ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Karen Huang

ที่ลี้ภัยที่แท้จริงของเราคือพระเจ้า

หลังจากที่ภรรยาของเฟร็ดเสียชีวิต เขารู้สึกว่าตนเองจะทนต่อความเจ็บปวดนี้ได้ตราบใดที่ยังคงได้ทานอาหารเช้าทุกวันจันทร์กับเพื่อนๆ ผองเพื่อนวัยเกษียณช่วยยกชูจิตใจของเขา เมื่อใดก็ตามที่ความเศร้ามาเยือน เฟร็ดจะคิดถึงครั้งถัดไปที่จะได้สนุกกับเพื่อนๆอีกครั้ง โต๊ะหัวมุมของพวกเขาเป็นสถานที่หลบภัยจากความโศกเศร้าของเฟร็ด

แต่เมื่อเวลาผ่านไปการพบปะนี้ก็ยุติลง เพื่อนบางคนป่วย บ้างก็เสียชีวิต ความว่างเปล่าทำให้เฟร็ดแสวงหาการปลอบประโลมจากพระเจ้าที่เขาเคยพบเมื่อวัยเยาว์ “ตอนนี้ผมทานอาหารเช้าคนเดียวแล้ว” เขาบอก“แต่ผมเตือนตัวเองให้ยึดมั่นในความจริงว่าพระเยซูทรงอยู่กับผม และเมื่อผมออกจากร้านอาหาร ผมก็ไม่ต้องเผชิญกับวันที่เหลือตามลำพัง”

เช่นเดียวกับผู้เขียนสดุดี เฟร็ดค้นพบความปลอดภัยและการปลอบประโลมในการทรงสถิตของพระเจ้า “ที่ลี้ภัยของข้าพระองค์...ผู้ที่ข้าพระองค์ไว้วางใจ” (สดด.91:2) เฟร็ดได้รู้จักความปลอดภัยซึ่งไม่ใช่แค่ที่หลบซ่อนตัว แต่เป็นการทรงสถิตอันมั่นคงของพระเจ้าที่เราจะวางใจและพักสงบได้ (ข้อ 1) ทั้งเฟร็ดและผู้เขียนสดุดีพบว่าพวกเขาไม่ต้องเผชิญวันที่ยากลำบากเพียงลำพัง เราเองก็มั่นใจในการปกป้องและความช่วยเหลือจากพระเจ้าได้เช่นกัน เมื่อเราหันมาหาพระองค์ด้วยความไว้วางใจ พระองค์สัญญาว่าจะทรงตอบและอยู่กับเรา (ข้อ 14-16)

เมื่อชีวิตประสบความยากลำบาก เรามีที่หลบภัยหรือ “โต๊ะหัวมุม” ที่จะไปหรือไม่ ที่เหล่านั้นไม่คงอยู่ตลอดไปแต่พระเจ้าทรงอยู่ถาวรนิรันดร์ ทรงรอคอยที่เราจะเข้าไปหาพระองค์ผู้ทรงเป็นที่ลี้ภัยที่แท้จริงของเรา

เป็น​เรื่อง​อะไร​ของ​เจ้า​เล่า

“ทำไมหนูถึงได้อมยิ้มรสสตรอเบอร์รี่ แต่เขาได้รสองุ่น” หลานสาววัยหกขวบของฉันถาม หลานสาวและหลานชายสอนฉันตั้งแต่พวกเขายังเล็กว่า เด็กๆมักจะเปรียบเทียบสิ่งที่พวกเขาได้รับกับสิ่งที่คนอื่นได้รับ นี่หมายความว่าในฐานะป้าที่รักหลาน ฉันต้องใช้วิจารณญาณให้ดี!

บางครั้งฉันก็เปรียบเทียบสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ฉันกับสิ่งที่พระองค์ประทานให้ผู้อื่นเช่นกัน “ทำไมฉันถึงได้สิ่งนี้ และเขาได้สิ่งนั้น” ฉันถามพระเจ้า คำถามของฉันทำให้นึกถึงสิ่งที่ซีโมนเปโตรถามพระเยซูที่ทะเลสาบกาลิลี พระเยซูเพิ่งจะประทานการฟื้นฟูและการให้อภัยแก่เปโตรที่ได้ปฏิเสธพระองค์ก่อนหน้านี้ และตอนนี้ทรงกำลังบอกเปโตรว่าท่านจะถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยการพลีชีพเพื่อความเชื่อ (ยน.21:15-19) แต่แทนที่จะตอบรับคำเชิญให้ติดตามพระเยซู เปโตรกลับถามว่า “พระ​องค์​เจ้า​ข้า คน​นี้​ [ยอห์น] จะ​เป็น​อย่างไร” (ข้อ 21)

พระเยซูตรัสตอบว่า “เป็น​เรื่อง​อะไร​ของ​เจ้า​เล่า” และตรัสอีกว่า “เจ้า​จง​ตาม​เรา​มา​เถิด” (ข้อ 22) ฉันเชื่อว่าพระเยซูจะตรัสแบบนี้กับเราเช่นกัน เมื่อพระองค์ประทานการทรงนำในชีวิตด้านใดด้านหนึ่งของเรา พระองค์ทรงปรารถนาให้เราไว้วางใจในพระองค์ เราไม่ต้องเปรียบเทียบเส้นทางของเรากับเส้นทางของคนอื่น แต่เราจะติดตามพระองค์เท่านั้น

เป็นเวลากว่าสามสิบปีที่อัครสาวกเปโตรติดตามพระเจ้าในฐานะผู้นำที่กล้าหาญของคริสตจักรยุคแรก ประวัติศาสตร์ยังบันทึกไว้ว่าท่านโอบรับความตายภายใต้จักรพรรดิเนโรผู้ชั่วร้ายอย่างไม่เกรงกลัว ขอให้เราติดตามพระเจ้าอย่างมั่นคงและไม่สงสัย และไว้วางใจในความรักและการทรงนำของพระองค์เช่นกัน

ใหม่และแน่นอน

สามปีมาแล้วที่ซูซานไม่ได้ซื้ออะไรให้ตัวเองเลยนอกจากของใช้จำเป็นในบ้าน การระบาดใหญ่ของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเพื่อนฉันคนนี้ และเธอใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย “วันหนึ่งขณะทำความสะอาดอพาร์ทเมนต์ ฉันสังเกตเห็นว่าข้าวของของฉันดูเก่าและหมองแค่ไหน” เธอเล่า “ในเวลานั้นเองฉันเริ่มคิดถึงการมีสิ่งของใหม่ๆ ที่ทำให้รู้สึกสดชื่นและน่าตื่นเต้น สิ่งต่างๆรอบตัวฉันดูซ้ำซากและน่าเบื่อ ฉันรู้สึกราวกับว่าไม่มีสิ่งใดให้รอคอย”

ซูซานได้พบคำหนุนใจจากพระธรรมเล่มหนึ่งในพระคัมภีร์ที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งเขียนโดยเยเรมีย์หลังจากที่กรุงเยรูซาเล็มตกเป็นของบาบิโลน บทเพลงคร่ำครวญบรรยายถึงบาดแผลแห่งความทุกข์โศกที่เกิดแก่ผู้เผยพระวจนะและประชาชน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความสิ้นหวังและเศร้าเสียใจ ความรักของพระเจ้ายังคงเป็นความหวังที่มั่นคง เยเรมีย์บันทึกไว้ว่า “พระเมตตาของพระเจ้าไม่มีสิ้นสุด... เป็นของใหม่อยู่ทุกเวลาเช้า” (3:22-23)

ซูซานได้รับการย้ำเตือนว่าความรักมั่นคงของพระเจ้าเกิดขึ้นใหม่อย่างไม่เคยหยุดยั้งในทุกๆวัน เมื่อสถานการณ์ทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดให้รอคอยอีกต่อไป เราสามารถระลึกถึงความสัตย์ซื่อของพระเจ้าได้และรอคอยว่าพระองค์จะจัดเตรียมให้เราอย่างไร เราตั้งความหวังไว้ในพระเจ้าได้อย่างมั่นใจด้วยรู้ว่าความหวังของเราจะไม่สูญเปล่า (ข้อ 24-25) เพราะความหวังนั้นตั้งมั่นอยู่ในความรักมั่นคงและพระเมตตาของพระเจ้า

“ความรักของพระเจ้าคือ ‘สิ่งใหม่’ ของฉันในแต่ละวัน” ซูซานกล่าว “ฉันสามารถมองไปข้างหน้าได้อย่างมีความหวัง”

ความเมตตาผ่านพิซซ่า

คำเชิญให้ร่วมรับประทานอาหารเย็นจากแฮโรลด์ผู้นำคริสตจักรกับแพม ผู้เป็นภรรยาทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่น แต่ก็ทำให้กระวนกระวายใจเช่นกัน ฉันเข้าร่วมกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ของวิทยาลัยที่สอนแนวคิดที่ขัดแย้งกับคำสอนบางอย่างในพระคัมภีร์ พวกเขาจะต่อว่าฉันในเรื่องนี้ไหม

ระหว่างรับประทานพิซซ่า พวกเขาเล่าเรื่องครอบครัวพวกเขาและถามถึงครอบครัวฉัน พวกเขาฟังฉันคุยเรื่องการบ้าน เรื่องเจ้าบูชิสุนัขของฉัน และผู้ชายที่ฉันแอบชอบ แต่แล้วพวกเขาก็เตือนฉันอย่างอ่อนโยนเกี่ยวกับกลุ่มที่ฉันเข้าร่วมและอธิบายสิ่งที่ผิดในคำสอนของกลุ่มนั้น

คำเตือนของพวกเขานำฉันออกห่างจากคำโกหกในกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์นั้นและเข้ามาใกล้ความจริงของพระคัมภีร์ ในจดหมายฝากของยูดา ท่านใช้ภาษาที่รุนแรงเกี่ยวกับผู้สอนเท็จ กระตุ้นให้ผู้เชื่อ “ต่อสู้เพื่อความเชื่อ” (ยด.1:3TNCV) ท่านเตือนคนทั้งหลายว่า “ในสมัยสุดท้ายจะมีคนเย้ยหยันบังเกิดขึ้น...คือคนที่แยกออกเป็นก๊กๆ...และปราศจากพระวิญญาณ” (ข้อ 18-19) แต่ยูดายังเรียกร้องให้ผู้เชื่อ “สำแดงความเมตตาแก่ผู้ที่สงสัย” (ข้อ 22 TNCV) โดยอยู่เคียงข้างพวกเขา แสดงความเห็นอกเห็นใจโดยไม่ประนีประนอมกับความจริง

แฮโรลด์และแพมรู้ว่าฉันไม่มั่นคงในความเชื่อ แต่แทนที่จะตัดสินฉัน พวกเขาเสนอมิตรภาพก่อนแล้วจึงให้ปัญญา ขอพระเจ้าประทานความรักและความอดทนแบบเดียวกันนี้แก่เรา ที่จะใช้สติปัญญาและความเมตตาเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ยังสงสัยอยู่

รับการทรงเรียกและตระเตรียมโดยพระเจ้า

“หน้าที่ของคุณในงานมหกรรมหนังสือนานาชาติ คือจัดรายการวิทยุนอกสถานที่” เจ้านายบอก ซึ่งฉันรู้สึกกลัวเพราะนี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับฉัน ฉันอธิษฐาน ข้าพระองค์ไม่เคยทำอะไรแบบนี้ ขอทรงช่วยข้าพระองค์

พระเจ้าทรงจัดเตรียมทรัพยากรและผู้คนเพื่อแนะนำฉัน ทั้งช่างเทคนิคและนักจัดรายการที่มีประสบการณ์ รวมถึงคอยเตือนในรายละเอียดที่ฉันมองข้ามไป เมื่อมองย้อนกลับไป ฉันรู้ว่าการออกอากาศเป็นไปด้วยดีเพราะพระองค์ทรงรู้ว่าอะไรจำเป็นและทรงกระตุ้นให้ฉันใช้ทักษะต่างๆที่พระองค์ประทานให้

เมื่อพระเจ้าทรงมอบหมายงานให้เรา พระองค์จะทรงเตรียมเราให้พร้อมสำหรับสิ่งนั้นด้วย เมื่อทรงมอบหมายให้เบซาเลลสร้างพลับพลา เบซาเลลเป็นช่างฝีมือที่ชำนาญอยู่แล้ว พระเจ้าทรงจัดเตรียมเขานอกเหนือจากนี้โดยให้เขาประกอบด้วยพระวิญญาณของพระองค์ คือให้เขามีสติปัญญา ความเข้าใจและความรู้ในวิชาการทุกอย่าง (อพย.31:3) อีกทั้งประทานผู้ช่วยอีกคนหนึ่ง คือโอโฮลีอับตลอดจนช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญแก่เขาด้วย (ข้อ 6) ด้วยความสามารถที่มาจากพระองค์ ทีมงานจึงวางแผนและจัดทำเต็นท์ เครื่องใช้อื่นๆทั้งหมดในเต็นท์ รวมทั้งเครื่องแต่งกายสำหรับปุโรหิต สิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือในการนมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้องของคนอิสราเอล (ข้อ 7-11)

เบซาเลล แปลว่า “ในร่มเงา [การปกป้อง]ของพระเจ้า” ช่างผู้ชำนาญนี้ทำงานตลอดช่วงชีวิตภายใต้การคุ้มครอง ฤทธิ์อำนาจ และการจัดเตรียมของพระเจ้า ขอให้เราเชื่อฟังการกระตุ้นของพระองค์ด้วยความกล้าหาญในขณะที่เราทำภารกิจให้สำเร็จลุล่วง พระองค์ทรงรู้ว่าเราต้องการอะไรและจะประทานให้เมื่อใดและอย่างไร

พระเจ้ารู้ถึงความจำเป็นในชีวิตเรา

แลนโด้ ซึ่งเป็นคนขับรถจี๊ปนี่ (รถโดยสารสาธารณะประเภทหนึ่งในฟิลิปปินส์) ในกรุงมะนิลากำลังดื่มกาแฟอยู่ที่ร้านข้างถนน ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตเดินทางไปทำงานอีกครั้งหลังจากการล็อกดาวน์ของโควิด19 เขาคิดในใจว่างานกีฬาวันนี้จะทำให้มีผู้โดยสารมากขึ้น ผมจะมีรายได้ที่หายไปคืนมา แล้วที่สุดก็จะได้หยุดกังวลสักที

เขากำลังจะเริ่มขับรถเมื่อมองเห็นรอนนี่บนม้านั่งใกล้ๆ คนกวาดถนนดูเหมือนกำลังมีปัญหา เหมือนเขาต้องการคุยกับใครสักคน แต่ทุกนาทีมีค่านะ แลนโด้นึกในใจ ยิ่งผู้โดยสารมาก ยิ่งได้เงินมาก ผมช้าไม่ได้หรอก แต่เขารู้สึกว่าพระเจ้าต้องการให้เขาเข้าไปหารอนนี่ และเขาก็ทำตาม

พระเยซูทรงรู้ว่าการไม่กังวลนั้นยากเพียงใด (มธ.6:25-27) พระองค์จึงยืนยันกับเราว่าพระบิดาในสวรรค์ทรงรู้ถึงสิ่งที่เราต้องการ (ข้อ 32) เราได้รับการย้ำเตือนไม่ให้กังวล แต่ให้วางใจในพระองค์และทุ่มเททำในสิ่งที่พระองค์ต้องการให้เราทำ (ข้อ 31-33) เมื่อเรายอมรับและเชื่อฟังพระประสงค์ของพระเจ้า เรามั่นใจได้ว่าพระบิดาของเราผู้ทรง “ตกแต่งหญ้าที่ทุ่งนาอย่างนั้น ซึ่งเป็นอยู่วันนี้และรุ่งขึ้นต้องทิ้งในเตาไฟ” จะจัดเตรียมให้แก่เราตามน้ำพระทัยของพระองค์ ดังที่พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมให้กับบรรดาสรรพสิ่งที่ทรงสร้างนั้น (ข้อ 30)

เพราะบทสนทนาของแลนโด้กับรอนนี่ คนกวาดถนนผู้นี้จึงได้อธิษฐานเป็นผู้เชื่อในพระคริสต์ในที่สุด “และพระเจ้ายังทรงจัดเตรียมผู้โดยสารให้เพียงพอในวันนั้นด้วย” แลนโด้แบ่งปันว่า “พระองค์ย้ำเตือนกับผมว่าพระองค์ทรงใส่ใจในความจำเป็นของผม และสิ่งที่ผมควรห่วงคือการติดตามพระองค์”

หัวใจเพื่อพระคริสต์

ตราบใดที่เธอยังคงปิดปากเงียบ ฉันบอกตัวเอง เธอก็จะไม่ทำอะไรผิด ฉันพยายามไม่แสดงความรู้สึกโกรธที่มีต่อเพื่อนร่วมงานออกมาหลังจากที่ตีความสิ่งที่เธอพูดผิดไป เนื่องจากเราต้องเจอกันทุกวัน ฉันจึงตัดสินใจสื่อสารกับเธอเฉพาะเรื่องที่จำเป็น (และตอบโต้เธอด้วยความเงียบ) การที่เราเงียบนั้นผิดตรงไหนล่ะ

พระเยซูตรัสว่าความบาปเริ่มต้นที่ใจ (มธ.15:18-20) การที่ฉันเงียบอาจหลอกให้คนเชื่อว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี แต่ฉันหลอกพระเจ้าไม่ได้ พระองค์รู้ว่าฉันปิดบังความโกรธไว้ในใจ ฉันเป็นเหมือนพวกฟาริสีที่ให้เกียรติพระเจ้าแต่ปาก แต่จิตใจนั้นห่างไกลจากพระองค์ (ข้อ 8) แม้ภายนอกฉันจะไม่ได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา แต่ภายในนั้นเต็มไปด้วยความขมขื่น ฉันไม่เหลือความชื่นชมยินดีและความรู้สึกใกล้ชิดที่เคยมีกับพระบิดาในสวรรค์เมื่อฉันบ่มเพาะและปิดบังความบาปเอาไว้

แต่โดยพระคุณพระเจ้า ฉันสารภาพกับเพื่อนร่วมงานคนนั้นว่าฉันรู้สึกอย่างไรและขอโทษเธอ เธอยกโทษให้ฉัน และในที่สุดเราก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน พระเยซูตรัสว่า “ความคิดชั่วร้าย...ก็ออกมาจากใจ” (ข้อ 19) สภาพของหัวใจเรานั้นสำคัญเพราะเป็นที่ซึ่งความชั่วร้ายอาศัยอยู่และสามารถไหลบ่าเข้ามาในชีวิตของเราได้ ดังนั้น สถานภาพทั้งภายนอกและภายในของเราจึงสำคัญอย่างมาก

เมื่อพระเยซูทรงหยุด

หลายวันแล้วที่แมวป่วยตัวนั้นส่งเสียงร้องและซุกตัวอยู่ในกล่องใกล้ที่ทำงานของฉัน มันถูกทิ้งข้างถนนโดยคนที่เดินผ่านไปมาไม่ได้สังเกตเห็น จนกระทั่งจุนคนกวาดถนนผ่านมาและนำมันกลับไปบ้านที่เขาอยู่กับสุนัขสองตัวซึ่งเคยเป็นสุนัขจรจัดมาก่อน

“ผมดูแลพวกมันเพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีใครสังเกตห็น” จุนกล่าว “ผมเห็นตัวเองในพวกมัน ไม่ว่าจะอย่างไรไม่เคยมีใครสังเกตเห็นคนกวาดถนน”

เมื่อพระเยซูเสด็จผ่านเมืองเยรีโคระหว่างเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ชายตาบอดคนหนึ่งนั่งขอทานอยู่ข้างถนน เขารู้สึกไม่มีใครสังเกตเห็นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ เมื่อฝูงชนเดินผ่านไปมาและทุกสายตาจับจ้องไปที่พระคริสต์ ไม่มีใครหยุดช่วยชายขอทานคนนั้น

ไม่มีใครนอกจากพระเยซู ท่ามกลางเสียงฝูงชนที่อลหม่าน พระองค์ได้ยินเสียงร้องของชายผู้ถูกลืม พระคริสต์ตรัสถามว่า “เจ้าปรารถนาจะให้เราทำอะไรให้เจ้า” และทรงได้รับคำตอบจากใจว่า “พระองค์เจ้าข้า โปรดให้ข้าพระองค์เห็นได้” พระเยซูจึงตรัสกับเขาว่า “จงเห็นเถิด ความเชื่อของเจ้าได้กระทำให้ตัวเจ้าหายปกติ” (ลก.18:41-42)

บางครั้งเรารู้สึกว่าไม่มีใครสังเกตเห็นเราใช่ไหม เสียงร้องไห้ของเราถูกกลบโดยคนที่ดูเหมือนจะสำคัญกว่าเราหรือเปล่า พระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงสังเกตเห็นสิ่งที่โลกไม่สนใจจะเห็น จงร้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์! ในขณะที่คนอื่นอาจเดินผ่านเราไป แต่พระองค์จะทรงหยุดเพื่อเรา

เติบโตในพระเยซู

ตอนเป็นเด็ก ฉันมองว่าผู้ใหญ่ฉลาดและไม่มีทางล้มเหลว พวกเขารู้เสมอว่าต้องทำอะไร ฉันคิดอย่างนั้น วันหนึ่งเมื่อฉันโตขึ้นฉันก็จะรู้ว่าต้องทำอย่างไรเหมือนกัน “วันหนึ่ง” ที่ว่านั้นมาถึงเมื่อหลายปีมาแล้ว และทั้งหมดที่ฉันเรียนรู้คือ ฉันก็ยังคงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรในหลายๆครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยในครอบครัว ปัญหาเรื่องงาน หรือความสัมพันธ์ที่ขัดแย้ง ช่วงเวลาเหล่านั้นได้ขจัดเอาภาพลวงตาที่คิดว่าตัวเองมีกำลังและอำนาจควบคุมออกไปแล้ว เหลือไว้เพียงทางเลือกเดียว คือที่ฉันจะหลับตาลงและกระซิบว่า “พระองค์เจ้าข้า ช่วยด้วย ข้าพระองค์ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร”

อัครทูตเปาโลเข้าใจความรู้สึกหมดหนทางนี้ “หนาม” ในชีวิตท่านซึ่งอาจเป็นความเจ็บป่วยทางกาย ทำให้ท่านคับข้องใจและเจ็บปวด แต่ด้วยหนามนี้ เปาโลจึงได้มีประสบการณ์กับความรัก พระสัญญาและพระพรของพระเจ้าที่มากพอ จนท่านอดทนและเอาชนะความยากลำบากได้ (2 คร.12:9) ท่านเรียนรู้ว่าความอ่อนแอและการหมดหนทางของตนเองไม่ได้หมายถึงความพ่ายแพ้ เมื่อยอมจำนนต่อพระเจ้าด้วยความไว้วางใจ สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นเครื่องมือของพระองค์ที่จะทรงเข้ามาและกระทำกิจผ่านสถานการณ์เหล่านี้ (ข้อ 9-10)

การที่เราโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้หมายความว่าเรารู้ทุกอย่าง แน่นอนว่าเราฉลาดขึ้นตามอายุ แต่ที่สุดแล้วความอ่อนแอมักจะเปิดเผยให้เห็นว่าเราไม่ได้มีอำนาจควบคุมใดๆ แต่ฤทธิ์อำนาจที่แท้จริงของเราอยู่ในพระคริสต์ “เพราะว่าเมื่อข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด ข้าพเจ้าก็จะแข็งแรงมากเมื่อนั้น” (ข้อ 10) การ “เป็นผู้ใหญ่” ที่แท้จริงนั้นหมายถึง การที่เรารู้จัก ไว้วางใจและเชื่อฟังในฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า ที่จะมาถึงเมื่อเราตระหนักว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา