ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย John Blase

ดูที่ผล

“ขอให้คุณ (ชื่อบุคคลนั้น) ตัวจริง ยืนขึ้นด้วยครับ” นี่เป็นประโยคที่คุ้นเคยตอนท้ายรายการของเกมโชว์ชื่อ สาบานว่าพูดจริง คณะกรรมการคนดังสี่คนต้องถามคำถามผู้ร่วมแข่งขันสามคนที่อ้างว่าเป็นคนเดียวกัน แน่นอนว่าสองคนในนั้นเป็นตัวปลอม แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ต้องมองตัวจริงให้ออก ในตอนหนึ่งของรายการ เหล่าคนดังพยายามทายว่าใครคือ “จอห์นนี่ มาร์คส์” คนเขียนเนื้อเพลง “รูดอล์ฟกวางจมูกแดง” ตัวจริง พวกเขาพบว่ามันยากจริงๆที่จะทายว่าใครเป็นใครแม้จะตั้งคำถามดีแล้วก็ตาม ตัวปลอมบิดเบือนความจริงเพื่อทำให้รายการมีสีสัน

การแยกแยะว่าใครเป็นใครเมื่อพูดถึง “ผู้เผยพระวจนเท็จ” นั้น ต่างจากการแสดงในเกมโชว์โดยสิ้นเชิง แต่เป็นเรื่องท้าทายพอๆกันและมีความสำคัญมากยิ่งกว่า “หมาป่าดุร้าย” มักมา “ดุจแกะ” และพระเยซูทรงเตือนแม้แต่คนที่ฉลาดที่สุดในพวกเราว่า “จงระวัง” (มธ.7:15) การทดสอบที่ดีที่สุดไม่ใช่การตั้งคำถามที่ดีๆ แต่เป็นสายตาที่ดี มองดูที่ผลของเขา เพราะคุณจะรู้จักเขาได้ด้วยผลของเขา (ข้อ 16-20)

พระคัมภีร์ให้ตัวช่วยเราในการมองเห็นผลดีและผลเลว ผลที่ดีนั้นดูเหมือน “ความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข ความอดกลั้นใจ ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนน้อม และการรู้จักบังคับตน” (กท.5:22-23) เราต้องระแวดระวังให้ดี เพราะหมาป่าเล่นด้วยเล่ห์กล แต่ในฐานะผู้เชื่อที่เต็มด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เรารับใช้ผู้เลี้ยงแกะที่ดีตัวจริงซึ่ง “บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง” (ยน.1:14)

เราต้องการความช่วยเหลือจากพระเยซู

ในที่สุดวันนั้นก็มาถึง วันที่ผมตระหนักว่าพ่อไม่ใช่มนุษย์คงกระพัน เมื่อเป็นเด็ก ผมรับรู้ถึงกำลังและความมุ่งมั่นของพ่อ แต่ในวัยที่ผมเริ่มเป็นผู้ใหญ่ ท่านได้รับบาดเจ็บที่หลัง และผมพบว่าพ่อก็เป็นมนุษย์ที่ร่างกายเสื่อมสลายได้คนหนึ่ง ผมอาศัยอยู่กับพ่อแม่เพื่อคอยช่วยพ่อเข้าห้องน้ำ ช่วยท่านแต่งตัว แม้กระทั่งคอยจับแก้วน้ำให้ตรงปากของท่าน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าอายสำหรับท่าน ท่านพยายามในตอนแรกที่จะทำสิ่งเล็กๆน้อยๆให้ได้ แต่ก็ยอมรับว่า “พ่อไม่สามารถทำอะไรได้หากลูกไม่ช่วย” ท่านหายดีและกลับมาแข็งแรงในที่สุด แต่ประสบการณ์นั้นสอนบทเรียนสำคัญให้เราทั้งคู่ว่า เราต้องการซึ่งกันและกัน

และในขณะที่เราต้องการซึ่งกันและกันนั้น เราก็ต้องการพระเยซูมากยิ่งกว่า ในยอห์น 15 ภาพของเถาองุ่นและแขนงยังคงเป็นภาพที่เรายึดไว้มั่น แต่ประโยคนี้ก็เหมือนประโยคอื่นๆที่เป็นทั้งคำปลอบโยน และขณะเดียวกันก็โจมตีการพึ่งพาตนเองของเรา ความคิดที่เล็ดลอดเข้ามาในหัวเราได้ง่ายๆ คือ ฉันไม่ต้องการความช่วยเหลือ พระเยซูทรงกล่าวชัดเจนว่า “เพราะถ้าแยกจากเราแล้วท่านจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย” (ข้อ 5) พระคริสต์กำลังตรัสถึงการเกิดผล เช่น “ความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข” (กท.5.22) ที่เป็นลักษณะสำคัญของการเป็นสาวก พระเยซูทรงเรียกเราให้มีชีวิตที่เกิดผล และให้เราพึ่งพาพระองค์ผู้เดียวในการมีชีวิตที่เกิดผล ซึ่งเป็นชีวิตที่อยู่เพื่อพระเกียรติของพระบิดา (ยน.15:8)

สนทนาเรื่องความเชื่อที่บ้าน

“ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน” คำพูดที่น่าจดจำซึ่งโดโรธีพูดไว้ในเรื่องพ่อมดแห่งออซนี้เปิดเผยให้เห็นกลไกการเล่าเรื่องที่จะพบในเรื่องอมตะส่วนใหญ่ที่ให้ความรู้สึกอันท่วมท้น นับจากสตาร์วอร์ไปจนถึงเดอะไลอ้อนคิง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “การเดินทางของฮีโร่” อธิบายสั้นๆคือ เป็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างธรรมดาเมื่อเกิดมีการผจญภัยที่ไม่ธรรมดาขึ้น ตัวละครออกจากบ้านและเดินทางไปยังโลกอื่นซึ่งมีการทดสอบและการทดลองรออยู่ อีกทั้งมีที่ปรึกษาคอยชี้แนะและเหล่าวายร้าย หากเขาหรือเธอผ่านการทดสอบและพิสูจน์ให้เห็นถึงความกล้าหาญ ฉากสุดท้ายก็จะเป็นการกลับบ้านพร้อมเรื่องราวที่จะบอกเล่าและสติปัญญาที่ได้รับ ฉากสุดท้ายนี้สำคัญมาก

เรื่องราวของชายที่ถูกผีสิงนั้นเทียบได้กับการเดินทางของฮีโร่ น่าสนใจที่ในฉากสุดท้ายชายคนนั้นอ้อนวอนพระเยซูให้เขา “ติดตามพระองค์ไป” (มก.5:18) แต่พระเยซูตรัสกับเขาว่า “จงไปหาพวกพ้องของเจ้าที่บ้าน” (ข้อ 19) นี่คือสิ่งสำคัญในการเดินทางของชายคนนี้ ที่จะกลับบ้านไปหาคนที่รู้จักเขาดีที่สุดและเล่าเรื่องราวอันอัศจรรย์ของตนให้พวกเขาฟัง

พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนด้วยวิธีที่แตกต่างและในสถานการณ์ที่ต่างกัน แต่สำหรับเราบางคน นี่อาจเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดสำหรับเส้นทางแห่งความเชื่อของเราที่จะต้องกลับบ้านและบอกเล่าเรื่องราวของเราให้กับคนที่รู้จักเราดีที่สุด และสำหรับเราบางคน การทรงเรียกนี้คือ “ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน”

พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย

ผมท่องคำอธิษฐานของพระเยซูเกือบทุกเช้า ชีวิตในวันใหม่ของผมไม่มีค่าอะไรมากนักจนกว่าจะได้ตั้งหลักอยู่บนคำอธิษฐานนั้น เมื่อเร็วๆนี้ ขณะที่ผมกำลังเริ่มพูดว่า “ข้าแต่พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย” เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ผมสะดุ้งเพราะตอนนั้นเพิ่งเป็นเวลาตีห้ากว่า ลองทายสิว่าใครโทรมา ที่หน้าจอโทรศัพท์ขึ้นคำว่า “พ่อ” เสียงโทรศัพท์ดังแล้วเงียบไปอย่างรวดเร็วก่อนที่ผมจะทันรับสาย ผมเดาว่าพ่อคงจะกดผิด ใช่แน่ๆ มันเป็นเรื่องบังเอิญอย่างนั้นหรือ ก็อาจใช่ แต่ผมเชื่อว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยพระเมตตาของพระเจ้า วันนั้นเป็นวันที่ผมต้องการความมั่นใจถึงการทรงสถิตอยู่ด้วยของพระบิดา

ลองคิดดูสิ พระเยซูทรงสามารถสอนสาวกให้เริ่มต้นคำอธิษฐานได้มากมายหลายแบบ แต่ทรงเลือกคำว่า “พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย” (มธ.6:9) เป็นคำเริ่มต้น นี่เป็นเรื่องบังเอิญหรือ ไม่ใช่เลย พระเยซูทรงมีความตั้งใจในสิ่งที่ตรัสเสมอ เราทุกคนมีความสัมพันธ์กับพ่อฝ่ายโลกในแบบที่แตกต่างกัน บ้างดี บ้างไม่ดี แต่การอธิษฐานที่เราควรทำไม่ใช่การร้องเรียก “พ่อของฉัน” หรือ “พ่อของเธอ” แต่เป็น “พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย” ผู้ทรงมองเห็นและได้ยินเรา และทรงรู้ถึงความต้องการของเราแม้ก่อนที่เราจะทูลขอพระองค์ (ข้อ 8)

ช่างเป็นคำยืนยันรับรองที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะในวันที่เราอาจรู้สึกเหมือนถูกลืม อยู่เพียงลำพัง ถูกทอดทิ้ง หรือรู้สึกไร้ค่า จงจำไว้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน และไม่ว่าเวลาใดในยามกลางวันหรือกลางคืน พระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ของเราทรงอยู่ใกล้เราเสมอ

การเปิดเผยสำแดงและความมั่นใจ

การเปิดเผยเพศของทารกในปี 2019 นั้นเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก ในเดือนกรกฎาคม มีวิดีโอแสดงภาพรถยนต์ที่ปล่อยควันสีฟ้าเพื่อบอกว่า “นี่คือทารกเพศชาย!” ในเดือนกันยายน เครื่องบินหว่านเมล็ดพืชในเท็กซัสได้โปรยน้ำสีชมพูจำนวนหลายร้อยแกลลอนเพื่อประกาศว่า “นี่คือทารกเพศหญิง!” แต่ยังมี “การเปิดเผย” อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อโลกที่เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นมา แอปพระคัมภีร์ YouVersion เปิดเผยว่า ในรอบปี 2019 ข้อพระคำที่ถูกแบ่งปัน ไฮไลท์ข้อความและคั่นหน้าไว้มากที่สุดบนพระคัมภีร์ออนไลน์และบนมือถือคือ ฟีลิปปี 4:6 “อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆเลย แต่จงทูลเรื่องความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้า ด้วยการอธิษฐาน การวิงวอน กับการขอบพระคุณ”

นั่นเป็นการเปิดเผยสำแดงที่แท้จริง ผู้คนทุกวันนี้มีเรื่องวิตกกังวลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของลูกๆ ความแตกแยกในรูปแบบต่างๆภายในครอบครัวหรือระหว่างเพื่อน ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติและสงคราม แต่มีข่าวดีท่ามกลางความวิตกเหล่านี้คือ ผู้คนจำนวนมากยังคงยึดข้อพระคำที่ว่า “อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆเลย” ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขา​ยังหนุนใจทั้งตนเองและผู้​อื่นให้ทูลเรื่องความปรารถนา “ทุกอย่าง” ต่อพระเจ้า ความเชื่อที่ส่งผลให้เราไม่เพิกเฉย แต่เผชิญหน้ากับความวิตกกังวลในชีวิตได้นั้น คือ “การขอบพระคุณ”

ข้อพระคำที่ไม่ได้เป็น “ข้อพระคำแห่งปี” แต่อยู่ในอันดับรองลงมา คือ “แล้วสันติสุขแห่งพระเจ้าซึ่งเกินความเข้าใจ จะคุ้มครองจิตใจและความคิดของท่านไว้ในพระเยซูคริสต์” (ข้อ 7) นั่นทำให้เรามั่นใจได้อย่างแท้จริง!

พระสุรเสียงของพระบิดา

คุณพ่อของเพื่อนผมเพิ่งเสียไปไม่นาน ตอนที่ป่วยอาการของท่านทรุดลงอย่างรวดเร็วและจากไปในเวลาไม่กี่วัน เพื่อนของผมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อของเขามาตลอด แต่ก็ยังมีคำถามมากมายที่อยากถาม มีคำตอบที่ต้องค้นหา และมีบทสนทนาที่อยากพูดคุย เพื่อนของผมเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ได้รับการอบรม เขารู้ถึงภาวะขึ้นลงของความโศกเศร้า และวิธีการช่วยเหลือผู้อื่นให้หลุดพ้นจากสภาพอารมณ์เหล่านั้น ถึงกระนั้นเขาบอกกับผมว่า “บางวันผมก็แค่ต้องการได้ยินเสียงของพ่อเพื่อยืนยันถึงความรักของท่าน มันมีความหมายกับผมมากที่สุดเสมอ”

เหตุการณ์สำคัญในช่วงเริ่มต้นการทำพันธกิจในโลกของพระเยซูคือการรับบัพติศมาโดยมือของยอห์น แม้ยอห์นจะพยายามห้าม แต่พระเยซูทรงยืนกรานว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อพระองค์จะแสดงตัวว่าทรงเป็นมนุษย์ “บัดนี้จงยอมเถิด เพราะสมควรที่เราทั้งหลายจะกระทำตามสิ่งชอบธรรมทุกประการ” (มธ.3:15) ยอห์นทำตามที่พระเยซูขอ จากนั้นบางสิ่งก็เกิดขึ้นเพื่อประกาศตัวตนของพระเยซูต่อยอห์นผู้ให้บัพติศมาและฝูงชน และสิ่งนี้น่าจะแตะต้องจิตใจของพระเยซูอย่างลึกซึ้งด้วย พระสุรเสียงของพระบิดาทรงรับรองพระบุตรของพระองค์ “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก” (ข้อ 17)

พระสุรเสียงเดียวกันนี้ดังในจิตใจของเราเพื่อรับรองผู้เชื่อถึงความรักยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมีต่อเรา (1 ยน.3:1)

คำอธิษฐานที่ไม่ได้รับคำตอบ

เราถึงหรือยัง / ยัง / เราถึงหรือยัง / ยัง นั่นเป็นชื่อเกมถามมาตอบไปที่เราเล่นในการเดินทางไกลครั้งแรก (และแน่นอน ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย) เป็นเวลาสิบหกชั่วโมงจากโคโลราโดเพื่อกลับบ้านที่อาร์คันซอในตอนที่ลูกของเรายังเล็ก ลูกสองคนแรกของเราคอยเล่นเกมนี้ตลอด และถ้าผมเก็บเงินหนึ่งเหรียญทุกครั้งที่พวกเขาถาม ผมคงมีเงินเป็นตั้ง มันเป็นคำถามที่ลูกหยุดถามไม่ได้เลย แต่ผม (คนขับรถ) ก็อดสงสัยไม่ได้เช่นกันว่าเราถึงหรือยัง และคำตอบก็คือยัง แต่อีกไม่นาน

ความจริงก็คือ ผู้ใหญ่ส่วนมากก็ถามคำถามนี้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ถึงแม้เราจะไม่ได้พูดออกมาดังๆ แต่เราต่างถามคำถามนั้นด้วยเหตุผลเดียวกันคือ เราเหนื่อย และตาของเรา “ทรุดโทรมไปเพราะความทุกข์ใจ” (สดด.6:7) เรา “อ่อนเปลี้ยด้วยการคร่ำครวญ” (ข้อ 6) กับทุกอย่างตั้งแต่ข่าวภาคค่ำ ไปจนถึงความหงุดหงิดในที่ทำงาน ปัญหาสุขภาพที่ไม่จบสิ้น ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด และอื่นๆอีกมากมาย เราร้องว่า “เราถึงกันหรือยัง ข้าแต่พระเจ้า อีกนานสักเท่าใด”

ผู้เขียนสดุดีรู้จักความอ่อนเปลี้ยเช่นนั้นดี และได้ถามคำถามสำคัญนี้กับพระเจ้าตรงๆ พระเจ้าทรงเป็นเหมือนพ่อแม่ที่ห่วงใย ทรงฟังคำวิงวอนของดาวิด และทรงรับคำอธิษฐานของท่านด้วยพระกรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ (ข้อ 9) ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะตั้งคำถาม คุณและผมก็เช่นกันที่เข้ามาหาพระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ได้อย่างกล้าหาญ พร้อมกับคำถามจากใจจริงว่า “อีกนานสักเท่าใด” และคำตอบของพระองค์ก็คงจะเป็น “ยัง แต่อีกไม่นาน เราประเสริฐ จงวางใจในเรา”

ให้เมื่อยังมีชีวิต

นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จคนหนึ่งใช้เวลาช่วงหลายสิบปีหลังของชีวิตทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแจกจ่ายทรัพย์สมบัติที่มี อภิมหาเศรษฐีคนหนึ่งได้บริจาคเงินให้แก่โครงการที่หลากหลาย เช่น การนำสันติภาพสู่ไอร์แลนด์เหนือ และการปรับปรุงระบบการให้บริการด้านสุขภาพของเวียดนามให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน เขาจ่ายเงิน 350 ล้านดอลลาร์เพื่อเปลี่ยนเกาะรูสเวลต์ของนครนิวยอร์คให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี เขากล่าวว่า “ผมเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการให้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมเห็นเหตุผลเพียงเล็กน้อยที่จะชะลอการให้... นอกจากนี้ การให้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่สนุกมากกว่าการให้เมื่อตายไปแล้ว” ให้ขณะที่คุณยังมีชีวิต นี่เป็นทัศนคติที่ยอดเยี่ยม

ในเรื่องของชายตาบอดแต่กำเนิดที่ยอห์นบันทึกไว้ สาวกของพระเยซูพยายามจะตัดสินว่า “ใครทำผิดบาป” (9:2) พระเยซูกล่าวถึงคำถามของพวกเขาเพียงสั้นๆว่า “มิใช่ว่าชายคนนี้หรือบิดามารดาของเขาได้ทำบาป แต่...เพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา เราต้องกระทำพระราชกิจของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาเมื่อยังวันอยู่” (ข้อ 3-4) แม้ว่างานของเราจะแตกต่างอย่างมากจากการอัศจรรย์ที่พระเยซูทรงทำ และไม่ว่าเราจะต้องสละสิ่งใด เราจะต้องทำด้วยใจที่พร้อมและเปี่ยมด้วยความรัก ไม่ว่าจะด้วยเวลา ด้วยทรัพย์สมบัติ หรือการกระทำ เป้าหมายของเราคือให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏ

เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกจนได้ทรงประทานให้กับเรา ให้เราตอบแทนด้วยการให้ขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่

เราต้องการชุมชนคริสตจักร

ผมโตมาในฐานะลูกชายคนโตของนักเทศน์คณะแบ๊บติสต์ใต้ มีความคาดหวังอย่างชัดเจนว่าทุกวันอาทิตย์ผมต้องไปโบสถ์ ซึ่งอาจยกเว้นได้หากผมมีไข้สูงจริงๆ แต่ความจริงคือผมรักการไปโบสถ์และหลายครั้งผมไปทั้งที่ยังมีไข้ แต่โลกเปลี่ยนไปแล้วและจำนวนคนที่มาโบสถ์เป็นประจำก็ไม่เหมือนที่เคยเป็น แน่นอนว่าเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า ทำไม คำตอบนั้นมีหลากหลายแตกต่างกันไป นักเขียนแคธลีน นอร์ริสโต้แย้งคำตอบเหล่านั้นด้วยคำตอบที่ได้รับจากศิษยาภิ-บาลเมื่อเธอถามว่า “ทำไมเราต้องไปโบสถ์” เขาตอบว่า “เราไปโบสถ์เพื่อคนอื่น เพราะอาจมีบางคนต้องการคุณที่นั่น”

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เราไปโบสถ์ แต่คำตอบของเขาสะท้อนถึงหัวใจของผู้เขียนฮีบรูที่หนุนใจผู้เชื่อให้รักษาความเชื่อไว้ และการจะทำเช่นนั้นได้ ท่านย้ำว่า “อย่าขาดการประชุม”​ (ฮบ.10:25) ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะสิ่งสำคัญบางอย่างจะขาดหายไปหากเราไม่อยู่ที่นั่นคือ “การหนุนใจกัน” (ข้อ 25) เราต้องการการหนุนใจกันเพื่อ “ปลุกใจซึ่งกันและกัน ให้มีความรักและทำความดี” (ข้อ 24)

พี่น้องชายหญิงทั้งหลาย ให้เราร่วมสามัคคีธรรมกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจมีบางคนต้องการคุณที่นั่น และความจริงที่ไม่ต่างกันคือ คุณอาจต้องการพวกเขาเช่นกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา