Month: พฤษภาคม 2020

ใจเย็นๆ

ผมกับพ่อเคยโค่นต้นไม้และตัดเป็นท่อนด้วยเลื่อยที่ต้องใช้สองคนตัด ผมยังหนุ่มและมีกำลังจึงพยายามออกแรงในการเลื่อย “ใจเย็นๆ” พ่อผมบอก “ให้เลื่อยทำงานของมัน”

ผมนึกถึงคำพูดของเปาโล “เพราะว่าพระเจ้าเป็นผู้ทรงกระทำกิจอยู่ภายในท่าน” (ฟป.2:13) ใจเย็นๆให้พระองค์ทรงกระทำกิจในการเปลี่ยนเรา

ซี.เอส.ลูอิสบอกว่า การเติบโตเป็นมากกว่าแค่การอ่านสิ่งที่พระคริสต์ตรัสแล้วทำตาม ท่านอธิบายว่า “พระคริสต์...กำลังทำบางสิ่งกับคุณ ...ค่อยๆเปลี่ยนคุณอย่างถาวรให้เป็น...พระคริสต์น้อยๆคนใหม่ เป็นผู้ที่...ได้รับกำลัง ความชื่นชมยินดี ความรู้และชีวิตนิรันดร์จากพระองค์”

พระเจ้ากำลังทำสิ่งนั้นในวันนี้ จงนั่งแทบพระบาทแล้วรับเอาสิ่งที่พระเยซูตรัส จงอธิษฐาน “จงรักษาตัวไว้ให้ดำรงในความรักของพระเจ้า” (ยด.1:21) ระลึกเสมอว่าคุณเป็นของพระองค์ พักสงบในความไว้วางใจว่า พระองค์กำลังเปลี่ยนแปลงคุณ

คุณอาจถามว่า “เราไม่ควรหิวกระหายความชอบธรรมหรือ” ลองนึกภาพเด็กน้อยที่พยายามจะหยิบของขวัญที่วางบนชั้นสูงๆ ด้วยดวงตาเป็นประกาย พ่อของเขารับรู้ถึงความปรารถนานั้น และหยิบของขวัญลงมาให้เขา

งานเป็นของพระเจ้า ความชื่นชมยินดีเป็นของเรา ใจเย็นๆ วันหนึ่งเราจะไปถึงที่นั่น

ทำอะไรก็ได้

ไม่นานมานี้มีภาพยนตร์ที่มีผู้อ้างตัวว่าเป็น “อัจฉริยะ” คุยโวหน้ากล้องถึง “ความสยดสยอง ชั่วร้าย โง่เขลา และอัตคัด” ของโลก เขาประกาศว่าชีวิตไม่มีพระเจ้าและไร้สาระ ความคิดเช่นนี้ไม่ผิดปกติในบทภาพยนตร์สมัยใหม่ แต่ว่ามันนำไปสู่อะไร ในตอนท้ายตัวเอกหันมาหาผู้ชมและอ้อนวอนให้เราทำอะไรก็ได้เพื่อจะพบความสุขสักเล็กน้อย ซึ่งสำหรับเขายังรวมถึงการทิ้งศีลธรรมไว้เบื้องหลังด้วย

แต่การ “ทำอะไรก็ได้” จะได้ผลหรือ ผู้เขียนปัญญาจารย์ ซึ่งเผชิญความผิดหวังในชีวิตได้ลองทำนานมาแล้ว ท่านแสวงหาความสุขจากความสนุกสนาน (ปญจ.2:1,10) ทำการใหญ่โต (ข้อ 4-6) ร่ำรวย (ข้อ 7-9) และวิเคราะห์ปรัชญา (ข้อ 12-16) ผลคือ “สารพัดก็อนิจจังคือกินลมกินแล้ง” (ข้อ 17) ไม่มีสิ่งใดที่ช่วยให้พ้นความตาย หายนะ หรือความอยุติธรรม (5:13-17)

มีเพียงสิ่งเดียวที่นำผู้เขียนปัญญาจารย์ออกมาจากความสิ้นหวัง ภายใต้การทดลองในชีวิต เราจะพบความอิ่มใจเมื่อพระเจ้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและการทำงานของเรา “ด้วยถ้าไม่อาศัยพระองค์แล้วใครจะกินได้เล่า หรือใครจะมีความชื่นบานได้” (2:25) อาจมีเวลาที่ชีวิตรู้สึกไร้ค่า “จงระลึกถึงพระผู้เนรมิตสร้างของเจ้า” (12:1) อย่าเหนื่อยเปล่าโดยการพยายามหาทางออกในชีวิต แต่ “จงยำเกรงพระเจ้า และรักษาพระบัญญัติของพระองค์” (ข้อ 13)

หากไม่มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง ความสุขและความเศร้าในชีวิตจะนำเราไปสู่ความผิดหวังเท่านั้น

ผู้สร้างดวงจันทร์

หลังจากนักบินอวกาศจอดยานอีเกิลที่ทะเลแห่งความสงบบนดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรองกล่าวว่า “นี่เป็นก้าวเล็กๆของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” เขาเป็นมนุษย์คนแรกที่เดินบนดวงจันทร์ นักท่องอวกาศหลายคนตามมา รวมทั้งผู้บัญชาการภารกิจอะพอลโลครั้งสุดท้าย จีน เคอร์แนน “ผมเคยอยู่ตรงนั้นและคุณกำลังอยู่ที่นั่น โลกที่กำลังเคลื่อนไหว ยิ่งใหญ่ และผมรู้สึกว่า...มันงดงามเกินกว่าจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ” เขากล่าว “จะต้องมีใครที่ยิ่งใหญ่กว่าคุณและผม” แม้จะมองจากมุมพิเศษในห้วงอวกาศ แต่คนเหล่านี้รู้ว่าพวกเขาช่างเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ของจักรวาล

เยเรมีย์ก็พิจารณาความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจากที่ทรงเป็นพระผู้สร้างผู้ค้ำจุนโลกและสิ่งทั้งปวง องค์ผู้สร้างสัญญาว่าจะสำแดงพระองค์ให้รู้จักเมื่อทรงมอบความรัก การอภัย และความหวังแก่คนของพระองค์ (ยรม.31:33-34) เยเรมีย์ยืนยันความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าว่าทรงเป็นผู้ “ให้ดวงอาทิตย์เป็นสว่างกลางวัน และทรงให้ระเบียบตายตัวของดวงจันทร์ และทรงให้บรรดาดวงดาวเป็นสว่างกลางคืน” (ข้อ 35) พระผู้สร้างและองค์ผู้ทรงฤทธิ์ของเราจะครอบครองเหนือทุกสิ่ง อย่างที่ทรงไถ่ประชากรของพระองค์ทุกคน (ข้อ 36-37)

เราไม่อาจสำรวจความกว้างใหญ่อันไร้ขอบเขตของสวรรค์หรือความลึกของรากฐานแห่งโลกได้หมด แต่เราสามารถยืนด้วยความยำเกรงต่อความซับซ้อนของจักรวาล และวางใจในพระผู้สร้างดวงจันทร์และสรรพสิ่ง

ตวงอย่างดี

วันหนึ่งในปั๊มน้ำมัน สเตซี่พบผู้หญิงซึ่งลืมบัตรเครดิตไว้ที่บ้าน เธอมีลูกน้อยมาด้วยและกำลังขอความช่วยเหลือจากคนที่ผ่านไปมา แม้ตอนนั้นสเตซี่จะตกงาน แต่เธอก็จ่ายเงินราว 500 บาทเพื่อเติมน้ำมันให้คนแปลกหน้า วันต่อมา เมื่อสเตซี่กลับมาบ้านก็พบตะกร้าของขวัญที่มีของเล่นเด็ก และของขวัญ อื่นๆรอเธออยู่ที่ระเบียง เพื่อนของคนแปลกหน้าได้ตอบแทนความใจดีของสเตซี่ และเปลี่ยนน้ำใจ 500 บาท ให้กลายเป็นคริสตมาสที่น่าจดจำสำหรับครอบครัวของเธอ

เรื่องราวน่าประทับใจนี้แสดงตัวอย่างที่พระเยซูทรงสอนเมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงให้เขา และท่านจะได้รับด้วย และในตักของท่านจะได้รับตวงด้วยทะนานถ้วนยัดสั่นแน่นพูนล้นใส่ให้ เพราะว่าท่านจะตวงให้เขาด้วยทะนานอันใด พระเจ้าจะได้ทรงตวงให้ท่านด้วยทะนานอันนั้น” (ลก.6:38)

เราอาจถูกทดลอง หากฟังแล้วเรากลับจดจ่ออยู่กับสิ่งที่จะได้รับตอบแทนจากการให้นั้น การทำเช่นนั้นทำให้พลาดประเด็นสำคัญไป พระเยซูตรัสก่อนหน้านั้นว่า “จงรักศัตรูของท่านทั้งหลาย และทำการดีต่อเขา จงให้เขายืมโดยไม่หวังที่จะได้คืนอีก บำเหน็จของท่านทั้งหลายจึงจะมีบริบูรณ์ และท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระเจ้าสูงสุด เพราะว่าพระองค์ยังทรงโปรดแก่คนอกตัญญูและคนชั่ว” (ข้อ 35)

เราไม่ได้ให้เพื่อจะได้รับ เราให้เพราะพระเจ้าทรงพอพระทัยในความมีน้ำใจของเรา ความรักที่เรามีต่อผู้อื่นสะท้อนถึงพระทัยอันเปี่ยมด้วยรักของพระองค์ที่มีต่อเรา

ทำไมต้องเป็นฉัน

หนังสือรวมเรื่องประหลาด (The Book of Odds) บอกว่า หนึ่งในล้านคนเคยถูกฟ้าผ่า และบอกอีกว่า 1 ใน 25,000 คนเคยมีประสบการณ์ที่ทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะหัวใจสลาย” เมื่อตกใจอย่างรุนแรงหรือเผชิญการสูญเสีย ในแต่ละหน้าของประสบการณ์ประหลาดนี้เต็มไปด้วยปัญหาเฉพาะเจาะจงที่ไม่มีคำตอบว่า ถ้าเราคือคนนั้นล่ะ

โยบฟันฝ่าเรื่องประหลาดทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปได้ พระเจ้าตรัสถึงท่านว่า “ในแผ่นดินโลกไม่มีใครเหมือนเขา เป็นคนดีรอบคอบและเที่ยงธรรม เกรงกลัวพระเจ้าและหันเสียจากความชั่วร้าย” (โยบ 1:8) กระนั้นโยบยังถูกเลือกให้ทนทุกข์จากการสูญเสียอย่างต่อเนื่อง ในบรรดาคนทั้งโลก โยบมีเหตุผลที่จะร้องขอคำตอบ เราอ่านเรื่องราวการต่อสู้สิ้นหวังทั้งหมดของท่านได้เพื่อจะเข้าใจว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน”

เรื่องของโยบมอบหนทางแก่เราในการตอบสนองต่อความเจ็บปวดและความเลวร้ายที่อธิบายไม่ได้ โดยบรรยายถึงความทุกข์และสับสนของคนซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดของพระเจ้าในเรื่องความชอบธรรมและเมตตา (บทที่ 25) เราได้รับทางเลือกภายใต้กฎอันเข้มงวดของการหว่านและการเกี่ยว (4:7-8) โดยการรู้เบื้องหลังแผนร้ายของซาตาน (บทที่ 1) และบทสรุป (42:7-17) จากพระเจ้าผู้ซึ่งในวันหนึ่งจะทรงยอมให้พระบุตรของพระองค์มาแบกรับความบาปของเรา เรื่องราวของโยบให้เหตุผลที่เราจะดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ ไม่ใช่ตามที่ตามองเห็น

หวานกว่าน้ำผึ้ง

หัวข้อในการพูดของเขาคือเรื่องความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติ แต่ผู้พูดยังคงสงบนิ่งและผ่อนคลาย เขายืนบนเวทีต่อหน้าผู้ฟังกลุ่มใหญ่ พูดด้วยความกล้าหาญ แต่นุ่มนวล อ่อนน้อม เป็นมิตรและยังมีอารมณ์ขัน ไม่นานผู้ฟังที่เคร่งเครียดก็ผ่อนคลายลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังหัวเราะไปกับผู้พูดเกี่ยวกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่พวกเขาเผชิญอยู่ จะคลี่คลายประเด็นร้อนแรงด้วยท่าทีสงบทั้งอารมณ์และคำพูดได้อย่างไร จะรับมือกับหัวข้อเจ็บแสบด้วยความสุภาพอ่อนหวานได้อย่างไร

กษัตริย์ซาโลมอนแนะนำวิธีการเดียวกันนี้แก่เราทุกคน “ถ้อยคำแช่มชื่นเหมือนรวงผึ้ง เป็นความหวานแก่วิญญาณจิตและเป็นอนามัยแก่ร่างกาย” (สภษ.16:24) ด้วยวิธีนี้ “ใจของปราชญ์...เพิ่มอำนาจในการสั่งสอนแก่ริมฝีปากของเขา” (ข้อ 23)

เหตุใดกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างซาโลมอนจึงอุทิศเวลาเพื่อบอกเราว่าควรพูดอย่างไร เพราะคำพูดอาจนำไปสู่การทำลาย ในสมัยของซาโลมอน กษัตริย์ต้องอาศัยผู้ส่งสารเพื่อจะทราบข้อมูลในประเทศของตน ผู้ส่งสารที่นิ่งและน่าเชื่อถือมีความสำคัญอย่างมาก พวกเขาใช้คำพูดอย่างระมัดระวังและเหมาะสม ไม่แสดงท่าทีมากเกินไปหรือพูดส่งเดช ไม่ว่าจะเรื่องใด

เราทุกคนจะได้ประโยชน์จากแสดงความคิดเห็นด้วยความเป็นธรรมและสุภาพรอบคอบ ซาโลมอนกล่าวว่า “แผนงานของดวงความคิดเป็นของมนุษย์ แต่คำตอบของลิ้นมาจากพระเจ้า” (ข้อ 1)

ระลึกถึง

ในวันทหารผ่านศึก ฉันนึกถึงอดีตทหารหลายคน โดยเฉพาะพ่อและลุงของฉัน ซึ่งประจำการในกองทัพช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกท่านรอดกลับมาบ้าน แต่ครอบครัวนับแสนต้องสูญเสียคนที่รักจากการรับใช้ชาติในสงคราม เมื่อถูกตั้งคำถาม พ่อและทหารส่วนใหญ่ในยุคนั้นบอกว่า พวกเขาเต็มใจสละชีพเพื่อปกป้องคนที่รัก และยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้อง

เมื่อใครสักคนเสียชีวิตจากการปกป้องประเทศ ยอห์น 15:13 “ไม่มีผู้ใดมีความรักที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ คือการที่ผู้หนึ่ง ผู้ใดจะสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหายของตน” มักถูกกล่าวในพิธีไว้อาลัยเพื่อเป็นเกียรติแก่การเสียสละของพวกเขา แต่อะไรคือเหตุการณ์ที่อยู่เบื้องหลังพระธรรมข้อนี้

เมื่อพระเยซูตรัสคำเหล่านี้กับสาวกระหว่างอาหารมื้อสุดท้าย ใกล้ถึงเวลาที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ ยูดาสหนึ่งในสาวกของพระองค์ได้ละทิ้งและทรยศพระองค์แล้ว (13:18-30) พระคริสต์ทรงทราบทุกสิ่ง แต่ยังทรงเลือกสละชีวิตเพื่อสหายและศัตรูของพระองค์

พระเยซูทรงเต็มพระทัยและพร้อมจะสิ้นพระชนม์เพื่อผู้ที่วันหนึ่งจะเชื่อในพระองค์ แม้กระทั่งผู้ที่ยังเป็นศัตรูกับพระองค์ (รม.5:10) ทรงขอให้สาวก (ในอดีตและปัจจุบัน) “รักซึ่งกันและกัน” เหมือนที่พระองค์ทรงรักพวกเขา (ยน.15:12) ความรักยิ่งใหญ่ของพระองค์ผลักดันให้เรามอบความรักที่เสียสละแก่ผู้อื่น ไม่ว่าเพื่อนหรือศัตรู

โต๊ะสนทนา

ความเหงาคือหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเรา ส่งผลต่อสุขภาพโดยผ่านพฤติกรรมการใช้สื่อสังคม การบริโภคอาหาร และอื่นๆในทำนองเดียวกัน งานวิจัยหนึ่งบอกว่า เกือบสองในสามของผู้คนทั้งหมด ไม่ว่าอายุหรือเพศใด ต้องเคยรู้สึกโดดเดี่ยวบ้างในบางครั้ง ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในอังกฤษได้ตั้ง “โต๊ะสนทนา” ไว้ในร้านกาแฟของห้าง เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนเชื่อมโยงถึงกัน ผู้ที่อยากปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพียงนั่งที่โต๊ะซึ่งออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้ ร่วมกลุ่ม หรือเปิดให้ผู้อื่นมาเข้าร่วม การสนทนาจะตามมา ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกผูกพันและเป็นชุมชน

ผู้คนในคริสตจักรยุคแรกก็มุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์เช่นกัน หากไม่มีกันและกันแล้ว พวกเขาคงจะรู้สึกโดดเดี่ยวในการฝึกฝนความเชื่อซึ่งยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับโลกในยุคนั้น พวกเขาไม่เพียง “ขะมักเขม้นฟังคำสอนของจำพวกอัครทูต” เพื่อเรียนรู้ความหมายของการติดตามพระเยซู แต่ยัง “ร่วมใจกันไปในพระวิหาร” และ “หักขนมปังตามบ้านของเขา” เพื่อหนุนใจและสามัคคีธรรมซึ่งกันและกัน (กจ.2:42,46)

เราจำเป็นต้องติดต่อกับผู้คน พระเจ้าทรงสร้างเราเช่นนั้น ฤดูกาลแห่งความเหงาอันเจ็บปวดบ่งบอกความต้องการนี้ เช่นเดียวกับผู้คนในคริสตจักรยุคแรก เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะมีสายสัมพันธ์กับผู้คน ซึ่งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของเรา และส่งต่อให้แก่ผู้คนรอบตัวที่ต้องการเช่นกัน

ผู้พิทักษ์ความสว่าง

ผู้พิทักษ์ความสว่าง” คือชื่อที่ใช้เรียกพวกเขา ประภาคารบนเกาะแฮททีรัส นอกชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา มีอนุสรณ์ระลึกถึงผู้คนที่ดูแลแหล่งกำเนิดแสงแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 1803 ไม่นานหลังจากที่โครงสร้างเดิมถูกย้ายขึ้นบกเพราะชายฝั่งถูกกัดเซาะ ชื่อผู้พิทักษ์เหล่านี้ได้ถูกสลักลงบนก้อนหินซึ่งเป็นฐานเดิมของมัน และนำมาจัดวางเป็นแถวรูปครึ่งวงกลมโดยหันหน้าออก จากคำอธิบายในแผ่นพับ ผู้มาเยี่ยมชมในปัจจุบันสามารถตามรอยเท้าเหล่าผู้พิทักษ์ในประวัติศาสตร์ และ “ดูแล” ประภาคารนี้เช่นกัน

พระเยซูทรงเป็นผู้ประทานความสว่าง พระองค์ตรัสว่า “เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต” (ยน.8:12) นี่เป็นการกล่าวอ้างแบบสุดโต่งสำหรับใครก็ตาม แต่พระเยซูตรัสเพื่อยืนยันสัมพันธภาพของพระองค์กับพระบิดาบนสวรรค์ ผู้สร้างความสว่างและชีวิต และเป็นผู้ที่ส่งพระองค์มา

เมื่อเรามองหาการช่วยกู้จากพระเยซู และทำตามคำสอนของพระองค์ เราก็ได้ฟื้นความสัมพันธ์กับพระเจ้า และพระองค์ให้กำลังและวัตถุประสงค์ใหม่แก่เรา ชีวิตใหม่และความรักของพระองค์คือ “ความสว่างของมนุษย์” (1:4) ที่ส่องมายังเราและผ่านเราไปสู่โลกที่มืดมิดและอันตราย

ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เราก็เป็น “ผู้พิทักษ์ความสว่าง” ขอให้ผู้อื่นเห็นแสงสว่างที่ส่องจากเรา และได้พบชีวิตและความหวัง ที่พระองค์ผู้เดียวประทานให้ได้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา