การลงทุนที่น่าขบขัน
ในปีค.ศ. 1929 เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาล่มสลาย ประชาชนนับล้านสูญเสียทุกสิ่ง แต่ไม่ใช่ฟลอยด์ ออดลัม ขณะที่ทุกคนตื่นตระหนกและเทขายหุ้นในราคาต่ำ ออดลัมกระโจนเข้าซื้อหุ้นเหล่านั้นอย่างโง่เขลาเช่นเดียวกับอนาคตของประเทศที่กำลังพังทลาย แต่มุมมองที่ “โง่เขลา” ของออดลัมให้ผลตอบแทนเป็นการลงทุนที่มั่นคงซึ่งอยู่รอดมาเป็นเวลาหลายสิบปี
พระเจ้าทรงบอกให้เยเรมีย์ทำสิ่งที่ดูเหมือนการลงทุนที่น่าขบขัน “จงซื้อนา...ซึ่งอยู่ที่อานาโธทในแผ่นดินเบนยามิน” (ยรม.32:8) แต่นี่ไม่ใช่เวลาที่จะซื้อนา เพราะว่าประเทศใกล้จะถูกปล้น “กองทัพของกษัตริย์แห่งบาบิโลนกำลังล้อมกรุงเยรูซาเล็มอยู่” (ข้อ 2) และนาที่เยเรมีย์ซื้อจะตกเป็นของบาบิโลนเร็วๆนี้ ใครจะโง่ลงทุนเมื่อรู้ว่าจะต้องสูญเสียทุกสิ่งในไม่ช้า
แต่ผู้ที่ฟังเสียงของพระเจ้าผู้ทรงมีแผนการสำหรับอนาคตที่ไม่มีใครสามารถจินตนาการได้ “เพราะพระเจ้าจอมโยธาพระเจ้าแห่งอิสราเอลตรัสดังนี้ว่า บ้านเรือนและไร่นาและสวนองุ่นจะมีการซื้อขายกันอีกในแผ่นดินนี้” (ข้อ 15) พระเจ้าทรงเห็นไกลกว่าการล่มสลาย พระองค์ทรงสัญญาว่าจะนำการทรงไถ่ การรักษา และการฟื้นฟูมา การลงทุนที่น่าขบขันในความสัมพันธ์หรืองานรับใช้ สำหรับพระเจ้าแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องโง่เขลา แต่เป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดที่สุดเมื่อพระเจ้าทรงนำเราให้ทำเช่นนั้น (และที่สำคัญคือเราจะต้องอธิษฐานแสวงหาพระเจ้าให้รู้ว่าทรงอยู่เบื้องหลังขั้นตอนเหล่านั้น) การลงทุนที่ “โง่เขลา” ในผู้อื่นตามที่พระเจ้าทรงนำนั้นเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลมากที่สุดในโลก
ทรงสดับฟังเราจากสวรรค์
เมื่ออายุได้สิบแปดเดือนเมสันตัวน้อยไม่เคยได้ยินเสียงของแม่เลย แต่เมื่อแพทย์ใส่เครื่องช่วยฟังเครื่องแรกให้ และลอร์รินผู้เป็นแม่ถามว่า “ได้ยินแม่ไหมลูก” ตาของเด็กน้อยเบิกกว้าง “ว่าไงจ๊ะลูก” ลอร์รินพูดต่อ เมสันยิ้มและตอบสนองแม่ด้วยเสียงครางเบาๆ ลอร์รินร้องไห้ที่ได้เห็นการอัศจรรย์ เธอคลอดเมสันก่อนกำหนดหลังจากถูกมือปืนที่บุกรุกบ้านยิงสามนัด ด้วยน้ำหนักตัวเพียง 450 กรัม เมสันต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดถึง 158 วัน และไม่คาดหวังว่าจะรอดชีวิต ยังไม่ต้องพูดถึงความสามารถในการได้ยิน
เรื่องราวที่ซาบซึ้งใจนี้ทำให้ฉันคิดถึงพระเจ้าผู้ทรงสดับฟังเสียงเรา กษัตริย์ซาโลมอนทรงอธิษฐานอย่างร้อนรนเพื่อพระกรรณของพระเจ้าที่คอยสดับฟัง โดยเฉพาะในเวลาที่มีปัญหา เมื่อ“ไม่มีฝน” (1 พกษ.8:35) ระหว่าง “การกันดารอาหารหรือโรคระบาด” ภัยพิบัติหรือความเจ็บไข้ (ข้อ 37) สงคราม (ข้อ 44) และแม้แต่ความบาป “ขอพระองค์ทรงสดับคำอธิษฐานของเขา และคำวิงวอนของเขาในฟ้าสรรค์” ซาโลมอนทรงอธิษฐานว่า “ขอทรงให้สิทธิอันชอบธรรมของเขาคงอยู่” (ข้อ 45)
ในความประเสริฐของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงตอบสนองด้วยพระสัญญาที่ยังคงปลุกเร้าจิตใจเรา “ถ้าประชากรของเราผู้ซึ่งเขาเรียกกันโดยชื่อของเรานั้นจะถ่อมตัวลง และอธิษฐาน และแสวงหาหน้าของเรา และหันเสียจากทางชั่วของเขา เราก็จะฟังจากสวรรค์ และจะให้อภัยแก่บาปของเขา และจะรักษาแผ่นดินของเขาให้หาย” (2 พศด.7:14) สวรรค์อาจดูเหมือนไกลแสนไกล แต่พระเยซูทรงอยู่กับผู้ที่เชื่อในพระองค์ พระเจ้าทรงได้ยินคำอธิษฐานของเราและจะทรงตอบ
หนีหรือสันติสุข
“ปลีกวิเวก” ป้ายโฆษณาป่าวประกาศถึงประโยชน์ของการติดตั้งอ่างน้ำร้อน ซึ่งดึงดูดความสนใจและทำให้ผมคิด ผมกับภรรยาเคยคุยกันเรื่องซื้ออ่างน้ำร้อน...ในสักวันหนึ่ง มันคงเหมือนการได้หยุดพักผ่อนในสวนหลังบ้านของเราเอง! ยกเว้นเรื่องทำความสะอาดและค่าไฟ และ...ทันใดนั้น ความหวังที่จะได้ปลีกตัวไปก็เริ่มฟังดูเหมือนสิ่งที่ผมอยากปลีกตัวจากมา
คำๆนั้นยังคงล่อลวงเราได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมันสัญญาถึงสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความผ่อนคลาย ความสบายใจ ความปลอดภัยและการปลีกตัว นี่เป็นสิ่งที่วัฒนธรรมของเราล่อลวงและเล่นตลกกับเราด้วยหลากหลายวิธี ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะพักหรือปลีกตัวไปยังที่ที่สวยงาม แต่มีความแตกต่างระหว่างการปลีกตัวหนีไปจากความยากลำบากของชีวิต กับการวางใจพระเจ้าในปัญหาเหล่านั้น
ในพระธรรมยอห์นบทที่ 16 พระเยซูทรงบอกกับสาวกว่า ในก้าวต่อไปของชีวิตจะมีบททดสอบความเชื่อของพวกเขา “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก” พระองค์ทรงสรุปในตอนท้าย และทรงเพิ่มเติมพระสัญญานี้ “แต่จงชื่นใจเถิด เพราะว่าเราได้ชนะโลกแล้ว” (ข้อ 33) พระเยซูไม่ต้องการให้สาวกตกอยู่ในความสิ้นหวัง แต่ทรงเชื้อเชิญพวกเขาให้วางใจในพระองค์ และรู้ถึงการพักสงบที่พระองค์ทรงเตรียมไว้ให้ “เราได้บอกเรื่องนี้แก่ท่าน” พระองค์ตรัส “เพื่อท่านจะได้มีสันติสุขในเรา” (ข้อ 33) พระเยซูไม่ได้ทรงสัญญาว่าเราจะมีชีวิตที่ไม่เจ็บปวด แต่ได้ทรงสัญญาว่าถ้าเราวางใจและพักสงบอยู่ในพระองค์ เราจะได้พบกับสันติสุขอันลึกซึ้งและอิ่มเอมใจที่มากกว่าการหลบลี้ใดๆที่โลกพยายามเสนอให้กับเรา
ร่างแบบการให้อภัย
แผ่นบอร์ดทรงสี่เหลี่ยมสีแดงขนาดเล็กนั้นช่างวิเศษนัก ตอนเป็นเด็กฉันเล่นมันได้เป็นชั่วโมงๆ เมื่อหมุนปุ่มหนึ่งบนบอร์ดฉันก็สร้างเส้นแนวนอนขึ้นบนหน้าจอ เมื่อหมุนอีกปุ่มก็เกิดเส้นแนวตั้ง และเมื่อหมุนทั้งสองปุ่มพร้อมกันฉันก็สร้างเส้นทแยงมุม วงกลม และรูปทรงที่สร้างสรรค์ขึ้น แต่ความวิเศษที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อฉันคว่ำแผ่นบอร์ดแม่เหล็กนั้นลง เขย่ามันเบาๆแล้วพลิกกลับมา จะปรากฏหน้าจอที่ว่างเปล่าขึ้นเพื่อให้ฉันได้ออกแบบอะไรใหม่ๆต่อไป
การให้อภัยของพระเจ้าทำงานคล้ายกับแผ่นบอร์ดแม่เหล็กนั้น พระองค์ทรงลบล้างความบาปของเราออกไปและทรงสร้างผืนผ้าใบที่สะอาดให้กับเรา แม้ว่าเราจำความผิดที่เราทำลงไปได้ แต่พระเจ้าทรงเลือกที่จะยกโทษและลืมมันไปเสีย พระองค์ทรงลบล้างบาปเหล่านั้นและไม่ถือโทษเรา พระองค์ไม่ได้ปฏิบัติกับเราตามความบาปที่เรากระทำ (สดด.103:10) แต่ทรงสำแดงพระคุณโดยการทรงยกโทษ เรามีแผ่นกระดานที่สะอาด ซึ่งก็คือชีวิตใหม่ที่รอเราอยู่เมื่อเราแสวงหาการให้อภัยของพระเจ้า เราขจัดความรู้สึกผิดและความละอายใจออกไปได้โดยของขวัญอันอัศจรรย์ที่พระเจ้าประทานให้เรา
ผู้เขียนสดุดีเตือนว่าความบาปได้ถูกแยกออกไปจากเราไกลเท่ากับที่ตะวัน-ออกไกลจากตะวันตก (ข้อ 12) นั่นคือระยะที่ไกลที่สุดเท่าที่คุณจะไปได้! ในสายพระเนตรของพระเจ้า ความบาปเกาะติดเราไม่ได้อีกต่อไปเหมือนกับตัวหนังสือสีแดงหรือรูปวาดที่น่าเกลียด นั่นคือเหตุผลที่จะชื่นชมยินดีและขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระคุณและพระเมตตาอันอัศจรรย์ของพระองค์
สะอาดแล้ว
บิลเพื่อนของผมพูดถึงเจอราร์ดคนที่เขาคุ้นเคยว่าเป็นพวกที่ “อยู่ห่างไกลจากพระเจ้ามานานมาก” แต่วันหนึ่งหลังจากบิลได้พบเจอราร์ดและอธิบายให้เขาฟังว่า ความรักของพระเจ้าได้เปิดหนทางให้เราได้รับความรอด เจอราร์ดก็ได้เป็นผู้เชื่อในพระเยซู เขาสารภาพบาปทั้งน้ำตาและมอบชีวิตให้พระคริสต์ หลังจากนั้นบิลถามเจอราร์ดว่ารู้สึกอย่างไร เขาเช็ดน้ำตาและตอบง่ายๆว่า “สะอาดแล้ว”
ช่างเป็นคำตอบที่น่าอัศจรรย์! นั่นคือแก่นแท้ของความรอดที่เกิดขึ้นจากความเชื่อในการเสียสละของพระเยซูเพื่อพวกเราบนไม้กางเขน ใน 1 โครินธ์ 6 หลังจากเปาโลยกตัวอย่างการไม่เชื่อฟังพระเจ้าที่ทำให้เราถูกตัดขาดจากพระองค์ ท่านบอกว่า “แต่ก่อนมีบางคนในพวกท่านเป็นคนอย่างนั้น แต่ท่านได้รับการชำระแล้ว ได้รับการทำให้บริสุทธิ์แล้ว ได้รับการทำให้เป็นผู้ชอบธรรมในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า” (ข้อ 11) “ชำระแล้ว” “ทำให้บริสุทธิ์” “ทำให้ชอบธรรม” คำเหล่านี้พูดถึงผู้เชื่อที่ได้รับการอภัยและทำให้ชอบธรรมในพระองค์
พระธรรมทิตัส 3:4-5 บอกเราเพิ่มเติมถึงความรอดที่อัศจรรย์นี้ “พระเจ้าผู้ทรงช่วยเราทั้งหลายให้รอด...ได้ทรงช่วยเราให้รอดมิใช่ด้วยการกระทำที่ชอบธรรมของเราเอง แต่พระองค์ทรงพระกรุณาชำระให้เรามีใจบังเกิดใหม่” ความบาปขวางกั้นเราจากพระเจ้า แต่โดยความเชื่อในพระเยซูโทษของบาปได้รับการชำระล้าง เรากลายเป็นผู้ที่ถูกสร้างใหม่ (2 คร.5:17) ได้รับโอกาสให้เข้าเฝ้าพระบิดา (อฟ.2:18) ได้รับการชำระให้สะอาด (1 ยน.1:7) พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถประทานสิ่งที่จะชำระเราให้สะอาดได้
เข้าใกล้
เมื่อโคโรนาไวรัสระบาดอย่างหนัก การเข้าไปเอาสิ่งที่ฉันฝากไว้ในตู้นิรภัยมีมาตรการที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม ฉันต้องนัดหมายล่วงหน้า โทรเข้าไปแจ้งเมื่อไปถึงเพื่อจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในธนาคาร แสดงบัตรประจำตัวและลายมือชื่อ จากนั้นต้องรอเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ได้รับมอบหมายพาฉันเข้าไป เมื่อเข้าไป ประตูจะถูกล็อกอีกครั้งจนกว่าฉันจะพบกับสิ่งที่ต้องการในกล่องเหล็ก หากไม่ทำตามขั้นตอนทุกอย่างฉันจะเข้าไปไม่ได้
ในพันธสัญญาเดิม พระเจ้าทรงมีระเบียบปฏิบัติที่เฉพาะเจาะจงในการเข้าไปในพลับพลาส่วนที่เรียกว่าอภิสุทธิสถาน (อพย.26:33) ข้างหลังผ้าม่านพิเศษที่ “แบ่งพลับพลาระหว่างวิสุทธิสถานกับอภิสุทธิสถาน” มีเพียงมหาปุโรหิตเท่านั้นที่เข้าไปได้ปีละครั้ง (ฮบ.9:7) อาโรนและมหาปุโรหิตคนอื่นๆหลังจากท่านจะต้องนำเครื่องบูชา อาบน้ำ และสวมเสื้อผ้าที่บริสุทธิ์ก่อนจะเข้าไป (ลนต.16:3-4) ระเบียบของพระเจ้าไม่ใช่เรื่องของสุขภาพหรือความปลอดภัย แต่เพื่อสอนชนชาติอิสราเอลเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของพระเจ้าและความจำเป็นที่ต้องได้รับการอภัยโทษบาปของพวกเรา
ในช่วงเวลาที่พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์ ผ้าม่านพิเศษผืนนั้นถูกฉีกขาดจากกัน (มธ.27:51) เป็นสัญลักษณ์ซึ่งแสดงว่าผู้ที่เชื่อในเครื่องบูชาแห่งการอภัยโทษบาปของพระองค์นั้นจะสามารถเข้าไปอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าได้ การฉีกขาดของผ้าม่านในพลับพลาเป็นเหตุแห่งความชื่นชมยินดีอันไม่สิ้นสุดของเรา คือการที่พระเยซูทรงทำให้เราเข้าใกล้พระเจ้าได้ทุกเวลา!
ความหวังที่แท้จริง
ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 สหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยความคาดหวังถึงอนาคตอันสดใส ประธานาธิบดีหนุ่มจอห์น เอฟ.เคนเนดี้ได้บุกเบิกดินแดนใหม่ ก่อตั้งกองกำลังอาสาสมัครเพื่อสันติภาพ และริเริ่มภารกิจพิชิตดวงจันทร์ เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูทำให้คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าอนาคตจะ “มีแต่ช่วงเวลาดีๆ” แต่ต่อมาสงครามเวียดนามทวีความรุนแรง ความไม่สงบในชาติเริ่มแผ่ขยาย เคนเนดี้ถูกลอบสังหาร และบรรทัดฐานทางสังคมที่คาดหวังไว้ก็ถูกทำลาย การมองโลกในแง่ดีอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ และเมื่อความเป็นจริงนี้ปรากฏ ความสิ้นหวังก็ได้เข้าครอบงำ
ต่อมาในปี 1967 นักศาสนศาตร์เจอร์เกน มอลท์แมนชี้ให้เห็นมุมมองที่ชัดเจนกว่าในหนังสือศาสนศาสตร์แห่งความหวัง ของเขาว่า เส้นทางนี้ไม่ใช่ทางของการมองโลกในแง่ดีแต่เป็นทางแห่งความหวัง ทั้งสองทางนี้ไม่เหมือนกัน เขายืนยันว่าการมองโลกในแง่ดีขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ในขณะนั้น แต่ความหวังหยั่งรากอยู่ในความสัตย์ซื่อของพระเจ้า ไม่ว่าสถานการณ์ของเราจะเป็นเช่นไร
อะไรคือแหล่งกำเนิดของความหวังนี้ เปโตรเขียนว่า “สาธุการแด่พระเจ้าพระบิดาแห่งพระเยซูคริสตเจ้าของเรา ผู้ได้ทรงพระมหากรุณาแก่เรา ทรงโปรดให้เราบังเกิดใหม่เข้าสู่ความหวังใจอันมีชีวิตอยู่ โดยการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ (1 ปต.1:3) พระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อทรงมีชัยเหนือความตายโดยทางพระเยซูองค์พระบุตร! ความจริงแห่งชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนี้ยกชูเราไว้เหนือการมองโลกในแง่ดีไปสู่ความหวังที่มั่นคงแข็งแรง ในทุกวันและในทุกสถานการณ์
รับมือกับการไม่ลงรอย
ทวิตเตอร์เป็นสื่อสังคมที่สร้างพื้นที่ให้ผู้คนทั่วโลกได้แสดงความคิดเห็นด้วยประโยคเด็ดสั้นๆ แต่ในช่วงไม่กี่ปีนี้ รูปแบบการแสดงความคิดเห็นเริ่มซับซ้อนขึ้น เพราะมีคนเริ่มใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือในการตำหนิความคิดเห็นหรือวิถีชีวิตของคนอื่นที่พวกเขาไม่เห็นด้วย ไม่ว่าวันใดเมื่อลงชื่อเข้าใช้งานคุณจะพบอย่างน้อยหนึ่งชื่อที่ “กำลังมาแรง” เมื่อกดไปที่ชื่อนั้น คุณจะพบผู้คนนับล้านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น
เราเรียนรู้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ต่อสาธารณะทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องความเชื่อที่ผู้คนนับถือไปจนถึงเรื่องเสื้อผ้าที่พวกเขาใส่ แต่ความจริงแล้วทัศนคติเชิงลบและไร้ซึ่งความรักนี้ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกให้เราเป็นในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู บางครั้งเมื่อเราต้องรับมือกับการไม่ลงรอย พระคัมภีร์เตือนเราว่าในฐานะผู้เชื่อเราต้องปฏิบัติตัวด้วย “ใจเมตตา ใจปรานี ใจถ่อม ใจอ่อนสุภาพ ใจอดทนไว้นาน” (คส.3:12) แทนที่การวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรง แม้กับศัตรูของเรา พระเจ้าทรงเรียกร้องเราให้ “ผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน และถ้าแม้ว่า (ผู้ใด) มีเรื่องราวต่อกันก็จงยกโทษให้กันและกัน” (ข้อ 13)
การปฏิบัติตัวเช่นนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะกับคนที่มีวิถีชีวิตและความเชื่อเหมือนเราเท่านั้น แม้เมื่อเป็นเรื่องยาก ขอให้เราหยิบยื่นพระคุณและความรักแก่ทุกคนที่เราได้พบตามการทรงนำของพระคริสต์ โดยระลึกว่าเราได้รับการทรงไถ่โดยความรักของพระองค์
กลับสู่พื้นฐาน
ดูเหมือนว่าการตั้งปณิธานจะมีไว้เพื่อให้ทำไม่สำเร็จ บางคนเล่นสนุกกับความจริงนี้โดยเสนอปณิธานปีใหม่ที่พูดได้ว่าทำได้อย่างสบายๆ นี่คือตัวอย่างจากสื่อสังคมออนไลน์ : โบกมือให้คนขับรถจักรยานยนต์ตรงไฟจราจร สมัครวิ่งมาราธอนแต่ไม่วิ่ง หยุดผัดวันประกันพรุ่งในวันพรุ่งนี้ หลงทางโดยไม่รับการช่วยเหลือจากสิริ เลิกเป็นเพื่อนกับทุกคนที่โพสต์เรื่องการออกกำลังกายของพวกเขา
อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่องการเริ่มต้นใหม่นั้นอาจเป็นภารกิจที่สำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวยูดาห์ที่ถูกเนรเทศต้องการอย่างยิ่ง กว่าสองทศวรรษของการเป็นเชลยเจ็ดสิบปีที่พระเจ้าทรงให้กำลังใจพวกเขาผ่านทางผู้เผยพระวจนะเอเสเคียล โดยทรงสัญญาว่า “บัดนี้เราจะให้ยาโคบกลับสู่สภาพเดิม” (อสค.39:25)
แต่ประชาชนจะต้องกลับสู่พื้นฐานเสียก่อน คือคำแนะนำที่พระเจ้าทรงประทานแก่โมเสสเมื่อ 800 ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งรวมถึงการฉลองเทศกาลปีใหม่ สำหรับคนยิวในยุคโบราณจะเริ่มในช่วงต้นของฤดูใบไม้ผลิ (45:18) จุดประสงค์หลักของเทศกาลคือให้ระลึกถึงพระลักษณะและความคาดหวังของพระเจ้า พระองค์ทรงบอกผู้นำของพวกเขาว่า “จงทิ้งการทารุณและการบีบคั้นเสีย และกระทำความยุติธรรมและความชอบธรรม” (ข้อ 9) และทรงเรียกร้องพวกเขาในเรื่องความซื่อสัตย์ (ข้อ 10)
บทเรียนนี้เป็นของพวกเราเช่นกัน ความเชื่อของเราจะต้องนำไปปฏิบัติ มิฉะนั้นมันก็ไร้ค่า (ยก.2:17) ในปีใหม่นี้ เมื่อพระเจ้าทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นสำหรับเรา ขอให้เราดำเนินชีวิตที่สำแดงความเชื่อโดยการกลับสู่พื้นฐาน “จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้า” และ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มธ.22:37-39)