ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Glenn Packiam

เริ่มต้นด้วยตอนจบ

“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” ตอนเป็นเด็กผมมักถูกถามแบบนี้ และคำตอบก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามกระแส ตั้งแต่ หมอ นักดับเพลิง มิชชันนารี ผู้นำนมัสการ นักฟิสิกส์หรือที่จริงแล้วคือแมคกายเวอร์! (ตัวละครทีวีที่ผมชอบ) ตอนนี้ในฐานะพ่อของลูก 4 คน ผมคิดว่าการตั้งคำถามนี้กับลูกคงยากที่พวกเขาจะตอบ มีบางครั้งที่ผมอยากบอกว่า “พ่อรู้ว่าหนูน่าจะเก่งอะไร!” บางครั้งพ่อแม่มองเห็นบางอย่างในตัวของลูกโดยที่ลูกเองมองไม่เห็น

เรื่องนี้สะท้อนถึงสิ่งที่เปาโลเห็นในผู้เชื่อชาวฟีลิปปีที่ท่านรักและอธิษฐานเผื่อ (ฟป.1:3) ท่านมองเห็นตอนจบ ท่านรู้ว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาจะเป็นอย่างไร พระคัมภีร์ให้เราเห็นภาพตอนจบอันยิ่งใหญ่ ทั้งการฟื้นคืนพระชนม์และสิ่งใหม่ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น (1 คร.15 และ วว.21) และพระคัมภีร์ยังบอกเราด้วยว่าใครเป็นผู้เขียนเรื่องนี้

ในตอนต้นของจดหมายที่เปาโลเขียนจากเรือนจำ ท่านเตือนคริสตจักรฟีลิปปีว่า “พระองค์ผู้ทรงตั้งต้นการดีไว้ในพวกท่านแล้ว จะทรงกระทำให้สำเร็จจนถึงวันแห่งพระเยซูคริสต์” (ฟป.1:6) พระเยซูได้เริ่มพระราชกิจแล้วและจะทรงทำให้สำเร็จ คำว่า สำเร็จ มีความสำคัญเป็นพิเศษ คือไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราวจบลง แต่พระเจ้าได้ทรงทำทุกสิ่งสำเร็จสมบูรณ์

ครีบที่เป็นมิตร

นักชีววิทยาทางทะเลคนหนึ่งกำลังว่ายน้ำใกล้เกาะคุกในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เมื่อวาฬหลังค่อมหนักห้าหมื่นปอนด์ปรากฏตัวขึ้นและสอดเธอไว้ใต้ครีบของมัน เธอคิดว่าคงไม่รอดแล้ว แต่หลังจากว่ายช้าๆเป็นวงกลม วาฬก็ปล่อยเธอไป ตอนนั้นเองที่เธอเห็นฉลามเสือกำลังว่ายออกไปจากบริเวณนั้น นักชีววิทยาเชื่อว่าวาฬปกป้องเธอจากอันตราย

ในโลกที่เต็มไปด้วยอันตรายนี้ เราถูกเรียกให้คอยระวังซึ่งกันและกัน คุณอาจถามตัวเองว่า ฉันต้องคอยรับผิดชอบคนอื่นด้วยหรือ หรือตามคำพูดของคาอินที่ว่า “ข้า​พระ​องค์​หรือ​เป็น​ผู้​ดู​แล​น้อง” (ปฐก.4:9) เรื่องราวที่เหลือในพระสัญญาเดิมตอบเป็นเสียงดังกึกก้องว่า ใช่แล้ว! เช่นเดียวกับที่อาดัมต้องดูแลสวน คาอินก็ต้องดูแลอาเบลเช่นกัน อิสราเอลต้องคอยดูแลและห่วงใยคนที่อ่อนแอและขัดสน แต่พวกเขากลับทำตรงกันข้าม คือแสวงหาประโยชน์ กดขี่คนจนและละเลยการทรงเรียกให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง (อสย.3:14-15)

กระนั้นในเรื่องราวของคาอินและอาเบล พระเจ้ายังคอยดูแลคาอินแม้หลังจากถูกขับไล่ไป (ปฐก.4:15-16) พระเจ้าทำต่อคาอินเช่นเดียวกับที่คาอินควรทำต่ออาเบล นี่เป็นเรื่องราวอันงดงามที่บอกล่วงหน้าถึงสิ่งที่พระเจ้าในพระเยซูจะเสด็จมาทำเพื่อเรา พระเยซูทรงให้เราอยู่ในการดูแลของพระองค์ และทรงเสริมกำลังให้เราไปทำเช่นเดียวกันต่อผู้อื่น

ผู้รับใช้คอยฟังอยู่

หากพวกเขาเปิดวิทยุสื่อสารเอาไว้ ก็คงจะทราบว่าเรือไททานิคกำลังจะจม เซริล อีแวนส์ พนักงานวิทยุบนเรืออีกลำพยายามถ่ายทอดข้อความไปถึงแจ็ค ฟิลิปส์พนักงานวิทยุบนเรือไททานิค เพื่อบอกว่าพวกเขากำลังเผชิญหน้ากับภูเขาน้ำแข็ง แต่ฟิลิปส์กำลังยุ่งกับการส่งต่อข้อความของผู้โดยสาร และตอบกลับอีแวนส์อย่างหยาบคายให้เขาเงียบ อีแวนส์จำต้องปิดวิทยุและเข้านอน สิบนาทีต่อมาไททานิคก็ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง สัญญาณขอความช่วยเหลือไร้คำตอบ เพราะไม่มีใครคอยฟัง

ใน 1 ซามูเอล เราอ่านพบว่าปุโรหิตของอิสราเอลฉ้อฉล และสูญเสียสายตาและหูฝ่ายวิญญาณขณะที่บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในอันตราย “พระดำรัสของพระเจ้ามีมาแต่น้อย ไม่มีนิมิตบ่อยนัก” (1 ซมอ.3:1) แต่พระเจ้าทรงไม่ละความ พยายามกับประชากรของพระองค์ พระองค์เริ่มตรัสกับเด็กชายที่ชื่อซามูเอล ซึ่งถูกเลี้ยงดูในบ้านของปุโรหิต ชื่อของซามูเอลมีความหมายว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรับฟัง” เป็นที่ระลึกถึงการที่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานมารดาของท่าน แต่ซามูเอลจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการฟังเสียงพระเจ้า

“ขอตรัสเถิด เพราะผู้รับใช้ของพระองค์คอยฟังอยู่” (ข้อ 10) ผู้รับใช้เป็นผู้ฟัง ขอให้เราเองเลือกที่จะฟังและเชื่อฟังสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยในพระคัมภีร์เช่นกัน จงมอบชีวิตของเราแก่พระองค์ และเป็นผู้รับใช้ที่ถ่อมสุภาพ ซึ่งเปิด “วิทยุ” เอาไว้เสมอ

งานที่ยิ่งใหญ่

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจพบและแกะเทปกาวที่มีคนเอามาติดไว้เพื่อกันไม่ให้ประตูปิด เมื่อเขากลับมาตรวจสอบประตูอีกก็พบว่ามีเทปกาวมาติดไว้เหมือนเดิม เขาโทรเรียกตำรวจและสามารถจับกุมนักย่องเบาได้ 5 คน

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้นี้ทำงานอยู่ที่อาคารวอเตอร์เกทในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมืองใหญ่ในอเมริกา และเขากลายเป็นผู้เปิดโปงเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต เพียงเพราะเขาปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังและเต็มที่

เนหะมีย์เริ่มบูรณะกำแพงขึ้นใหม่รอบๆกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นงานที่ท่านทำอย่างจริงจัง ขณะที่การบูรณะซ่อมแซมใกล้จะเสร็จ ศัตรูที่อยู่ล้อมรอบก็นัดท่านลงไปพบที่หมู่บ้านข้างเคียง คำเชิญที่ดูเป็นมิตรนี้แท้จริงคือกับดักที่เป็นกลลวง (นหม.6:1-2) แต่คำตอบของเนหะมีย์แสดงถึงความแน่วแน่ของท่าน “ข้าพเจ้ากำลังทำงานใหญ่ ลงมาไม่ได้ ทำไมจะให้งานหยุดเสียในขณะที่ข้าพเจ้าทิ้งงานลงมาหาท่าน” (ข้อ 3)

แม้เนหะมีย์พอจะมีอำนาจอยู่บ้าง แต่ท่านก็ไม่ใช่วีรบุรุษในอันดับต้นๆ ท่านไม่ได้เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่กวีหรือผู้เผยพระวจนะ ไม่ใช่กษัตริย์หรือนักปราชญ์ ท่านเป็นแค่พนักงานเชิญถ้วยเสวยที่ผันตัวเองมาเป็นผู้รับเหมา แต่ท่านเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่สำคัญสำหรับพระเจ้า ขอให้เราจริงจังกับงานที่พระเจ้ามอบหมายและทำสิ่งนั้นอย่างดีโดยอาศัยฤทธิ์เดชและการจัดเตรียมของพระองค์

ดูแลโลกของพระเจ้า

“พ่อคะ ทำไมพ่อต้องไปทำงาน” ลูกสาวตัวน้อยถามผมเพราะแรงจูงใจที่อยากจะเล่นกับผม ผมอยากจะลางานแล้วอยู่เล่นกับเธอ แต่ผมมีงานที่ต้องสะสางหลายอย่าง แต่คำถามนั้นเป็นคำถามที่ดี ทำไมเราจึงทำงาน เพื่อจะเลี้ยงดูตนเองและคนที่เรารักเท่านั้นหรือ แล้วงานที่ทำโดยไม่ได้ค่าจ้างล่ะ ทำไมเราถึงทำ

ปฐมกาล 2 บอกเราว่าพระเจ้าทรงให้มนุษย์คนแรกอยู่ในสวนเพื่อ “ทำและรักษาสวน” (ข้อ 15) พ่อตาของผมเป็นเกษตรกร และเขามักจะบอกผมว่าเขาทำการเกษตรก็เพราะรักในผืนดินและปศุสัตว์ นั่นเป็นความคิดที่น่าประทับใจต่ก็ทิ้งคำถามไว้สำหรับคนที่ไม่รักงานของตน เหตุใดพระเจ้าจึงให้เราอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเพื่อทำงานที่เฉพาะเจาะจงบางอย่าง

ปฐมกาล 1 ให้คำตอบกับเรา เราถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้าเพื่อดูแลรักษาโลกที่พระองค์ทรงสร้าง (ข้อ 26) เรื่องการกำเนิดของโลกโดยคนนอกศาสนานั้นบอกว่าบรรดา “เทพเจ้า” สร้างมนุษย์เพื่อเป็นทาสของพวกเขา ปฐมกาลยืนยันว่าพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ทรงสร้างมนุษย์เพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่ออารักขาสิ่งทรงสร้างแทนพระองค์ ขอให้เราสะท้อนถึงระบบระเบียบอันเปี่ยมด้วยปัญญาและความรักของพระองค์ให้โลกได้เห็น งานของเราก็คือการทรงเรียกให้เราดูแลโลกของพระเจ้าเพื่อพระเกียรติของพระองค์

ความสุขล้ำค่า

ทันทีที่ได้ยินเสียงทำนองเพลงนั้น เราทั้งหกคนดีดตัวขึ้นทันที บางคนรีบสวมรองเท้า บางคนพุ่งไปที่ประตูทั้งที่เท้าเปล่า ในเวลาไม่กี่วินาที พวกเราทั้งหมดก็วิ่งกวดรถไอศกรีมไปตามทาง วันนั้นเป็นวันแรกของฤดูร้อนที่อบอุ่น ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการฉลองด้วยขนมหวานๆเย็นๆอีกแล้ว มีบางสิ่งที่เราทำไปเพียงเพราะมันทำให้เรามีความสุข ไม่ใช่ทำเพราะเป็นกฎหรือหน้าที่

คำอุปมาสองเรื่องในมัทธิว 13:44-46 นั้นเน้นย้ำประโยคที่ว่า ไปขายสิ่งสารพัดที่มีเพื่อจะแลกกับบางสิ่ง เราอาจคิดว่านี่เป็นเรื่องของการเสียสละ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่จริงแล้วคำอุปมาแรกนั้นพูดถึง “ความปรีดี” ที่ทำให้ชายคนนั้นขายทุกสิ่งเพื่อไปซื้อนานั้น ความปรีดีหรือความสุขนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ความรู้สึกผิดหรือหน้าที่

พระเยซูไม่ได้เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของชีวิตเรา แต่ทรงเรียกร้องสิทธิ์เหนือชีวิตของเราทั้งหมด ชายทั้งสองคนในคำอุปมานั้น “ขายสรรพสิ่ง” (ข้อ 44) แต่ส่วนที่ดีที่สุดคือผลจากการขายทุกสิ่งทุกอย่างไปคือกำไร เราอาจคิดไม่ถึง ชีวิตคริสเตียนคือการแบกกางเขนมิใช่หรือ ใช่แล้ว แต่เมื่อเราตาย เรากลับมีชีวิต เมื่อเรายอมสละชีวิต เรากลับได้พบชีวิต เมื่อเรา “ขายสรรพสิ่ง” เราก็ได้สิ่งที่มีค่าที่สุด นั่นคือพระเยซู ความสุขเป็นเหตุให้เราทำ แล้วจึงตอบสนองด้วยการยอมจำนน โดยที่มีรางวัลคือการได้รู้จักพระเยซู

ประเมินค่าตัวเองต่ำเกินไป

ชายหนุ่มคนหนึ่งได้เป็นกัปตันในทีมของเขา ทีมนักกีฬาอาชีพเวลานี้มีผู้นำเป็นเด็กหนุ่มที่อายุน้อยมาก งานแถลงข่าวครั้งแรกเขาดูน่าผิดหวัง เขาเอาแต่ผลักไปให้โค้ชและเพื่อนร่วมทีม และได้แต่บ่นพึมพำว่าเขาแค่กำลังพยายามทำหน้าที่ของตนเอง ทีมของเขาทำผลงานได้แย่มากในฤดูกาลนั้น และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลกัปตันทีมหนุ่มถูกขายออกจากทีม เขาไม่เข้าใจว่าตัวเองได้รับความไว้วางใจและสิทธิอำนาจที่จะนำ หรือเขาอาจไม่เชื่อมั่นว่าตัวเองจะทำได้

ที่ซึ่งทางเลือกนำไป

ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรือแผนที่บอกเส้นทาง เรามีแค่ความทรงจำจากป้ายแผนที่ตรงจุดเริ่มต้นที่นำทางเรา กว่าหนึ่งชั่วโมงต่อมา เราก็ออกจากป่ามาถึงที่จอดรถได้ในที่สุด เราพลาดทางแยกที่จะช่วยให้เดินแค่ 800 เมตร เราใช้เส้นทางที่ต้องเดินไกลกว่านั้นมาก

ชีวิตก็อาจเป็นเช่นนี้ เราต้องถามว่าเส้นทางนี้จะนำไปสู่ที่ใด ไม่ใช่แค่ถามว่าถูกหรือผิด สดุดี 1 เปรียบเทียบวิถีชีวิตสองแบบ คือคนชอบธรรม (ผู้ที่รักพระเจ้า) และคนอธรรม (ศัตรูของผู้ที่รักพระเจ้า)คนชอบธรรมจำเริญขึ้นเหมือนต้นไม้ แต่คนอธรรมปลิวไปเหมือนแกลบ (ข้อ 3-4) สดุดีบทนี้แสดงให้เห็นว่าการจำเริญขึ้นนั้นเป็นเช่นไร ผู้ที่มีชีวิตเช่นนั้นคือผู้ที่พึ่งพาพระเจ้าในการมีชีวิตและรับกำลังใหม่

เราจะเป็นคนแบบนั้นได้อย่างไร เหนือสิ่งอื่นใด สดุดี 1 แนะนำให้เราละทิ้งความสัมพันธ์ที่เลวร้ายและนิสัยที่ไม่ดี และปีติยินดีในพระธรรมของพระเจ้า (ข้อ 2) สาเหตุสำคัญที่สุดในการจำเริญขึ้นของเราคือ การดูแลเอาใจใส่จากพระเจ้า “พระเจ้าทรงทราบทางของคนชอบธรรม” (ข้อ 6)

จงมอบทางของคุณแก่พระเจ้า ให้พระองค์ทรงนำคุณออกจากเส้นทางเดิมที่ไม่ได้พาคุณไปยังที่ใด และยอมให้พระวจนะคำเป็นดุจธารน้ำที่หล่อเลี้ยงระบบรากในหัวใจของคุณ

ขนมปังที่ได้รับการอวยพร

ตอนที่ลูกคนโตของเราเข้าสู่วัยรุ่น ผมและภรรยาได้มอบสมุดที่เราจดบันทึกไว้ตั้งแต่ตอนที่ลูกเกิดให้ เราจดสิ่งที่ลูกชอบและไม่ชอบ นิสัยแปลกๆและเรื่องตลกที่น่าจดจำ มีบางตอนที่เราเขียนเหมือนจดหมาย อธิบายถึงสิ่งที่เรามองเห็นในตัวเธอและสิ่งที่เราเห็นว่าพระเจ้าทรงทำงานในชีวิตของเธอ เมื่อเรามอบสมุดบันทึกให้ในวันเกิดครบรอบสิบสามปี เธอถึงกับตะลึง เธอได้รับของขวัญคือการรับรู้ถึงที่มาของความเป็นตัวตนของเธอ

เมื่อพระเยซูทรงอวยพระพรของธรรมดาอย่างขนมปัง พระองค์ได้ทรงเปิดเผยถึงบทบาทของมันด้วย ขนมปังและสิ่งทรงสร้างทุกอย่างล้วนสะท้อนถึงพระเกียรติของพระเจ้า ผมเชื่อว่าพระเยซูกำลังบอกถึงอนาคตของโลกนี้ด้วย วันหนึ่งสรรพสิ่งที่ทรงสร้างจะเต็มไปด้วยพระสิริของพระเจ้า ดังนั้นเมื่อพระเยซูถวายสาธุการสำหรับขนมปัง (มธ.26:26) พระองค์กำลังชี้ถึงต้นกำเนิดและปลายทางของสรรพสิ่งทั้งปวง (รม.8:21-22)

บางที “จุดเริ่มต้น” ของชีวิตคุณอาจดูยุ่งเหยิง บางทีคุณไม่คิดว่าจะมีอนาคต แต่เรื่องที่สำคัญกว่าคือ พระเจ้าทรงสร้างคุณอย่างมีจุดมุ่งหมายและทรงยินดีในตัวคุณ พระเจ้าเสด็จมาเพื่อช่วยกู้คุณ (มธ.26:28) พระเจ้าประทานพระวิญญาณให้สถิตอยู่ในคุณเพื่อสร้างคุณขึ้นใหม่ และกอบกู้อัต-ลักษณ์ตัวตนของคุณกลับคืนมา นี่เป็นเรื่องราวของพระเจ้าผู้ทรงต้องการจะอวยพรคุณ

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา