ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Monica La Rose

กุญแจ

ในหนังสือคลาสสิกชื่อ มนุษย์สภาวะ โธมัส คีตติ้งเล่าเรื่องที่น่าจดจำถึงอาจารย์คนหนึ่งที่ทำกุญแจบ้านหาย เขาคุกเข่าลงใช้มือควานหาไปตามต้นหญ้า เมื่อพวกลูกศิษย์เห็นว่าเขากำลังหาอยู่จึงมาช่วยหาด้วยแต่ก็ไม่พบ ในที่สุด “หนึ่งในบรรดาลูกศิษย์ที่มีปัญญามากกว่า” ถามว่า “อาจารย์ครับ อาจารย์รู้ไหมว่าทำกุญแจหายที่ไหน” อาจารย์ของพวกเขาตอบว่า “ก็ต้องทำหายในบ้านสิ” เมื่อพวกเขาอุทานว่า “แล้วทำไมเราจึงมาหามันที่ข้างนอกนี้เล่า” เขาตอบว่า “ก็ข้างนอกนี้มันสว่างกว่าไง”

กุญแจที่เราทำหายคือกุญแจสู่ “สัมพันธ์สนิทกับพระเจ้า คือประสบการณ์แห่งการสถิตอยู่ด้วยความรักของพระองค์” คีตติ้งสรุปว่า “หากไม่มีประสบการณ์นั้น อะไรๆก็ดูจะไม่ถูกต้อง แต่หากมีประสบการณ์นั้น อะไรๆก็ดูจะถูกต้องไปหมด”

เราหลงลืมได้ง่ายว่า แม้ในชีวิตที่ขึ้นๆลงๆนี้พระเจ้ายังคงเป็นกุญแจสู่ความปรารถนาที่ล้ำลึกที่สุดของเรา แต่เมื่อเราพร้อมที่จะหยุดมองหาผิดที่ พระเจ้าทรงอยู่กับเราที่นั่น ทรงพร้อมจะสำแดงการพักผ่อนที่แท้จริงให้เราได้เห็น ในมัทธิว 11 พระเยซูสรรเสริญพระบิดาที่ทรงเปิดเผยทางของพระองค์ ไม่ใช่ให้“ผู้มีปัญญาและผู้ฉลาด” แต่เป็น “ผู้น้อย” ได้รู้ (ข้อ 25) จากนั้นพระองค์ทรงเชิญชวน “บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก” (ข้อ 28) ให้มาหาพระองค์เพื่อจะได้หยุดพัก

พวกเราก็เหมือนเด็กเล็กๆที่สามารถพบกับการหยุดพักอย่างแท้จริงเมื่อเราเรียนรู้ทางของพระอาจารย์ ผู้ “​สุภาพและใจอ่อนน้อม” (ข้อ 29) พระเจ้าทรงอยู่กับเรา รอคอยที่จะต้อนรับเรากลับบ้าน

ความรักที่ไว้ใจได้

ทำไมฉันจึงหยุดคิดเรื่องนี้ไม่ได้ อารมณ์ของฉันฟุ้งซ่านไปหมด ทั้งเศร้า รู้สึกผิด โกรธ และสับสนหลายปีก่อน ฉันตัดสินใจอย่างเจ็บปวดที่จะตัดความสัมพันธ์กับคนที่สนิทมากคนหนึ่ง หลังจากพยายามที่จะจัดการกับปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่ทำร้ายจิตใจขั้นรุนแรง แต่กลับพบกับการถูกไล่และการปฏิเสธ วันนี้เมื่อได้ยินว่าเธอคนนั้นเดินทางมาในเมือง ความคิดของฉันก็วนเวียนว้าวุ่น และย้อนคิดถึงเรื่องในอดีต

ขณะที่ฉันพยายามสงบสติอารมณ์อยู่นั้น ฉันได้ยินเพลงหนึ่งดังมาจากวิทยุ บทเพลงนั้นไม่เพียงพูดถึงความเจ็บปวดจากการทรยศ แต่ยังพูดถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าต่อการเปลี่ยนแปลงและการเยียวยาในตัวของผู้ที่ก่อการนั้น น้ำตาเอ่อล้นดวงตาในขณะที่ฉันดื่มด่ำไปกับบทเพลงที่สะท้อนความต้องการส่วนลึกในใจของฉัน

“จงรักด้วยใจจริง” อัครทูตเปาโลบันทึกไว้ในโรม 12:9 เพื่อเป็นเครื่องเตือนว่าไม่ใช่ทุกสิ่งที่มองดูเหมือนความรักจะเป็นรักที่แท้จริง แต่ทว่าความปรารถนาในส่วนลึกของจิตใจเราคือการได้รู้จักรักแท้ รักที่ไม่ใช่เพื่อให้ปรนนิบัติตนเองหรือการบงการ แต่เป็นการเห็นอกเห็นใจและเสียสละ ความรักที่ไม่ใช่ความต้องการควบคุมซึ่งมีแรงขับจากความกลัว แต่เป็นการอุทิศทุ่มเทอย่างยินดีในสวัสดิภาพของกันและกัน (ข้อ 10-13)

และพระกิตติคุณนั่นคือข่าวดี เพราะในพระเยซูนั้นเราก็ได้รู้จักและแบ่งปันความรักที่ไว้ใจได้ในที่สุด เป็นความรักที่จะไม่มีวันทำอันตรายแก่เรา (13:10) การอยู่ในความรักของพระเจ้าคือการมีอิสระ

สลักความเศร้า

หลังจากได้รับคำวินิจฉัยที่ร้ายแรงว่าเป็นมะเร็งสมองชนิดที่พบได้ยากและไม่มีทางรักษา แคโรไลน์ได้พบกับความหวังและเป้าหมายใหม่ผ่านการรับใช้ที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือการเป็นอาสาสมัครช่วยถ่ายรูปเด็กที่ป่วยหนักและครอบครัวของพวกเขา การรับใช้นี้ช่วยให้ครอบครัวได้บันทึกช่วงเวลาอันล้ำค่าของพวกเขาและลูกๆทั้งในความเศร้าโศกและ “ช่วงเวลาแห่งพระคุณและความงดงามที่เราไม่คิดว่าจะมีอยู่ในที่แห่งความสิ้นหวังเหล่านั้น” เธอสังเกตว่า “ในช่วงเวลาอันยากลำบากเกินกว่าใครจะจินตนาการได้ พวกเขาเหล่านั้น...เลือกที่จะรัก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

การมองเห็นสัจธรรมของความทุกข์ทำให้เกิดพลังบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ ทั้งในแง่ความจริงที่ความทุกข์นั้นทำร้ายเรา และการที่เราได้พบกับความงดงามและความหวังในท่ามกลางความทุกข์นั้น

เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือโยบเป็นเหมือนภาพถ่ายของความโศกเศร้า ที่ถ่ายทอดเส้นทางชีวิตแห่งการสูญเสียของโยบอย่างตรงไปตรงมา (1:18-19) หลังจากนั่งอยู่กับโยบหลายวัน เพื่อนๆของท่านหมดความอดทนกับความทุกข์ของโยบ พยายามหาทางบรรเทาหรืออธิบายว่ามันคือการพิพากษาของพระเจ้า แต่โยบไม่ตอบรับและยืนยันว่าสิ่งที่ท่านกำลังเผชิญนั้นมีความหมาย และหวังว่าคำพยานจากประสบการณ์ของท่านจะได้รับการ “สลักไว้ในศิลาเป็นนิตย์” (19:24)

ความทุกข์ของท่านถูก “สลักไว้” ในหนังสือโยบ เพื่อชี้ให้เราเห็นถึงพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ในความทุกข์ยากของเรา (ข้อ 26-27) พระองค์ทรงอยู่กับเราในความเจ็บปวด ทรงอุ้มเราผ่านความตายไปสู่ชีวิตที่เป็นขึ้นใหม่

ก้าวพ้นขอบเขตของสิ่งที่รู้

วันนั้นเป็นวันที่แย่เมื่อสามีของฉันรู้ว่า เขาก็เหมือนกับคนอื่นมากมายที่จะต้องถูกให้หยุดพักงานชั่วคราวในอีกไม่ช้าซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด 19 เราเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงดูแลสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้แก่เรา แต่ความไม่แน่นอนของสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็ยังน่าหวาดหวั่นอยู่ดี

ขณะที่ฉันจัดการกับอารมณ์ที่สับสนของตัวเอง ฉันย้อนกลับไปคิดถึงบทกวีที่ชื่นชอบซึ่งเขียนโดยนักปฏิรูปแห่งศตวรรษที่ 16 ที่ชื่อ ยอห์นแห่งไม้กางเขน บทกวีมีชื่อว่า “ฉันเข้าไป แต่ฉันไม่รู้ว่าที่ไหน” บทกวีนี้บรรยายถึงความมหัศจรรย์ในเส้นทางของการยอมจำนน เมื่อเรา “ก้าวพ้นขอบเขตของสิ่งที่รู้” เราก็เรียนรู้ที่จะ “มองหาพระเจ้าที่ทรงแฝงพระองค์มาในทุกรูปแบบ” และนั่นเป็นสิ่งที่ฉันและสามีพยายามทำในช่วงเวลานั้น คือหันเหความสนใจของเราจากสิ่งที่เราเข้าใจและควบคุมได้ ไปสู่การค้นพบพระเจ้ารอบตัวเราในหนทางที่ไม่อาจคาดคิด ลึกลับ และงดงาม

อัครทูตเปาโลเชิญชวนผู้เชื่อให้เข้าสู่การเดินทางจากสิ่งที่มองเห็นได้ไปสู่สิ่งที่มองไม่เห็น จากความจริงภายนอกสู่ความจริงภายใน และจากความทุกข์ยากชั่วคราวสู่ “ศักดิ์ศรีถาวรมากหาที่เปรียบมิได้” (2 คร.4:17)

เปาโลไม่ได้เรียกร้องเช่นนี้เพราะท่านไม่มีเมตตาในความทุกข์ยากของผู้เชื่อ ท่านรู้ว่าพวกเขาจะได้รับการปลอบโยน ความยินดี และความหวังที่โหยหา ก็ต่อเมื่อพวกเขายอมปล่อยมือจากสิ่งที่ตนเองรู้และเข้าใจ (ข้อ 10, 15-16) พวกเขาจะได้รู้ว่าความอัศจรรย์แห่งชีวิตของพระคริสต์ทำให้ทุกสิ่งกลายเป็นสิ่งใหม่

เลือกการเฉลิมฉลอง

นักเขียนชื่อมาริลิน แมคเอนไทร์แบ่งปันสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากเพื่อนคนหนึ่งว่า “สิ่งที่ตรงข้ามกับความอิจฉาคือการเฉลิมฉลอง” แม้เพื่อนคนนี้จะพิการทางกายและต้องเจ็บปวดเรื้อรัง ซึ่งทำให้เธอไม่อาจพัฒนาพรสวรรค์ที่มีได้ดังหวัง แต่เธอกลับสามารถรวบรวมความสุขและเฉลิมฉลองกับคนอื่นๆได้อย่างพิเศษ และนำมาซึ่ง “ความอิ่มเอิบใจแก่ทุกคนที่ได้พบเจอ” ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลง

มุมมองที่ว่า “สิ่งที่ตรงข้ามกับความอิจฉาคือการเฉลิมฉลอง” ยังคงอยู่กับฉัน เตือนให้ฉันคิดถึงเพื่อนคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะใช้ชีวิตในแบบเดียวกันที่ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร และมีความยินดีที่ลึกซึ้งและจริงใจให้กับผู้อื่น

ความอิจฉาเป็นกับดักที่หลงเข้าไปติดได้ง่าย มันเติบโตบนความเปราะบาง บาดแผล และความกลัวที่ลึกที่สุดของเรา และคอยกระซิบบอกเราว่าหากเพียงเราเป็นเหมือนคนนั้นคนนี้ เราคงจะไม่ต้องลำบากและรู้สึกแย่แบบนี้

ดังเช่นเปโตรได้เตือนผู้เชื่อใหม่ใน 1 เปโตร บทที่ 2 ว่า วิธีเดียวที่จะ “ละ” จากคำโกหกที่ความอิจฉาคอยบอกเรา คือโดยหยั่งรากลึกในความจริง และ “ลิ้มรส” คือมีประสบการณ์อย่างลึกซึ้งใน “พระกรุณาคุณขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 1-3) เราจะสามารถ “รักพี่น้องอย่างจริงใจ” (1:22) เมื่อเรารู้จักแหล่งแห่งความสุขที่แท้จริง นั่นคือ “พระวจนะของพระเจ้าอันทรงชีวิตและดำรงอยู่” (ข้อ 23)

เราจะเลิกเปรียบเทียบเมื่อเราระลึกได้ว่าแท้จริงแล้วเราเป็นใคร เราเป็นสมาชิกอันเป็นที่รัก “ที่พระองค์ทรงเลือก...ชนชาติของพระเจ้าโดยเฉพาะ” เราถูกเรียก “ให้ออกมาจากความมืด เข้าไปสู่ความสว่างอันอัศจรรย์ของพระองค์” (2:9)

ดีรอบคอบอย่างพระคริสต์

“ความสมบูรณ์แบบ เป็นคำที่น่ากลัวที่สุดคำหนึ่งที่ฉันรู้จัก” แคธลีน นอร์ริสเขียนเปรียบเทียบความสมบูรณ์แบบในปัจจุบันกับความ “ดีรอบคอบ” ที่อธิบายในพระธรรมมัทธิวไว้อย่างน่าคิด เธออธิบายความสมบูรณ์แบบในยุคนี้ว่าเป็น “ความทุกข์ทางใจที่ร้ายแรง ที่ทำให้คนเราขี้ขลาดเกินกว่าจะรับความเสี่ยงที่จำเป็น” แต่คำเดียวกันนี้ที่แปลในมัทธิวว่า “ดีรอบคอบ” แท้จริงแล้วหมายถึง ความเป็นผู้ใหญ่ ความสมบูรณ์ หรือครบถ้วน นอร์ริสสรุปว่า “การเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ...คือการเตรียมตัวที่จะเติบโต (และ) เป็นผู้ใหญ่พอที่จะสละตนเองเพื่อผู้อื่น”

การเข้าใจถึงความสมบูรณ์แบบเช่นนี้ช่วยให้เราเข้าใจในเรื่องราวอันลึกซึ้งในมัทธิว 19 ที่ชายคนหนึ่งถามพระเยซูว่าเขาจะต้องทำดีอะไรจึงจะ “ได้ชีวิตนิรันดร์” (ข้อ 16) พระเยซูตรัสตอบว่า “ถือรักษาพระบัญญัติไว้” (ข้อ 17) ชายนั้นคิดว่าตนได้รักษาพระบัญญัติไว้ทุกประการแล้ว แต่ยังมีบางอย่างที่ขาดไป จึงทูลถามว่า “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง” (ข้อ 20)

เมื่อนั้นเองพระเยซูทรงบอกว่า ทรัพย์สมบัติคือสิ่งที่ยึดเกาะแน่นในใจของเขา ทรงตรัสว่าถ้าเขาปรารถนา “เป็นผู้ที่ทำจนครบถ้วน” คือเต็มใจที่จะให้และรับจากผู้อื่นในแผ่นดินของพระเจ้า เขาต้องเต็มใจที่จะสละสิ่งที่ปิดกั้นหัวใจของเขาจากผู้อื่นเสีย (ข้อ 21)

เราแต่ละคนมีความสมบูรณ์ในแบบฉบับของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ครอบครองหรือนิสัยที่เราชอบทำเพื่อจะพยายามเป็นผู้ควบคุมแต่ก็ไร้ผล วันนี้จงฟังเสียงเรียกเบาๆของพระเยซูให้เรายอมจำนน และพบกับเสรีภาพในความครบสมบูรณ์ที่เกิดได้ในพระองค์เท่านั้น (ข้อ 26)

สติปัญญาที่ดีเยี่ยม

ผู้เลี้ยงแกะต้องการสติปัญญาที่ดีเยี่ยมและดวงตาที่มองเห็นรอบด้านเพื่อตรวจสอบสภาพจิตวิญญาณจากทุกแง่มุม” จอห์น คริสโซสตอมบิดาแห่งคริสตจักรยุคแรกเขียนคำพูดนี้ไว้ในการอภิปรายเรื่องความซับซ้อนในการดูแลจิตวิญญาณของผู้อื่น เขาย้ำว่าการจะเข้าถึงหัวใจของผู้อื่นได้ จะต้องมีความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาสงสารเป็นอย่างมากเพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปบังคับใครให้หายดี

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเจ็บปวด จอห์นเตือนเพราะ “ถ้าคุณมีเมตตามากเกินไปกับผู้ที่ต้องทำการผ่าตัดลงลึกแต่กลับผ่าลงไปไม่ลึกพอ คุณก็จะไม่เจอมะเร็ง แต่ถ้าคุณผ่าตัดโดยไร้ซึ่งความเมตตา ผู้ป่วยที่สิ้นหวังกับความทุกข์ที่ตนเองกำลังเผชิญมักจะทิ้งทุกสิ่ง...และกระโดดหน้าผาตายทันที”

ความซับซ้อนเช่นนี้คล้ายกับที่พระธรรมยูดาอธิบายถึงวิธีที่จะใช้รับมือกับผู้ที่หลงผิดเพราะพวกครูสอนเท็จ ซึ่งยูดาอธิบายพฤติกรรมเอาไว้อย่างชัดเจน (1:12-13, 18-19) แต่เมื่อยูดาพูดถึงการรับมือกับภัยคุกคามร้ายแรงนี้ ท่านไม่แนะนำให้ตอบสนองด้วยความโกรธเกรี้ยว

ตรงกันข้าม ท่านสอนว่าผู้เชื่อควรรับมือกับภัยคุกคามด้วยการหยั่งรากลึกในความรักของพระเจ้า (ข้อ 20-21) เพราะเมื่อเราหยั่งลึกลงในความรักที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระเจ้าเท่านั้น เราจึงจะพบสติปัญญาในการช่วยผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ด้วยความถ่อมและเมตตา (ข้อ 22-23) ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยให้พวกเขาได้รับการเยียวยาและการพักสงบ ในความรักที่ไม่มีขีดจำกัดของพระเจ้าได้มากที่สุด

ทูตสวรรค์ลาบราดอร์

ในปี 2019 แค็พ แดชวูดกับเชลา คู่หูพันธุ์ลาบราดอร์สีดำ (“เช” เพื่อระลึกถึงสุนัขลาบราดอร์ที่ตายไปแล้ว “ลา” คือคำย่อที่เขาใช้แทน “ทูตสวรรค์ลาบราดอร์”) ประสบความสำเร็จที่น่าจดจำในการพิชิตยอดเขาในแต่ละวันติดต่อกันเป็นเวลา 365 วัน

แดชวูดเล่าเรื่องที่น่าสะเทือนใจ เขาออกจากบ้านตอนอายุ 16 ปีโดยอธิบายง่ายๆว่า “ชีวิตครอบครัวเลวร้าย” แต่บาดแผลในอดีตเหล่านี้ทำให้เขามองหาการเยียวยาจากสิ่งอื่น เขาอธิบายว่า “คุณรู้ใช่ไหมว่าบางครั้งที่คุณผิดหวังกับผู้คน คุณจะหันไปหาสิ่งอื่นแทน” สำหรับแดชวูด การปีนเขาและความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของคู่หูลาบราดอร์สีดำได้กลายเป็นส่วนสำคัญของ “สิ่งอื่น” ที่ว่านั้น

สำหรับพวกเราหลายคนเช่นตัวฉัน สาเหตุสำคัญที่ทำให้เรารักสัตว์เลี้ยงอย่างลึกซึ้งเกิดจากความรักอันอ่อนหวานและไม่มีเงื่อนไข ที่พวกมันถ่ายทอดออกมาซึ่งเป็นความรักที่หาได้ยาก แต่ฉันชอบคิดว่าความรักที่พวกมันมอบให้อย่างง่ายดาย ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้งกว่าความล้มเหลวของผู้อื่น นั่นคือความรักอันมั่นคงและไร้ขอบเขตของพระเจ้าที่ค้ำจุนจักรวาล

ในสดุดี 143 เช่นเดียวกับคำอธิษฐานมากมายของดาวิด มีเพียงความเชื่อของท่านใน “ความรักมั่นคง” (ข้อ 12) อันไม่สั่นคลอน ที่ทำให้ท่านมีความหวังในเวลาที่รู้สึกเดียวดายที่สุด แต่ช่วงชีวิตที่ท่านเดินกับพระเจ้ามอบกำลังที่เพียงพอให้ท่านวางใจว่าในเวลาเช้าจะ “ได้ยินถึงความรักมั่นคงของพระองค์” (ข้อ 8)

เป็นความหวังที่เพียงพอที่จะทำให้ไว้วางใจได้อีกครั้งและยอมให้พระเจ้าทรงนำในเส้นทางที่ไม่รู้จัก (ข้อ 8)

พูด วางใจ รู้สึก

“ห้ามพูด ห้ามวางใจ ห้ามรู้สึก เป็นกฎที่เราใช้ดำเนินชีวิต” เฟรดเดอริค บุชเนอร์กล่าวไว้ในบันทึกอันทรงพลังที่ชื่อว่า บอกความลับ “และวิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่แหกกฎ” บุชเนอร์กำลังอธิบายประสบการณ์ที่เขาเรียกว่า “กฎที่ไม่ได้บัญญัติของครอบครัวที่เสียสมดุล” ในครอบครัวของเขา “กฎ” นั้นแปลว่าบุชเนอร์ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงหรือเศร้าโศกในการฆ่าตัวตายของพ่อ ซึ่งทำให้เขาไม่เหลือใครที่จะวางใจให้พูดถึงความเจ็บปวดของเขา

คุณเคยมีประสบการณ์แบบนี้ไหม พวกเราหลายคนโดยทางใดทางหนึ่งเคยเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความรักจอมปลอม ที่เรียกร้องให้เราไม่พูดถึงสิ่งที่ทำร้ายเราอย่างตรงไปตรงมาหรือเก็บเงียบเอาไว้ “ความรัก” เช่นนั้นถูกควบคุมโดยความกลัว และเป็นรูปแบบหนึ่งของการตกเป็นทาส

เราไม่อาจลืมได้ว่าความรักที่พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้เรารับนั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากความรักที่มีข้อแม้ที่เราพบเจอเสมอ ซึ่งเป็นความรักที่เรามักกลัวว่าจะสูญเสียมันไป ตามที่เปาโลอธิบายว่า โดยความรักของพระคริสต์นั้นจะทำให้เราสามารถเข้าใจได้ในที่สุดว่า การไม่ต้องมีชีวิตอยู่ในความกลัวนั้นหมายถึงอะไร (รม.8:15) และเริ่มเข้าใจถึงเสรีภาพอย่างมีศักดิ์ศรี (ข้อ 21) สิ่งนี้จะเป็นไปได้เมื่อเรารู้ว่าเราอยู่ในความรักที่ลึกซึ้ง แท้จริงและไม่มีข้อแม้ เรามีเสรีภาพที่จะพูด วางใจ และรู้สึกได้อีกครั้ง เพื่อจะเรียนรู้ถึงความหมายของการมีชีวิตโดยปราศจากความกลัว

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา