงมาสู่สิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งทรงสร้างที่พระองค์ทรงเรียกให้เราดูแล (ปฐก.1:28) พระองค์ทรงรักษา “ทั้งมนุษย์และสัตว์” (สดด.36:6) และประทาน “อาหารแก่สัตว์ และแก่ลูกกาที่ร้อง” (147:9)
วันหนึ่งขณะที่มิเชลกำลังพายเรือคายัคอยู่ในสระของเพื่อนบ้าน มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นคือทิมเบอร์อยู่ที่นั่น! มันพบครอบครัวบีเวอร์และกำลังช่วยพวกนั้นเลี้ยงลูกอีกสองตัว มันโผล่ขึ้นมาข้างเรือคายัคของมิเชล เธอยิ้มและพูดว่า “เจ้าดูดีและมีครอบครัวที่น่ารักนะ” มันส่งเสียงร้องพร้อมกับสะบัดหางและว่ายไปหาแม่ใหม่ของมัน
ผมชอบตอนจบที่มีความสุข โดยเฉพาะของผมเอง! พระเยซูทรงสัญญาว่า พระบิดาทรงเลี้ยงนกฉันใด พระองค์ก็จะทรงจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นให้กับเราเช่นกัน (มธ.6:25-26) “ถ้าพระบิดาของท่านไม่ทรงเห็นชอบ นกนั้นแม้สักตัวเดียวจะตกลงถึงดินก็ไม่ได้...เหตุฉะนั้นอย่ากลัวเลย ท่านทั้งหลายก็ประเสริฐกว่านกกระจาบหลายตัว” (10:29-31)
เท้าที่งดงาม
จอห์น แนช ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1994 สำหรับการบุกเบิกงานด้านคณิตศาสตร์ สมการของเขาถูกนำไปใช้โดยธุรกิจทั่วโลกในการทำความเข้าใจพลวัตของการต่อสู้และการแข่งขัน หนังสือและหนังยาวเรื่องหนึ่งได้บันทึกเรื่องราวชีวิตของเขา โดยพูดถึงเขาว่ามี “ความคิดที่งดงาม” ไม่ใช่เพราะสมองของเขามีความงดงามที่น่าดึงดูดเป็นพิเศษ แต่เป็นเพราะสิ่งที่สมองทำต่างหาก
ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ในพันธสัญญาเดิมใช้คำว่า งาม เพื่อบรรยายถึงเท้า ไม่ใช่เพราะลักษณะทางกายภาพที่มองเห็นได้ แต่เพราะท่านเห็นความงามในสิ่งที่เท้านั้นทำ “เท้าของผู้นำข่าวดีมา ก็งามสักเท่าใดที่บนภูเขา” (อสย.52:7) หลังจาก 70 ปีของการตกไปเป็นเชลยในกรุงบาบิโลนอันเนื่องมาจากความไม่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้า ผู้ส่งสารก็มาพร้อมกับถ้อยคำหนุนใจว่าอีกไม่นานประชากรของพระเจ้าจะได้กลับบ้าน เพราะ “พระเจ้า...ทรงไถ่เยรูซาเล็มแล้ว” (ข้อ 9)
ข่าวดีนี้ไม่ได้เกิดจากกำลังทหารของชนอิสราเอลหรือความพยายามใดๆ ของมนุษย์ แต่เป็น “พระกรอันบริสุทธิ์” ของพระเจ้าที่กระทำการแทนพวกเขา (ข้อ 10) เช่นเดียวกับในทุกวันนี้ เรามีชัยชนะเหนือศัตรูฝ่ายวิญญาณผ่านการสละพระชนม์ของพระคริสต์เพื่อเรา และเราตอบสนองโดยการเป็นผู้ส่งข่าวดี ผู้ประกาศสันติภาพ ข่าวประเสริฐ และความรอดแก่คนรอบข้าง และเราทำเช่นนั้นด้วยเท้าที่งดงาม
ยินดีที่จะรอคอย
การรอคอยอาจเป็นตัวการที่ขโมยสันติสุขไปจากเรา ราเมช สิตารามัน นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์กล่าวว่า มีไม่กี่เรื่องที่ “สร้างความหงุดหงิดและเดือดดาล” ให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพอๆกับการที่ต้องรอเว็บเบราว์เซอร์โหลดข้อมูลอย่างเชื่องช้า งานวิจัยของเขาระบุว่า เรายินดีจะรอประมาณสองวินาทีโดยเฉลี่ยเพื่อโหลดวิดีโอออนไลน์ หลังผ่านไปห้าวินาที 25%ของผู้ใช้จะล้มเลิก และหลังจากผ่านไปสิบวินาที ครึ่งหนึ่งของผู้ใช้จะเลิกล้มความพยายาม พวกเราช่างเป็นกลุ่มคนที่ขาดความอดทนจริงๆ!
ยากอบหนุนใจผู้เชื่อไม่ให้ละทิ้งพระเยซูในขณะที่พวกเขากำลังรอคอยการทรงเสด็จมาครั้งที่สอง การเสด็จกลับมาของพระคริสต์จะเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขายืนหยัดในการเผชิญความทุกข์ยาก รวมทั้งรักและให้เกียรติซึ่งกันและกัน (ยก.5:7-10) ยากอบใช้ตัวอย่างของชาวนาเพื่ออธิบายเรื่องนี้ เช่นเดียวกับชาวนาที่อดทนรอคอย “ฝนต้นฤดูและฝนชุกปลายฤดู” (ข้อ 7) และเพื่อให้แผ่นดินเกิดพืชผลอันล้ำค่า ยากอบหนุนใจให้ผู้เชื่ออดทนต่อการข่มเหงจนกว่าพระเยซูจะเสด็จกลับมา และเมื่อทรงเสด็จมา พระองค์จะแก้ไขทุกสิ่งให้ถูกต้องและนำสันติสุขมาให้
บางครั้งเราถูกทดลองให้เลิกติดตามพระเยซูในขณะที่รอคอยพระองค์ แต่ระหว่างนั้นให้เรา “เฝ้าระวัง” (มธ.24:42) สัตย์ซื่อ (25:14-30) และดำเนินชีวิตตามพระลักษณะและวิถีทางของพระองค์ (คส.3:12) แม้เราไม่รู้ว่าพระเยซูจะเสด็จกลับมาเมื่อไหร่ ขอให้เราอดทนรอคอยพระองค์ไม่ว่าจะนานเพียงใด
คำอธิษฐานที่ติดขัด
ฉันรู้สึกกังวลตอนที่น้องชายตัวน้อยเข้ารับการผ่าตัด แม่อธิบายว่าเขามีอาการ “ลิ้นติด” (การยึดตัวของพังผืดใต้ลิ้น) ตั้งแต่กำเนิด หากไม่ได้แก้ไข เขาจะสูญเสียความสามารถในการกินและพูดในที่สุด ปัจจุบันเราใช้คำว่าลิ้นติดเพื่ออธิบายถึงภาวะที่เรานึกคำพูดไม่ออกหรือไม่กล้าพูด
บางครั้งเราก็อาจมีภาวะลิ้นติดในขณะอธิษฐาน คือไม่รู้ว่าจะพูดอะไร ลิ้นของเราผูกติดอยู่กับความคิดที่คร่ำครึในฝ่ายวิญญาณและวลีซ้ำๆ เราพุ่งเป้าความรู้สึกของเราไปที่สวรรค์โดยสงสัยว่าคำพูดเหล่านั้นจะไปถึงพระกรรณของพระเจ้าหรือไม่ ความคิดของเราวกวนไปมาบนเส้นทางที่ไม่มีเป้าหมาย
อัครทูตเปาโลเขียนถึงผู้เชื่อชาวโรมันในศตวรรษแรกถึงสิ่งที่ควรทำเมื่อไม่รู้ว่าจะอธิษฐานอย่างไร โดยท่านเชื้อเชิญให้เราขอความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ “พระวิญญาณก็ทรงช่วยเราเมื่อเราอ่อนกำลังด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าเราควรจะอธิษฐานขอสิ่งใดอย่างไร แต่พระวิญญาณทรงช่วยขอแทนเรา ในเมื่อเราคร่ำครวญอธิษฐานไม่เป็นคำ” (รม.8:26) แนวคิดของคำว่า “ช่วย” ในที่นี้คือการแบกภาระหนัก และการ “คร่ำครวญอธิษฐานไม่เป็นคำ” บ่งบอกถึงการทรงสถิตอยู่ของพระวิญญาณโดยการอธิษฐานวิงวอน เพื่อจะนำความต้องการของเราไปยังพระเจ้า
เมื่อเรามีภาวะลิ้นติดไม่รู้ว่าจะอธิษฐานอะไร พระวิญญาณของพระเจ้าจะช่วยหล่อหลอมความสับสน ความเจ็บปวด และความว้าวุ่นใจของเราให้กลายเป็นคำอธิษฐานที่สมบูรณ์แบบที่เคลื่อนจากใจเราไปสู่พระกรรณของพระเจ้า พระองค์ทรงสดับฟังและตอบ และทรงนำการปลอบโยนที่เราอาจไม่เคยรู้ว่าเราต้องการจนกระทั่งเราทูลขอให้พระองค์ทรงอธิษฐานเพื่อเรา
อุ้งพระหัตถ์ที่ปลอดภัย
ชีวิตของดั๊ก เมอร์คีย์เป็นเหมือนกับเกลียวเชือกที่กำลังขาดลงทีละเส้น “แม่ของผมพ่ายแพ้ให้กับโรคมะเร็งที่เธอต่อสู้มายาวนาน ความสัมพันธ์กับคนรักที่คบกันมานานได้พังทลายลง สถานะการเงินที่ย่ำแย่ อาชีพการงานที่ดูไร้อนาคต...ความมืดมิดทางอารมณ์และจิตวิญญาณภายในและรอบตัวผมนั้นฝังลึก ทำให้ผมอ่อนกำลังและดูเหมือนจะก้าวผ่านมันไปไม่ได้” ดั๊กผู้เป็นศิษยาภิบาลและประติมากรได้บันทึกไว้ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้รวมเข้ากับการใช้ชีวิตในห้องใต้หลังคาที่คับแคบ ได้กลายเป็นที่มาของประติมากรรมชื่อที่หลบภัยของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอุ้งพระหัตถ์อันแข็งแรงและมีรอยตะปูของพระคริสต์ที่โอบอุ้มเราไว้เหมือนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย
ดั๊กอธิบายถึงรูปแบบงานศิลปะของเขาว่า “ประติมากรรมชิ้นนี้คือการเชื้อเชิญของพระคริสต์ให้เราเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในพระองค์” ดาวิดเขียนสดุดี 32 ในฐานะผู้ที่ได้พบที่ปลอดภัยอันสูงสุด นั่นคือในพระเจ้า พระองค์ประทานการอภัยโทษจากบาปให้กับเรา (ข้อ 1-5) และหนุนใจให้เราอธิษฐานในท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย (ข้อ 6) ในข้อ 7 ผู้เขียนสดุดีประกาศความไว้วางใจในพระเจ้าว่า “พระองค์ทรงเป็นที่ซ่อนของข้าพระองค์ พระองค์ทรงสงวนข้าพระองค์ไว้จากความยากลำบาก พระองค์ทรงล้อมข้าพระองค์ไว้ด้วยเพลงฉลองการช่วยกู้”
เมื่อมีปัญหาคุณหันไปทางใด เป็นการดีที่ได้รู้ว่าเมื่อเชือกที่เปราะบางแห่งการดำรงอยู่บนโลกนี้ของเรากำลังจะขาดลง เราสามารถวิ่งไปหาพระเจ้าผู้ทรงจัดเตรียมความปลอดภัยนิรันดร์ผ่านราชกิจแห่งการยกโทษของพระเยซูได้