ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Kenneth Petersen

พระเจ้าผู้ไม่เปลี่ยนแปลง

รูปภาพหนึ่งที่โด่งดัง เป็นภาพของรอยรองเท้าบูทที่เหยียบลงบนพื้นสีเทา รอยเท้านั้นเป็นของ บัซซ์ อัลดริน นักบินอวกาศที่ทิ้งไว้บนดวงจันทร์ในค.ศ. 1969 นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ารอยเท้านั้นน่าจะยังอยู่ที่นั่นอย่างไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากหลายปีที่ผ่านไป หากไม่มีลมหรือน้ำก็จะไม่มีสิ่งใดบนดวงจันทร์ที่สึกกร่อน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นบนภูมิประเทศของดวงจันทร์จะยังคงอยู่ที่นั่น

แต่การตรึกตรองถึงการทรงสถิตอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงของพระเจ้านั้นยอดเยี่ยมยิ่งกว่า ยากอบบันทึกว่า “ของประทานอันดีทุกอย่าง และของประทานอันเลิศทุกอย่างย่อมมาจากเบื้องบน และส่งลงมาจากพระบิดาแห่งบรรดาดวงสว่าง ในพระบิดาไม่มีการแปรปรวน หรือไม่มีเงาอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลง” (ยก.1:17) อัครทูตกล่าวถึงเรื่องนี้ในบริบทของการต่อสู้ของตัวเรา “เมื่อท่านทั้งหลายประสบความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ก็จงถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี” (ข้อ 2) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเราเป็นที่รักของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และไม่เปลี่ยนแปลง!

ในยามยากลำบาก เราจะต้องระลึกถึงการจัดเตรียมอย่างไม่เปลี่ยนแปลงของพระเจ้า บางทีเราอาจจำเนื้อร้องของบทเพลงนมัสการที่ยิ่งใหญ่ “พระองค์ผู้ทรงสัตย์ซื่อ” ได้ว่า “ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงเหมือนเงา...ความรักเมตตาของพระองค์ไม่ทรงแปรปรวน ถ้วนทุกสมัยสืบไปเป็นนิจนิรันดร์” ใช่แล้ว พระเจ้าของเราได้ทิ้งรอยพระบาทถาวรของพระองค์ไว้บนโลกของเรา พระองค์จะอยู่ที่นั่นเพื่อเราเสมอ ความสัตย์ซื่อของพระองค์ใหญ่ยิ่งนัก

พื้นที่ในใจ

นี่คือคำแนะนำบางประการสำหรับวันหยุด ครั้งต่อไปที่คุณเดินทางผ่านเมืองมิดเดิลตัน รัฐวิสคอนซิน คุณอาจอยากไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มัสตาร์ดแห่งชาติ สำหรับผู้ที่รู้สึกว่ามัสตาร์ดแค่แบบเดียวก็เพียงพอแล้ว สถานที่อันน่าตื่นตาตื่นใจนี้เก็บรวบรวมมัสตาร์ด 6,090 ชนิดจากทั่วโลก ที่เมืองแมคลีน รัฐเท็กซัส คุณอาจประหลาดใจที่เจอพิพิธภัณฑ์ลวดหนาม หรือแปลกใจมากขึ้นไปอีกที่มีคนหลงใหลใน... การฟันดาบ

เรื่องนี้กำลังบอกถึงสิ่งที่เราเลือกให้ความสำคัญ นักเขียนท่านหนึ่งบอกว่า คุณอาจทำสิ่งที่แย่ยิ่งกว่าการใช้เวลาช่วงบ่ายที่พิพิธภัณฑ์กล้วย (แม้เราจะขอทำอย่างอื่นแทน)

เราหัวเราะด้วยความขบขัน แต่ก็ต้องยอมรับโดยดีว่าเราต่างมีพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง คือพื้นที่ในใจที่เรายกย่องรูปเคารพบางอย่างที่เราสร้างขึ้นมาเอง พระเจ้าตรัสสั่งเราว่า “อย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา” (อพย.20:3) และ “อย่ากราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น” (ข้อ 5) แต่เราก็ยังทำอยู่ เราสร้างพระต่างๆขึ้นมา อาจเป็นพระแห่งความมั่งคั่ง ความลุ่มหลง หรือความสำเร็จ หรือมี “ทรัพย์สมบัติ” เพื่อความพึงพอใจบางอย่างที่เราเทิดทูนไว้ลับๆ

เป็นเรื่องง่ายที่จะพลาดประเด็นสำคัญเมื่ออ่านพระธรรมตอนนี้ ใช่แล้ว พระเจ้าทรงถือว่าเราต้องรับผิดชอบต่อพิพิธภัณฑ์แห่งความบาปที่เราสร้างขึ้น แต่พระองค์ยังตรัสถึงการ “แสดงความรักมั่นคงต่อคนที่รัก[พระองค์]...จนถึงพันชั่วอายุคน” (ข้อ 6) พระองค์ทรงทราบว่า “พิพิธภัณฑ์” ของเราไร้สาระเพียงใด พระองค์ทรงทราบว่าความพึงพอใจที่แท้จริงของเราอยู่ในความรักที่เรามีต่อพระองค์เท่านั้น

งานวิจัยเกี่ยวกับคุณย่า/ยาย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมอรีใช้การสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อศึกษาสมองของพวกคุณย่า/ยาย พวกเขาวัดการตอบสนองความรู้สึกร่วมที่คุณย่า/ยายมีต่อรูปภาพที่มีหลานๆของตนเอง ลูกๆที่โตแล้ว และเด็กคนหนึ่งที่ไม่รู้จัก ผลการศึกษาพบว่าพวกคุณย่า/ยายมีความรู้สึกร่วมต่อหลานของตัวเองมากกว่าลูกที่โตแล้ว นี่เป็นผลมาจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ตัวแปรที่น่ารัก” หลานๆของพวกเขา “เป็นที่หลงรัก” มากกว่าผู้ใหญ่

ก่อนที่เราจะพูดว่า “แหม!” เราอาจต้องพิจารณาคำพูดของเจมส์ ริลลิ่งผู้ทำการศึกษานี้ว่า “ถ้าหลานของพวกเขากำลังยิ้ม (คุณย่า/ยาย) ก็รู้สึกได้ถึงความสุขของเด็ก และถ้าหลานร้องไห้ พวกเขาก็รู้สึกถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ของเด็ก”

ผู้เผยพระวจนะคนหนึ่งบรรยาย “ภาพสแกน (MRI)” ถึงความรู้สึกของพระเจ้าขณะมองดูประชากรของพระองค์ว่า “พระองค์ทรงเปรมปรีดิ์เพราะเจ้าด้วยความยินดี…ด้วยความรักของพระองค์ พระองค์จะทรงเริงโลดเพราะเจ้าด้วยร้องเพลงเสียงดัง” (ศฟย.3:17) พระคัมภีร์บางฉบับแปลความตอนนี้ว่า “เจ้าจะทำให้พระทัยของพระองค์เปี่ยมด้วยความยินดี และจะทรงร้องเพลงด้วยเสียงดัง” เช่นเดียวกับคุณย่า/ยายที่เห็นอกเห็นใจ พระเจ้าก็ทรงรู้สึกถึงความเจ็บปวดของเรา “พระองค์ทรงทุกข์พระทัยในความทุกข์ใจทั้งสิ้นของเขา” (อสย.63:9) และพระองค์รู้สึกถึงความยินดีของเรา “เพราะพระเจ้าทรงปรีดีในประชากรของพระองค์” (สดด. 149:4)

เมื่อเราท้อแท้ ก็เป็นการดีที่จะระลึกว่าพระเจ้าทรงมีความรู้สึกต่อเราจริงๆ ทรงไม่ใช่พระเจ้าที่เย็นชาและห่างไกล แต่เป็นผู้ที่รักและเปรมปรีดิ์ในตัวเรา นี่คือเวลาที่จะเข้าใกล้พระองค์ สัมผัสถึงรอยยิ้มและฟังพระองค์ร้องเพลง

พระเจ้ากำลังตรัสกับเรา

ผมรับสายโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่รู้จัก บ่อยครั้งที่ผมจะปล่อยให้สายเหล่านั้นเข้าไปที่กล่องรับข้อความ แต่ครั้งนี้ผมรับสาย ผู้ที่สุ่มโทรมาขอเวลาผมเพียงหนึ่งนาทีด้วยความสุภาพเพื่อแบ่งปันข้อพระคำสั้นๆ เขายกพระธรรมวิวรณ์ 21:3-5 ที่กล่าวถึงการที่พระเจ้า “จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของเขา” เขาพูดถึงพระเยซูว่าทรงเป็นหลักประกันและความหวังของเรา ผมบอกเขาว่าผมรู้จักพระเยซูในฐานะองค์พระผู้ช่วยให้รอดเป็นการส่วนตัวแล้ว แต่ผู้ที่โทรมาไม่ได้มีเป้าหมายเพียงการ “เป็นพยาน” กับผมเท่านั้น เขาขออธิษฐานกับผมด้วย และเขาอธิษฐานขอพระเจ้าประทานกำลังใจและเรี่ยวแรงแก่ผม

การรับสายครั้งนั้นเตือนผมถึง “การทรงเรียก” ครั้งหนึ่งในพระคัมภีร์ ที่พระเจ้าทรงเรียกเด็กชายซามูเอลในเวลากลางคืน (1ซมอ.3:4-10) ซามูเอลได้ยินเสียงเรียกสามครั้งและคิดว่าเป็นเสียงของเอลีปุโรหิตชรา ในครั้งสุดท้ายตามคำแนะนำของเอลี ซามูเอลตระหนักว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ที่เรียก “ขอตรัสเถิด เพราะผู้รับใช้ของพระองค์คอยฟังอยู่” (ข้อ 10) เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน พระเจ้าอาจกำลังตรัสกับเรา เราจำเป็นต้อง “รับสาย”ซึ่งอาจหมายถึงการใช้เวลาเข้าเฝ้าและฟังเสียงของพระองค์มากขึ้น

ผมคิดถึง “การทรงเรียก” ในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยว่า บางครั้งเราก็อาจได้เป็นผู้สื่อสารที่ส่งพระคำของพระเจ้าให้แก่ใครบางคน เราอาจรู้สึกว่าเราไม่มีวิธีที่จะช่วยผู้อื่นได้ แต่เมื่อพระเจ้าทรงนำ เราสามารถที่จะโทรศัพท์ไปหาเพื่อนสักคนและถามว่า “จะเป็นอะไรไหม ถ้าวันนี้ผมจะขออธิษฐานกับคุณ”

การอบรมในทางธรรม

ช่วงปลายยุคปี 1800 ผู้คนในที่ต่างๆได้พัฒนาวิธีในการทำพันธกิจที่คล้ายคลึงกันในช่วงเวลาเดียวกัน ครั้งแรกคือในปี 1877 ที่เมืองมอนทรีออล แคนาดา อีกแนวคิดหนึ่งเริ่มขึ้นที่นครนิวยอร์กในปี 1878 โดยภายในปี 1922 มีการดำเนินโครงการไปราวห้าพันโครงการทุกช่วงฤดูร้อนในทวีปอเมริกาเหนือ

ประวัติศาสตร์ยุคแรกของค่ายฝึกอบรมพระคัมภีร์ภาคฤดูร้อน(ฝคร.)จึงเริ่มต้นขึ้น ภาระใจอันแรงกล้าที่กระตุ้นผู้บุกเบิกค่ายฝคร. คือความปรารถนาที่อยากให้คนหนุ่มสาวรู้จักพระคัมภีร์

เปาโลมีภาระใจในทำนองเดียวกันต่อทิโมธีคนหนุ่มซึ่งอยู่ในการดูแลของท่าน โดยกล่าวว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า” และเตรียมเราให้ “พรักพร้อมที่จะกระทำการดีทุกอย่าง” (2 ทธ.3:16-17) แต่นี่ไม่ใช่แค่คำแนะนำอย่างใจดีว่า “เป็นการดีที่เราจะอ่านพระคัมภีร์” คำแนะนำของเปาโลนี้อยู่ต่อจากคำเตือนที่น่ากลัวว่า “ในสมัยจะสิ้นยุคนั้น จะเกิดเหตุการณ์กลียุค” (ข้อ 1) และมีผู้สอนเท็จที่ทำให้ “ไม่อาจที่จะเข้าถึงหลักความจริงได้เลย” (ข้อ 7) จึงจำเป็นที่เราจะต้องปกป้องตนเองด้วยพระคัมภีร์ เพราะพระคัมภีร์ทำให้เราซึมซับความรู้ในเรื่องพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งทำให้เรา “มีปัญญา ที่จะมาถึงความรอดได้โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์” (ข้อ 15 TNCV)

การศึกษาพระคัมภีร์ไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กเท่านั้น แต่สำหรับผู้ใหญ่ด้วย และไม่ใช่สำหรับฤดูร้อนเท่านั้น แต่สำหรับทุกวัน เปาโลเขียนถึงทิโมธีว่า “ตั้งแต่เด็กมาแล้ว ที่ท่านได้รู้พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์” (ข้อ 15) และไม่เคยสายเกินไปที่จะเริ่มต้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงใดของชีวิต สติปัญญาในพระคัมภีร์จะเชื่อมโยงเรากับพระเยซู นี่คือบทเรียน ฝคร.ของพระเจ้าสำหรับเราทุกคน

มองเห็นพระเยซู

ในวัยสี่เดือนลีโอไม่เคยมองเห็นพ่อแม่ เขาเกิดมาพร้อมกับอาการซึ่งพบได้น้อยมากที่ทำให้สายตาของเขาพร่ามัว สำหรับลีโอแล้วมันเหมือนกับการมีชีวิตอยู่ในหมอกหนาทึบ แต่ภายหลังจักษุแพทย์ได้ทำแว่นตาพิเศษให้กับเขา

พ่อของลีโอโพสต์วิดีโอตอนที่แม่ของเขาสวมแว่นตาให้เขาครั้งแรก เรามองดูตาของลีโอค่อยๆโฟกัส รอยยิ้มฉีกกว้างบนใบหน้าของเขาเมื่อเขามองเห็นแม่อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ช่างเป็นอะไรที่มีค่านัก ณ ช่วงเวลานั้นที่ลีโอได้มองเห็นอย่างชัดเจน

ยอห์นบันทึกบทสนทนาของพระเยซูกับพวกสาวก ฟีลิปทูลพระองค์ว่า “ขอสำแดงพระบิดาให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็น” (ยน.14:8) แม้จะผ่านช่วงเวลาทั้งหมดมาด้วยกัน สาวกของพระเยซูก็ยังจำผู้ที่อยู่ตรงหน้าพวกเขาไม่ได้ พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านไม่เชื่อหรือว่า เราอยู่ในพระบิดาและพระบิดาทรงอยู่ในเรา” (ข้อ10) ก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต” (ข้อ 6) นี่คือคำตรัสครั้งที่หกจากเจ็ดครั้งที่พระเยซูตรัสว่า “เราเป็น” พระองค์กำลังบอกให้เรามองผ่านแว่นตาของคำว่า “เราเป็น” เหล่านี้เพื่อจะเห็นผู้ที่พระองค์ทรงเป็นอย่างแท้จริง นั่นคือพระเจ้าพระองค์เอง

พวกเราก็เหมือนกับเหล่าสาวก ในเวลายากลำบาก เราล้มลุกคลุกคลานและเริ่มมีสายตาพร่าเลือน เราไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำและสามารถกระทำได้ เมื่อลีโอตัวน้อยสวมแว่นตาพิเศษนั้น เขามองเห็นพ่อแม่ได้ชัดเจน บางทีเราอาจต้องสวมแว่นตาของพระเจ้าเพื่อที่เราจะเห็นว่าพระเยซูเป็นใครได้อย่างชัดเจน

พระองค์ทรงเป็นผู้ใด

เมื่อตอนอายุ 16 ปี หลุยส์ โรดริเกซได้เคยถูกจำคุกมาแล้วจากการขายโคเคน แต่ตอนนี้เขาเข้าไปในเรือนจำอีกครั้งด้วยข้อหาพยายามฆ่าและมีโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่พระเจ้าตรัสกับเขาในความผิดที่เขาทำ เบื้องหลังลูกกรงนั้นหลุยส์ผู้อ่อนเยาว์จำได้ถึงตอนเป็นเด็กที่แม่พาเขาไปโบสถ์อย่างสม่ำเสมอ บัดนี้เขารู้สึกว่าพระเจ้าทรงทำงานในใจของเขา ในที่สุดหลุยส์ก็สารภาพบาปและเชื่อวางใจในพระเยซู

ในพระธรรมกิจการ เราพบชายชาวยิวที่กระตือรือร้นอย่างแรงกล้าชื่อเซาโล ซึ่งถูกเรียกว่าเปาโลด้วย ท่านมีความผิดฐานข่มเหงผู้เชื่อในพระเยซูอย่างรุนแรงและต้องการฆ่าพวกเขา (กจ.9:1) มีหลักฐานว่าท่านเป็นผู้นำกลุ่มผู้ข่มเหงและอยู่ในฝูงชนที่ฆ่าสเทเฟน (7:58) แต่พระเจ้าตรัสกับท่านโดยตรงถึงเรื่องความผิดของท่าน บนถนนไปยังเมืองดามัสกัสเซาโลตาบอดเพราะแสงสว่างจากฟ้า และพระเยซูตรัสกับท่านว่า “เจ้าข่มเหงเราทำไม” (9:4) เซาโลจึงทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงเป็นผู้ใด” (ข้อ 5) และนั่นคือจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ ท่านมาเชื่อในพระเยซู

หลุยส์ โรดริเกซถูกตัดสินจำคุก แต่ภายหลังได้รับการปล่อยตัวโดยมีทัณฑ์บนนับแต่นั้นมาเขารับใช้พระเจ้า อุทิศทุ่มเทชีวิตเพื่อพันธกิจเรือนจำในสหรัฐอเมริกาและอเมริกากลาง

พระเจ้าทรงเชี่ยวชาญในการไถ่ส่วนที่เลวร้ายที่สุดภายในเรา พระองค์ทรงทำงานในใจของเราและตรัสกับเราเรื่องชีวิตที่เต็มไปด้วยความผิดบาป บางทีอาจถึงเวลาที่เราจะสารภาพบาปของเราและมาเชื่อในพระเยซู

ความหมายแห่งชีวิต

เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งเขียนโดยนักเขียนชาวอาร์เจนตินาชื่อ ฆอร์เฆ่ ลุยส์ บอร์เฆส เล่าเรื่องราวของทหารชาวโรมันคือ มาร์คัส รูฟัสที่ดื่มน้ำจาก “แม่น้ำลึกลับที่ทำให้มนุษย์ไร้ซึ่งความตาย” เมื่อเวลาผ่านไปมาร์คัสตระหนักว่าความเป็นอมตะไม่ได้ดีอย่างที่คิด ชีวิตที่ไร้ข้อจำกัดคือชีวิตที่ไร้ความหมาย แท้จริงแล้ว ความตายนั่นเองที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย มาร์คัสได้พบยาแก้พิษที่เป็นน้ำใสผุดขึ้นมาจากใต้ดิน หลังจากที่ดื่มแล้ว เขาเอามือถูกับหนามและมีเลือดออกหยดหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่าสภาพมตะของเขากลับคืนมาแล้ว

เราเองก็เช่นเดียวกับมาร์คัส ที่บางครั้งท้อแท้ต่อการเสื่อมถอยของชีวิตและความตายที่ใกล้เข้ามา (สดด.88:3) เราเห็นด้วยว่าความตายทำให้ชีวิตมีความหมาย แต่นี่คือจุดที่ทำให้เรื่องของเราแตกต่างจากเรื่องของมาร์คัส เรารู้ว่าในการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์นั้นคือที่ซึ่งเราพบความหมายที่แท้จริงของชีวิต ด้วยพระโลหิตของพระคริสต์ที่หลั่งบนไม้กางเขน พระองค์ได้ทรงชนะความตาย และความตายก็ถูกกลืนถึงปราชัยแล้ว (1 คร.15:54) สำหรับเราแล้ว ยาแก้พิษอยู่ใน “น้ำธำรงชีวิต” ของพระเยซูคริสต์ (ยน.4:10) เพราะเมื่อเราดื่มน้ำนั้น กฎทั้งหมดของชีวิต ความตาย และกฎของชีวิตที่เป็นอมตะจะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ (1 คร.15:52)

เป็นความจริงที่ว่าเราไม่สามารถหลีกหนีความตายทางร่างกายได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ พระเยซูทำให้ความสิ้นหวังในชีวิตและความตายของเราพลิกผัน (ฮบ.2:11-15) ในพระคริสต์ เรามั่นใจได้กับความหวังในสวรรค์และความยินดีที่มีความหมายในชีวิตนิรันดร์กับพระองค์

ความรักพระเจ้า

ในปี 1917 เฟรเดอริค ลีห์แมน นักธุรกิจจากแคลิฟอร์เนียซึ่งประสบกับวิกฤตด้านการเงินได้แต่งเนื้อเพลงนมัสการ “ความรักพระเจ้า” แรงบันดาลใจที่มีทำให้เขาเขียนสองท่อนแรกได้อย่างรวดเร็วแต่กลับติดขัดในท่อนที่สาม เขานึกถึงบทกวีที่ถูกค้นพบบนผนังคุกแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน นักโทษคนหนึ่งสลักมันไว้บนหิน บรรยายถึงการรับรู้อย่างลึกซึ้งถึงความรักของพระเจ้า กวีบทนี้มีความยาวพอดีกับเพลงนมัสการของลีห์แมน เขาจึงใช้มันในท่อนที่สาม

มีหลายครั้งที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตที่ยากลำบากเช่นเดียวกับลีห์แมนและนักกวีในคุกคนนั้น ในเวลาแห่งความสิ้นหวัง เราควรสะท้อนถ้อยคำของดาวิดผู้เขียนสดุดีและ “ลี้ภัยอยู่ใต้ร่มปีกของ[พระเจ้า]” (สดด.57:1) เป็นการดีที่จะ “ร้องทูลต่อพระเจ้า” ถึงปัญหาของเรา (ข้อ 2) ทูลพระองค์ถึงความทุกข์ที่เรากำลังเผชิญและความกลัวที่เกิดขึ้นเมื่อเรา “อยู่ท่ามกลางเหล่าสีหราช” (ข้อ 4) ในไม่ช้าเราจะระลึกถึงการทรงจัดเตรียมของพระเจ้าในอดีต และร่วมกล่าวไปพร้อมกับดาวิดว่า “ข้าพระองค์จะร้องเพลง ข้าพระองค์จะร้องเพลงสดุดี...ข้าพเจ้าจะปลุกอรุณ” (ข้อ 7-8)

เพลงนมัสการบทนี้ประกาศว่า “ความรักพระเจ้ากว้างใหญ่ไพศาล” ตามด้วย “รักนั้นสูงเหนือดาวเดือนตะวัน” ในเวลาที่เราลำบากยากเข็ญที่สุด เราจะยิ่งเห็นว่าความรักของพระเจ้านั้นใหญ่ยิ่ง “ถึงฟ้าสวรรค์” (ข้อ 10) เพียงใด

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา