ตอนเป็นเด็ก ฉันมองว่าผู้ใหญ่ฉลาดและไม่มีทางล้มเหลว พวกเขารู้เสมอว่าต้องทำอะไร ฉันคิดอย่างนั้น วันหนึ่งเมื่อฉันโตขึ้นฉันก็จะรู้ว่าต้องทำอย่างไรเหมือนกัน “วันหนึ่ง” ที่ว่านั้นมาถึงเมื่อหลายปีมาแล้ว และทั้งหมดที่ฉันเรียนรู้คือ ฉันก็ยังคงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรในหลายๆครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยในครอบครัว ปัญหาเรื่องงาน หรือความสัมพันธ์ที่ขัดแย้ง ช่วงเวลาเหล่านั้นได้ขจัดเอาภาพลวงตาที่คิดว่าตัวเองมีกำลังและอำนาจควบคุมออกไปแล้ว เหลือไว้เพียงทางเลือกเดียว คือที่ฉันจะหลับตาลงและกระซิบว่า “พระองค์เจ้าข้า ช่วยด้วย ข้าพระองค์ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร”

อัครทูตเปาโลเข้าใจความรู้สึกหมดหนทางนี้ “หนาม” ในชีวิตท่านซึ่งอาจเป็นความเจ็บป่วยทางกาย ทำให้ท่านคับข้องใจและเจ็บปวด แต่ด้วยหนามนี้ เปาโลจึงได้มีประสบการณ์กับความรัก พระสัญญาและพระพรของพระเจ้าที่มากพอ จนท่านอดทนและเอาชนะความยากลำบากได้ (2 คร.12:9) ท่านเรียนรู้ว่าความอ่อนแอและการหมดหนทางของตนเองไม่ได้หมายถึงความพ่ายแพ้ เมื่อยอมจำนนต่อพระเจ้าด้วยความไว้วางใจ สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นเครื่องมือของพระองค์ที่จะทรงเข้ามาและกระทำกิจผ่านสถานการณ์เหล่านี้ (ข้อ 9-10)

การที่เราโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้หมายความว่าเรารู้ทุกอย่าง แน่นอนว่าเราฉลาดขึ้นตามอายุ แต่ที่สุดแล้วความอ่อนแอมักจะเปิดเผยให้เห็นว่าเราไม่ได้มีอำนาจควบคุมใดๆ แต่ฤทธิ์อำนาจที่แท้จริงของเราอยู่ในพระคริสต์ “เพราะว่าเมื่อข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด ข้าพเจ้าก็จะแข็งแรงมากเมื่อนั้น” (ข้อ 10) การ “เป็นผู้ใหญ่” ที่แท้จริงนั้นหมายถึง การที่เรารู้จัก ไว้วางใจและเชื่อฟังในฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า ที่จะมาถึงเมื่อเราตระหนักว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์