เอมิลี่ ดิ๊กคินสันกวีแห่งศตวรรษที่ 19 เขียนว่า “ฉันวัดทุกความเศร้าโศกที่ฉันพบด้วยสายตาที่คับแคบและสำรวจ ฉันสงสัยว่ามันจะหนักเหมือนกับของฉันไหม หรือมีขนาดที่เล็กกว่าของฉัน” บทกวีนี้เป็นภาพสะท้อนที่สะเทือนใจ ถึงการที่ผู้คนแบกความบาดเจ็บที่พวกเขาถูกทำร้ายในรูปแบบต่างๆมาตลอดชีวิต ดิ๊กคินสันจบบทกวีอย่างลังเลด้วยคำปลอบโยนเพียงว่า “ความชูใจที่ทิ่มแทง” โดยเห็นภาพบาดแผลของตัวเองปรากฏอยู่ในรอยแผลของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขน “ฉันยังคงรู้สึกเชื่ออย่างเหลือเกินว่า บาดแผลบางส่วนนั้น ก็เหมือนกับบาดแผลของฉัน”

วิวรณ์บรรยายภาพพระเยซูพระผู้ช่วยให้รอดของเราว่าเป็นดัง “พระเมษโปดกผู้ทรงถูกปลงพระชนม์” (5:6; ดูข้อ 12) บาดแผลของพระองค์ยังปรากฏให้เห็น เป็นบาดแผลที่เกิดจากการแบกรับความบาปและความสิ้นหวังของประชากรของพระองค์ (1ปต.2:24-25) เพื่อพวกเขาจะมีชีวิตและความหวังใหม่

และวิวรณ์กล่าวถึงวันข้างหน้าที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรง “เช็ดน้ำตาทุกๆ หยด” จากดวงตาของลูกๆของพระองค์ (21:4) พระเยซูจะไม่ช่วยให้พวกเขาเจ็บปวดน้อยลง แต่จะทรงทอดพระเนตรและใส่พระทัยในความเศร้าโศกของแต่ละคนอย่างแท้จริง ขณะที่ทรงเชื้อเชิญพวกเขาเข้าสู่ความจริงของชีวิตใหม่แห่งการเยียวยาในอาณาจักรของพระองค์ ที่ซึ่ง “ความตายจะไม่มีอีกต่อไป การคร่ำครวญ การร้องไห้ และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป” (ข้อ 4) ที่ซึ่งน้ำแห่งการเยียวยาจะไหลออกมา “จากบ่อน้ำพุแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย” (ข้อ 6; ดู 22:2)

เพราะองค์พระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงแบกทุกความเศร้าโศกของเราไว้ เราจึงสามารถพบกับการพักสงบและการเยียวยาในอาณาจักรของพระองค์ได้