จุดสนใจที่ถูกต้อง
เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่เราได้รู้จักกับ คา เขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเซลในคริสตจักรของเราที่พบกันทุกสัปดาห์ เพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้า เย็นวันหนึ่งระหว่างที่เรามีประชุมตามปกติ คาพูดถึงการเคยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เขาพูดถึงมันแบบธรรมดาจนฉันเกือบจะไม่ทันได้สังเกตเกือบไป ทันใดนั้นฉันจึงได้รู้ว่าฉันรู้จักกับนักกีฬาโอลิมปิกผู้ซึ่งเคยแข่งขันในรอบชิงเหรียญทองแดง! ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมเขาไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้มาก่อนเลย แต่สำหรับคา แม้ความสำเร็จด้านกีฬาจะเป็นเรื่องพิเศษในชีวิตของเขา แต่มีสิ่งที่สำคัญกว่าซึ่งเป็นหัวใจแห่งตัวตนของเขา นั่นคือ ครอบครัว ชุมชน และความเชื่อของเขา
เรื่องราวในลูกา 10:1-23 อธิบายถึงสิ่งที่ควรเป็นหัวใจแห่งอัตลักษณ์ตัวตนของเรา เมื่อทั้งเจ็ดสิบสองคนที่พระเยซูส่งออกไปประกาศเรื่องแผ่นดินของพระเจ้ากลับมาจากการเดินทาง พวกเขารายงานต่อพระองค์ว่า “ถึงผีทั้งหลายก็ได้อยู่ใต้บังคับของพวกข้าพระองค์โดยพระนามของพระองค์” (ข้อ 17) แต่แม้พระเยซูทรงยอมรับว่าได้ประทานฤทธิ์เดชมหาศาลและการคุ้มครองแก่พวกเขา พระองค์ตรัสว่าพวกเขาให้ความสนใจในสิ่งที่ผิด พระองค์ทรงกำชับว่าพวกเขาควรชื่นชมยินดีเพราะ “ชื่อของท่านจดไว้ในสวรรค์” (ข้อ 20)
ไม่ว่าพระเจ้าจะประทานความสำเร็จหรือความสามารถใดให้แก่เรา แต่เหตุผลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับความชื่นชมยินดีของเราคือ ถ้าเรามอบถวายตนเองแด่พระเยซู ชื่อของเราจะถูกจดไว้ในสวรรค์ และเราจะมีความสุขกับการมีพระองค์สถิตอยู่ด้วยในชีวิตทุกวัน
ทีละน้อย
เทเรซ่าแห่งอวีลา ผู้เชื่อในศตวรรษที่สิบหกเขียนไว้ว่า “ในทุกสิ่งรอบตัวนั้น เรามองหาหนทางอันน่ารื่นรมย์ในการรับใช้พระเจ้า” เธอสะท้อนให้เห็นด้วยความเศร้าใจถึงวิธีต่างๆที่เราพยายามจะเป็นผู้ควบคุม โดยใช้วิธีการที่ง่ายกว่าและ “น่ารื่นรมย์” มากกว่าการที่จะยอมจำนนต่อพระเจ้าโดยสิ้นเชิง เรามักจะเติบโตอย่างช้าๆ ลังเล หรือแม้แต่ไม่เต็มใจที่จะเชื่อวางใจในพระองค์อย่างสุดใจ ดังนั้นเทเรซ่าจึงสารภาพว่า “แม้ในขณะที่เรามอบถวายชีวิตให้พระองค์ทีละนิดนั้น เราก็จะต้องเต็มใจที่จะรับของขวัญจากพระองค์ทีละน้อย จนกว่าเราจะมอบถวายชีวิตทั้งหมดแด่พระองค์”
ในฐานะมนุษย์ ความไว้วางใจไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติสำหรับพวกเราหลายคน ดังนั้นหากการที่เราจะได้มีประสบการณ์กับพระคุณและความรักของพระเจ้านั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถที่เราจะเชื่อวางใจและรับพระคุณความรักแล้วล่ะก็ เราคงลำบากแน่! แต่เมื่อเราอ่านใน 1 ยอห์น 4 นั้นพระเจ้าได้ทรงรักเราก่อน (ข้อ 19) พระองค์ทรงรักเรามาเนิ่นนานก่อนที่เราจะสามารถรักพระองค์ได้ ถึงขนาดทรงยินดีเสียสละพระบุตรของพระองค์เพื่อเรา ยอห์นบันทึกไว้ด้วยความประหลาดใจและซาบซึ้งใจว่า นี่คือ “ความรัก” (ข้อ 10)
พระเจ้าทรงค่อยๆเยียวยาจิตใจของเราทีละนิดเพื่อให้รับความรักจากพระองค์ พระคุณของพระองค์ค่อยๆหลั่งลงมาทีละน้อยเพื่อช่วยให้เราละทิ้งความกลัว (ข้อ18) พระคุณของพระองค์เข้าถึงจิตใจของเราทีละน้อย จนกระทั่งเราพบว่าตนเองได้มีประสบการณ์กับความงดงามและความรักอันล้นเหลือของพระองค์
เรียกหาพระเจ้า
ในหนังสือ รับอุปการะตลอดชีวิต (Adopted for Life) ดร.รัสเซลล์ มัวร์เล่าถึงการเดินทางของครอบครัวของเขาไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเพื่อรับอุปการะเด็กคนหนึ่ง ขณะที่พวกเขาเข้าไปในสถานรับเลี้ยงเด็กนั้น ที่นั่นเงียบอย่างน่าใจหาย เด็กทารกในเปลไม่ร้องไห้เลย ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ต้องการอะไร แต่เพราะพวกเขาเรียนรู้ว่าไม่มีใครใส่ใจพอที่จะตอบพวกเขา
หัวใจผมเจ็บแปลบเมื่อได้อ่านข้อความเหล่านั้น ผมจำได้ถึงคืนแล้วคืนเล่าเมื่อลูกของเรายังเล็ก ผมกับภรรยาหลับสนิทและต้องสะดุ้งตื่นเพราะเสียงร้องของพวกเขา “พ่อครับ ผมไม่สบาย!” หรือ “แม่ หนูกลัว!” เราคนใดคนหนึ่งจะรีบลุกไปที่ห้องนอนของพวกเขาเพื่อพยายามอย่างเต็มที่ที่จะปลอบโยนและดูแลพวกเขา ความรักที่เรามีต่อลูกๆทำให้พวกเขาร้องขอความช่วยเหลือจากเรา
บทเพลงสดุดีจำนวนมากมายหลายบทนั้นเป็นการร้องไห้หรือการคร่ำครวญต่อพระเจ้า ชนชาติอิสราเอลคร่ำครวญต่อพระองค์เพราะพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพวกเขา คนเหล่านี้คือชนชาติที่พระเจ้าทรงเรียกว่า “บุตรหัวปี” ของพระองค์ (อพย.4:22) และพวกเขากำลังทูลขอพระบิดาของพวกเขาให้ตอบสนองตามความสัมพันธ์นั้น ความเชื่อมั่นจากใจจริงเห็นได้ในสดุดี 25 ที่ว่า “ขอพระองค์ทรงหันมายังข้าพระองค์ และมีพระกรุณาต่อข้าพระองค์...ขอทรงนำข้าพระองค์ออกจากความทุกข์ใจของข้าพระองค์” (ข้อ 16-17) เด็กๆจะร้องไห้ หากพวกเขามั่นใจว่าตนเองได้รับความรักจากผู้ที่ให้การดูแล พระเจ้าประทานเหตุผลให้เราเรียกหาพระองค์ได้ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซูและลูกของพระองค์ พระองค์ทรงสดับฟังและทรงห่วงใยก็เพราะความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์
ความรักแห่งการปกป้องของพระเจ้า
คืนหนึ่งในฤดูร้อน จู่ๆฝูงนกใกล้บ้านของเราก็แตกตื่นส่งเสียงดัง เสียงร้องทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเหล่านกร้องเพลงต่างส่งเสียงแหลมปรี๊ดมาจากบนต้นไม้ ในที่สุดเราก็ได้รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ขณะที่ดวงอาทิตย์ตกดิน มีเหยี่ยวตัวใหญ่บินโฉบลงมาจากยอดไม้ ฝูงนกจึงแตกกระเจิงส่งเสียงร้องอย่างบ้าคลั่งเพื่อเตือนภัยขณะบินหนีจากอันตราย
ในชีวิตของเรานั้น เราจะได้ยินเสียงเตือนฝ่ายวิญญาณได้จากพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่ม เช่น คำเตือนในเรื่องคำสอนเท็จ บางทีเราอาจไม่แน่ใจในสิ่งที่ได้ยิน แต่เพราะความรักที่พระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ทรงมีต่อเรา พระองค์จึงประทานความชัดเจนในพระวจนะเพื่อให้เราเห็นอันตรายฝ่ายวิญญาณเหล่านั้นได้ง่ายๆ
พระเยซูสอนว่า “จงระวังผู้เผยพระวจนะเท็จ ที่มาหาท่านนุ่งห่มดุจแกะ แต่ภายในเขาร้ายกาจดุจหมาป่า” (มธ.7:15) พระองค์ตรัสต่อไปว่า “ท่านจะรู้จักเขาได้ด้วยผลของเขา...ต้นไม้ดีย่อมให้แต่ผลดี ต้นไม้เลวก็ย่อมให้ผลเลว” จากนั้นทรงเตือนเราว่า “ท่านจะรู้จักเขาได้เพราะผลของเขา” (ข้อ 16-17, 20) “คนหยั่งรู้เห็นอันตรายและซ่อนตัวของเขาเสีย” สุภาษิต 22:3 เตือนเรา “แต่คนเขลาเดินเรื่อยไป และรับอันตรายนั้น” คำเตือนนี้แฝงไว้ด้วยความรักแห่งการปกป้องคุ้มครองของพระเจ้า ซึ่งเปิดเผยในพระวจนะที่พระองค์ประทานแก่เรา
ในขณะที่ฝูงนกเตือนภัยกันถึงอันตรายฝ่ายร่างกาย ขอให้เราฟังคำเตือนจากพระวจนะที่ให้เราบินหนีจากอันตรายฝ่ายวิญญาณและเข้าสู่อ้อมแขนอันเป็นที่ลี้ภัยของพระเจ้า
การล้างเท้า...และล้างจาน
ในวันครบรอบแต่งงานปีที่ห้าสิบของชาร์ลีย์และแจน พวกเขาทานอาหารเช้าที่ร้านกาแฟกับลูกชายชื่อจอน วันนั้นร้านอาหารมีพนักงานไม่พอ มีเพียงผู้จัดการ แม่ครัว และเด็กสาววัยรุ่นหนึ่งคนซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟ และพนักงานเก็บโต๊ะ เมื่อพวกเขารับประทานอาหารเช้าเสร็จ ชาร์ลีย์หันไปหาภรรยาและลูกชายแล้วพูดว่า “ภายในอีกสองสามชั่วโมงนี้ ทั้งสองคนมีอะไรสำคัญที่ต้องไปทำหรือเปล่า” พวกเขาไม่มีอะไรต้องไปทำ
ดังนั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้จัดการ ชาร์ลีย์และแจนจึงเริ่มล้างจานที่ด้านหลังของร้าน ในขณะที่จอนเริ่มเก็บกวาดโต๊ะที่เลอะเทอะ จอนบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ใช่เรื่องผิดวิสัยแต่อย่างใด พ่อแม่ของเขามักปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างเหมือนพระเยซูผู้ “มิได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่ท่านมาเพื่อจะปรนนิบัติเขา” (มก.10:45)
ในยอห์น 13 เราได้อ่านเรื่องอาหารมื้อสุดท้ายที่พระคริสต์ทรงรับประทานร่วมกับสาวกของพระองค์ ในคืนนั้นพระอาจารย์ทรงสอนหลักแห่งการปรนนิบัติโดยการล้างเท้าที่สกปรกให้พวกเขา (ข้อ 14-15) หากพระองค์เต็มพระทัยที่จะทำงานต่ำต้อยโดยการล้างเท้าของชายสิบสองคน พวกเขาก็ควรปรนนิบัติผู้อื่นด้วยความชื่นชมยินดีเช่นกัน
ช่องทางของการรับใช้ที่เราพบอาจดูแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือความสุขในการรับใช้ จุดประสงค์ที่อยู่เบื้องหลังการรับใช้ไม่ใช่เพื่อให้ผู้ที่รับใช้นั้นได้รับการยกย่อง แต่คือการรับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก โดยมอบถวายคำสรรเสริญทั้งสิ้นแด่พระเจ้าของเราผู้ทรงอ่อนน้อมและยอมเสียสละพระองค์เอง
เลือกติดตามพระเจ้า
เดลิมิเร่อร์อ้างว่า “ในชั่วชีวิตหนึ่ง คนทั่วไปจะต้องทำการตัดสินใจ 773,618 ครั้ง” หนังสือพิมพ์สัญชาติอังกฤษฉบับนี้ยังยืนยันต่อไปอีกว่าคนเรา “จะรู้สึกเสียใจ 143,262 ครั้ง” จากการตัดสินใจเหล่านั้น ผมไม่รู้เลยว่าหนังสือพิมพ์ได้ตัวเลขเหล่านี้มาอย่างไร แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ คนเราต้องเผชิญกับการตัดสินใจจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนตลอดช่วงชีวิตของเรา ตัวเลขจำนวนมากนี้อาจทำให้เราไม่กล้ากระดิกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราตระหนักว่าการตัดสินใจทุกอย่างของเราจะเกิดผลตามมาที่อาจร้ายแรงแตกต่างกันไป
หลังจากเดินวนอยู่ในถิ่นทุรกันดารสี่สิบปี ลูกหลานของชนชาติอิสราเอลได้มายืนอยู่ที่หน้าทางเข้าไปสู่ดินแดนใหม่ของพวกเขา ในเวลาต่อมาหลังจากเข้าสู่ดินแดนนั้นแล้ว โยชูวาผู้นำของพวกเขาได้เสนอทางเลือกที่ท้าทายให้แก่พวกเขา คือ “จงยำเกรงพระเจ้าและปรนนิบัติพระองค์...ด้วยความซื่อสัตย์” ท่านกล่าว “จงทิ้งพระเหล่านั้นซึ่งบรรพบุรุษของท่านได้เคยปรนนิบัติ” (ยชว.24:14) โยชูวาบอกพวกเขาว่า “ถ้าท่านไม่เต็มใจที่จะปรนนิบัติพระเจ้า ท่านทั้งหลายจงเลือกเสียในวันนี้ว่าท่านจะปรนนิบัติผู้ใด...แต่ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัวของข้าพเจ้า เราจะปรนนิบัติพระเจ้า” (ข้อ 15)
เมื่อเราเริ่มต้นวันใหม่ในแต่ละวัน มีความเป็นไปได้ต่างๆมากมายที่ทำให้เราต้องตัดสินใจ การใช้เวลาเพื่อขอให้พระเจ้าทรงนำทางเราจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกของเรา โดยเดชของพระวิญญาณ เราสามารถเลือกที่จะติดตามพระองค์ในทุกวัน
เรียนรู้จากความผิดพลาด
ห้องสมุดแห่งความผิดพลาดได้ถูกก่อตั้งขึ้นที่เมืองเอดินบะระ ประเทศสก็อตแลนด์ เพื่อช่วยไม่ให้เกิดความผิดพลาดทางการเงินเหมือนในปีค.ศ. 1929 และ 2008 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ห้องสมุดนี้มีหนังสือมากกว่าสองพันเล่มที่ช่วยให้ความรู้แก่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลัง และยังทำหน้าที่เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบตามคำกล่าวของเหล่าผู้ดูแลของห้องสมุดที่ว่า “คนฉลาดมักทำเรื่องโง่ๆอยู่เสมอ” บรรดาผู้ดูแลเชื่อว่าวิธีการเดียวที่จะสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งได้คือการเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เปาโลเตือนชาวเมืองโครินธ์ว่า หนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงการพ่ายแพ้ต่อการทดลองและมีชีวิตฝ่ายวิญญาณที่เข้มแข็ง คือการเรียนรู้ความผิดพลาดจากคนของพระเจ้าในอดีต ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ถือดีในสิทธิพิเศษฝ่ายวิญญาณของพวกเขา เปาโลจึงได้ใช้ความผิดพลาดของชนชาติอิสราเอลในอดีตเป็นตัวอย่างเพื่อเรียนรู้ ชนชาติอิสราเอลสาละวนอยู่กับการนับถือรูปเคารพ เลือกที่จะ “ล่วงประเวณี” บ่นเรื่องแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า และกบฏต่อผู้นำที่พระเจ้าตั้งไว้ เพราะความบาปของพวกเขาทำให้พวกเขาต้องพบกับการตีสอนของพระเจ้า (1 คร.10:7-10 THSV11) เปาโลยกเอา “ตัวอย่าง” ในประวัติศาสตร์เหล่านี้มาจากพระคัมภีร์เพื่อช่วยให้ผู้เชื่อในพระเยซูหลีกเลี่ยงการทำผิดซ้ำกับชนชาติอิสราเอล (ข้อ 11)
ในขณะที่พระเจ้าทรงช่วยเรานั้น ขอให้เราเรียนรู้จากความผิดพลาดของเราและของผู้อื่น เพื่อที่เราจะได้มีจิตใจที่เชื่อฟังพระองค์
รับใช้ผู้อื่นเพื่อพระเยซู
นักแสดงหญิงนิเชลล์ นิโคลส์ เป็นที่จดจำมากที่สุดในการแสดงเป็นร้อยโทอูฮูร่าในซีรีส์ดั้งเดิมของเรื่องสตาร์เทรค การได้รับบทนี้ถือเป็นความสำเร็จของตัวนิโคลส์เองที่ทำให้เธอเป็นหนึ่งในหญิงชาวอัฟริกันอเมริกันคนแรกๆในรายการทีวีสำคัญ แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าคือสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
จริงๆแล้วนิโคลส์ได้ลาออกจากสตาร์เทรคหลังจากซีซั่นแรก เพื่อจะกลับไปแสดงละครเวที แต่แล้วเธอก็ได้พบกับมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ผู้ขอร้องไม่ให้เธอลาออก เขาบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ชาวอัฟริกันอเมริกันได้ออกทีวีโดยรับบทเป็นคนเก่งที่ทำอะไรก็ได้แม้แต่ไปอวกาศ ด้วยการแสดงเป็นร้อยโทอูฮูร่าทำให้นิโคลส์ได้รับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า คือการแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงและเด็กๆผิวสีก็เป็นคนเก่งได้
สิ่งนี้ทำให้ผมคิดถึงตอนที่ยากอบและยอห์นขอพระเยซูถึงตำแหน่งที่ดีที่สุดสองตำแหน่งในแผ่นดินของพระองค์ (มก.10:37) การได้ตำแหน่งนี้ดูเหมือนจะเป็นความสำเร็จจริงๆ! พระเยซูไม่เพียงอธิบายความจริงที่แสนเจ็บปวดให้กับคำขอนี้ (ข้อ 38-40) แต่ยังทรงเรียกร้องให้พวกเขาไปถึงเป้าหมายที่สูงกว่า โดยบอกว่า “ผู้ใดใคร่จะได้เป็นใหญ่ในพวกท่าน ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ปรนนิบัติท่านทั้งหลาย” (ข้อ 43) ผู้ติดตามของพระองค์จะไม่แสวงหาความสำเร็จสำหรับตัวเองเท่านั้น แต่จะเป็นเหมือนพระองค์ คือใช้ตำแหน่งของพวกเขาเพื่อรับใช้ผู้อื่น (ข้อ 45)
นิเชลล์ นิโคลส์อยู่กับสตาร์เทรคเพื่อจะได้ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าในการเตรียมทางให้กับคนอัฟริกันอเมริกัน ขอให้เราอย่าพึงพอใจเพียงแค่ความสำเร็จของตัวเองเท่านั้น แต่ให้เราใช้ตำแหน่งที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็นอะไรเพื่อรับใช้ผู้อื่นในพระนามของพระองค์
เพ่งมองที่พระเจ้า
ครั้งหนึ่งศิษยาภิบาลชาวสก๊อตในศตวรรษที่สิบเก้าชื่อ โธมัส ชาลเมอส์ ได้เล่าถึงตอนที่เขานั่งรถม้าไปในแถบที่ราบสูง ขณะที่รถไต่ไปตามเชิงผาแคบๆ ม้าตัวหนึ่งมีอาการตื่นกลัว และคนบังคับรถม้ากลัวว่าพวกเขาจะตกลงไปตาย จึงได้ตวัดแส้ซ้ำหลายๆครั้ง เมื่อพ้นจากอันตรายมาได้ ชาลเมอส์ถามคนบังคับรถม้าว่าทำไมเขาจึงหวดแส้อย่างรุนแรงเช่นนั้น “ผมต้องทำให้ม้าคิดถึงอย่างอื่น” เขากล่าว “ผมต้องให้พวกมันสนใจผม”
ในโลกที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามและอันตรายรอบตัว เราทุกคนต้องการบางอย่างที่ดึงความสนใจของเรา อย่างไรก็ตาม เราต้องการมากกว่าแค่สิ่งที่เบี่ยงเบนความคิดเราโดยใช้เทคนิควิธีทางจิตวิทยา สิ่งที่จำเป็นสำหรับเรามากที่สุดคือการตรึงความคิดของเราไว้กับความเป็นจริงที่ทรงพลังยิ่งกว่าความกลัวทั้งสิ้นที่เรามี ดังที่อิสยาห์กล่าวแก่ประชากรของพระเจ้าในยูดาห์ว่าสิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริงคือการจดจ่อความคิดของเราที่พระเจ้า ท่านสัญญาว่า “พระองค์ทรงรักษาไว้ในศานติภาพอันสมบูรณ์ เพราะเขาวางใจในพระองค์” (อสย.26:3) และเราสามารถ “วางใจในพระเจ้าเป็นนิตย์ เพราะพระเจ้าทรงเป็นศิลานิรันดร์” (ข้อ 4)
ศานติภาพ คือของขวัญสำหรับทุกคนที่เพ่งมองที่พระเจ้า และสันติสุขของพระองค์ให้เรามากกว่าแค่วิธียับยั้งความคิดที่แย่ที่สุดของเรา สำหรับผู้ที่ยอมจำนนโดยมอบอนาคต ความหวัง และความวิตกกังวลของพวกเขาให้พระองค์ พระวิญญาณจะประทานให้เขาเหล่านั้นมีวิถีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง