Category  |  ODB

วางแผนด้วยความหยั่งรู้

เอซดาน เป็นแพทย์ในเมืองเล็กๆที่มีความฝันยิ่งใหญ่ให้เอเลนอร์ลูกสาวที่ยังเล็ก เธอเป็นโรคดาวน์ซินโดรมและเขาหวังที่จะเปิดธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ในอนาคตให้เธอ เขารู้สึก “กลัว” ที่จะไล่ตามความฝันนี้ จึงลงเรียนหลักสูตรออนไลน์เกี่ยวกับวิธีเริ่มต้นธุรกิจ จากนั้นเขากับภรรยาเปิดร้านเบเกอรี่ของครอบครัวในเมืองไวโอมิ่งและประสบความสำเร็จ “มันกลายเป็นธุรกิจจริงๆที่มีพนักงาน” เอซดานกล่าว ตอนนี้เอเลนอร์ซึ่งโตแล้วทำหน้าที่เป็นพนักงานเก็บเงินและติดต่อกับลูกค้าออนไลน์ “ทุกคนในเมืองรู้ว่าเธอเป็นใคร” เอซดานเล่า ความเชื่อแบบก้าวกระโดดของเขาในการวางแผนอนาคตของเอเลนอร์สะท้อนถึงการตัดสินใจอย่างสุขุมด้วยความหยั่งรู้

นี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานในพระคัมภีร์ การหยั่งรู้เป็นองค์ประกอบของปัญญาที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้เพื่อการวางแผนของเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต สุภาษิต 14:8 กล่าวว่า “ปัญญาของคนหยั่งรู้คือการเข้าใจทางของเขา แต่ความโง่ของคนโง่เป็นที่หลอกลวง” แทนที่จะกังวลถึงอนาคตหรือว่าไม่ทำอะไรเลย คนที่หยั่งรู้จะพึ่งพาสติปัญญาจากพระเจ้าในการวางแผนสำหรับอนาคต

อันที่จริงการหยั่งรู้เป็นคำศัพท์ที่มาจากภาษาลาติน prudentia แปลว่า “มองเห็นการณ์ไกล” “คนเขลาเชื่อถือทุกอย่าง แต่คนหยั่งรู้มองดูว่าเขากำลังไปทางไหน” (ข้อ 15) พวกเขามองเห็นล่วงหน้าถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้น จึงทำงานอย่างรอบคอบเพื่อสร้างตาข่ายนิรภัย ซึ่งก็คือแผนการทำงานอย่างรัดกุมสำหรับคนมีปัญญา!

ขอให้เรามีความเฉียบแหลมในความเชื่อ ที่จะดำเนินชีวิตด้วยความหยั่งรู้ โดยการก้าวเดินไปพร้อมกับพระเจ้า

ผ่าตัดหัวใจ

หลายปีก่อนหลังจากตอบโต้กันด้วยคำพูดอันเผ็ดร้อน แคโรลินกับฉันได้แก้ไขความบาดหมางของเราด้วยความเห็นอกเห็นใจและความรักที่มีต่อกัน ฉันสารภาพผิด และเธอก็อธิษฐานเผื่อฉันโดยใช้ เอเสเคียล 36:26 “เราจะให้ใจใหม่แก่เจ้า และเราจะบรรจุจิตวิญญาณใหม่ไว้ในตัวเจ้า เราจะนำใจหินออกไปเสียจากเนื้อของเจ้า และให้ใจเนื้อแก่เจ้า” ฉันสัมผัสได้ว่าพระเจ้าทรงผ่าตัดหัวใจฝ่ายวิญญาณให้กับฉัน โดยขจัดความกลัวและใจขมขื่นออกไปในขณะที่ทรงโอบกอดฉันไว้ในความรักของพระองค์

พระเจ้าทรงพอพระทัยที่เราให้พระวจนะเข้ามามีส่วนเหมือนกับที่ฉันได้ทำในตอนนั้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตบริบทดั้งเดิมของพระธรรมตอนนี้ เอเสเคียลพูดแทนพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ ด้วยพระสัญญาที่ว่าพระเจ้าจะทรงชำระพวกเขาให้สะอาดเพราะ “เรากำลังจะกระทำอยู่แล้ว ไม่ใช่เพื่อเห็นแก่เจ้า แต่เพื่อเห็นแก่นามบริสุทธิ์ของเรา” (ข้อ 22) พระเจ้าจะทรงกระทำกิจแห่งการชำระให้บริสุทธิ์ท่ามกลางประชากรของพระองค์ เพื่อประชาชาติทั้งสิ้นจะยำเกรงและรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า

พระเจ้าทรงทำตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา ไม่เพียงเพื่อช่วยเราให้เติบโตและจำเริญขึ้น แต่เพื่อให้เรานำเกียรติมาสู่พระองค์ด้วย ดังที่พระองค์ได้มอบใจใหม่และจิตวิญญาณใหม่แก่คนอิสราเอลตามพระสัญญา โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่กระทำกิจภายใน พระเจ้าก็จะทรงแทนที่จิตใจที่เย็นชาและแข็งกระด้างของเรา ด้วยหัวใจที่จะตอบรับและแบ่งปันความรักและชีวิตของพระองค์ออกไป

ภาษารัก

มอง ดิเยอ, ลีบาร์ ก็อตต์, ดราฮี โบรเช่, อากาเปแต เธ, ข้าแต่พระเจ้า ฉันได้ยินคำอธิษฐานเป็นภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน สโลวัก กรีกและอังกฤษ ดังก้องไปทั่วคริสตจักรกลางเมืองเอเธนส์ เหมือนเราอธิษฐานเป็นเสียงเดียวกันด้วยภาษาท้องถิ่นต่างๆ เพื่อผู้คนในประเทศบ้านเกิดของเราจะได้ยินถึงความรักของพระเจ้า ความงดงามของการมาอยู่รวมกันขยายเพิ่มมากขึ้นเมื่อเราตระหนักถึงการอยู่รวมกันที่เกิดขึ้นในวันเพ็นเทคอสต์

ในพันธสัญญาเดิม วันเพ็นเทคอสต์คือเทศกาลเก็บเกี่ยวที่เฉลิมฉลองวันที่ห้าสิบหลังจากเทศกาลปัสกา (ลนต.23:15-21) ในวันเพ็นเทคอสต์แรกหลังการสิ้นพระชนม์และการเป็นขึ้นของพระเยซู ผู้เชื่อมารวมตัวกันในกรุงเยรูซาเล็ม ทันใดนั้นมีเสียงเหมือน “พายุกล้า” และ “มีเปลวไฟสัณฐานเหมือนลิ้น” ปรากฏขึ้นเมื่อพวกเขาประกอบด้วยพระวิญญาณ และ “จึงตั้งต้นพูดภาษาอื่นๆตามที่พระวิญญาณทรงโปรดให้พูด” (กจ.2:2-4) ผู้มาเยือนจากนานาประเทศได้ยิน “มหกิจของพระเจ้า” ในภาษาของตนเอง (ข้อ 11) และหลังจากเปโตร “กล่าวแก่คนทั้งปวง” (ข้อ 14) มีหลายคนที่เชื่อในถ้อยคำนั้นที่บอกว่า พระเยซูทรงถูกตรึงที่กางเขนและเป็นขึ้นเพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาป (ข้อ 22-41)

คำอธิษฐานในภาษาต่างๆของผู้นำพันธกิจที่รวมตัวกันในกรุงเอเธนส์ทำให้ฉันระลึกว่า ถ้อยคำของเปโตรที่ได้ยินในวันเพ็นเทคอสต์ยังคงถูกแบ่งปันไปทั่วโลก และผู้คนยังคงตอบสนองด้วยความเชื่อ

ให้เราทูลขอพระวิญญาณที่จะประทานกำลังแก่เราเหมือนผู้เชื่อพระเยซูยุคแรกในวันเพ็นเทคอสต์ เพื่อที่เราจะบอกเล่าถึงความรักของพระเจ้า และให้เราอธิษฐานขอให้ข่าวสารนี้จะได้ยินในทุกๆ ภาษาที่พูดกันในโลกใบนี้

เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

โต๊ะที่ดูเรียบง่ายกับถ้วยธรรมดาๆ13 ใบที่วางบนแผ่นสี่เหลี่ยมต่อๆกันทำให้เกิดเป็นภาพวาดร่วมสมัยในชื่อ “เพื่อเขาทั้งหลายจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ซึ่งแขวนอยู่ที่วิทยาลัยวอล์ฟสัน ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ความเรียบง่ายของภาพนี้ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์นั่นคืออาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูกับเหล่าสาวก แผ่นสี่เหลี่ยมที่โดดเด่นที่สุดประกอบด้วยขนมปังและถ้วยซึ่งหมายถึงพระเยซู ล้อมรอบด้วยแผ่นสี่เหลี่ยมอีก 12 แผ่นซึ่งแสดงถึงเหล่าสาวก

ภาพวาดนี้เป็นเครื่องเตือนใจที่งดงาม ถึงมื้ออาหารที่พระเยซูทรงหยิบขนมปังและถ้วยเพื่อเริ่มต้นการเฉลิมฉลองครั้งใหม่สำหรับทุกคนที่ติดตามพระองค์ นั่นคือพิธีมหาสนิท และฉันยังชื่นชมกับแถวของแผ่นสี่เหลี่ยมที่ว่างเปล่าซึ่งทำให้ภาพนั้นสมบูรณ์ เพราะพื้นที่ว่างดูเหมือนเป็นการเชื้อเชิญผู้ที่ชมภาพนี้ให้มารับประทานอาหารที่โต๊ะร่วมกัน

เปาโลหนุนใจเราว่า “เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1 คร.11:26) เพราะทุกคนที่เชื่อว่าการสิ้นพระชนม์และการเป็นขึ้นของพระเยซูได้จัดเตรียมหนทางแห่งสันติสุขกับพระเจ้า ก็ล้วนแต่มีที่ว่างบนโต๊ะนี้สำหรับพวกเขา

และเมื่อเราประกาศหรือระลึกถึงการสละพระชนม์ของพระเยซูขณะร่วมพิธีมหาสนิท เราก็ได้แสดงตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชนผู้เชื่อทั่วโลกในตลอดทุกยุคสมัย นับเป็นภาพอันงดงามของคริสตจักรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ไม่มีความทุกข์ที่สูญเปล่า

เธอมองตาผมแล้วพูดว่า “อย่าให้ความทุกข์ของคุณสูญเปล่า” ในทันทีนั้นผมหวนคิดไปถึงเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ผมเป็นผู้นำในพิธีไว้อาลัยลูกชายวัยหนุ่มของเธอที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เธอรู้ว่ากำลังพูดถึงอะไรอยู่ เธอรู้จักความทุกข์ แต่ก็รู้ด้วยว่าพระเจ้าจะทรงใช้สิ่งนี้เพื่อถวายเกียรติแด่พระองค์และเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อนคนนี้ทำได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อผมได้ยินคำพูดของเธอ ที่ปลอบโยนและหนุนใจในขณะที่ผมเผชิญกับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เธอทำให้ผมระลึกว่าพระเจ้าทรงได้ยินเสียงร้องไห้และคร่ำครวญของผม และพระองค์อยู่ด้วยกับผมในความทุกข์นั้น และอาจทรงใช้มันเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในทางใดทางหนึ่ง

โมเสสรู้ว่าพระเจ้าสถิตอยู่กับประชากรของพระองค์ในความทุกข์ของพวกเขา พระเจ้าตรัสว่า “เราเห็นความทุกข์ของประชากรของเราที่อยู่ในประเทศอียิปต์แล้ว เราได้ยินเสียงร้องของเขา...เรารู้ถึงความทุกข์ร้อนต่างๆของเขา” (อพย.3:7) บางครั้งคนอิสราเอลก็เหมือนกับเราที่จะต้องรู้สึกโดดเดี่ยวในความทุกข์ที่พวกเขามี แต่พระเจ้ารับรองว่าทรงมีแผนที่จะ “ช่วยเขาให้รอด” และได้ยิน “คำร่ำร้อง” จากใจของพวกเขา (ข้อ 8-9) ในที่สุดแล้วพระองค์จะทรงใช้ความทุกข์นั้นเพื่อทำให้ความเชื่อของพวกเขาเติบโต มีชัยชนะเหนือศัตรูและถวายเกียรติแด่พระองค์

สดุดี 90 เป็นบทเดียวที่เชื่อว่าเขียนโดยโมเสส ท่านประกาศว่าแม้ “ชีวิตนั้นมีแต่ความ[ทุกข์ ]ลำบาก” (ข้อ 10 THSV 11) แต่ “ความรักมั่นคง” ของพระเจ้าอยู่ด้วย “ตลอดวันเวลาของข้าพระองค์” (ข้อ 14) โดยความรักของพระองค์จะไม่ทรงให้ความทุกข์ของเราสูญเปล่า และเราเองก็ไม่ควรทำเช่นนั้น

ของประทานแห่งการให้

ในปี 2024 นักธุรกิจพันล้านโรเบิร์ต เฮล จูเนียร์ กล่าวกับผู้สำเร็จการศึกษา 1,200 คนจากมหาวิทยาลัยว่า “ในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้ เราจำเป็นต้องมีการแบ่งปัน การดูแลและการให้ที่มากขึ้น[ผมกับภรรยา ]อยากมอบของขวัญสองชิ้นแก่พวกคุณ ชิ้นแรกเป็นของขวัญที่เรามอบให้คุณ และชิ้นที่สองคือของขวัญเพื่อการให้” จากนั้นตามมาด้วยการแจกซองจดหมายสองซองให้กับบัณฑิตผู้ซึ่งไม่ได้คาดหวังมาก่อน โดยแต่ละซองมีเงินห้าร้อยดอลล่าร์เพื่อเก็บไว้เอง และอีกห้าร้อยดอลล่าร์เพื่อมอบให้กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ

แม้ว่าความมั่งคั่งของโรเบิร์ต เฮล ทำให้เขาแบ่งปันแบบนี้ได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ความเอื้อเฟื้อไม่ได้สงวนไว้สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินมหาศาลเท่านั้น ในอดีตผู้เชื่อพระเยซูในเมืองมาซิโดเนียได้ถวายจากความยากจนของตนเพื่อผู้เชื่อในกรุงเยรูซาเล็มจะมีในสิ่งที่ต้องการ เปาโลกล่าวถึงชาวมาซิโดเนียว่า “เมื่อคราวที่พวกเขาถูกทดลองอย่างหนักได้รับความทุกข์ยาก ความยินดีล้นพ้นของเขาและความลำบากยากจนอย่างที่สุดของเขานั้น ก็ล้นออกมาเป็นใจศรัทธาอย่างยิ่ง” (2 คร.8:2) ท่านชมเชยพวกเขาเพราะ “เขาศรัทธาถวายโดยสุดความสามารถของเขา ที่จริงก็เกินความสามารถของเขาเสียอีก และเขายังวิงวอนเรามากมาย ขอให้เขามีส่วนในการช่วยธรรมิกชนด้วย” (ข้อ 3-4)

ผู้ที่ตระหนักว่าตนได้รับพระคุณมากมายจากพระเจ้าโดยทางพระเยซู จะตอบสนองด้วยการให้กับผู้อื่นที่มีความต้องการด้วยใจเอื้อเฟื้อ โดยการช่วยเหลือจากพระเจ้า ขอให้เราถวายตามแบบอย่างของพระองค์ผู้ทรงตรัสว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ” (กจ.20:35)

สิ่งที่น่ากลัว

“สิ่งที่น่ากลัว / คือการรักในสิ่งที่ความตายเอื้อมถึงได้” นี่คือวรรคแรกของบทกวีที่เขียนขึ้นกว่าพันปีมาแล้ว โดยกวีชาวยิวยูดาห์ ฮาเลวี และถูกแปลในศตวรรษที่ยี่สิบ กวีผู้นี้อธิบายให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความกลัวคือ “การรัก... / โอ แล้วจักต้องสูญเสีย”

ในปฐมกาล อารมณ์พรั่งพรูเกิดขึ้นกับอับราฮัมเมื่อท่านสูญเสียนางซาราห์ให้กับความตาย “อับราฮัมไว้ทุกข์ให้ซาราห์และร้องไห้คิดถึงนาง” (23:2) ในบทนี้เผยให้เห็นเรื่องราวอันงดงามและความเศร้าโศกอย่างมากของการสูญเสียหนึ่งในบุคคลที่น่าจดจำที่สุดในพระคัมภีร์ นางซาราห์ภรรยาผู้สัตย์ซื่อของอับราฮัม หญิงชราคนนั้นที่หัวเราะเมื่อได้ยินข่าวว่าเธอจะเป็นแม่ (18:11-12) แต่ร้องไห้อย่างเจ็บปวดในขณะที่อิสอัคถือกำเนิดมาในโลก

เราให้ความสำคัญกับข้อพระคัมภีร์สั้นๆที่เต็มไปด้วยธรรมชาติของมนุษย์ในพระกิตติคุณของยอห์นที่ว่า “พระเยซูทรงพระกันแสง” (ยน.11:35) น้ำตาของพระเมสสิยาห์ที่อุโมงค์ฝังศพลาซารัสย้ำถึงการสูญเสียของพระเยซู การมีความรักเป็นสิ่งที่น่ากลัวจริงๆ กวีฮาเลวีเรียกสิ่งนี้ว่า “เรื่องของคนโง่” แต่เขายังกล่าวต่อโดยการเรียกมันว่า “สิ่งที่บริสุทธิ์”ด้วย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ซึ่งความเชื่อของเขา “ซ่อนไว้กับพระคริสต์ในพระเจ้า” (คส.3:3)

เรารักและสูญเสียทุกอย่างตั้งแต่คู่สมรส ลูกๆ พ่อแม่ เพื่อนฝูงไปจนถึงสัตว์เลี้ยง และร้องไห้ด้วย “ความยินดีอย่างเจ็บปวด” โอ นี่แหละคือความเป็นมนุษย์จริงๆ แต่สำหรับผู้เชื่อในพระเยซู การร้องไห้ของเราจะคงอยู่เพียงชั่วคืนเท่านั้น ดังที่ดาวิดกล่าวว่า “การร้องไห้อาจจะอ้อยอิ่งอยู่สักคืนหนึ่ง แต่ความชื่นบานจะมาเวลาเช้า”(สดด.30:5) พระบิดาของเราไม่เคยทรงทิ้งเราไว้ในความสิ้นหวัง

ความเชื่อที่ไม่สั่นคลอน

เมื่อไดแอน ด็อคโค่คิมและสามีรู้ว่าลูกชายถูกวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก เธอทุกข์ใจกับความเป็นไปได้ที่ว่าลูกซึ่งมีความบกพร่องด้านสติปัญญาอาจมีชีวิตยืนยาวกว่าเธอ เธอร้องทูลพระเจ้าว่า เขาจะเป็นอย่างไรหากไม่มีข้าพระองค์ คอยดูแล พระเจ้าทรงให้เธอได้อยู่ท่ามกลางการสนับสนุนจากกลุ่มพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเด็กที่มีความพิการ ในความรู้สึกผิดที่มักจะอธิบายไม่ได้ ในความรู้สึกไม่ดีพอและความกลัวนั้น พระเจ้าประทานกำลังแก่ไดแอนที่จะไว้วางใจในพระองค์ ในที่สุดแล้วจากหนังสือที่เธอเขียนชื่อ ความเชื่อที่ไม่สั่นคลอนไดแอนได้มอบความหวังเรื่อง “การฟื้นฟูฝ่ายวิญญาณ” ให้กับผู้คนที่เลี้ยงดูลูกที่พิการ เมื่อลูกชายของเธอเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ความเชื่อของไดแอนก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เธอไว้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงดูแลเธอและลูกชายของเธอตลอดไป

ความไม่แน่นอนในชีวิตอาจทำให้ใจของเราแข็งกระด้างต่อพระเจ้า เราอาจถูกล่อลวงให้เชื่อในสิ่งอื่นหรือคนอื่นรวมถึงตัวเราเอง แต่เราสามารถพึ่งพาใน “พระศิลาแห่งความรอดของพวกเรา” ได้ (สดด.95:1) นี่เป็นวลีที่ชี้ให้เห็นถึงพระลักษณะที่แน่นอนของพระเจ้า “ที่ลึกของแผ่นดินโลกอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ที่สูงของภูเขาเป็นของพระองค์ด้วย ทะเลเป็นของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสร้างมัน และพระหัตถ์ของพระองค์ทรงปั้นแผ่นดิน” (ข้อ 4-5)

เราดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อที่ไม่สั่นคลอนได้ด้วยการนมัสการ “พระเจ้าผู้ทรงสร้างพวกเรา” (ข้อ 6) เราวางใจได้ว่าทรงอยู่กับเราและคนที่เรารักเพราะ เราเป็น “ฝูงแกะที่พระองค์ทรงอุ้มชูด้วยพระหัตถ์ของพระองค์” (ข้อ 7 TNCV)

ชนะโดยการแพ้

“ความพ่ายแพ้นั้นแท้จริงแล้วทรงพลังมากยิ่งกว่าชัยชนะ” ศาสตราจารย์โมนิก้า วาธวากล่าว งานวิจัยของเธอเผยให้เห็นว่าผู้คนมักจะมีพลังและมีแรงกระตุ้นมากที่สุดไม่ใช่ตอนที่เขาชนะ แต่เป็นตอนที่เขาเกือบจะชนะ เมื่อไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผู้คนมักมีแรงผลักดันให้พัฒนาตนเองและพยายามต่อไป ในทางกลับกันชัยชนะที่ได้มาโดยง่ายมักจะทำให้คนมีพลังและแรงผลักดันน้อยลง

มุมมองของโมนิก้าให้ความเข้าใจใหม่ในการเปรียบเทียบของเปาโลสองตอนด้วยกัน ซึ่งท่านเปรียบการติดตามพระคริสต์กับการวิ่งแข่งใน 1 โครินธ์ 9:24-27 และฟีลิปปี 3:12-14 ในทั้งสองกรณีเปาโลย้ำว่าผู้เชื่อควรทุ่มเทด้วยสุดกำลังในการติดตามพระคริสต์และข่าวประเสริฐ โดย“โน้มตัวออกไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า” (ฟป.3:13) และวิ่ง “เพื่อชิงรางวัลให้ได้” (1 คร.9:24)

ความมุ่งมั่นที่เราพยายามจะทำให้ได้ทั้งการแบ่งปันข่าวประเสริฐอย่างสัตย์ซื่อ (ข้อ 23) และการรู้จักพระคริสต์ (ฟป.3:8) นั่นคือความเป็นจริงที่ย้อนแย้ง เพราะเราจะไม่มีวันพูดได้ว่าเราบรรลุเป้าหมายแล้ว เราจะทำได้ไม่ดีพอเสมอ เราจะไม่มีวันพูดได้เลยว่าเราทำ “สำเร็จแล้ว” (ข้อ 12)

แต่นั่นไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่สำคัญคือประสบการณ์ในการได้เข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้นเรื่อยๆ มีเพียงพระกำลังของพระองค์เท่านั้นที่จะเสริมกำลังและกระตุ้นให้เราทุ่มเทด้วยสุดใจ เพื่อติดตามพระองค์ผู้ซึ่งจะพาเราไปสู่ชัยชนะในวันข้างหน้า

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา