Month: มกราคม 2022

ร้องไห้โดยไม่ต้องขอโทษ

“ขอโทษนะคะ” คาเรนกล่าวขอโทษที่เธอร้องไห้ หลังจากสามีเสียชีวิต เธอทำงานหนักเพื่อดูแลลูกๆที่เป็นวัยรุ่น เมื่อสมาชิกผู้ชายในคริสตจักรจัดทริปพักแรมในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อให้พวกเธอได้ทำอะไรสนุกๆ และให้เธอได้พักผ่อน คาเรนร้องไห้ด้วยความซาบซึ้งใจ และกล่าวขอโทษซ้ำไปซ้ำมาที่เธอน้ำตาไหล

ทำไมคนมากมายต้องขอโทษที่ร้องไห้ ซีโมนซึ่งเป็นฟาริสีเชิญพระเยซูไปเสวยพระกระยาหาร ในระหว่างนั้นขณะที่พระเยซูทรงเอนพระกายลงที่โต๊ะเสวย หญิงคนหนึ่งที่เคยเป็นหญิงชั่วได้ถือผอบน้ำมันหอม “มายืนอยู่ข้างหลังใกล้พระบาทของพระองค์ ร้องไห้น้ำตาไหลเปียกพระบาท เอาผมเช็ด จุบพระบาทของพระองค์มาก และเอาน้ำมันนั้นชโลม” (ลก.7:38) หญิงนั้นแสดงออกถึงความรักอย่างเปิดเผยโดยไม่ขอโทษ และเอาผมของตนเช็ดพระบาทพระเยซู ด้วยความสำนึกในพระคุณและความรักต่อพระองค์ เธอเช็ดน้ำตาออกแล้วพรมด้วยจูบอันหอมกรุ่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับเจ้าบ้านผู้มีใจแข็งกระด้าง

พระเยซูทรงตอบสนองเช่นไร พระองค์ยกย่องการแสดงความรักอย่างจริงใจนั้นและประกาศว่า “ความผิดบาปของเจ้าโปรดยกเสียแล้ว” (ข้อ 44-48)

เราอาจต้องการกลั้นน้ำตาแห่งความซาบซึ้งใจที่กำลังจะไหลออกมา แต่พระเจ้าทรงสร้างเราให้มีความรู้สึก และเราสามารถใช้ความรู้สึกนั้นถวายเกียรติแด่พระองค์ได้ เช่นเดียวกับหญิงในพระธรรมลูกา ให้เราแสดงออกโดยไม่ต้องขอโทษถึงความรักที่เรามีต่อพระเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้ทรงจัดเตรียมให้ตามความจำเป็นของเรา และทรงรับการแสดงความขอบคุณจากเราอย่างเต็มพระทัย

คำอธิษฐานที่ไม่ได้รับคำตอบ

เราถึงหรือยัง / ยัง / เราถึงหรือยัง / ยัง นั่นเป็นชื่อเกมถามมาตอบไปที่เราเล่นในการเดินทางไกลครั้งแรก (และแน่นอน ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย) เป็นเวลาสิบหกชั่วโมงจากโคโลราโดเพื่อกลับบ้านที่อาร์คันซอในตอนที่ลูกของเรายังเล็ก ลูกสองคนแรกของเราคอยเล่นเกมนี้ตลอด และถ้าผมเก็บเงินหนึ่งเหรียญทุกครั้งที่พวกเขาถาม ผมคงมีเงินเป็นตั้ง มันเป็นคำถามที่ลูกหยุดถามไม่ได้เลย แต่ผม (คนขับรถ) ก็อดสงสัยไม่ได้เช่นกันว่าเราถึงหรือยัง และคำตอบก็คือยัง แต่อีกไม่นาน

ความจริงก็คือ ผู้ใหญ่ส่วนมากก็ถามคำถามนี้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ถึงแม้เราจะไม่ได้พูดออกมาดังๆ แต่เราต่างถามคำถามนั้นด้วยเหตุผลเดียวกันคือ เราเหนื่อย และตาของเรา “ทรุดโทรมไปเพราะความทุกข์ใจ” (สดด.6:7) เรา “อ่อนเปลี้ยด้วยการคร่ำครวญ” (ข้อ 6) กับทุกอย่างตั้งแต่ข่าวภาคค่ำ ไปจนถึงความหงุดหงิดในที่ทำงาน ปัญหาสุขภาพที่ไม่จบสิ้น ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด และอื่นๆอีกมากมาย เราร้องว่า “เราถึงกันหรือยัง ข้าแต่พระเจ้า อีกนานสักเท่าใด”

ผู้เขียนสดุดีรู้จักความอ่อนเปลี้ยเช่นนั้นดี และได้ถามคำถามสำคัญนี้กับพระเจ้าตรงๆ พระเจ้าทรงเป็นเหมือนพ่อแม่ที่ห่วงใย ทรงฟังคำวิงวอนของดาวิด และทรงรับคำอธิษฐานของท่านด้วยพระกรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ (ข้อ 9) ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะตั้งคำถาม คุณและผมก็เช่นกันที่เข้ามาหาพระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ได้อย่างกล้าหาญ พร้อมกับคำถามจากใจจริงว่า “อีกนานสักเท่าใด” และคำตอบของพระองค์ก็คงจะเป็น “ยัง แต่อีกไม่นาน เราประเสริฐ จงวางใจในเรา”

ดีรอบคอบอย่างพระคริสต์

“ความสมบูรณ์แบบ เป็นคำที่น่ากลัวที่สุดคำหนึ่งที่ฉันรู้จัก” แคธลีน นอร์ริสเขียนเปรียบเทียบความสมบูรณ์แบบในปัจจุบันกับความ “ดีรอบคอบ” ที่อธิบายในพระธรรมมัทธิวไว้อย่างน่าคิด เธออธิบายความสมบูรณ์แบบในยุคนี้ว่าเป็น “ความทุกข์ทางใจที่ร้ายแรง ที่ทำให้คนเราขี้ขลาดเกินกว่าจะรับความเสี่ยงที่จำเป็น” แต่คำเดียวกันนี้ที่แปลในมัทธิวว่า “ดีรอบคอบ” แท้จริงแล้วหมายถึง ความเป็นผู้ใหญ่ ความสมบูรณ์ หรือครบถ้วน นอร์ริสสรุปว่า “การเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ...คือการเตรียมตัวที่จะเติบโต (และ) เป็นผู้ใหญ่พอที่จะสละตนเองเพื่อผู้อื่น”

การเข้าใจถึงความสมบูรณ์แบบเช่นนี้ช่วยให้เราเข้าใจในเรื่องราวอันลึกซึ้งในมัทธิว 19 ที่ชายคนหนึ่งถามพระเยซูว่าเขาจะต้องทำดีอะไรจึงจะ “ได้ชีวิตนิรันดร์” (ข้อ 16) พระเยซูตรัสตอบว่า “ถือรักษาพระบัญญัติไว้” (ข้อ 17) ชายนั้นคิดว่าตนได้รักษาพระบัญญัติไว้ทุกประการแล้ว แต่ยังมีบางอย่างที่ขาดไป จึงทูลถามว่า “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง” (ข้อ 20)

เมื่อนั้นเองพระเยซูทรงบอกว่า ทรัพย์สมบัติคือสิ่งที่ยึดเกาะแน่นในใจของเขา ทรงตรัสว่าถ้าเขาปรารถนา “เป็นผู้ที่ทำจนครบถ้วน” คือเต็มใจที่จะให้และรับจากผู้อื่นในแผ่นดินของพระเจ้า เขาต้องเต็มใจที่จะสละสิ่งที่ปิดกั้นหัวใจของเขาจากผู้อื่นเสีย (ข้อ 21)

เราแต่ละคนมีความสมบูรณ์ในแบบฉบับของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ครอบครองหรือนิสัยที่เราชอบทำเพื่อจะพยายามเป็นผู้ควบคุมแต่ก็ไร้ผล วันนี้จงฟังเสียงเรียกเบาๆของพระเยซูให้เรายอมจำนน และพบกับเสรีภาพในความครบสมบูรณ์ที่เกิดได้ในพระองค์เท่านั้น (ข้อ 26)

ในพระเจ้าเราวางใจ

ทารกจะครบกำหนดคลอดในอีก 6 สัปดาห์ แต่หมอเพิ่งวินิจฉัยว่าวิทนี่ย์ เป็นโรคท่อน้ำดีอุดตัน ซึ่งเป็นภาวะเกี่ยวกับตับที่พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ ในความรู้สึกสับสนว้าวุ่น วิทนี่ย์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา และได้รับแจ้งว่าลูกของเธอจะถูกกระตุ้นให้คลอดในอีกยี่สิบสี่ชั่วโมง ในอีกด้านหนึ่งของโรงพยาบาล เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้วิทนี่ย์ถูกส่งกลับบ้าน เธอตัดสินใจที่จะวางใจในพระเจ้าและแผนการของพระองค์ แล้วเธอก็ได้ให้กำเนิดทารกที่แข็งแรงในสองสามวันต่อมา

เมื่อพระวจนะหยั่งรากลงในเรา การตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ยากลำบากของเราจะเปลี่ยนไป เยเรมีย์มีชีวิตอยู่ในยุคที่คนส่วนมากไว้วางใจในมนุษย์ และมีการนมัสการรูปเคารพอย่างแพร่หลาย ผู้เผยพระวจนะท่านนี้เปรียบเทียบความแตกต่างของผู้ที่ “ให้เนื้อหนังเป็นมือของเขา และใจของเขาหันออกจากพระเจ้า” (ยรม.17:5) กับผู้ที่วางใจในพระเจ้าว่า “คนที่วางใจในพระเจ้าย่อมได้รับพระพร...เขาเป็นเหมือนต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมน้ำ...เมื่อแดดส่องถึงก็ไม่กลัว เพราะใบของมันคงเขียวอยู่เสมอ” (ข้อ 7-8)

ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เราถูกเรียกให้ดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อโดยการแสวงหาคำตอบที่มาจากพระเจ้า ในขณะที่พระองค์ทรงช่วยให้เรามีกำลังนั้น เราเลือกได้ว่าจะกลัวหรือวางใจในพระองค์ พระเจ้าตรัสว่าเราได้รับพระพรคือความพึงใจอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อเราเลือกมอบความไว้วางใจในพระองค์

ไม่ผูกพยาบาท

ในระหว่างกิจกรรมส่งเสริมการขายในปี 2011 อดีตนักฟุตบอลลีกชาวแคนาดาวัย 73 ปีสองคนได้ขึ้นชกกันบนเวที พวกเขามีความแค้นต่อกันจากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ที่มีการโต้เถียงกันในปี 1963 หลังจากที่ชายคนหนึ่งชกชายอีกคนหนึ่งตกเวทีไป กลุ่มผู้ชมตะโกนเรียกร้องให้เขา “ปล่อยมันไปเสีย!” พวกเขากำลังบอกให้ชายผู้นี้ “จบปัญหาลง”

พระคัมภีร์มีตัวอย่างมากมายของคนที่ “เจ็บแค้น” คาอินเจ็บแค้นอาเบลน้องชาย เพราะพระเจ้าทรงรับเครื่องบูชาของอาเบลแต่ไม่รับของเขา (ปฐก.4:5) ความแค้นนี้รุนแรงมากจนนำไปสู่การฆาตกรรมเมื่อ “คาอินก็โถมเข้าฆ่าอาเบลน้องชายของตนเสีย” (ข้อ 8) “เอซาวเกลียดชังยาโคบ” เพราะยาโคบขโมยเอาสิทธิบุตรหัวปีที่เป็นของเขาไป (27:41) ความเกลียดชังนี้รุนแรงจนยาโคบต้องหนีเอาชีวิตรอดเพราะความกลัว

พระคัมภีร์ไม่เพียงให้ตัวอย่างมากมายของคนที่ฝังใจในความโกรธแค้น แต่ยังมีคำสอนถึงวิธีการ “จบปัญหา” คือการแสวงหาการให้อภัยและการคืนดี พระเจ้าทรงเรียกให้เรารักผู้อื่น (ลวน.19:18) ให้อธิษฐานเผื่อและยกโทษผู้ที่ดูถูกและทำร้ายเรา (มธ.5:43-47) ให้อยู่อย่างสันติกับทุกคน มอบการแก้แค้นให้เป็นของพระเจ้า และเอาชนะความชั่วด้วยความดี (รม.12:18-21) โดยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า ขอให้เรา “จบปัญหาลง” ในวันนี้

ความสุขแท้

ในศตวรรษที่ 10 อับ อัลเราะห์มานที่ 3 เป็นผู้ปกครองเมืองกอร์โดบา ประเทศสเปน หลังจากห้าสิบปีแห่งการครองราชย์ที่ประสบความสำเร็จ (เป็นที่รักของประชาชน เป็นที่หวาดเกรงของศัตรู และเป็นที่เคารพของมิตรสหาย) อัลเราะห์มานใคร่ครวญถึงชีวิตของตน พระองค์กล่าวถึงเอกสิทธิ์ของตนว่า “ความมั่งคั่งและเกียรติยศ อำนาจและความพึงพอใจรอคอยให้เราเรียกหาได้ทุกเวลา” แต่เมื่อพระองค์นับจำนวนวันที่มีความสุขอย่างแท้จริงในช่วงเวลานั้น กลับนับได้เพียง 14 วัน ช่างมีสติอะไรเช่นนี้

ผู้เขียนพระธรรมปัญญาจารย์ก็เป็นผู้ที่มั่งคั่งและทรงเกียรติ (ปญจ.2:7-9) ยิ่งใหญ่และมีความสุข (1:12; 2:1-3) และพระองค์ประเมินชีวิตของตนอย่างมีสติพอกัน ทรงตระหนักว่าความร่ำรวยรังแต่จะทำให้พระองค์ต้องการมากขึ้น (5:10-11) ในขณะที่ความสนุกสนานก่อประโยชน์น้อยนิด (2:1-2) และความสำเร็จก็เป็นเรื่องของโอกาสพอๆกับความสามารถ (9:11) แต่การใคร่ครวญของพระองค์ไม่ได้จบลงด้วยความสิ้นหวังเหมือนอัลเราะห์มาน พระองค์เชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นแหล่งแห่งความสุขแท้ จึงทรงมองว่าการกินดื่ม ทำงาน และการทำดีเป็นสิ่งที่น่ายินดีเมื่อมีพระเจ้า (2:25; 3:12-13)

“โธ่เอ๋ย!” อัลเราะห์มานสรุปการคิดใคร่ครวญของตนว่า “อย่าได้เชื่อมั่นในโลกนี้!” ผู้เขียนปัญญาจารย์คงจะเห็นด้วย เพราะว่าเราถูกสร้างมาเพื่อนิรันดร์กาล (3:11) ความพึงพอใจและความสำเร็จในโลกนี้ไม่อาจเติมเต็มเราได้ แต่การสถิตอยู่ของพระเจ้าในชีวิตเรา ทำให้เรามีความสุขแท้ได้ในการกิน การทำงาน และการใช้ชีวิต

พระเจ้าผู้ทรงรัก

อาจารย์จะจบการเรียนออนไลน์ทุกครั้งโดยพูดหนึ่งในสองประโยคนี้ “พบกันครั้งต่อไป” หรือ “ขอให้มีความสุขในวันสุดสัปดาห์” นักศึกษาบางคนจะตอบว่า “ขอบคุณค่ะ/ครับ อาจารย์ก็เช่นกัน!” แต่วันหนึ่งนักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า “ผมรักอาจารย์ครับ” ด้วยความประหลาดใจอาจารย์ตอบกลับว่า “อาจารย์ก็รักเธอเช่นกัน!” เย็นวันนั้น เพื่อนนักศึกษาตกลงกันที่จะพูดคำว่า “เรารักอาจารย์” ต่อๆกัน เพื่อแสดงความขอบคุณที่อาจารย์ต้องสอนหน้าคอมพิวเตอร์ แทนที่จะสอนแบบได้พบหน้ากันอย่างที่ต้องการ สองสามวันต่อมาเมื่อหมดเวลาเรียน อาจารย์พูดว่า “พบกันครั้งต่อไป” แล้วนักศึกษาตอบโดยพูดต่อๆกันว่า “ผม / หนูรักอาจารย์” พวกเขาทำแบบนี้อยู่หลายเดือน อาจารย์คนนี้เล่าว่าการทำเช่นนี้ทำให้เกิดความผูกพันระหว่างเขาและนักศึกษา และตอนนี้เขารู้สึกว่านักศึกษาเป็น “ครอบครัว”

ใน 1 ยอห์น 4:10-21 เราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้ามีเหตุผลสมควรมากมายที่จะกล่าวว่า “ข้าพระองค์รักพระองค์” ไม่ว่าจะด้วยการที่พระเจ้าทรงส่งพระบุตรมาเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของเรา (ข้อ 10) ทรงประทานพระวิญญาณของพระองค์ให้อยู่ในเรา (ข้อ 13, 15) ความรักของพระองค์นั้นเชื่อถือได้เสมอ (ข้อ 16) และเราไม่ต้องกลัวการพิพากษา (ข้อ 17) พระเจ้าทรงช่วยให้เรารักพระองค์และผู้อื่นได้ “เพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน” (ข้อ 19)

ครั้งต่อไปที่คุณได้พบปะกับคนของพระเจ้า จงใช้เวลาแบ่งปันเหตุผลที่ทำให้คุณรักพระองค์ เมื่อเราพูดต่อๆกันว่า “ข้าพระองค์รักพระองค์” พระเจ้าจะได้รับการสรรเสริญและทำให้คุณใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น

แป้นหมุนของช่างปั้น

ในปี 1952 เจ้าของร้านค้าที่ชายหาดไมอามี่พยายามป้องกันไม่ให้ลูกค้าที่ซุ่มซ่ามหรือไม่ระมัดระวังทำของในร้านแตก โดยติดป้ายบอกว่า “คุณทำแตก คุณต้องซื้อ” ประโยคติดหูนี้เป็นคำเตือนสำหรับลูกค้าทั้งหลาย ปัจจุบันป้ายประเภทนี้พบเห็นได้ในร้านขายเสื้อผ้าทันสมัยหลายแห่ง

น่าขันที่ป้ายอีกแบบอาจถูกติดในร้านของช่างปั้น โดยเขียนว่า “ถ้าคุณทำแตก เราจะทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม” และนี่แหละคือสิ่งที่ได้รับการเปิดเผยในเยเรมีย์ 18

เยเรมีย์ได้ไปที่บ้านของช่างหม้อและเห็นว่าช่างนั้นกำลังปั้นดินเหนียวที่ “เสีย” ด้วยมือของเขา โดยปั้นและขึ้นรูปอย่างระมัดระวัง “ให้เป็นภาชนะอีกลูกหนึ่ง” (ข้อ 4) ผู้เผยพระวจนะเตือนใจเราว่า พระเจ้าทรงเป็นช่างปั้นฝีมือเยี่ยม และเราเป็นดิน พระองค์ทรงครอบครองและสามารถใช้สิ่งที่ทรงสร้าง เพื่อทำลายความชั่วร้ายและสร้างความงดงามภายในเราได้

พระเจ้าทรงปั้นเราได้แม้เราจะมีตำหนิหรือแตกหัก พระองค์ทรงเป็นช่างปั้นผู้เชี่ยวชาญ ทรงสามารถและเต็มใจที่จะสร้างเราที่แตกเป็นเสี่ยงๆให้เป็นภาชนะใหม่ที่ทรงคุณค่า พระเจ้าไม่ได้มองว่าชีวิตที่แตกสลาย ความผิดพลาด หรือบาปที่ผ่านมาของเราเป็นวัสดุที่ใช้การไม่ได้ ตรงกันข้าม พระองค์ทรงหยิบชิ้นส่วนที่แตกสลายของเราขึ้นมาปั้นใหม่ตามที่ทรงเห็นว่าดีที่สุด

แม้เราจะแหลกสลาย เราก็มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อพระเจ้าผู้ทรงเป็นช่างปั้น ในพระหัตถ์ของพระองค์ เศษชิ้นส่วนแห่งชีวิตของเราจะถูกปั้นใหม่ให้เป็นภาชนะที่งดงามที่พระองค์จะทรงใช้การได้ (ข้อ 4)

นี่คือพระคุณ

วรรณกรรมเรื่องเหยื่ออธรรม เริ่มต้นด้วยเรื่องของนักโทษติดทัณฑ์บนชื่อ ฌอง วาลฌองที่ขโมยเครื่องเงินของบาทหลวง เขาถูกจับและคิดว่าจะต้องถูกส่งตัวกลับไปที่เหมือง แต่บาทหลวงคนนั้นทำให้ทุกคนตกใจเมื่อเขาอ้างว่าได้เป็นคนมอบเครื่องเงินนั้นให้แก่วาลฌองเอง หลังจากตำรวจไปแล้ว เขาหันกลับมาหาหัวขโมยบอกว่า “ท่านไม่ได้เป็นของความชั่วอีกต่อไป แต่เป็นของความดี”

ความรักที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงความรักที่หลั่งไหลมาจากน้ำพุแห่งพระคุณทั้งปวง ในวันเพ็นเทคอสต์เปโตรกล่าวแก่ผู้ที่มาฟังท่านว่า เมื่อไม่ถึงสองเดือนก่อนพวกเขาได้ตรึงพระเยซูไว้ที่กางเขนในเมืองนั้น ฝูงชนรู้สึกแปลบปลาบใจจึงถามว่าพวกเขาจะต้องทำอย่างไร เปโตรตอบว่า “จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมาในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน เพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย” (กจ.2:38) พระเยซูทรงรับเอาการลงโทษที่พวกเขาสมควรได้รับไว้ แล้ว บัดนี้โทษของพวกเขาจะได้รับการอภัย ถ้าพวกเขาไว้วางใจในพระองค์

โอ เรื่องของพระคุณช่างฟังดูย้อนแย้ง มนุษย์จะได้รับการอภัยโทษก็ต่อเมื่อพระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์ ซึ่งความตายนี้เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ พระเจ้าทรงพระคุณและทรงฤทธิ์ ทรงใช้บาปที่เลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติเพื่อบรรลุถึงความรอดของพวกเรา หากพระเจ้าทรงกระทำสิ่งนี้โดยถือโทษบาปจากการตรึงพระเยซู เราก็รู้ว่าพระองค์จะยังทรงให้เกิดสิ่งดีได้ในทุกสิ่ง จงเชื่อวางใจในพระองค์ผู้ “ทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่ง” (รม.8:28)

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา