ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Kirsten Holmberg

เมื่อเรารวมตัวกัน

จากดัชนีรายงานความสุขโลกนั้น เดนมาร์กอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ชาวเดนมาร์กฝ่าฟันฤดูหนาวอันมืดมิดและยาวนานด้วยการรวมตัวกับเพื่อนๆ เพื่อแบ่งปันเครื่องดื่มอุ่นๆ หรืออาหารมื้ออร่อย คำที่ใช้แทนความรู้สึกในช่วงเวลาเหล่านั้นคือ ฮูกะ (hygge) ฮูกะช่วยชดเชยให้พวกเขาจากการมีความสุขกับแสงแดดได้น้อยกว่าประเทศใกล้เคียงที่อยู่ในละติจูดต่ำกว่า การล้อมวงรอบโต๊ะที่เรียบง่ายกับผู้คนอันเป็นที่รักทำให้หัวใจของพวกเขาได้รับการบำรุงเลี้ยง

ผู้เขียนฮีบรูหนุนใจให้เรารวมตัวกันเป็นชุมชน ท่านรู้ว่าจะมีวันอันยากลำบากที่ท้าทายมากยิ่งกว่าสภาพอากาศ ซึ่งเรียกร้องให้ผู้ที่ติดตามพระคริสต์บากบั่นในความเชื่อ แม้ว่าพระเยซูจะทำให้เราได้รับการยอมรับจากพระเจ้าอย่างแน่นอนผ่านความเชื่อในองค์พระผู้ช่วยให้รอด แต่เราอาจต้องต่อสู้กับความละอาย ความสงสัยหรือการต่อต้านจริงๆ การรวมตัวกันทำให้เรามีสิทธิพิเศษที่จะหนุนใจกันและกัน เมื่อเราสมาคมกัน เราสามารถ“ปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี” ซึ่งค้ำจุนความเชื่อของเรา (ฮบ.10:24)

การรวมตัวกับเพื่อนๆไม่ได้รับประกันอันดับของเราไว้ใน “รายงานความสุข” แต่คือสิ่งที่พระคัมภีร์แนะนำเพื่อเป็นวิธีที่จะช่วยให้เรายืนหยัดในความเชื่อภายใต้อุปสรรคที่พบเจอในชีวิต ช่างเป็นเหตุผลที่ดีเยี่ยมในการแสวงหาการมีชุมชนคริสตจักร! หรือที่จะเปิดบ้านของเราด้วยทัศนะเรียบง่ายแบบคนเดนมาร์ก เพื่อจะบำรุงเลี้ยงหัวใจของกันและกัน

ส่งต่อความจริง

เมื่อไม่สามารถพบหน้าหลานๆได้ด้วยตนเองเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ปู่ย่าตายายจำนวนมากจึงหาวิธีการใหม่ๆที่จะติดต่อกับหลานๆในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 จากการสำรวจเมื่อเร็วๆนี้พบว่าปู่ย่าตายายหลายคนใช้การส่งข้อความและสื่อสังคมออนไลน์เพื่อรักษาสายสัมพันธ์อันมีค่ากับหลานๆ บางคนถึงกับนมัสการร่วมกันกับครอบครัวใหญ่ของพวกเขาผ่านวิดีโอคอล

หนึ่งในวิธีอันยอดเยี่ยมที่พ่อแม่และปู่ย่าตายายจะมีอิทธิพลต่อบุตรหลานของตนได้ก็คือ การส่งต่อความจริงในพระคัมภีร์ ในเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 4 โมเสสได้กำชับประชากรของพระเจ้า “ไม่ให้ลืมสิ่งซึ่งนัยน์ตาได้เห็นนั้น” หรือ ให้ “สิ่งเหล่านั้นประลาตเสียจากใจ [ของพวกเขา]” (ข้อ 9) ท่านยังกล่าวต่อไปว่า การแบ่งปันสิ่งเหล่านี้กับลูกหลานจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้การ “ยำเกรง” พระองค์ (ข้อ 10) และดำเนินชีวิตตามความจริงของพระองค์ในแผ่นดินที่พระองค์ประทานแก่พวกเขา

ความสัมพันธ์ที่พระเจ้าประทานให้เรามีกับครอบครัวและเพื่อนฝูงนั้นก็เพื่อให้เรามีความสุข พระเจ้าทรงออกแบบครอบครัวมาเพื่อให้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดพระปัญญาของพระองค์จากรุ่นสู่รุ่น โดยการ “อบรม [พวกเขา] ในทางธรรม” และเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับ “การดีทุกอย่าง” (2 ทธ.3:16-17) เมื่อเราแบ่งปันความจริงและการงานของพระเจ้าในชีวิตของเรากับคนรุ่นต่อไป ไม่ว่าจะโดยการส่งข้อความ การโทร วีดิโอคอล หรือการสนทนากันแบบหน้าต่อหน้า เราก็ได้ฝึกพวกเขาให้เห็นและชื่นชมในพระหัตถกิจของพระเจ้าในชีวิตของพวกเขาเอง

ทีมในฝัน

เมลานีและเทรเวอร์ เป็นเพื่อนร่วมเดินเท้าตะลุยเส้นทางบนภูเขาหลายกิโลเมตร ซึ่งคนใดคนหนึ่งจะทำเช่นนั้นไม่ได้เลยถ้าขาดอีกคน เมลานีต้องนั่งรถเข็นเพราะมีความผิดปกติที่กระดูกสันหลังตั้งแต่เกิด เทรเวอร์ตาบอดเนื่องจากต้อหิน ทั้งคู่ตระหนักว่าพวกเขาเป็นส่วนที่เติมเต็มกันและกันอย่างสมบูรณ์ในการเพลิดเพลินกับผืนป่าโคโลราโด ขณะที่เดินไปตามเส้นทาง เทรเวอร์แบกเมลานีไว้บนหลังโดยเธอเป็นคนบอกทางให้เขา พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ทีมในฝัน”

เปาโลบรรยายถึงผู้เชื่อในพระเยซูว่าเป็นพระกายของพระคริสต์ ซึ่งคล้ายกับลักษณะของ “ทีมในฝัน” ท่านเตือนชาวโรมให้ตระหนักว่าของประทานส่วนตัวของพวกเขาเป็นประโยชน์แก่กลุ่มคนที่ใหญ่กว่า เช่นเดียวกับที่ร่างกายคนเราแบ่งเป็นหลายส่วนและทำหน้าที่แตกต่างกัน เมื่อรวมกันเราก็ “เป็นกาย[ฝ่ายวิญญาณ]อันเดียว” และของประทานของเรามีไว้รับใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่คริสตจักร (รม.12:5) ไม่ว่าจะเป็นการถวาย การหนุนใจ การสอน หรือของประทานฝ่ายวิญญาณอื่นใดอีกก็ตาม เปาโลกำชับให้เรามองตัวเองและของประทานของเราว่าเป็นของส่วนรวม (ข้อ 5-8)

เมลานีและเทรเวอร์ไม่ได้จดจ่อในสิ่งที่พวกเขาขาด และไม่ได้ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนมีเมื่อเทียบกับอีกคน แต่พวกเขาใช้ “ของประทาน” ของตนเพื่อช่วยเหลืออีกฝ่ายด้วยความยินดี โดยตระหนักว่าพวกเขาทั้งคู่ทำได้ดีขึ้นมากเพียงใดเมื่อร่วมมือกัน ขอให้เราเต็มใจนำของประทานจากพระเจ้ามารับใช้ร่วมกับของประทานของเพื่อนผู้เชื่อ เพื่อถวายเกียรติแด่พระคริสต์

ความบริบูรณ์และความขัดสน

โรงอาหารของโรงเรียนก็เหมือนกับธุรกิจจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ที่มักจะเตรียมอาหารไว้เกินการบริโภคจริง เพราะพวกเขาไม่สามารถกะปริมาณอาหารให้พอดีได้ อาหารที่เหลือก็ถูกทิ้งไป แต่ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่มีอาหารพอกินที่บ้านและต้องหิวโหยในวันหยุดสุดสัปดาห์ เขตการศึกษาแห่งหนึ่งในสหรัฐร่วมมือกับองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรเพื่อหาทางออก พวกเขาบรรจุอาหารที่เหลือให้นักเรียนนำกลับบ้าน และสามารถแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งและความหิวโหยไปพร้อมๆกัน

ในขณะที่คนส่วนมากจะไม่มองว่าการมีเงินจำนวนมากเป็นปัญหาเหมือนกับที่เรามองเรื่องอาหารเหลือทิ้ง แต่หลักการเบื้องหลังโครงการของโรงเรียนนั้นก็เหมือนกับที่เปาโลแนะนำไว้ในจดหมายถึงชาวเมืองโครินธ์ ท่านรู้ว่าคริสตจักรในมาซิโดเนียกำลังเผชิญกับความขาดแคลน ท่านจึงขอคริสตจักรในเมืองโครินธ์ให้ใช้การมี “บริบูรณ์” ของพวกเขา “ช่วยคนเหล่านั้นที่ขัดสน” (2 คร.8:14) ท่านมีความมุ่งหมายจะให้เกิดการให้กันไปมาระหว่างคริสตจักร เพื่อจะไม่มีบางคริสตจักรที่มีมากเกินไปในขณะที่บางคริสตจักรกลับขาดแคลน

เปาโลไม่ได้ต้องการให้ผู้เชื่อในเมืองโครินธ์ต้องลำบากจากการให้ของพวกเขา แต่อยากให้มีความเห็นอกเห็นใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อชาวมาซิโดเนีย โดยตระหนักว่าวันใดวันหนึ่งในอนาคต พวกเขาคงต้องการความช่วยเหลือเช่นนี้เหมือนกัน เมื่อเราเห็นผู้ที่ขัดสน ให้เราคิดดูว่าเรามีอะไรจะแบ่งปันได้บ้าง การให้ของเราไม่ว่าจะมากหรือน้อย จะไม่มีวันสูญเปล่า!

ดีเอ็นเอใหม่ในพระเยซู

คริสรับการตรวจเลือดอีกครั้ง สี่ปีหลังจากการปลูกถ่ายไขกระดูกที่ช่วยให้เขารอดชีวิต ไขกระดูกของผู้บริจาคได้มอบสิ่งที่จำเป็นสำหรับการรักษาเขาแต่กลับทิ้งความประหลาดใจเอาไว้คือ ดีเอ็นเอในเลือดของคริสเป็นดีเอ็นเอของผู้บริจาคไม่ใช่ของเขาเอง ความจริงก็ควรเป็นเช่นนั้นเพราะเป้าหมายของกระบวนการรักษาคือการแทนที่เลือดที่อ่อนแอของเขาด้วยเลือดที่แข็งแรงของผู้บริจาค แม้แต่การสวอบเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้ม ปาก และลิ้นก็แสดงถึงดีเอ็นเอของผู้บริจาค จะว่าไปแล้วเขากลับกลายเป็นอีกคนหนึ่ง แม้เขาจะยังมีความทรงจำและรูปลักษณ์ภายนอกของตนเอง และดีเอ็นเอดั้งเดิมบางส่วน

สิ่งที่เกิดกับคริสนี้มีความคล้ายคลึงอย่างน่าทึ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ที่ได้รับความรอดในพระเยซู ในจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตวิญญาณ คือเมื่อเราเชื่อวางใจในพระเยซู เราก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่ (2 คร.5:17) จดหมายของเปาโลถึงคริสตจักรในเมืองเอเฟซัสหนุนใจให้พวกเขาสำแดงออกถึงการเปลี่ยนแปลงภายในว่า จง “ทิ้งตัวเก่าของท่าน” กับวิถีชีวิตเดิมนั้นเสีย และ “สวมสภาพใหม่ซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ตามแบบอย่างของพระเจ้า ในความชอบธรรมและความบริสุทธิ์ที่แท้จริง” (อฟ.4:22, 24) นั่นคือถูกแยกไว้เพื่อพระคริสต์

เราไม่จำเป็นต้องตรวจดีเอ็นเอด้วยการสวอบหรือการตรวจเลือด เพื่อแสดงว่าฤทธิ์อำนาจแห่งการเปลี่ยนแปลงของพระเยซูอยู่ในชีวิตของเรา ความจริงภายในนั้นควรปรากฏชัดเจนในการใช้ชีวิตของเราในโลกนี้ ซึ่งจะเผยให้เห็นว่าเรา “​เมตตาต่อกัน มีใจเอ็นดูต่อกัน และอภัยโทษให้กัน เหมือนดังที่พระเจ้าได้ทรงโปรดอภัยโทษให้แก่ [เรา]ในพระคริสต์นั้น” (ข้อ 32)

ให้จากความรัก

ทุกวันเกล็นจะซื้อกาแฟยามเช้าที่จุดไดร์ฟทรูใกล้ๆ และทุกวันเขาจะจ่ายเงินให้กับคำสั่งซื้อของคนในรถคันหลังที่ตามมาด้วย และขอให้แคชเชียร์อวยพรให้คนนั้นมีความสุข เกล็นไม่รู้จักพวกเขา และไม่รู้ถึงปฏิกิริยาของคนเหล่านั้น เขาเพียงเชื่อว่าการแสดงออกเล็กน้อยนี้เป็น “สิ่งที่อย่างน้อยที่สุดเขาทำได้” แต่มีครั้งหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้ถึงอิทธิพลจากการกระทำนี้ เมื่อเขาได้อ่านจดหมายนิรนามที่ส่งถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เขาพบว่าของขวัญที่เป็นน้ำใจจากเขาในวันที่ 18 กรกฎาคม 2017 ทำให้คนที่อยู่ในรถคันหลังซึ่งวางแผนจะจบชีวิตตัวเองในวันนั้น ได้กลับมาคิดทบทวนใหม่

เกล็นหยิบยื่นให้กับผู้คนในรถคันหลังทุกวันโดยไม่ได้รับคำยกย่องชมเชย มีเพียงครั้งเดียวนี้เองที่เขาได้เห็นถึงอิทธิพลจากของขวัญเล็กน้อยของตน เมื่อพระเยซูตรัสว่า “อย่าให้มือซ้าย[ของเรา]รู้การซึ่งมือขวา [ของเรา]กระทำนั้น” (มธ.6:3) พระองค์ทรงหนุนใจเราที่จะให้เหมือนที่เกล็นทำ โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้อื่นรับรู้

เมื่อเราได้หยิบยื่นให้จากความรักที่เรามีต่อพระเจ้า โดยไม่กังวลกับการได้รับคำชมจากผู้อื่น เราก็วางใจได้ว่าของขวัญของเราไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กนั้น พระองค์จะทรงใช้เพื่อตอบสนองตามความจำเป็นของผู้ที่ได้รับ

จงเกิดความสว่าง

ตอนที่ลูกสาวของฉันยังเล็กมากๆ ฉันจะคอยบอกคำที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆที่เธอพบเห็น โดยฉันจะพูดคำนั้น หรือปล่อยให้เธอได้สัมผัสกับสิ่งที่เธอไม่คุ้นเคยแล้วจึงพูดคำนั้นให้เธอฟัง เพื่อให้เธอเข้าใจและรู้คำศัพท์ในโลกกว้างใหญ่ที่เธอกำลังสำรวจ แม้จะเป็นเรื่องปกติที่ฉันกับสามีอาจคาดหมาย (หรือหวัง) ว่าคำแรกที่เธอพูดจะเป็นคำว่าแม่ หรือพ่อ แต่เราต้องประหลาดใจกับคำพูดแรกที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง ปากน้อยๆของเธอพึมพำคำว่าฉว่าง โดยพยายามจะออกเสียงคำว่า สว่าง ที่ฉันเพิ่งจะพูดให้เธอฟัง

ความสว่างเป็นหนึ่งในคำตรัสแรกของพระเจ้าที่บันทึกให้เราเห็นในพระคัมภีร์ ขณะที่พระวิญญาณของพระเจ้าปกอยู่เหนือโลกที่มืดมิด ว่างเปล่า และไร้รูปร่าง พระองค์ทรงสร้างแสงสว่างขึ้นโดยตรัสว่า “จงเกิดความสว่าง” (ปฐก. 1:3) พระองค์ตรัสว่าความสว่างนั้นดีและพระวจนะทั้งเล่มก็ยืนยันเช่นนั้น ดังที่ผู้เขียนสดุดีอธิบายว่า พระวจนะของพระเจ้าให้ความสว่างแก่ความเข้าใจของเรา (สดด.119:130) และพระเยซูทรงเรียกพระองค์เองว่า “ความสว่างของโลก” ผู้ประทานแสงสว่างแห่งชีวิต (ยน.8:12)

คำตรัสแรกของพระเจ้าในการทรงเนรมิตสร้างโลกคือการให้เกิดความสว่าง ไม่ใช่เพราะพระองค์จำเป็นต้องมีความสว่างเพื่อจะทำงานได้ แต่ทรงสร้างความสว่างนั้นเพื่อเรา ความสว่างทำให้เรามองเห็นพระองค์และเห็นถึงฝีพระหัตถ์ของพระองค์ในสรรพสิ่งที่ทรงสร้างไว้รอบตัวเรา ให้เราสามารถแยกแยะสิ่งดีออกจากสิ่งไม่ดี และติดตามพระเยซูไปทีละก้าวในโลกที่กว้างใหญ่นี้

อะไรที่สำคัญ

เพื่อนฉันเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่ถูกเพื่อนร่วมงานคริสเตียนคนหนึ่งจี้ถามว่าเธอสังกัดพรรคการเมืองใด จุดประสงค์ของเขาดูเหมือนต้องการจะคาดการณ์ว่าเขากับเธอมีมุมมองเหมือนกันในเรื่องใดบ้างที่ตอนนี้กำลังเป็นประเด็นทำให้ชุมชนแตกแยก เธอพยายามจะหาจุดร่วม จึงตอบเพียงว่า “เราเป็นคริสเตียนเหมือนกัน ฉันขอเน้นที่ความเป็นหนึ่งเดียวกันของเราในพระคริสต์ดีกว่า”

ผู้คนในสมัยเปาโลก็มีความแตกแยก แม้จะเป็นเรื่องที่แตกต่างจากปัจจุบัน ปัญหาเช่น อาหารอะไรที่กินได้และวันใดถือเป็นวันบริสุทธิ์ ทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันท่ามกลางคริสเตียนในกรุงโรม แม้จะ “​มี​ความ​แน่ใจ​ใน​ความ​คิดเห็น​ของ​ตน​” ไม่ว่าจะเป็นความเห็นฝ่ายใด เปาโลก็ย้ำเตือนจุดร่วมของพวกเขาคือ การมีชีวิตเพื่อพระเยซู (รม.14:5-9) แทนที่จะตัดสินผู้อื่น ท่านหนุนใจให้พวกเขา “มุ่ง​ประพฤติใน​สิ่ง​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​สงบ​สุข​แก่​กัน​และ​กัน และ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เจริญ​แก่​กัน​และ​กัน” (ข้อ 19)

ในยุคที่หลายประเทศ หลายคริสตจักร และหลายชุมชนแตกแยกกันเพราะเรื่องน้อยใหญ่ เราสามารถชี้ชวนกันและกันให้มองไปยังความจริงหนึ่งเดียวคือพันธกิจของพระคริสต์ที่บนกางเขนเพื่อให้เรามีชีวิตนิรันดร์กับพระองค์ คำเตือนของเปาโลที่ว่า “อย่าทำลาย​งาน​ของ​พระ​เจ้า” (ข้อ 20) ด้วยจุดยืนของตัวเองยังคงใช้ได้ทุกวันนี้เช่นเดียวกับเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว แทนที่จะตัดสินผู้อื่น เราสามารถสำแดงความรักและใช้ชีวิตอย่างให้เกียรติพี่น้องคริสเตียนของเรา

เหมือนเรา เพื่อเรา

เดเร็กสังเกตว่าลูกชายของเขาไม่อยากถอดเสื้อเพื่อว่ายน้ำ เพราะเขาอายรอยปานที่อยู่บนหน้าอก ที่ท้อง และแขนซ้าย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยลูกชาย เดเร็กยอมผ่านขั้นตอนการสักที่ยาวนานและเจ็บปวด เพื่อสร้างปานที่เหมือนของลูกชายบนตัวเขา

ความรักของเดเร็กที่มีต่อลูกชายสะท้อนถึงความรักที่พระเจ้ามีต่อบุตรชายบุตรสาวของพระองค์ เพราะเราที่เป็นบุตรของพระองค์นั้น “มีเลือดและเนื้อ” (ฮบ.2:14 TNCV) พระเยซูทรงยอมเป็นเหมือนพวกเรา ยอมรับสภาพมนุษย์และ “ร่วมในความเป็นมนุษย์” เพื่อปลดปล่อยเราจากอำนาจของความตาย (ข้อ 14 TNCV) “เหตุฉะนั้นพระองค์จึงทรงต้องเป็นเหมือนกับ[เรา]ทุกอย่าง” (ข้อ 17) เพื่อทำทุกอย่างให้ถูกต้องต่อพระเจ้าเพื่อพวกเรา

เดเร็กต้องการจะช่วยลูกชายเอาชนะความอาย เขาจึงยอมทำตัวเองให้ “เหมือน” ลูกชายของเขา พระเยซูทรงช่วยเราเอาชนะปัญหาของเราที่ใหญ่กว่านั้นมาก ซึ่งก็คือการเป็นทาสของความบาป พระองค์ทรงเอาชนะมันเพื่อเราโดยการทำพระองค์เองให้เหมือนพวกเรา ทรงแบกรับโทษบาปของเราโดยการยอมสิ้นพระชนม์แทนเรา

ความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะมีส่วนร่วมในความเป็นมนุษย์เหมือนพวกเรานั้น ไม่เพียงรักษาสิทธิ์ที่เราจะมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้า แต่ยังทำให้เราสามารถวางใจในพระองค์ในยามที่เรามีปัญหาได้ เมื่อเราเผชิญการทดลองและความยากลำบาก เราสามารถพึ่งพิงในพระองค์เพื่อรับกำลังและการช่วยเหลือ เพราะว่า “พระองค์จึงทรงสามารถช่วย...ได้” (ข้อ 18) เช่นเดียวกับพ่อที่เปี่ยมด้วยความรัก พระองค์ทรงเข้าใจและห่วงใย

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา