Month: ธันวาคม 2021

คนในรุ่นปัจจุบัน

“อย่าเชื่อใครที่อายุเกิน 30 ปี” แจ็ค ไวน์เบิร์ก นักสิ่งแวดล้อมหนุ่มกล่าวไว้ในปี 1964 คำพูดของเขานั้นเหมารวมคนทั้งรุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเสียใจในเวลาต่อมา เมื่อมองย้อนกลับไปเขากล่าวว่า “บางอย่างที่ผมพูดโดยไม่ทันคิด... ถูกบิดเบือนและเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง”

คุณเคยได้ยินคำสบประมาทเกี่ยวกับคนรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y) หรือในทางกลับกันไหม ความคิดไม่ดีที่ส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งสามารถทำร้ายทั้งสองฝ่าย แน่นอนว่ามีวิธีที่ดีกว่านี้

แม้เฮเซคียาห์จะเป็นกษัตริย์ที่ดี แต่ทรงขาดความห่วงใยต่อคนอีกรุ่นหนึ่ง เมื่อยังหนุ่มเฮเซคียาห์ประชวรใกล้จะสิ้นพระชนม์ (2 พกษ.20:1) พระองค์ได้ทรงร้องขอชีวิตจากพระเจ้า (ข้อ 2-3) และพระเจ้าทรงต่อชีวิตให้พระองค์อีก 15 ปี (ข้อ 6)

แต่เมื่อเฮเซคียาห์ได้รับข่าวร้ายว่าลูกๆของพระองค์จะต้องถูกจับไปเป็นเชลยในวันข้างหน้า พระองค์กลับทรงไร้ซึ่งน้ำตา (ข้อ 16-18) พระองค์คิดว่า “ก็ดีแล้วมิใช่หรือ ในเมื่อมีความอยู่เย็นเป็นสุขและความปลอดภัยในวันเวลาของเรา” (ข้อ 19) อาจเป็นเพราะเฮเซคียาห์ไม่ใส่พระทัยต่อความเป็นอยู่ดีของคนรุ่นหลังเหมือนกับของพระองค์เอง

พระเจ้าทรงเรียกให้เรารักในแบบที่กล้าจะก้าวข้ามเส้นที่แบ่งแยกเรา คนรุ่นเก่าต้องการอุดมการณ์ที่สดใหม่และความคิดสร้างสรรค์ของคนที่เด็กกว่า ผู้ซึ่งในทางเดียวกันจะได้รับประโยชน์จากสติปัญญาและประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า นี่ไม่ใช่เวลาสำหรับคำพูดหรือสโลแกนประชดประชัน แต่เป็นเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดที่มีค่า พวกเราต่างอยู่ในเรือลำเดียวกัน

อัตลักษณ์ที่แท้จริง

เมื่อเพื่อนดูรูปที่ฉันถ่ายให้เธอ เธอพูดถึงลักษณะภายนอกที่เธอเห็นว่าบกพร่อง ฉันขอให้เธอมองลึกลงไป “ฉันเห็นลูกสาวที่งดงามและเป็นที่รักขององค์จอมกษัตริย์ผู้ทรงฤทธิ์สูงสุด” ฉันบอก “ฉันเห็นคนที่เปี่ยมไปด้วยความรักที่มีต่อพระเจ้าและผู้อื่น ผู้ซึ่งความเมตตา ความมีน้ำใจและความสัตย์ซื่อได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้คนมากมาย” เมื่อฉันสังเกตเห็นน้ำตาที่เอ่ออยู่ในดวงตาของเธอ ฉันกล่าวว่า “ฉันคิดว่าเธอต้องมีมงกุฎ!” บ่ายวันนั้น เราเลือกได้มงกุฎที่เหมาะกับเธอเพื่อเธอจะไม่มีวันลืมอัตลักษณ์ที่แท้จริงไป

เมื่อเรามารู้จักพระเยซูเป็นการส่วนตัว พระองค์ได้ทรงสวมมงกุฎให้เราด้วยความรักและเรียกเราว่าเป็นบุตรของพระองค์ (1 ยน.3:1) พระองค์ประทานกำลังให้เรายืนหยัดในความเชื่อเพื่อ “เราจะมีใจกล้าและไม่หลบพระพักตร์พระองค์ด้วยความละอายเมื่อพระองค์เสด็จมา” (2:28) แม้พระองค์จะทรงยอมรับเราอย่างที่เราเป็น แต่ความรักของพระองค์ก็ชำระและเปลี่ยนแปลงเราให้เป็นเหมือนพระองค์ด้วย (3:2-3) พระองค์ทรงช่วยให้รู้ว่าเราต้องการพระองค์และกลับใจใหม่ในขณะเมื่อเราชื่นชมยินดีในฤทธิ์อำนาจที่ช่วยให้หันจากบาป (ข้อ 7-9) เราสามารถมีชีวิตที่เชื่อฟังอย่างสัตย์ซื่อและด้วยความรัก (ข้อ 10) โดยมีความจริงของพระองค์อยู่ในใจและมีพระวิญญาณของพระองค์ปรากฏอยู่ในชีวิตของเรา

เพื่อนของฉันไม่จำเป็นต้องมีมงกุฎหรือเครื่องประดับใดในวันนั้น แต่เราทั้งคู่ต้องการเครื่องเตือนใจถึงคุณค่าของเราในฐานะบุตรที่รักของพระเจ้า

เฉลิมฉลองในความแตกต่าง

ในพิธีจบการศึกษาประจำปี 2019 ของโรงเรียนมัธยมท้องถิ่นแห่งหนึ่ง นักเรียน 608 คนเตรียมตัวเพื่อรับประกาศนียบัตร อาจารย์ใหญ่เริ่มพิธีโดยขอให้นักเรียนยืนขึ้นเมื่อท่านอ่านรายชื่อประเทศบ้านเกิดของพวกเขาที่อัฟกานิสถาน โบลิเวีย บอสเนียและอื่นๆ อาจารย์ใหญ่พูดจนครบ 60 ประเทศและนักเรียนทุกคนยืนขึ้นและยินดีร่วมกัน 60 ประเทศภายในโรงเรียนเดียวกัน

ความงดงามของการเป็นหนึ่งเดียวกันท่ามกลางความแตกต่างเป็นภาพอันทรงพลังที่แสดงถึงสิ่งที่พระเจ้าให้ความสำคัญ คือทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี

เราพบคำหนุนใจที่ให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันในท่ามกลางคนของพระเจ้าในสดุดี 133 เป็นบทเพลงสดุดีที่ขับขานเมื่อประชาชนเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อการเฉลิมฉลองประจำปี บทเพลงนี้เตือนประชาชนให้ระลึกถึงข้อดีของการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี (ข้อ 1) แม้จะมีความแตกต่างที่อาจก่อให้เกิดการแบ่งแยกก็ตาม ในภาพจำลองนั้นความเป็นหนึ่งเดียวกันถูกเปรียบเป็นน้ำค้าง (ข้อ 3) และน้ำมันที่ใช้ในการเจิมปุโรหิต (อพย.29:7) ที่ “ไหลอาบลงมา” บนศีรษะ หนวดเคราและเสื้อผ้าของปุโรหิต (ข้อ 2) ทุกภาพชี้ถึงความจริงว่า ในความเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นพระพรของพระเจ้าหลั่งไหลอย่างท่วมท้นจนไม่มีสิ่งใดรองรับไว้ได้

สำหรับผู้เชื่อในพระเยซู แม้จะมีความแตกต่างมากมาย เช่นในเรื่องชาติพันธุ์ สัญชาติ หรืออายุ แต่ยังมีความเป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งลึกซึ้งยิ่งกว่าในพระวิญญาณ (อฟ.4:3) เมื่อเรายืนร่วมกันและเฉลิมฉลองสายสัมพันธ์นั้นโดยการทรงนำของพระเยซู เราก็สามารถเปิดรับความแตกต่างที่พระเจ้าประทานให้ และเฉลิมฉลองที่มาของความเป็นหนึ่งเดียวกันที่แท้จริง

เราต้องการชุมชนคริสตจักร

ผมโตมาในฐานะลูกชายคนโตของนักเทศน์คณะแบ๊บติสต์ใต้ มีความคาดหวังอย่างชัดเจนว่าทุกวันอาทิตย์ผมต้องไปโบสถ์ ซึ่งอาจยกเว้นได้หากผมมีไข้สูงจริงๆ แต่ความจริงคือผมรักการไปโบสถ์และหลายครั้งผมไปทั้งที่ยังมีไข้ แต่โลกเปลี่ยนไปแล้วและจำนวนคนที่มาโบสถ์เป็นประจำก็ไม่เหมือนที่เคยเป็น แน่นอนว่าเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า ทำไม คำตอบนั้นมีหลากหลายแตกต่างกันไป นักเขียนแคธลีน นอร์ริสโต้แย้งคำตอบเหล่านั้นด้วยคำตอบที่ได้รับจากศิษยาภิ-บาลเมื่อเธอถามว่า “ทำไมเราต้องไปโบสถ์” เขาตอบว่า “เราไปโบสถ์เพื่อคนอื่น เพราะอาจมีบางคนต้องการคุณที่นั่น”

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เราไปโบสถ์ แต่คำตอบของเขาสะท้อนถึงหัวใจของผู้เขียนฮีบรูที่หนุนใจผู้เชื่อให้รักษาความเชื่อไว้ และการจะทำเช่นนั้นได้ ท่านย้ำว่า “อย่าขาดการประชุม”​ (ฮบ.10:25) ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะสิ่งสำคัญบางอย่างจะขาดหายไปหากเราไม่อยู่ที่นั่นคือ “การหนุนใจกัน” (ข้อ 25) เราต้องการการหนุนใจกันเพื่อ “ปลุกใจซึ่งกันและกัน ให้มีความรักและทำความดี” (ข้อ 24)

พี่น้องชายหญิงทั้งหลาย ให้เราร่วมสามัคคีธรรมกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจมีบางคนต้องการคุณที่นั่น และความจริงที่ไม่ต่างกันคือ คุณอาจต้องการพวกเขาเช่นกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา