เรารู้ว่าลีโอนาร์โด ดาวินชี เป็นคนในยุคเรอเนสซองส์ (ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา) ความอัจฉริยะรอบรู้ของเขานำไปสู่ความก้าวหน้าทางการศึกษาและศิลปะหลายแขนง แต่ลีโอนาร์โดกลับบันทึกถึง “วันอันน่าสังเวชของเรา” และคร่ำครวญว่าเราตาย “โดยไม่ได้ทิ้งความทรงจำใดๆเกี่ยวกับตัวเราไว้กับมนุษย์เลย”

“เมื่อข้าพเจ้าคิดว่ากำลังเรียนรู้ถึงการมีชีวิต” ลีโอนาร์โดกล่าว “ข้าพเจ้าก็กำลังเรียนรู้ถึงการตาย” เขาเข้าใกล้ความจริงยิ่งกว่าที่คิด การเรียนรู้จักความตายคือหนทางของชีวิต หลังจากที่พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต (ซึ่งปัจจุบันคือเทศกาลฉลองวันอาทิตย์ทางตาล; ดู ยน.12:12-19) พระองค์ตรัสว่า “ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงไปในดินและเปื่อยเน่าไป ก็จะคงอยู่เป็นเมล็ดเดียว แต่ถ้าเปื่อยเน่าไปแล้ว ก็จะงอกขึ้นเกิดผลมาก” (ข้อ 24) พระองค์ตรัสถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เองแต่ทรงขยายให้ครอบคลุมถึงเราทุกคนด้วย “ผู้ใดที่รักชีวิตของตนก็ต้องเสียชีวิต และผู้ที่ชังชีวิตของตนในโลกนี้ ก็จะธำรงชีวิตนั้นไว้นิรันดร์” (ข้อ 25)

เปาโลเขียนถึงการถูก “ฝัง” ไว้กับพระคริสต์ “โดยการรับบัพติศมาเข้าส่วนในการตายนั้น เพื่อว่าเมื่อพระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตายโดยเดชพระสิริของพระบิดาแล้ว เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราเข้าสนิทกับพระองค์แล้วในการตายอย่างพระองค์ เราก็จะเข้าสนิทกับพระองค์ ในการเป็นขึ้นมาอย่างพระองค์ได้ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายด้วย” (รม.6:4-5)

พระเยซูประทานการบังเกิดใหม่แก่เราผ่านการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ นี่คือความหมายที่แท้จริงของเรอเนสซองส์ พระองค์ทรงสร้างหนทางไปสู่ชีวิตนิรันดร์กับพระบิดา