สำหรับคนมากมายทั่วโลกนั้น ชีวิตช่างโดดเดี่ยวมากขึ้นทุกที จำนวนชาวอเมริกันที่ไร้เพื่อนเพิ่มมากขึ้นถึงสี่เท่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 บางประเทศในยุโรปมีประชากรมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึกเหงา ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นคนสูงอายุบางส่วนหันไปก่ออาชญากรรมเพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าไปอยู่ร่วมกับผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆในคุก

มีผู้ประกอบการคิด “วิธีแก้ปัญหา” โรคเหงาที่แพร่กระจายไปทั่วนี้โดยการให้เช่าเพื่อน คนเหล่านี้คิดค่าจ้างเป็นชั่วโมง โดยพวกเขาจะไปพบคุณตามร้านกาแฟเพื่อพูดคุยหรือไปเป็นเพื่อนคุณในงานเลี้ยง “เพื่อน” ให้เช่าคนหนึ่งถูกถามว่าลูกค้าของเธอเป็นใครบ้าง เธอตอบว่า “คนทำงานอายุ 30-40 ปีที่รู้สึกเหงา คนที่ทำงานหนักและไม่มีเวลาไปทำความรู้จักเพื่อเป็นเพื่อนกับใคร”

ปัญญาจารย์บทที่ 4 พูดถึงคนที่อยู่ตัวคนเดียว ไม่มี “บุตรหรือพี่น้อง” เขาทำงานตรากตรำอย่าง “ไม่หยุดหย่อน” แต่ความสำเร็จของเขาไม่อาจทำให้อิ่มใจ (ข้อ 8) “ข้าตรากตรำทำงาน…เพื่อผู้ใด” เขาถามเมื่อได้สติในสภาพของตนเอง การลงทุนในความสัมพันธ์นั้นดีกว่ามากนัก เพราะจะทำให้การงานของเขาเบาลงและได้รับความช่วยเหลือยามที่มีปัญหา (ข้อ 9-12) เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความสำเร็จโดยปราศจากมิตรภาพนั้นก็ “ไร้ความหมาย” (ข้อ 8)

ปัญญาจารย์บอกเราว่าเชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้ (ข้อ 12) แต่มิตรภาพก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆเช่นกัน เพราะเพื่อนแท้ไม่สามารถหาเช่าได้ดังนั้นให้เราลงทุนเวลาเพื่อสร้างมิตรภาพ โดยมีพระเจ้าเป็นเกลียวที่สามที่จะทรงถักทอเราเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น