ชีวิตของดั๊ก เมอร์คีย์เป็นเหมือนกับเกลียวเชือกที่กำลังขาดลงทีละเส้น “แม่ของผมพ่ายแพ้ให้กับโรคมะเร็งที่เธอต่อสู้มายาวนาน ความสัมพันธ์กับคนรักที่คบกันมานานได้พังทลายลง สถานะการเงินที่ย่ำแย่ อาชีพการงานที่ดูไร้อนาคต…ความมืดมิดทางอารมณ์และจิตวิญญาณภายในและรอบตัวผมนั้นฝังลึก ทำให้ผมอ่อนกำลังและดูเหมือนจะก้าวผ่านมันไปไม่ได้” ดั๊กผู้เป็นศิษยาภิบาลและประติมากรได้บันทึกไว้ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้รวมเข้ากับการใช้ชีวิตในห้องใต้หลังคาที่คับแคบ ได้กลายเป็นที่มาของประติมากรรมชื่อที่หลบภัยของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอุ้งพระหัตถ์อันแข็งแรงและมีรอยตะปูของพระคริสต์ที่โอบอุ้มเราไว้เหมือนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย

ดั๊กอธิบายถึงรูปแบบงานศิลปะของเขาว่า “ประติมากรรมชิ้นนี้คือการเชื้อเชิญของพระคริสต์ให้เราเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในพระองค์” ดาวิดเขียนสดุดี 32 ในฐานะผู้ที่ได้พบที่ปลอดภัยอันสูงสุด นั่นคือในพระเจ้า พระองค์ประทานการอภัยโทษจากบาปให้กับเรา (ข้อ 1-5) และหนุนใจให้เราอธิษฐานในท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย (ข้อ 6) ในข้อ 7 ผู้เขียนสดุดีประกาศความไว้วางใจในพระเจ้าว่า “พระองค์ทรงเป็นที่ซ่อนของข้าพระองค์ พระองค์ทรงสงวนข้าพระองค์ไว้จากความยากลำบาก พระองค์ทรงล้อมข้าพระองค์ไว้ด้วยเพลงฉลองการช่วยกู้”

เมื่อมีปัญหาคุณหันไปทางใด เป็นการดีที่ได้รู้ว่าเมื่อเชือกที่เปราะบางแห่งการดำรงอยู่บนโลกนี้ของเรากำลังจะขาดลง เราสามารถวิ่งไปหาพระเจ้าผู้ทรงจัดเตรียมความปลอดภัยนิรันดร์ผ่านราชกิจแห่งการยกโทษของพระเยซูได้