กษัตริย์ยองโจแห่งเกาหลี (ค.ศ.1694-1776) ทรงไม่พอพระทัยกับการทุจริตและความหรูหราฟุ่มเฟือยที่แพร่กระจายไปในแผ่นดินของพระองค์ จึงทรงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง มีกรณีตัวอย่างที่พระองค์ทรงกำจัดสิ่งไม่ดีไปพร้อมๆกับสิ่งที่ดีคือ การสั่งห้ามทำงานศิลปะปักด้ายทองแบบโบราณโดยถือเป็นความฟุ่มเฟือยเกินเหตุ ในไม่ช้า ความรู้เรื่องขั้นตอนอันซับซ้อนของงานศิลปะดังกล่าวก็สูญหายไปกับกาลเวลา

ในปี 2011 ศาสตราจารย์ซิม ยอนอ๊กต้องการฟื้นฟูศิลปะโบราณนั้น จากการสันนิษฐานว่าแผ่นทองคำเปลวถูกติดไว้บนกระดาษสาแล้วตัดเป็นเส้นเรียวด้วยมือ เธอจึงสร้างกระบวนการนั้นขึ้นได้อีกครั้ง เป็นการฟื้นฟูศิลปะโบราณขึ้นใหม่

ในหนังสืออพยพ เราได้เรียนรู้ถึงแบบการสร้างพลับพลาอันหรูหรางดงาม รวมถึงการนำเส้นทองคำมาทำเสื้อของปุโรหิตอาโรน ช่างผู้เชี่ยวชาญ “ตีทองใบแผ่ออกเป็นแผ่นบางๆแล้วตัดเป็นเส้นๆเพื่อจะทอเข้ากับด้ายสีฟ้า เข้ากับด้ายสีม่วง เข้ากับด้ายสีแดงเข้ม และเข้ากับเส้นป่านอย่างดี” (อพย.39:3) เกิดอะไรขึ้นกับงานฝีมือประณีตวิจิตรเหล่านั้น เสื้อผ้าเหล่านั้นเก่าและชำรุดไปหรือ หรือถูกปล้นเอาไปในภายหลัง มันหมดประโยชน์ไร้ค่าหรือ ไม่ใช่เลย! ความพยายามทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะพระเจ้าประทานคำสั่งอย่างเฉพาะเจาะจง

พระเจ้าประทานให้เราแต่ละคนมีสิ่งที่ต้องทำเช่นกัน อาจเป็นการแสดงความเมตตาแบบง่ายๆ เพื่อตอบแทนพระองค์ในขณะที่เรารับใช้กันและกัน เราไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับความพยายามของเราในท้ายที่สุด (1 คร.15:58) การงานใดๆที่เราทำเพื่อพระบิดาจะกลายเป็นเส้นด้ายที่ทอดยาวไปถึงนิรันดร์กาล