โครงการศิลปะบนชุดเดรสสีแดงนี้เกิดขึ้นโดย เคิร์สตี้ แมคคลาวด์ศิลปินชาวอังกฤษ และได้กลายมาเป็นงานนิทรรศการที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ทั่วโลก เป็นเวลาสิบสามปีที่ผ้าไหมสีแดงเข้มจำนวนแปดสิบสี่ผืนเดินทางไปทั่วโลกเพื่อรับการปักลวดลายจากผู้หญิงมากกว่าสามร้อยคน (และผู้ชายอีกจำนวนหนึ่ง) จากนั้นจึงนำชิ้นผ้าเหล่านี้มาทำเป็นชุดเดรสยาว ที่บอกเล่าเรื่องราวของศิลปินแต่ละคนที่มีส่วนร่วม ซึ่งหลายคนเป็นคนชายขอบและคนยากไร้

เช่นเดียวกับชุดเดรสยาวสีแดงเข้มชุดนี้ เครื่องแต่งกายที่อาโรนและลูกหลานของท่านสวมใส่นั้นก็ทำโดย “ช่างฝีมือ” จำนวนมาก (อพย.28:3) คำบัญชาของพระเจ้าเรื่องเครื่องแต่งกายของปุโรหิตซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆที่บอกเล่าเรื่องราวที่คนอิสราเอลทุกคนมีส่วนร่วม รวมถึงการสลักชื่อชนเผ่าต่างๆบนแก้วโกเมนที่จะอยู่บนบ่าของปุโรหิต “เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงระลึกถึงพวกเขาเสมอ” (ข้อ 12 TNCV) เสื้อคลุม รัดประคดและหมวกทำให้ปุโรหิต “สมเกียรติและงดงาม” ขณะเมื่อพวกเขาปรนนิบัติพระเจ้าและนำประชาชนในการนมัสการ (ข้อ 40)

ในฐานะผู้เชื่อพระเยซูในยุคพันธสัญญาใหม่ เราร่วมกันเป็นปุโรหิตของบรรดาผู้เชื่อ โดยรับใช้พระเจ้าและนำกันและกันในการนมัสการ (1 ปต.2:4-5, 9) โดยมีพระเยซูทรงเป็นมหาปุโรหิตของเรา (ฮบ.4:14) แม้ว่าเราจะไม่ได้สวมเครื่องแต่งกายพิเศษใดๆเพื่อบ่งบอกว่าพวกเราเป็นปุโรหิต แต่โดยความช่วยเหลือจากพระองค์ เราจึง “สวม[ตัวเรา]ด้วยใจเมตตา ใจปรานี ใจถ่อม ใจอ่อนสุภาพ ใจอดทนไว้นาน” (คส.3:12)