ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Patricia Raybon

รู้จักโดยพระเจ้า

หลังจากพี่น้องสองคนต้องแยกจากกันด้วยการถูกรับไปอุปการะ การตรวจดีเอ็นเอช่วยให้พวกเขากลับมาเจอกันในเกือบยี่สิบปีให้หลัง เมื่อคีรอนส่งข้อความหาวินเซนต์ที่เขาเชื่อว่าเป็นน้องชายนั้น วินเซนต์นึกในใจว่า คนแปลกหน้าคนนี้คือใคร เมื่อคีรอนถามเขาถึงชื่อในตอนแรกเกิด เขาตอบทันทีว่า “ไทเลอร์” พวกเขาจึงรู้ว่าเป็นพี่น้องกัน เขาเป็นที่จดจำจากชื่อของเขา!

เมื่อพิจารณาดูความสำคัญของชื่อจากเรื่องราวในวันอีสเตอร์นั้น มารีย์ชาวมักดาลามายังหลุมศพของพระคริสต์ และเธอร้องไห้เมื่อเห็นว่าพระศพของพระองค์หายไป พระเยซูตรัสถามว่า “หญิงเอ๋ย ร้องไห้ทำไม” (ยน.20:15) แต่เธอจำพระองค์ไม่ได้ จนกระทั่งพระองค์ทรงเรียกชื่อเธอ “มารีย์” (ข้อ 16)

เมื่อได้ยินพระองค์เรียกชื่อ เธอ “หันมาทูลพระองค์เป็นภาษาฮีบรูว่า ‘รับโบนี’ (ซึ่งแปลว่าอาจารย์)” (ข้อ 16) การตอบสนองของเธอแสดงถึงความชื่นชมยินดีที่ผู้เชื่อในพระเยซูรู้สึกในตอนเช้าวันอีสเตอร์ เมื่อระลึกได้ว่าพระคริสต์ผู้คืนพระชนม์ของเราได้ชนะความตายเพื่อคนทั้งปวง และทรงรู้จักเราแต่ละคนว่าเป็นลูกของพระเจ้า ดังที่พระองค์ตรัสกับมารีย์ “เราจะขึ้นไปหาพระบิดาของเรา และพระบิดาของท่านทั้งหลาย ไปหาพระเจ้าของเราและพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (ข้อ 17)

ในจอร์เจีย พี่น้องที่ได้กลับมาเจอกันและผูกพันกันด้วยชื่อนี้สัญญาว่าจะ “พัฒนาความสัมพันธ์นี้ไปอีกขั้น” ในวันอีสเตอร์ เราสรรเสริญพระเยซูที่ได้เริ่มก้าวที่สำคัญที่สุด ในการฟื้นพระชนม์ขึ้นในความรักที่เสียสละ เพื่อคนที่พระองค์ทรงรู้ว่าเป็นของพระองค์ เพื่อคุณและฉัน พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่!

แข็งแรงและดี

ผู้รับใช้หนุ่มในมหาวิทยาลัยคนหนึ่งรู้สึกทุกข์ใจ แต่เขาดูสับสนเมื่อผมกล้าถามว่าเขาอธิษฐาน...ขอการทรงนำจากพระเจ้า...ขอความช่วยเหลือจากพระองค์หรือไม่ อธิษฐานอย่างสม่ำเสมออย่างที่เปาโลแนะนำ ชายหนุ่มทำหน้านิ่วคิ้วขมวดสารภาพว่า “ผมไม่แน่ใจว่าผมยังเชื่อในคำอธิษฐาน หรือเชื่อว่าพระเจ้าทรงฟังอยู่หรือเปล่า ดูโลกนี้สิ” ผู้รับใช้หนุ่มคนนั้นกำลัง “สร้าง” พันธกิจด้วยกำลังของเขาเอง และน่าเศร้าที่เขากำลังล้มเหลว ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะเขากำลังปฏิเสธพระเจ้า

พระเยซูผู้ทรงเป็นศิลามุมเอกของคริสตจักรก็ทรงถูกปฏิเสธมาตลอด แม้แต่จากชาวบ้านชาวเมืองของพระองค์เอง (ยน.1:11) ทุกวันนี้คนมากมายยังคงปฏิเสธพระองค์ พวกเขาดิ้นรนที่จะสร้างชีวิต การงาน หรือแม้แต่คริสตจักรบนรากฐานที่ไม่มั่นคง คือบนแผนการหรือความฝันของพวกเขาหรือสิ่งอื่น แต่องค์พระผู้ช่วยให้รอดผู้ประเสริฐของเราเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นกำลังและความรอดของเรา (สดด.118:14) แท้จริงแล้ว “ศิลาซึ่งช่างก่อได้ทอดทิ้งเสีย ได้เป็นศิลามุมเอกแล้ว” (ข้อ 22)

พระองค์ทรงกำหนดพระองค์เองไว้ที่หัวมุมซึ่งมีความสำคัญในชีวิตของเรา ทรงจัดเตรียมแนวทางเดียวที่ถูกต้องสำหรับทุกสิ่งที่ผู้ติดตามพระองค์ปรารถนาจะทำให้ลุล่วงเพื่อพระองค์ ดังนั้นเราจึงอธิษฐานต่อพระองค์ว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงช่วยข้าพระองค์ให้รอดเถิด ข้าแต่พระเจ้า ขอประทานความสำเร็จแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด” (ข้อ 25) ผลที่เกิดตามมาคืออะไร “ขอท่านผู้เข้ามาในพระนามของพระเจ้าจงได้รับพระพร” (ข้อ 26) ให้เราขอบพระคุณพระองค์เพราะว่าพระองค์เข้มแข็งและทรงประเสริฐ

เกมแห่งการเปลี่ยนแปลง

การจับมือกันได้ป่าวประกาศถึงความหมายในตัวเอง คืนหนึ่งของเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 1963 นักบาสเก็ตบอลระดับวิทยาลัยสองคน คนหนึ่งผิวดำ คนหนึ่งผิวขาว ได้ท้าทายความเกลียดชังของกลุ่มคนที่เหยียดสีผิวด้วยการจับมือกัน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐมิสซิสซิปปี้ที่ทีมคนผิวขาวแข่งกับทีมที่มีคนผิวดำร่วมด้วย เป็นการแข่งขันใน “เกมแห่งการเปลี่ยนแปลง” กับทีมจากมหาวิทยาลัยโลโยล่าชิคาโกในการแข่งขันระดับประเทศ ทีมของรัฐมิสซิสซิบปี้หลีกเลี่ยงคำสั่งห้ามของศาลที่ต้องการจะหยุดพวกเขา โดยการใช้ผู้เล่นที่เป็นตัวหลอกเพื่อจะสามารถเดินทางออกนอกรัฐได้ ในขณะเดียวกันผู้เล่นผิวดำของทีมโลโยล่าต้องทนกับการเหยียดสีผิวในตลอดฤดูการแข่งขัน ทั้งถูกขว้างปาด้วยข้าวโพดคั่วและน้ำแข็ง และการปิดกั้นตลอดการเดินทาง

แต่คนหนุ่มเหล่านั้นยังคงลงแข่ง ทีมโลโยล่าแรมเลอร์เอาชนะทีมมิสซิสซิบปี้สเตทบูลด๊อก 61 ต่อ 51 และทีมโลโยล่ายังได้เป็นแชมป์ของสมาคมกีฬาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ แต่ชัยชนะที่แท้ในคืนนั้นคืออะไร คือการเปลี่ยนจากความเกลียดชังมาสู่ความรัก เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงสอน “จงรักศัตรูของท่าน จงทำดีแก่ผู้ที่เกลียดชังท่าน” (ลก.6:27)

คำสอนของพระเจ้าเป็นแนวคิดของการเปลี่ยนแปลงชีวิต ในการรักศัตรูเหมือนกับที่พระคริสต์ทรงสอนนั้น เราต้องเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ดังที่เปาโลเขียนไว้ว่า “ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ ผู้นั้นก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่แล้ว สิ่งสารพัดที่เก่าๆก็ล่วงไป นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น” (2คร.5:17) แต่วิถีใหม่ของพระองค์ในตัวเราจะเอาชนะตัวเก่าได้อย่างไร ก็ด้วยความรัก และเมื่อนั้นเราจะสามารถเห็นพระองค์ในตัวเราแต่ละคนได้ในที่สุด

สะท้อนความสว่างของพระองค์

เพื่อจะถ่ายทอดความงดงามของแสงสะท้อนในภาพวาดทิวทัศน์สีน้ำมัน จิตรกรอาร์มันด์ คาเบรร่านำหลักการสำคัญของศิลปะมาใช้คือ “แสงสะท้อนจะต้องไม่สว่างกว่าแหล่งกำเนิดแสง” เขาสังเกตว่าจิตรกรมือใหม่มักจะวาดแสงสะท้อนเกินจริง เขาบอกว่า “แสงสะท้อนอยู่ในส่วนของเงา ดังนั้นมันจะต้องส่งเสริมไม่ใช่เด่นกว่าพื้นที่ที่มีแสงสว่างในภาพวาดของคุณ”

เราได้ยินถึงสติปัญญาที่คล้ายกันนี้ในพระคัมภีร์ ที่บอกว่าพระเยซูทรงเป็น “ความสว่างของมนุษย์” (ยน.1:4) ยอห์นผู้ให้บัพติศมา “มาเพื่อเป็นสักขีพยาน เพื่อเป็นพยานให้แก่ความสว่างนั้น เพื่อคนทั้งปวงจะได้มีความเชื่อเพราะท่าน” (ข้อ 7) ผู้เขียนพระกิตติคุณบอกเราว่า “ท่าน [ยอห์น] ไม่ใช่ความสว่างนั้น แต่ท่านมาเพื่อเป็นพยานให้แก่ความสว่างนั้น” (ข้อ 8)

เช่นเดียวกับยอห์น พระเจ้าทรงเลือกเราให้สะท้อนถึงความสว่างของพระคริสต์แก่ผู้ที่ดำเนินชีวิตในเงามืดของโลกที่ไม่เชื่อนี้ นี่คือบทบาทของเรา ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “อาจเป็นเพราะผู้ที่ไม่เชื่อไม่สามารถทนต่อรัศมีอันเจิดจ้าในความสว่างของพระองค์ได้โดยตรง”

คาเบรร่าสอนนักเรียนศิลปะของเขาว่า “สิ่งใดก็ตามที่โดนแสงตกกระทบโดยตรงในภาพจะกลายเป็นแหล่งกำเนิดแสงด้วยตัวของมันเอง” เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงเป็น “ความสว่างแท้ที่ทำให้มนุษย์ทุกคนเห็นความจริง” (ข้อ 9) เราก็สามารถส่องสว่างในฐานะพยาน เมื่อเราสะท้อนพระองค์ ขอให้โลกนี้อัศจรรย์ใจที่ได้เห็นพระสิริของพระองค์ส่องผ่านทางเรา

ไม่เคยล่าช้า

ในฐานะผู้มาเยือนเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในแอฟริกาตะวันตก ศิษยาภิบาลชาวอเมริกันของฉันพยายามมาถึงตรงเวลานมัสการในวันอาทิตย์ 10.00 น. แต่ เขาพบว่าภายในห้องนมัสการที่เรียบง่ายนั้นว่างเปล่า เขาจึงรอ หนึ่งชั่วโมงสองชั่วโมง ในที่สุดราว 12:30 น. ศิษยาภิบาลท้องถิ่นก็มาถึงจากการเดินทางไกล ตามด้วยสมาชิกบางคนของคณะนักร้องและการรวมตัวกันของผู้คนในเมืองที่เป็นมิตร และ “เมื่อครบกำหนดแล้ว” การนมัสการจึงเริ่มขึ้น ตามที่ศบ. ฉันกล่าวในภายหลังว่า “พระวิญญาณทรงต้อนรับเราและพระเจ้าไม่เคยล่าช้า” เขาเข้าใจดีว่าวัฒนธรรมที่นี่ต่างออกไปด้วยเหตุผลอันเหมาะสมของตนเอง

เวลานั้นไม่ตายตัว แต่พระลักษณะที่สมบูรณ์แบบและตรงต่อเวลาของพระเจ้านั้นได้รับการยืนยันมาตลอดพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ดังนั้นหลังจากลาซารัสป่วยและเสียชีวิต สี่วันต่อมาพระเยซูเสด็จมาถึงพร้อมกับคำถามจากพี่สาวของลาซารัส มารธาทูลพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า ถ้าพระองค์อยู่ที่นี่น้องชายของข้าพระองค์ก็คงไม่ตาย” (ยน.11:21) เราอาจคิดเหมือนกัน โดยสงสัยว่าทำไมพระเจ้าไม่รีบแก้ไขปัญหาของเรา แต่เป็นการดีกว่าที่จะรอคอยคำตอบและฤทธิ์อำนาจของพระองค์ด้วยความเชื่อ

ตามที่โฮเวิร์ด เธอร์แมนนักศาสนศาสตร์กล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพระองค์จะรอ จนกว่าในที่สุดกำลังของพระองค์จะกลายเป็นกำลังของข้าพระองค์ บางสิ่งในหัวใจของพระองค์กลายเป็นหัวใจของข้าพระองค์ การอภัยของพระองค์กลายเป็นการอภัยของข้าพระองค์ ข้าพระองค์รอ โอข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์รอ” และเช่นเดียวกับลาซารัส เมื่อพระเจ้าทรงตอบ เราก็ได้รับพระพรอย่างอัศจรรย์ในที่สุดจากอะไรก็ตามที่ไม่ใช่ความล่าช้า

อย่างที่ฉันเป็น

หญิงสาวนอนไม่หลับ เธอต้องทนทุกข์กับความพิการทางร่างกายมาหลายปี และในวันพรุ่งนี้เธอจะเป็นจุดสนใจที่งานออกร้านของคริสตจักรเพื่อรับเงินบริจาคเป็นค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาของเธอ แต่ชาร์ลอต อิเลียตให้เหตุผลว่า ฉันไม่มีค่าคู่ควร เธอนอนพลิกไปมาด้วยความสงสัยในคุณสมบัติของตัวเอง และตั้งคำถามกับทุกแง่มุมในชีวิตฝ่ายวิญญาณของตน วันรุ่งขึ้นเธอยังคงกระสับกระส่าย และในที่สุดเธอพาตัวเองไปที่โต๊ะและหยิบปากกากับกระดาษขึ้นมาเพื่อเขียนเนื้อร้องของบทเพลง “ใจชั่วเท่าใดข้าก็เชื่อว่า” ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นบทเพลงชีวิตคริสเตียนที่เป็นอมตะ

“ใจชั่วเท่าใด ข้าก็เชื่อว่า โลหิตพระองค์ ได้ไหลไถ่ข้า พระองค์ตรัสว่า เชิญมาอย่าช้า พระเยซูเจ้า ข้าเชื่อเดี๋ยวนี้”

ถ้อยคำที่เธอเขียนในปี 1835 แสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงเรียกสาวกให้มาและรับใช้พระองค์อย่างไร ไม่ใช่เพราะพวกเขามีความพร้อม แต่เพราะพระองค์ประทานสิทธิอำนาจให้กับพวกเขาอย่างที่พวกเขาเป็น สมาชิก 12 คนในกลุ่มที่ไร้ระเบียบของพระองค์ประกอบด้วย คนเก็บภาษี คนเลือดร้อน สองพี่น้องที่แสนทะเยอทะยาน (ดูมก.10:35-37) และยูดาส อิสคาริโอท “ที่ได้อายัดพระองค์ไว้นั้น” (มธ.10:4) กระนั้นพระองค์ยังประทานสิทธิอำนาจให้กับพวกเขาในการ “รักษาคนเจ็บป่วยให้หาย คนตายแล้วให้ฟื้น คนโรคเรื้อนให้หายสะอาด และจงขับผีให้ออก” (ข้อ 8) โดยไม่ต้องมีเงินทอง ย่าม เสื้อผ้า รองเท้า หรือแม้แต่ไม้เท้า (ข้อ 9-10) ติดตัวไปด้วย

พระองค์ตรัสว่า “เราใช้พวกท่านไป” (ข้อ 16) และพระองค์ผู้เดียวก็เพียงพอ สำหรับพวกเราที่ตอบรับพระองค์ พระองค์จะยังทรงเป็นเหมือนเดิม

ความหวังอันเปี่ยมล้น

ในวันที่วุ่นวายก่อนถึงคริสต์มาส หญิงชราคนหนึ่งเดินเข้ามาที่เคาน์เตอร์ในที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้านซึ่งมีผู้มาใช้บริการหนาแน่น เจ้าหน้าที่ผู้อดทนมองเธอเดินเข้ามาอย่างช้าๆ และทักทายว่า “สวัสดีครับ สาวน้อย!” คำทักทายนี้ดูเป็นมิตรดี แต่พวกเขาบางคนอาจคิดว่าถ้า “อายุน้อยกว่านี้” ก็คงจะดีกว่า

พระคัมภีร์หนุนใจให้เรามองว่าอายุที่มากขึ้นทำให้เรากระตือรือร้นในความหวัง เมื่อโยเซฟและมารีย์นำพระกุมารเยซูเข้ามาในพระวิหารเพื่อถวายแด่พระเจ้า (ลก.2:23, ดู อพย.13:2,12) ผู้เชื่อสูงวัยทั้งสองกลายเป็นบุคคลสำคัญทันที

คนแรกคือสิเมโอน ผู้รอคอยที่จะได้เห็นพระเมสสิยาห์มาหลายปี ท่าน “อุ้มพระกุมาร และสรรเสริญพระเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า บัดนี้พระองค์ทรงให้ทาสของพระองค์ไปเป็นสุข ตามพระดำรัสของพระองค์ เพราะว่าตาของข้าพระองค์ได้เห็นความรอดของพระองค์แล้ว ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดเตรียมไว้ต่อหน้าบรรดาชนชาติทั้งหลาย’” (ลก.2:28-31)

ถัดมาคือนางอันนา ผู้เผยพระวจนะหญิงที่ “ชรามากแล้ว” (ข้อ 36) ก็เข้ามาขณะที่สิเมโอนกำลังคุยกับมารีย์และโยเซฟ นางเป็นม่ายหลังจากแต่งงานได้เพียง 7 ปี นางอยู่ในพระวิหารมาจนอายุ 84 ปี และไม่เคยจากบริเวณพระวิหารเลย โดย “นมัสการถืออดอาหารและอธิษฐานทั้งกลางวันกลางคืน” เมื่อนางเห็นพระเยซูก็เริ่มสรรเสริญพระเจ้า และบรรยายถึง “พระกุมารให้คนทั้งปวงที่คอยการทรงไถ่กรุงเยรูซาเล็มฟัง” (ข้อ 37-38)

ผู้รับใช้ที่เปี่ยมด้วยความหวังทั้งสองเตือนเราว่า อย่าหยุดที่จะรอคอยพระเจ้าด้วยความหวังอันเต็มเปี่ยม ไม่ว่าเราจะอายุเท่าใดก็ตาม

ฟังพระคริสต์ ไม่ใช่ความวุ่นวาย

หลังดูข่าวโทรทัศน์เป็นเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน ชายชราเริ่มวิตกกังวลและหวาดระแวงว่าโลกกำลังจะล่มสลายและจะทำให้เขาจากไปด้วย “ปิดมันเถอะค่ะ” ลูกสาวที่โตแล้วขอร้องเขา “แค่หยุดฟังมัน” แต่ชายชรายังคงใช้เวลามากมายไปกับสื่อออนไลน์และแหล่งข่าวต่างๆ

สิ่งที่เราฟังนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เราได้เห็นสิ่งนี้จากการเผชิญหน้ากันของพระเยซูและปอนทิอัสปีลาต เมื่อต้องตัดสินข้อกล่าวหาที่พวกผู้นำศาสนาฟ้องพระเยซู ปีลาตจึงเรียกพระเยซูมาและทูลถามว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของพวกยิวหรือ” (ยน.18:33) พระเยซูตรัสตอบด้วยคำถามสะดุดใจว่า “ท่านถามอย่างนั้นตามความเข้าใจของท่านเองหรือ หรือว่าคนอื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา” (ข้อ 34)

คำถามเดียวกันนี้ทดสอบเราด้วย ในโลกที่ตื่นตระหนก เราฟังเสียงความวุ่นวายหรือเสียงของพระคริสต์ แน่นอนว่า “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา” พระองค์ตรัส “เรารู้จักแกะเหล่านั้น และแกะนั้นตามเรา” (10:27) พระเยซูตรัส “คำเปรียบนั้น” (ข้อ 6) เพื่ออธิบายถึงพระองค์เองแก่พวกผู้นำศาสนาที่สงสัย ในฐานะผู้เลี้ยงแกะที่ดีพระองค์ตรัสว่า “แกะก็ตามท่านไป เพราะรู้จักเสียงของท่าน ส่วนผู้อื่นแกะจะไม่ตามเลย แต่จะหนีไปจากเขา เพราะไม่รู้จักเสียงของผู้อื่น” (ข้อ 4-5)

ในฐานะองค์พระผู้เลี้ยงที่ดีของเรา พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้เราฟังพระองค์เหนือสิ่งอื่นใด ขอให้เราตั้งใจฟังและพบสันติสุขของพระองค์

วางใจการรู้ล่วงหน้าของพระเจ้า

ขณะขับรถพาเราไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย สามีของฉันสังเกตว่าระบบนำทางของจีพีเอสจู่ๆก็ดูผิดปกติไป หลังจากที่เราขับเข้าไปบนทางหลวงสี่เลนที่ดูน่าจะถูกต้อง เราถูกนําทางให้ขับออกไปวิ่งบนถนนเลนเดียว ซึ่งเป็น “ถนนสายรอง” ขนานกับทางหลวง “ผมก็แค่เชื่อมัน” แดนกล่าวโดยไม่ได้คิดถึงเรื่องความล่าช้าใดๆ แต่หลังจากผ่านไปประมาณ 16 กม. การจราจรบนทางหลวงที่อยู่ข้างๆ เราชะลอตัวจนเกือบจะหยุดนิ่ง เพราะมีการก่อสร้างใหญ่ แล้วถนนสายรองล่ะ ด้วยการจราจรที่บางเบากว่าทำให้ทางโล่งไปถึงจุดหมายของเรา “ผมไม่สามารถเห็นทางข้างหน้าได้” แดนกล่าว “แต่จีพีเอสมองเห็น” หรือเหมือนที่เราเห็นตรงกันว่า “พระเจ้าทรงมองเห็นเช่นกัน”

เมื่อพระเจ้าทรงรู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร พระองค์ทรงเปลี่ยนเส้นทางผ่านความฝันแก่พวกโหราจารย์ผู้ซึ่งมาจากทิศตะวันออกเพื่อนมัสการพระเยซู “ผู้บังเกิดมาเป็นกษัตริย์ของชนชาติ” (มธ.2:2) กษัตริย์เฮโรดเป็นกังวลกับข่าวเรื่องกษัตริย์ “คู่แข่ง” พระองค์จึงลวงพวกโหราจารย์ให้ไปยังบ้านเบธเลเฮมโดยสั่งว่า “จงไปค้นหากุมารนั้นเถิด เมื่อพบแล้วจงกลับมาแจ้งแก่เรา เพื่อเราจะได้ไปนมัสการท่านด้วย” (ข้อ 8) ด้วยคำเตือนในความฝัน “มิให้กลับไปเฝ้าเฮโรด” ดังนั้น “เขาจึงกลับไปยังเมืองของตนทางอื่น” (ข้อ 12)

พระเจ้าจะทรงนำย่างเท้าของเราเช่นกัน เมื่อเราเดินบนทางหลวงแห่งชีวิต เราไว้วางใจได้ว่าพระองค์ทรงเห็นเหตุการณ์ภายหน้าและยังคงมั่นใจได้ว่า “พระองค์จะทรงกระทำให้วิถี[ของเรา]ราบรื่น” เมื่อเรายอมรับการทรงนำของพระองค์ (สภษ.3:6)

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา