ที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว ยาด วาเชม ในอิสราเอล ฉันและสามีเข้าไปในสวนผู้ชอบธรรมในหมู่ประชาชาติที่เชิดชูเกียรติผู้เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยชีวิตชาวยิวไว้ในช่วงที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขณะเดินดู หญิงคนหนึ่งจากกลุ่มชาวเนเธอร์แลนด์มาเพื่อดูชื่อของปู่และย่าของเธอที่จารึกบนแผ่นหินขนาดใหญ่ เราถามเรื่องครอบครัวของเธอด้วยความสนใจ

ศจ.ปีเตอร์และเอเดรียนนา มูลเลอร์ ปู่และย่าของเธอได้รับดูแลเด็กชายชาวยิววัยสองขวบและบอกว่าเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนลูกแปดคนในปี 1943-1945

พวกเราซาบซึ้งใจและถามว่า “เด็กคนนั้นรอดชีวิตไหม” ชายชราคนหนึ่งจากกลุ่มบอกว่า “ผมคือเด็กคนนั้น”

ความกล้าหาญของหลายคนที่ทำเพื่อชาวยิว ทำให้ฉันคิดถึงราชินีเอสเธอร์ พระนางคงจะคิดว่ารอดพ้นจากกฤษฎีกาทำลายล้างยิวเมื่อราว 350 ปีกคศ. เพราะได้ปิดบังชาติกำเนิดของตนไว้ แต่พระนางตัดสินใจที่จะทำบางอย่างแม้อาจต้องโทษถึงตาย เมื่อญาติของพระนางขอร้องให้พระองค์อย่าอยู่เฉย เพราะพระนางได้มารับตำแหน่ง “ก็เพื่อยามวิกฤตเช่นนี้” (อสธ.4:14)

เราอาจไม่เคยถูกขอให้ทำเรื่องคอขาดบาดตายขนาดนั้น แต่เราอาจต้องเลือกว่าจะพูดคัดค้านความอยุติธรรมหรือจะเงียบไว้ จะช่วยเหลือผู้ยากลำบากหรือจะเบือนหน้าหนี ขอพระเจ้าประทานความกล้าหาญให้เรา