อัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งความรัก
ในภาพยนตร์เรื่องทุ่งแห่งความฝัน ซึ่งเป็นหนังคลาสสิกแนวแฟนตาซีเกี่ยวกับกีฬา ตัวละครที่ชื่อ เรย์ คินเซลล่า ได้พบกับพ่อผู้ล่วงลับไปแล้วของเขาในสภาพของนักกีฬาหนุ่ม ทันทีที่เห็นพ่อครั้งแรก เรย์บอกกับแอนนี่ภรรยาของเขาว่า “ผมเจอเขาแค่ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังตอนที่เขาอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่จากปัญหาชีวิต แต่ดูเขาตอนนี้สิ ผมจะพูดอะไรกับเขาดีล่ะ” ฉากนี้ทำให้เกิดคำถามว่า จะเป็นอย่างไรถ้าได้เจอคนที่เรารักซึ่งจากโลกนี้ไปแล้ว แต่กลับมามีชีวิตและแข็งแรงอีกครั้ง
นางมารีย์ ชาวมักดาลามีประสบการณ์เช่นนั้นเมื่อเธอได้พบพระเยซูเป็นครั้งแรกหลังจากทรงเป็นขึ้นจากความตาย มารีย์ยืนร้องไห้อยู่ข้างๆอุโมงค์ที่ว่างเปล่า เมื่อเธอหันกลับมา “และเห็นพระเยซูประทับยืนอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นองค์พระเยซู” (ยน.20:14) ทำไมเธอถึงจำพระองค์ไม่ได้ อาจเป็นเพราะน้ำตาของเธอ หรือเป็นเพราะเวลานั้นยัง “เช้ามืด” (ข้อ 1) เป็นไปได้ว่าครั้งสุดท้ายที่เธอเห็นพระองค์ พระองค์ทรงมีเลือดท่วม ถูกทุบตีและถูกทรมานจนตาย เธอไม่คิดว่าจะได้เห็นพระองค์กลับมามีชีวิตอีก พระองค์ทรงฟื้นขึ้นมาจริงๆจนต้องใช้เวลานานกว่าคนจะยอมรับความจริงที่แสนประเสริฐนี้
กระนั้น พระเยซูทรงยืนอยู่ที่นั่น “เป็นขึ้นมาใหม่นั้นก็จะไม่รู้จักเน่าเปื่อย” (1 คร.15:42)! และทันทีที่พระองค์ทรงเรียกชื่อเธอ มารีย์ก็จำพระองค์ได้ ไม่ใช่แค่ในฐานะเพื่อนผู้สัตย์ซื่อ และ “อาจารย์” (ยน.20:16) ของเธอ แต่ในฐานะองค์เจ้านายผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์อีกด้วย พระเจ้ามักจะมีวิธีที่ทำให้เราประหลาดใจด้วยการอัศจรรย์ของพระองค์เสมอ การทรงพิชิตความตายเพื่อเรานั้นเป็นสิ่งที่อัศจรรย์อย่างที่สุด
หยั่งรากลึกลงในพระคริสต์
ศิษยาภิบาลผู้เป็นที่รักของพวกเรา แอนดรูว์ เมอร์เรย์ (ค.ศ.1828-1917) เล่าว่า ในแอฟริกาใต้บ้านเกิดของเขา โรคต่างๆส่งผลต่อต้นส้มที่นั่นอย่างไร หากมองด้วยสายตาที่ไม่เคยผ่านการฝึกฝนมาก่อน ทุกอย่างอาจจะดูปกติดี แต่รุกขกรหรือหมอต้นไม้สามารถมองเห็นความเน่าเปื่อยที่บ่งบอกว่าต้นไม้กำลังตายลงอย่างช้าๆ วิธีเดียวที่จะช่วยชีวิตต้นไม้ที่เป็นโรคคือ ตัดกิ่งก้านและแขนงออกจากราก แล้วต่อเข้ากับต้นใหม่ ต้นไม้จึงจะสามารถเจริญเติบโตและออกผลได้
เมอร์เรย์เชื่อมโยงภาพดังกล่าวกับจดหมายที่อัครทูตเปาโลเขียนถึงชาวเอเฟซัสจากคุกในกรุงโรม โดยเปาโลได้สรุปพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เอาไว้อย่างน่าอัศจรรย์ หัวใจของผู้อภิบาลได้ส่องประกายเจิดจ้าเมื่อท่านอธิษฐานขอให้ผู้เชื่อมีกำลังเรี่ยวแรงขึ้น โดยฤทธิ์เดชผ่านทางพระวิญญาณของพระคริสต์ที่อยู่ภายในพวกเขา เพื่อว่าพระองค์จะสถิตในใจของพวกเขาโดยทางความเชื่อ (อฟ.3:16-17) เปาโลปรารถนาให้พวกเขา “วางรากลงมั่นคงในความรัก” และสามารถหยั่งรู้ถึงความรักอันบริบูรณ์ของพระเจ้าอย่างเต็มขนาด (ข้อ 17-18)
ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู รากของเราจะหยั่งลึกลงไปในดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งความรักของพระเจ้า ซึ่งมีสารอาหารที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเราและช่วยให้เราเติบโต และเมื่อเราถูกต่อเข้ากับพระเยซู พระวิญญาณของพระองค์จะช่วยเราให้เกิดผล เราอาจต้องฟันฝ่าพายุที่โน้มเราลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่เราสามารถยืนหยัดอยู่ได้เมื่อเราหยั่งรากลงในพระองค์ผู้เป็นแหล่งแห่งชีวิตและความรัก
การรักผู้อื่นในพระเยซู
มีเกมการแข่งขันใหม่ในกีฬาระดับมัธยมปลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ยกระดับจิตใจได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
เกมนี้มีองค์ประกอบหลายอย่างเหมือนเกมอื่นๆที่เรารู้จัก ทั้งกองเชียร์ ผู้ตัดสิน และกระดานคะแนน แต่มีจุดหักมุมที่สำคัญ คือแต่ละทีมจะประกอบด้วยสมาชิกห้าคน เป็นผู้เล่นที่ไม่พิการสองคนและผู้เล่นที่มีความพิการในบางรูปแบบอีกสามคน กิจกรรมในสนามนั้นแสนจะอบอุ่นเมื่อผู้เล่นช่วยเหลือ ให้กำลังใจ และส่งเสียงเชียร์ซึ่งกันและกันไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ทีมใดก็ตาม เกมนี้เป็นการสร้างความรู้สึกในแง่บวกให้นักเรียนที่ไม่เคยสัมผัสกับความสุขในการแข่งขันกีฬามาก่อน
โรงเรียนต้องใช้ความเป็นผู้นำที่สุขุมรอบคอบและมีปัญญาเพื่อให้เกียรติกับนักเรียนในลักษณะนี้ และความพยายามของพวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงแบบอย่างที่กษัตริย์ดาวิดได้วางไว้ให้เราในพระคัมภีร์
คำกล่าวที่พูดกันทั่วไปในสมัยของดาวิดคือ “อย่าให้คนตาบอดและคนง่อยเข้ามาในพระนิเวศ” (2ซมอ.5:8) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เปรียบเปรยถึงศัตรูของดาวิดอย่างไรก็ตาม ดาวิดเลือกที่จะพาเมฟีโบเชทบุตรชายของโยนาธานซึ่งเท้าทั้งสองข้างเป็นง่อย เข้าไปในพระราชวังและให้เกียรติเขาด้วยการให้เขา “รับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะ [ของดาวิด]” (9:7)
เปาโลนำเสนอแนวทางที่ชัดเจนว่าเราจะต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร “จงรักกันฉันพี่น้อง ส่วนการที่ให้เกียรติแก่กันและกันนั้น จงถือว่าผู้อื่นดีกว่าตัว” (รม.12:10) ให้เราฝึกดำเนินชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยการให้เกียรติกับทุกคนที่เราพบเจอด้วยความรักของพระเยซู
เกียรติที่มาพร้อมกับความถ่อมใจ
ในฐานะครูโรงเรียนประถมศึกษา เจนนี่เพื่อนของฉันมักจะพานักเรียนไปที่ห้องเรียนสำหรับวิชาอื่นๆ เช่น ดนตรีหรือศิลปะ เมื่อครูบอกให้เข้าแถวเพื่อเดินไปยังอีกห้องหนึ่ง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จะพยายามผลักคนอื่นออกไปเพื่อช่วงชิงตำแหน่งที่ยืน บางคนก็พยายามเบียดขึ้นไปยืนอยู่หัวแถว วันหนึ่งเจนนี่ทำให้พวกเขาประหลาดใจโดยให้ทุกคนกลับหลังหัน ทำให้ตำแหน่งในแถวที่พวกเขาเคยอยู่เมื่อไม่กี่วินาทีก่อนหน้านั้นกลับตาลปัตรจากหัวแถวกลายเป็นท้ายแถว พวกเขาตกใจส่งเสียงร้อง “นี่มันอะไรกัน”
เมื่อพระเยซูทรงสังเกตเห็นการแย่งชิงตำแหน่งในลักษณะเดียวกันบนโต๊ะอาหารเย็น พระองค์ทรงตอบสนองด้วยการเล่าคำอุปมาที่ทำให้แขกของพระองค์ประหลาดใจอย่างไม่ต้องสงสัย พระองค์ทรงใช้เรื่องราวในงานเลี้ยงสมรส เพื่อสอนพวกเขาว่า “อย่านั่งในที่อันมีเกียรติ” แต่ให้ “นั่งในที่ต่ำ” ก่อน (ลก.14:8-10) พระคริสต์ทรงทำให้บรรทัดฐานทางสังคมสับสน โดยตรัสว่า “ทุกคนที่ได้ยกตัวขึ้นจะต้องถูกเหยียดลง และผู้ที่ถ่อมตัวลงนั้นจะได้รับการยกขึ้น” (ข้อ 11)
หลักการแห่งแผ่นดินของพระเจ้าในเรื่องนี้อาจเป็นสิ่งที่นำมาปฏิบัติได้ยาก ด้วยเหตุผลเฉพาะเจาะจงที่ว่า มนุษย์ยังคงถูกล่อลวงให้มุ่งความสนใจไปที่ “ชัยชนะ” อย่างไรก็ดี การเลือกตำแหน่งที่อยู่ท้ายสุดในเวลานี้ก็เพื่อเราจะได้เป็นคนแรกในภายหลัง แต่พระเยซูทรงหนุนใจเราให้ทำตามแบบอย่างของพระองค์ และคาดหวังความช่วยเหลือจากพระองค์ในการปรับเปลี่ยนความคิดของเราเพื่อจะมองเห็นว่า การเป็นคนถ่อมใจ เป็นคนสุดท้าย และคนที่ต่ำต้อยนั้น เป็นการอยู่ในสถานที่อันทรงเกียรติอย่างแท้จริง
พระเจ้าแห่งการเริ่มต้นใหม่
“พ่อค้าความตายเสียชีวิตแล้ว!” นั่นคือพาดหัวข่าวมรณกรรมที่ทำให้อัลเฟรด โนเบล ผู้ประดิษฐ์ระเบิดไดนาไมต์ต้องแก้ไขเส้นทางชีวิตของตัวเองใหม่ แต่หนังสือพิมพ์ลงข่าวผิด อัลเฟรดยังคงมีชีวิตอยู่ ลุดวิกน้องชายของเขาต่างหากที่เสียชีวิต เมื่ออัลเฟรดตระหนักว่าผู้คนจะจดจำเขาจากสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นอันตรายซึ่งคร่าชีวิตผู้คนมากมาย เขาจึงตัดสินใจบริจาคทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเขาเพื่อเป็นรางวัลให้กับผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ และนั่นเป็นที่มาของรางวัลโนเบลที่โด่งดัง
กว่าสองพันปีก่อน ชายผู้ทรงอำนาจอีกคนหนึ่งก็ได้กลับใจเช่นกัน มนัสเสห์กษัตริย์แห่งยูดาห์ได้กบฏต่อพระเจ้า ผลก็คือพระองค์ถูกจับไปเป็นเชลยที่บาบิโลน แต่ “เมื่อพระองค์ทรงทุกข์ยาก พระองค์ทรงวิงวอนขอพระกรุณาต่อพระเยโฮวาห์” และเมื่อ “พระองค์ทรงอธิษฐาน” พระเจ้าทรง “นำท่านกลับมายังกรุงเยรูซาเล็มในราชอาณาจักรของท่านอีก” (2 พศด.33:12-13) มนัสเสห์ใช้เวลาที่เหลือในการปกครองบ้านเมืองอย่างสงบสุข พระองค์ปรนนิบัติพระเจ้าและพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะแก้ไขความผิดที่เคยทำมาในอดีต
“พระเจ้าทรงรับคำวิงวอน” เมื่อมนัสเสห์อธิษฐาน (ข้อ 13) พระเจ้าทรงตอบสนองต่อความถ่อมใจ เมื่อเราตระหนักว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและหันกลับมาหาพระองค์ พระองค์จะไม่มีวันปฏิเสธเรา พระองค์จะประทานพระคุณที่เราไม่สมควรได้รับให้กับเรา และทรงสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่ด้วยความรักที่ทำให้พระองค์ยอมสละพระชนม์บนกางเขน การเริ่มต้นใหม่จึงเริ่มต้นขึ้นโดยพระองค์
ความชื่นบานนิรันดร์
ในปี 2014 ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในนอร์เวย์ได้ติดตั้งป้ายจราจรที่บอกผู้คนที่กำลังข้ามถนนให้ทำท่าทางตลกๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างช่วงเวลาแห่งอารมณ์ขันให้กับ “คนเดินถนนที่บ้าบอ” รวมถึงคนที่ดูด้วย เพื่อพวกเขาจะสร้างวันที่สดใสให้แก่กันและกัน การได้เห็นความบ้าๆบอๆในช่วงสั้นๆนี้เป็นการให้กำลังใจคนที่กำลังจิตตกได้ชั่วขณะหนึ่ง
พระคัมภีร์ยอมรับว่ามีฤดูกาลแห่งความยากลำบากและทุกข์เข็ญที่ทำให้เรารู้สึกเสียขวัญและโศกเศร้า พระธรรมบทเพลงคร่ำครวญและสดุดีหลายบทได้พูดถึงความเจ็บปวดดังกล่าว แต่พระคัมภีร์ก็ชี้ให้เราเห็นด้วยว่า สิ่งที่ทำให้เรามีความชื่นบานนิรันดร์ได้ในทุกสถานการณ์ ก็คือการทรงสถิตของพระเจ้า ดาวิดเขียนถ้อยคำในสดุดี 16 ด้วยดวงตาที่เพ่งมองถึงอนาคตนิรันดร์ร่วมกับพระองค์ พวกเราที่มีชีวิตอยู่ในวันนี้ภายหลังการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู จะรู้ถึงการทรงสถิตของพระเจ้าได้ผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์
อารมณ์ขันและความร่าเริงสามารถยกระดับจิตวิญญาณของเราได้ในยามที่เราทุกข์ยากลำบากแม้จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่เราจะมีความชื่นบานนิรันดร์ที่คอยค้ำจุนเราตลอดช่วงเวลาที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตได้นั้น เราจะต้อง “ลี้ภัย” ในพระเจ้า (ข้อ 1) ผู้ประทานคำปรึกษาและเตือนสอนเรา (ข้อ 7) พระองค์จะไม่มีวันทอดทิ้งเรา แต่จะ “สำแดงวิถีแห่งชีวิต” แก่เรา และทำให้เรา “มีความชื่นบานอย่างเปี่ยมล้น” (ข้อ 11)
มุมมองของพระเจ้า
ในปี 2018 ศิษยาภิบาลแทน ฟลิปปินประสบอุบัติเหตุระหว่างปั่นจักรยาน จนต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลด้วยอาการสะโพกหัก เมื่อแพทย์สั่งให้ทำซีทีสแกนเพื่อตรวจดูว่าสมองได้รับความกระทบกระเทือนหรือไม่ พวกเขาก็พบเนื้อร้ายขนาดใหญ่ที่ด้านหน้าสมองของเขา การตรวจพบนี้นำไปสู่เส้นทางอันยาวนานในกระบวนการรักษา ด้วยการพบก้อนเนื้อตามมาอีกหลายก้อนทำให้ต้องมีการรักษาที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมไปถึงการปลูกถ่ายไขกระดูก ฟลิปปินเชื่อว่า “พระเจ้าทรงอนุญาตให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นเพื่อจะตรวจพบเนื้องอกในสมองของผม”
เปาโลบอกชาวเมืองฟีลิปปีว่า พระเจ้าทรงใช้อุบัติเหตุและความทุกข์ยากต่างๆเพื่อถวายเกียรติแด่พระองค์ ท่านถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านของชาวโรมัน เพื่อรอการไต่สวนในข้อหาร้ายแรงต่อหน้าจักรพรรดิเนโร แทนที่จะรู้สึกโศกเศร้า เปาโลกลับชื่นชมยินดี ท่านมีความชื่นชมยินดีได้อย่างไร ก็เพราะท่านถือว่าการถูก “จำจอง...เพื่อพระคริสต์” (ฟป.1:13) นั้นเป็นสิทธิพิเศษ (ข้อ 29) จากนั้นเมื่อท่านมองดูความทุกข์ยากของท่านจากมุมมองของพระเจ้า เปาโลกล่าวว่า “การทั้งปวงที่อุบัติขึ้นกับข้าพเจ้านั้น ได้กลับเป็นเหตุให้ข่าวประเสริฐแผ่แพร่กว้างออกไป” (ข้อ 12) ท่านใช้การคุมขังเป็นโอกาสในการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้คุมที่อยู่กับท่าน ในท้ายที่สุด เมื่อเปาโลเทศนาข่าวประเสริฐของพระเยซูขณะที่ถูกจองจำ ชีวิตที่เป็นแบบอย่างของท่านหนุนใจผู้เชื่อคนอื่นๆให้ “กล่าวพระวจนะของพระเจ้าโดยปราศจากความกลัว” (ข้อ 14)
เมื่อเกิดความทุกข์ยาก จงวางใจในมุมมองของพระเจ้าและเชื่อว่าพระองค์สามารถทำให้เกิดสิ่งที่ดีจากความยากลำบากนั้นได้
คำตอบที่ปรุงด้วยเกลือ
เบิร์ตวางบัตรเดบิตของเขาไว้บนบิลร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟหยิบมันขึ้นมา แล้วหยุดชะงักก่อนจะถามว่า “เดี๋ยวก่อนนะครับ ชายผู้นี้ที่บอกว่า ‘เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต’ เป็นใครกัน เขากล้าดียังไงถึงพูดเช่นนั้น!” เบิร์ตรู้ได้ว่าพนักงานเสิร์ฟมีปฏิกิริยาจากประโยคที่บริษัทด้านการเงินซึ่งเป็นคริสเตียนพิมพ์ลงบนบัตรเดบิตใบนั้น นั่นคือพระดำรัสของพระเยซูจากยอห์น 14:6 เบิร์ตรู้สึกขบขันต่อปฏิกิริยาของพนักงานเสิร์ฟและได้อธิบายให้เขาฟังถึงอัตลักษณ์ของ “ชายผู้นี้” และการถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาเพื่อนำเราไปถึงพระเจ้า
เมื่อเราพบกับผู้คนที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับความเชื่อของเรา เราอาจตอบโต้ด้วยการเยาะเย้ยหรือแม้กระทั่งตัดสินพวกเขา แต่อัครสาวกเปโตรท้าทายเราว่า “จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อท่านจะสามารถตอบทุกคนที่ถามท่านว่า ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด” (1 ปต.3:15) แล้วท่านก็เตือนว่า “จงตอบด้วยใจสุภาพและด้วยความนับถือ” (ข้อ 15) ในโคโลสี 4:6 เปาโลอธิบายถึงพลังของคำตอบเช่นนั้นว่า “จงให้วาจาของท่านประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ ปรุงด้วยเกลือให้มีรส เพื่อท่านจะได้รู้จักตอบให้จุใจแก่ทุกคน” เช่นเดียวกับที่เกลือช่วยเพิ่มรสชาติให้กับอาหาร คำตอบที่ปรุงด้วยเกลือก็มีรสเชื้อเชิญให้ผู้อื่นอยากเข้ามาชิมความเชื่อของเราได้เช่นกัน
อาจมีคำถามเกิดขึ้นในระหว่างเหตุการณ์ที่เราคาดไม่ถึงจากผู้คนที่ไม่คุ้นเคยกับพระเยซูเลย เมื่อเราตอบด้วยความสุภาพและใจเมตตา คำตอบของเราก็จะมีรสชาติที่ดึงดูดให้ผู้ถามอยากฟังเรามากขึ้น
ฟังเสียงพระเจ้า
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มหานครนิวยอร์กได้กลายเป็นสถานที่ที่จอแจ จากเสียงของรถไฟที่อยู่เหนือศีรษะ รถยนต์ รถเข็น เสียงของเด็กที่ตะโกนขายหนังสือพิมพ์ และผู้คนที่พลุกพล่าน ชีวิตจึงหนวกหู! แต่วันหนึ่งที่บรอดเวย์ บนถนนสาย 34 ชายคนหนึ่งชื่อ ชาร์ลส์ เคลล็อกก์พูดกับเพื่อนของเขาว่า “ฟังสิ ผมได้ยินเสียงจิ้งหรีด”
“เป็นไปไม่ได้” เพื่อนของเขาตอบ “ด้วยเสียงอึกทึกครึกโครมขนาดนี้ คุณไม่มีทางได้ยินเสียงเล็กๆแบบนั้นได้” แต่เคลล็อกก์ยังคงยืนกราน และในที่สุดเขาก็พบจิ้งหรีดกำลังส่งเสียงร้องอยู่ที่หน้าต่างของร้านเบเกอรี่ “ความสามารถในการได้ยินของคุณนี่ช่างน่าทึ่งจริงๆ”เพื่อนของเขากล่าว“เปล่าเลย”เคลล็อกก์ตอบ “มันอยู่ที่ว่าคุณมุ่งความสนใจไปที่จุดไหน”
เอลียาห์เป็นผู้เผยพระวจนะที่เพิ่งได้เห็นพระเจ้าสำแดงฤทธิ์อำนาจอันอัศจรรย์ของพระองค์ แต่ตอนนี้ท่านกลับไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำเพราะกลัวราชินีนอกรีต (1พกษ.19:1-9) ในครั้งนี้พระเจ้าไม่ต้องการสื่อสารกับท่านด้วยวิธีที่ทรงพลัง แม้พระองค์จะบันดาลให้เกิดลมพายุ แผ่นดินไหว และแม้กระทั่งไฟก็ตาม (ข้อ 11-12) ถึงเวลาแล้วที่เอลียาห์จะพูดคุยกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัวแบบเงียบๆ พระเจ้าต้องการตรัสกับผู้เผยพระวจนะด้วย “เสียงเบาๆ” (ข้อ 12)
ทุกวันนี้มีเสียงรบกวนมากมายในชีวิตของเรา แต่พระเจ้ายังคงตรัสด้วยเสียงแผ่วเบาผ่านทางพระคัมภีร์และพระวิญญาณของพระองค์ การใช้เวลาจดจ่อกับพระเจ้าด้วยใจอธิษฐานจะช่วยเราในการปรับจูนจนได้พบกับเสียงแห่งการปลอบประโลมและการทรงนำของพระองค์