Month: กุมภาพันธ์ 2023

ลิงบาบูน ลา และฉัน

แจ็ครู้วิธีเบี่ยงรถไฟให้ไปถูกราง ตลอดเวลาเก้าปีในหน้าที่ เขาไม่เคยสับรางพลาดเมื่อได้ยินเสียงนกหวีดบอกทิศทางที่จะไปจากหัวรถจักรที่แล่นเข้าใกล้สถานีเมืองออยเทนฮาเก ประเทศแอฟริกาใต้

แจ็คเป็นลิงบาบูนชัคม่า อยู่ในการดูแลของเจมส์ ไวด์ ซึ่งเป็นพนักงานส่งสัญญาณรถไฟ และแจ็คเองก็คอยดูแลเจมส์ด้วย ไวด์เสียขาทั้งสองข้างจากการพลัดตกระหว่างกระโดดขึ้นลงรถไฟสองขบวนที่กำลังเคลื่อนที่ เขาฝึกแจ็คให้ช่วยงานในบ้าน และไม่นานแจ็คก็กลายเป็นผู้ช่วยในงานของเขาด้วย มันเรียนรู้วิธีตอบสนองต่อสัญญาณรถไฟที่กำลังมาถึงโดยดึงคันโยกสับรางตามสัญญาณ

พระคัมภีร์กล่าวถึงสัตว์อีกชนิดที่ช่วยเหลือคนด้วยวิธีที่น่าประหลาดใจ ซึ่งก็คือลาของบาลาอัม บาลาอัมเป็นผู้เผยพระวจนะของชาวต่างชาติซึ่งรับใช้กษัตริย์ที่ต้องการจะทำอันตรายแก่อิสราเอล ระหว่างทางที่บาลาอัมขี่ลาของตนไปช่วยกษัตริย์ “พระเจ้าเปิดปากลา” มันจึงพูดกับบาลาอัม (กดว.22:28) คำพูดของลาเป็นส่วนหนึ่งในวิธีที่พระเจ้าทรงเบิก “ตาบาลาอัม” (ข้อ 31) เพื่อเตือนเขาถึงอันตรายที่จะมาถึง และห้ามเขาไม่ให้ทำร้ายประชากรของพระองค์

ลิงบาบูนสับรางรถไฟหรือลาพูดได้น่ะหรือ แล้วจะทำไมล่ะ ถ้าพระเจ้าทรงสามารถใช้สัตว์แสนอัศจรรย์เหล่านี้เพื่อพระประสงค์อันดี ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเชื่อว่าพระองค์ทรงสามารถใช้คุณและผมได้ด้วยเช่นกัน จงมองและแสวงหากำลังจากพระองค์ เราจะสามารถทำได้มากยิ่งกว่าที่เราเคยคิดว่าจะเป็นไปได้

มองเห็นความต้องการ

ช่วงไม่กี่วันสุดท้ายในชีวิตของพ่อ พยาบาลคนหนึ่งแวะมาที่ห้องของท่านและถามฉันว่าเธอจะขอโกนหนวดให้ท่านได้ไหม ขณะที่ราเชลค่อยๆปาดมีดโกนไปบนใบหน้าของท่าน เธออธิบายว่า “ชายชราวัยเดียวกับท่านมักชอบโกนหนวดอย่างประณีตทุกวัน” ราเชลมองเห็นความต้องการและทำตามสัญชาตญาณของเธอในการแสดงความมีน้ำใจ ให้เกียรติ และเคารพผู้อื่น การปรนนิบัติอย่างอ่อนโยนของเธอทำให้ฉันนึกถึงจูลี่เพื่อนของฉันที่ยังคงทาเล็บให้กับแม่ผู้ชรา เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับแม่คือ “การดูดี”

กิจการบทที่ 9 บอกเราถึงสาวกคนหนึ่งที่ชื่อโดรคัส (หรือทาบิธา) ซึ่งมักแสดงน้ำใจโดยการตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับคนยากจน (ข้อ 36, 39) เมื่อเธอเสียชีวิต ห้องของเธอเต็มไปด้วยเพื่อนฝูงที่พากันร้องไห้คร่ำครวญถึงหญิงใจดีที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นคนนี้

แต่เรื่องราวของโดรคัสไม่ได้จบเท่านี้ เมื่อเปโตรถูกเชิญมายังที่ซึ่งศพของเธอตั้งอยู่ ท่านได้คุกเข่าลงอธิษฐาน และเรียกชื่อเธอโดยฤทธิ์เดชของพระเจ้าว่า “ทาบิธาเอ๋ย จงลุกขึ้น” (ข้อ 40) โดรคัสลืมตาและลุกขึ้นยืนอย่างอัศจรรย์เมื่อพวกเพื่อนเห็นว่าเธอกลับมามีชีวิตก็เล่าต่อกันไปอย่างรวดเร็วจนทั่วเมือง และ “คนเป็นอันมากพากันมาเชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 42)

แล้วโดรคัสใช้ชีวิตในวันต่อๆมาของเธออย่างไรน่ะหรือ บางทีอาจจะเหมือนกับที่เธอเคยทำมาตลอด คือการมองเห็นความต้องการของผู้คนและตอบสนองแก่พวกเขา

นี่เป็นหมายสำคัญหรือเปล่า

ข้อเสนอฟังดูดีและตรงกับความต้องการของปีเตอร์ หลังจากถูกเลิกจ้างผู้หาเลี้ยงครอบครัวเล็กๆเพียงคนเดียวนี้ก็อธิษฐานของานอย่างสิ้นหวัง “นี่ต้องเป็นการตอบคำอธิษฐานจากพระเจ้าอย่างแน่นอน” เพื่อนของเขาออกความเห็น

แต่เมื่อได้อ่านเกี่ยวกับนายจ้างใหม่ ปีเตอร์กลับรู้สึกกังวล บริษัทนี้เคยลงทุนในธุรกิจน่าสงสัยและเคยถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริต ในที่สุดปีเตอร์ก็ปฏิเสธข้อเสนอแม้จะรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องทำเช่นนั้น “ผมเชื่อว่าพระเจ้าทรงต้องการให้ผมทำสิ่งที่ถูกต้อง” เขาบอกกับผม “เพียงแต่ผมต้องวางใจว่าพระองค์จะทรงจัดเตรียมเพื่อผม”

เรื่องของปีเตอร์ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่ดาวิดพบกับซาอูลในถ้ำ ดูเหมือนท่านจะได้รับโอกาสอันยอดเยี่ยมในการฆ่าชายที่ไล่ล่าท่าน แต่ดาวิดปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “พระเจ้าทรงห้ามไม่ให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งนี้ต่อ...ผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมตั้งไว้” (1 ซมอ.24:6) ดาวิดระมัดระวังในการแยกแยะระหว่างการตีความสถานการณ์ด้วยตนเอง กับพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้เชื่อฟังพระดำรัสของพระองค์และทำสิ่งที่ถูกต้อง

แทนที่จะพยายามมองหา “หมายสำคัญ” ในสถานการณ์ใดๆอยู่เสมอ ขอให้มองไปที่พระเจ้าและความจริงของพระองค์ เพื่อจะมีสติปัญญาและคำชี้แนะในการแยกแยะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา พระองค์จะทรงช่วยเราให้ทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระองค์

จงพูดเรื่องพระเยซูต่อไป!

นักดนตรีที่เชื่อในพระคริสต์คนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ถึงช่วงเวลาที่เขามักถูกกดดันให้ “หยุดพูดเรื่องพระเยซู” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มีการให้ความเห็นว่าวงของเขาจะยิ่งโด่งดังและหาเงินได้มากขึ้นเพื่อนำมาเลี้ยงดูคนยากจน หากเขาเลิกพูดว่างานของเขาล้วนเกี่ยวข้องกับพระเยซู หลังไตร่ตรองดีแล้วเขาตัดสินใจว่า “วัตถุประสงค์ทั้งสิ้นในงานเพลงของผมก็คือการแบ่งปันความเชื่อในพระคริสต์...ไม่มีทาง(ที่ผม)จะเงียบ” เขาบอกว่า “ภาระใจอันร้อนรนของผม(คือ)การแบ่งปันเรื่องราวของพระเยซู”

ในสถานการณ์การข่มเหงที่ร้ายแรงยิ่งกว่า พวกอัครทูตได้รับข้อความเช่นเดียวกัน พวกเขาถูกจำคุกและได้รับการช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์โดยทูตองค์หนึ่งซึ่งบอกพวกเขาให้ประกาศข้อความแห่งชีวิตใหม่ในพระคริสต์แก่ผู้อื่นต่อไป (กจ.5:19-20) เมื่อพวกผู้นำศาสนาทราบว่าพวกอัครทูตออกจากคุกไปได้และพวกเขายังคงประกาศข่าวประเสริฐอยู่ จึงต่อว่าพวกเขาว่า “เราได้กำชับพวกเจ้าอย่างแข็งแรงมิให้สอนออกชื่อ [พระเยซู] นี้” (ข้อ 28)

พวกเขาจึงตอบว่า “ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์” (ข้อ 29) ด้วยเหตุนี้พวกผู้นำจึงเฆี่ยนพวกอัครทูตและ “กำชับไม่ให้ออกพระนามของพระเยซู” (ข้อ 40) พวกอัครทูตยินดีที่เห็นว่าตนสมควรจะได้รับการทนทุกข์เพราะพระนามพระเยซู และ “ได้สั่งสอนและประกาศข่าวประเสริฐทุกๆวันมิได้ขาด” (ข้อ 42) ขอพระเจ้าทรงช่วยให้เรายังคงทำตามแบบอย่างของพวกเขาต่อไป!

อธิษฐานในยามยากลำบาก

นักเขียนและนักศาสนศาสตร์รัสเซล มัวร์ บรรยายข้อสังเกตถึงความเงียบอันน่าขนลุกในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ารัสเซียที่เขาไปรับอุปการะพวกลูกชายของเขา ต่อมามีคนอธิบายว่าพวกเด็กทารกหยุดร้องไห้เพราะเรียนรู้ว่าไม่มีใครตอบสนองเสียงร้องของพวกเขา

เมื่อเราเผชิญกับช่วงเวลายากลำบาก เราอาจรู้สึกว่าไม่มีใครได้ยินเช่นกัน และที่เลวร้ายที่สุดเราอาจรู้สึกว่าพระเจ้าเองก็ไม่ได้ยินเสียงร้องและไม่เห็นน้ำตาของเรา แต่พระองค์ทรงเห็นและได้ยิน! ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องการถ้อยคำวิงวอนและร้องทุกข์ซึ่งพบบ่อยครั้งในพระธรรมสดุดี ผู้เขียนสดุดีวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า และร้องทุกข์ถึงสถานการณ์ของพวกเขาต่อพระองค์ด้วย ในสดุดี 61 ดาวิดนำคำวิงวอนและร้องทุกข์มายังองค์พระผู้สร้างของท่านว่า “ข้าพระองค์ร้องทูลพระองค์...เมื่อจิตใจของข้าพระองค์อ่อนระอาไป ขอทรงนำข้าพระองค์ มาถึงศิลาที่สูงกว่าข้าพระองค์” (ข้อ 2) ดาวิดร้องทูลต่อพระเจ้าเพราะท่านทราบว่ามีเพียงพระองค์ที่ทรงเป็น “ที่ลี้ภัย” และ “หอคอยเข้มแข็ง” ของท่าน (ข้อ 3)

การอธิษฐานวิงวอนและร้องทุกข์ในพระธรรมสดุดีเป็นวิธียืนยันถึงฤทธานุภาพของพระเจ้า และเป็นการร้องทูลต่อความดีและความสัตย์ซื่อของพระองค์ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่เราสามารถมีต่อพระเจ้าได้ ในช่วงเวลายากลำบาก เราทุกคนอาจถูกทดลองให้เชื่อคำโกหกว่าพระองค์ไม่สนพระทัย แต่พระองค์สนพระทัย พระองค์ทรงฟังและทรงอยู่กับเรา

น้ำแห่งชีวิต

ชีวิตในบ้านของแอนเดรียง่อนแง่นเต็มที เธอจึงออกจากบ้านตอนอายุ 14 ปีหางานทำและอาศัยกับเพื่อนๆ เพราะโหยหาความรักและการยอมรับ เธอจึงย้ายไปอยู่กับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งแนะนำให้เธอใช้ยาเสพติดเพิ่มจากการดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเธอดื่มประจำอยู่แล้ว แต่ความสัมพันธ์และการยอมรับไม่ได้เติมเต็มความปรารถนาของเธอ เธอยังคงแสวงหา จนกระทั่งหลายปีต่อมาเธอได้พบกับผู้เชื่อพระเยซูบางคนที่หยิบยื่นความช่วยเหลือและเสนอตัวที่จะอธิษฐานกับเธอ ผ่านไปไม่กี่เดือน ในที่สุดเธอก็ได้พบกับพระเยซูผู้ทรงดับความกระหายหาความรักของเธอ

หญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำซึ่งพระเยซูทรงขอน้ำจากนางได้พบผู้ที่เติมเต็มความกระหายของนางเช่นกัน นางอยู่ที่นั่นในช่วงเวลาร้อนจัดของวัน (ยน.4:5-7) อาจเพราะต้องการหลีกเลี่ยงสายตาและคำนินทาจากผู้หญิงคนอื่นที่รู้ประวัติว่านางมีสามีหลายคนและคบชู้ในปัจจุบัน (ข้อ 17-18) เมื่อพระเยซูทรงเข้ามาหาและขอน้ำดื่มจากนาง พระองค์ทรงทำสิ่งที่ขัดต่อแบบแผนสังคมในเวลานั้น เพราะปกติแล้วพระองค์ซึ่งเป็นอาจารย์ชาวยิว ไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับหญิงชาวสะมาเรีย แต่พระองค์ปรารถนาจะประทานน้ำธำรงชีวิตซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์เป็นของขวัญแก่นาง (ข้อ 10) พระองค์ประสงค์จะดับความกระหายของนาง

เมื่อเราต้อนรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอด เราก็ได้ดื่มน้ำธำรงชีวิตนี้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงสามารถแบ่งปันถ้วยนี้กับผู้อื่นเมื่อเราเชื้อเชิญพวกเขาให้มาติดตามพระองค์

วันแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน

ผมมักจะขบขันกับวันหยุดอย่างไม่เป็นทางการที่ผู้คนคิดขึ้น เดือนกุมภาพันธ์แค่เดือนเดียวมีวันขนมปังสติ๊กกี้บัน วันนักกลืนดาบ และแม้กระทั่งวันยกย่องขนมสุนัข! วันนี้ถูกกำหนดไว้ว่าเป็นวันแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งนับเป็นคุณธรรมที่ยอมรับกันทั่วไปและสมควรแก่การเฉลิมฉลองอย่างยิ่งแต่ที่น่าสนใจคือมันไม่เคยเป็นเช่นนี้

ในโลกยุคโบราณซึ่งให้คุณค่ากับเกียรติยศ ความอ่อนน้อมถ่อมตนถูกมองว่าเป็นความอ่อนแอไม่ใช่คุณธรรม ผู้คนคาดหวังถึงการโอ้อวดความสำเร็จ และคุณจะต้องพยายามยกสถานะของตนและห้ามลดมันลง ความอ่อนน้อมถ่อมตนหมายถึงสถานะอันต่ำต้อยเหมือนทาสที่ต่ำกว่านาย แต่นักประวัติศาสตร์กล่าวว่ามันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อพระเยซูถูกตรึงที่กางเขน ที่นั่นองค์ผู้ทรง “สภาพของพระเจ้า” ทรงสละสถานะพระเจ้าเพื่อรับสภาพ “ทาส” และถ่อมพระองค์ลงสิ้นพระชนม์เพื่อผู้อื่น (ฟป.2:6-8) การกระทำอันน่ายกย่องเช่นนี้นิยามความถ่อมตนขึ้นใหม่ เมื่อถึงปลายศตวรรษแรก แม้แต่นักเขียนเรื่องทางโลกก็ยังนับความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งเพราะสิ่งที่พระคริสต์ได้ทรงกระทำ

ทุกครั้งที่มีใครสักคนได้รับการยกย่องเรื่องความถ่อมตนในวันนี้ พระกิตติคุณก็ได้ถูกประกาศออกไปแล้วอย่างแยบยล เพราะหากปราศจากพระเยซูความอ่อนน้อมถ่อมตนก็จะไม่ใช่ “ความดี” หรือคงจะไม่มีใครคิดถึงวันแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน พระคริสต์ทรงสละสถานะของพระองค์เพื่อเรา ทรงเผยให้เห็นพระลักษณะแห่งความถ่อมพระทัยของพระเจ้ามาในตลอดประวัติศาสตร์

ปกป้องใจของคุณ

หลังจากที่อับราฮัม วัลด์ นักคณิตศาสตร์ชาวฮังการีมาถึงสหรัฐในปีค.ศ.1938 เขาได้ทุ่มเทความสามารถให้กับการรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพกำลังหาวิธีปกป้องอากาศยานจากการยิงของศัตรู วัลด์และเพื่อนร่วมงานในกลุ่มวิจัยทางสถิติถูกขอให้หาวิธีที่ดีกว่าเดิมในการป้องกันอากาศยานจากการโจมตี พวกเขาเริ่มจากตรวจสอบเครื่องบินที่บินกลับมาเพื่อดูว่าจุดใดเสียหายมากที่สุด แต่ผลงานอันเป็นที่ยอมรับของวัลด์คือการวิเคราะห์อันเฉียบคมว่าความเสียหายบนตัวเครื่องบินที่บินกลับมานั้นบ่งบอกได้เพียงว่าเครื่องบินถูกโจมตีที่จุดใดและยังคงรอดกลับมาได้ เขาพบว่าจุดที่จำเป็นต้องเสริมเกราะมากที่สุดจะพบได้บนเครื่องบินที่ตก ซึ่งถูกโจมตีตรงส่วนที่เปราะบางที่สุดคือเครื่องยนต์ ก็จะตกและไม่สามารถนำมาตรวจสอบได้

ซาโลมอนสอนเราถึงการปกป้องส่วนที่เปราะบางที่สุด นั่นคือหัวใจของเรา พระองค์สอนบุตรชายของพระองค์ให้ “รักษาใจ [ของเขา]” เพราะทุกสิ่งก็ออกมาจากใจ (สภษ.4:23) คำแนะนำของพระเจ้าจะนำทางชีวิตเราหันเราออกจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด และสอนเราว่าควรจะมุ่งความสนใจไปที่ใด

หากเราสวมเกราะให้กับใจของเราด้วยการเอาใจใส่ในคำสอนของพระองค์ เราก็จะ “กลับ [เท้าของเรา] เสียจากความชั่วร้าย” และยังคงดำเนินไปกับพระเจ้าอย่างมั่นคง (ข้อ 27) เราเสี่ยงภัยในดินแดนของศัตรูอยู่ทุกวัน แต่ด้วยพระปัญญาของพระเจ้าที่ปกป้องหัวใจของเรา เราจึงสามารถจดจ่อกับภารกิจในการดำเนินชีวิตให้ดีเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า

สิ่งจำเป็นที่แท้จริง

ขณะเตรียมอาหาร คุณแม่ยังสาวคนหนึ่งหั่นครึ่งเนื้อสำหรับตุ๋นออกเป็นสองส่วนก่อนใส่ลงในหม้อใบใหญ่ สามีถามเธอว่าทำไมจึงหั่นเนื้อเป็นสองส่วน เธอตอบว่า “เพราะเป็นวิธีที่แม่ของฉันทำ”

คำถามของสามีกระตุ้นความสงสัยของเธอ เธอจึงถามแม่เกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัตินี้ เธอตกใจเมื่อรู้ว่าที่แม่หั่นเนื้อก็เพื่อให้พอดีกับหม้อใบเล็กใบเดียวที่เธอใช้ และเพราะลูกสาวมีหม้อใบใหญ่หลายใบ การหั่นเนื้อจึงไม่จำเป็น

ธรรมเนียมปฏิบัติมากมายเริ่มขึ้นจากความจำเป็นแต่สืบทอดต่อกันมาโดยปราศจากคำถาม มันจึงกลายเป็น “วิธีที่เราทำ” เป็นเรื่องตามธรรมชาติที่เราต้องการจะยึดธรรมเนียมปฏิบัติของมนุษย์ไว้ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟาริสีทำกันในสมัยนั้น พวกเขาจึงวุ่นวายใจด้วยสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ทางศาสนาข้อหนึ่งของพวกเขา (มก.7:1-5)

เมื่อพระเยซูตรัสกับพวกฟาริสีว่า “เจ้าทั้งหลายละธรรมบัญญัติของพระเจ้า และกลับไปถือตามถ้อยคำของมนุษย์ที่เขาสอนต่อๆกันมานั้น” (ข้อ 8) พระองค์ได้สำแดงให้เห็นว่าธรรมเนียมปฏิบัติไม่ควรจะมาแทนที่สติปัญญาจากพระคัมภีร์ ความปรารถนาที่จะติดตามพระเจ้าอย่างแท้จริง (ข้อ 6-7) จะเน้นไปที่ทัศนคติในใจมากกว่าการกระทำภายนอก

เป็นความคิดที่ดีที่จะคอยประเมินธรรมเนียมปฏิบัติหรือทุกสิ่งที่เรายึดถืออย่างเคร่งครัดและทำตามอย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าจำเป็นอย่างแท้จริงควรจะนำมาใช้แทนที่ธรรมเนียมปฏิบัติเสมอ

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา