Month: พฤษภาคม 2024

ความเมตตาผ่านพิซซ่า

คำเชิญให้ร่วมรับประทานอาหารเย็นจากแฮโรลด์ผู้นำคริสตจักรกับแพม ผู้เป็นภรรยาทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่น แต่ก็ทำให้กระวนกระวายใจเช่นกัน ฉันเข้าร่วมกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ของวิทยาลัยที่สอนแนวคิดที่ขัดแย้งกับคำสอนบางอย่างในพระคัมภีร์ พวกเขาจะต่อว่าฉันในเรื่องนี้ไหม

ระหว่างรับประทานพิซซ่า พวกเขาเล่าเรื่องครอบครัวพวกเขาและถามถึงครอบครัวฉัน พวกเขาฟังฉันคุยเรื่องการบ้าน เรื่องเจ้าบูชิสุนัขของฉัน และผู้ชายที่ฉันแอบชอบ แต่แล้วพวกเขาก็เตือนฉันอย่างอ่อนโยนเกี่ยวกับกลุ่มที่ฉันเข้าร่วมและอธิบายสิ่งที่ผิดในคำสอนของกลุ่มนั้น

คำเตือนของพวกเขานำฉันออกห่างจากคำโกหกในกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์นั้นและเข้ามาใกล้ความจริงของพระคัมภีร์ ในจดหมายฝากของยูดา ท่านใช้ภาษาที่รุนแรงเกี่ยวกับผู้สอนเท็จ กระตุ้นให้ผู้เชื่อ “ต่อสู้เพื่อความเชื่อ” (ยด.1:3TNCV) ท่านเตือนคนทั้งหลายว่า “ในสมัยสุดท้ายจะมีคนเย้ยหยันบังเกิดขึ้น...คือคนที่แยกออกเป็นก๊กๆ...และปราศจากพระวิญญาณ” (ข้อ 18-19) แต่ยูดายังเรียกร้องให้ผู้เชื่อ “สำแดงความเมตตาแก่ผู้ที่สงสัย” (ข้อ 22 TNCV) โดยอยู่เคียงข้างพวกเขา แสดงความเห็นอกเห็นใจโดยไม่ประนีประนอมกับความจริง

แฮโรลด์และแพมรู้ว่าฉันไม่มั่นคงในความเชื่อ แต่แทนที่จะตัดสินฉัน พวกเขาเสนอมิตรภาพก่อนแล้วจึงให้ปัญญา ขอพระเจ้าประทานความรักและความอดทนแบบเดียวกันนี้แก่เรา ที่จะใช้สติปัญญาและความเมตตาเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ยังสงสัยอยู่

คำพูดที่สะท้อนหัวใจเรา

คุณจะขจัดคำพูดหยาบคายออกไปได้อย่างไร โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งเลือกที่จะสถาปนาคำมั่นสัญญาว่า “ไม่มีคำพูดหยาบคาย” นักเรียนปฏิญาณตนว่า “ข้าพเจ้าให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่ใช้คำพูดหยาบคายใดๆในห้องเรียนและในบริเวณโรงเรียนของเรา” นี่เป็นความพยายามอันสูงส่ง แต่จากคำสอนของพระเยซูแล้ว ไม่มีกฎหรือคำมั่นสัญญาภายนอกใดจะสามารถกลบกลิ่นของคำพูดที่สกปรกชั่วร้ายได้

การกำจัดกลิ่นสกปรกของคำพูดที่มาจากปากของเราเริ่มด้วยการสร้างใจเราขึ้นใหม่ เฉกเช่นที่ผู้คนรู้จักชนิดของต้นไม้นั้นจากผลของมัน (ลก.6:43-44) พระเยซูตรัสว่า คำพูดของเราเป็นตัวบ่งบอกที่น่าเชื่อถือว่าใจของเราสอดคล้องกับพระองค์และทางของพระองค์หรือไม่ ผลหมายถึงคำพูดของคน “ใจเต็มด้วยอะไรปากก็พูดออกมาอย่างนั้น” (ข้อ 45) พระคริสต์ทรงชี้ให้เห็นว่าหากเราต้องการเปลี่ยนสิ่งที่ออกจากปากของเราจริงๆ อันดับแรก เราต้องมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงจิตใจของเราในขณะที่พระองค์ทรงช่วยเรา

คำสัญญาภายนอกนั้นไร้ประโยชน์ที่จะยับยั้งคำพูดชั่วร้ายที่ออกมาจากใจที่ไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง เราจะกำจัดคำพูดชั่วร้ายได้ขั้นแรกคือโดยการเชื่อในพระเยซู (1คร.12:3) แล้วจากนั้นจึงทูลเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะทรงเติมเต็มในเรา (อฟ.5:18) พระองค์ทรงกระทำกิจภายในเราเพื่อปลุกเร้าจิตใจและช่วยให้เราขอบคุณพระเจ้าอยู่เสมอ (ข้อ 20) และกล่าวถ้อยคำที่เสริมสร้างและหนุนใจผู้อื่น (4:15, 29; คส.4:6)

คำแนะนำจากผู้อาวุโส

ในการกล่าวสุนทรพจน์พิธีรับปริญญาในปี 2013 ที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ จอร์จ ซาวเดอส์นักเขียนหนังสือขายดีของ นิวยอร์ก ไทมส์ ได้ตอบคำถามที่ว่า “อะไรที่ทำให้ผมเสียใจ” โดยการตอบของเขาเป็นไปในแบบที่ผู้อาวุโสกว่า (ซาวเดอส์) แบ่งปันถึงความเสียใจหนึ่งหรือสองครั้งที่เขามีในชีวิตให้กับคนหนุ่มสาว (ผู้สำเร็จการศึกษา) ที่อาจได้เรียนรู้จากตัวอย่างของเขา เขากล่าวถึงบางเรื่องที่ผู้คนอาจคิดว่าเขาเสียใจ เช่น ความยากจนและการทำงานที่ต่ำต้อย แต่ซาวเดอส์กล่าวว่าเขาไม่เสียใจเลยในเรื่องพวกนั้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขาเสียใจคือ ความล้มเหลวที่จะแสดงความเมตตา ซึ่งเป็นโอกาสที่เขาต้องแสดงความเมตตาต่อบางคนแต่เขาก็ปล่อยให้มันผ่านไป

อัครทูตเปาโลเขียนถึงผู้เชื่อในเมืองเอเฟซัสเพื่อตอบคำถามที่ว่า ชีวิตคริสเตียนมีลักษณะอย่างไร ซึ่งอาจเป็นคำถามที่กระตุ้นให้เรารีบให้คำตอบ เช่น การมีมุมมองทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง การหลีกเลี่ยงหนังสือหรือภาพยนตร์บางประเภท การนมัสการในรูปแบบใดแบบหนึ่ง แต่วิธีนำไปสู่จุดหมายของเปาโลไม่ได้จำกัดอยู่กับประเด็นร่วมสมัย ท่านกล่าวถึงการละเว้นจาก “คำหยาบคาย” (อฟ.4:29) และการสลัดตนเองให้พ้นจากสิ่งต่างๆ เช่น ใจขมขื่นและใจโกรธ (ข้อ 31) จากนั้นเพื่อสรุป “สุนทรพจน์” ของท่านด้วยใจความสำคัญ ท่านกล่าวกับชาวเอเฟซัสตลอดจนพวกเราว่า “จงเมตตาต่อกัน” (ข้อ 32) และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังก็คือเพราะพระเจ้าทรงเมตตาต่อท่านในพระคริสต์

ในบรรดาทุกสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นชีวิตที่อยู่ในพระเยซู หนึ่งในนั้นแน่นอนว่าคือการมีความเมตตา

การสรรเสริญแบบไม่ได้เตรียมการ

ในการเดินทางไปทำพันธกิจช่วงสั้นๆที่ประเทศเอธิโอเปีย ทีมของเราได้ร่วมกับทีมพันธกิจในท้องถิ่นอีกทีมหนึ่ง เพื่อประกาศกับกลุ่มวัยรุ่นชายที่ประสบปัญหาและอาศัยอยู่ในเพิงของโรงเก็บขยะ ช่างน่าดีใจที่ได้พบกับพวกเขา! เราแบ่งปันคำพยาน คำพูดหนุนใจและอธิษฐานด้วยกัน ช่วงหนึ่งที่ฉันชอบที่สุดในเย็นวันนั้น คือตอนที่สมาชิกคนหนึ่งในทีมท้องถิ่นเล่นกีตาร์และเราได้นมัสการกับเพื่อนใหม่ของเราใต้แสงจันทร์ ช่างเป็นช่วงเวลาที่เราได้ถวายนมัสการพระเจ้าจริงๆ! แม้ชายหนุ่มเหล่านี้อยู่ในสถานการณ์ซึ่งเลวร้าย แต่พวกเขามีความหวังและความชื่นชมยินดีที่พบได้ในพระเยซูเท่านั้น

ในกิจการบทที่ 16 เราอ่านอีกเรื่องเกี่ยวกับการร้องเพลงสรรเสริญแบบไม่ได้เตรียมการครั้งนี้เริ่มขึ้นใน​คุก​ที่​เมือง​ฟีลิปปี เปาโลและสิลาสถูกจับ ถูกโบยตี ถูกด่าว่าและถูกจองจำขณะรับใช้พระเยซู แทนที่จะยอมจำนนต่อความสิ้นหวัง พวกเขานมัสการพระเจ้าด้วยการ “อธิษฐานและร้องเพลง” ในห้องขัง “ในทันใดนั้น เกิดแผ่นดินไหวใหญ่จนรากคุกสะเทือนสะท้าน และประตูคุกเปิดหมดทุกบาน เครื่องจำจองก็หลุดจากเขาสิ้นทุกคน” (ข้อ 25-26)

ความคิดแรกของผู้คุมคือการจบชีวิตตนเอง แต่เมื่อเขารู้ว่านักโทษไม่ได้หลบหนีไป เขาจึงเกิดความยำเกรงพระเจ้า และความรอดมาถึงครัวเรือนของเขา (ข้อ 27-34)

พระเจ้าทรงชื่นชอบที่จะฟังเราสรรเสริญพระองค์ ให้เรานมัสการพระองค์ทั้งในยามที่ชีวิตขึ้นสูงและในยามที่ตกต่ำ

เมื่อถึงเวลา

เมื่อเพื่อนของฉัน อัลและแคธี ชิฟส์เฟอร์ขับเครื่องบินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปยังงานแสดงทางอากาศ ปฏิกิริยาของบรรดาทหารผ่านศึกอาวุโสมีความหมายมากที่สุดสำหรับพวกเขา คนเหล่านั้นจะมาที่นี่เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการร่วมในสงครามและเครื่องบินที่พวกเขาเคยบิน เรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขาส่วนใหญ่ถูกเล่าด้วยน้ำตาคลอเบ้า หลายคนเล่าว่าข่าวที่ดีที่สุดที่พวกเขาได้รับขณะรับใช้ชาติคือคำว่า “สงครามสิ้นสุดแล้ว หนุ่มๆได้เวลากลับบ้าน”

คำพูดเหล่านี้จากคนรุ่นก่อนเชื่อมโยงกับสงครามที่ผู้เชื่อในพระเยซูมีส่วนร่วม คือการต่อสู้กับมารซึ่งเป็นศัตรูฝ่ายวิญญาณของเราด้วยความเชื่ออย่างเต็มกำลัง อัครทูต​เปโตร​เตือน​เรา​ว่า “ศัตรูของท่านคือมารวนเวียนอยู่รอบๆดุจสิงห์คำรามเที่ยวไปเสาะหาคนที่มันจะกัดกินได้” มันล่อลวงเราด้วยวิธีต่างๆ และใช้ความท้อแท้จากความยากลำบากและการข่มเหงเพื่อพยายามดึงเราออกจากความเชื่อในพระเยซู เปโตรเรียกร้องให้ผู้อ่านในยุคแรกและพวกเราในปัจจุบัน “จงสงบใจจงระวังระไวให้ดี” (1 ปต.5:8) เราพึ่งพาพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเราจะไม่ยอมให้ศัตรูทำให้เรายอมจำนนในการต่อสู้และทำให้เราพ่ายแพ้

เรารู้ว่าวันหนึ่งพระเยซูจะเสด็จกลับมา เมื่อพระองค์เสด็จมา พระดำรัสของพระองค์จะมีผลคล้ายกับความรู้สึกของเหล่าทหารในช่วงสงคราม ที่ทำให้เราน้ำตาไหลและเปี่ยมด้วยความสุขใจ “สงครามสิ้นสุดลงแล้ว ลูกทั้งหลายเอ๋ยได้เวลากลับบ้าน”

ความงามแทนกองดิน

เย็นวันหนึ่ง ฉันสังเกตเห็นแนวกองดินเป็นระเบียบเรียบร้อยในที่พื้นที่ว่างใกล้บ้าน แต่ละแถวมีใบสีเขียวขนาดเล็กที่มีดอกตูมเล็กๆโผล่ออกมา เช้าวันต่อมา ฉันหยุดเดินเมื่อเห็นดอกทิวลิปสีแดงสวยงามผุดออกมาเป็นหย่อมๆ

ฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา คนกลุ่มหนึ่งได้เพาะต้นอ่อนหนึ่งแสนต้นทั่วพื้นที่ว่างทางตอนใต้ของเมืองชิคาโก พวกเขาเลือกสีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์การแบ่งแยกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (การเลือกปฏิบัติจากธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ) ซึ่งส่งผลกระทบต่อย่านที่ชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่อยู่อาศัย ดอกทิวลิปเป็นสัญลักษณ์ถึงบ้านเรือนของคนจำนวนมากที่ควรจะอยู่ในพื้นที่แถบนั้น

ประชากรของพระเจ้าได้อดทนต่ออุปสรรคมากมาย นับตั้งแต่การถูกเนรเทศจากบ้านเกิดเมืองนอนไปจนถึงการถูกเลือกปฏิบัติเหมือนการกั้นพื้นที่สีแดง กระนั้นเราก็ยังพบความหวังได้ อิสยาห์เตือนคนอิสราเอลในช่วงที่ตกเป็นเชลยว่าพระเจ้าจะไม่ทรงละทิ้งพวกเขา พระองค์จะมอบ “มาลัย” ให้พวกเขาแทนขี้เถ้า แม้แต่คนยากจนก็จะได้รับ “ข่าวดี” (61:1) พระเจ้าทรงสัญญาจะเปลี่ยนจิตใจที่ท้อถอยเป็น “ผ้าห่มแห่งการสรรเสริญ” ภาพทั้งหมดนี้ทำให้ระลึกถึงความงดงามอันทรงสง่าราศีของพระองค์ อันจะนำมาซึ่งความยินดีแก่คนทั้งหลายซึ่งตอนนี้จะเป็น “ต้นก่อหลวงแห่งความชอบธรรม” แทนการเป็นเชลยที่ไม่มีความหวัง (ข้อ 3)

ดอกทิวลิปเหล่านั้นยังแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าสามารถสร้างความงดงามจากกองดินและการแบ่งแยก ฉันเฝ้ารอที่จะได้เห็นดอกทิวลิปทุกฤดูใบไม้ผลิ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการปลุกความหวังใหม่ให้กับเพื่อนบ้านของฉันและชุมชนอื่นๆ

บอกเขาทั้งหลายถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำ

บิล โทไบอัสเป็นเพื่อนผมสมัยเรียนวิทยาลัยที่ไปรับใช้เป็นมิชชันนารีบนเกาะในแปซิฟิกเป็นเวลาหลายปี เขาเล่าเรื่องชายหนุ่มคนหนึ่งที่จากบ้านเกิดเพื่อไปแสวงโชค แต่เพื่อนพาเขาไปคริสตจักรที่ซึ่งเขาได้ยินข่าวดีที่พระเยซูเสนอ และเขาได้เชื่อวางใจในพระคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด

ชายหนุ่มต้องการนำข่าวดีนี้ไปบอกกับพวกพ้องของตนที่ “จมอยู่กับเวทมนตร์คาถา” เขาจึงมองหามิชชันนารีที่จะไปประกาศกับคนเหล่านั้น แต่มิชชันนารีคนนั้นบอกให้เขาแค่ “ไปบอกพวกเขาว่าพระเจ้าทรงทำอะไรให้คุณ” (ดู มก.5:19) และนั่นคือสิ่งที่เขาทำ หลายคนในบ้านเกิดของเขาต้อนรับพระเยซู แต่ความก้าวหน้าครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อหมอผีประจำเมืองตระหนักว่าพระคริสต์ทรงเป็น “ทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต” (ยน.14:6) หลังจากที่เขาเชื่อในพระเยซู เขาก็บอกคนทั้งเมืองเรื่องพระองค์ ภายในเวลาสี่ปี คำพยานของชายหนุ่มคนหนึ่งได้นำไปสู่การก่อตั้งคริสตจักรเจ็ดแห่งในภูมิภาคนี้

ในพระธรรม 2 โครินธ์ เปาโลได้เริ่มแผนงานที่ชัดเจนในการนำข่าวประเสริฐไปสู่คนทั้งหลายที่ยังไม่รู้จักพระคริสต์ และแผนงานนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่มิชชันนารีบอกกับชายหนุ่มที่เชื่อในพระเยซู เราต้องเป็น “ทูตของพระคริสต์” คือเป็นตัวแทนของพระองค์ “โดยที่พระเจ้าทรงขอร้องท่านทั้งหลายทางเรา” (5:20) ผู้เชื่อทุกคนมีเรื่องราวเฉพาะตัวที่จะบอกว่าพระเยซูทรงทำให้พวกเขา “ถูกสร้างใหม่แล้ว...ทรงให้เราคืนดีกันกับพระองค์” (ข้อ 17-18) ขอให้เราบอกกับคนอื่นว่าพระองค์ทรงทำอะไรบ้างเพื่อเรา

แก้ไขด้วยการจูบ

ในอุปมาเรื่อง สตรีผู้มีปัญญา จอร์ช แม็คโดนัลด์ บอกเล่าเรื่องราวความเห็นแก่ตัวของเด็กหญิงสองคนที่นำความทุกข์ยากมาสู่ทุกคนรวมทั้งพวกเธอเอง จนกระทั่งสตรีผู้มีปัญญาได้ทดสอบพวกเธอเพื่อช่วยให้พวกเธอกลับมา “น่ารัก” อีกครั้ง

เมื่อเด็กหญิงไม่ผ่านการทดสอบแต่ละครั้ง ก็ต้องทุกข์ใจกับความอับอายและการแยกตัว ในที่สุดโรซามอนด์หนึ่งในนั้นก็ตระหนักว่าเธอไม่อาจเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ “ขอท่านช่วยหนูได้ไหม” เธอขอสตรีผู้มีปัญญา “บางทีฉันอาจช่วยได้” สตรีผู้นั้นตอบ “เพราะตอนนี้หนูขอฉัน” และด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า (สตรีผู้มีปัญญาเป็นภาพสัญลักษณ์เล็งถึงพระเจ้า) โรซามอนด์จึงเริ่มเปลี่ยนแปลง ต่อมาเธอขอให้สตรีนั้นยกโทษให้เธอในปัญหาทั้งหมดที่เธอก่อ “ถ้าฉันไม่ได้ยกโทษให้หนูแล้ว” สตรีผู้นั้นตอบ “ฉันคงไม่ต้องยุ่งยากในการหาวิธีมาทำโทษหนู”

มีช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงตีสอนเรา สิ่งที่สำคัญคือต้องเข้าใจว่าทำไม การแก้ไขของพระองค์ไม่ได้เกิดจากการลงโทษ แต่เกิดจากความห่วงใยอย่างที่บิดามีต่อสวัสดิภาพของเรา (ฮบ.12:6) อีกทั้งทรงปรารถนาให้เรา “เข้าส่วนในวิสุทธิภาพของพระองค์” เพลิดเพลินกับการเก็บเกี่ยว “ความสุขสำราญ...คือความชอบธรรมนั้นเอง” (ข้อ 10-11) ความเห็นแก่ตัวนำมาซึ่งความทุกข์ยาก แต่ความบริสุทธิ์ทำให้เราสมบูรณ์ เบิกบาน และ “น่ารัก” เหมือนพระองค์

โรซามอนด์ถามสตรีผู้มีปัญญาว่าท่านรักเด็กหญิงที่เห็นแก่ตัวอย่างเธอได้อย่างไร สตรีนั้นก้มลงจูบเธอแล้วตอบว่า “ฉันเห็นว่าเธอจะเป็นอย่างไร” การแก้ไขของพระเจ้ามาพร้อมกับความรักและความปรารถนาด้วยเช่นกันที่จะทำให้เราเป็นอย่างที่เราควรจะเป็น

มองไปบนท้องฟ้า

อเล็กซ์ สมอลลีย์อยากให้ทุกคนตื่นเร็วขึ้นหรือไม่ก็ใช้เวลาในช่วงใกล้สิ้นสุดวันให้นานขึ้น เพื่อจะชมดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ช่วงเวลาเหล่านั้นที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วเป็นช่วงที่งดงามและน่าประทับใจที่สุดของวัน ตามคำของสมอลลีย์หัวหน้านักวิจัยการศึกษาในอังกฤษเรื่องอิทธิพลของบรรยากาศอันน่ายำเกรง แสงอาทิตย์ขึ้นหรือตกที่ให้ความสงบสามารถแก้ไขความรู้สึกขุ่นหมอง เพิ่มอารมณ์เชิงบวกและลดความเครียดได้มากยิ่งกว่าท้องฟ้าสีครามหรือทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่ระยิบระยับ สมอลลีย์กล่าวว่า “เมื่อคุณเห็นบางอย่างที่ไพศาลและท่วมท้นหรือบางอย่างที่ก่อให้เกิดความรู้สึกยำเกรง คุณจะรู้สึกว่าค่อยๆเล็กลง ดังนั้นคุณจึงไม่กังวลกับปัญหานั้นมากนัก”

การค้นพบที่น่าพิศวงของเขาสะท้อนถ้อยคำของผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ “ข้าแต่พระเจ้า คือพระองค์เอง ผู้ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ด้วยฤทธานุภาพใหญ่ยิ่งของพระองค์และด้วยพระหัตถ์ซึ่งเหยียดออกของพระองค์ สำหรับพระองค์ไม่มีสิ่งใดที่ยากเกิน” (ยรม.32:17)

กษัตริย์ดาวิดก็ทอดพระเนตรการทรงสร้างของพระเจ้าและประกาศว่า “ฟ้าสวรรค์ประกาศพระสิริของพระเจ้า และภาคพื้นฟ้าสำแดงพระหัตถกิจของพระองค์” (สดด.19:1) ดวงอาทิตย์นั้น “ขึ้นมาจากสุดปลายฟ้าสวรรค์ข้างหนึ่ง และโคจรไปถึงที่สุดปลายอีกข้างหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดสามารถซ่อนให้พ้นจากความร้อนของมันได้” (ข้อ 6) การทรงสร้างอันเต็มไปด้วยพระสิริของพระเจ้านั้นสะท้อนถึงพระผู้สร้างผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ทำไมวันนี้เราจึงไม่ใช้เวลามองไปบนท้องฟ้าและรู้สึกอัศจรรย์ใจในพระองค์!

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา