ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย John Blase

ผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้อง

ในที่สุดเธอก็มีโอกาสมาที่โบสถ์แห่งนี้ ด้านในส่วนที่ลึกที่สุดของห้องใต้ดินที่เธอเข้าไปเป็นถ้ำหรืออุโมงค์เล็กๆมีเทียนจุดไว้ในพื้นที่แคบและโคมแขวนส่องที่มุมห้อง ดาวสีเงินสิบสี่แฉกปกคลุมพื้นหินอ่อนที่ยกขึ้นเล็กน้อย เธออยู่ในถ้ำพระคริสตสมภพที่เบธเลเฮมซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ที่พระคริสต์ประสูติ แต่นักเขียนแอนนี ดิลลาร์ดไม่ได้รู้สึกประทับใจ โดยตระหนักว่าพระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าสถานที่นี้มาก

แต่สถานที่เหล่านี้ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องราวแห่งความเชื่อของเรา อีกที่หนึ่งซึ่งอยู่ในบทสนทนาของพระเยซูและหญิงที่บ่อน้ำคือภูเขาที่ “บรรพบุรุษของ[เธอ]นมัสการ” (ยน.4:20) ภูเขาเกริซิม (ดู ฉธบ.11:29) ที่นั่นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวสะมาเรีย ซึ่งต่างจากชาวยิวที่ยืนกรานว่าเยรูซาเล็มคือสถานที่สำหรับการนมัสการที่แท้จริง (ข้อ 20) อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงประกาศว่าเวลานั้นมาถึงแล้วคือ เมื่อการนมัสการไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ใดที่หนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้หนึ่ง “ผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการพระบิดา ด้วยจิตวิญญาณและความจริง” (ข้อ 23) หญิงผู้นี้ประกาศความเชื่อที่เธอมีต่อพระเมสสิยาห์ แต่เธอไม่รู้ตัวว่ากำลังพูดกับพระองค์ “พระเยซูตรัสกับนางว่า ‘เราที่พูดกับเจ้าคือท่านผู้นั้น’” (ข้อ 26)

พระเจ้าไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ภูเขาบางลูกหรือสถานที่ใดที่หนึ่ง พระองค์ทรงปรากฏแก่เราทุกหนแห่ง การแสวงหาพระองค์อย่างแท้จริงที่เราทำในแต่ละวันนั้นคือการเข้าใกล้พระบัลลังก์ของพระองค์ ขณะที่เรากล่าวอย่างกล้าหาญว่า “พระบิดาของเรา” และพระองค์ทรงอยู่ที่นั่น

พระเจ้าทรงร้องเพลงให้คุณ

สิบเจ็ดเดือนหลังจากที่ลูกชายคนแรกของเราเกิด ลูกสาวตัวน้อยก็ตามมา ผมดีใจมากเมื่อคิดว่าจะได้ลูกสาว แต่ก็กังวลเพราะขณะที่เราพอจะรู้เรื่องของเด็กผู้ชายบ้าง เด็กผู้หญิงกลับเป็นเรื่องที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน เราตั้งชื่อเธอว่าซาราห์ สิทธิพิเศษอย่างหนึ่งของผมคือได้กล่อมเธอนอนเพื่อให้ภรรยาผมได้พัก ผมไม่มั่นใจว่าเพราะอะไรแต่ผมเริ่มร้องเพลงกล่อมให้เธอหลับ และเพลงที่ผมเลือกคือ “เธอเป็นแสงสว่างของฉัน” (You Are My Sunshine) ไม่ว่าจะอุ้มเธอไว้หรือยืนอยู่เหนือเปลของเธอ ผมมักร้องเพลงให้เธอและผมรักทุกนาทีเหล่านั้น ตอนนี้เธออายุ 20 กว่าแล้ว และผมยังคงเรียกเธอว่า “แสงสว่าง”

พวกเรามักคิดถึงการร้องเพลงของเหล่าทูตสวรรค์ แต่คุณคิดถึงการร้องเพลงของพระเจ้าครั้งสุดท้ายเมื่อไร ใช่แล้ว พระเจ้าทรงร้องเพลง ยิ่งไปกว่านั้น คุณคิดว่าพระเจ้าทรงร้องเพลงให้คุณครั้งล่าสุดเมื่อใด เศฟันยาห์มีความชัดเจนในข้อความที่ท่านส่งไปเยรูซาเล็ม “พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า” ทรงชื่นชมยินดีในตัวคุณมากจนพระองค์ “ทรงเริงโลดเพราะเจ้าด้วยร้องเพลงเสียงดัง” (3:17) แม้ว่าข้อความนี้พูดกับเยรูซาเล็มโดยตรง แต่ก็เหมือนกับพระเจ้าทรงร้องเพลงให้พวกเรา ซึ่งเป็นผู้ที่ยอมรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดเช่นกัน! พระองค์ทรงร้องเพลงอะไร พระคัมภีร์ไม่ได้บอกชัดเจนในเรื่องนี้ แต่บทเพลงนั้นก่อกำเนิดมาจากความรักของพระองค์ เราจึงวางใจได้ว่าเป็นสิ่งที่จริง น่านับถือ ถูกต้อง บริสุทธิ์ น่ารักและน่ายกย่อง (ฟป.4:8 TNCV)

สิ่งใดๆ

ทุกเย็นวันศุกร์ รายการข่าวที่ครอบครัวของเราดูจะสรุปท้ายรายการด้วยเรื่องราวดีๆที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ตรงกันข้ามกับข่าวที่ผ่านมาทั้งหมด ข่าว “ดี” ของวันศุกร์เมื่อไม่นานมานี้เป็นเรื่องของนักข่าวที่เคยทุกข์ทรมานจากโควิด 19 และได้รับการรักษาจนหายดี จากนั้นเธอตัดสินใจบริจาคพลาสม่าเพื่อจะมีโอกาสได้ช่วยคนอื่นที่ต่อสู้กับไวรัสนี้ ในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้ว่าแอนติบอดี้จะมีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่ในขณะที่คนมากมายรู้สึกหมดหนทางและแม้จะไม่ค่อยสบายใจกับการบริจาคพลาสม่า (ด้วยเข็มฉีดยา) เธอรู้สึกว่ามันเป็น “การลงทุนเพียงเล็กน้อยเพื่อผลตอบแทนที่อาจจะคุ้มค่า”

หลังจบรายการในวันศุกร์นั้น ผมและครอบครัวรู้สึกมีกำลังใจ พูดได้เลยว่ามีความหวังเต็มเปี่ยม นั่นคือพลังของคำว่า “สิ่งใด” ที่เปาโลอธิบายไว้ในฟีลิปปี 4 ว่า “สิ่งที่จริง สิ่งที่น่านับถือ สิ่งที่ยุติธรรม สิ่งที่บริสุทธิ์ สิ่งที่น่ารัก สิ่งที่ทรงคุณ” (ข้อ 8) เปาโลคิดถึงเรื่องการบริจาคพลาสม่าอยู่หรือไม่ ไม่ใช่เลย ท่านคิดถึงการเสียสละเพื่อผู้ที่ขัดสน หรือเรียกว่าการทำตามอย่างพระคริสต์อยู่ใช่ไหมผมมั่นใจว่าใช่

แต่ข่าวที่ให้ความหวังนั้นจะไม่ส่งผลอย่างเต็มที่หากไม่ถูกนำมาออกอากาศ เราได้รับสิทธิพิเศษในฐานะพยานถึงความดีเลิศของพระเจ้า ที่ได้เห็นและได้ยินถึง “สิ่งใด” รอบตัวเรา แล้วให้เราแบ่งปันข่าวดีนั้นแก่คนอื่นเพื่อพวกเขาจะได้รับการหนุนใจ

เหตุผลที่ดี

ผู้หญิงทั้งสองคนนั่งตรงที่นั่งริมทางเดินคนละฝั่งในแถวเดียวกัน เที่ยวบินนั้นใช้เวลาเดินทางสองชั่วโมง ผมจึงมีโอกาสได้เห็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเธอ แน่นอนว่าพวกเธอรู้จักกัน อาจจะเกี่ยวดองกันด้วย คนที่ดูอายุน้อยกว่า (น่าจะวัยหกสิบปี) คอยล้วงกระเป๋ายื่นสิ่งต่างๆให้อีกคนที่สูงวัยกว่า (ผมเดาว่าวัยเก้าสิบ) ทั้งแอปเปิ้ลหั่นชิ้น แซนด์วิชทำเองขนาดพอดีคำ ต่อด้วยผ้าเช็ดปาก ตบท้ายด้วยหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ การยื่นให้ในแต่ละครั้งนั้นทั้งอ่อนโยนและดูภาคภูมิ เมื่อเราลุกขึ้นเตรียมตัวลงจากเครื่อง ผมบอกกับหญิงที่อายุน้อยกว่าว่า “ผมสังเกตเห็นวิธีที่คุณดูแลเธอ มันงดงามมาก” เธอตอบว่า “ท่านเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน ท่านเป็นแม่ฉันเอง”

คงดีใช่ไหมถ้าเราทุกคนสามารถพูดเช่นนั้นได้ พ่อแม่บางคนเป็นเหมือนเพื่อนสนิท พ่อแม่บางคนไม่ใกล้เคียงแม้แต่น้อย ความจริงคือความสัมพันธ์นี้มักจะซับซ้อน จดหมายของเปาโลถึงทิโมธีไม่ได้ละเลยในจุดนี้ และยังคงเรียกร้องให้เรา “หัด​ปฏิบัติ​หน้าที่​ทาง​ศาสนา” ด้วยการดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือก็คือ “วงศ์ญาติ” และ “คนในบ้านเรือน” ของเรา (1 ทธ.5:4,8)

เราทุกคนมักจะให้การดูแลก็ต่อเมื่อสมาชิกครอบครัวคนนั้นดีหรือเคยดีต่อเรา หรือพูดอีกแง่หนึ่งคือ ตามที่พวกเขาสมควรได้รับ แต่เปาโลให้เหตุผลที่งดงามกว่าในการตอบแทนพวกเขาคือ ให้ดูแลพวกเขาเพราะ “​การ​กระทำ​เช่นนี้​เป็น​ที่​พอ​พระ​ทัย​พระ​เจ้า” (ข้อ 4)

อธิษฐานอย่างไม่เร่งรีบ

อลิซ คาโฮลูซูนา เล่าว่าชาวฮาวายจะนั่งอยู่ภายนอกวิหารของพวกเขาเป็นเวลานานเพื่อเตรียมตัวเองก่อนเข้าไปภายใน เมื่อเข้าไปแล้วพวกเขาจะคลานไปยังแท่นบูชาเพื่ออธิษฐาน จากนั้นจะออกมานั่งอยู่ด้านนอกอีกนานเพื่อให้คำอธิษฐานของพวกเขา “มีชีวิต” สมัยที่มิชชันนารีมายังเกาะนี้ คนฮาวายมองว่าคำอธิษฐานของพวกเขาดูแปลก มิชชันนารีจะยืนขึ้น พึมพำ 2-3 ประโยคและเรียกสิ่งนั้นว่า “การอธิษฐาน” พูดเอเมนและจบแค่นั้น คนฮาวายบอกว่าการอธิษฐานแบบนี้ “ไม่มีชีวิต”

เรื่องของอลิซบอกเล่าถึงคนของพระเจ้าที่ไม่ค่อยได้ใช้เวลาในการ “นิ่ง...และรู้” (สดด.46:10) จริงอยู่ที่พระเจ้าทรงได้ยินคำอธิษฐานของเราไม่ว่าจะยืดยาวหรือรวบรัด แต่หลายครั้งจังหวะของชีวิตเราก็เป็นไปตามจังหวะของหัวใจ และเราต้องให้เวลาเพียงพอในการที่พระเจ้าจะตรัส ทั้งในชีวิตเราและในชีวิตของคนรอบข้างด้วย เราได้พลาดช่วงเวลาแห่งชีวิตนี้ไปกี่ครั้งแล้วด้วยการเร่งรีบ พูดเอเมนและจบแค่นั้น

เรามักขาดความอดทนกับทุกอย่างตั้งแต่คนที่เชื่องช้าไปจนถึงถนนที่การจราจรติดขัด แต่ผมเชื่อว่าพระเจ้าตรัสด้วยความเมตตาว่า “จงนิ่งเสีย สูดหายใจเข้าและออก ค่อยๆไปและจำไว้ว่าเราคือพระเจ้า คือที่กำบังและความเข้มแข็งของเจ้า เป็นความช่วยเหลือที่พร้อมอยู่ในยามยากลำบาก” การทำเช่นนั้นคือ การรู้ว่าพระเจ้าทรงเป็นพระเจ้า คือการเชื่อวางใจ และการมีชีวิต

ใช้เวลากับพระเจ้า

สายน้ำลูกผู้ชาย เป็นผลงานชิ้นเอกของนอร์แมน แมคคลีน ที่เล่าถึงเด็กผู้ชายสองคนที่เติบโตทางตะวันตกของมอนตาน่าโดยการเลี้ยงดูของพ่อที่เป็นผู้รับใช้เพรสไบทีเรี่ยน เช้าวันอาทิตย์นอร์แมนและพอลน้องชายไปโบสถ์ที่พ่อของเขาเป็นผู้เทศนา และเย็นวันอาทิตย์มีการนมัสการอีกรอบที่พ่อเทศนาอีกครั้ง แต่ช่วงว่างระหว่างการนมัสการทั้งสองรอบ พวกเขามีเวลาที่จะเดินเที่ยวเล่นในหุบเขาริมลำธารกับพ่อของเขา “ซึ่งเป็นเวลาที่พ่อได้ผ่อนคลายจากงานรับใช้” เป็นความตั้งใจของพ่อที่ปลีกตัวออกไปเพื่อ “ฟื้นฟูจิตวิญญาณและรับการเติมให้เต็มล้นก่อนเทศนาในช่วงค่ำ”

ในตลอดพระกิตติคุณ เราเห็นพระเยซูทรงสั่งสอนคนมากมายบนเนินเขาและในเมือง และทรงรักษาคนป่วยที่มีคนพามาหาพระองค์ การพบปะทั้งหมดนี้คือเป้าหมายในงานของบุตรมนุษย์ “เพื่อจะเที่ยวหาและช่วยผู้ที่หลงหายไปนั้นให้รอด” (ลก.19:10) แต่พระคัมภีร์ได้บอกเช่นกันว่า “แต่พระองค์ทรงเสด็จออกไปในที่เปลี่ยว” (5:16) พระองค์ทรงใช้เวลานั้นในการสนทนากับพระบิดา ทรงได้รับการฟื้นฟูและเสริมกำลังใหม่เพื่อกลับสู่พันธกิจของพระองค์อีกครั้ง

ในความพยายามที่จะรับใช้พระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อของเรา เป็นสิ่งดีที่เราจะระลึกว่าพระเยซูทรงปลีกตัวออกจากฝูงชนบ่อยครั้ง หากการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพระเยซู แล้วสิ่งนี้จะสำคัญกับเรามากเพียงไร ขอให้เราใช้เวลากับพระบิดาของเราอย่างสม่ำเสมอ พระองค์ทรงสามารถเติมเราให้เต็มล้นได้อีกครั้ง

แผ่นดินของพระเจ้า

แม่ของผมอุทิศทุ่มเทให้กับหลายสิ่งหลายอย่างในตลอดชีวิตของท่าน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ตลอดมาคือความปรารถนาที่จะเห็นเด็กเล็กๆได้รู้จักพระเยซู ผมเคยเห็นแม่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อหน้าคนอื่นสองหรือสามครั้ง เวลาที่มีคนพยายามลดงบประมาณพันธกิจของเด็กเพื่อจะเอาไปใช้จ่ายในสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่า “จำเป็น” มากกว่า “แม่ถอยออกมาแค่ช่วงฤดูร้อนตอนท้องพี่ชายของลูก ครั้งนั้นแค่ครั้งเดียว” แม่เล่า ผมคำนวณดูจึงได้รู้ว่าแม่ทำงานกับเด็กๆในคริสตจักรมาห้าสิบห้าปีแล้ว

พระธรรมมาระโก 10 ได้บันทึกหนึ่งในเรื่องราวที่น่าประทับใจไว้ในพระกิตติคุณที่คนมักเรียกว่าเรื่อง “พระเยซูกับเด็กเล็กๆ” ประชาชนกำลังพาเด็กเล็กๆมาหาพระเยซูเพื่อให้พระองค์ทรงถูกต้องตัวและอวยพรพวกเขา แต่พวกสาวกพยายามห้ามไว้ มาระโกบันทึกว่าพระเยซู “ไม่พอพระทัย” และตำหนิสาวกของพระองค์ว่า “จงยอมให้เด็กเล็กๆเข้ามาหาเรา อย่าห้ามเขาเลย เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของคนเช่นเด็กอย่างนั้น​” (ข้อ 14)

ชาร์ลส์ ดิกเค่น เขียนไว้ว่า “ผมรักเด็กเล็กๆเหล่านี้ และมันไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยที่เด็กไร้เดียงสาเหล่านี้รักเรา” และไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยที่เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่จะต้องทำทุกทางเพื่อให้เด็กเล็กๆเหล่านี้ไม่ถูกขัดขวางจากความรักบริสุทธิ์ของพระเยซู

เดิน อย่าวิ่ง

ผมเห็นเธอต้อนรับยามอรุณรุ่งในทุกวัน เธอเป็นนักเดินเร็วที่อยู่แถวบ้านเรา ขณะที่ผมขับรถไปส่งลูกๆก็จะเห็นเธอที่ไหล่ทาง โดยสวมหูฟังขนาดใหญ่และถุงเท้าสีสดสูงถึงเข่า เธอเดินแกว่งแขนสลับข้างกับขาโดยที่เท้าข้างหนึ่งติดพื้นเสมอ กีฬานี้ต่างจากการวิ่งหรือการวิ่งเหยาะๆ การเดินเร็วต้องใช้ความตั้งใจเพื่อจำกัดความต้องการออกวิ่งตามธรรมชาติของร่างกาย แม้จะดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มันต้องใช้พลังงาน สมาธิและกำลังมากเท่าการวิ่งหรือการวิ่งเหยาะๆ แต่อยู่ภายใต้การควบคุม

กุญแจสำคัญคือ กำลังที่อยู่ภายใต้การควบคุม ความถ่อมใจตามพระคัมภีร์ ก็เป็นเช่นเดียวกับการเดินเร็วที่มักถูกมองว่าเป็นความอ่อนแอ ความจริงคือไม่ใช่เช่นนั้น ความถ่อมใจไม่ได้ลดทอนพละกำลังหรือความสามารถของเรา แต่คือการยอมให้ถูกควบคุมเหมือนกับที่แขนขาและเท้าถูกกำหนดหรือชี้นำโดยความคิดของนักเดินเร็วยามเช้า

ถ้อยคำของมีคาห์ที่ให้ “ดำเนิน​ชีวิต​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ” นั้นเรียกให้เราควบคุมความต้องการที่จะนำหน้าพระเจ้า ท่านบอก “​ให้​กระทำ​ความ​ยุติธรรม​และ​รัก​สัจ​กรุณา” (6:8)และนั่นอาจทำให้เราปรารถนาอยากจะทำอะไรบางอย่างและทำอย่าง รวดเร็ว ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันในโลกนี้ช่างมากมายนัก แต่เราต้องให้พระเจ้าทรงควบคุมและทรงนำเรา เป้าหมายของเราคือการได้เห็นน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในยามอรุณรุ่งแห่งแผ่นดินของพระองค์บนโลกนี้

รับใช้ผู้ต่ำต้อยที่สุด

ชื่อของเขาคือสเปนเซอร์ แต่ทุกคนเรียกเขาว่า “สเปนซ์” เขาเป็นแชมป์แข่งขันกรีฑาระดับมัธยมปลายของรัฐ จากนั้นเขาได้รับทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ตอนนี้เขาอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกาและได้รับการยอมรับอย่างสูงในงานด้านวิศวกรรมเคมี แต่ถ้าคุณถามสเปนซ์ถึงความสำเร็จสูงสุดจนถึงวันนี้ เขาจะไม่พูดถึงสิ่งเหล่านั้นเลย แต่จะเล่าอย่างตื่นเต้นเรื่องการเดินทางไปประเทศนิคารากัวทุกๆ 2-3 เดือนเพื่อเยี่ยมเด็กๆและครูในโครงการกวดวิชาที่เขาช่วยก่อตั้งขึ้นในพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศ เขาจะบอกคุณว่าชีวิตของเขามีคุณค่ามากขึ้นเพียงใดเมื่อได้รับใช้คนเหล่านี้

“ผู้ต่ำต้อยที่สุด” เป็นวลีที่มีการใช้ในหลายรูปแบบ แต่พระเยซูทรงใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงผู้คนที่โดยมาตรฐานของโลกแล้วเขาแทบจะไม่สามารถตอบแทนการช่วยเหลือที่เราให้ได้เลย เขาเหล่านั้นเป็นทั้งชาย หญิง และเด็กที่โลกมักจะมองข้ามหรือไม่ก็ถูกลืมอย่างสิ้นเชิง แต่คนเหล่านี้คือผู้ที่พระเยซูทรงยกให้อยู่ในสถานะที่สวยงามโดยตรัสว่า “ซึ่งท่านได้กระทำแก่คนใดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรานี้...ก็เหมือนได้กระทำแก่เราด้วย” (มธ.25:40) คุณไม่จำเป็นต้องมีปริญญาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังเพื่อจะเข้าใจพระดำรัสของพระคริสต์ นั่นคือว่าการรับใช้ “ผู้ต่ำต้อยที่สุด” ก็เป็นเหมือนการรับใช้พระองค์ ทั้งหมดที่ต้องมีคือหัวใจที่เต็มใจ

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา