ในปี 1992 เมื่อบิล พิงค์เนย์แล่นเรือรอบโลกตามลำพัง โดยใช้เส้นทางที่ยากลำบากรอบเกรทเซาท์เทิร์นเคปที่เต็มไปด้วยอันตราย เขาทำเพื่อจุดมุ่งหมายที่เหนือกว่า การเดินทางของเขาก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้ความรู้แก่เด็กๆ ซึ่งรวมถึงนักเรียนในโรงเรียนประถมใจกลางเมืองชิคาโกที่เขาเคยเรียนด้วย เป้าหมายของบิลก็เพื่อแสดงว่า พวกเขาจะไปได้ไกลเพียงใดด้วยการเรียนหนักและด้วยความทุ่มเท ซึ่งเป็นคำที่เขานำมาตั้งชื่อเรือ เมื่อบิลพาเด็กๆ ล่องเรือที่ชื่อความทุ่มเท เขาเล่าว่า “พวกเขาถือด้ามหางเสือเรือไว้ในมือ และเรียนรู้เรื่องการบังคับ การควบคุมตนเอง และการทำงานเป็นทีม…ซึ่งเป็นพื้นฐานทั้งหมดที่จำเป็นในชีวิตเพื่อจะประสบความสำเร็จ”

คำพูดของพิงค์เนย์บรรยายภาพสติปัญญาของซาโลมอน “ความประสงค์ในใจของคนเหมือนน้ำลึก แต่คนที่มีความเข้าใจจะสามารถโพงมันออกมาได้” (สภษ.20:5) พระองค์เชื้อเชิญคนอื่นๆให้สำรวจเป้าหมายชีวิตของตน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการ “วางกับดักตัวเองโดยหุนหันให้คำปฏิญาณว่าจะถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วค่อยมาคิดได้เมื่อสาบานไปแล้ว” (ข้อ 25 TNCV)

ในทางกลับกันพิงค์เนย์มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน ซึ่งในที่สุดก็เป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนสามหมื่นคนทั่วสหรัฐอเมริกาได้เรียนรู้จากการเดินทางของเขา เขากลายเป็นชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่ได้รับการบรรจุชื่อไว้ในหอเกียรติยศการเดินเรือแห่งชาติ เขากล่าวไว้ว่า “เด็กๆกำลังดูอยู่” และด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน ให้เรากำหนดเส้นทางของเราผ่านคำปรึกษาที่ลึกซึ้งจากคำสอนที่พระเจ้าประทานแก่เรา