Category  |  ODB

คืนดีกับพระเยซู

ฟิลิปป์ เพอทีต นักไต่ลวดเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในปี 1971 เมื่อเขาเดินบนลวดสลิงที่ขึงระหว่างหอคอยของมหาวิหารนอทเทรอดามในกรุงปารีส สามปีต่อมาเขาถูกจับกุมเนื่องจากการเดินไต่ลวดโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างตึกแฝดเวิลด์เทรดที่ครั้งหนึ่งเคยโดดเด่นอยู่เหนือท้องฟ้าเมืองนิวยอร์ก แต่ในปี 1987 การเดินของฟิลิปป์ดูต่างออกไป ด้วยคำเชิญจากเท็ดดี้ คอลเล็คนายกเทศมนตรีเมืองเยรูซาเล็ม ฟิลิปป์เดินข้ามหุบเขาฮินนอมบนลวดสลิงสูงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลอิสราเอลในปีนั้น เมื่อไปถึงครึ่งทาง ฟิลิปป์ปล่อยนกพิราบ (เขาอยากใช้นกเขา) เพื่อสื่อถึงความงามแห่งสันติภาพ นี่เป็นการแสดงที่แปลกและอันตราย แต่ทั้งหมดก็เพื่อสันติภาพ ฟิลิปป์กล่าวภายหลังว่า “ในช่วงเวลานั้น ฝูงชนทั้งหมดต่างลืมความแตกต่างของพวกเขา”

การไต่ลวดของฟิลิปป์ทำให้ผมนึกถึงอีกเหตุการณ์ที่น่าใจหายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพระกายของพระเยซูถูกแขวนอยู่ระหว่างสวรรค์และโลก อัครทูตเปาโลบอกเราว่า “พระเจ้าทรงพอพระทัยที่จะ...ให้สิ่งสารพัดกลับคืนดีกับพระเจ้าไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ในแผ่นดินโลกหรือในสวรรค์พระองค์ทรงทำให้มีสันติภาพด้วยพระโลหิตแห่งกางเขนของ[พระคริสต์]” (คส.1:19-20) เปาโลบันทึกว่า “[พวกเรา] ซึ่งเมื่อก่อนนี้ไม่ถูกกันกับพระเจ้า” (ข้อ 21) แต่ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เหนือยิ่งกว่าการแสดงเพื่อส่งเสริมสันติภาพ พระเยซูองค์พระเมสสิยาห์ได้ทรงทำให้เกิดสันติภาพขึ้นโดยการหลั่งพระโลหิตบนกางเขน นี่คือความสำเร็จที่ไม่มีสิ่งใดจะเทียบได้เพราะไม่มีความจำเป็น สันติภาพของพระองค์นั้นคงอยู่ชั่วนิรันดร์

ช่วงเวลาหยุดพัก

เจฟ กัลโลเวย์ อดีตนักกีฬาโอลิมปิกและเป็นโค้ชสอนการวิ่ง เขาสอนวิธีฝึกวิ่งมาราธอนที่ขัดกับสัญชาตญาณคนทั่วไป ทั้งนักแข่งมาราธอนหน้าใหม่และผู้มีประสบการณ์ล้วนประหลาดใจเมื่อรู้ว่า เขาสนับสนุนวิธี “วิ่ง/เดิน” คือ การวิ่งในช่วงนาทีที่กำหนดสลับกับการเดินช่วงสั้นๆ สมมุติฐานของวิธีนี้คือการสลับเดินช่วงสั้นๆทำให้ร่างกายได้พักชั่วคราว และช่วยให้นักวิ่งจบการ
แข่งขันเร็วกว่าการที่พวกเขาวิ่งอย่างเดียวตลอดระยะทาง 42 กิโลเมตร

ความสำคัญของการหยุดพักไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการวิ่ง การหยุดพักช่วยให้เรามีความทรหดอดทนในระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต และเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงกล่าวถึงในตลอดพระคัมภีร์ เริ่มจากพระธรรมอพยพ ในพันธสัญญาเดิมนั้นการหยุดพักเป็นการทำตามแบบของพระเจ้าในช่วงเวลาของการทรงสร้าง คือ ทำการงานทั้งสิ้นในหกวัน “แต่วันที่เจ็ดนั้นเป็นสะบาโตของพระเจ้าของเจ้า” (อพย.20:10) เพราะพระเจ้าทรง “สร้างฟ้าและแผ่นดิน ทะเล และสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น แต่ในวันที่เจ็ดทรงพัก” (ข้อ 11)

ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู ไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าเราต้องพักบ่อยแค่ไหน (รม.14:5-6; คส.2:16-17) การหยุดพักในรูปแบบและช่วงเวลาที่เราพอใจนั้นก็เพื่อเป็นการฟื้นฟู การเลือกที่จะหยุดพักยังเป็นการแสดงออกถึงการวางใจในพระเจ้าผู้ทรงจัดเตรียมสิ่งที่เราต้องการอย่างสัตย์ซื่อด้วย เราไม่สามารถและไม่จำเป็นที่จะต้องวิ่งตลอดเวลา

ได้รับการเทิดทูนและถูกอ่าน

บ้านของเรามีชั้นวางที่มีหนังสือวางอยู่เต็มจนล้น ฉันมักใจอ่อนกับหนังสือสวยๆ โดยเฉพาะเล่มที่เป็นปกแข็งอย่างดี หลายปีผ่านไปจำนวนหนังสือก็เพิ่มมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่ฉันไม่มีเวลาและเรี่ยวแรงพอที่จะอ่านสิ่งที่ฉันสะสมไว้ได้ทั้งหมด หนังสือยังคงสภาพดีเหมือนใหม่ สวยงาม และน่าเศร้าที่ยังไม่ได้ถูกเปิดอ่าน

หากพระคัมภีร์ของเราถูกวางอยู่บนชั้นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่อันตราย นักเขียนบทความจอห์น อัพไดค์ ได้พูดถึง วอลเดน หนังสือที่ทรงคุณค่าในสหรัฐอเมริกาว่ากำลังอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็น “หนังสือที่ได้รับการเทิดทูนและไม่ถูกอ่านเหมือนกับพระคัมภีร์” ความยากลำบากในการเข้าใจพระคัมภีร์โบราณที่ถูกเขียนในวัฒนธรรมที่แตกต่างจากของเราอาจล่อลวงเราให้เก็บพระคัมภีร์ไว้บนชั้นวางอย่างสวยงาม น่าหวงแหน แต่ไม่ถูกเปิดอ่าน

ไม่ควรต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเราสามารถทูลขอเช่นเดียวกับผู้เขียนสดุดีในบทที่ 119 ที่ได้ทูลขอพระองค์ให้ “เบิกตาข้าพระองค์” เพื่อจะเห็นสิ่งมหัศจรรย์จากพระธรรมของพระองค์ (ข้อ 18) เราสามารถหาครูที่เชื่อถือได้ให้ช่วยเรา “เข้าใจสิ่งที่อ่าน” (กจ.8:30 THSV11) และผู้เชื่อทุกคนมีพระวิญญาณของพระคริสต์ที่จะนำจิตใจของเราให้เห็นว่าทุกข้อนั้นล้วนชี้ไปถึงพระองค์ (ลก.24:27; ยน.14:26)

โดยผ่านพระคัมภีร์ พระเจ้าทรงสามารถประทานกำลังแก่เราในยามที่เราทุกข์ใจ (สดด.119:28) ปกป้องเราจากการถูกล่อลวง (ข้อ 29) และขยายขอบเขตความเข้าใจของเราให้รู้วิธีที่จะมีชีวิตที่มีความสุข (ข้อ 32,35) พระคัมภีร์เป็นของขวัญที่ล้ำค่า ขอให้พระคัมภีร์เป็นทั้งสิ่งที่เราเทิดทูนและอ่านเสมอ

สร้างให้ทำสิ่งดีเพื่อพระเจ้า

ในตอนแรกผมเพิกเฉยที่เห็นบัตรที่หล่นอยู่บนพื้น พ่อและลูกสาวตัวน้อยที่ทำบัตรหล่นไว้อยู่ห่างออกไปเพียงหกเมตร และผมก็กำลังไปทำงานสาย เดี๋ยวพวกเขาต้องรู้ตัวแน่ ผมบอกกับตัวเอง แต่สามัญสำนึกดึงผมกลับมา ผมเดินกลับไปเก็บมันขึ้นมา บัตรนั้นเป็นตั๋วรถประจำทางที่ชำระเงินล่วงหน้าไว้แล้ว เมื่อผมยื่นบัตรให้กับพวกเขา คำขอบคุณที่พรั่งพรูออกมาทำให้ผมรู้สึกดีอย่างคาดไม่ถึง ทำไมผมจึงรู้สึกดีขนาดนี้ทั้งที่เป็นเพียงเรื่องเล็กๆเท่านั้น ผมสงสัย

ความจริงคือว่าธรรมชาติของร่างกายมนุษย์จะหลั่งสารเคมีที่ทำให้เราอารมณ์ดีเมื่อเรามีใจกรุณาต่อผู้อื่น เราถูกสร้างมาให้รู้สึกดีเมื่อเราทำความดี! นั่นไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะเราถูกสร้างโดยพระเจ้าผู้ทรงแสนดี ผู้ทรงสร้างเราให้เป็นเหมือนพระองค์

ในพระธรรมเอเฟซัส 2:10 แสดงให้เราเห็นว่าการอวยพรผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งในพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงกำหนดไว้ให้เรา “เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ประกอบการดี ซึ่งพระเจ้าได้ทรงดำริไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เรากระทำ” ข้อนี้ไม่เพียงบอกให้เราทำดีเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติที่พระเจ้าทรงใส่ไว้ในตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องทำเรื่องยิ่งใหญ่เสมอไป หากเราทำสิ่งเล็กๆเพื่อช่วยผู้อื่นในชีวิตประจำวันของเรา เราไม่เพียงได้รับรางวัลแห่งความพึงพอใจ แต่เรายังรู้ด้วยว่าเราเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า จงทำในสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างให้เรากระทำ

หัวใจดวงใหม่ในพระคริสต์

บร็อคและเดนนิสเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก แต่ขณะที่พวกเขาเติบโตขึ้น บร็อคไม่ได้สนใจเรื่องความเชื่อในพระเยซูของเดนนิสมากนัก เดนนิสรักเพื่อนและอธิษฐานเผื่อเขาเพราะรู้ว่าเส้นทางที่เพื่อนเดินไปนั้นดิ่งลงในความมืดและเศร้าหมอง ในคำอธิษฐานเผื่อบร็อค เดนนิสได้ประยุกต์ใช้ถ้อยคำของผู้เผยพระวจนะเอเสเคียลว่า “โปรดเถิดพระเจ้า โปรดนำใจหินออกจากบร็อค และให้ใจเนื้อแก่เขาแทน” (ดูอสค.11:19) เขาปรารถนาให้บร็อคเดินในทางของพระเจ้าเพื่อจะจำเริญขึ้น

สิบปีต่อมาเดนนิสยังคงอธิษฐานอย่างสัตย์ซื่อ แล้วเขาก็ได้รับโทรศัพท์จากบร็อคว่า “ฉันเพิ่งมอบชีวิตให้พระเยซู” เดนนิสดีใจมาก น้ำตาเอ่อล้นที่ได้ยินเพื่อนของเขาประกาศว่า ในที่สุดเขายอมรับในความจำกัดของตัวเองและวางใจมอบชีวิตไว้กับพระเจ้า

ในคำอธิษฐานของเดนนิส เขาจดจ่อที่พระสัญญาที่พระเจ้ามีต่อประชากรของพระองค์ผ่านเอเสเคียล แม้ว่าพวกเขาจะหันออกจากพระเจ้าและกระทำสิ่งที่น่าเกลียดน่าชัง แต่พระเจ้าตรัสว่าพระองค์จะทรงเปลี่ยนใจพวกเขา “เราจะให้จิตใจเดียวแก่เขา และเราจะบรรจุจิตวิญญาณใหม่ไว้ในเขา เราจะนำใจหินออกไปเสียจากเนื้อของเขา และให้ใจเนื้อแก่เขา” (ข้อ 19) ด้วยใจที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะติดตามพระเจ้าของพวกเขาอย่างสัตย์ซื่อ (ข้อ 20)

ไม่ว่าเราจะหลีกหนีจากพระเจ้าไปไกลเพียงใด พระองค์ทรงยินดีที่จะประทานหัวใจที่อบอุ่นและเปี่ยมด้วยความรักแก่เรา เพียงเราหันกลับมาหาพระองค์ด้วยความเชื่อและการกลับใจ เมื่อเราวางใจให้พระเยซูทรงช่วยเราจากความบาปของเรา

ผู้ช่วยช้าง

กลางดึกคืนวันหนึ่ง ที่เขตอนุรักษ์ช้างของประเทศเคนย่าได้รับแจ้งว่ามีลูกช้างตกลงไปในบ่อน้ำ หน่วยกู้ภัยไปพบกับเสียงร้องอันเจ็บปวดดังก้องในความมืด และพบว่างวงของลูกช้างสองในสามส่วนถูกพวกไฮยีน่ารุมกัดหายไป เมื่อพาลูกช้างมาถึงศูนย์พักพิง พวกเขาตั้งชื่อมันว่าลองอูโร ซึ่งแปลว่า “บางสิ่งถูกตัดออก” แม้ว่าจะเหลืองวงเพียงหนึ่งในสามส่วน ลองอูโรก็หายดีและได้รับการยอมรับจากช้างตัวอื่นให้เข้าฝูงในเขตอนุรักษ์ ช้างรู้โดยสัญชาตญาณว่าพวกมันต้องการกันและกัน ดังนั้นพวกมันจึงช่วยเหลือกัน

ในพระธรรม 1 โครินธ์ 12 อัครทูตเปาโลเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่เราต้องช่วยเหลือกันและกันในพระกายของพระคริสต์ ท่านได้ใช้ร่างกายมนุษย์และอวัยวะต่างๆเป็นคำอุปมาเพื่ออธิบายถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้ประชากรของพระองค์ยอมรับของประทานทุกอย่างที่มีในแต่ละคน เพราะทั้งหมดล้วนจำเป็นที่จะทำให้พระกายของพระองค์ทำงานได้ดี (ข้อ 12-26) จากนั้นเปาโลอธิบายถึงการทำให้ความหลากหลายนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน “พระเจ้าได้ทรงให้อวัยวะของร่างกายเสมอภาคกัน” ท่านเขียน “ทรงให้อวัยวะที่ต่ำต้อยเป็นที่นับถือมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการแก่งแย่งกันในร่างกาย แต่ให้อวัยวะทุกส่วนพะวงซึ่งกันและกัน” (ข้อ 24-25)

ไม่ว่าจะอ่อนแอหรือเข้มแข็ง สวยหรูหรือดูธรรมดา ขอให้เราช่วยเหลือกันและกัน มนุษย์ก็เป็นเช่นเดียวกับฝูงช้างที่ต้องการกันและกัน

ทายาทแห่งความรอดของพระเจ้า

เมื่อพ่อแม่ของอาบีเกลเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าในอุบัติเหตุทางรถยนต์ เธอได้รับมรดกเป็นหลักทรัพย์จำนวนมากจากอสังหาริมทรัพย์ เธอรู้ด้วยว่าพ่อแม่ฝากหลักทรัพย์นั้นไว้ในสถาบันการเงิน เวลานี้เธอได้สิทธิ์เบิกเงินได้เพียงแค่ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนที่เหลือเธอจะได้รับเมื่ออายุมากขึ้น อาบีเกลรู้สึกหงุดหงิดใจในตอนแรก แต่ต่อมาเธอตระหนักได้ถึงสติปัญญาของพ่อแม่ในแผนการส่งมอบเงินมรดกในระยะยาว

ในพระธรรมกาลาเทียบทที่ 4 อัครทูตเปาโลยกตัวอย่างที่คล้ายคลึงกันเพื่ออธิบายสถานการณ์ของชนชาติอิสราเอลที่เป็นทายาทตามพระสัญญาของพระเจ้ากับอับราฮัม พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัมว่าจะทรงอวยพรท่าน และการเข้าสุหนัตคือสัญลักษณ์แห่งพระสัญญานั้น (ปฐก.17:1-14) อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ไม่ใช่พระสัญญา ลูกหลานของอับราฮัมต้องรอคอยผู้สืบเชื้อสายที่จะมาในอนาคตผู้ที่จะทำให้พระสัญญานั้นสมบูรณ์ อิสอัคได้เกิดมาและชี้ไปถึงพระบุตรที่จะเกิดมาในอนาคตเพื่อมาไถ่ชนชาติของพระเจ้า (กท.4:4-5)

ชนชาติอิสราเอลเป็นเช่นเดียวกับอาบีเกลที่ต้องรอจนกว่าจะ “ถึงเวลาที่บิดาได้กำหนดไว้” (ข้อ 2) เมื่อถึงเวลานั้นชนอิสราเอลจึงจะได้ครอบครองมรดกทั้งหมด พวกเขาจะได้รับสิ่งที่ต้องการทันทีเมื่อพระเยซูทรงสิ้นพระชนม์ ถูกฝัง และทรงฟื้นคืนพระชนม์ ทุกคนที่เชื่อในพระคริสต์จะไม่เป็นทาสของบาปอีกต่อไป “แต่เป็นบุตร” (ข้อ 7) ของพระเจ้า พระสัญญาใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว เราสามารถเข้าหาพระเจ้าได้! เราสามารถเรียกพระองค์ว่า “‘อาบา’คือพระบิดา” (ข้อ 6)

ทำงานร่วมกันเพื่อพระเยซู

ในระหว่างที่ไปร่วมทีมมิชชั่นเพื่อการประกาศในประเทศบราซิล เราได้ช่วยกันสร้างอาคารคริสตจักรในป่าอเมซอน พวกเราประกอบส่วนต่างๆของคริสตจักรเหมือนการต่อเลโก้ขนาดใหญ่บนฐานรากที่สร้างไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสา กำแพงคอนกรีต คานเหล็กสำหรับหลังคา และกระเบื้องมุงหลังคา จากนั้นเราก็ทาสีกำแพง

บางคนรู้สึกกังวลเพราะไม่แน่ใจว่าเราจะสร้างคริสตจักรให้เสร็จในช่วงฤดูมรสุมได้ แต่โดยพระคุณของพระเจ้าฝนที่ตกหนักก็เว้นระยะไป แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่โดยความช่วยเหลือของคนท้องถิ่นสองสามคน เราทำงานเสร็จได้ในเวลาที่รวดเร็ว

เมื่อเนหะมีย์และชนอิสราเอลที่กลับจากการเป็นเชลยพยายามสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นมาใหม่ พวกเขาพบกับอุปสรรคมากมาย เมื่อศัตรูรู้ถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำ เหล่าศัตรูพากันโกรธเกรี้ยวและสบประมาทพวกเขา (นหม.4:1-3) แต่เนหะมีย์อธิษฐานและประชาชนก็บากบั่นร่วมกัน “เราจึงสร้างกำแพงขึ้น และกำแพงทั้งสิ้นก็ต่อกันสูงครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะประชาชนมีน้ำใจที่จะทำงาน” (ข้อ 6) เมื่อศัตรูขู่ที่จะโจมตี คนอิสราเอลร่วมใจอธิษฐานและจัดเวรยามระหว่างทำงาน (ข้อ 7-23) พวกเขาสร้างกำแพงขึ้นใหม่ภายในเวลา 52 วัน

บางครั้งเราต้องเผชิญกับภารกิจที่น่าหวาดหวั่น มีอุปสรรคปรากฏอยู่ตามเส้นทาง เราและพี่น้องในพระคริสต์อาจรู้สึกหมดหวัง แต่ในเวลาเช่นนี้อาจเป็นช่วงเวลาแห่งชัยชนะได้โดยการช่วยเหลือจากพระเจ้า จงวางใจว่าพระองค์จะช่วยยับยั้งพายุฝน และจงเพ่งมองไปที่พระองค์ผู้ทรงนำเราสู่ชัยชนะ

พักสงบในพระคริสต์

หลายปีก่อน มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้วิเคราะห์เรื่องภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นที่เชื่อมโยงกับปริมาณการนอนหลับของพวกเขาในแต่ละคืน หลังจากอ่านงานวิจัยหญิงสาวคนหนึ่งแสดงความเห็นในผลวิจัยนั้นว่า “ดูเหมือนฉันไม่เคยรู้ตัวว่าควรหยุดเมื่อไร ฉันผลักดันตัวเองอย่างหนักจนทำให้ตัวเองป่วยเพราะนอนน้อยและเครียด” จากนั้นเธอต้องการรู้ว่าการบริหารเวลาเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าจริงๆแล้วคืออะไร และต้องการรู้ถึงความแตกต่างระหว่างงานที่ยุ่งกับงานที่เกิดผล

การทำงานมากมายจนยุ่งไม่ได้รับประกันถึงประสิทธิภาพ ความสัตย์ซื่อ หรือการเกิดผลมาก แต่เรามักคิดว่าการทำงานยุ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในพระธรรมลูกา 10:41 พระเยซูทรงเตือนมารธาอย่างอ่อนโยนว่าเธอ “ร้อนใจด้วยหลายสิ่ง” และการเลือกของมารีย์น้องสาวของเธอที่ “นั่งใกล้พระบาทพระเยซู” (ข้อ 39) ซึ่งเป็นภาพของการเป็นสาวกนั้นคือตัวเลือกที่ดีกว่า

ในความปรารถนาของเราที่อยากจะรับใช้พระคริสต์นั้น เราทำมากเกินไปโดยคิดว่าพระองค์จะสังเกตเห็นเราได้มากกว่าเพราะเราทำมากใช่ไหม พระธรรมโคโลสี 3:17 บอกว่า “เมื่อท่านจะกระทำสิ่งใดด้วยวาจาหรือด้วยกายก็ตาม จงกระทำทุกสิ่งในพระนามของพระเยซูเจ้า” แต่พระวจนะข้อนี้ไม่ได้บอกให้เรารับใช้ในพระนามพระองค์จนหมดแรง ในสดุดี 46:10 เราได้ยินคำเตือนนี้ “จงนิ่งเสีย และรู้เถอะว่า เราคือพระเจ้า”

ขอให้เราผ่อนฝีเท้าให้ช้าลง และใช้เวลาอยู่กับพระคริสต์แทนที่จะจดจ่อกับรายการของสิ่งที่ต้องทำ เมื่อนั้น “จิตใจ [เราจึง]จะได้พัก” (มธ.11:29) อย่างแท้จริง

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา