Month: พฤศจิกายน 2020

ให้สิ่งที่ดีที่สุด

เราจ้องดูกองรองเท้าซึ่งมีคนนำมาบริจาคขณะเดินเข้าไปในสถานพักพิงสำหรับคนจรจัด กลุ่มเยาวชนของเราได้รับเชิญให้มาช่วยคัดรองเท้าที่ใช้แล้ว เราใช้เวลาในช่วงเช้าจับคู่และเรียงรองเท้าบนพื้น ตกบ่ายเราโยนรองเท้าทิ้งไปกว่าครึ่งเพราะมันพังเกินกว่าจะใช้ได้ แม้ว่าสถานพักพิงจะไม่อาจห้ามคนนำของด้อยคุณภาพมาบริจาค แต่พวกเขาก็เลือกที่จะไม่นำรองเท้าที่พังแล้วนั้นไปแจก

ชาวอิสราเอลก็มีปัญหาเรื่องการถวายของที่ไม่ดีให้กับพระเจ้า พระเจ้าทรงตำหนิชาวอิสราเอลผ่านผู้เผยพระวจนะมาลาคีที่พวกเขานำสัตว์ตาบอด พิการ หรือเป็นโรคมาถวาย แทนที่จะนำสัตว์ที่แข็งแรงมา (มลค.1:6-8) พระองค์ประกาศว่าไม่ทรงพอพระทัย (ข้อ 10) ทรงยืนยันถึงคุณค่าของพระองค์ และทรงตำหนิชาวอิสราเอลที่เก็บสิ่งที่ดีที่สุดไว้สำหรับตัวเอง (ข้อ 14) แต่พระเจ้าทรงสัญญาด้วยว่าจะส่งพระเมสสิยาห์มา ผู้ซึ่งพระคุณและความรักของพระองค์จะเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขาและจุดประกายความปรารถนาที่พวกเขาจะนำเครื่องบูชาที่พระองค์ทรงพอพระทัยมาถวาย (3:1-4)

บางครั้งเราอาจถูกทดลองให้นำของเหลือมาถวายพระเจ้า เราสรรเสริญพระเจ้าและคาดหวังให้พระองค์ประทานทุกสิ่งให้กับเรา แต่เรากลับถวายเศษเล็กเศษน้อยให้กับพระองค์ เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำทั้งสิ้น เราสามารถชื่นชมยินดีในการเฉลิมฉลองว่าพระองค์ทรงคุณค่าคู่ควรและมอบสิ่งดีที่สุดของเราให้กับพระองค์

หวานชื่นอีกครั้ง

พิธีแต่งงานของชาวรัสเซียนั้นเต็มไปด้วยความสวยงามและมีความหมายหนึ่งในธรรมเนียมนั้นเกิดขึ้นระหว่างงานเลี้ยงต้อนรับ เจ้าภาพจะขอดื่มอวยพรเพื่อเป็นเกียรติแก่คู่บ่าวสาว แขกทุกคนจะจิบเครื่องดื่มจากแก้วของตนและตะโกนว่า “กอร์โก! กอร์โก!” ที่แปลว่า “ขม! ขม!” เมื่อแขกตะโกนคำนั้น คู่บ่าวสาวต้องลุกขึ้นและจูบกันเพื่อจะทำให้เครื่องดื่มกลับมาหวานอีกครั้ง

อิสยาห์พยากรณ์ว่า เครื่องดื่มรสขมแห่งการถูกทิ้งร้าง ความพินาศ และคำสาปแช่งบนแผ่นดินโลก (บทที่ 24) จะหลีกทางให้กับความหวังอันแสนหวานของสวรรค์และโลกใหม่ (บทที่ 25) พระเจ้าจะทรงจัดเตรียมงานเลี้ยงด้วยของอ้วนพีและเครื่องดื่มที่หวานชื่นและดีที่สุด เป็นงานเลี้ยงแห่งพระพร การเกิดผล และการทรงจัดเตรียมอย่างต่อเนื่องสำหรับทุกคน (25:6) ไม่ใช่แค่นั้น ภายใต้การปกครองสูงสุดของกษัตริย์ผู้ชอบธรรม ความตายจะถูกกลืนและพระเจ้าจะเช็ดน้ำตาทุกหยดและเอาการลบหลู่ออกไป (ข้อ 7-8) ประชากรของพระองค์จะชื่นชมยินดีเพราะผู้ที่พวกเขาวางใจและรอคอยจะนำความรอดมาและทำให้ถ้วยแห่งชีวิตที่ขมขื่นกลับหวานอีกครั้ง (ข้อ 9)

วันหนึ่งเราจะได้อยู่กับพระเยซูในงานเลี้ยงสมรสของพระเมษโปดกเมื่อพระองค์ทรงต้อนรับเจ้าสาวของพระองค์ (คริสตจักร) กลับบ้าน พระสัญญาในอิสยาห์ 25 จะสำเร็จ ชีวิตที่ขมขื่นจะกลับหวานชื่นอีกครั้ง

ลมหายใจและชีวิตแสนสั้น

แม่และน้องสาวรวมทั้งตัวฉันยืนอยู่ข้างเตียงพ่อ ขณะที่ลมหายใจของท่านเริ่มแผ่วลงเรื่อยๆจนกระทั่งท่านสิ้นลม ท่านเดินทางอย่างสงบไปยังอีกโลกหนึ่งซึ่งพระเจ้าทรงรอคอยอยู่ก่อนจะมีอายุครบ 89 ปีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า การจากไปของพ่อได้ทิ้งช่องว่างไว้ซึ่งเป็นที่ที่ท่านเคยอยู่ในใจเรา และมีเพียงความทรงจำและข้าวของที่เตือนใจเราให้ระลึกถึงท่าน แต่เรามีความหวังว่าวันหนึ่งเราจะได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง

เรามีความหวังเช่นนั้นเพราะเราเชื่อว่าพ่อไปอยู่กับพระเจ้า ผู้ทรงรู้จักและรักท่าน เมื่อพ่อหายใจครั้งแรก พระเจ้าทรงอยู่ที่นั่นและทรงระบายลมปราณเข้าไปในปอดของท่าน (อสย.42: 5) ก่อนลมหายใจแรกและในทุกลมหายใจของพ่อ พระเจ้าทรงเข้ามามีส่วนในทุกรายละเอียดของชีวิตพ่อ เช่นเดียวกับที่ทรงทำในชีวิตของคุณและฉัน พระเจ้าทรงออกแบบพ่อมาอย่างอัศจรรย์และทรง “ถักทอ” ท่านตั้งแต่ในครรภ์ (สดด.139:13-14) เมื่อลมหายใจสุดท้ายของพ่อหมดลง พระวิญญาณของพระเจ้าก็ทรงอยู่ที่นั่น ทรงสวมกอดท่านด้วยความรักและนำท่านไปอยู่กับพระองค์ (ข้อ 7-10)

นี่เป็นความจริงสำหรับบุตรของพระเจ้าทุกคน พระองค์ทรงรู้จักทุกช่วงของชีวิตอันแสนสั้นของเราบนโลกนี้ (ข้อ 1-4) เรามีค่าสำหรับพระองค์ ในแต่ละวันที่เหลืออยู่และชีวิตในโลกใหม่ที่เรารอคอย ให้เราร่วมกับ “ทุกสิ่งที่หายใจ” ในการสรรเสริญพระเจ้า “จงสรรเสริญพระเจ้าเถิด”! (150:6)

เผชิญการต่อสู้

เมื่อไม่นานมานี้ฉันได้พบกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง จากการสนทนาดูเหมือนทุกคนกำลังเผชิญกับการต่อสู้ที่หนักหน่วง มีสองคนที่พ่อแม่ป่วยเป็นมะเร็ง อีกคนมีลูกที่มีความผิดปกติเรื่องการกินอาหาร อีกคนมีอาการปวดเรื้อรัง และอีกคนต้องผ่าตัดใหญ่ ดูจะเป็นเรื่องหนักทีเดียวสำหรับคนกลุ่มนี้ที่อยู่ในวัย 30 และ 40 ปี

1 พงศาวดารบทที่ 16 เล่าถึงช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์อิสราเอลเมื่อหีบพันธสัญญาถูกนำเข้ามาในนครดาวิด (เยรูซาเล็ม) ซามูเอลบอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงพักรบ (2 ซมอ.7:1) เมื่อหีบพันธสัญญาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการทรงสถิตของพระเจ้ามาถึง ดาวิดก็นำประชาชนขับร้องเพลง (1 พศด.16:8-36) ชนทั้งชาติร่วมกันร้องเพลงถึงการอัศจรรย์ การรักษาพระสัญญาและการปกป้องที่ผ่านมาของพระเจ้า (ข้อ 12-22) พวกเขาร้องว่า “จงแสวงพระเจ้าและพระกำลังของพระองค์ แสวงพระพักตร์ของพระองค์เรื่อยไป” (ข้อ 11) พวกเขาต้องทำเช่นนั้นเพราะยังมีสงครามอีกมากที่รอพวกเขาอยู่

จงแสวงพระเจ้าและพระกำลังของพระองค์ แสวงพระพักตร์ของพระองค์ นั่นเป็นคำแนะนำที่เราควรปฏิบัติเมื่อต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย ความกังวลเรื่องครอบครัวและการต่อสู้อื่นๆ เพราะเราไม่ได้ถูกทิ้งให้ต่อสู้ด้วยกำลังที่ถดถอย พระเจ้าทรงอยู่กับเราและทรงเข้มแข็ง พระองค์ทรงดูแลเรามาแล้วอย่างไร พระองค์ก็จะทรงทำเช่นนั้นอีก

พระเจ้าของเราจะทรงนำเราให้ผ่านพ้นไปได้

จงขอบพระคุณอยู่เสมอ

ในศตวรรษที่ 17 มาร์ติน รินคาร์ท รับใช้พระเจ้าในแซกโซนีประเทศเยอรมนี ในยุคที่เกิดสงครามและโรคระบาดเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ในปีหนึ่งเขาต้องจัดงานศพกว่า 4 พันครั้งรวมทั้งงานศพของภรรยาตัวเอง เวลานั้นอาหารขาดแคลนจนครอบครัวเขาต้องทนหิว แม้เขาอาจสิ้นหวัง แต่ความเชื่อในพระเจ้ายังคงเข้มแข็งและเขายังขอบคุณพระเจ้าอยู่เสมอ เขาถ่ายทอดหัวใจที่กตัญญูออกมาเป็นเพลงที่ชื่อว่า “Nun danket alle Gott” ซึ่งกลายเป็นบทเพลงชีวิตคริสเตียนที่หลายคนชื่นชอบชื่อ “จงขอบพระคุณพระเจ้า”

รินคาร์ททำตามอย่างผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ ผู้ซึ่งสั่งสอนประชากรของพระเจ้าให้ขอบพระคุณอยู่เสมอแม้ในเวลาที่พวกเขาผิดหวังในพระเจ้า (อสย.12:1) หรือเมื่อศัตรูกดขี่พวกเขา ถึงกระนั้นพวกเขายังคงยกย่องพระนามพระเจ้าและ “ประกาศบรรดาพระราชกิจของพระองค์ท่ามกลางชนชาติทั้งหลาย” (ข้อ 4)

อาจเป็นเรื่องง่ายที่จะขอบคุณพระเจ้าในเทศกาลเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว เช่น วันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งเป็นเวลาที่เราสนุกสนานกับงานเลี้ยงร่วมกับเพื่อนฝูงและครอบครัว แต่เราจะขอบคุณพระเจ้าในช่วงเวลาที่ทุกข์ยาก เช่น เมื่อบางคนหายไปจากกลุ่ม เมื่อมีปัญหาการเงินหรือขัดแย้งกับคนใกล้ชิดได้หรือไม่

จงเอาอย่างศิษยาภิบาลรินคาร์ทโดยร่วมใจกันเปล่งเสียงสรรเสริญและขอบพระคุณแด่ “พระเจ้านิรันดร์ ผู้ซึ่งโลกและสวรรค์ต่างพากันยกย่อง” เราสามารถ “ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงกระทำกิจอันดีเลิศ” (ข้อ 5)

ทุกคนไม่ว่าเขาจะเป็นใคร

ประเทศเอลซัลวาดอร์ยกย่องพระเยซูโดยการวางรูปปั้นของพระองค์ไว้ที่ใจกลางเมืองหลวง แม้จะอยู่กลางวงเวียนที่จราจรคับคั่ง แต่ความสูงของรูปปั้นก็ทำให้มองเห็นได้ง่ายและชื่อรูปปั้นที่ว่า พระผู้ช่วยให้รอดของโลก ก็สื่อถึงการเคารพยกย่องต่อสถานะเหนือธรรมชาติของพระองค์

ชื่ออนุสาวรีย์นี้ยืนยันสิ่งที่พระคัมภีร์พูดถึงพระเยซู (1 ยน.4:14) ผู้ทรงประทานความรอดแก่เราทุกคน พระเยซูทรงข้ามเขตแดนทางวัฒนธรรมและเปิดรับผู้ที่ต้องการรู้จักพระองค์อย่างจริงใจ โดยไม่ขึ้นอยู่กับอายุ การศึกษาเชื้อชาติ ความผิดบาปในอดีต หรือสถานะทางสังคม

อัครทูตเปาโลท่องไปในโลกสมัยโบราณเพื่อบอกผู้คนถึงชีวิต ความตาย และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู ท่านแบ่งปันข่าวดีนี้กับผู้มีอำนาจทางการเมือง ผู้นำศาสนา ทหาร ชาวยิว คนต่างชาติ ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก เปาโลอธิบายว่า ใครก็สามารถเริ่มต้นความสัมพันธ์กับพระคริสต์ได้โดยประกาศว่า “พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” และเชื่อว่าพระเจ้าทรงชุบพระองค์ขึ้นจากความตาย (รม.10:9) ท่านกล่าวว่า “ผู้หนึ่งผู้ใดที่เชื่อในพระองค์จะไม่ได้รับความอับอาย…ผู้ที่ร้องออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะรอด” (ข้อ 11, 13)

พระเยซูไม่ใช่รูปปั้นที่เราจะยกย่องอยู่ไกลๆ แต่เราต้องมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระองค์โดยทางความเชื่อ ขอให้เราเห็นคุณค่าของความรอดที่พระองค์มอบให้และก้าวไปสู่ความสัมพันธ์ฝ่ายจิตวิญญาณกับพระองค์ในวันนี้

บทเรียนจากไก่งวง

คุณรู้ไหมว่าไก่งวงที่อยู่กันเป็นกลุ่มเรียกว่าอะไร คำตอบคือฝูงไก่งวง ทำไมผมจึงเขียนถึงไก่งวง เพราะผมเพิ่งกลับจากการใช้เวลาช่วงวันหยุดที่กระท่อมบนภูเขา ผมแปลกใจกับขบวนไก่งวงที่เดินพาเหรดผ่านระเบียงบ้านของเราทุกวัน

ผมไม่เคยเฝ้าดูไก่งวงมาก่อน พวกมันตะกุยพื้นอย่างแรงด้วยกรงเล็บอันน่าทึ่ง จากนั้นก็ไล่จิกลงไปที่พื้น ผมเดาว่ามันกำลังกินอาหาร นี่เป็นครั้งแรกที่ผมสังเกตไก่งวง ผมจึงไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกไหม ดูเหมือนสัตว์เลี้ยงที่ผอมกะหร่องแถวบ้านเราจะไม่ช่วยให้อิ่มท้องเท่ากับเจ้าไก่งวงที่จ้ำม่ำพวกนี้

ขณะที่นั่งดูไก่งวงเหล่านี้ ผมคิดถึงคำพูดของพระเยซูในมัทธิว 6:26 ว่า“จงดูนกในอากาศ มันมิได้หว่าน มิได้เกี่ยว มิได้ส่ำสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงนกไว้ ท่านทั้งหลายมิประเสริฐกว่านกหรือ” พระเยซูทรงใช้ภาพการที่พระเจ้าทรงเลี้ยงนกที่ดูไร้ค่าเพื่อเตือนเราให้รู้ถึงความห่วงใยที่ทรงมีต่อเรา หากชีวิตของนกยังสำคัญ ชีวิตของเราจะไม่สำคัญยิ่งกว่าหรือ จากนั้นพระเยซูทรงเปรียบความกังวลถึงสิ่งจำเป็นประจำวันของเรา (ข้อ 27-31) กับชีวิตที่ “แสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน” (ข้อ 33) เป็นชีวิตที่เรามั่นใจได้ว่าพระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นสำหรับเราอย่างอุดม ถ้าพระเจ้าทรงดูแลฝูงไก่งวงได้ พระองค์ก็จะดูแลคุณและผมได้แน่นอน

ที่ว่างสำหรับฉัน

เขาเป็นทหารผ่านศึกสูงวัยที่แข็งกระด้างและพูดจาหยาบคาย วันหนึ่งเพื่อนของเขาไต่ถามเรื่องความเชื่อของเขาด้วยความเป็นห่วง เขารีบตอบอย่างไม่แยแสว่า “พระเจ้าไม่มีที่ว่างสำหรับคนอย่างผมหรอก”

บางทีนั่นอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิสัยที่ “แข็งกระด้าง” ของเขา แต่เขาไม่อาจปฏิเสธความจริงได้! พระเจ้าทรงสร้างที่ว่างโดยเฉพาะให้กับคนที่แข็งกระด้าง คนที่รู้สึกผิด และคนที่สังคมรังเกียจ เพื่อพวกเขาจะมีพื้นที่ที่จะเติบโตในชุมชนของพระองค์ เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากวิธีการอันน่าทึ่งของพระเยซูในการเลือกสาวกตอนที่พระองค์ทรงเริ่มต้นพันธกิจ สิ่งแรกที่พระองค์ทำคือเลือกชาวประมงหลายคนจากกาลิลีซึ่ง “ยากจนต่ำต้อย” ในสายตาของชาวเยรูซาเล็ม นอกจากนั้นพระองค์ทรงเลือกมัทธิวคนเก็บภาษี ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องขู่กรรโชกเพื่อนร่วมชาติ ตามด้วยซีโมน “พรรคชาตินิยม” (มก.3:18)

เราไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับซีโมนคนนี้ (ไม่ใช่ซีโมนเปโตร) แต่สิ่งที่เรารู้คือพวกชาตินิยมเกลียดชังคนทรยศอย่างมัทธิว ซึ่งร่ำรวยมาจากการร่วมมือกับชาวโรมันที่คนยิวดูหมิ่น พระเยซูทรงเลือกทั้งซีโมนและมัทธิวและนำพวกเขามาอยู่ด้วยกันในทีมของพระองค์ร่วมกับสาวกคนอื่นๆ

อย่ากีดกันใครโดยหาว่าเขา “เลว” เกินไปสำหรับพระเยซู เพราะไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พระองค์ก็ตรัสว่า “เรามิได้มาเพื่อจะเรียกคนที่เห็นว่าตัวชอบธรรม แต่มาเรียกคนที่พวกท่านว่านอกรีตให้กลับใจเสียใหม่” (ลก.5:32) พระองค์ทรงมีที่ว่างมากมายสำหรับคนที่ร้ายกาจ คือคนเช่นคุณและผม

ใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

หลังจากที่รถคันเก่าของวิคกี้พังลงโดยไม่มีทางซ่อม เธอก็เริ่มเก็บเงินเพื่อซื้อรถคันใหม่ วันหนึ่งคริส ลูกค้าประจำที่มักจะมาสั่งอาหารตรงช่องไดรฟ์ทรูของร้านที่วิคกี้ทำงานอยู่ ได้ยินวิคกี้พูดว่าเธออยากได้รถสักคัน “ผมหยุดคิดไม่ได้และต้องทำอะไรสักอย่าง” คริสกล่าว ดังนั้นเขาจึงซื้อรถมือสองต่อจากลูกชาย (ลูกชายของเขาเพิ่งประกาศขายรถ) ขัดสีรถจนเงางามและยื่นกุญแจให้กับวิคกี้ วิคกี้ตกใจมากและกล่าวด้วยความประหลาดใจและซาบซึ้งใจว่า “ใครกันนะ...ที่ทำแบบนี้”

พระคัมภีร์เรียกร้องให้เรายื่นมือไปช่วยผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ ด้วยการมอบสิ่งดีที่สุดให้กับคนขัดสน ทิโมธีกล่าวว่า “จงกำชับให้เขากระทำดี ให้กระทำดีมากๆ” (1 ทธ.6:18) อย่าเพียงแค่แสดงความเมตตาตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย แต่จงดำเนินชีวิตที่ให้ด้วยใจยินดี ให้จิตใจที่กว้างขวางเป็นวิถีชีวิตปกติของเราดังที่ทิโมธีบอกคือ “ให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่เห็นแก่ตัว” (ข้อ 18)

เมื่อเรามีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และโอบอ้อมอารี เราไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะขาดแคลนสิ่งจำเป็น ตรงกันข้ามพระคัมภีร์บอกว่า เมื่อเรามีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เรา “จะได้รับเอาชีวิต ซึ่งเป็นชีวิตอันแท้จริง” (ข้อ 19) ในพระเจ้านั้น การมีชีวิตที่แท้จริงคือการปล่อยมือจากสิ่งที่เรามี และยอมมอบสิ่งนั้นให้กับผู้อื่น

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา