Month: มกราคม 2021

อนาคตแห่งการอภัย

เมื่อประเทศแอฟริกาใต้เปลี่ยนการปกครองจากรัฐบาลแบ่งแยกสีผิวเป็นประชาธิปไตยในปี 1994 ก็ได้พบปัญหาการจัดการอาชญากรรมที่เกิดจากนโยบายแบ่งแยกสีผิว ผู้นำประเทศไม่อาจเมินเฉยต่ออดีต แต่การลงโทษรุนแรงต่อผู้ทำผิดก็เสี่ยงต่อการทำให้บาดแผลของประเทศเลวร้ายยิ่งขึ้น เดสมอนด์ ตูตู อาร์คบิชอปแองกลิกันผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้อธิบายไว้ในหนังสือ ไม่มีอนาคตหากไม่มีการอภัย ว่า “เราทำให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างแน่นอน เป็นความยุติธรรมที่เกิดจากการแก้แค้น และทำให้แอฟริกาใต้กลายเป็นเถ้าถ่าน”

โดยการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งความจริงและการสมานฉันท์ ระบอบประชาธิปไตยใหม่เลือกหนทางที่ยากในการที่จะแสวงหาความจริง ความยุติธรรม และความเมตตา ผู้กระทำผิดได้รับการเสนอโอกาสให้กลับตัว หากเต็มใจสารภาพความผิดและจ่ายค่าเสียหาย โดยการเผชิญความจริงอย่างกล้าหาญเท่านั้นที่ทำให้ประเทศเริ่มได้รับการเยียวยา

สภาวะที่น่าลำบากใจของแอฟริกาใต้นี้สะท้อนการต่อสู้ที่เราทุกคนต้องเผชิญ เราเรียกว่าการร้องหาทั้งความยุติธรรมและความกรุณา (มคา.6:8) แต่ความกรุณามักถูกเข้าใจผิดว่าคือการขาดความรับผิดชอบ ในขณะที่การเรียกร้องความยุติธรรมอาจถูกบิดเบือนให้กลายเป็นการแก้แค้น

ทางเดียวที่เราจะมุ่งไปข้างหน้าคือความรักที่ไม่เพียง “เกลียดชังสิ่งที่ชั่ว”(รม.12:9) แต่ยังปรารถนาจะนำการเปลี่ยนแปลงและสิ่งดีไปสู่ “เพื่อนบ้าน” (13:10) ด้วยกำลังจากพระวิญญาณ เราเรียนรู้ที่จะมีอนาคตที่เอาชนะความชั่วด้วยความดีได้ (12:21)

สวมความกล้าหาญ

แอนดริวอยู่ในประเทศที่ปิดกั้นข่าวประเสริฐ เมื่อผมถามว่าเขาเก็บความเชื่อเป็นความลับได้อย่างไร เขาตอบว่าเขาไม่เคยปิดบัง เขาติดกระดุมที่โฆษณาคริสตจักรของเขา และเมื่อใดก็ตามที่ถูกจับ เขาบอกตำรวจว่า “พวกเขาต้องการพระเยซูเช่นกัน” แอนดริวมีความกล้า เพราะเขารู้ว่าใครอยู่ข้างเขา

เอลียาห์ไม่ยอมถูกข่มขู่ แม้พระราชาแห่งอิสราเอลส่งทหารห้าสิบคนไปจับท่าน (2 พกษ.1:9) ผู้เผยพระวจนะรู้ว่าพระเจ้าทรงสถิตอยู่ด้วย และท่านขอไฟลงมาเผาทหาร พระราชาจึงส่งทหารมาเพิ่ม และเอลียาห์ก็ทำแบบเดิม (ข้อ 12) พระราชาส่งทหารมาอีก แต่ทหารกลุ่มที่สามได้ยินเรื่องที่เกิดกับพวกของตน นายของพวกเขาจึงวิงวอนขอชีวิตของเหล่าทหารจากเอลียาห์ พวกเขากลัวท่านยิ่งกว่าที่ท่านกลัวพวกเขา ทูตของพระเจ้าจึงกล่าวแก่เอลียาห์ว่าปลอดภัยที่จะไปกับพวกเขา (ข้อ13-15)

พระเยซูไม่ได้ต้องการให้เราขอไฟลงมาเผาผลาญศัตรูของเรา เมื่อเหล่าสาวกถามว่าพวกเขาจะขอไฟลงมาเผาหมู่บ้านชาวสะมาเรียได้ไหม พระเยซู
ทรงตำหนิพวกเขา (ลก.9:51-55) เราอยู่ในยุคที่ต่างกัน แต่พระเยซูทรงต้องการให้เรามีความกล้าหาญเหมือนเอลียาห์ คือพร้อมที่จะบอกทุกคนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขา อาจดูเหมือนว่าคนคนหนึ่งสู้กับคนห้าสิบคน แต่ที่จริงแล้วคือพระองค์ผู้เดียวที่สู้กับห้าสิบคน พระเยซูทรงจัดเตรียมสิ่งที่เราต้องการเพื่อจะรักและเข้าหาผู้อื่นอย่างกล้าหาญ

กระหืดกระหอบ

ที่ศูนย์รวมสินค้าแต่งบ้านใกล้บ้านผม ทุกแผนกจะมีปุ่มกดสีเขียวขนาดใหญ่อยู่ หากไม่มีพนักงานอยู่บริเวณนั้น คุณสามารถกดปุ่มเรียกซึ่งจะเป็นการเริ่มจับเวลา ถ้าคุณไม่ได้รับบริการภายในหนึ่งนาที คุณก็จะได้รับส่วนลดในการซื้อสินค้า

พวกเราก็เหมือนลูกค้าในร้านนี้ที่ชอบบริการที่รวดเร็ว แต่ความต้องการที่จะได้บริการอันรวดเร็วนี้มีราคาที่ต้องจ่าย เมื่อเราเองต้องเป็นผู้ให้บริการนี้ ดังนั้นทุกวันนี้พวกเราหลายคนจึงรู้สึกต้องเร่งทำงาน ทำต่อเนื่องหลายชั่วโมง เช็คอีเมลวันละหลายครั้ง และรู้สึกกดดันเมื่อกำหนดส่งงานกระชั้นเข้ามาเรื่อยๆ กลยุทธ์ในการให้บริการลูกค้าของศูนย์รวมสินค้าแต่งบ้านซึมซับเข้ามาในชีวิตของเราทุกคน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเร่งรีบ

เมื่อพระเจ้าบอกให้อิสราเอลรักษาวันสะบาโต ทรงให้เหตุผลสำคัญคือ “จงระลึกว่าเจ้าเคยเป็นทาสอยู่ในแผ่นดินอียิปต์” (ฉธบ.5:15) พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลาของฟาโรห์ที่เกินกว่าเหตุ (อพย.5:6-9) ตอนนี้ที่เป็นอิสระแล้ว พวกเขาควรให้เวลาตัวเองหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์ เพื่อรับรองว่าตัวเขาเองและผู้ที่รับใช้เขาจะได้หยุดพัก (ฉธบ.5:14) ภายใต้กฎเกณฑ์ของพระเจ้า จะไม่มีใครต้องกระหืดกระหอบจนหน้าแดง

คุณต้องทำงานจนหมดแรง หรือหมดความอดทนกับคนที่ทำให้คุณต้องรอบ่อยเพียงใด จงให้ตัวเราและผู้อื่นได้หยุดพัก วัฒนธรรมแห่งการเร่งรีบเป็นของฟาโรห์ ไม่ใช่ของพระเจ้า

ความเชื่ออันล้ำค่า

“ฉันชอบเย็บผ้า!” เพื่อนของฉันบอก เธอเล่าถึงการโตขึ้นมากับคุณยายที่เย็บเสื้อผ้าให้เธอ เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินเสียงจักรเย็บผ้า เธอจะตื่นเต้นขณะคิดว่าคุณยายจะตัดชุดอะไรให้เธอ

ตอนนี้เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว เธอยังเย็บผ้าและตั้งใจจะสอนทักษะนี้ให้ลูกสาวของเธอ แม้ลูกสาวของเธอเพิ่งจะห้าขวบ แต่เธอก็พาลูกสาวไปที่โกดังผ้าเพื่อกระตุ้นความสนใจของลูก

การส่งต่อทักษะ ธุรกิจ หรือความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเรื่องปกติของบางวัฒนธรรม สิ่งที่คนหนึ่งได้เรียนรู้จากพ่อแม่จะถูกส่งต่อให้ลูกๆของเขา ในจดหมายถึงทิโมธี เปาโลระลึกถึงความเชื่อแท้ของโลอิสยายของเขา และยูนีสมารดาของเขา หญิงทั้งสองคงได้สอนพระคัมภีร์ให้แก่ทิโมธีตอนเขายังเด็ก จนเขาตัดสินใจรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอด (2 ทธ.3:15)

แล้วเราล่ะ เราทำสิ่งใดเพื่อส่งต่อความเชื่อของเราไปยังคนรุ่นต่อไป เราถูกกระตุ้นโดยความรักของพระเจ้าและฤทธิ์เดชของพระวิญญาณ (2 ทธ.1:7) จึงสามารถแบ่งปันข่าวประเสริฐของพระเยซูผ่านคำพูดและการกระทำของเรา ซึ่งบ่งบอกความหมายของการเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ (2 ทธ.2:2) นอกจากส่งต่อทักษะความสามารถแล้ว เรายังสามารถส่งต่อความเชื่ออันล้ำค่าด้วย

เป็นไทในที่สุด

นักข่าวชาวอังกฤษจอห์น แมคคาร์ธี ซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันห้าปีระหว่างสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อในเลบานอน ใช้เวลากว่ายี่สิบปีจึงได้พบชายที่ช่วยเจรจาปล่อยตัวเขา เมื่อแมคคาร์ธีพบ ฌอนโดเมนิโค พิคโค ตัวแทนสหประชาชาติ เขาเอ่ยเรียบง่ายว่า “ขอบคุณที่ทำให้ผมเป็นไท!” คำพูดนี้เปี่ยมด้วยความรู้สึกจากใจ เพราะพิคโคเสี่ยงชีวิตในการเจรจาที่อันตรายเพื่ออิสรภาพของแมคคาร์ธีและคนอื่นๆ

ในฐานะผู้เชื่อ เรามีเสรีภาพที่ได้มาอย่างยากลำบากเช่นกัน พระเยซูทรงสละพระชนม์โดยทนทุกข์กับความตายบนกางเขนของโรม เพื่ออิสรภาพฝ่ายวิญญาณของทุกคน รวมถึงเราแต่ละคน เวลานี้พวกเราในฐานะบุตรของพระเจ้ารู้ว่า “เพื่อเสรีภาพนั้นเอง พระคริสต์จึงได้ทรงโปรดให้เราเป็นไท” เปาโลประกาศอย่างกล้าหาญ (กท.5:1)

พระกิตติคุณยอห์นยังสอนถึงเสรีภาพในพระคริสต์ว่า “ถ้าพระบุตรทรงกระทำให้ท่านทั้งหลายเป็นไท ท่านก็เป็นไทจริงๆ” (ยน.8:36)

เป็นไทอย่างไร ในพระเยซูเราเป็นไทไม่เพียงจากความบาปและผลของมัน แต่จากความรู้สึกผิด ความละอาย ความกังวล คำโกหกของมาร การเชื่อโชคลาง การสอนผิด และความตายนิรันดร์ เราไม่ถูกจองจำอีกแต่มีอิสระที่จะรักศัตรู เดินในความเมตตา ดำรงในความหวัง และรักเพื่อนบ้าน เมื่อเราติดตามการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะให้อภัยเหมือนที่เราได้รับการอภัย

ให้เราขอบคุณพระเจ้าสำหรับทุกสิ่งในวันนี้ และให้สำแดงความรัก เพื่อผู้อื่นจะรู้จักเสรีภาพในพระองค์เช่นกัน

ปัญหาภายใน

หลายปีก่อนนกหัวขวานเริ่มเจาะผนังข้างบ้านของเรา เราคิดว่ามันเป็นแค่ปัญหาภายนอก แต่วันหนึ่งผมกับลูกชายปีนบันไดขึ้นไปบนห้องใต้หลังคา แล้วมีนกบินผ่านใบหน้าตื่นตระหนกของเรา ปัญหารุนแรงกว่าที่คิด มันอยู่ภายในบ้านของเรา

เมื่อพระเยซูเสด็จมาถึงเยรูซาเล็ม ฝูงชนคาดหวังว่าพระองค์คือผู้ที่จะมาแก้ปัญหาภายนอกของพวกเขา คือการข่มเหงจากโรม พวกเขาตะโกนด้วยความฮึกเหิมว่า “โฮซันนาแก่ราชโอรสของดาวิด ขอให้ท่านผู้ที่เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระเจริญ โฮซันนาในที่สูงสุด” (มธ.21:9) นี่คือเวลาที่พวกเขารอคอย กษัตริย์ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้เสด็จมาแล้ว หากผู้ปลดปล่อยที่พระเจ้าทรงเลือกนี้กำลังเริ่มปฏิรูปสิ่งต่างๆ พระองค์จะไม่เริ่มจากความไม่ถูกต้องภายนอกหรือ แต่ในพระกิตติคุณส่วนใหญ่ “การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิต” นั้นตามมาด้วยการที่พระเยซูทรงขับไล่ผู้รับแลกเงิน... จากพระวิหาร (ข้อ 12-13) พระองค์ทรงชำระพระนิเวศจากภายในสู่ภายนอก

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราต้อนรับพระเยซูในฐานะกษัตริย์ พระองค์เสด็จมาเพื่อทำสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องและทรงเริ่มจากเรา ทรงให้เราเผชิญหน้ากับมารร้ายที่อยู่ภายใน พระเยซูบนหลังลาเปรียบเสมือนนักรบบนม้าโทรจัน ม้าได้รับการต้อนรับในฐานะเครื่องหมายแห่งสันติ แต่เป้าหมายที่แท้ของมันคือการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข พระเยซูองค์กษัตริย์ของเราทรงประสงค์สิ่งเดียวกันจากเรา

ผลกระทบต่อเนื่อง

วิทยาลัยพระคริสตธรรมเล็กๆในภาคเหนือของประเทศกาน่าดูไม่น่าประทับใจ ตึกทำจากอิฐบล็อกน้ำหนักเบา หลังคาสังกะสี และมีนักศึกษาเพียงหยิบมือ แต่บ็อบ เฮย์ทุ่มเทชีวิตให้นักศึกษาเหล่านี้ เขาสอนการเป็นผู้นำและหนุนใจให้สอนและเทศนาแม้พวกเขาจะลังเลไม่แน่ใจ บ็อบเสียชีวิตหลายปีแล้ว แต่คริสตจักรที่เติบโตหลายสิบแห่ง โรงเรียน และสถาบันพระคริสตธรรมอีกสองแห่งที่เกิดขึ้นทั่วกาน่า ล้วนมาจากผู้จบการศึกษาจากโรงเรียนเล็กๆนี้

ในรัชกาลของกษัตริย์อารทาเซอร์ซีส (465-424 ปีก่อนคริสตกาล) เอสราธรรมาจารย์ได้รวบรวมชาวยิวที่ถูกเนรเทศกลับเยรูซาเล็ม แต่เอสราไม่พบคนเลวีในพวกเขา (อสร.8:15) ท่านต้องการให้คนเลวีเป็นปุโรหิต จึงมอบหมายพวกผู้นำให้ “ส่งผู้ปรนนิบัติสำหรับพระนิเวศของพระเจ้าของเรามายังเรา” (ข้อ 17) พวกเขาดำเนินการ (ข้อ 18-20) และเอสรานำพวกเขาด้วยการอดอาหารและอธิษฐาน (ข้อ 21)

ชื่อเอสรามีความหมายว่า “ผู้ช่วย” ซึ่งเป็นคุณลักษณะในหัวใจของผู้นำที่ดี ภายใต้การนำด้วยคำอธิษฐานของเอสรา ท่านและผู้ติดตามปลุกการฟื้นฟูฝ่ายวิญญาณขึ้นในเยรูซาเล็ม (ดูบทที่ 9-10) ทั้งหมดที่พวกเขาต้องการมีเพียงการหนุนใจเล็กน้อยและคำแนะนำที่ฉลาด

สิ่งนี้ขับเคลื่อนคริสตจักรของพระเจ้าเช่นกัน ที่ปรึกษาที่ดีหนุนใจและสร้างเราขึ้น เราจึงเรียนรู้ที่จะทำเช่นเดียวกันต่อผู้อื่น อิทธิพลเช่นนี้คงอยู่ยาวนานกว่าชีวิตของเรา งานที่ทำอย่างสัตย์ซื่อเพื่อพระเจ้านั้นจะส่งผลไปตลอดนิรันดร์

มอบทุกสิ่ง

ชายสองคนเป็นที่จดจำในการรับใช้ผู้อื่นเพื่อพระเยซู โดยได้ทิ้งอาชีพในด้านศิลปะเพื่อถวายตัวไปยังที่ซึ่งพระเจ้าทรงเรียก เจมส์ โอ. เฟรเซอร์ (ค.ศ.1886-1938) ตัดสินใจยุติการเป็นนักเปียโนในอังกฤษเพื่อรับใช้ชาวลีซูในจีน ส่วนจัดสัน ฟาน เดอเวนเตอร์ชาวอเมริกัน (ค.ศ.1855-1939) เลือกเป็นผู้ประกาศแทนอาชีพด้านศิลปะ ต่อมาเขาแต่งเพลงนมัสการ “ข้ามอบทุกสิ่งแด่พระเยซู”

ขณะที่สายอาชีพศิลปะเป็นงานในฝันของหลายคน แต่คนเหล่านี้เชื่อว่าพระเจ้าทรงเรียกให้พวกเขาทิ้งอาชีพหนึ่งเพื่อทำสิ่งอื่น พวกเขาอาจได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่พระเยซูแนะนำเศรษฐีหนุ่มให้สละสิ่งที่มีเพื่อติดตามพระองค์ (มก.10:17-25) เปโตรซึ่งเห็นเหตุการณ์นั้นทูลว่า “ข้าพระองค์ทั้งหลายได้สละสิ่งสารพัด และได้ติดตามพระองค์มา” (ข้อ 28) พระเยซูยืนยันกับท่านว่าพระเจ้าจะประทานชีวิตนิรันดร์แก่ผู้ที่ติดตามพระองค์ และ “ในยุคนี้ ผู้นั้นจะได้รับตอบแทนร้อยเท่า” และได้ชีวิตนิรันดร์ (ข้อ 30) แต่พระองค์จะทรงจัดสรรตามพระปัญญา “หลายคนที่เป็นคนต้นจะต้องกลับไปเป็นคนสุดท้าย และที่เป็นคนสุดท้ายจะกลับเป็นคนต้น” (ข้อ 31)

ไม่ว่าพระเจ้าทรงวางเราไว้ที่ใด เราถูกเรียกให้ถวายชีวิตทุกวันแด่พระคริสต์ เชื่อฟังเสียงเรียกอันอ่อนสุภาพให้ติดตามและรับใช้ด้วยความสามารถและทรัพยากรที่มี ไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงาน ชุมชน หรือไกลบ้าน เมื่อเราทำตาม พระองค์จะช่วยให้เรารักผู้อื่น โดยให้ความต้องการของพวกเขาอยู่เหนือความต้องการของเรา

ที่ลึกที่สุด

วิคเตอร์ ฮูโก (ค.ศ.1802-1885) กวีและนักเขียนนิยายช่วงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบเก้า เป็นที่รู้จักมากที่สุดจากผลงานคลาสสิคเรื่องเหยื่ออธรรม กว่าหนึ่งศตวรรษต่อมาละครเพลงที่ดัดแปลงจากนิยายของเขากลายเป็นหนึ่งในงานสร้างซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในยุคของเรา ไม่น่าแปลกใจเพราะฮูโกเคยกล่าวไว้ว่า “ดนตรีถ่ายทอดสิ่งที่ไม่อาจเอ่ยออกมา และในสิ่งที่ไม่อาจเก็บเงียบไว้ได้”

ผู้เขียนสดุดีคงเห็นด้วย บทเพลงและคำอธิษฐานของพวกท่านสะท้อนถึงชีวิตอย่างตรงไปตรงมาและความเจ็บปวดที่หลีกหนีไม่พ้นแก่เรา ซึ่งสัมผัสเราในจุดที่เราคิดว่ายากจะเข้าถึง เช่นในสดุดี 6:6 ดาวิดร้องว่า “ข้าพระองค์อ่อนเปลี้ยด้วยการคร่ำครวญ และหลั่งน้ำตาท่วมที่นอนทุกคืน ที่เอนกายก็ชุ่มโชกไปด้วยการร้องไห้”

ข้อเท็จจริงที่บทเพลงแห่งแรงบันดาลใจในพระคัมภีร์ได้รวมเอาการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมานี้ไว้ด้วยนั้น หนุนใจเราอย่างมาก ซึ่งได้เชื้อเชิญให้เรานำความกลัวมาหาพระเจ้า ผู้ทรงต้อนรับเราเข้าในการทรงสถิตเพื่อปลอบโยนและช่วยเหลือเรา พระองค์ทรงโอบอุ้มเราในความซื่อตรงที่จริงใจของเรา

ดนตรีมอบความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึก เมื่อเราไม่รู้จะกล่าวออกมาอย่างไร แต่ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะถ่ายทอดมาเป็นเสียงเพลง คำอธิษฐาน หรือการร้องไห้เงียบๆ พระเจ้าของเราทรงเข้าถึงส่วนที่ลึกที่สุดในจิตใจของเรา และประทานสันติสุขให้แก่เรา

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา