รักผู้อื่นด้วยความรักของพระเจ้า
ในช่วงที่นาซียึดครอง ชาวเมืองเลอชอมบงประเทศฝรั่งเศสได้ยอมเสี่ยงภัยทุกอย่างเพื่อช่วยชีวิตผู้คนมากถึงห้าพันคน ซึ่งหลายคนเป็นเด็กชาวยิว
ผู้ลี้ภัยที่ต้องหลบหนีจากบ้านของตนถูกซ่อนตัวไว้ในบ้านและฟาร์มของชุมชน ชาวเมืองนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากศิษยาภิบาลอังเดร ทรอคเม่ที่เรียกให้คนในคริสตจักรของเขาให้การช่วยเหลือโดยยกถ้อยคำจากเฉลยธรรมบัญญัติ 10:19 “ท่านจงมีความรักต่อคนต่างด้าว เพราะท่านทั้งหลายก็เป็นคนต่างด้าวในแผ่นดินอียิปต์”
คำบัญชาที่มอบแก่คนอิสราเอลนี้มาพร้อมกับข้อความที่เริ่มต้นด้วยการเตือนว่าโลกทั้งหมดนี้เป็นของพระเจ้าผู้ “ทรงฤทธิ์และน่ากลัว” (ข้อ 17) กระนั้นทรงเลือกที่จะรักคนอิสราเอล (ข้อ 15) อีกทั้งพระองค์ยังทรงดูแลผู้คนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางหรือไม่คุ้นเคย (ข้อ 18) รวมถึงคนต่างด้าวที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชนชาติอิสราเอลด้วย เมื่อคนอิสราเอลตั้งรกรากอยู่ในบ้านใหม่ พวกเขาต้องเลียนแบบความรักและความเอาใจใส่ของพระเจ้าที่มีต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะพวกเขารู้ดีถึงความยากลำบากในการเป็นคนต่างด้าว (ข้อ 19)
หากเราทำงานหนึ่งเป็นเวลานานหรืออยู่บ้านหลังเดิมเป็นเวลาหลายปี พระเจ้าอาจให้โอกาสเราแสดงความเมตตาต่อคนที่รู้สึกเหมือนเป็น “คนต่างด้าว” โดยอาจให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนร่วมงานใหม่ หรือช่วยเหลือครอบครัวที่เพิ่งย้ายถิ่นฐาน เมื่อเราทำเช่นนั้นเราก็ได้แสดงถึงความรักของพระเจ้าที่ทรงมีต่อผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยและรู้สึกไม่มั่นคง
สะอาดจากภายใน
ในวันซึ่งอากาศหนาวจัดในเดือนพฤศจิกายน คริสตจักรของเราหวังว่าจะจัดเตรียมกระเป๋าบรรจุสิ่งของสองร้อยใบเพื่อให้กับคนไร้บ้าน ในการเตรียมตัวเพื่อช่วยบรรจุสิ่งของเหล่านั้น ฉันคัดแยกสิ่งของที่ได้รับบริจาค อธิษฐานขอถุงมือ หมวก ถุงเท้า และผ้าห่มใหม่ๆ โดยจะมีการแจกแซนด์วิชให้กับผู้ที่จะได้รับกระเป๋าของขวัญนี้ด้วย แล้วฉันก็สังเกตเห็นของชิ้นหนึ่งที่ทำให้ฉันประหลาดใจนั่นคือผ้าเช็ดตัว ฉันมุ่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่ช่วยให้ผู้คนอบอุ่นและมีอาหาร แต่มีคนระลึกได้ว่าต้องช่วยให้ผู้รับของเรารู้สึกสะอาดด้วย
พระคัมภีร์พูดถึง “ความสะอาด” อีกแบบหนึ่งคือความสะอาดของจิตใจและวิญญาณ พระเยซูทรงชี้ให้เห็นเรื่องนี้ขณะที่ทรงประณามความหน้าซื่อใจคดของพวกธรรมาจารย์และฟาริสี พวกเขาถือรักษาข้อกำหนดที่เล็กน้อยที่สุดในธรรมบัญญัติแต่ “ข้อสำคัญแห่งธรรมบัญญัติคือความยุติธรรม ความเมตตา ความเชื่อนั้นได้ละเลยเสีย” (มธ.23:23) พระคริสต์ตรัสกับพวกเขาว่า “เจ้าขัดชำระถ้วยชามแต่ภายนอก ส่วนภายในถ้วยชามนั้นเต็มด้วยโจรกรรมและการมัวเมากิเลส...จงชำระถ้วยชามภายในเสียก่อน เพื่อข้างนอกจะได้สะอาดด้วย” (ข้อ 25-26)
การทำตัวเหมือนว่าเราไม่มีตำหนิในฝ่ายวิญญาณก็เป็นเพียงแค่การแสดงหากเราไม่แสวงหาการชำระให้สะอาดที่พบได้ในพระคริสต์ “มีอะไรล้างบาปข้าได้” คือคำถามจากบทเพลงชีวิตคริสเตียนเก่าแก่บทหนึ่ง “มีแต่พระโลหิตพระเยซู” ผ้าเช็ดตัวผืนใหม่อาจเป็นของขวัญเพื่อชำระเราภายนอกได้ แต่พระเยซูทรงชำระเราจากภายใน ทรงล้างชำระแม้กระทั่งบาปที่ร้ายกาจที่สุดของเรา
หลักฐานที่ดีที่สุด
ลีไม่เชื่อในพระเจ้า และไม่เชื่อเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู แต่ลีเป็นนักข่าวที่วิเคราะห์ข้อมูล เมื่อภรรยาของลีเชื่อในพระเยซู เขาจึงตัดสินใจศึกษาความเชื่อใหม่ของเธอด้วยตนเอง หลังจากค้นคว้าอยู่สองปีเขาก็ยอมจำนน โดยเชื่อในพระเจ้า ในการฟื้นคืนพระชนม์และเชื่อในพระคริสต์
การเปลี่ยนแปลงในตัวเขานั้นเห็นได้ชัดเจน ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นลูกสาววัย 5 ขวบพูดกับภรรยาของเขาว่า “แม่คะ หนูอยากให้พระเจ้าทำให้หนูในสิ่งที่ทำให้พ่อ” และลูกสาวของลี สโตรเบลก็เชื่อในพระเยซูด้วย
หลายคนปฏิเสธที่จะเชื่อเรื่องการคืนพระชนม์ แต่บรรดาพยานที่น่านับถือได้เห็นพระเยซูผู้ทรงเป็นขึ้น หนึ่งในนั้นคืออัครทูตเปโตรซึ่งกล่าวกับฝูงชนว่ากษัตริย์ดาวิดสิ้นพระชนม์และถูกฝังไว้อย่างแน่นอน (กจ.2:29) จากนั้นเปโตรชี้ไปที่คำพยากรณ์ของดาวิด “กษัตริย์ดาวิด...ทรงกล่าวถึงการคืนพระชนม์ของพระคริสต์” (ข้อ 31) เปโตรสรุปว่า “พระเยซูนี้พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้คืนพระชนม์แล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพยานในข้อนี้” (ข้อ 32)
หลักฐานที่ดีที่สุดในเรื่องการคืนพระชนม์คือชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของบรรดาพยานผู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งรวมทั้งเปโตรด้วย ขณะทรงถูกตรึงกางเขนนั้น เหล่าสาวกพากันไปซ่อนตัว อันที่จริงแล้วเปโตรได้ปฏิเสธพระคริสต์ (ยน.18:15-17, 25-27) ครั้นเมื่อพวกเขาเห็นพระเยซูทรงพระชนม์อยู่ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป พวกเขาเริ่มแบ่งปันความจริงอย่างกล้าหาญในเรื่องความหวังเดียวที่ยิ่งใหญ่ของโลกนี้ นั่นก็คือพระคริสต์ผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์
สวมพระคริสต์
โรส เทอร์เนอร์นักจิตวิทยาแฟชั่นแห่งสถาบันแฟชั่นลอนดอน ได้ศึกษาผลกระทบของเสื้อผ้าที่มีต่อวิธีคิด พฤติกรรม และแม้แต่การที่เสื้อผ้าส่งผลต่ออารมณ์ของผู้คน เพราะเสื้อผ้าเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดร่างกายเราที่สุด จึงเปรียบเสมือน “ผิวหนังชั้นที่สอง” และเตรียมเราให้พร้อมสำหรับทุกเรื่องในแต่ละวัน ตัวอย่างเช่น การแต่งกายที่เหมาะสมกับงาน “ช่วยสร้างแรงจูงใจและสมาธิ” ในที่ทำงาน และการสวมเครื่องแต่งกายที่มาจากสมัยเก่าที่มีคุณค่าทางจิตใจ อาจทำให้รู้สึกสบายใจในสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้
ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยานี้ให้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อคำเผยพระวจนะของอิสยาห์เรื่องผลแห่งการสละพระชนม์ของพระเยซู ท่านบันทึกถึงการปลดปล่อยชาวยิวจากการเป็นเชลยในบาบิโลนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยรับรองว่าวันหนึ่งพวกเขาจะ “สร้างสิ่งปรักหักพังโบราณขึ้นใหม่ เขาจะซ่อมเสริมที่ทิ้งร้างแต่เก่าก่อนขึ้น” (อสย.61:4) ในวันนั้นพวกเขาจะสวม “เสื้อแห่งความชอบธรรม” (ข้อ 10)
คำเผยพระวจะของอิสยาห์เป็นจริงในส่วนแรกเมื่อคนในชาติกลับคืนสู่กรุงเยรูซาเล็ม และสำเร็จสมบูรณ์เมื่อ “พระเจ้าได้ทรงกระทำ [พระเยซู ] ...ให้บาปเพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมของพระเจ้าทางพระองค์” (2 คร.5:21) ความชอบธรรมนั้นอธิบายให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ถูกต้องของเรากับพระเจ้าเมื่อเราวางใจในการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ พระเจ้าไม่ได้เห็นว่าเราสวมเสื้อแห่งความละอายหรือน่าขายหน้าเพราะบาปของเรา แต่ทรงเห็นเราสวมเสื้อแห่งความชอบธรรมตลอดเป็นนิตย์ของพระเยซู ซึ่งเป็น “ผิวหนังชั้นที่สอง” ที่ปกคลุมเราด้วยความชื่นชมยินดีในวันนี้และชั่วนิรันดร์
การคร่ำครวญสู่คำสรรเสริญ
ตำนานเรื่องการตั้งชื่อดอกไม้ห้ากลีบอันงดงามนี้ว่าดอกฟอร์เก็ตมีน็อต (อย่าลืมฉัน) มีหลายเรื่องราวด้วยกัน มีตำนานหนึ่งจากเยอรมันเล่าว่า เมื่อพระเจ้าทรงตั้งชื่อพืชพันธุ์ทั้งหมดที่ทรงสร้าง ดอกไม้เล็กๆดอกหนึ่งกลัวว่าจะถูกมองข้าม จึงร้องเสียงดังว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขออย่าลืมข้าพระองค์” และนั่นก็คือชื่อที่พระเจ้าประทานให้
แม้ว่านี่เป็นเพียงเรื่องเล่า แต่ดอกฟอร์เก็ตมีน็อตได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความทรงจำ และเราทุกคนต่างก็เคยได้พบเจอกับความรู้สึกที่เหมือนถูกลืม การเป็น ที่จดจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพระเจ้านั้นคือความปรารถนาอันแท้จริงในหัวใจเรา เราพบเรื่องราวนี้ที่กางเขนของพระเยซู ลูกาเล่าว่า “มีอีกสองคนที่เป็นผู้ร้ายซึ่งเขาได้พามาจะฆ่าเสียพร้อมกับพระองค์” (23:32) ขณะโจรนั้นกำลังถูกตรึง คนหนึ่งที่อยู่ข้างพระคริสต์ก็เข้าใจในทันใด เขาทูลว่า “พระเยซูเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงระลึกถึงข้าพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าในแผ่นดินของพระองค์” (ข้อ 42) คำตอบของพระคริสต์เป็นสิ่งที่ไม่อาจลืมได้ “เราบอกความจริงแก่เจ้าว่า วันนี้เจ้าจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม” (ข้อ 43)
ช่างเป็นช่วงเวลาที่น่าทึ่งจริงๆ! ในชั่วโมงที่มืดมิดที่สุด โจรคนนั้นได้เรียนรู้ความหมายของการเป็นที่จดจำได้โดยพระบุตรของพระเจ้า
เราเองก็เป็นที่จดจำได้ในยามที่เผชิญความยากลำบาก พระเจ้าผู้ทรงรักเรามากพอจนสิ้นพระชนม์เพื่อเราจะไม่มีวันลืมเรา
ชีวิตและความตายในพระคริสต์
ขณะเผชิญหน้ากับหน่วยยิงเป้า ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ใคร่ครวญช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบ เขาเชื่อในพระเยซูและนับว่าเป็นหนึ่งในนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการวรรณกรรม พี่น้องคารามาซอฟ คือนวนิยายยิ่งใหญ่ของเขา ซึ่งสำรวจเรื่องของพระเจ้า ชีวิต และความตาย มีการพูดถึงดอสโตเยฟสกี้ว่า “เขาพูดถึงพระคริสต์ด้วยความปลาบปลื้มใจอย่างล้นพ้น” ปืนยาวถูกยกขึ้น “เตรียมพร้อม! …เล็ง...”
พระเยซูทรงกล่าวกับเหล่าสาวกและกับเราถึงคุณค่านิรันดร์ของชีวิต ขณะทรงบอกเป็นนัยถึงการประหารชีวิตพระองค์ เมื่อตรัสว่า “ถึงเวลาแล้ว” (ยน.12:23) ด้วยภาพของข้าวเมล็ดเดียว(ชีวิตของเรา)ที่เกิดผลมากมายจากการเสียสละตนเอง (ข้อ 24)นี้ พระองค์ทรงบอกเราว่าอย่ารักชีวิตนี้มากเกินไป เพราะผู้ใดที่เต็มใจสละชีวิตในโลกนี้ผู้นั้นจะพบกับ “ชีวิตนิรันดร์” (ข้อ 25)
การเป็นสาวกของพระองค์ต้องเสียสละ แต่เราพบความหวังในพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า “ถ้าผู้ใดรับใช้เรา พระบิดาก็จะทรงประทานเกียรติแก่ผู้นั้น” (ข้อ 26)
ฟีโอดอร์อยู่ต่อหน้าความตาย แต่พระราชสาส์นจากพระเจ้าซาร์ถูกส่งไปในนาทีสุดท้าย เขาได้รับการอภัยโทษ และประสบการณ์นี้จะแผ่ซ่านอยู่ในผลงานทั้งหมดของเขาในเวลาต่อมา แท้จริงแล้วคำจารึกในหน้าแรกของนิยายเรื่อง พี่น้องคารามาซอฟ คือพระธรรมยอห์น 12:24 “ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงไปในดินและเปื่อยเน่าไป ก็จะคงอยู่เป็นเมล็ดเดียว แต่ถ้าเปื่อยเน่าไปแล้ว ก็จะงอกขึ้นเกิดผลมาก”
สงครามขนมพาย
ในบรรดาความโง่เขลาทั้งหมดที่เป็นเหตุนำพาประเทศไปสู่สงคราม ขนมพายอาจจะเป็นเรื่องผิดพลาดที่สุดหรือไม่ ในปีค.ศ.1832 ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศสกับเม็กซิโก ทหารเม็กซิกันกลุ่มหนึ่งเข้าไปในร้านขนมฝรั่งเศสในเมืองเม็กซิโกซิตี้ และชิมขนมทุกชนิดในร้านโดยไม่จ่ายเงิน แม้ว่ารายละเอียดจะซับซ้อน (และการปลุกปั่นอื่นๆทำให้เกิดปัญหามากขึ้น) แต่ผลลัพธ์คือสงครามครั้งแรกระหว่างฝรั่งเศสกับเม็กซิโก (ปี 1838-39) หรือที่รู้จักกันว่าสงครามขนมพาย มีทหารเสียชีวิตมากกว่าสามร้อยนาย เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความโกรธในชั่วขณะหนึ่งกระตุ้นให้เกิดสงคราม
ความขัดแย้งส่วนใหญ่ของมนุษย์ทั้งชีวิตสมรสที่พังทลายและมิตรภาพที่ถูกทำลาย ล้วนมีรากฐานมาจากรูปแบบความโกรธที่ไม่ได้ถูกแก้ไข ทั้งความเห็นแก่ตัวและการแสดงอำนาจ ความเข้าใจผิดที่ไม่ได้รับการแก้ไข การดูถูกและการตอบโต้อย่างแข็งกร้าว ล้วนแล้วแต่เป็นความโง่เขลา บางครั้งการรับรู้หรือการตอบโต้ที่ไม่เหมาะสมของเรานำไปสู่ความโกรธที่ทำลายล้าง แต่ปัญญาจารย์ได้ให้ถ้อยคำแห่งปัญญาว่า “อย่าให้ใจของเจ้าโกรธเร็ว เพราะความโกรธมีประจำอยู่ในทรวงอกของคนเขลา” (7:9)
ความขี้โมโหและโกรธง่ายนั้นเป็นเรื่องที่โง่เขลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระเจ้าประทานวิธีที่ดีกว่า บางครั้งก็โดยผ่าน “คำตำหนิของคนที่มีสติปัญญา” (ข้อ 5) เมื่อเราติดตามปัญญา เราก็สามารถ “ให้สันติสุขของพระคริสต์ครองจิตใจ [ของเรา]” (คส.3:15) เราดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญาและการให้อภัยได้เมื่อพระองค์ทรงช่วยเรา
ไปกับพระเจ้า
ในภาพยนตร์เรื่อง คนอัจฉริยะฝ่าสมรภูมิรบ ที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง ตัวละครหลักชื่อเกรวิลล์ต้องพบกับการตัดสินใจที่ยากมากในชีวิต เขารู้ว่าเพื่อนสนิทของเขากำลังจะถูกจับและกักขังในคุกที่โหดร้าย เกรวิลล์สามารถเอาตัวรอดจากชะตากรรมนี้ได้ถ้าเขาจะหนีออกนอกประเทศทันทีและทำเป็นไม่รู้จักกับเพื่อนคนนี้ แต่ด้วยความรักและความซื่อสัตย์ต่อเพื่อน เกรวิลล์ปฏิเสธที่จะหนีและยอมถูกจับไปขังโดยต้องทนทุกข์แบบเดียวกับเพื่อนของเขา ต่างคนต่างไม่ทรยศกันและกัน ในตอนจบเกรวิลล์ได้รับการปล่อยตัวในสภาพบอบช้ำ แต่เขาเป็นเพื่อนแท้ที่สัตย์ซื่อ
นาโอมีต้องการเพื่อนแบบนั้นเช่นกัน เมื่อสามีและลูกชายทั้งสองคนตายจากไป นาโอมีต้องตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัวและผจญการเดินทางแสนไกลเพื่อกลับบ้านเกิด นาโอมีบอกกับลูกสะใภ้ของเธอให้อยู่ที่โมอับและมีชีวิตใหม่ (นรธ.1:8-9)รูธตอบว่า “ขอแม่อย่าวิงวอนให้ฉันจากแม่หรือเลิกติดตามแม่ไปเลย เพราะแม่จะไปไหนฉันจะไปด้วย” (ข้อ 16) รูธร่วมเดินทางไปต่างแดนกับนาโอมีด้วยใจภักดีและคอยเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขา ความสัตย์ซื่อของรูธเปลี่ยนสภาพครอบครัวที่แตกสลายนี้ให้กลายเป็นมรดกที่มหัศจรรย์ หลายชั่วอายุคนต่อมา เหลนของเธอคือดาวิดได้เป็นกษัตริย์ของชนชาติอิสราเอล และได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปราน
การเผชิญความยากลำบากร่วมกับผู้อื่นเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่หากเรายอมสละความปรารถนาของตัวเราเองและแสวงหาพระกำลังของพระเจ้า พระองค์จะทรงช่วยเราให้สามารถรักผู้อื่นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยพระกำลังของพระองค์เราจึงเลือกที่จะพูดได้ว่า “พระองค์จะเสด็จไปที่ไหน ข้าพระองค์จะไปด้วย”
การแบ่งปันทรัพยากรในเรื่องข่าวประเสริฐ
สถานที่จัดงานและที่พักสำหรับการประชุมผู้นำของเราในย่านใจกลางเมืองชิคาโกนั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความขาดแคลนที่ผมเห็นระหว่างทางไปที่นั่น ความขาดแคลนเหล่านี้รวมไปถึงคนที่ขาดแคลนอาหารและที่พักพิงขั้นพื้นฐาน ความแตกต่างนี้ช่วยให้ผมสามารถนึกภาพและระบุสิ่งที่เราจำเป็นต้องรวบรวมไว้ในการวางแผนงานเพื่อรับใช้ทั้งในเมืองและที่อื่นๆได้อย่างชัดเจน เพื่อรวบรวมทรัพยากรในเรื่องข่าวประเสริฐ (คือทุกสิ่งที่พระเจ้าประทานให้เพื่อช่วยเผยแพร่ข่าวแห่งความรักและความรอดของพระเจ้า) ไปยังสถานที่ซึ่งมีความต้องการที่สุด
ขณะที่เปาโลเขียนจดหมายถึงผู้เชื่อชาวโรมัน ท่านยังไม่เคยไปเยี่ยมพวกเขา แต่ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะไปโดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้พบท่านทั้งหลาย เพื่อจะได้นำของประทานฝ่ายวิญญาณจิตมาให้...เพื่อเสริมกำลังท่าน...และ...ได้หนุนใจซึ่งกันและกัน โดยความเชื่อของเราทั้งสองฝ่าย” (รม.1:11-12) อัครทูตมุ่งหวังการ “แลกเปลี่ยนของประทาน” ที่จะเป็นประโยชน์ต่อท่านและผู้อื่นขณะที่พวกเขาต่างมีชีวิตเพื่อพระเยซูและรับใช้ผู้อื่น
ทรัพยากรที่เรามีนั้นรวมถึงของประทานฝ่ายวิญญาณและทรัพยากรที่เป็นวัตถุซึ่งพระเจ้าประทานแก่เรา ขอให้เรายอมที่พระองค์จะทรงใช้เราในการเผยแพร่ข่าวประเสริฐแก่ผู้คนด้วยความรักเมตตา และเมื่อพระเจ้าทรงเสริมกำลังเรา ขอให้เราเปิดใจ เปิดปาก และเตรียมมือของเราในการรับใช้ผู้อื่น ขอให้เราทำโดย “ไม่มีความละอายในเรื่องข่าวประเสริฐ เพราะว่าข่าวประเสริฐนั้นเป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้า เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด”(ข้อ 16)