เมื่อสงครามกลางเมืองในอเมริกาได้ก่อให้เกิดความรู้สึกขมขื่นมากมาย อับราฮัม ลินคอล์นจึงเห็นว่าควรจะพูดถึงสิ่งดีๆเกี่ยวกับฝ่ายใต้ คนที่ยืนฟังอยู่รู้สึกตกใจจึงถามว่าท่านทำเช่นนั้นได้อย่างไร ท่านตอบว่า “คุณผู้หญิง ข้าพเจ้าไม่ได้ทำลายศัตรูของข้าพเจ้าเมื่อข้าพเจ้าทำให้พวกเขาเป็นมิตรดอกหรือ” เมื่อนึกถึงคำพูดเหล่านั้นในศตวรรษต่อมา มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์เห็นว่า “นี่คือฤทธิ์อำนาจแห่งการทรงไถ่ด้วยความรัก”

คิงมองไปยังคำสอนของพระเยซูในการทรงเรียกสาวกให้รักศัตรู เขาสังเกตว่าแม้ผู้เชื่ออาจต้องพบความยากลำบากที่จะรักคนที่ข่มเหงเขา แต่ความรักนี้เติบโตขึ้นจาก “การยึดมั่นในการยอมจำนนต่อพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง” คิงกล่าวต่อว่า “เมื่อเรามีความรักในรูปแบบนี้ เราก็จะรู้จักพระเจ้าและสัมผัสถึงความงดงามในความบริสุทธิ์ของพระองค์”

คิงยกคำเทศนาบนภูเขาของพระเยซูที่ตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน ทำดังนี้แล้วท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์”(มธ.5:44-45)​พระเยซูสอนในสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับคำสั่งสอนของยุคสมัยนั้นที่ให้รักเพื่อน​บ้าน​และ​เกลียดชัง​ศัตรู แต่พระเจ้า พระบิดาประทานกำลังให้ลูกๆของพระองค์ที่จะรักผู้ที่ข่มเหงพวกเขา

เราอาจรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรักศัตรูของเรา แต่เมื่อเราขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระองค์จะทรงตอบคำอธิษฐานของเรา และจะประทานความกล้าหาญในการทำเรื่องที่สุดโต่งเช่นนี้ ดังที่พระเยซูได้ตรัสไว้ว่า “พระเจ้าทรงกระทำให้สำเร็จได้ทุกสิ่ง” (19:26)