Month: มกราคม 2021

จงเป่าแตร

“แทพส์” คือการเป่าแตรของกองทัพสหรัฐในตอนสิ้นสุดวันและในพิธีฝังศพ ฉันประหลาดใจเมื่อได้อ่านเนื้อเพลงอย่างไม่เป็นทางการหลายท่อนและพบว่าทุกท่อนจบด้วยวลี “พระเจ้าทรงอยู่ใกล้” ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ความมืดกำลังเคลื่อนเข้ามา หรือในยามเศร้าโศกที่ต้องสูญเสียคนที่รัก เนื้อเพลงได้ให้คำมั่นอันงดงามแก่เหล่าทหารว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้

ในพันธสัญญาเดิม เสียงแตรเป็นสิ่งที่ใช้เตือนชนชาติอิสราเอลด้วยเช่นกันว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้ ในระหว่างการเฉลิมฉลองและงานเทศกาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับชนชาติอิสราเอล คนยิวจะต้อง “เป่าแตร” (กดว.10:10) การเป่าแตรเตือนให้รู้ว่าพระเจ้าไม่เพียงทรงสถิตอยู่ด้วยเท่านั้น แต่ยังทรงพร้อมเสมอในยามที่พวกเขาต้องการพระองค์มากที่สุด และพระองค์ทรงปรารถนาที่จะช่วยพวกเขา

วันนี้เรายังคงต้องการสิ่งเตือนใจให้รู้ว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้ และเราสามารถร้องเรียกพระเจ้าในคำอธิษฐานและบทเพลงตามรูปแบบการนมัสการของเรา บางทีคำอธิษฐานของเราอาจเปรียบได้กับเสียงแตรที่ร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า และคำหนุนใจอันงดงามคือพระเจ้าทรงสดับฟังผู้ที่ร้องหาพระองค์เสมอ (1 ปต.3:12) พระเจ้าทรงตอบทุกๆคำอ้อนวอนโดยทรงให้ความมั่นใจถึงการทรงสถิตอยู่ด้วยของพระองค์ ซึ่งเสริมกำลังและปลอบประโลมเราในยามยากลำบากและในยามทุกข์โศกของชีวิต

ความรักที่ลึกซึ้ง

ดีแลน แมคคอยวัย 3 ขวบเพิ่งจะหัดว่ายน้ำเมื่อเขาร่วงทะลุแผ่นไม้อัดผุๆลงไปในบ่อน้ำลึก 40 ฟุต ที่ผนังบ่อน้ำเป็นหินในสวนหลังบ้านของคุณปู่ดีแลนสามารถลอยตัวในน้ำลึก 10 ฟุตได้จนพ่อของเขาลงไปช่วย พนักงานดับเพลิงเตรียมหย่อนเชือกเพื่อจะดึงตัวดีแลนขึ้นมา แต่พ่อเป็นห่วงลูกชายอย่างมากจึงได้ปีนผนังหินลื่นๆลงไปก่อนแล้วเพื่อให้มั่นใจว่าเขาปลอดภัย

ช่างเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ของพ่อแม่! ไม่ว่าจะลึกเพียงใดเราจะลงไปเพื่อช่วยลูกของเรา!

เมื่ออัครทูตยอห์นเขียนจดหมายถึงผู้เชื่อในคริสตจักรยุคแรก ที่กำลังดิ้นรนค้นหารากฐานแห่งความเชื่อเพราะมีคำสอนผิดมากมายวนเวียนรอบๆพวกเขาในขณะนั้น ยอห์นฝากคำพูดซึ่งเหมือนกับตัวช่วยชีวิต “จงดูเถิด พระบิดาทรงโปรดประทานความรักแก่เราทั้งหลายเพียงไรที่เราจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า และเราก็ได้เป็นเช่นนั้น” (1 ยน.3:1) การเรียกผู้ที่เชื่อในพระเยซูว่า “ลูก” ของพระเจ้าเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความสนิทสนมที่ทำให้สถานภาพของผู้วางใจในพระองค์สมบูรณ์

ช่างเป็นความรักที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ของพระเจ้าต่อลูกๆของพระองค์!

มีการกระทำบางอย่างที่พ่อแม่จะทำเพื่อลูกๆของเขาเท่านั้น เหมือนที่พ่อของดีแลนลงไปในบ่อน้ำเพื่อช่วยเขา และเช่นเดียวกับการกระทำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระบิดาบนสวรรค์ ผู้ทรงส่งพระบุตรองค์เดียวของพระองค์มาเพื่อรวบรวมเราไว้ให้อยู่ใกล้พระทัย และไถ่เราให้มีชีวิตร่วมกับพระองค์ (ข้อ 5-6)

ขั้นตอนสู่ความสุกงอม

ในช่วงต้นของการรับใช้นานห้าสิบปีที่เคมบริดจ์ประเทศอังกฤษ ชาลส์ซีเมียน (ค.ศ. 1759-1836) ได้พบกับเพื่อนบ้านที่เป็นศิษยาภิบาล เฮนรี่ เวนน์และลูกสาว หลังการเยี่ยมเยียนครั้งนั้น พวกลูกๆปรารภว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่ดูหยาบกระด้างและยึดมั่นในตนเอง เวนน์ตอบสนองโดยบอกให้ลูกๆเก็บลูกพีชมาจากต้น ขณะที่ทุกคนกำลังสงสัยว่าพ่อจะเก็บผลไม้ที่ยังไม่สุกมาทำไม พ่อพูดว่า“ลูกรัก ผลไม้นี้ยังดิบอยู่และเราต้องรอ แต่ถ้าได้แสงแดดอีกเล็กน้อยและฝนอีกสักหน่อย ลูกพีชก็จะสุกและหวาน คุณซีเมียนก็เช่นกัน”

หลายปีผ่านไปซีเมียนได้รับการเปลี่ยนแปลงให้อ่อนโยนขึ้นโดยพระคุณของพระเจ้า สาเหตุหนึ่งคือเขามุ่งมั่นในการอ่านพระคำและอธิษฐานทุกวัน เพื่อนที่พักอยู่กับเขาหลายเดือนเป็นพยานถึงการปฏิบัตินี้และกล่าวว่า “นี่คือเคล็ดลับของพระคุณและกำลังฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของเขา”

ในการใช้เวลากับพระเจ้าทุกวันนั้นซีเมียนปฏิบัติตามผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ผู้สัตย์ซื่อและเชื่อฟังพระคำของพระเจ้า เยเรมีย์พึ่งพิงในการฝึกฝนนี้และกล่าวว่า “เมื่อพบพระวจนะของพระองค์แล้วข้าพระองค์ก็กินเสีย” ท่านใคร่ครวญพระคำพระเจ้าซึ่งเป็น “ความชื่นบาน” และ “ความปีติยินดีแห่งจิตใจ” ของท่าน (ยรม.15:16)

ถ้าเรายังเป็นผลไม้ที่ดิบอยู่ เราสามารถวางใจในพระเจ้าว่าพระองค์จะทรงทำให้เราอ่อนโยนขึ้นโดยพระวิญญาณเมื่อเรารู้จักพระองค์ผ่านการอ่านและการเชื่อฟังพระคำ

วิถีชีวิตของการนมัสการ

ขณะที่ฉันเข้าแถวรอตักอาหารเช้าที่ศูนย์ประชุมของคริสเตียน ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาในห้องอาหาร ฉันยิ้มและทักทายผู้หญิงที่เดินมาต่อแถวข้างหลังฉัน เธอทักทายกลับและพูดว่า “ฉันรู้จักคุณ” เราตักไข่ใส่จานและพยายามคิดว่าเราเคยเจอกันที่ไหน แต่ฉันค่อนข้างแน่ใจว่าเธอจำผิดคน

เมื่อเรากลับมาตอนอาหารกลางวัน ผู้หญิงคนนั้นเข้ามาถามว่า “คุณขับรถสีขาวใช่ไหม”

ฉันยักไหล่ “ฉันเคย เมื่อไม่กี่ปีก่อน”
เธอหัวเราะ “เราจอดติดไฟแดงด้วยกันที่หน้าโรงเรียนประถมเกือบทุกเช้า” เธอพูด “คุณยกมือร้องเพลงด้วยความชื่นชมยินดีตลอดเวลา ฉันคิดว่าคุณกำลังนมัสการพระเจ้า และนั่นทำให้ฉันอยากร่วมด้วยแม้ในวันที่หนักหน่วง”

สรรเสริญพระเจ้า เราอธิษฐาน สวมกอดและทานอาหารร่วมกัน เพื่อนใหม่ของฉันยืนยันว่าผู้คนคอยสังเกตว่าผู้ที่ติดตามพระเยซูประพฤติตัวอย่างไร แม้ในเวลาที่เราคิดว่าไม่มีใครเห็น เมื่อเราสวมชีวิตแห่งการนมัสการด้วยความชื่นชมยินดี เราสามารถเข้าเฝ้าพระผู้สร้างของเราทุกที่ทุกเวลา เมื่อรับรู้ถึงความรักมั่นคงและความสัตย์ซื่อของพระองค์ เราสามารถชื่นชมยินดีในการเข้าสนิทกับพระองค์ และขอบพระคุณที่ทรงดูแลเราเสมอ (สดด.100) ไม่ว่าจะร้องสรรเสริญพระองค์อยู่ในรถ อธิษฐานในที่ชุมชน หรือสำแดงความรักของพระองค์ด้วยการกระทำที่มีเมตตา เราสามารถเร้าใจคนอื่นให้ “สาธุการแด่พระนามของพระองค์” (ข้อ 4) การนมัสการพระเจ้านั้นเป็นมากกว่าแค่กิจกรรมในเช้าวันอาทิตย์

เคลื่อนที่ด้วยความเร็วของพระเยซู

เมื่อไม่นานมานี้รถของผมเสีย อู่ซ่อมรถอยู่ใกล้ๆราวหนึ่งกิโลเมตรกว่าจากบ้าน ผมจึงตัดสินใจเดินกลับบ้าน แต่ขณะเดินไปเรื่อยๆบนทางที่คับคั่งไปด้วยผู้คน ผมสังเกตเห็นว่าทุกคนขับรถเร็วมาก

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะรู้ว่ารถวิ่งเร็วกว่าคนเดินเท้า ขณะที่เดินกลับบ้านผมตระหนักว่า พวกเราเคยชินกับการเคลื่อนที่ที่รวดเร็วตลอดเวลา และผมก็ตระหนักอีกว่า บ่อยครั้งผมคาดหวังให้พระเจ้าเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วด้วย ผมต้องการให้แผนการของพระองค์ตรงกับตารางเวลาที่รวดเร็วของผม

เมื่อพระเยซูทรงอยู่ในโลก ย่างก้าวที่ดูเหมือนเชื่องช้าของพระองค์บางครั้งก็ทำให้เพื่อนๆของพระองค์ผิดหวัง ในยอห์นบทที่ 11 มารีย์และมารธาส่งข่าวถึงพระเยซูว่าลาซารัสน้องชายกำลังป่วย พวกเธอรู้ว่าพระองค์ทรงช่วยได้ (ข้อ 1-3) แต่พระองค์ทรงมาถึงสี่วันหลังจากนั้น (ข้อ 17) หลังจากลาซารัสเสียชีวิตแล้ว มารธาทูลพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า ถ้าพระองค์อยู่ที่นี่น้องชายของข้าพระองค์ก็คงไม่ตาย” (ข้อ 21) ความหมายคือพระองค์มาไม่เร็วพอ แต่พระองค์ทรงมีแผนการที่ใหญ่กว่านั้น คือการชุบชีวิตลาซารัสขึ้นจากความตาย (ข้อ 38-44)

คุณเข้าใจความสิ้นหวังของมารธาไหม ผมเข้าใจ บางครั้งผมอยากให้พระเยซูตอบคำอธิษฐานเร็วๆ บางครั้งดูเหมือนว่าพระองค์มาสาย แต่ตารางเวลาของพระองค์ต่างจากเรา พระองค์ทรงบรรลุเป้าหมายการทรงไถ่ตามตารางเวลาของพระองค์ ไม่ใช่ของเรา และผลลัพธ์สูงสุดได้สำแดงถึงพระสิริและความประเสริฐของพระองค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าแผนการของเรา

เมื่อกระแสน้ำไหลเชี่ยว

ผมอยู่ที่โคโลราโด เป็นรัฐทางตะวันตกของอเมริกาซึ่งเป็นที่รู้จักจากเทือกเขาร็อคกี้และหิมะ แต่ภัยธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดในรัฐของเราไม่เกี่ยวข้องกับหิมะเลย แต่เป็นฝน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 1976 เกิดน้ำท่วมใหญ่จากแม่น้ำบิ๊กทอมสัน เข้ามาในที่พักตากอากาศที่เอสทิสพาร์ค เมื่อน้ำลดมียอดผู้เสียชีวิต 144 คนไม่รวมปศุสัตว์ ภายหลังภัยพิบัติได้มีการศึกษาค้นคว้าที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเกี่ยวกับรากฐานของถนนและทางหลวง ผนังของถนนที่ต้านทานพายุได้คือส่วนที่ทำด้วยคอนกรีต หรืออีกนัยหนึ่งคือ พวกมันมีรากฐานที่มั่นคงแข็งแรง

ในชีวิตของเรานั้นคำถามไม่ใช่แค่ว่าจะเกิดน้ำท่วมหรือไม่ แต่ว่าเป็นเมื่อไร บางครั้งเราได้รับคำเตือนล่วงหน้าแต่โดยปกติแล้วไม่ใช่ พระเยซูทรงเน้นย้ำเรื่องรากฐานที่แข็งแรงเพื่อช่วงเวลาเหล่านั้น คนจะถูกสร้างได้ไม่เพียงได้ยินพระคำของพระเจ้าเท่านั้น แต่ต้องดำเนินชีวิตที่สำแดงข่าวประเสริฐด้วย (ลก.6:47) การปฏิบัติเช่นนั้นเปรียบเหมือนการเทคอนกรีตในชีวิตของเรา เมื่อเกิดน้ำท่วมซึ่งจะเกิดแน่นอน เราจะสามารถต้านทานมันได้เพราะเราถูก “สร้างไว้มั่นคง” (ข้อ 48) การไม่ปฏิบัติตามนั้นทำให้ชีวิตของเราอ่อนแอเสี่ยงต่อการถูกทำลายได้ (ข้อ 49) นี่คือความแตกต่างระหว่างคนมีปัญญาและคนโง่

เป็นการดีที่จะหยุดเป็นครั้งคราวเพื่อประเมินรากฐานของเรา พระเยซูจะทรงช่วยเสริมสร้างส่วนที่อ่อนแอของเรา เพื่อเราจะยืนอย่างมั่นคงโดยกำลังของพระองค์เมื่อกระแสน้ำไหลเชี่ยว

กระแสน้ำที่ไม่คุ้นเคย

ลูกบอลตกลงที่ย่านไทม์สแควร์ในนิวยอร์ก ฝูงชนนับถอยหลังเมื่อหอนาฬิกาบิ๊กเบนเริ่มตี ท่าเรือซิดนีย์ดังสนั่นไปด้วยเสียงพลุ ไม่ว่าเมืองของคุณจะใช้สัญญาณอะไร ก็มีความตื่นเต้นบางอย่างซ่อนอยู่ในการต้อนรับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่ที่มาถึง ในวันปีใหม่เราเคลื่อนเข้าสู่กระแสน้ำใหม่ มีมิตรภาพหรือโอกาสใหม่ๆอะไรบ้างที่เราอาจได้พบ

แม้จะเต็มไปด้วยความตื่นเต้น แต่ปีใหม่ก็อาจทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง เราไม่รู้อนาคตหรือพายุใดที่อาจพัดมา ประเพณีหลายอย่างในวันปีใหม่สะท้อนถึงสิ่งนี้ ดอกไม้ไฟถูกคิดค้นในประเทศจีนเพื่อใช้ขับไล่วิญญาณร้ายและทำให้ฤดูกาลใหม่เจริญรุ่งเรือง การตั้งปณิธานในวันปีใหม่มีมาตั้งแต่ยุคที่ชาวบาบิโลนให้สัตย์สาบานเพื่อเอาใจเทพเจ้าของพวกเขา การกระทำเหล่านี้คือความพยายามทำให้อนาคตที่ไม่อาจล่วงรู้ได้นั้นมั่นคง

เมื่อชาวบาบิโลนไม่ต้องสาบาน พวกเขาก็สาละวนอยู่กับการพิชิตชนชาติต่างๆ รวมทั้งชนชาติอิสราเอล ในเวลาต่อมาพระเจ้าทรงส่งข่าวมาถึงคนอิสราเอลที่เป็นทาสว่า “อย่ากลัวเลย...เมื่อเจ้าลุยข้ามน้ำ เราจะอยู่กับเจ้า” (อสย.43:1-2) ต่อมาพระเยซูตรัสในทำนองเดียวกันเมื่อทรงอยู่กับเหล่าสาวกในเรือท่ามกลางพายุ “เหตุไฉนจึงขลาดนัก” พระองค์ตรัสกับพวกเขาก่อนที่จะสั่งให้คลื่นลมสงบลง (มธ.8:23-27)

วันนี้เราเคลื่อนออกจากฝั่งสู่กระแสน้ำใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าเราจะเผชิญสิ่งใด พระองค์สถิตอยู่กับเราและพระองค์ทรงมีฤทธานุภาพที่จะสงบคลื่นลม

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา