พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นแล้วในวันนี้!
ก่อนที่ชาร์ลส์ ซีเมียนจะเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เขาชื่นชอบม้าและเสื้อผ้า และใช้เงินจำนวนมากไปกับเครื่องแต่งกายทุกปี แต่เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยให้เขาเข้าร่วมพิธีมหาสนิทที่จัดขึ้นเป็นประจำ เขาจึงเริ่มสำรวจสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หลังจากได้อ่านหนังสือหลายเล่มซึ่งเขียนโดยผู้เชื่อในพระเยซู เขาก็ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงอันน่าทึ่งในวันอาทิตย์อีสเตอร์ เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าตรู่ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1779 เขาร้องว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นแล้วในวันนี้! ฮาเลลูยา! ฮาเลลูยา!” ขณะที่ความเชื่อในพระเจ้าเติบโตขึ้น เขาได้อุทิศตนในการศึกษาพระคัมภีร์ อธิษฐาน และร่วมประชุมนมัสการ
ในวันอีสเตอร์แรก หญิงสองคนที่ไปถึงอุโมงค์ฝังพระศพของพระเยซูได้พบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ที่นั่นพวกเธอได้เผชิญกับแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อทูตองค์หนึ่งกลิ้งก้อนหินออกไป ทูตสวรรค์กล่าวแก่หญิงเหล่านั้นว่า “อย่ากลัวเลย เรารู้แล้วว่า พวกเจ้าทั้งหลายมาหาพระเยซูซึ่งถูกตรึงไว้ที่กางเขน พระองค์หาได้ประทับอยู่ที่นี่ไม่ ทรงเป็นขึ้นมาแล้วตามซึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้นั้น” (มธ.28:5-6) หญิงเหล่านั้นจึงนมัสการพระเยซูและวิ่งกลับไปบอกข่าวดีแก่สหายของตนด้วยความยินดีอย่างยิ่ง
การได้พบกับพระคริสต์ผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์ ไม่ใช่สิ่งที่สงวนไว้สำหรับคนยุคก่อนเท่านั้น พระองค์ทรงสัญญาว่าจะพบกับเราที่นี่และตอนนี้ เราอาจได้พบกับการเผชิญหน้าอันน่าทึ่งเหมือนพวกผู้หญิงที่อุโมงค์หรือเหมือนกับชาร์ลส์ ซีเมียน หรืออาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด พระเยซูจะทรงเปิดเผยพระองค์เองแก่เรา และเราสามารถวางใจได้ว่าพระองค์ทรงรักเรา
ความทุกข์ทรมานของพระคริสต์
ก่อนที่จิม คาวีเซล จะรับบทพระเยซูในภาพยนตร์เรื่อง เดอะแพสชั่นออฟ เดอะไครสต์ ผู้กำกับเมล กิ๊บสันเตือนว่าบทนี้ยากมากและอาจส่งผลทางลบต่ออาชีพในฮอลลีวู้ดของเขา ถึงอย่างนั้นคาวีเซลก็ยังรับเล่นบทนี้โดยพูดว่า “ผมคิดว่าเราต้องลงมือทำ แม้ว่าจะยาก”
ระหว่างการถ่ายทำ คาวีเซลถูกฟ้าผ่า น้ำหนักลดไปยี่สิบกิโลกรัม และถูกเฆี่ยนจริงโดยไม่ได้ตั้งใจในฉากเฆี่ยนตี ภายหลังเขากล่าวว่า “ผมไม่ต้องการให้คนเห็นว่านั่นคือผม ผมแค่อยากให้พวกเขาเห็นว่านั่นคือพระเยซู การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นผ่านสิ่งนั้น” ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคาวีเซลและคนอื่นๆในกองถ่ายอย่างมาก และมีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่ามีผู้คนกี่ล้านคนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วพบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเดอะแพสชั่นออฟเดอะไครสต์ ถ่ายทอดช่วงเวลาการทนทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเยซู ตั้งแต่การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตในวันอาทิตย์ทางตาล รวมถึงการถูกทรยศ เยาะเย้ย เฆี่ยนตี และตรึงกางเขน เหตุการณ์เหล่านี้ปรากฏอยู่ในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม
อิสยาห์ 53 ได้บอกถึงการทนทุกข์ของพระองค์และผลที่ตามมาไว้ล่วงหน้า “แต่ท่านถูกบาดเจ็บเพราะความทรยศของเราทั้งหลาย ท่านฟกช้ำเพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนอันทำให้เราทั้งหลายสมบูรณ์นั้นตกแก่ท่าน ที่ท่านต้องฟกช้ำนั้นก็ให้เราหายดี” (ข้อ 5) เราทุกคน “ได้เจิ่นไปเหมือนแกะ” (ข้อ 6) แต่เพราะการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู เราจึงมีสันติสุขในพระเจ้า การทนทุกข์ของพระองค์เปิดหนทางให้เราได้อยู่กับพระองค์
พระเยซูผู้เป็นตัวแทนของเรา
เศรษฐีวัยยี่สิบปีขับรถพุ่งชนคนเดินเท้าเสียชีวิตขณะแข่งรถทางตรงกับเพื่อนๆ แม้ชายหนุ่มจะได้รับโทษจำคุกสามปี แต่มีบางคนเชื่อว่าชายที่ปรากฏตัวในศาล (และถูกจำคุกในเวลาต่อมา) เป็นคนที่ถูกจ้างมาเป็นตัวแทนคนขับรถที่ก่อเหตุ เป็นที่รู้กันว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในบางประเทศที่มีการจ้างคนที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันเพื่อหลีกเลี่ยงการรับโทษที่ตนเองก่อ
นี่อาจฟังดูเป็นเรื่องอุกอาจและน่าอดสู แต่เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว พระเยซูก็ได้ทรงเป็นตัวแทนของเราและ “สิ้นพระชนม์ครั้งเดียวเท่านั้นเพราะความผิดบาป[ของเรา]คือพระองค์ผู้ชอบธรรมเพื่อผู้ไม่ชอบธรรม” (1 ปต.3:18) พระคริสต์ผู้ทรงเป็นเครื่องบูชาที่ปราศจากบาปของพระเจ้า ได้ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพียงครั้งเดียวเพื่อคนทั้งปวง (ฮบ.10:10) คือทุกคนที่เชื่อในพระองค์ ทรงรับโทษบาปทั้งหมดของเราไว้ในพระกายของพระองค์บนไม้กางเขน ต่างจากคนในสมัยนี้ที่เลือกจะเป็นตัวแทนของอาชญากรเพื่อแลกกับเงิน แต่การที่พระคริสต์สิ้นพระชนม์แทนเราบนกางเขนนำ “ความหวัง” มาให้เรา เพราะพระองค์เต็มพระทัยสละพระชนม์เพื่อเรา (1 ปต.3:15, 18; ยน.10:15) พระองค์ทรงทำเช่นนี้เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเรากับพระเจ้า
ขอให้เราชื่นชมยินดีและพบกับความสบายใจและมั่นใจในความจริงอันลึกซึ้งนี้ที่ว่า โดยการที่พระเยซูสิ้นพระชนม์แทนเราเท่านั้น ที่ทำให้เราซึ่งเป็นคนบาป สามารถกลับสู่ความสัมพันธ์และเข้าสนิทฝ่ายวิญญาณอย่างสมบูรณ์กับพระเจ้าผู้ทรงรักเรา
บัญญัติใหม่ให้รักกัน
ในประเพณีที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่สิบสาม สมาชิกราชวงศ์ในสหราชอาณาจักรจะมอบของขวัญแก่คนยากจนในวันพฤหัสก่อนวันศุกร์ประเสริฐ (Maundy Thursday) ธรรมเนียมปฏิบัตินี้มีต้นกำเนิดมาจากความหมายของคำว่า maundy ซึ่งมาจากคำว่า mandatum ในภาษาละติน ที่แปลว่า “คำสั่ง” คำสั่งที่มีการระลึกถึงนี้ก็คือบัญญัติใหม่ที่พระเยซูประทานแก่สหายของพระองค์ในคืนก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ “ให้เจ้ารักซึ่งกันและกัน เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วอย่างไร เจ้าจงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น” (ยน.13:34)
พระเยซูทรงเป็นผู้นำที่ทำหน้าที่ของผู้รับใช้เมื่อพระองค์ทรงล้างเท้าสหายของพระองค์ (ข้อ 5) และทรงบอกให้พวกเขาทำเช่นเดียวกัน “เราได้วางแบบแก่ท่านแล้ว เพื่อให้ท่านทำเหมือนดังที่เราได้กระทำแก่ท่านด้วย” (ข้อ 15) และในการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นคือการที่พระองค์ได้ทรงสละชีวิต และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน (19:30) ด้วยพระเมตตาและความรัก พระองค์ได้ประทานพระองค์เองเพื่อให้เราได้ชื่นชมกับชีวิตที่ครบบริบูรณ์
ประเพณีการรับใช้ผู้ยากไร้ของราชวงศ์อังกฤษยังคงเป็นสัญลักษณ์ถึงการทำตามแบบอย่างอันยิ่งใหญ่ของพระเยซู เราอาจจะไม่ได้เกิดมาในสถานะที่พิเศษ แต่เมื่อเราเชื่อในพระเยซู เราก็เข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระองค์ และเราเองก็สำแดงความรักโดยการดำเนินชีวิตตามบัญญัติใหม่ของพระองค์ได้เช่นกัน เมื่อเราพึ่งพาพระวิญญาณของพระเจ้าให้ทรงเปลี่ยนแปลงเราจากภายใน เราก็สามารถหยิบยื่นความห่วงใย การยอมรับ และพระคุณ ให้กับผู้อื่นได้
ผู้เชื่อที่เกิดผลในพระคริสต์
ซินดี้ตื่นเต้นกับงานใหม่ของเธอในบริษัทที่ไม่แสวงผลกำไร นี่เป็นโอกาสที่จะได้สร้างความเปลี่ยนแปลง! แต่ไม่นานเธอก็พบว่าเพื่อนร่วมงานไม่ได้กระตือรือร้นเหมือนกับเธอ พวกเขาดูแคลนเป้าหมายของบริษัทและหาข้อแก้ตัวให้กับการทำงานอันย่ำแย่ของตน ในขณะที่มองหาตำแหน่งงานที่ทำรายได้มากกว่าจากที่อื่น ซินดี้ได้แต่คิดว่าไม่ควรสมัครงานนี้เลย สิ่งที่ดูดีเมื่อมองอยู่ไกลๆช่างน่าผิดหวังเมื่อเข้ามาใกล้
นี่เป็นปัญหาเดียวกับที่พระเยซูได้พบจากต้นมะเดื่อที่กล่าวถึงในข้อพระคัมภีร์ วันนี้ (มก.11:13) ขณะนั้นเป็นช่วงต้นฤดู แต่ใบของต้นมะเดื่อส่งสัญญาณว่าอาจจะมีผลออกแล้ว แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ต้นไม้ผลิใบแต่ยังไม่ออกผล พระเยซูทรงสาปต้นไม้ด้วยความผิดหวังว่า “ตั้งแต่นี้ไปจะไม่มีใครได้กินผลจากเจ้าเลย” (ข้อ 14) เช้าวันรุ่งขึ้นต้นไม้นั้นก็เหี่ยวแห้งไปจนถึงราก (ข้อ 20)
ครั้งหนึ่งพระคริสต์ทรงเคยอดอาหารสี่สิบวัน ดังนั้นพระองค์ทรงรู้ว่าจะอยู่โดยไม่มีอาหารได้อย่างไร การสาปแช่งต้นไม้ไม่ได้เกิดจากที่ทรงหิว แต่เป็นการสอนด้วยตัวอย่าง ต้นไม้เป็นตัวแทนคนอิสราเอลที่ยึดติดกับศาสนาแท้จนหลงประเด็น พวกเขากำลังจะประหารพระเมสสิยาห์พระบุตรของพระเจ้า พวกเขาจะไม่เกิดผลไปอีกนานเท่าใด
เราอาจมองดูดีจากที่ไกลๆ แต่พระเยซูทรงเข้ามาใกล้เพื่อมองหาผลที่มีเพียงพระวิญญาณของพระองค์เท่านั้นที่ทำให้เกิดขึ้นได้ ผลของเราไม่จำเป็นต้องน่าประทับใจ แต่ควรจะเกิดขึ้นอย่างเหนือธรรมชาติ เช่น ความรัก ความชื่นชมยินดี และสันติสุขในช่วงเวลาที่ยากลำบาก (กท.5:22) เราสามารถเกิดผลเพื่อพระเยซูมากขึ้นได้โดยการพึ่งพาในองค์พระวิญญาณ
ลืมความรู้พื้นฐาน
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่แมคโดนัลด์เป็นเจ้าแห่งอาหารจานด่วนจากเมนูเบอร์เกอร์ที่ใช้เนื้อบดขนาดหนึ่งในสี่ปอนด์ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ธุรกิจคู่แข่งเกิดความคิดที่จะโค่นบริษัทที่มีโลโก้ซุ้มโค้งสีทองนี้ลง เอแอนด์ดับบลิวเสนอเบอร์เกอร์ที่ใช้เนื้อบดขนาดหนึ่งในสามปอนด์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าของแมคโดนัลด์แต่ขายในราคาเท่ากัน ยิ่งไปกว่านั้นเบอร์เกอร์ของเอแอนด์ดับบลิว ยังเอาชนะการทดสอบรสชาติหลายต่อหลายครั้ง แต่เบอร์เกอร์ของเอแอนด์ดับบลิวกลับขายไม่ออก จนในที่สุดพวกเขาต้องถอดจากเมนู ผลวิจัยเปิดเผยว่าลูกค้าเข้าใจผิดทางคณิตศาสตร์โดยคิดว่าเบอร์เกอร์ที่ใช้เนื้อหนึ่งในสามมีขนาดเล็กกว่าเบอร์เกอร์ที่ใช้เนื้อหนึ่งในสี่ ความคิดอันยิ่งใหญ่ล้มเหลวเพราะผู้คนลืมความรู้พื้นฐาน
พระเยซูเตือนว่าการลืมความรู้พื้นฐานนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมาก พวกผู้นำศาสนาวางแผนร้ายที่จะจับผิดและทำให้พระองค์เสื่อมเสียชื่อเสียงในระหว่างสัปดาห์ก่อนจะทรงถูกตรึงที่กางเขน พวกเขาถามถึงสถานการณ์สมมุติแปลกๆเกี่ยวกับหญิงที่เป็นม่ายถึงเจ็ดครั้ง (มธ.22:23-28) พระเยซูทรงตอบโดยยืนยันว่าภาวะยุ่งเหยิงนี้ไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ปัญหาคือการที่พวกเขาไม่ “รู้พระคัมภีร์หรือฤทธิ์เดชของพระเจ้า” (ข้อ 29) พระเยซูทรงย้ำว่าพระคัมภีร์ไม่ได้มีไว้เพื่อตอบปัญหาเชิงตรรกะหรือปรัชญาตั้งแต่แรก แต่เป้าหมายหลักคือนำเราให้รู้จักและรักพระเยซู และให้เรา “มีชีวิตนิรันดร์” (ยน.5:39) นี่คือความรู้พื้นฐานที่พวกผู้นำหลงลืมไป
เราเองก็มักจะลืมความรู้พื้นฐานเช่นกัน เป้าหมายหลักของพระคัมภีร์คือการได้พบกับพระเยซูผู้ทรงพระชนม์อยู่ คงน่าเสียใจอย่างยิ่งหากเราหลงลืมไป
รักพระเจ้าโดยการรักผู้อื่น
ครอบครัวอัลบามีประสบการณ์ที่หาได้ยากในการให้กำเนิดฝาแฝดแท้สองคู่ซึ่งมีอายุห่างกันเพียงสิบสามเดือน พวกเขาจะสลับกันทำหน้าที่พ่อแม่พร้อมกับทำงานของตัวเองได้อย่างไร กลุ่มเพื่อนๆและครอบครัวจึงได้เข้ามามีส่วน ปู่ย่าและตายายช่วยเลี้ยงฝาแฝดครอบครัวละคู่ในช่วงกลางวันเพื่อให้พ่อแม่ได้ทำงานและมีเงินจ่ายค่าประกันสุขภาพ มีบริษัทหนึ่งมอบผ้าอ้อมให้ใช้ตลอดทั้งปี เพื่อนร่วมงานของทั้งคู่โอนสิทธิ์วันลาป่วยให้ “เราคงทำไม่ได้ถ้าปราศจากชุมชนของเรา” พวกเขายอมรับ และที่จริงแล้วในระหว่างการสัมภาษณ์สด พิธีกรร่วมต้องถอดไมค์ออกแล้ววิ่งตามแฝดวัยหัดเดินซุกซนคนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการลงทุนลงแรงเพื่อช่วยเหลือชุมชนด้วย!
ในมัทธิว 25:31-46 พระเยซูตรัสคำอุปมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าเมื่อเรารับใช้ผู้อื่น เราก็กำลังรับใช้พระเจ้า หลังจากที่พระองค์ตรัสถึงการรับใช้ต่างๆรวมถึงการจัดหาอาหารให้แก่ผู้ที่หิวโหย ให้น้ำแก่ผู้ที่กระหาย ให้ที่พักแก่คนไร้บ้าน ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่เปลือยกาย และรักษาผู้ที่เจ็บป่วย (ข้อ 35-36) พระเยซูทรงสรุปว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ซึ่งท่านได้กระทำแก่คนใดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรานี้ ถึงแม้จะต่ำต้อยเพียงไร ก็เหมือนได้กระทำแก่เราด้วย” (ข้อ 40)
ภาพของพระเยซูซึ่งเป็นผู้ได้รับความกรุณาจากเราในท้ายที่สุดนั้น คือแรงจูงใจที่แท้จริงของเราในการรับใช้ในชุมชน ครอบครัว คริสตจักร และโลกของเรา เมื่อพระองค์ทรงเร้าใจเราให้ลงทุนเสียสละเพื่อความต้องการของผู้อื่นนั้น เราก็กำลังรับใช้พระองค์ เมื่อเรารักผู้อื่น เราก็กำลังรักพระเจ้า
บังเกิดใหม่ในพระเยซู
เรารู้ว่าลีโอนาร์โด ดาวินชี เป็นคนในยุคเรอเนสซองส์ (ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา) ความอัจฉริยะรอบรู้ของเขานำไปสู่ความก้าวหน้าทางการศึกษาและศิลปะหลายแขนง แต่ลีโอนาร์โดกลับบันทึกถึง “วันอันน่าสังเวชของเรา” และคร่ำครวญว่าเราตาย “โดยไม่ได้ทิ้งความทรงจำใดๆเกี่ยวกับตัวเราไว้กับมนุษย์เลย”
“เมื่อข้าพเจ้าคิดว่ากำลังเรียนรู้ถึงการมีชีวิต” ลีโอนาร์โดกล่าว “ข้าพเจ้าก็กำลังเรียนรู้ถึงการตาย” เขาเข้าใกล้ความจริงยิ่งกว่าที่คิด การเรียนรู้จักความตายคือหนทางของชีวิต หลังจากที่พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต (ซึ่งปัจจุบันคือเทศกาลฉลองวันอาทิตย์ทางตาล; ดู ยน.12:12-19) พระองค์ตรัสว่า “ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงไปในดินและเปื่อยเน่าไป ก็จะคงอยู่เป็นเมล็ดเดียว แต่ถ้าเปื่อยเน่าไปแล้ว ก็จะงอกขึ้นเกิดผลมาก” (ข้อ 24) พระองค์ตรัสถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เองแต่ทรงขยายให้ครอบคลุมถึงเราทุกคนด้วย “ผู้ใดที่รักชีวิตของตนก็ต้องเสียชีวิต และผู้ที่ชังชีวิตของตนในโลกนี้ ก็จะธำรงชีวิตนั้นไว้นิรันดร์” (ข้อ 25)
เปาโลเขียนถึงการถูก “ฝัง” ไว้กับพระคริสต์ “โดยการรับบัพติศมาเข้าส่วนในการตายนั้น เพื่อว่าเมื่อพระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตายโดยเดชพระสิริของพระบิดาแล้ว เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราเข้าสนิทกับพระองค์แล้วในการตายอย่างพระองค์ เราก็จะเข้าสนิทกับพระองค์ ในการเป็นขึ้นมาอย่างพระองค์ได้ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายด้วย” (รม.6:4-5)
พระเยซูประทานการบังเกิดใหม่แก่เราผ่านการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ นี่คือความหมายที่แท้จริงของเรอเนสซองส์ พระองค์ทรงสร้างหนทางไปสู่ชีวิตนิรันดร์กับพระบิดา
ความรักอันเหลือเฟือ
ผู้โดยสารที่นั่งข้างผมบนเที่ยวบินบอกว่าเธอไม่มีศาสนา และเธอได้อพยพมาอยู่ในเมืองซึ่งมีคริสเตียนจำนวนมาก เมื่อเธอเล่าว่าเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ของเธอไปโบสถ์ ผมจึงถามถึงประสบการณ์ของเธอ เธอบอกว่าเธอคงไม่สามารถตอบแทนความมีน้ำใจของพวกเขาได้ เมื่อเธอพาพ่อที่พิการมายังประเทศใหม่นี้ พวกเพื่อนบ้านมาช่วยสร้างทางลาดที่บ้านของเธอและบริจาคเตียงสำหรับผู้ป่วยรวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ เธอบอกว่า “ถ้าการเป็นคริสเตียนทำให้คนจิตใจดีเช่นนี้ ทุกคนก็ควรเป็นคริสเตียน”
สิ่งที่เธอพูดตรงกับสิ่งที่พระเยซูทรงคาดหวัง! พระองค์ตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาได้เห็นความดีที่ท่านทำ เขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่าน ผู้ทรงอยู่ในสวรรค์” (มธ.5:16) เปโตรได้ยินพระบัญชาของพระคริสต์และถ่ายทอดต่อ “จงรักษาความประพฤติอันดีของท่านไว้ในหมู่คนต่างชาติ เพื่อว่าเมื่อมีคนติเตียนท่านว่าประพฤติชั่ว เขาจะได้เห็นการดีของท่าน และเขาจะได้สรรเสริญพระเจ้า” (1 ปต.2:12)
เพื่อนบ้านของเราที่ไม่ได้เชื่อพระเยซูอาจไม่เข้าใจในสิ่งที่เราเชื่อและทำไมเราจึงเชื่อเช่นนั้น อย่าวิตกในเรื่องนี้ เพราะจะยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจ นั่นคือความรักอันเหลือเฟือของเรา เพื่อนร่วมทางของผมประหลาดใจที่เพื่อนบ้านคริสเตียนของเธอยังคงเอาใจใส่เธอแม้ว่าเธอจะไม่ได้เป็น “หนึ่งในพวกเขา” (ตามคำพูดของเธอ) เธอรู้ว่าเธอได้รับความรักเพราะพวกเขาเห็นแก่พระเยซู และเธอขอบคุณพระเจ้า เธออาจจะยังไม่เชื่อในพระองค์ แต่เธอรู้สึกขอบคุณที่คนอื่นๆเหล่านั้นเชื่อในพระองค์